หลายคนอาจสงสัยว่า
บุคคลสำคัญผู้ที่มีรูปปั้นตั้งสง่าอยู่กลาง Learning Garden นั้นคือใคร
บุคคลผู้นั้นคือ อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ กล่าวได้ว่า เป็นครูผู้บริหารท่านแรกของ มจธ. (สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี) ด้วยท่านเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ตั้งแต่แรกเริ่มปี พ.ศ. 2503 – 2512 ก่อนเปลี่ยนสภาพเป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในปัจจุบัน
รู้จักประวัติของครูผู้มีคุณูปการต่อ มจธ.
อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ
วุฒิการศึกษา
ประถมศึกษา
โรงเรียนประจำจังหวัดพังงา (เสนานุกูล)
มัธยมศึกษา
St. Xavier’s Institution (Senior Cambridge) ปีนัง โรงเรียนราษฎร์วิทยสภา กรุงเทพฯ (มัธยม 8)
อุดมศึกษา
- สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (รุ่น 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- Master of Education. Wayne State University, Detroit, USA
- ครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี
ประวัติการทำงาน
อาจารย์โท และ อาจารย์ผู้ปกครอง โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
หัวหน้าฝ่ายวิชาช่างก่อสร้าง และ หัวหน้าคณะวิชาเทคนิค วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ
ผู้อำนวยการวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ) ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ ก่อนเกษียณอายุ ตั้งแต่ กันยายน 2512
ผู้บริหาร บริษัท ไทยรอคส์ จำกัด
ผู้อำนวยการ บริษัทก่อสร้างประยุกต์ จำกัด
ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร วิทยาลัยศรีปทุม
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคสยาม
ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเอเซียอาคเนย์
อธิการ วิทยาลัยเทคนิคสยาม
ทำงานเป็นลูกจ้างเอกชน แปลหนังสือ และโต้ตอบกับต่างประเทศในธุรกิจสั่งสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก
พ.ศ. 2527 รับพระราชทานครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในโอกาสใกล้จะครบ 100 ปีชาตกาล ท่านอาจารย์ประภา บรรดาศิษย์ คณาจารย์และอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาจึงร่วมใจกัน จัด “โครงการ 100 ปีชาตกาล อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ 90 ปี รศ.สมพงษ์ ปัญญาสุข และ 30 ปี มูลนิธิประภา-สมพงษ์” เพื่อระลึกถึงและประกาศเกียรติคุณของท่านอาจารย์ทั้งสองให้ ปรากฏต่อเยาวชนของชาติสืบต่อไป
มูลนิธิประภา - สมพงษ์
จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสที่ท่านอาจารย์สมพงษ์ ปัญญาสุขเกษียณอายุราชการเป็นท่านแรก และประสงค์ให้มีมูลนิธิเพื่อคอยเกื้อหนุนวิทยาลัย ซึ่งท่านอาจารย์ประภาเองได้มาร่วมลงขันด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2531 กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครรับจดทะเบียน จัดตั้ง “มูลนิธิประภา–สมพงษ์” เป็นนิติบุคคล โดยมีภารกิจหนึ่งที่สำคัญของมูลนิธิประภา-สมพงษ์ คือการสร้าง อนุสาวรีย์อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ จากโครงการ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ
ตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 เป็นต้นมา กรรมการมูลนิธิได้ลงมติเลือกทำเหรียญทองคำเชิดชูเกียรตินักศึกษาชั้นปีที่ 3 ผู้ที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม และเชิดชูศิษย์เก่าผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันและประเทศชาติโดยผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของอาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ และอาจารย์สมพงษ์ ปัญญาสุข และนอกจากการจัดทำเหรียญทองคำแล้วทางมูลนิธิยังคงทำกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น การจัดหาอุปกรณ์เพื่อการวิจัย มีโครงการปรับปรุงความสามารถทางภาษาอังกฤษของนักศึกษาเรา โครงการเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาซึ่งใกล้จะจบการศึกษา
ต่อมาเมื่อทองคำมีราคาสูงขึ้น ดอกเบี้ยธนาคารลดลงจากร้อยละ 10 เหลือเพียง 1 บาท ควบคู่ไปกับบางปีการศึกษามีผู้ที่สมควรได้รับเหรียญทองคำมากกว่า 1 คน จึงทำให้มูลนิธิต้องหารายได้เพิ่มขึ้น ผศ.พยูร เกตุกราย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิ จึงขอร้องให้หอสมุดช่วยทำหน้าที่ต่อในการหารายได้ หอสมุดจึงขออนุญาติ อ.ดร.ไพบูรย์ ในการขายเครื่องดื่มและไอศครีมจนถึง ตุลาคม พ.ศ.2542 แต่มูลนิธิยังคงจัดทำเหรียญทองคำเชิดชูนักศึกษามาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้
กว่าจะเป็น มจธ.
จากเอกสารจดหมายเหตุจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น มีข้อความในเอกสารว่า “กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนมีความสนใจในการศึกษาประเภทอาชีวศึกษามากขึ้น… เพื่อให้การศึกษาวิชาชีพชั้นสูงได้วิวัฒนาการแพร่หลายให้มากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐ จึงให้จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคขึ้น ณ จังหวัดธนบุรี อีกแห่งหนึ่งให้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี” ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 จึงถือว่า วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันสถาปนาสถาบันการศึกษาแห่งนี้ นับจนถึงปัจจุบัน
เมื่อ พ.ศ. 2502 ขณะนั้นมีมหาวิทยาลัยเพียง 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจำนวนผู้สำเร็จเตรียมอุดมศึกษาแล้วไม่มีที่เรียนต่อเริ่มมีจำนวนมากขึ้น อธิบดีกรมอาชีวศึกษาขณะนั้น คือ ท่านอาจารย์สนั่น สุมิตร จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ เพื่อสนองความต้องการของรัฐในด้านช่างเทคนิค และได้ผ่านการอนุมัติ โดยสำรวจหาสถานที่ตั้งวิทยาลัย พบว่า ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด จังหวัด ธนบุรี (ขณะนั้นยังไม่เป็นพื้นที่เดียวกับ กรุงเทพมหานคร) กรมอาชีวศึกษาจึงขอเช่า 32 ไร่ เพื่อปลูกสร้างอาคารไม้สองชั้นแบบมาตรฐาน 14 ห้องเรียน พร้อมทั้งมีบ้านพักครูใหญ่และโรงอาหาร และขอขยายพื้นที่ออกไปอีกกว่า 99 ไร่ ปัจจุบันที่เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีแล้ว มีพื้นที่การศึกษาทั้งหมด 4 แห่ง ทั้งที่บางมด บางขุนเทียน ราชบุรี และอาคาร KX โดยบางมดถือเป็นพื้นที่หลักและศูนย์กลางในการบริหารจัดการ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 142 ไร่ 90 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่เช่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 134 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา และพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยซื้อเพิ่มเติม 7 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ที่ดินเลขที่ 108 โฉนดเลขที่ 1286 ท่านเจ้าของที่ดินเดิม คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเที่ยง
ด้านการศึกษา
การเรียนการสอนในรุ่นแรกนั้น แบ่งนักศึกษาเป็น 6 ห้อง ๆ ละ 50 คน ใช้หลักสูตรรวมแบบอุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Arts) 3 ปี ๆ ละ 3 เทอม โดยปีแรกกำหนดให้ ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด แต่เมื่อขึ้นปี 2 จึงจะให้แยกสาขา ตามแต่ที่ทุกคนสนใจและถนัด โดยใช้คะแนนสอบจากปีที่หนึ่ง เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณา
เพื่อการพัฒนาวิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ให้มีความเจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้น อธิบดีสนั่น สุมิตร และผู้อำนวยการประภา ประจักษ์ศุภนิติ ได้ติดต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของ UNESCO ให้มาสำรวจสภาวการณ์ของวิทยาลัย เมื่อวันที่ 12–15 กันยายน 2503 และช่วยจัดทำโครงการขอความช่วยเหลือจาก กองทุนพิเศษ องค์การสหประชาชาติ (UNDP Special Fund) โดยผู้เชี่ยวชาญนั้นได้ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ใหม่ ส่งผลให้การเรียนการสอนของนักศึกษาในรุ่นที่ 2 ได้มีการ เปลี่ยนแปลง คือ นักศึกษาได้มีโอกาสเลือกเรียนในวิชาแผนก ช่างที่ตนเองสนใจตั้งแต่เริ่มเข้าปีที่ 1-3 ตามหลักสูตร
มีนาคม 2506 ศิษย์ ป.วส. รุ่นแรกของวิทยาลัย เทคนิค ธนบุรี สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร จำนวน 119 คน ได้แก่ ช่างก่อสร้าง 36 คน ช่างไฟฟ้า 41 คน ช่างยนต์ 31 คน และช่างโลหะ 11 คน
ปีการศึกษา 2506 กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้ใช้ ระเบียบวิทยาลัยฉบับใหม่ ส่งผลให้วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี สามารถใช้ระบบหน่วยกิตเป็นแห่งแรกในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์ ของประเทศไทย และเปลี่ยนระบบการเรียนจาก 3 เทอม เป็น 2 ภาคการศึกษา (Semester)
จากนั้นในปี 2508 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติ หลักสูตรฝึกหัดครูเทคนิคชั้นสูง (ป.ทส.) วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี จึงสามารถรับผู้ที่จบ ป.วส. เพื่อศึกษาต่ออีก 2 ปี ในสาขาเดิม ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้รับประกาศนียบัตรเทคนิค ชั้นสูง (ป.ทส.) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย
การจัดหลักสูตรฝึกหัดครูเทคนิคชั้นสูง ทำให้ผู้สำเร็จ การศึกษาระดับ ป.วส. สาขาเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสาขาวิชาชีพครูในวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัย อาชีวศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา ได้รับโอกาสศึกษาต่อถึงระดับเทียบเท่าปริญญาตรีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ การอาชีวศึกษาของไทย และเมื่อได้รับประกาศนียบัตรเทคนิค ชั้นสูง “ป.ทส.” ของวิทยาลัยแล้ว ยิ่งมีความหมายอย่างมาก ในการประกอบอาชีพ “ครูช่างอุตสาหกรรม” และวิชาชีพต่างๆ ทางวิศวกรรมทั่วประเทศ
ระหว่างขยายหลักสูตรต่างๆ วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี ได้เสนอโครงการ “สถาบันเทคโนโลยีธนบุรี” เป็นสถาบัน อุดมศึกษา หลักสูตร 5 ปี ต่อจากเตรียมอุดมศึกษา สายวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2510
เพื่อผลักดันให้สถาบันเทคโนโลยีธนบุรีได้พัฒนาต่อ ผู้อำนวยการประภาจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกในวันที่ 17 กันยายน 2512 ด้วยอายุราชการรวมทั้งสิ้น 27 ปีเศษ
เมื่อ 28 พฤษภาคม 2513 สถาบันเทคโนโลยี ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม “พระจอมเกล้า” เป็นชื่อของสถาบัน มีนามภาษาอังกฤษว่า “King Mongkut’s Institute of Technology”
เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 สภาผู้แทนราษฎร ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยี พระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม 88 ตอนที่ 43 (23 เมษายน 2514) สถาบันฯ มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ 24 เมษายน 2514 หลักการสำคัญคือ ผลิตครู อาชีวศึกษาระดับปริญญา ให้การศึกษาทางเทคโนโลยีพและวิทยาศาสตร์ ทั้งระดับต่ำกว่าปริญญา และระดับปริญญา
29 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2515 นิทรรศการเทคโนโลยีครั้งที่ 1 นายเกษม โสตถิวัฒน์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา
เมื่อ 2517 พระราชบัญญัติโอนกิจการบางส่วนของกระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ พ.ศ. 2517 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91 ตอนที่ 112 ฉบับพิเศษ ให้โอนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าในกระทรวงศึกษาธิการไปสังกัดและเป็นส่วนราชการในทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517
ปีการศึกษา 2519 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ ขอขยายภาควิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตตร์ ออกเป็น 3 ภาควิชา คือ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาเคมี และภาควิชาฟิสิกส์ สำหรับภาควิชาภาษาและสังคมเสนอโครงการ “English for Science and Technology” ขอความช่วยเหลือจากโครงการโคลัมโบ ได้รับความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักร ผ่าน British Council มาช่วยวางหลักสูตร เตรียมเนื้อหาวิชา และอบรมวิธีสอนให้อาจารย์ในภาควิชา
เมื่อปี พ.ศ. 2523 สถาบันเสนอโครงการจัดตั้งกองบริการการศึกษา และสำนักหอสมุดในวิทยาเขตธนบุรี
31 ธันวาคม 2523 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสถาบันฯ พ.ศ. 2523 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 208 ฉบับพิเศษ (หน้า 1-3) วิทยาเขตธนบุรีแบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักงานรองอธิการบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ คณะพลังงานและวัสดุ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2524
2 กุมภาพันธ์ 2525 สถาบันอนุมัติการจัดตั้ง “หอจดหมายเหตุสถาบัน” ในห้องสมุดวิทยาเขตธนบุรี
ปีการศึกษา 2525 เริ่มหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพในคณะพลังงานและวัสดุและหลักสูตร วท.บ. สาขาจุลชีววิทยา ในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
22 ตุลาคม 2525 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการก่อสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เพื่อสักการะบูชาในโอกาสครบ 180 ปี แห่งวันพระราชสมภพ และ 25 ปี แห่งการสถาปนาวิทยาเขตธนบุรี
4 สิงหาคม 2526 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดตั้งภาควิชาครุศาสตร์เครื่องกล ครุศาสตร์ไฟฟ้า และจุลชีววิทยา ในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์
เมื่อปี 2527 วิทยาเขตธนบุรี อนุมัติให้ใช้อาคารวิศวกรรมเคมีเป็นตั้งสำนักงานโครงการหลวงอาหารสำเร็จรูป และโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ รวมทั้งสร้างโรงเก็บผลิตภัณฑ์ของโครงการ ฅ
1 ธันวาคม 2528 พิธีอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรมดำเรียบร้อยแล้วขึ้นแท่นประดิษฐาน
เมื่อปี 2529 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นนิตบุคคลมีฐานะเป้นกรมในทบวงมหาวิทยาลัยตามปณิธานดั้งเดิมของสถาบัน โดยมี ศาสตราจารย์ จำรัส ฉายะพงษ์ นายกสภาสถาบันท่านแรก และมีพระบรมราชองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พ.ศ. 2541 เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งแรกที่เปลี่ยนสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล โดยเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี