โครงการพระจอมเกล้าศึกษา
พระวิสัยทัศน์ด้านสิทธิเสรีภาพ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของมหาอำนาจชาติตะวันตก เนื่องจากขณะทรงพระผนวช พระองค์ได้ทรงศึกษาหา ความรู้จากหนังสือพิมพ์ ตำราต่างประเทศ ที่ทรงสั่งซื้อ หรือที่มีผู้นำเข้ามาถวาย และทรงได้แลกเปลี่ยนความรู้ และข้อคิดเห็น กับชาวต่างประเทศ ทำให้พระองค์ทรงเข้าใจสถานการณ์ของบ้านเมือง และสิ่งที่บ้านเมืองจะต้องเผชิญ ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระภิกษุ
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงทรงดำเนินนโยบายปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก และถึงแม้จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบบ สมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดเหนือผู้อื่น แต่พระองค์มิได้ประสงค์จะใช้พระราชอำนาจที่จะทำให้ราษฎรเดือดร้อน พระองค์ทรงย้ำอยู่เสมอว่า ที่ได้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะทรงได้รับเลือก ดังมีจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า มหาชนนิกรสโมสรสมมติ อันแปลว่า มหาชนได้รวมกันเลือกตั้งขึ้น (จุลจักรพงศ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าชีวิต หน้า 359) และ “ในพระราชหัตถเลขาถึงพันโทบัตเตอร์เวิร์ธ ข้าหลวงแห่งเกาะพรินซ์ ออฟเวลส์ ลงวันที่ 21 เมษายน ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า ประธานาธิบดีผู้ได้รับเลือกตั้งใหม่หรือรักษาการพระมหากษัตริย์แห่งสยาม”(Newly Elected President or Acting King of Siam) และอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 22 พฤษภาคม “พระเจ้าแผ่นดินผู้เสด็จขึ้นครองราชย์องค์ใหม่แห่งสยาม “ (Newly Enthroned King of Siam) (มัลคอล์ม สมิธ หมอฝรั่งในวังสยาม หน้า 65) แม้เมื่อทรงประกาศแก้ข่าวลือ พระองค์ทรงยืนยันว่าทรงมีพระราชอำนาจ ได้ก็ด้วยความเห็นชอบและยินยอมจากคนทั้งปวงในประเทศ พระองค์จึงทรงคำนึงถึงความสุขของราษฎรมากกว่า
ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีแนวพระราชดำริด้านประชาธิปไตย เช่น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เหมือนกับราษฎร ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงให้สัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อราษฎร นอกจากนี้ พระองค์ทรงยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น โดยทรงให้ พระราชวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง พิจารณาเลือกผู้พิพากษา มาทำหน้าที่ตัดสินคดีความ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นผู้ที่พระองค์พอพระทัยหรือไม่ ผู้ใดได้รับ เสียงข้างมากก็ได้ตำแหน่งไป และต่อมาพระองค์ได้ทรงริเริ่มให้สิทธิเสรีภาพแก่ ราษฎรมากขึ้น ดังนี้ :
การถวายฎีการ้องทุกข์และการเลือกตระลาการ

ผู้ต้องโทษหนักถูกจำตรวน (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองไทย เล่ม2. ม.ป.ป. หน้า 31)
พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในการถวายฎีการ้องทุกข์ เนื่องจากราษฎรไม่ได้รับความเป็นธรรม และบางครั้งล่าช้า จึงทรงอนุญาตให้สิทธิราษฎร ถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระองค์ได้โดยตรง ทุกคนสามารถถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินได้โดยไม่ต้องผ่านขุนนางผู้ใหญ่ และไม่ต้องถูกโบยก่อน พระองค์จะเสด็จ ออกรับฎีการ้องทุกข์ทุกวันโกน และในกรณีที่ผู้ร้องทุกข์ไม่สามารถมาถวายฎีกาด้วยตนเองได้ เนื่องจากถูกจองจำ ก็ทรงอนุญาตให้พี่น้อง มูลนาย หรือนายประกัน ถวายฎีการ้องทุกข์แทนได้ สำหรับการเขียนคำร้องจะเขียนด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นเขียนให้ก็ได้ ขอแต่อย่าเขียนเยิ่นเย้อไม่ได้ใจความ
การถวายฎีการ้องทุกข์นี้ ผู้ร้องสามารถกล่าวโทษได้แม้จะเป็น เจ้านาย ขุนนาง ที่ใกล้ชิดกับพระองค์ เช่น ราษฏรเมืองระยองได้ถวายฎีกา กล่าวโทษผู้สำเร็จราชการ โดยพระองค์จะทรงแต่งตั้งให้คณะตระลาการ (ตุลาการ) ตัดสินหรือชำระความให้อย่างยุติธรรม สำหรับผู้ถวายฎีกาทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินคนละสลึง เป็นบำเหน็จก่อน เมื่อชนะความตามเรื่องราวในฎีกาแล้ว จะพระราชทานเงินเพิ่มให้ อีกสลึงหนึ่งเป็นรางวัล และผู้ถวายฎีกาหน้าพระที่นั่งจะทรงพระราชทานเงินคนละสองสลึงทุกคน เป็นค่ากระดาษ ดินสอ และค่าจ้างเขียน (ประกาศเลขที่ 81, 128)
ในการพิจารณาคดีความนั้น บางครั้งมีการถวายฎีกากล่าวโทษตระลาการว่าไม่เที่ยงธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการพิพากษาความ จึงทรงมีประกาศให้แต่งตั้งเลือกสภาตระลาการที่ลูกความไม่รังเกียจ (ประกาศเลขที่ 298) ซึ่งแสดงว่าลูกความมีสิทธิในการเลือกตระลาการที่ตนเห็นชอบ ว่ามีความยุติธรรม และในกรณีที่ลูกความมีความเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรม สามารถมาร้องเรียนต่อพระองค์ได้
การนับถือศาสนา
ในรัชสมัยของพระองค์มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาหลายคณะ การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาเป็นยุทธวิธีหนึ่งของชาติตะวันตก ดังนั้นพระองค์จึงทรงอนุญาตให้ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาได้ตามอัธยาศัย และสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่นับถือได้ โดยทรงแนะนำให้ราษฎรคิด ไตร่ตรอง และเลือกนับถือศาสนาที่เป็นที่พึ่งทางปัญญา มิใช่เลือกตามผู้อื่นหรือเลือกตามธรรมเนียม ดังที่ทรงประกาศว่า อนึ่งการแสวงหาแลถือศาสนา ซึ่งจะเป็นที่พึ่งของคนในชาตินี้ก็เป็นการดี สมควรเป็นที่ยิ่งแล้ว ควรที่ท่านทั้งปวงทุก ๆ คน ควรจะตริตรองใคร่ครวญ ด้วยปัญญาตนเอง เมื่อเห็นคุณประจักษ์ว่าศาสนาใดในหมู่ใด พวกใด จะเป็นที่พึ่งได้ ควรแก่ปัญญาแล้วก็จงถือแลปฏิบัติตามศาสนานั้นโดยน้ำใจตนเอง(ประกาศเลขที่ 165) และสำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น แม้พระองค์จะทรงก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย แต่พระองค์ทรงให้สิทธิให้สิทธิเสรีภาพแก่พระภิกษุสงฆ์ในการ เลือกปฏิบัติตามแนวทางของธรรมยุติกนิกาย หรือตามแนวทางมหานิกายก็ได้

ภาพ ร.4 ทรงทำนุบำรุงศาสนาจากโดมทิศตะวันตกของพระที่นั่งอนันตสมาคม
(ภาพจากหนังสือพระราชวังดุสิต: หมู่พระตำหนัก. 2545. หน้า212)
การยกย่องสถานภาพของสตรี

มิสซิส ดี.บี. บรัดเลย์ (ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เล่มต้น. 2516. หน้า 124)

มิสซิสสตีเฟน มัตตูน(หรือแมททูน)(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม เล่มต้น. 2516. หน้า 124)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้เลิกประเพณีที่โหดร้าย โดยเฉพาะการใช้กำลังฉุดคร่าสตรี ทรงให้สตรีมีสิทธิในการเลือกคู่ครอง ทรงยกย่องให้หญิงและชายเท่าเทียมกัน เป็นการเชิดชูเกียรติและยกย่องสถานะของสตรีไทยให้เท่าเทียมชาย ซึ่งแต่เดิมนั้นผู้หญิงถูกกดขี่เสมือนสัตว์ เดรัฐฉาน ในขณะที่ผู้ชายเป็นคนและทรงห้ามสามีขายภรรยา ห้ามบิดามารดาขายบุตร และห้ามบังคับขืนใจลูกสาวให้แต่งงาน หากเจ้าตัวไม่ยินยอม (ประกาศเลขที่ 271, 294) ในทำนองเดียวกันพระองค์ทรงอนุญาตให้เจ้าจอม หม่อมห้าม หรือฝ่ายใน ถวายบังคมลาเพื่อไปมีครอบครัวใหม่ได้โดยเสรี และในขณะเดียวกัน พระองค์ทรงยกระดับฐานะของสตรี ทรงให้สตรีมีสิทธิในการศึกษาเท่าเทียมชาย โดยทรงว่าจ้างนางบรัดเลย์ และนางแมททูน ภรรยาของมิชชันนารีมาถวายการสอนภาษาอังกฤษ วรรณคดีและวิชาวิทยาศาสตร์ แก่เจ้าจอม พระสนมและฝ่ายใน (วิไลเลขา ถาวรธนสาร ชนชั้นนำไทยกับการรับวัฒนธรรมเงินตรา หน้า 81-82) เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับชาวตะวันตกที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสมัยนั้น
การขยายโอกาสด้านการเรียนรู้สู่ราษฎรสามัญชน

สตรีโรงเรียนมิชชันนารีสมัย ร.4 ในชั้นเรียนที่ภรรยาหมอเฮาส์สอนหนังสือ การตัดเย็บ และการซักรีดเสื้อผ้า
(ภาพจากหนังสือชุมนุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.2549. หน้า 156)
พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ทรงสนับสนุนให้จัดการศึกษาสมัยใหม่ และทรงเป็นผู้เปิดโลกการเรียนรู้ของสามัญชนและสตรี เมื่อทรงตั้งโรงเรียนราชกุมาร และราชกุมารีขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงอนุญาตให้มิชชันนารีตั้งโรงเรียนขึ้น ทั้งในพระนครและหัวเมือง (เล่าเรื่องพระจอมเกล้า, 2547 หน้า 12) ซึ่งทั้งเจ้านาย และขุนนางต่างได้ส่งบุตร –ธิดา เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก และเมื่อทรงตั้งโรงพิมพ์ ได้มีการพิมพ์ เอกสารราชการต่าง ๆ แจกจ่ายไปตามสถานที่ราชการและชุมชน เพื่อให้ ราษฎรได้เรียนรู้ ต่อมามีการพิมพ์หนังสือออกจำหน่าย ได้แก่ หนังสือ จินดามณี ประถม ก.กา ประถมมาลา วิชาช่าง วิชาแพทย์ ทำให้การเรียนรู้ได้ขยายไปสู่ราษฎรสามัญชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ราษฎรสามัญชนจึงมีโอกาสได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

โรงเรียนราษฎร์สำหรับนักเรียนสตรี ซึ่งมีคณะมิชชันนารีได้ตั้งขึ้นที่ จ.เพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.2408
ปัจจุบัน คือ โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ (ภาพจากหนังสือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม เล่มต้น. 2516. หน้า 156)
พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา ทรงสนับสนุนให้จัดการศึกษาสมัยใหม่ และทรงเป็นผู้เปิดโลกการเรียนรู้ของสามัญชนและสตรี เมื่อทรงตั้งโรงเรียนราชกุมาร และราชกุมารีขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้ว ทรงอนุญาตให้มิชชันนารีตั้งโรงเรียนขึ้นทั้ง ในพระนครและหัวเมือง (เล่าเรื่องพระจอมเกล้า, 2547 หน้า 12) ซึ่งทั้งเจ้านายและขุนนาง ต่างได้ส่งบุตร –ธิดา เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก และเมื่อทรงตั้งโรงพิมพ์ได้มีการพิมพ์เอกสาร ราชการต่าง ๆ แจกจ่ายไปตามสถานที่ราชการและชุมชน เพื่อให้ราษฎรได้เรียนรู้ ต่อมามีการพิมพ์ หนังสือออกจำหน่าย ได้แก่ หนังสือ จินดามณี ประถม ก.กา ประถมมาลา วิชาช่าง วิชาแพทย์ ทำให้การเรียนรู้ได้ขยายไปสู่ราษฎรสามัญชนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ราษฎรสามัญชนจึงมีโอกาส ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
การแสดงละคร
ในสมัยรัชกาลก่อน ๆ มีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง ฝึกหัดละคอนหญิง ดังนั้นละครหลวงที่ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน จัดแสดงได้เฉพาะ ในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้ละครผู้หญิงล้วนแสดงได้ทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะในวังหลวง ทรงเห็นว่ามีละครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้นจะได้เป็นเกียรติยศแผ่นดิน (ประกาศเลขที่ 70) และยังทรงอนุญาตให้นำบทละครพระราชนิพนธ์ไปแสดงได้ทั่วไปเช่นกัน ซึ่งแต่เดิมนั้น ละครนอกจะแสดงได้เฉพาะนิทานชาดก หรือนิทานพื้นบ้าน แต่ทรงห้ามมิให้บังคับเอาบุตรชายหญิงที่ไม่สมัครใจมาหัดละคร

โรงละคร Siamese Thetre ของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
(เพ็ง เพ็ญกุล พระราชโอรสบุญธรรมใน ร.4 ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา-มหินทรศักดิธำรง)
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Prince Theatre ภาพถ่ายประมาณ พ.ศ.2410 การแสดงละครโดยใช้ชายจริงหญิงแท้
การถือครองที่ดิน
พระองค์ทรงโปรดให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาที่ดิน เพื่อให้ราษฎรที่เป็นเจ้าของบ้านเรือน ที่ดิน นาสวน ได้รับค่าชดเชย ตามสิทธิที่ได้ถือครองที่ดินนั้น แม้จะทรงมีพระราชอำนาจ แต่ไม่ทรงคิดเอา เปรียบพสกนิกร และทรงประกาศว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องพระราชประสงค์ที่บ้านเรือน นาสวน พระราชทานให้เป็นวัง บ้าน สวนนา แก่พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลละออ’พระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน ซึ่งมีความชอบ ฤาทรงพระราชศรัทธา ทรงสร้างพระอารามหลวงในที่แห่งใด ตำบลใด ฤาจะพระราชทานให้ผู้ใดก็ได้ ให้เอาเงินมาในคลังมหาสมบัติสำหรับแผ่นดิน ซื้อบ้านเรือน นาสวน พระราชทานแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน (พระราชธรรม พระราชประวัติ พระกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2542 หน้า 125) อนึ่ง ราษฎรที่เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดตราแดง สามารถนำที่ดินไปขายฝากหรือจำนำได้ และหากต้องการไถ่ถอนคืนต้องให้ราคาที่เจ้าของใหม่พอใจ ในขณะเดียวกันใครมีที่ดิน นาสวน อยู่ในเขตที่กำหนด เจ้าของที่ดินสามารถขายขาดให้คนต่างชาติได้ เพื่อจะได้ราคาแพง เพราะคนต่างชาติมักใจใหญ่ ผู้ขายจะได้เงินมาก เงินทองที่ได้ก็ตกอยู่ในบ้านเมือง (ประกาศเลขที่ 86)
การค้าขายข้าวและการทำงานกับชาวต่างชาติ


โกดังสินค้าริมคลองบางหลวง(คลองบางกอกใหญ่) ฝั่งธนบุรี
(ภาพจากหนังสือชุมนุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2549. หน้า 188)
แต่เดิมมาการค้าขายทางเรือกับต่างประเทศ เป็นสิทธิเฉพาะของพระคลังสินค้า พระราชวงศานุวงศ์ เจ้านายและขุนนางเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากระบบผูกขาดเป็นระบบการค้าเสรี (เพ็ญศรี ดุ๊ก การต่างประเทศกับเอกราช และอธิปไตยของไทย 2544 หน้า 7) ทรงอนุญาตให้ส่งข้าวเป็นสินค้าออกได้เป็นครั้งแรก ราษฎรจึงสามารถค้าขายข้าวได้โดยเสรี และทำงานกับคนต่างชาติได้ ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการค้าขายกันอย่างกว้างขวาง (ประกาศเลขที่ 92, 95, 120) บางครั้งมีการส่งข้าวไปขายต่างประเทศมาก ราคาข้าว ภายในประเทศจึงแพง หรือในบางครั้งมีผู้ต้องการซื้อข้าวมาก ผู้ขายก็โก่งราคา ดังประกาศผู้มีข้าวอยากได้เงิน ผู้กลัวอดซื้อข้าวไว้ พระเจ้าแผ่นดินไม่ขัดข้อง โปรดให้ตามใจราษฎรจะซื้อขายกัน หรือในบางครั้งเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ชาวนาปลูกข้าวได้น้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น ในบางครั้ง พระองค์จึงทรงมีประกาศเตือนสติไม่ให้ผู้ขายกักตุนข้าว เพื่อโก่งราคา และทรงมีประกาศเตือนสติให้สงวนข้าวไว้ให้พอกิน โดยห้ามไม่ให้ส่งข้าว ไปขายต่างประเทศ (ประกาศเลขที่ 95, 243)
การแสดงความคิดเห็นและรับรู้ข่าวสาร
เมื่อนายแพทย์แดนบีช บรัดเลย์ ได้นำเครื่องพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามา และได้ออกหนังสือบางกอก รีคอร์เดอร์ ซึ่งนอกจากการเผยแพร่ศาสนา ความรู้ ได้ให้โอกาสราษฎรแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมือง แม้แต่พระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศเตือนไม่ให้ประชาชนเชื่อข้อมูลที่มีผู้นำไปเขียนลงในหนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์ และทรงอนุญาตให้ประชาชนทูลถามเรื่องข่าวลือได้ (ประกาศเลขที่ 333, 335) แสดงว่าราษฎรมีสิทธิแสดงความคิดเห็น
ต่อมาทรงโปรดให้คิดพิกัดภาษีอากรทั้งปวง ตีพิมพ์แจกไปทุกแขวง ทุกตำบล ให้ราษฎรทั้งปวงรู้ทั่วกัน (ประกาศเลขที่ 56, 180) เพื่อป้องกันการ เอารัดเอาเปรียบจากเจ้าขุนมูลนาย (ประกาศเลขที่ 94) และหากราษฎรเดือนร้อน มีสิทธิฟ้องร้องได้ (ประกาศเลขที่ 143) การประกาศเพื่อ บอก กล่าว ตักเตือนราษฎร และการตีพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาแจกแก่ราษฎร สำหรับค้นดูข้อราชการต่าง ๆ (ประกาศเลขที่ 116) แสดงว่าราษฎรมีสิทธิรับรู้ข่าวสาร
การเข้าเฝ้า
ในการเสด็จประพาสหัวเมืองนั้น ทรงพระกรุณาให้ราษฎรเข้าเฝ้าเพื่อชมพระบารมี และทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรกราบบังคมทูลเรื่องราวต่าง ๆ นอกจากนี้ ทรงอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่รับเสด็จ ถวายการเคารพตามประเพณีได้ดังประกาศ
อย่าให้กรมเมือง นายอำเภอแลกรมไพร่หลวงที่ไปนั่งกองจุกช่องล้อมวงไล่ชาวบ้านไปไกลเลย อย่าให้ข้าราชการในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน และกรมเมือง นายอำเภอ นั่งกองจุกล้อมวง และราษฎรชาวบ้านที่ออกมานั่งคอยเฝ้ารับเสด็จ ห้ามปรามว่ากล่าวขึ้นใจคนนอกประเทศ ซึ่งพอใจจะเคารพรับเสด็จตามจารีต ของตนนั้น (ประกาศเลขที่ 108)
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันก้าวไกลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามจึงดำรงเอกราชของตนไว้ได้ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตก กำลังแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคม