โครงการพระจอมเกล้าศึกษา

โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔

รวบรวมและเรียบเรียงโดย สมปอง พงษ์ไมตรี และสุภาพ กลิ่นเรือง

           การศึกษาของไทยในสมัยโบราณก่อนการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก เป็นการศึกษาแบบจารีต (Tradition Education) โดยมีรูปแบบการศึกษาที่สำคัญ ๓ ขั้นตอน คือการศึกษาอักขรวิธี การบวชเรียน และการศึกษาวิชาเฉพาะ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสถานภาพทางสังคมของผู้รับการศึกษา ได้แก่ ชนชั้น และเพศ

การศึกษาของไทยหลังการเข้ามาของอิทธิพลตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีมิชชันนารีจากหลายๆ องค์กรต่างเดินทางมาในประเทศไทยอย่างมากมายโดยมีจุดหมายแรกคือ การเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวจีนในกรุงเทพฯ และสาสนทูตเหล่านี้ก็เริ่มเดินทางออกสู่หัวเมืองภูมิภาคในเวลาต่อมา

ปัลเลอกัวซ์
หมอบรัดเลย์
หมอเฮาส์
มิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และวิทยาการตะวันตก

แม้ว่าคณะมิชชันนารีเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องชักจูงคนไทยให้เข้ารีตได้มากตามความตั้งใจ เห็นได้จากบันทึกความผิดหวังของนายแพทย์บรัดเลย์ (Dr. D.B. Bradley) ว่าท่านไม่สามารถชักจูงคนไทยให้เข้ารีตได้แม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ดีคณะมิชชันนารีได้นำวิทยาการ และวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยมากมาย โดยเฉพาะด้านการศึกษา เริ่มจากนายแพทย์บรัดเลย์ได้นำแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์ภาษาไทยเข้ามาในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนใหญ่จะพิมพ์หนังสือสอนศาสนาทั้งพุทธและคริสต์ ซึ่งหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทย ชื่อ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ต่อมาออกหนังสือรายปีเป็นภาษาอังกฤษชื่อ “บางกอกกาเล็นเดอร์” อันเป็นแบบอย่างของการทำหนังสือพิมพ์ไทยในสมัยต่อมา และเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงสมณเพศพระองค์สนพระทัยศึกษาสรรพวิชาการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะวิทยาการชาติตะวันตก ทรงตั้งโรงพิมพ์ภาษาไทยของคนไทยเป็นแห่งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อพิมพ์คำสอนในพระพุทธศาสนาและหนังสือราชการ นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษาต่างชาติ คือภาษาลาตินจากสังฆราชปัลเลอกัวซ์ และศึกษาภาษาอังกฤษกับอาจารย์ เจสซี่ แคสแวน มิชชันนารีอเมริกันที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ความรู้ในภาษาอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงศึกษานั้นนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญเปิดประตูไปสู่ความรู้วิชาอื่นๆ การศึกษาที่เริ่มเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ จากที่มีลักษณะจารีตลักษณ์ (Traditional Society) หรือลักษณะแบบเดิม ที่ดำเนินสืบมากลายเป็นแบบนวลักษณ์ (Modern Society) หรือลักษณะแบบใหม่ตามแบบตะวันตกที่เริ่มแพร่ขยายอิทธิพลเข้ามาและเป็นแบบใหม่ตามลักษณะแบบไทย

โฉมหน้าใหม่ของการศึกษาไทย

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนไปหลังจากได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะ เรื่องการศึกษาของชนชั้นสูงที่ตื่นตัวเรียนวิทยาการและภาษาจากชาติตะวันตกมากขึ้นด้วยเห็นความจำเป็น โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๔ ทรงมีพื้นฐานความรู้ทางภาษาและวิทยาการตะวันตกเป็นอย่างดีจากการศึกษาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงสมณเพศ อีกทั้งยังทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาต่างประเทศ ด้วยทรงเห็นว่าการศึกษาภาษาต่างประเทศจะเป็นด่านแรกที่จะเข้าถึงวิทยาการต่างๆ ของชาติตะวันตก โรงเรียนตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมกับการมาของครูฝรั่งที่เข้ามาสอนในพระบรมมหาราชวัง และมิชชันนารีที่เปิดโรงเรียนสอนลูกชาวบ้าน

การศึกษาในพระราชสำนัก จากบันทึกของหมอบรัดเลย์ (สยามสามสมัยจากสายตาหมอบรัดเลย์) วันก่อนที่เจ้าฟ้าจะทรงลาผนวช พระองค์โปรดให้มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ที่ทรงสนิทสนมมาเป็นปีๆ เข้าเฝ้า ในระหว่างการเข้าเฝ้า พระองค์ตรัสอย่างไม่ถือพระองค์และให้รู้เป็นการภายใน สิ่งที่พระองค์ตรัสทำให้ความหวังที่จะเห็นสยามรุ่งเรืองในอนาคตฟื้นคืนมาอีก พระราชดำรัสที่ทำให้เราหูผึ่งก็คือ พระราชดำรัสที่จะให้มีชั้นเรียนขนาดใหญ่ให้หนุ่มสยามได้ศึกษาภาษาอังกฤษอย่างดี และจะทรงโปรดให้มีโรงเรียนมัธยมขึ้นในบางกอก ที่สอนทั้งภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์จากตะวันตกด้วย

เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ทรงเริ่มดำเนินการตามนั้นภายในหกเดือน หลังขึ้น ครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้อย่างน้อยๆ ก็พระประยูรญาติให้ได้รับการศึกษาแบบที่เดียวกับราชสำนักในยุโรป

พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส)
พระโอรสและพระหลานเธอในพระบรมวงศานุวงศ์
ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ กับนายฟรานซิล ยอร์ช แพตเตอร์สัน

จากพระราชนิพนธ์พระประวัติตรัสเล่า ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๔๗ แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความตอนหนึ่งว่า “….เริ่มต้นที่ล้นเกล้าฯ จะทรงทำนุบำรุงพวกเราให้ได้รับความรู้ ทรงตั้งโรงเรียนภาษาอังกฤษขึ้นที่ตึกแถวริมประตูพิมานชัยศรี ด้านขวามือหันหน้าออก มีนายฟรานซิล ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นครูสอน อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เช้าสอนเจ้านายกับพวกเราและหม่อมเจ้าบ้าง บ่ายสอนข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เราเข้าเรียนมาตั้งแต่เปิดโรงเรียน ครั้งนั้นเรามีอายุราว ๑๒ ปี ครูพูดไทยไม่ได้สอนอย่างฝรั่งเจี๊ยบ หนังสือเรียนใช้แบบฝรั่ง ที่สุดจนแผนที่ก็ใช้แผนที่ยุโรปสำหรับสอน เรารู้จักแผนที่ของเมืองฝรั่งก่อนเมืองไทยเราเอง คิดเลขก็ใช้มาตราอังกฤษ เรารู้นิสัยฝรั่งจากหนังสือเรียน ….”

นอกจากนี้ ตามบันทึกของ ดร. เฮ้าส์ (Haws) พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงโปรดให้กลุ่มมิชชันนารีส่งสตรีในคณะมิชชันนารีไปสอนภาษาอังกฤษแก่พระราชธิดาและพวกสตรีในวังหลวง สตรีมิชชันนารีที่ทำหน้าที่สอนพวกสตรีในวังหลวง คือนางแดน บรัดเลย์ นางเอส แมททูน และนางจอร์น เทเลอร์โจน ไปสอนภาษาอังกฤษในพระราชสำนัก เป็นเวลา 3 ปี

สตรีมิชชันนารี ประกอบด้วยภรรยาหมอบรัดเลย์ (Mrs.Bradley) ภรรยาหมอแมททูน (Mrs.Matton) ภรรยาหมอโจนส์ (Mrs.Jones) มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและความรู้ทั่วไปแก่กุลสตรีในวังระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๔-๒๓๙๗

อย่างไรก็ดี การที่ได้มีมิชชันนารีเข้าไปสอนหนังสือถึงในพระบรมมหาราชวัง ก็พอนับได้ว่าเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย เพราะมีจำนวนนักเรียนถึง 30 คน และมีครูช่วยกันถึงสามคน แต่เป็นโรงเรียนหลวงมิใช่โรงเรียนราษฎร์ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงโปรดให้ก่อตั้งขึ้นมา และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่สตรีไทยได้เริ่มศึกษาภาษาอังกฤษกัน ซึ่ง ดร. เฮ้าส์ (Haws) บันทึกว่า “…การสอนหนังสือชาววังนี้เป็นงานให้การศึกษาชาววังเป็นครั้งแรกในต่างประเทศ และกล่าวว่าจุดนี้เป็นการเริ่มต้นให้การศึกษาแก่ สตรีชาววังอย่างเป็นทางการ…”

ครูผู้หญิงชาวอเมริกันสอนหนังสือเด็กไทย
มีครูคนไทยเป็นผู้ช่วย
สตรีในโรงเรียนมิชชันนารีสมัยรัชกาลที่ ๔ ในชั้นเรียนที่ภรรยา
หมอเฮาส์สอนหนังสือ สอนตัดเย็บ และการซักรีดเสื้อผ้า

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๔ โปรดเกล้าให้จ้างนางแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) ชาวอังกฤษ มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้แก่พระโอรสและพระธิดา ทรงให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระราชโอรสและพระราชธิดาและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ได้ศึกษาภาษาอังกฤษ และต่อมาทรงโปรดให้ศึกษาวิชาการแขนงต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น อาทิ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นับเป็นการวางรากฐานการศึกษาแบบใหม่ขึ้น

                                                                                                      ภาพเขียนลายเส้นเด็กชาย เด็กหญิงในโรงเรียนคริสตังแห่งหนึ่ง

กำเนิดโรงเรียนแบบสากล

สถาบันการศึกษาที่เป็นระบบแตกต่างกับสถาบันการศึกษาแบบเดิมของไทย ที่มีอยู่ในวัด ในวัง อยู่เป็นอันมาก เพราะจะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรค่อนข้างแน่นอนชัดเจนว่าจะสอนอะไรบ้าง มีกำหนดเวลาเรียน มีการจ้างครูมาทำการสอน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนให้มิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงเรียนขึ้น เพื่อให้การเพื่ออบรมสั่งสอนให้คนไทยมีความรู้ในภาษา วรรณคดี และวิทยาการของตะวันตก ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือคณะมิชชันนารีอเมริกัน ในส่วนของการศึกษาภายในโรงเรียนของมิชชันนารีพึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเกิดโรงเรียนที่เป็นระบบแบบสากลขึ้น และนับว่าเป็นการก้าวสู่การศึกษาแบบสมัยใหม่ที่มีระบบการเรียนการสอนที่เป็นพื้นฐานของการการศึกษาในสมัยต่อมา

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๓๙๕ ต่อมาได้รวมกับโรงเรียนของซินแส กี เอ็ง ก๊วยเซียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนส์ โรงเรียนนี้รับนักเรียนชายล้วน มีครูใหญ่เป็นคนไทย และสอนด้วยภาษาไทย

ตามบันทึกของหมอเฮ้าส์ เดือนสิงหาคม ๒๓๙๙ มีความตอนหนึ่งว่า “โรงเรียนของเราได้ขยายออกไปมาก มีหลายคนมาสมัครเรียนภาษาอังกฤษ เป็นบุตรชายคนหัวปีของอัครมหาเสนาบดี ได้มาเรียนกับมิสซิสมัตตูน สม่ำเสมอ เป็นเด็กฉลาด อายุ ๗ ปี ในหลวงทรงขอร้องให้ข้าพเจ้าสอนเจ้านาย ๒ องค์ คือ พระราชนัดดาอายุ ๑๖ ปี อีกองค์หนึ่งเป็นนัดดาของในหลวงองค์ก่อน อายุ ๑๑ ปี และได้ทรงสั่งให้เด็กชาย ๑๒ คน ซึ่งเป็นบุตรของพวกมหาดเล็ก มาเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนของเรา โดยเป็นนักเรียนไปกลับ ต้องสร้างโรงเรียนไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นทางหลังบ้านของเรา”

คริสเตียนบอยสกูล กุฎีจีน เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของเมืองไทย
ปัจจุบันคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

ต่อมาเมื่อกิจการของโรงเรียนขยายตัวออกไป สถานที่ตั้งโรงเรียนก็ได้ย้ายไปอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลสำเหร่ ชื่อโรงเรียนสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ตำบลสีลม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของไทย ที่มีอายุยืนนานที่สุดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

โรงเรียนราษฎร์สำหรับนักเรียนสตรีแห่งแรกของเมืองไทย ซึ่งคณะมิชชันนารีอเมริกันได้ตั้งขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอรุณประดิษฐ์

โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ เป็นโรงเรียนราษฎร์สำหรับนักเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย ได้กำเนิดขึ้นที่เมืองเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๐๘ โดยนาง เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ (Mrs. S.G. McFarland) เป็นผู้จัดตั้งขึ้น เดิมชื่อโรงเรียนอรุณสตรี

การศึกษาในระยะเริ่มแรกนั้น นอกจากเรียนหนังสือแล้ว แหม่มแมคฟาร์แลนด์ยังได้ฝึกสอนวิชาเย็บปักถักร้อยให้แก่เด็กๆ เหล่านี้ด้วย และครั้นเมื่อพวกมิชชันนารีได้นำจักรเย็บผ้ารุ่นแรกเข้ามาใช้ในเมืองไทยแล้ว แหม่มแมคฟาร์แลนด์ก็ได้นำจักรเย็บผ้านั้น มาฝึกสอนให้ลูกศิษย์ของตนรู้จักใช้กันมากขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักรขึ้นในเมืองไทย จนในครั้งนั้นเพชรบุรีได้มีสมญาว่า “เมืองแห่งจักรเย็บผ้า” (Sewing Machine Town) โรงเรียนนี้ก็เลยได้ชื่อว่า เป็นโรงเรียนหัตถกรรม หรือโรงเรียนอุตสาหกรรม และนับว่าเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับสตรีแห่งแรกในประเทศไทย

การศึกษาต่อต่างประเทศ

ในระยะหลังความนิยมที่จะเล่าเรียนภาษาและวิชาการต่าง ๆ จากพวกมิชชันนารีโดยส่วนตัวดูจะแพร่หลายขึ้น ทั้งในกลุ่มเจ้านายและสามัญชนโดยทั่วไป ทั้งนี้น่าจะเนื่องมาจากการขยายตัวทางการค้าหลังการทำสนธิสัญญาบาว์ริงใน พ.ศ. ๒๓๙๘ นั่นเอง การติดต่อกับพ่อค้าชาวต่างประเทศมีกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม ประกอบกับเป็นการเจริญรอยตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โปรดคนรู้ฝรั่ง ทรงพระราชดำริว่า ผู้ใดมีสติปัญญาก็ควรจะเอาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้วย และผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษจะมีโอกาสให้เข้ารับราชการใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทได้ไม่ยาก จากความนิยมในการศึกษาแบบใหม่ทำให้การส่งนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศมีมากขึ้น โดยนักเรียนไทยที่ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศคณะแรก ซึ่งเดินทางไปพร้อมคณะทูตไทยไปอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ มี ๒ คน คือ นายทด บุนนาค บุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)และนายเทศ บุนนาค (เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ) บุตรสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ทั้งสองได้รับการฝากฝังให้กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษจัดให้ศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัยที่กรุงลอนดอน แต่ปรากฏว่าเมื่อคณะทูตเดินทางกลับ นักเรียนทั้งสองก็กลับโดยไม่ทราบเหตุผล

นักเรียนที่บิดามารดาส่งออกไปเอง และได้กลับมารับราชการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๓ คนซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกไว้ คือ

  • พระยาอัครราชวราทร (หวาด บุนนาค) รับราชการเป็นหลวงวิเศษพจนการกรมท่า
  • พระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ไปศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ รับราชการเป็น ขุนศรีสยามกิจ ผู้ช่วยกงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์ แล้วเลื่อนเป็น หลวงศรีสยามกิจ ตำแหน่งไวส์กงสุลสยามที่เมืองสิงคโปร์
  • เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ไปศึกษาประเทศอังกฤษ รับราชการในตำแหน่ง นายราชาณัตยนุหารหุ้มแพรวิเศษในกรมอาลักษณ์พนักงานเชิญรับสั่งไปต่างประเทศ และทรงใช้สอยในหน้าที่ราชเลขานุการภาษาอังกฤษจนตลอดรัชกาล
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
พระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด บุนนาค)

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนอีก ๓ คนซึ่งออกไปศึกษาที่ยุโรปและกลับเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ

  • เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ได้เล่าเรียนวิชาทหารปืนใหญ่จากอังกฤษ นับเป็นคนแรกที่สำเร็จวิชาทหารจากยุโรป
  • เจ้าพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ
  • หลวงดำรงสุรินทร์ทรฤทธิ์ (บิ๋น บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส
เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
เจ้าพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค)

จากบันทึก “ชุมนุมพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ” มีสามัญชนได้เล่าเรียนภาษาและมีโอกาสติดตามมิชชันนารีไปศึกษาวิชาแพทย์ที่อเมริกา ได้ประกาศนียบัตรเป็นแพทย์กลับมาเมืองไทย และได้เข้ามารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “นายเทียนฮี้ “รับราชการในตำแหน่งพระยาสารสินสวามิภักดิ์

พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน)

การศึกษาดูงานต่างประเทศ

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงปรับปรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญทันสมัยอย่างอารยประเทศ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูงานการปกครองและบำรุงบ้านเมืองของอังกฤษที่สิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๔ นอกจากนั้นยังส่งข้าราชการออกไปศึกษาวิชาเฉพาะอย่างที่พระองค์ต้องการอีกด้วย เช่น ส่งขุนมหาสิทธิโวหาร ออกไปดูงานการพิมพ์ และหมื่นจักรวิจิต ไปฝึกหัดการซ่อมนาฬิกา เป็นต้น

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์
กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
(ช่วง บุนนาค)

จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมการศึกษาแบบตะวันตกเป็นอันมาก ทั้งการศึกษาภายในประเทศและการศึกษาต่างประเทศ โดยวิธีการส่งนักเรียนออกไปศึกษาและดูงานต่างประเทศ รวมทั้งมีผู้ขวนขวายศึกษาหาความรู้จากมิชชันนารีบ้าง ติดตามมิชชันนารีออกไปศึกษาต่างประเทศบ้าง หรือบิดามารดาส่งออกไปด้วยทุนส่วนตัวบ้าง ผู้ที่เดินทางออกไปศึกษาต่อต่างประเทศเหล่านี้ ได้กลับเข้ามารับราชการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกือบทั้งสิ้น

การส่งเสริมการเรียนรู้นอกระบบ

นอกจากการศึกษาในรูปแบบที่เป็นระบบแล้ว ยังมีการเผยแพ่รความรู้สมัยใหม่ให้แก่ราษฎรได้เข้าใจ ตามหลักวิชาซึ่งมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนในสังคม ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงทรงเผยแพร่ความรู้สมัยใหม่ให้แก่ราษฎร ได้เข้าใจตามหลักวิชา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนในสังคม ที่เคยมีความรู้ความเชื่อกันแต่เดิมมาแตกต่างไปจากความรู้ใหม่ที่เผยแพร่ในขณะนั้น ได้แก่ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ การอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยให้ความรู้ว่าเป็นการเกิดขึ้นตามการหมุนเวียนของธรรมชาติ มิใช่การกระทำของเทวดาหรือภูตผีปีศาจ ดังเช่นฝนแล้งหรือฝนชุก เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ มิใช่สิ่งเหนือธรรมชาติ ทรงแนะนำว่าหากกลัวฝนแล้งให้หาภาชนะเก็บน้ำไว้ใช้และให้รีบทำนาในช่วงที่ยังมีฝนชุกอยู่ เพื่อได้มีผลผลิตไว้บริโภคตลอดทั้งปี เหลือส่งขายมีรายได้เพิ่ม มีเงินใช้ในหน้าแล้ง ส่วนการเกิดสุริยุปราคาสามารถอธิบายได้ด้วยระบบการโคจรหมุนเวียนของโลก ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ มิใช่เป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ดังที่เคยเชื่อกันมา ด้วยเหตุนี้ทำให้พระองค์ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างแม่นยำ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับ โปรดให้ฉายพระรูป กับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ

วิธีการนี้นับว่าช่วยปรับปรุงลักษณะนิสัยจากความเชื่อเดิมของคนไทยได้ผล อีกทั้งเป็นการให้ความรู้แบบใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์ตามหลักวิชาที่สำคัญในสังคมไทยต่อมา

แท่นพิมพ์แรกของหมอบรัดเลย์ที่นำเข้ามาใช้ในเมืองไทย

ด้านการพิมพ์ คนไทยคนแรกที่ริเริ่มกิจการพิมพ์หนังสือขึ้นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎและยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเห็นประโยชน์ของหนังสือ ในเมื่อคณะมิชชันนารีพิมพ์หนังสือเผยแพร่ศาสนาคริสต์ พระองค์ทรงดำริให้ใช้การพิมพ์เผยแพร่ศาสนาพุทธ จึงโปรดฯ ให้สั่งเครื่องพิมพ์มาตั้งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพิมพ์หนังสือบทสวดมนต์ด้วยอักษรอริยกะ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ หนังสือบางกอกคาเลนเดอร์ของหมอบรัดเลย์ระบุว่า “…โรงพิมพ์ของเจ้าฟ้าใหญ่มีแท่นพิมพ์ ๑ แท่น ตัวพิมพ์อักษรไทย ๑ ชุด ตัวพิมพ์อังกฤษ ๒ ชุด และตัวพิมพ์ภาษาบาลี ๒ ชุด สิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลี และกล่าวว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของไทย…”

บทสวดมนต์ตัวอักษรอริยกะ มงคลสูตร

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์สมบัติ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพิมพ์ขึ้นอีกแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นกลาง เป็นตึกสองชั้นพระราชทานชื่อว่า โรงพิมพ์อักษรพิมพการ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์หลวงทำหน้าที่เป็นโรงพิมพ์แห่งชาติโรงแรก ในพ.ศ. ๒๔๐๑ ได้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ของราชการฉบับแรก สำหรับบอกข่าวคราวในราชสำนักและเก็บความจากประกาศของราชการต่าง

ส่วนโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ก็มิได้ถูกกีดกัน แต่กลับได้รับการนับถือว่าเป็นบิดาของโรงพิมพ์ทั้งหลาย และยังได้รับพระราชทานลิขสิทธิ์เป็นครั้งแรกของเมืองไทยให้พิมพ์แบบเรียนภาษาไทย เช่น หนังสือจินดามณี ประถม ก กา ประถมมาลา และตำราวิชาการอื่นๆ เช่น วิชาช่าง และวิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อออกจำหน่าย เป็นต้น

การนำเทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาใช้ในเมืองไทย นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งในการแพร่หลายความรู้ต่างๆ สู่สาธารณะชนอย่างกว้างขวางในรูปแบบใหม่ คือ เริ่มเปลี่ยนแปลงความรู้แบบ “มุขปาฐะ” มาเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้วยภาษาเขียน เป็นรูปลายลักษณ์อักษร และการแพร่หลายของความรู้ที่จำกัดเฉพาะราชสำนักหรือในหมู่ข้าราชการสู่สาธารณะชนมากขึ้น จึงเป็นการเผยแพร่ความรู้ไปสู่ประชาชนให้กว้างขวาง นับว่าเป็นการนำเอาการศึกษาของไทยเดิมมาประกอบเข้ากับวิทยาการของมิชชันนารีฝรั่งที่นำเข้ามา สร้างความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาของไทยได้เร็วขึ้นไปอีก แบบเรียนภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นมาและจ้างพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์คงใช้ในการสอนภาษาไทยที่โรงเรียนของมิชชันนารีด้วย

กล่าวได้ว่าการยอมรับการศึกษาภาษาอังกฤษและอารยธรรมตะวันตกของรัชกาลที่ ๔ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อการศึกษาของประเทศ ระบบการศึกษาดั้งเดิมของชาติที่สืบต่อกันมาหลายศตวรรษได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวใหม่ที่ละเล็กละน้อยแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การส่งคนไปเรียนต่างประเทศเพื่อนำวิชาการแบบใหม่มาปรับปรุงงานด้านต่าง ๆแม้ว่าจะยังจำกัดอยู่เฉพาะขุนนาง และข้าราชการชั้นสูง แต่ก็เป็นการวางรากฐานในการพัฒนาคนเพื่อเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งจะมีการแบ่งแยกหน่วยงานที่หลากหลายและต้องการผู้มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้นในเวลาต่อมา

พระองค์มีภารกิจมากมาย ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเต็มไปด้วยความยากลำบาก และอยู่ในภาวะล่อแหลมจากแผนการล่าอาณานิคม แต่พระองค์ก็ทรงดำเนินการต้านกระแสคลื่นยักษ์ของการล่าเมืองขึ้นได้สำเร็จ ทรงวางรากฐานการปฏิรูปและการพัฒนาประเทศชาติ แต่เนื่องด้วยทรงมีเวลาเพียง ๑๗ ปี ในช่วงที่ทรงครองราชย์ ทั้งยังต้องทรงใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้วิทยาการต่างๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นานหลายปี ขณะที่พสกนิกรชาวไทยยังไม่มีการศึกษามากนัก สถานการณ์บ้านเมืองจึงยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ หากแต่พระองค์ทรงพยายามวางรากฐานทางการศึกษา ทรงโน้มน้าวให้ประชาชนยอมรับวิทยาการแผนใหม่และมีเหตุผลมากขึ้น พระราชภารกิจหลายอย่างจึงมามีสัมฤทธิผลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชโอรสของพระองค์เป็นส่วนใหญ่

บรรณานุกรม

คนจีน ๒๐๐ ปี ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร. กรุงเทพฯ : เส้นทางเศรษฐกิจ, ๒๕๒๖.
จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. เจ้าชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๗.
ชมรมดำรงวิทยาในอุปถัมภ์หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, ๒๕๒๗.
ชลภูมิ บรรหาร. ความทันสมัยทางการเมืองตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๕๒.
ทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี, เจ้าพระยา. หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๑๔.
ที่ระลึกพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์. กรุงเทพฯ : โรงเรียนเทพศิรินทร์, ๒๕๔๑.
บุรุษอาชาไนย : องค์หนึ่งของชาติไทย ฯลฯ มหามกุฏบรมราชานุสสรณ์. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2492. ( จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานสมโภชพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ในมงคลวารดีถีคล้ายวันพระราชสมภพ ครบ ๑๔๕ ปี วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๙๒)
นฤมล ธีรวัฒน์. พระราชดำริทางการเมืองของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๕.
แบรดเลย์, วิลเลียม เอล. สยามสามสมัยจากสายตาหมอบรัดเลย์. กรุงเทพฯ : เพื่อนชีวิต, ๒๕๒๗.
ประพัฒน์ ตรีณรงค์. พระประวัติและผลงานสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, ๒๕๔๖.
ปรามินทร์ เครือทอง. พระจอมเกล้า “KING MONGKUT” พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย : ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๗. กรุงเทพฯ : สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ๒๕๔๗.
พระบวรราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว : ๗ มกราคม ๒๕๕๓. กรุงเทพฯ : กรุงเทพฯ : จันวาณิชย์, ๒๕๕๓.
มูลนิธิวิทยาศาสตร์ ดร.ปรีชา-ประไพ อมาตยกุล. เฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๑.
วชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. พระประวัติตรัสเล่า. พิมพ์ครั้งที่ ๓. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๐๗.
สมศรี บุญอรุณรักษา. พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ : มิตรที่ดี สนิทสนม และจริงใจ ในรัชกาลที่ ๔ : นักพิมพ์และนักเขียน. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, ๒๕๕๐.
สมุดภาพจดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๘.
สมรัตน์ จารุลักษณานันท์. “นายแพทย์เฮาส์ : แพทย์ผู้ให้ยาระงับความรู้สึกคนแรกในสยาม,” วิสัญญีสาร. ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มีนาคม ๒๕๕๔. หน้า ๑-๔.
สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์. “การพัฒนาการศึกษาในราชสำนักก่อนสมัยปฏิรูปในรัชสมัยที่ ๕ : การวางรากฐานการศึกษาแบบเป็นทางการและเป็นสากลของไทย,” วารสารศึกษาศาสตร์. ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘-มีนาคม ๒๕๔๙. หน้า ๑-๑๗.
สุวิชัย โกศัยยะวัฒน์. “การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๔ : การวางรากฐานเพื่อก้าวจากสังคมจารีตลักษณ์สู่สังคมนวลักษณ์ของสยาม,” วารสารศึกษาศาสตร์. ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑ เดือนมิถุนายน – ตุลาคม ๒๕๔๗. หน้า ๒๙๔๘.
เสทื้อน ศุภโสภณ. ประวัติการโรงเรียนราษฎร์ในประเทศไทยและทำเนียบโรงเรียนราษฎร์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๔.
เหตุการณ์ตอนต้นรัชชกาลที่ ๔. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๕.โอภาส เสวิกุล. พระราชบิดาแห่งการปฏิรูป. พระนคร : แพร่พิทยา, ๒๕๑๓.

บรรณานุกรมภาพประกอบ

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. สวดมนต์ ตัวอริยกะ (พร้อมคำอ่านในอักษรไทย). กรุงเทพฯ : วัดบวรนิเวศวิหาร, ๒๕๔๗.
ชมรมสายสกุลบุนนาค. สกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๔๒.
ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘.
ประยุทธ สิทธิพันธ์. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เล่มต้น- เล่มปลาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๑๖.
ประสงค์ สุขุม. ๑๕๐ ปี จากกุฎีจีนถึงประมวญมิชชันนารีกับการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๘.
ปรามินทร์ เครือทอง. พระจอมเกล้า “KING MONGKUT” พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๗.
ราชกิจจานุเบกษาในรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๗.
วิบูล วิจิตรวาทการ. ชีวิตในอดีต…ฝรั่งในกรุงสยาม. กรุงเทพฯ : หมึกจีน, ๒๕๒๙.
วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. สารสินสวามิภักดิ์. กรุงเทพฯ : กายมารุต, ๒๕๔๓.
ส. พลายน้อย. หมอปลัดเล. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, ๒๕๔๘.
สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. บันทึกเรื่องเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๒๖.
เสทื้อน ศุภโสภณ. ประวัติการโรงเรียนราษฎร์ในประเทศไทยและทำเนียบโรงเรียนราษฎร์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๔.