จุดกำเนิดของ....หน้ากากอนามัย

          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 รวมทั้งฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่า PM 2.5 ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัยกลายเป็นภาพที่ชินตา หน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกคนต้องมีติดตัว 

          ในปัจจุบัน หน้ากากอนามัยมีหลากหลายชนิด หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป หน้ากากอนามัยมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวันในยุคที่โรคระบาดครองเมือง หน้ากากอนามัยเปรียบเสมือนไอคอนของยุคนี้ไปโดยปริยาย 

          การดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ต้องอาศัยปัจจัย 4 เป็นพื้นฐาน แต่วันนี้บอกเลยว่าแค่ปัจจัย 4 อาจจะยังไม่เพียงพอ เมื่อโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาด “โควิด-19” การใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคนี้จึงต้องพ่วง “หน้ากากอนามัย” เป็นปัจจัยที่ 5 และอาจมีปัจจัยที่ 6 7 8 อย่างเจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ และปรอทวัดไข้อีกด้วย  

การใส่หน้ากากผ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนไทยไม่คุ้นเคย การใช้หน้ากากอนามัยในประเทศไทยเป็นที่แพร่หลายในช่วงปี พ.ศ. 2557 กับการประสบปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีจำนวนมากและหนาแน่นจนเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ในหลาย ๆ พื้นที่

ขอบคุณภาพประกอบจาก:  https://www.naewna.com/local/495530

จุดเริ่มต้นโรคระบาด? มาจาก 

     ย้อนกลับไปในอดีตมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มนุษย์รู้จักการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อเกิดขึ้นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 ซึ่งยุคนั้นผู้คนในแถบยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับ “กาฬโรค” (Black death) ซึ่งระบาดไปทั่ว โดยแพทย์และพยาบาลในยุคนั้นก็ต่อสู่กับสถานการณ์โรคระบาดไม่ต่างจากเราในยุคโรคระบาด โควิด-19 

     แพทย์ในสมัยนั้นจะเรียกกันว่า “หมอโรคระบาด” เวลาที่พวกเขารักษาคนไข้ก็จะใส่เครื่องแต่งกายปิดมิดชิด ประกอบด้วย ผ้าคลุมยาวปกปิดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า ถุงมือ รองเท้าบูธ หมวกปีกกว้าง และสวม หน้ากากอนามัย ในยุคนั้นหน้ากากมีรูปร่างคล้ายส่วนหัวของนกมีจะงอยคล้ายปากนกติดอยู่ด้านหน้าของหน้ากาก และมีช่องสำหรับเปิดปิดได้ ตรงบริเวณตาจะเป็นทรงกลมติดกระจกไว้คล้ายแว่นตา 

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะของหน้ากากชนิดนี้คือ บริเวณจะงอยปากของหน้ากากนั้นใช้สำหรับใส่บรรดาดอกไม้และสมุนไพรเอาไว้เพื่อกันไม่ให้ อากาศพิษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของการระบาดของโรค เข้าสู่ร่างกาย หน้ากากชนิดนี้ใช้เฉพาะแพทย์ผู้รักษาในวงแคบเท่านั้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/870235

การเริ่มใช้หน้ากากอนามัยเป็นครั้งแรก

     แม้จะเคยมีการระบาดของกาฬโรค แต่การใส่หน้ากากในกลุ่มแพทย์ยุคนั้นก็ไม่ได้แพร่หลาย ช่วงปลายยุค 1800 Dr. Paul Berger ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส เป็นคนแรกที่สวมใส่หน้ากากอนามัยระหว่างผ่าตัด เพราะมีความรู้ว่าน้ำลายของคนเราเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่อาจจะทำให้คนไข้ติดเชื้อได้ 

 

หน้ากากผ้าฝ้าย ยุคโรคระบาดแมนจูเรีย 

บรรยากาศระหว่างโรคระบาดแมนจูเรีย ช่วง 1910-11 ภาพจากรายงานของ          Dr. Richard Pearson Strong จัดเก็บที่ห้องสมุดเภสัช Francis A. Countway       ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สิทธิ์ใช้งานภาพแบบ CC BY 2.0) 

 

          ในศตวรรษที่ 21 เกิดโรคระบาดขึ้นบนโลกอีกครั้ง คราวนี้เกิดขึ้นในแถบเอเชีย เกิดการระบาดขึ้นเมื่อราว ๆ  ปี ค.ศ. 1910 เกิดการระบาดของกาฬโรค หรือโรคระบาดแมนจูเรีย (Manchurian Plague) อีกครั้ง ที่ประเทศจีน ครั้งนั้นพบว่ามีการระบาดของโรคแพร่กระจายไปยังเมืองหลายแห่งที่เป็นเขตรอยต่อระหว่างประเทศจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น โดยเริ่มต้นมาจากเมืองแมนโจวลี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมองโกเลีย) แล้วก็ไปยังเมืองฮาร์บิน (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเฮยหลงเจียง ประเทศจีน) และระบาดไปยังเมืองอื่นๆ ที่รถไฟแมนจูเรียสายใต้ตัดผ่าน

          ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเหมือนคนเป็นโรคปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย ที่น่ากลัวที่สุดคืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 100% หมายถึงผู้ที่ติดเชื้อนี้จะเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งทำให้ชาวเมืองล้มป่วยกันเป็นจำนวนมาก สำหรับหน้ากากอนามัย ก็เข้ามามีบทบาทในช่วงโรคระบาด คือ หน้ากากผ้าฝ้าย ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยแพทย์หนุ่มเชื้อสายจีนมาเลย์ที่ชื่อว่า Wu Lian de บางแห่งสะกดว่า Wu Lien-teh  (ชื่อเดิม Ngoh Lean Tuck)     เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานการควบคุมโรคระบาด โดยราชวงศ์ชิงแต่งตั้งขึ้นมา

ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://positioningmag.com/1323102 

หน้ากากป้องกันโรคระบาด (anti- plague masks) ถูกใช้ขณะเกิดโรคระบาดแมนจูเรีย 

ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://www.fastcompany.com/90479846/the-untold-origin-story-of-the-n95-mask 

          โดยหน้ากากผ้าในยุคนั้นมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น ซ้อนกัน ปิดคลุมส่วนจมูก ปาก ไปจนถึงคาง แล้วใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซ ขนาดกว้าง 6 นิ้ว ยาว 3 ฟุต พาดลงบนผ้าฝ้ายแล้วพันรอบคอผู้สวม 

          หน้ากากป้องกันโรคระบาดนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สวมสำหรับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล ในหมู่บ้าน และขณะเผาทำลายศพผู้ป่วย นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปที่เสี่ยงจะติดเชื้อใส่หน้ากากชนิดนี้ด้วยเช่นกัน นับเป็นครั้งแรกของการใช้หน้ากากในวงกว้าง 

หน้ากากผ้า ยุคโรคระบาดไข้หวัดสเปน 

          หลังการระบาดในแมนจูเรียจบลงไม่นานเพียง 8-9 ปี ก็เกิดโรคระบาดกับชาวโลกอีกครั้ง คือ โรคระบาดไข้หวัดใหญ่สเปน ที่เกิดขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1918-1920 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดของโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีผู้เสียชีวิตมากผิดปกติ มีคนได้รับผลกระทบ 500 ล้านคนทั่วโลก นับเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ จาการระบาดครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นแพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาคนไข้ หรือประชาชนก็ใส่หน้ากากอนามัยกันหมด บางประเทศถึงกับออกกฎว่าต้องสวมใส่อยู่เสมอขณะทำงาน หรือใช้รถสาธารณะ 

          มีการบันทึกภาพถ่ายเก่าพร้อมข้อความบรรยายภาพของช่างภาพชื่อ Everett Historical ระบุว่า โรงพยาบาลวอลเตอร์รีดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับรักษาคนไข้ในระหว่างการระบาดของโรค ในปี พ.ศ. 2461-2462 พบว่าการระบาดใหญ่ครั้งนี้คร่าชีวิติผู้คนไปหลายสิบล้านคนทั่วโลก 

           นอกจากนี้ยังพบว่าแพทย์ของโรงพยาบาลฟอร์ตพอร์เตอร์ เป็นโรงพยาบาลของกองทัพสหรัฐฯ ที่รักษาคนไข้ ก็มีการสวมใส่ หน้ากากผ้า และกั้นห้องผู้ป่วยขนาดเล็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไข้หวัดสเปนเช่นกัน ซึ่งการใช้หน้าการนี้ทำให้ลมหายใจของคนไข้ไม่แพร่ระบาดไปสู่คนอื่น  

ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:SpanishFluWardWalterReed.jpg
ขอบคุณภาพประกอบจาก: https://www.yeniasya.com.tr/omer-faruk-ozaydin/ispanyol-cin-virusu_514686

เมืองไทยใช้ หน้ากากอนามัย ครั้งแรกปี 2463 

          เมื่อมีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปนไปทั่วโลก ประเทศไทยมีคนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2461 สิ้นสุด มี.ค. 2462 ราว 2 ล้าน 3 แสนคน เสียชีวิตประมาณ 8 หมื่นราย จากพลเมืองสยามเวลานั้น ที่มีทั้งหมด 8 ล้าน 4 แสนคน ป่วยทั้งประเทศ 27% ตายเกือบ 1% ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน ทำให้การรักษาผู้ป่วยในช่วงนั้นแพทย์และพยาบาลต้องใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้ามาใช้ป้องกันการติดเชื้อขณะรักษาคนไข้ คนใส่หน้ากากผ้ากันทั่วโลก 

          ประเทศไทยช่วง 100 ปีก่อน มีการระบาดของวัณโรคร่วมด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุขไทยได้ทรงนิพนธ์บทความให้ความรู้วิธีการป้องกันวัณโรคไม่ให้แพร่เชื้อไปติดคนอื่น เวลาไอ จาม ต้องปิดปากด้วยผ้า มือเปื้อนต้องล้างมือ เมื่อปี พ.ศ. 2463 จุดประสงค์ของการใส่หน้ากากสมัยนั้นเพื่อป้องกันผู้อื่นมากกว่าป้องกันตัวเอง 

          ในยุคต่อ ๆ มา ก็มีการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์กันอย่างแพร่หลาย อย่างเช่นในยุคที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในเมืองไทยก็มีการใช้ทั้งหน้ากากทางการแพทย์ (หน้ากากผ่าตัด) และหน้ากาก N95 ในการป้องกันเชื้อโรคหรือโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจกันโดยทั่วไป 

ข้อมูลอ้างอิง
1. แนวหน้า, 2563, เผยประวัติหน้ากากทางการแพทย์-หน้ากากอนามัย  มีใช้มาแล้วกว่า 123 ปี [Online], , Available: https://www.naewna.com/local/495530 [8 กุมภาพันธ์ 2565].
2. ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 2563, รู้ที่มา ‘หน้ากากอนามัย’ พร้อมเปิดนวัตกรรมใหม่สู้ภัย “COVID” [Online], , Available: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/870235 [8 กุมภาพันธ์ 2565].
 3. สิทธิโชค ชาวไร่เงิน, 2564, บทบาท Wu Lien-teh และกำเนิด หน้ากากป้องกันโรคระบาด ยุคจีนเผชิญโรคระบาดแมนจูเรีย [Online],, Available: https://www.bangkokbiznews.com/social/948474 [8 กุมภาพันธ์ 2565].