โครงการพระจอมเกล้าศึกษา

กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
เจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอก
ภาพจาก: ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดิน สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
 
กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๙.

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ เป็นพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติเมื่อต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ประสูติ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๔ ตรงกับวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๙๕ ชาววังทั่วไปพากันออกพระนามว่า “พระองค์ใหญ่โสมฯ” บ้าง “พระองค์ใหญ่” บ้างตามถนัด ทรงมีพระอนุชา และพระขนิษฐภคินีร่วมพระชนนีเดียวกัน ๙ พระองค์

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์หญิงเจ้าโสมาวดี
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
กรมพระสมรรัตนสิริเชษฐ (แถวนั่งองค์ขวา)
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระราชพิธีฉัตรมงคล ปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ ประจวบกับเป็นปีซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาครบสองเท่าของรัชกาลที่ ๔ จึงทรงพระราชดำริว่า พระพี่นางเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็นพระเจ้าลูกเธอ อันพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามาก ได้ฉลองพระเดชพระคุณสนิทมากยิ่งกว่าพระองค์อื่น ๆ ด้วยพระปรีชาว่องไว ในราชกิจทั้งปวง และมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารีกว้างขวางในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และทรงพระอุตสาหะดูแล บังคับบัญชาการฝ่ายใน ให้สำเร็จไปตามพระราชประสงค์ และราชประเพณี ทรงพระปรีชาสามารถในราชกิจเก่าใหม่ ตั้งพระราชหฤทัยจงรักภักดีเป็นอันมาก จึงมีพระบรมราชโองการทรงสถาปนา พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ” ทรงศักดินา ๑,๕๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง

ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ทรงเป็นเจ้านายพระชันษายืนพระองค์หนึ่งในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นผู้รักษากุญแจพระราชฐานชั้นใน มาจนตลอดรัชกาล หรืออาจกล่าวได้ว่าทรงเป็นเจ้านาย ๔ แผ่นดินอย่างแท้จริง ด้วยประสูติตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ และเสด็จอยู่มาจนถึงเกือบปลายรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงเห็นทุกข์ และสุขมากต่อมาก และทรงรักษาพระเกียรติที่ทรงเป็น “สิริเชษฐ” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ไว้อย่างงดงามบริบูรณ์ทุกประการ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระเมตตาพระราชทานพระเกียรติยกย่องเป็นพิเศษกว่าพระพี่นางพระองค์อื่น ได้รับพระราชทานพระตำหนักขนาดใหญ่ ก่ออิฐฉาบปูนสูงสองชั้นมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เวลามีการพระราชพิธี เสด็จพระองค์โสมฯ ก็ทรงอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าในหมู่เจ้านายลูกเธอในรัชกาลที่ ๔

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ทรงประชวรพระโรคชรา สิ้นพระชนม์ วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ เวลา ๙ นาฬิกา ๕ นาที ที่วังวรดิศ พระชนมายุ ๗๙ พรรษา พระราชเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส พุทธศักราช ๒๔๗๕

กรมพระสมรรัตนสิริเชษฐ (แถวนั่งองค์ซ้าย)
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ฉลองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะเวลาที่กำลังทรงนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานเพื่อปรับปรุงวัฒนธรรมไทยให้เป็นสากล ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาได้ทรงศึกษาวิชาการสมัยใหม่และภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังทรงเปิดโอกาสให้พระราชธิดาได้ทรงคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศทั้งหญิงและชาย โดยเฉพาะพระราชธิดารุ่นใหญ่ มักทรงโปรดเกล้าให้โดยเสด็จพระราชดำเนินออกสมาคม เช่นการต้อนรับแขกเมืองดังที่ เซอร์แฮรี เซนต์ยอช ออด ผู้สำเร็จราชการมาลายูของอังกฤษประจำสิงคโปร์ ซึ่งมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้บันทึกเกี่ยวกับการออกสมาคมของพระธิดารุ่นใหญ่ ดังนี้

“พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จออกมาทรงต้อนรับ ทรงแนะนำให้รู้จักกับข้าราชการฝ่ายใน และพระองค์เจ้าหญิงมีพระชนมายุในราว ๑๖ พรรษา จำนวน ๓ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าทักษิณา และพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าโสมาวดี ซึ่งทุกองค์ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ (ให้ดำ) ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาเลิศลักษณ์ที่เดียว พระกริยามารยาทก็น่าชม และตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ ซึ่งตรงกับ ความตอนหนึ่งของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ทรงบันทึกไว้ในหนังสือสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นว่า เสด็จป้ากรมหลวงสมรรัตน์ฯ เคยตรัสกับข้าพเจ้าว่า “ป้าก็เคยรินน้ำชาเลี้ยงฝรั่งที่หว้ากอ” แล้วท่านก็ทรงพระสรวลเมื่อเห็นข้าพเจ้าหัวเราะ และตรัสต่อไปว่า “ธรรมเนียมฝรั่งเขาต้องให้ผู้หญิงรินน้ำชา แล้วท่านก็เลยให้ป้าเป็นคนออกไปรับแขกเมือง”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายพระรูปกับเซอร์แฮรี่ ออด
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๐๖.
กรมพระสมรรัตนสิริเชษฐ (แถวกลาง องค์ที่ ๓ จากซ้าย)
ภาพจาก : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน หนังสือความทรงจำ ว่า “มีพระเจ้าลูกเธอบางองค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกสรรสำหรับใช้สอย เป็นอุปฎฐากประจำพระองค์ มีแต่ในชั้นใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมพระสมรรัตนสิริเชษฐ (พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา) เป็นต้น”

ความบางตอนจาก “จดหมายเหตุเรื่อง การประชวรจนเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ” ซึ่งในจดหมายเหตุดังกล่าว พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดาได้ปฏิบัติอยู่ข้างพระที่จนกระทั่งสวรรคต

  • วันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๑ พระราชทานพระราชหัตถเลขามอบให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา เชิญออกมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม “พระราชราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า ให้ท่านผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดที่มีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร”
  • วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๑ เวลาพลบค่ำ รับสั่งให้พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ และพระองค์เจ้าโสมาวดีฯ ไปเอาพระแสงบนร้านข้างพระที่ไปให้พนักงานรักษาไว้บนพระที่นั่งจันทรทิพโยภาส
  • วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๑๑ รับสั่งให้พระองค์เจ้าโสมาวดีฯ กับเจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาจัดพระธำมรงค์เพชรเม็ดใหญ่ราคา ๑๐๐ ชั่ง กับพระประคำทองเครื่อง ตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไปมอบให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพื่อไปพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ

หลังจากนั้นมีรับสั่งกับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ฯ และพระองค์เจ้าโสมาวดีฯ ให้ไปเอาหีบพระธำมรงค์มาถวายเพื่อพระราชทานแหวนเพชรและทับทิมให้พระราชโอรสพระราชธิดาบางพระองค์

ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระเจ้าลูกเธอเสด็จเฝ้าอยู่หลายองค์ จึงรับสั่งว่า “แม่หนูใหญ่ แม่หนูโสม จงไปค้นแหวนข้าที่ซึ่งสำหรับแจกมาให้น้องตามมีตามได้เถิด” ทั้งสองพระองค์จึงได้ไปค้นได้แหวนเพชรบ้าง ทับทิมบ้าง มรกตบ้าง มาแจกพระเจ้าลูกเธอองค์ละวง

เวลา ๒ ยามเศษ (๒๔ นาฬิกา) รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดีฯ เชิญพระธำมรงค์เพชรใหญ่ ๒ วง ราคา ๑๐๐ ชั่ง มาถวาย ทรงรับพระธำมรงค์แล้วยกพระหัตถ์ประสานขึ้นเหนือพระนลาฎ ทรงอธิษฐานบริจาคบูชาในพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย

จากความที่กล่าวมาเป็นที่ประจักษ์ว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็นพระราชธิดา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาได้ฉลองพระเดชพระคุณปรนนิบัติรับใช้ ตลอดรัชกาลของพระองค์ ระหว่างที่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรจนเสด็จสวรรคต เจ้านายที่ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างเจ้านาย เสนาบดี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่รอฟังพระอาการ คือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา ที่ทรงฉลองพระเดชพระคุณอภิบาลรักษาสมเด็จพระบรมชนกอยู่ข้างพระที่โดยตลอดจนถึงสวรรคต

สิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระสถานะของพระองค์ใหญ่โสมฯ ในรัชกาลใหม่ก็เปลี่ยนไป คือดำรงพระอิสริยศักดิ์อยู่ในพระเจ้าพี่นางเธอเป็นพระปิตุฉา หรือ “ป้า” ของพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๕ ทุกพระองค์ ทรงมีอุปการะในกิจการต่าง ๆ เป็นอัน ทรงเป็นผู้ใหญ่ในพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงรับราชกิจบังคับบัญชาการฝ่ายในให้สำเร็จตามพระราชประสงค์และประเพณี ทรงพระปรีชาสามารถในราชกิจเก่าใหม่เป็นอันมาก

ทรงอภิบาลพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕

สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
ภาพจาก : สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
: ยุวราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๒. หน้า ๔๔ และหน้า ๕๐.
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ภาพจาก : สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : ยุวราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๒. หน้า ๖๔ – ๖๕.
จากซ้าย : สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช
ภาพจาก : โฉมหน้าประวัติศาสตร์ ชุด ราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๑๖. ไม่ปรากฏหมายเลขหน้า.

กรมพระสมรรัตนสิริเชษฐ ได้ถวายอภิบาลบำรุง เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งพระโอรส องค์ที่ ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ นั้นทรงกล่าวถึง “ป้าโสม” อยู่เสมอในจดหมายเหตุรายวันที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้ ดังจะอัญเชิญมาบางตอนดังนี้

วันพุธ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ คราวหนึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เสด็จไปเล่นที่อ่างแก้ว อันเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่สูงไม่ถึงเมตร ก่อด้วยซีเมนต์มีน้ำพุอยู่ตรงกลาง อยู่ชั้นล่างระหว่างพระเฉลียงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทกับพระที่นั่งสมมุติเทวราชอุปบัติ ทรงลอยเรือเล่นในอ่างแก้ว พระองค์ใหญ่โสมฯ ซึ่งเป็นพระอภิบาลตามเสด็จไปเล่นด้วย เล่นไปเล่นมา สมเด็จพระบรมฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันว่า “ป้าโสมตกน้ำอ่างแก้ว เราหัวเราะใหญ่…” เป็นที่ครึกครื้นกันทั้งพระปิตุฉาและพระนัดดา

วันจันทร์ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๗ เราแต่งตัวไปคอยตามเสด็จสวนสราญรมย์ ทูลหม่อมบนเสด็จทอดพระเนตรวังสราญรมย์ก่อน สนุก งามมากจัดไว้จะรับเจ้าฝรั่ง ทอดพระเนตรทั่วแล้ว เสด็จสวน วันนี้กุหลาบแดงบานมากแย่งกันเก็บใหญ่ แล้วตามเสด็จมาที่สนามโครเก เรากับน้องชายโตน้องชายเล็กเล่นน้ำพุน้องชายโตจมน้ำ ป้าโสมโดดตามเปียกหมด

นอกจากนี้ตามความพระราชประวัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งเป็นพระโอรส องค์ที่ ๗ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อทรงพระเยาว์ ประทับอยู่กับ พระราชชนนี ในพระบรมมหาราชวัง โดยมี กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ึ่งรับสั่งเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ป้าโสม” เป็นผู้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมโขลน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระศรีพัชราทรา บรมราชินีนาถ ได้ทรงตั้ง “กรมโขลน” ขึ้น เพื่อดูแลความเรียบร้อยในพระราชฐานชั้นใน โปรดฯให้ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ทรงเป็นอธิบดีกรมโขลน มีข้าราชการหญิงล้วน มีหน้าที่คล้ายตำรวจนครบาล รักษาความสงบเรียบร้อย มีกองรักษาการอยู่ที่ศาลา ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มียามประจำ เช่น ประตูพระราชวัง ยามเหล่านี้เรียกว่า “จ่าโขลน” และยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกด้วย

เครื่องแบบโขลนในกองรักษาพระองค์กรมโขลน
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๓๔.

อธิบดีราชการฝ่ายใน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระราชนิยมการทำดอกไม้ของไทยเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะมีพระราชพิธีใด ๆ เจ้านายฝ่ายในต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ ทรงใช้ในงานนั้นเสมอ พระเชษฐภคินีผู้ใหญ่คือ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ซึ่งดำรงตำแหน่ง อธิบดีราชการฝ่ายใน เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถในการจัดแต่งร้อยกรองดอกไม้มาก เครื่องแขวนดอกไม้สด พระนามในทางช่างดอกไม้เลื่องลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ มักจะทรงบัญชาการให้เจ้านายฝ่ายในทั้งปวงทำดอกไม้ตกแต่งพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่าง ๆ ดอกไม้ตกแต่งพระทวาร พระบัญชรในพระที่นั่งต่าง ๆ นอกจากจะทรงเกณฑ์ให้ทำแบบโบราณแล้ว ยังทรงคิดดัดแปลงการทำดอกไม้แบบใหม่ ๆ อีก เช่นแต่โบราณมีการร้อยตาข่าย ร้อยเฟื่องอะไรต่าง ๆ ติดโครงไม้หุ้มผ้าขาว มีแบบซ้ำ ๆ ตามต้นฉบับเดิม เช่น บันไดแก้ว พู่กลิ่น กลิ่นคว่ำ กลิ่นตะแคง กลิ่นจีน เป็นต้น ซึ่งสมเด็จกรมพระสมรรัตนสิริเชษฐได้ทรงคิดทำโครงลวดสีขาว และประดิษฐ์ดอกไม้ให้มีรูปร่างแปลกพิสดารงดงามออกไปอีกมาก เช่น ระย้าแปลง พวงแก้ว ทรงแปลงบันไดแก้วเป็นรูปวิมานพระอินทร์ วิมานแท่น นับได้ว่าการประดิษฐ์ดอกไม้ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอีกมาก

ระย้าแปลง และพวงแก้ว
ภาพจาก : มณีรัตน์ จันทนะผะลิน. เครื่องแขวนไทย : ดอกไม้สด. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ การพิมพ์, ๒๕๒๘. หน้า ๒๕.

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ กับ มจธ

กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ทรงได้รับพระราชทานที่ดิน ตำบล ราชบูรณะ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๓ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๗ ที่ดินเลขที่ ๑๐๘ โฉนดเลขที่ ๑๒๘๖ พื้นที่ตามโฉนด ๒๕๖ ไร่ ๑ งาน ๙๖ ตารางวา

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ โครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคแห่งใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐในด้านช่างเทคนิค ไ ด้รับการอนุมัติ ระหว่างสำรวจหาสถานที่ตั้งวิทยาลัย ท่านอธิบดี (สนั่น สุมิตร) พบว่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ตำบลบางมด ซึ่งกรมอาชีวศึกษา ขอเช่าไว้ ๓๒ ไร่ ปลูกสร้างอาคารไม้สองชั้น แบบมาตรฐาน ๑๔ ห้องเรียน เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ พร้อมทั้งบ้านพักครูใหญ่ และโรงอาหารอีกครึ่งหลัง ได้ถูกทิ้งว่างไว้ แม้จะยังไม่มีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ก็ยังมีอาคารพร้อมที่จะใช้ได้ ทันที่ ท่านจึงเสนอสถานที่นี้เป็นที่ตั้งวิทยาลัยแห่งใหม่ ให้ชื่อว่า “วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี” กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ สังกัดกรมอาชีวศึกษา ระหว่างการเตรียมงาน
ต่าง ๆ เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียน อาจารย์ประภา ประจักษ์ศุภนิติ ผ ู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี เล็งเห็นว่า เนื้อที่เพียง ๓๒ ไร่ จะไม่เพียงพอกับกิจการในอนาคต จึงเสนอกรมอาชีวศึกษา ขอขยายอาณาเขตไปอีก ๙๙ ไร่ ๒ งาน ๗๙ ตารางวา ที่ดินแปลงนี้ท่านเจ้าของที่ดินเดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ

สำเนาโฉนดที่ดิน เลขที่ ๑๐๘ โฉนดที่ ๑๒๘๖ ตำบล ราชบุรณะ
ที่มา : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
พื้นที่ตามโฉนดที่ มจธ.ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่ ๑๓๔ ไร่ ๒ งาน ๓๖ ตารางวา
ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.
กรุงเทพฯ: สถาบัน, ๒๕๓๗. หน้า ๒๑๑.

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาปนาขึ้นมาจากวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ตั้งอยู่บนที่ดิน เลขที่ ๑๐๘ โฉนดเลขที่ ๑๒๘๖ พื้นที่จำนวน ๑๓๔ ไร่ ๒ งาน ๓๖ ตารางวา ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งรับโอนเปลี่ยนนามจากเจ้าของที่ดินเดิม คือ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ สิ้นพระชนม์ เมื่อ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่มีวงศ์สายสืบสกุล ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รับโอนเปลี่ยนนามเจ้าของที่ดินเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ดินส่วนที่เหลือจากมหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพฯมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ)

วันวาน…วิทยาลัยเทคนิค ธนบุรี
ภาพจาก : หอบรรณสารสนเทศ
วันนี้ … มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ถ่ายภาพโดย : นายวรทัศน์ บุญไข่
ภาพจาก : หอบรรณสารสนเทศ

บรรณานุกรม

๑. โฉมหน้าประวัติศาสตร์ ชุด ราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๑๖.
๒. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. ความทรงจำ. พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๐๕.
๓. ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔. พิมพ์ครั้งที่ ๖. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๘.
๔. ธงทอง จันทรางศุ. ในกำแพงแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, ๒๕๕๐.
๕. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. พระอภิเนาว์นิเวศน์ : พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๙.
๖.บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์. กรุงเทพฯ : ปริทัศน์ศาสตร์, ๒๕๒๕.
๗. ประยุทธ สิทธิพันธ์. ตามรอยพระบาทพระพุทธเจ้าหลวง. พระนคร : สำนักพิมพ์สยาม, ๒๕๑๔.
๘. พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย. กรุงเทพฯ : แพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, ๒๕๒๖.
๙. พิธีพระราชทานปริญญาบัตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๑. กรุงเทพฯ : สถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ๒๕๓๑.
๑๐. พูนพิศสมัย ดิศกุล, ม.จ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มีเดียโฟกัส, ๒๕๓๔.
๑๑. ไฟน์สโตน, เจฟฟรีย์. สมุดพระรูปพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔). กรุงเทพฯ : โลมาโฮลดิ้ง, ๒๕๔๓.
๑๒.มณีรัตน์ จันทนะผะลิน. เครื่องแขวนไทย : ดอกไม้สด. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครูสวนดุสิต, ๒๕๒๘.
๑๓. มอฟแฟ๊ท, แอ๊บบ๊อต โลว์. แผ่นดินพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๒๐.
๑๔. วชิรุณหิศ, สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้า. จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดีเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๓.
๑๕. วิบูล วิจิตรวาทการ. แผ่นดินพระจอมเกล้าฯ. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, ๒๕๔๔.
๑๖. เวนิสา เสนีวงศ์. ภาพเก่าเจ้านายสมัย ร.๕. กรุงเทพฯ : บางกอกบุ๊คส์, ๒๕๔๖.
๑๗. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ : ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖. ๑๘. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ๒๕๓๗.
๑๙. สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : ยุวราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๒.
๒๐. เอมอร ศรีนิลทา. “การใช้ประโยชน์ที่ดิน,” ๓๐ ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : ๒๕๐๓-๒๕๓๓. กรุงเทพฯ : สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ๒๕๓๓. .

ขอขอบคุณ

กองแผนงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
งานนิติกร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
หอสมุดดำรงราชานุภาพ