นักวิทย์ นักคิดของโลกในสมัยรัชกาลที่ 4

The Pioneer

หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)

          ทั้งกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ที่ช่วยให้เก็บอาหารและเครื่องดื่มไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย ทั้งวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญอย่างอหิวาตกโรค วัณโรค พิษสุนัขบ้า โรคคอตีบ การค้นพบของเขาทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์แลสาธารณชน 

Table of content

ประวัติส่วนตัว

          ปาสเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล มลรัฐจรา ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นฟอกหนังชื่อว่า จีน โจเซฟ ปาสเตอร์ (Jean Joseph Pasteur) ท่านเคยเป็นทหารในกองทัพของนโปเลียน และได้รับเหรียญกล้าหาญจากสงคราม ครอบครัวของปาสเตอร์ย้ายมาอยู่ที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbors) ในภายหลัง แม้ว่าฐานะครอบครัวของเขาจะไม่ค่อยดี แต่พ่อต้องการให้หลุยส์มีความรู้ที่ดีเหมือนเด็กอื่นทั่วไป 

เส้นทางการศึกษาของนักเรียนที่ดี

          ปาสเตอร์ศึกษาที่โรงเรียนในเมืองอาร์บัวส์ เขาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ดีและมีความสนใจในการวาดรูปโดยเฉพาะภาพเหมือน (Portrait) ด้วยความที่ปาสเตอร์เป็นนักเรียนที่เรียนดี มีความสามารถ และความประพฤติเรียบร้อย จึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยอาร์บัวส์ให้ไปเรียนที่อีโคล นอร์เมลซูพีเรีย (Ecole Normale Superiere) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงปารีส เพราะต้องการให้เขาเรียนจบและกลับมาสอนที่วิทยาลัยอาร์บัวส์ แต่เขาเรียนได้ไม่นานต้องกลับบ้านด้วยอาการป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้าน (Home sick) อย่างรุนแรง 

          ต่อมาเขาเรียนต่อสาขาวิชาอักษรศาสตร์ที่รอยัลคอลเลจ (Royal College) ในเบซานกอน (Besancon) หลังจากจบการศึกษาแล้ว ปาสเตอร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ต่อจากนั้นเขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง Ecole Normale Superiere อย่างที่เขาตั้งใจในครั้งแรก ในระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่ เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเคมีกับนักเคมีผู้มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ เจ.บี. ดีมาส์  (J.B. Dumas) และ เอ.เจ. บาลาร์ด ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาที่ อีโคล นอร์เมล ชูพเรีย เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลึก (Crystallography) 

เส้นทางนักวิทย์

          เมื่อปาสเตอร์จบการศึกษาแล้วในปี ค.ศ. 1852 เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับกรดทาร์ทาริก หรือกรดปูนที่ใช้ทำน้ำส้ม (Tartaric acid) ผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasburg University) ต่อมาอี 2 ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาเคม และคณบดีคณะวิทยาศาสตร ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล

          ด้วยความที่เมืองลิลล์เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีทั้งเหล้า เบียร์ และไวน์ ปาสเตอร์ศึกษาดูงานที่โรงงานทำแอลกอฮอล์และรู้ปัญหาของโรงงานในเรื่องการเน่าเสียของแอลกอฮอล์และยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ เขาจึงใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตัวอย่างแอลกอฮอล์ แล้วพบแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ลำตัวกลม มีชื่อว่า ยีสต์ (Yeast) ซึ่งมีฤทธิ์เปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ และได้พบแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นท่อน แบคที่เรียชนิดนี้มีชื่อว่า บาซิลลัส (Bacillus) ซึ่งมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนน้ำตาลแดงให้เป็นกรดแลคติกได้ หรือเป็นตัวการที่ทำให้แอลกอฮอล์มีคุณภาพต่ำ การค้นพบครั้งนี้ทำให้ปาสเตอร์เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับของหมักดอง จนพบว่า การหมักดองทำให้เกิดกรดซักซินิกและกลีเซอร์ไรน์ ปาสเตอร์จึงตั้งทฤษฎีการหมักดอง (Fermentation Theory) และกล่าวว่าการหมักดองเป็นผลมาจากจุลินทรีย์ 

ผลงานที่โดดเด่น

          ปาสเตอร์ค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่อไป และพบว่าจุลินทรีย์มีผลต่อความเจ็บป่วย และของเน่าเสีย การเก็บรักษาของให้อยู่ได้นานต้องฆ่าจุลินทรีย์ให้หมดไป เขานำน้ำนมมาต้มที่ความร้อนจัดให้จุลินทรีย์ตายหมดก่อนบรรจุใส่ขวด ปรากฏว่า นมเหลานั้นอยู่ได้นานกว่าปกติโดยที่ไม่เน่าเสีย จึงนำวิธีการนี้ปรับใช้กับเครื่องดื่มอื่นอย่างเหล้า น้ำกลั่น ไวน์ เป็นต้น ในกระบวนการที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อว่าพาสเจอร์ไรส์เซซัน” (Pasteurization) และแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน

          ค.ศ. 1865 เมื่อเขาพบว่า เซลล์ที่ตายแล้วเน่าเปื่อยอย่างซากศพที่ฝังในดินแล้วทำให้เกิดจุลินทรีย์ในดิน เมื่อปนเปื้อนกับน้ำบาดาล หากไม่ต้มน้ำก่อนดื่มใช้อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ จุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในดินได้ ทำให้เกิดเชื้อบาดทะยักและแอนแทรกซ์  

          ในการค้นคว้าถึง 5 ปี เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับตัวไหม และส่งผลเสียให้กับโรงงานอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาค้นพบจุลินทรีย์ที่ชื่อว่า “โนสิมา บอมบายซีล” (Nosema Bombysis) และหยุดยั้งการเกิดโรคระบาดนี้ได้ 

          ค.ศ. 1873 เขาได้เผยแพร่ผลงานการค้นคว้าเกี่ยวกับการหมักดองเพิ่ม และได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม อะเคดามี ออฟ เมดิซีน (Academy of Medicine) 

ผลงานชื่อดังมีผลต่อการรักษา

          ค.ศ. 1887 ปาสเตอร์ทดลองเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ โดยเริ่มจากโรคที่ร้ายแรงที่สุด คือ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) พบว่า การใช้ปัสสาวะของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์มาเพาะเชื้อให้อ่อนกำลังลง สามารถนำเชื้อนี้ไปทำวัคซีนได้ แต่คนทั่วไปยอมรับได้ยากในวิธีการนี้ เขาจึงต้องการให้สาธารณชนยอมรับ โดยทดสอบวัคซีนในแกะถึง 50 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่มละ 25 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ และไม่ฉีด ปรากฏว่า กลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนป่วยและเสียชีวิตหมดทุกตัว รัฐบาลฝรั่งเศสจึงสนับสนุนเงินให้ค้นคว้าวัคซีนในการป้องกันอหิวาตกโรคในไก่ต่อไป ซึ่งเขาผลิตวัคซีนจากซุปกระดูกไก่ได้สำเร็จ โดยวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับปาสเตอร์มากที่สุด คือ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แม้ว่าปาสเตอร์จะพบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลายของสัตว์และนำเชื้อมาเพาะวัคซีนแล้วแต่ยังไม่กล้ามาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กชายวัย 9 ปี ถูกสุนัขบ้ากัด ถึงอย่างไรย่อมต้องเสียชีวิต พ่อแม่ของเด็กจึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์รักษาด้วยตัวยาดังกล่าว ปรากฏว่า เด็กไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

          ค.ศ. 1888 ปาสเตอร์จึงได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งอีกหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ภายใต้ชื่อว่าสถานเสาวภา 

          สุดท้ายนี้ หากใครสนใจหรืออยากอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว หลุยส์ ปาสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้รอบตัว สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำหนังสือของ หลุยส์ ปาสเตอร์ ได้ที่ https://kmutt.me/book-pasteur

ข้อมูลอ้างอิง
นภวรรณ สุขโขจัย. (2555). รวมนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก. กรุงเทพฯ: อักษรเงินดี.
พันธลักษณ์. (2546). นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ 19
สุทัศน์ ยกส้าน. (2548). นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: ปาเจรา.