สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 13 พระราชกรณียกิจด้านศิลปวัฒนธรรม
13.1 วัฒนธรรมการแต่งกายในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ข้าราชการชายสามัญ และสตรีแต่งกายอย่างไร ?
13.1.1 การแต่งกายของกษัตริย์
“ …การแต่งกายในสมัยกรุงธนบุรีนั้น ยังคงปฏิบัติสืบต่อจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ก็ยังมีบางส่วนที่มีหลักฐานว่า เป็นของสมัยธนบุรีโดยตรง ซึ่งจำแนกไว้ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าตากสิน
แบบพระเกศาและพระมาลา – ทรงพระเกศาทรงมหาดไทย ซึ่งมีหลักฐานยืนยันว่าสมัยพระเจ้าปราสาททอง ชายไทยก็ไว้ผมทรงนี้แล้วคือ วันวลิตได้เล่าว่า ” ตอนเหนือหูขึ้นมา ผมรองศีรษะตัดไว้อย่างระมัดระวัง ตอนใกล้คอยิ่งสั้นลง ต่ำลงมาโกน “

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน พ.ศ.2408 ไว้ผมทรงมหาดไทย

หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร)
ผู้ประพันธ์นิราศลอน ถ่ายโดย จอห์น ทอมสัน พ.ศ.2408 ไว้ผมทรง มหาดไทย (ภาพจากหนังสือการแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน. เล่ม 1)
ซึ่งก็คือ ผมทรงมหาดไทย ซึ่งโกนผมรอบศีรษะไว้ผมยาวสัก 4 เซนติเมตรบนกลางศีรษะ และหวีแต่งเรือนผมตามที่เห็นงาม

ผมทรงมหาดไทย
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

เจ้านายผู้ชาย ไว้ผมทรงมหาดไทยหรือผมทรงหลักแจว ผมแบบนี้ชายไทยเคยไว้กันมาแต่โบราณ กระทั่งถึงสมัย ร.5 จึงเริ่มเปลี่ยนไปตัดผมแบบฝรั่ง ภาพจากหอจดหมายเหตุ ไม่ระบุปีถ่าย (ภาพจากหนังสือสมุดภาพเมืองไทย)

ทรงพระมาลาเบี่ยง และฉลองพระบาททรงงอน
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
เวลาออกศึกน่าจะทรง พระมาลาเบี่ยง เพราะเป็นพระมาลาที่ไม่ประดับตกแต่งมากนัก ทั้งทำด้วยวัสดุแข็งแรงเหมาะแก่ประโยชน์ใช้สอย พระมาลาเบี่ยงทำด้วยหนัง รูปเหมือนลูกฟักตัด มีกระบังรอบ ลงรักสีดำติดปกคอปกหู “ เห็นเหมือนกับเครื่องเกราะญี่ปุ่น ” (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 144)
ฉลองพระบาท (รองเท้า)
โดยปกติจะทรง ฉลองพระบาททรงงอน แต่เมื่อเวลาออกศึกสงครามจะเป็นชนิดที่ทำด้วยหนัง
เครื่องแต่งกายพระองค์นั้นจะแตกต่างกันไปตามวโรกาสต่างๆ อาทิ
ถ้า เสด็จออกแขกเมือง ทรงพระเครื่องต้น 6 อย่าง คือ ทรงฉลองพระองค์อย่างเทศแพรอัศวรีริ้ว 1 ทรงฉลองพระองค์นอกคาดสีนาก สีทอง สีเขียว 1 ทรงเครื่องต้นพระชฎา พระเกี้ยว เพชร ทับทิม มรกต ตามสีฉลองพระองค์ 1 ทรงพระสนับเพลาเชิงเลื้อย 1 รัดพระองค์เจียรบาศ 1 เหน็บพระแสงกั้นหยั่น 1 สิริเป็น 6 สิ่งเท่านั้น
ถ้าเสด็จไป พระราชทานเพลิงศพ วัดไชยวัฒนาราม ทรงยาตราบนเรือกิ่ง ทรงเครื่อง 6 สิ่งเท่านั้น คือทรงฉลองพระองค์อย่างเทศ 1 ทรงฉลองพระองค์นอกอย่างเทศตาดพื้นเงิน 1 ทรงเครื่องต้น พระชฎาสอดตามสีฉลองพระองค์ 1 ทรงพระสนับเพลาเชิงเลื้อย 1 รัดพระองค์เจียรบาด 1 เหน็บพระแสงกั้นหยั่น สิริเป็น 6 สิ่ง
ถ้า เสด็จพระพุทธบาท แต่กรุงขึ้นไปจนถึงท่าเจ้าสนุกทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง ทรงเครื่อง 7 อย่างเท่านั้นคือ ทรงสนับเพลาเชิงงอนสองชั้น 1 ทรงพระภูษาจีบโจง 1 ทรงฉลองพระองค์สังเวียนยก 1 ทรงรัดพระองค์เจียรบาด 1 ทรงพระมาลาพระกลีบ 5 ยอดสดุ้ง 1 เหน็บพระแสงกั้นหยั่น 1 ถวายพระฉายด้วย 1 สิริเป็น 7 สิ่ง
ถ้า ตั้งพยุหยาตรา แต่ท่าเจ้าสนุกขึ้นไปจนพระพุทธบาท ทรงเครื่อง 4 อย่างคือ ทรงประพาส 1 ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน 1 ทรงรัดพระองค์เจียรบาด 1 ทรงพระมาลาฝรั่ง พระเส้าสะเทิน ขนนกนอน 1
ถ้าเสด็จไปถึงปากป่าทุ่งบ้านใหม่ เปลื้องเครื่องทรงประพาสออก จึงถวายเครื่องซึ่งทรงเรือพระที่นั่งกิ่งไปแต่กรุงนั้น ไปจนถึงธารเกษมจึงเปลี้องเครื่อง ครั้นเวลาบ่ายจะเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาท จึงถวายเครื่องทรงเหล่านี้คือ ถ้าทรงช้างพระที่นั่งพุดตาลทอง ทรงเครื่อง 8 สิ่งเท่านั้นคือ ทรงพระสนับเพลาเชิงงอนสองชั้น 1 พระภูษาจีบโจง 1 ทรงรัดพระองค์หนามขนุน 1 ทรงฉลองพระองค์พระกรน้อยพื้นทองยกดอก 1 ทรงฉลองพระองค์ย่นขาวนอก 1 ทรงรัดพระองค์แครง 1 ทรงพระชฎาขาวริมทองสอดตามสี 1 พระแสงกั้นหยั่น 1 สิริเป็น 8 สิ่ง
ถึงพระพุทธบาทแล้วเสด็จไปประพาสป่า ทรงช้างทรงประพาส ทรงม้าทรงอย่างเทศ ม้าทรงประพาสก็ได้ถ้า เสด็จไปวัดพระศรีสรรเพชญ์ และฉลองวัด ทรงพระมาลาพระเส้าสูงกุหร่า ขนนกตั้ง 1 ทรงพระภูษาลายพื้นขาว 1 ทรงฉลองพระองค์ญี่ปุ่น ฉลองพระองค์กรองก็ได้ 1 ทรงพระเสลี่ยงหลังคา พระเสลี่ยงเปล่าก็ได้ พระสนับเพลาเชิงสองชั้น ปักประดับพลอยต่างๆ สอดสร้อยฟองมุก กระหนาบมังกรประดับพลอย 1 พระภูษาจีบโจงริ้ว เขียว แดง ม่วง ทอง เชิงปักประดับพลอยต่างๆ ชายพกห้อยสีรัดครุยทองปัตหล่า 1 ฉลองพระองค์พระสังเวียนยกสีทับทิมสัมฤทธิ์ห้อยประหร่ำ ประคำทองฟองมุกกรองเป็นตาข่าย มีประจำยามดอก 1 พระสุวรรณกรอมแพรพื้นเขียว ปักเป็นผ่านแย่งตาข่ายนั้นร้อยประหร่ำ ประคำทองใบโพธิ์ทองห้อย 1
ทรงพระมหาพิไชยราชรถ แลเรือพระที่นั่งกิ่ง ไปพระราชทานพระกฐิน ทรงเครื่องดังนี้ คือทรงรัดพระอุระทองคำกุดั่นพลอยแดง ดอกจันทน์ทึบ 6 แผ่น 1 ทรงพระมหาสังวาลแก้วกุดั่นประดับพลอยทับทิม มรกต 1 ทรงชายไหวประดับพลอยต่างๆ 1 ทรงชายแครงประดับพลอยต่างๆ ห้อยหน้า 1 ทรงเครื่องพระมหาพิไชยมงกุฎ 1 ทรงดอกไม้ฟองมีกุณฑล (ตุ้มหู) ห้อยพลอยมรกต 1 ทรงพระธำมรงค์ ( แหวน ) 1 ทรงทองพระกร (กำไลข้อมือ) ลงยาราชาวดีประดับพลอย 1 ทรงรองพระบาทลงยาราชาวดีประดับพลอย 1 ครบ 13 อย่างเท่านี้
เครื่องพระพิชัยสงครามสำหรับชนช้าง ทรงพระสนับเพลา ลงราชะซับใน 1 ทรงฉลองพระองค์ ย้อมว่านลงราชะซับใน 1 ทรงพระสนับเพลาแพรดำ เกราะชั้นนอก 1 ทรงฉลองพระองค์นวม ชั้นนอก 1 ทรงพระมาลาลงราชะซับใน 1 ทรงพระมาลาเบี่ยงนอก 1 ทรงรัดพระองค์เจียรบาดพื้นดำ 1 สิริเป็น 7 สิ่ง เท่านี้
ถ้ามีที่ เสด็จไปจับสัตว์ ที่ลพบุรี และสระแก้ว และน้ำโจน และล้อมเสือ และขึ้นห้างจับเสือ และไปโพนช้างและจับช้างเพนียด และจับช้างกลางแปลง ทรงเครื่องทรงประพาส พระมาลาเส้าสะเทิน… ” (จากหนังสือเรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , 2523 : 144-147 ; หนังสือการแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1 , 2543 : 202-204)
13.1.2 การแต่งกายของข้าราชการ จากบันทึกในพระตำรับเครื่องต้น เกี่ยวกับตำรากำหนด อำนาจหน้าที่ของชาวที่ ตำรวจ มหาดเล็ก กล่าวไว้ดังนี้
- ข้าราชการ ถ้าเป็นงานพระราชพิธีเต็มยศ หัวหมื่น นายเวร จ่า หุ้มแพร ผู้ลงเรือพระที่นั่ง นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุย ใส่พอก และคาดผ้าเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ ตะพายดาบตามตำแหน่ง
- มหาดเล็กธรรมดา นุ่งลาย ห่มเสื้อครุย ใส่พอกเกี้ยว

ภาพเขียนสี กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคในสมัยกรุงศรีอยุธยา จำลองจากจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดยม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

ภาพเขียนสีจำลองการแต่งกาย
ของมหาดเล็ก (ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
สำหรับ “ ชาวที่ ” แห่ง กรมชาวที่ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลความเรียบร้อยของอาคารสถานที่นั้น การแต่งตัวเวลาออกงานพระราชพิธี ถ้าเป็นชั้นผู้ใหญ่แต่ง “ นุ่งสมปักลายห่มเสื้อครุยใส่พอกเกี้ยว ขัดดาบ ”
ส่วน ตำรวจ ซึ่งมีอยู่ 4 กรม คือ ตำรวจนอก (ซ้าย 1 ขวา 1) ตำรวจใน (ซ้าย 1 ขวา 1) นั้นกำหนดว่า
“ ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรการมหรสพนั้น เจ้ากรมปลัดกรม นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุย เจ้ากรมตะพายกระบี่ ปลัดกรมขัดดาบ หัวหมื่นตะพายดาบถือหอก ตัวสีคาดดาบ พัน ทนาย นุ่งผ้า แกมไหมชายยาว เกี้ยวผ้าเกี้ยว ตะพายดาบแห่เสด็จตามกระบวน ” แต่งกายออกงานที่ไม่ใหญ่โตนัก
“ นุ่งสมปักลาย ใส่เสื้อครุย คาดดาบ ”
ถ้าเป็นงานเสี่ยงอันตราย เช่นทอดพระเนตรเสือในวัง
“ นุ่งผ้าไหม เกี้ยวผ้าเกี้ยว ”
ถ้าแห่ออกนอกวังในงานเช่นนี้
“ นุ่งผ้าแถบไหม ห่มเสื้อหนาว เกี้ยวผ้าเกี้ยว ”
ถ้าเสด็จออกงานทำนองสวนสนามในวังหรืองานที่ไม่สำคัญนักนอกวัง
เป็นงานปกติ
“ นุ่งสมปักไหม ห่มเสื้อครุย คาดดาบ ”
งานเต็มยศ
“ นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อครุย ใส่พอกเกี้ยว ตามบรรดาศักดิ์ ”
งานแห่เต็มยศ
“ นุ่งสมปักลาย ห่มเสื้อหนาว เกี้ยวเจียรบาด เจ้ากรมตะพายกระบี่ ปลัดกรมคาดดาบ หัวหมื่นถือหอก ตะพายดาบ ตัวสีคาดดาบ พัน ทนายตะพายดาบ ”
หมายเหตุ :
1. เสื้อหนาว คือเสื้อที่เรียกว่าเสื้อเครื่องใน
2. หมวก สมัยสมเด็จพระนารายณ์แบบของหมวกทหาร คือหมวกกลีบลำดวน หมวกหนัง หมวกฝรั่ง หมวกทรงประพาส แบบทรงผม ไว้ผมทรงมหาดไทย
3. โดยทั่วไป เครื่องแบบสำหรับขุนศึกขุนนาง มักตัดเย็บผ้าด้วยผ้าแพรและผ้ามัสลิน เสื้อสนอบหรือผ้าหวัดรายปีที่ได้รับพระราชทานจะสวมใส่เฉพาะในงานพระราชพิธี หรือตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวประพาสตามที่ต่างๆ เท่านั้น จะนำไปแต่งในงานทั่วๆ ไปไม่ได้ เมื่อใส่จนเก่าแล้ว ให้ข้าราชการผู้นั้นกราบบังคมทูลขึ้นไปขอพระราชทานใหม่
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้พระราชทานให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีเสื้อสนอบเข้มขาบ ผ้าสมปักปูมดอกใหญ่ลายนาคราชก้านแย่ง พระภูษาลายหกคืบบัวผันพื้นขาว พระภูษาลายหกคืบช่องกระจกคอนก สนับเพลาเชิงงอน
การปูนบำเหน็จความดีความชอบของขุนนางที่ชนะศึกสงครามจะพระราชทานรางวัลเป็นพิเศษดังกฎมณเฑียรบาลว่า
“ แลนายกองนายท้ายผู้ใดออกไปได้รบ และมีชัยชนะข้าศึกให้ชูกระบัดทับกฎหมายมา ได้รางวัลเจียดทอง เสื้อสนอบแลเปลี่ยนที่อื่น ฝากลูกหลานให้เลี้ยงดูตามบำเหน็จ ”
“ ถ้าผู้ใดชนช้าง บำเหน็จหมวกทอง เสื้อสนอบทอง ปลายแขนยกขึ้น ถึง 10,000 ไร่ แล้ว ให้ร่วมขันทองคานหาบทอง ”
นอกจากนี้ ในกฎมณเฑียรบาลยังกล่าวถึงการแต่งกายอื่นๆ เช่น การแต่งกายขุนนางที่มีศักดินา 10,000 ไร่นั้น ศีรษะ ( สวม ) ศีรเภทมวย ทองท้าว นั่งเมือง ( สวม ) ศีรเภทมวยทอง ศักดินา 10,000 กินเมือง หมวกล่วมทอง
4. การแต่งกายของขุนนาง
เสื้อครุย ตัดเย็บด้วยผ้าป่าน (สันนิษฐานว่าคือผ้าโปร่ง) เนื้อบางเบา ชายยาวถึงกลางหน้าแข้ง

เสื้อเสนากุฎ เป็นเสื้อเครื่องแบบทหารทั้งบกและเรือ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เป็นผ้าฝ้ายลายอย่างที่ผลิตจากอินเดีย ตัดเย็บตามแบบจีนคือติดกระดุมป้ายมาที่สีข้างขวาตลอด ด้านหน้า ด้านหลัง และที่ต้นแขนทั้งสองข้างเป็นลายสิงห์คาบเกราะ ส่วนปัจจุบันเหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนภาพนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ Royal Ontario Museum เมือง Toronto ประเทศแคนาดา (ภาพจากหนังสือ การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1)
เสื้อนอก ตัดเย็บด้วยผ้าแพรจากประเทศจีน หรือผ้าจากยุโรป ปักดิ้นทองเป็นลวดลายงดงาม ผ่าหน้า ติดกระดุมที่ถักด้วยเส้นเงินหรือทองแล่งเป็นระยะห่างๆ ปลายแขนเสื้อกว้าง ผ้าที่ตัดเย็บสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผ้ายกทองจากอินเดียหรือเปอร์เซีย เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด หรือผ้าเยียรบับ
ผ้าคล้องคอ ตัดเย็บด้วยแพรจีน ปักด้วยดิ้นเงินหรือทอง หรือใช้ผ้าที่มีความงดงามที่สุดที่หาได้ อาจเป็นผ้ายกทองจากอินเดียหรือเปอร์เซีย เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด หรือผ้าเยียรบับ ซึ่งเป็นผ้าชั้นสูง มีค่าและราคาแพง
สนับเพลา ตัดเย็บด้วยผ้าเนื้อดี ปักดิ้นทองคำและดิ้นเงินเป็นลวดลายบริเวณปลายขา มีความยาวต่ำลงมากว่าหัวเข่า
ผ้านุ่งโจงกระเบน สันนิษฐานจากบันทึกว่า ผ้านุ่งที่ใช้นุ่งทับสนับเพลานั้นใช้วิธีการแบบนุ่งโจงกระเบน
รองเท้า ใช้รองเท้าหนีบแบบรองเท้าของพวกแขกมัวร์ลักษณะคล้ายรองเท้าแตะ
ลอมพอก เป็นหมวกสำหรับขุนนาง เรียกว่า พอกหรือเกี้ยว เป็นเครื่องแต่งกายชนิดหนึ่งที่ช่วยกำหนดลำดับชั้นยศของขุนนาง เป็นหมวกมียอดคล้ายชฎา ขอบหมวกมีสมรดสีเหลืองหรือดิ้นทองคาดเพื่อความสวยงาม เหนือสมรดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งมีเกี้ยวเป็นรูปวงกลม ประดับด้วยดอกไม้ไหวทองคำ มีปลายแหลม แชร์แวส์ได้กล่าวถึงการจำแนกชั้นยศของขุนนาง จากหีบหมากและลอมพอกไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ออกญา ชนชั้นปกครองชั้นสูงสุด ขอบของลอมพอกทำด้วยทองคำ และยอดแหลมประดับด้วยช่อมาลา
ออกพระ ขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นสอง ขอบของลอมพอกทำด้วยช่อชัยพฤกษ์
ออกหลวง ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสาม ขอบของลอมพอกกว้างเพียงสองนิ้ว และฝีมือประณีตน้อยกว่าของออกพระ
ออกขุน ผู้มีบรรดาศักดิชั้นสี่ ขอบของลอมพอกทำด้วยทองคำ หรือเนื้อเงินเกลี้ยง
ออกหมื่น ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นห้า ขอบของลอมพอกทำด้วยทองคำ หรือเนื้อเงินเกลี้ยงเช่นเดียวกับออกขุน
การนุ่งผ้าสองปักหรือสมปัก สำหรับข้าราชการผ้านุ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ ผ้าสองปัก ” เพราะเป็นผ้าทางราชการซึ่งได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ แสดงถึงลำดับยศและสังกัด การนุ่งผ้าชนิดนี้จะนุ่งเวลาเข้าเฝ้า หรือตามเสด็จพระราชดำเนินแม้แต่ออกจากบ้านจะเข้าวังก็ใช้ผ้าอื่นน ุ ่งมาก่อน โดยทนายหน้าหอถือผ้าสมปักตาม เพื่อมานุ่งในเขตพระราชฐาน หลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนัง แสดงให้เห็นว่าได้มีการนุ่งกันบริเวณกำแพงแก้วข้างท้องพระโรง
ผ้าสองปักหรือสมปักนี้เป็นผ้าไหมหน้าแคบ ต้องต่อให้กว้างโดยใช้สองผืนต่อกัน เรียก “ เพลาะ ” เมื่อเพลาะแล้วจะกว้างประมาณ 160 ซม. ซึ่งกว้างกว่าผ้านุ่งธรรมดา 1/4 ความยาวก็เช่นกัน ยาวกว่าผ้านุ่งธรรมดา 1/2 เมื่อนุ่งเต็มยศใช้ผ้าสมปักลายต่างๆ เมื่อนุ่งเข้าเฝ้าตามปกติใช้ผ้าสมปักไหมสีต่างๆ ผ้าสมปักที่มีเกียรติสูงที่สุดคือ “ สมปักปูม ” เป็นสมปักที่ทอด้วยไหมมีลายดอกเป็นตาๆ สมปักที่เป็นชั้นธรรมดาที่สุดคือ สมปักริ้ว
วิธีนุ่งผ้าสมปักนั้นไม่เหมือนกับวิธีนุ่งผ้าโจงกระเบนทีเดียวนัก เพราะผ้ายาวกว่ากว้างกว่า วิธีนุ่งจึงต่างออกไป เมื่อเริ่มนุ่งแบ่งผ้าให้สั้นข้างยาวข้าง ข้างสั้นนั้นให้เท่ากับเวลานุ่งโจงกระเบนธรรมดา เหน็บชายพกไว้ก่อน แล้วเอาข้างยาวทบให้เท่ากับข้างสั้นเข้าหาตัว เอาเศษที่เหลือตอนชายข้างบนสอดเข้าใต้พกเดิมชักขึ้นไปจะได้รูปชายผ้าเป็นปากช้าง การชักชายนี้เรียกกันว่า “ ชักพก ” ชายผ้าที่สำหรับจะม้วนจึงหนาบางไม่เท่ากัน ข้างขวาเป็นผ้าทบเดียวข้างซ้ายเป็นผ้าสองทบ เอาชายทั้งสองนี้ทับกัน แล้วพับม้วนกลมเป็นชายกระเบนธรรมดา แต่ค่อนข้างหนา ลอดใต้ หว่างขาไปเหน็บที่กระเบนเหน็บดังนุ่งโจงกระเบนธรรมดา
การเกี้ยวผ้า ในเอกสารสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏคำว่า “ เกี้ยว ” ในหมายกำหนดการอันเกี่ยวด้วยการแต่งตัวสำหรับข้าราชการอยู่เป็นประจำ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงให้คำนิยามไว้ว่า ผ้าเกี้ยวคือ ผ้าคาดพุง เกี้ยวลาย คือผ้าคาดพุงที่มีลายเท่านั้น

การเกี้ยวผ้ายัญพัด

การเกี้ยวผ้ากระหวัดจำ

การเกี้ยวผ้าพันหน้า

การเกี้ยวผ้าเกไล
(ภาพจากหนังสือ การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1)
มีการนุ่งผ้าอยู่แบบหนึ่ง เรียกว่า นุ่งแบบเกี้ยวเกไล นุ่งแบบนี้ต้องใช้ผ้าลายสองผืน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงให้คำนิยามไว้ว่า
“ ผืนหนึ่งนุ่งโจงกระเบนสนับเพลาอีกผืนหนึ่งคาดพุง วิธีคาดนั้นด้านหลังชักแผ่ลงปรกถึงก้น ด้านหน้ารวบผูกเงื่อน คาดไว้ชายข้างหนึ่งเสมอเงื่อน อีกชายหนึ่งปล่อยแผ่ยางเลื้อยลงไป แล้วกลับทบชายขึ้นมาเหน็บไว้ที่พกดูเห็นเหมือน เอากระเป๋าห้อยไว้ที่หน้าขาฉะนั้น เข้าใจว่าผืนที่นุ่งคงเรียกว่า ผ้านุ่งผืนที่คาดคงเรียกว่า ผ้าเกี้ยว คิดว่าแต่ก่อนนี้ผ้านุ่งกับผ้าเกี้ยวคงต่างชนิดกัน ผ้านุ่งกว้าง ผ้าเกี้ยวแคบ ทีหลังไม่ค่อยจะได้แต่งกัน ไม่มีผ้าคาด ก็ฉวยเอาผ้านุ่งมาคาดเลย เลยทำความยุ่งเรียกผ้านุ่งลายบ้าง ผ้าเกี้ยวลายบ้าง โดยประการดั่งนี้ ”
การเกี้ยวนั้นถึงสวมเสื้อแล้วและคาดผ้าทับนอกเสื้อก็เรียกว่า เกี้ยว ถ้าใช้เข็มขัด เรียกเกี้ยวปั้นเหน่งสายเงิน ทอง ใช้สายประคดก็เรียก เกี้ยวรัดประคด ถ้าใช้ผ้าปักที่เรียก เจียระบาด ก็เรียกว่า เกี้ยวเจียระบาด (การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1 , 2543 : 208, 214-216)

เครื่องแต่งกายชายสามัญ

เครื่องแต่งกายชายสามัญ
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
13.1.3 เครื่องแต่งตัวชายสามัญ นุ่งโจง นุ่งถกเขมร นุ่งลอยชาย นุ่งโสร่งมีผ้าคาดพุง
ชายส่วนใหญ่มักตัดผมสั้น จึงนิยมสวมหมวกเวลาออกศึกสงคราม นัยว่าเพื่อป้องกันอาวุธด้วย
• การแต่งกายของสตรี
• ข้าราชการฝ่ายใน
สำหรับเสื้อของข้าราชการฝ่ายในหรือเสื้อของผู้หญิง ใช้ผ้าแพรลดหลั่นกันไป ตามฐานะ ชื่อชนิดของแพรก็มีต่างกันตามลวดลาย เช่น แพรดารากรเลว แพรจำรวจ แพรเคารพ แพรลายทอง แพรดารากร อีกทั้งถ้าจะสังเกตฐานะข้าราชการฝ่ายใน ให้ดูได้จากเสื้อผ้าและชนิดของผ้าดังนี้
พระอัครมเหสี นุ่งแพรลายทอง ทรงเสื้อ รองพระบาททอง
พระภรรยา นุ่งแพรลายทอง ทรงเสื้อ รองพระบาททอง
พระราชเทวี นุ่งแพรดารากร ทรงเสื้อ รองพระบาทกำมะหยี่
ลูกหลวง เสื้อโภคลายทอง ( ไม่สวมรองพระบาท )
หลานหลวง เสื้อแพรดารากรเลว
พระสนม เสื้อแพรสีต่างๆ
ภรรยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กว่าเสนาบดี นุ่งแพรเคารพ
ภรรยาข้าราชการชั้นเสนาบดี สวมเสื้อ นุ่งแพรจำรวจ
นางใน นุ่งจีบห่มสไบ
เสื้อผ้าเหล่านี้ กำหนดให้แต่งเวลามีพระราชพิธีเท่านั้น ในยามปกติจะนุ่งผืนห่มผืนเหมือนกันหมด

สุภาพสตรีในสมัยรัชกาลที่ 4 (ประมาณพุทธศักราช 2344-2411 นุ่งผ้าโจงกระเบน
คาดเข็มขัดทองมีหัวประดับอัญมณี ห่มผ้าสไบอัดกลีบด้วยแพรจีน
(ภาพจากหนังสือ การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1 ; สมุดภาพเมืองไทย )
2. สตรีสามัญ นุ่งโจงนิยมสีดำสีเขียวตะพุ่น ห่มผ้าสะไบเฉียง ห่มเหน็บ เครื่อง ประดับมีกำไล จี้ สร้อย แหวน เข็มขัด ทรงผม ทำผมปีกตัดสั้น แต่ยังมีหลักฐานบางแห่งแสดงให้เห็นว่ายังมีการทำปีกประบ่ากันอยู่บ้าง (หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช , ม.ป.ป. : 135-138 และ สยามอารยะ 1(4) : 1 ตุลาคม 2545 : 87-88 โดย อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล และมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 116-120)
หมายเหตุ สมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฏว่าทรงผมสตรีในยุคนี้มี 4 ทรงคือ
ก ทรงผมมวยกลางศีรษะ
ข ทรงผมปีก
ค ทรงหนุนหยิกรักแครง
ง ทรงผมประบ่า
… สตรีมักจะไว้ทรงผมปีกและผมประบ่าอยู่ในทรงผมเดียวกันคือ ตอนบนของศีรษะจะหวีเป็นผมปีก แล้วปล่อยให้สยายยาวลงมาประบ่าทั้งสองข้าง นอกจากนี้ ผมปีกนั้นยังรวมอยู่ในทรงเดียวกับผมมวยอีกด้วย

เทริด
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า ทรงผมปีกนั้นอาจจะสวมศิราภรณ์ทับลงบนศีรษะด้วย เช่น เทริด หรือมงกุฎ
การไว้ผมปีกประบ่าของสตรีนั้น สันนิษฐานว่าคงเริ่มจากราชสำนักแล้วแพร่หลายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียกรุงฯ จึงได้ตัดผมสั้นเหลือเพียงผมปีก เพื่อสะดวกต่อการสู้รบและการปลอมเป็นชาย ซึ่งคงไม่คำนึงถึงความสวยงามกันแล้ว เพราะยิ่งทำให้เหมือนบุรุษเท่าไหร่ก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้น สำหรับสตรี ซึ่งผมปีกในสมัยหลังนั้น เป็นผมตัดสั้นกลางกระหม่อมเป็นวงตามไรผมจับปีก และโกนส่วนที่เหลือทิ้ง แต่ไว้เป็นรากไทร การไว้ผมปีกอย่างเดียวนั้นพบอยู่บ้างเช่น ในรูปขบวนเสด็จของพระเวสสันดร ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้วาดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
สำหรับเด็กๆ นั้นนิยมไว้ผมจุก ครั้นโตขึ้นตัดจุกแล้ว ก็ยังเหลือรอยผมที่เคยเกล้าจุกไว้เป็นวงโดยรอบส่วนผมที่อื่นๆ จึงเรียกว่า “ ไรผม ” ดังนั้นไรผมนี้คือรอยที่เคยถอนผมหรือโกนผมออก เช่น ไรวงหน้า และไรจุก เป็นต้น ไรวงหน้าจะช่วยตัดใบหน้าให้เด่นชัดเกลี้ยงเกลากลมกลึงดังวงพระจันทร์ ส่วนไรจุกซึ่งยังเหลืออยู่บนผม หมายถึงว่า ยังรุ่นสาว สตรีที่ถนอมความเป็นสาวไว้นิยมถอนผมตรงไรเดิมให้เป็นวงรอบกระหม่อม ดังปรากฏคำว่า “ ใส่น้ำมันกันไร ” และ ” รอยไรเรียบรับประดับดี ” เป็นต้น

เจ้านายผู้หญิงไว้ผมปีก ผมแบบนี้หญิงไทยเคยไว้กันมาแต่โบราณ ผิดจากผู้ชายตรงที่มีการกันไรเหนือหน้าผากให้ดูสวยงาม และมีการไว้จอนหูด้วย บางทีจึงเรียกว่าผมทัด การไว้ผมปีกมีมาจนถึงสมัย ร.5 จึงเริ่มเปลี่ยนไปไว้ผมยาวตามพระราชนิยม แล้วภายหลังจึงมีผมทรงดอกกระทุ่ม (ดูหนังสือ การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบ)ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ไม่ระบุนามและปีถ่าย (ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองไทย)
ส่วนคำว่า “ ผมปีก ” นั้น เป็นแบบของการไว้ไว้ผมอย่างหนึ่ง นิยมไว้จอนผมด้วยคือ ควั่นผมรอบศีรษะเป็นรอยจนเห็นขอบชัดเจนแล้วหวีแสกกลางบ้าง หวีเสยบ้าง แล้วแต่จะเห็นว่างาม ที่เรียกว่าผมปีกก็เพราะมองเห็นเชิงผมเป็นขอบอย่างชัดเจนมากนั่นเอง

ผู้ดีสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 จากหนังสือ Siam ของ Karl Dohring หน้า 28
เป็นตัวอย่างอันดีที่จะแสดงให้เห็นถึงการไว้ผมปีก มีจอน 2 ข้างอย่างโบราณ
(ภาพจากหนังสือ สมุดภาพเมืองไทย)
“ จอนผม ” คือลักษณะการไว้ผมปีกปล่อยจอนที่ข้างหู ยาวลงมาแล้วทัดหูไว้จึงเรียกว่า “ จอนหู หรือจอนผม ” คนที่มีจอนหูจะต้องตัดผมสั้นด้วยจึงจะรับกัน
การเสริมความงามของสตรี ที่ปรากฎในบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และการสักร่างกายของมนุษย์ ที่ปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์
การเสริมความงามของสตรีในที่นี้ก็คือ การทำฟันให้เป็นสีดำและการไว้เล็บ ตลอดจนการไว้สีเล็บและนิ้วมือให้เป็นสีแดง ตลอดจนค่านิยมในการสักบนร่างกายของบุรุษ
การทำฟันให้เป็นสีดำ นิโกลาส์ แชร์แวส์ ได้บันทึกถึงค่านิยม และคติความเชื่อของชาวสยามไว้ในประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองในแผ่นดินสมเด้จพระนารายณ์มหาราช ถึงการตัดแต่งฟันของคนสยามให้เป็นสีดำ ไว้ดังนี้
“ สิ่งที่ผู้หญิงสยามไม่อาจทนดูพวกเราได้ก็ตรงที่พวกเรามีฟันขาว เพราะพวกนางเชื่อกันว่าพวกภูตผีปีศาจเท่านั้นที่มีฟันขาว และเป็นเรื่องน่าอับอายที่มนุษย์เราจะมีฟันขาว เหมือนอย่างสัตว์เดียรัจฉาน ฉะนั้นพอหญิงชายมีอายุได้สัก 10 – 15 ปี ก็จะเริ่มทำให้ฟันดำและเป็นเงาโดยวิธีการดังนี้
เมื่อเลือกบุคคลที่จะประกอบพิธีนี้ได้แล้ว เขาก็จะให้นอนหงายเอาหลังลงพื้น และให้นอนอยู่เช่นนี้ 3 วัน ตลอดเวลาที่พิธีการดำเนินอยู่ ขั้นแรกชำระล้างฟันด้วยน้ำมะนาวแล้วใช้น้ำยาชนิดหนึ่งถูขัดจนกระทั่งมีสีแดง ครั้นแล้วใช้กะลามะพร้าวเผาไหม้ขัดทับจนเป็นสีดำ แต่ผู้หญิงที่ได้รับการทำฟันจะอ่อนเพลียมาก เพราะการใช้น้ำยาเช่นว่านี้ กระทั่งว่าถ้าจะถอนฟันให้หลุดไปจากปากก็ไม่รู้สึกเจ็บ ลางทีฟันก็ร่วงถ้าเขาลองให้คบเคี้ยวของแข็งๆ ดู ฉะนั้นในระยะสามวันนี้จึงบริโภคแต่น้ำข้าวต้มเย็นชืดเท่านั้น ซึ่งเขาให้หยอดลงในลำคอช้าๆ โดยมิให้สัมผัสกับฟัน แม้ต้องสายลมพัดสักหน่อย ก็อาจทำให้พิธีการนี้เสียผลได้เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับความทรมานเพราะการทำฟัน ถึงต้องล้มหมอนนอนเสื่อ จึงต้องห่มคลุมร่างกายให้มิดชิด จนกว่าจะรู้สึกว่าความร้าวระบบที่ไรฟันได้ค่อยคลายลงแล้ว และเหงือกหรือปากที่บวมเป่งอยู่นั้นยุบหายลงเป็นปกติอย่างเก่าแล้ว… ”
จากบันทึกข้างต้นเป็นโลกทัศน์ของชาวตะวันตก ซึ่งเป็นข้อสังเกตหนึ่งจากสมมติฐานหลายๆ ข้อ ในการที่ชาวสยามมีฟันสีดำ แต่เป็นข้อน่าสังเกตว่า แชร์แวส์ ได้กล่าวถึงขบวนการในการประกอบพิธีได้อย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน เห็นภาพชัดเจน ข้อสันนิษฐานนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า ผู้เขียนบันทึกได้เดินทางไปเยือนหลายแห่ง จึงสร้างกรอบอ้างอิงจากประสบการณ์ที่ได้พบเห็นจากที่อื่น ทำให้การมองชาวสยามของเขานั้นอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ ในความเป็นจริง จึงไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไป
สำหรับชาวสยามเองนั้นปรากฏหลักฐานมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้วว่านิยมเคี้ยวหมากทั้งบุรุษและสตรี ผลสืบเนื่องมาก็คือ ทำให้ริมฝีปากมีสีแดง และฟันเป็นสีดำ ซึ่งน่าจะเป็นข้อสันนิษฐานข้อหนึ่ง สำหรับการมีฟันสีดำของชาวสยามสมัยอยุธยาตอนปลาย
การย้อมสีเล็บและนิ้วมือให้เป็นสีแดง และการไว้เล็บยาว บันทึกของแชร์แวส์ ได้กล่าวถึงการตกแต่งและย้อมสีเล็บและนิ้วมือของชาวสยามเอาไว้ว่า “ …ใช้น้ำยาอย่างเดียวกันกับที่ใช้ขัดฟันแดงนั้น ย้อมเล็บและนิ้วก้อยของมือด้วย จะมีบุคคลที่เป็นผู้ลากมากดีเท่านั้นที่ไว้เล็บยาวและย้อมนิ้วก้อยให้เป็นสีแดง เพราะคนที่ทำงานนั้นต้องตัดเล็บสั้น อันเป็นการชี้ความแตกต่างระหว่างผู้ดีกับไพร่… ”
การย้อมทาเล็บและนิ้วมือ ให้เป็นสีแดงนี้ไม่ปรากฏชัดเจนนักว่า มีกรรมวิธีแบบใด และใช้วัสดุใด สันนิษฐานว่า อาจเป็นสีจากพืชพันธุ์ธรรมชาติ เช่น สีจากก้านของดอกกรรณิการ์ที่มีสีแสดเป็นต้น (การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน. เล่ม 1, 2543 : 220-221)
13.2 พระราชกรณียกิจด้านศิลปกรรม ศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรีเป็นอย่างไร ?
เนื่องจากกรุงแตกครั้งที่ 2 ช่างฝีมือไทยมีอันเป็นต้องกระจัดพลัดพราย ล้มตายสูญหายไปเป็นอันมาก ที่ถูกพม่ากวาดต้อนจับเอาตัวไปเสียก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นเมื่อล่วงมาถึงสมัยกรุงธนบุรี ช่างฝีมือไทยจึงคงมีเหลืออยู่น้อยตัวเต็มที สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงต้องทรงอาศัยช่างฝีมือที่เพิ่งฟื้นฟูฝึกหัดขึ้นมาใหม่เป็นกำลังในการก่อสร้างบรรดาถาวรวัตถุ และศิลปวัตถุอื่นๆ ทั้งในฝ่ายการพระศาสนา และฝ่ายราชการบ้านเมืองขณะนั้น ผู้ดำเนินการเหล่านี้ได้แก่ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนของพระองค์นั่นเอง แสดงว่าข้าราชการเหล่านั้นล้วนมีความรู้ทางด้านช่างทั้งสิ้น สันนิษฐานว่าคงจะโปรดให้รวบรวมช่างฝีมือทุกแขนงมาไว้ในกรุงธนบุรี เพื่อฝึกสอนวิชาการแก่คนรุ่นใหม่ด้วย ช่างฝีมือในสมัยนี้ได้ตกทอดและสร้างผลงานให้แก่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นอันมาก
โดยที่ช่างในสมัยกรุงธนบุรี เป็นที่ที่แรกฝึกหัดกันขึ้นมาใหม่ และเวลาก็มีสำหรับใช้ในการช่างนี้อย่างจำกัดเต็มที เพราะเป็นสมัยแห่งการทำศึกสงครามจนแทบไม่มีเวลาสร่างซา การสร้างสรรค์ศิลปวัตถุเหล่านี้ จึงต้องสร้างทำกันอย่างรีบร้อน เพื่อให้ทันกาลเป็นสำคัญ อีกทั้งรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็สั้นเพียง 15 ปีเท่านั้น โดยเหตุนี้สิ่งของที่เป็นฝีมือช่างชั้นดีที่ประณีตจริงๆในสมัยกรุงธนบุรีจึงหาได้ยากยิ่ง ศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรี อาจแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
13.2.1 เรือ สมัยกรุงธนบุรีนับว่าการต่อเรือเจริญมาก เพราะมีการต่อเรือรบ เรือสำเภา ตลอดจนเรือกระบวนไว้ใช้ในราชการเป็นจำนวนมาก ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ปรากฎชื่อ เรือพระที่นั่ง คือ
- เรือพระที่นั่งบรรลังก์แก้วจักรพรรดิ์
- เรือพระที่นั่งศรีสวัสดิ์ชิงชัย
- เรือพระที่นั่งบัลลังก์บุษกพิมาน
- เรือพระที่นั่งพิมานเมืองอินทร์
- เรือพระที่นั่งสำเภาทองท้ายรถ
- เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย
หลังจากที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้เอกราชแล้วได้โปรดให้สร้าง เรือพระราชพิธี ขึ้นใหม่ดังนี้
- เรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ
- เรือพระที่นั่งศรีสักหลาด และ
- เรือโขมดยาปิดทองทึบ (สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2539 : 112)
13.2.2 จิตรกรรม สมัยกรุงธนบุรีนั้น แม้จะเป็นยุคที่ต้องยุ่งอยู่กับการศึกสงครามอย่างหนัก จนเกือบตลอดเวลาก็ตาม แต่ก็ปรากฏมีภาพเขียนจิตรกรรมที่ฝีมือประณีตงดงาม ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์อยู่หลายชิ้นด้วยกัน ชิ้นที่นับว่าสำคัญยิ่ง และยังคงมีฉบับรักษาไว้ที่หอสมุดภาพแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ในขณะนี้ ก็คือ “ สมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรี ” ซึ่งได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2319 “ สมุดภาพไตรภูมิ ” เป็นหนังสือภาพที่เขียนขึ้นตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นหนังสือที่นิยมสร้างกันมาแต่โบราณกาล เราจึงได้มี “ สมุดภาพไตรภูมิ ” ไว้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติหลายฉบับด้วยกัน เช่น สมุดภาพไตรภูมิฉบับสมัยกรุงศรีอยุธยา สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี ฯลฯ “ สมุดภาพไตรภูมิ ” เป็นหนังสือที่สร้างได้ยาก นอกจากจะบรรจุข้อความให้ถูกต้องตามเรื่องราวที่มีปรากฏ อยู่ในตำราของพระพุทธศาสนาแล้ว ยังจะต้องมีจิตรกรฝีมือดี เขียนภาพประกอบตลอดเล่ม แสดงนรก สวรรค์ ฯลฯ ภูมิขั้นต่างๆ ให้ถูกต้อง และสวยงามน่าชมอีกด้วย
หนังสือประเภทนี้จะต้องอาศัยภาพเป็นหลัก เป็นหัวใจสำคัญตลอดทั้งเล่ม ผู้ที่จะสร้างหนังสือลักษณะอย่างนี้ได้จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ หรือผู้มีอำนาจวาสนาอย่างสูง กับยังจะต้องเป็นผู้ที่รักและสนใจในด้านศิลปะ ใฝ่ใจทางด้านการพระศาสนาอย่างแท้จริงเท่านั้น

แสดงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้เคารพยำเกรงบิดามารดา แลผู้เฒ่าแก่แห่งตระกูล
ถึงพร้อมด้วยจาคะ (ไม่ตระหนี่) และอธิวาสนขันติ (ความอดกลั้น) จะได้ไปเกิดในชั้นนี้
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน และบทบาทชาวจีนในสยาม)
ในบานแผนกสมุดภาพไตรภูมิบุราณฉบับกรุงธนบุรีนี้ มีแจ้งที่มาไว้ดังนี้
“ พระพุทธศักราชล่วงแล้วได้ 2319 พรรษา เศษสังขยาได้ 4 เดือนกับ 26 วัน ปัจจุบันวันอังคาร เดือน 11 ขึ้น 13 ค่ำ จุลศักราช 1138 ปีวอก อัฐศก สมเด็จพระบรมกษัตราธิราชเสด็จออกพระที่นั่งตำหนักเทพ กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร มีราชเสวกเฝ้าอยู่เป็นอันมาก ทรงพิจารณาเรื่องราวในพระสมุดไตรภูมิบุราณแจ้งในพระราชหฤทัยแล้ว มีพระราชประสงค์จะใคร่ให้สามัญชน แลจตุเภทบรรพษัทเข้าใจในภูมิทั้ง 3 และคติทั้ง 5 อันเป็นที่เกิดแห่งเทวดา มนุษย์ นรก หมู่อสุรเปรตวิสัยแลสัตว์เดียรฉาน จึงตรัสสั่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ผู้เป็นอัครมหาเสนาธิบดี ให้จัดพระสมุดเนื้อดีแล้วให้ส่งไปแก่ช่างเขียนให้เขียนไตรภูมิ ให้ไปเขียนที่สำนักสมเด็จพระสังฆราช ( สมเด็จพระสังฆราชศรี ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ปฐมของกรุงรัตนโกสินทร์ฯด้วย ) ณ วัดบางหว้าใหญ่ ( วัดระฆังฯ ในปัจจุบัน ) ให้สมเด็จพระสังฆราชบอกกล่าวบังคับให้เขียนตามเรื่องราวมีในพระบาลี แล้วให้คัดบาลีประกับลงไว้ ให้แจ้งใสจงทุกประการ จะได้เป็นคติสืบไปฯ ” ทั้งนี้ก็เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงดูแลกำกับ การเขียนภาพ – บรรยายภาพในสมุดภาพไตรภูมิเล่มนี้ ได้ดำเนินไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย ตรงตามตำราทุกประการ
สมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ จึงถือได้ว่าเป็นแบบฉบับมาตรฐานจริงๆ กล่าวโดยย่อ ก็คือสวยทั้งภาพ ดีทั้งเรื่อง ครบเครื่องทุกประการ
จิตรกรที่รับสนองพระราชศรัทธาฉลองพระเดชพระคุณ ฝากฝีมืออันประณีตบรรจงลงไว้ในสมุดภาพไตรภูมิชุดนี้ มีอยู่ 4 คนด้วยกัน ดังนี้
1. หลวงเพชวกรรม
2. นายนาม
3. นายบุญษา
4. นายเรือง
นอกจากนี้ ยังมีอาลักษณ์อีก 4 คนเช่นกัน ทำหน้าที่ช่วยกันเขียนคำบรรยายกำกับภาพ คือ
1. นายบุญจัน
2. นายเชด
3. นายสน
4. นายทองคำ
ในการเขียน ” สมุดภาพไตรภูมิ ” ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ดำเนินการจัดทำกันอย่างประณีตพิถีพิถันกวดขันกันเป็นพิเศษ รวมความว่า พระราชประสงค์ในการจัดทำสมุดภาพไตรภูมิบุราณฉบับนี้ ก็เพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์ได้ถูกต้องตรงตามพระบาลี แล้วจะได้พากันตั้งหน้าประกอบแต่กรรมดีละเว้นกรรมชั่ว ต้องด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสืบไป

แสดงเปรต 2 จำพวก
1.บาปเพราะกล่าววาจาประมาทพระกัสสะปะ
2. บาปเพราะหวงน้ำบริโภคแก่มนุษย์และสัตว์
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และบทบาทชาวจีนในสยาม)
สมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย ด้วยหากคลี่ออกไป ก็จะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนภาพสีอย่างวิจิตรบรรจงลงในหน้ากระดาษสมุดทั้งสองด้าน
หลายสิบภาพที่ปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ มีความงดงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาสมุดภาพไตรภูมิฉบับอื่นใด ให้ยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่านี้ได้
สมุดภาพไตรภูมิทำนองเดียวกันนี้ ที่ได้โปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นมีอยู่ถึง 2 ฉบับด้วยกัน อีกฉบับหนึ่งขณะนี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันตะวันตก ซึ่งได้ซื้อไปจากเมืองไทย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2436
สมุดภาพไตรภูมิทั้งสองฉบับนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น นอกจากจะทรงเป็นพระผู้กู้ชาติกู้เอกราชให้แก่บ้านเมืองเราแล้ว ยังทรงเป็นผู้กอบกู้การช่างศิลปกรรม กู้พระศาสนาและจริยธรรมของชนในชาติอีกด้วย (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 6-7, 93-94)
นอกจาก ” สมุดภาพไตรภูมิ ” แล้ว ยังมี ภาพเขียนที่ฝาผนัง ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้วย
13.3.3 งานประณีตศิลป์ กรุงธนบุรีมีช่างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ทั้งช่างรัก ช่างประดับ ช่างแกะสลัก ช่างปั้น และช่างเขียน งานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญสมัยนี้ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ 4 ตู้ ในหอวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานครกับยังมีตู้ลายรดน้ำอื่นๆ อีกหลายใบ ซึ่งมีลักษณะและ ฝีมือช่างคล้ายคลึงกับตู้ใบดังกล่าว อันแสดงว่าคงจะได้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันนั้นเอง ตู้ลายรดน้ำเหล่านี้ได้มาจากวัดราชบูรณะ วัดจันทาราม และวัดระฆังโฆสิตาราม แสดงว่างานช่างฝีมือทำ ลายทองรดน้ำ ก็เป็นศิลปกรรมอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในสมัยกรุงธนบุรี นอกจากนี้ยังมี ตู้พระไตรปิฎกประดับมุก ในมณฑปและในหอพระมณเฑียรธรรมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระพุทธรูปประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (แบบทรงจีวรเรียบ)
(ภาพจากหนังสือวิเคราะห์ประวัต ิการนับถือศาสนาพุทธ และศิลปะพระพุทธรูปในเอเชีย)
ด้านการหล่อ นั้น โปรดให้หลวงวิจิตรนฤมล ปั้นพระพุทธรูปให้ต้องตามพุทธลักษณะที่โปรดให้สอบสวน แล้วหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ยืนองค์หนึ่ง ปางสมาธิองค์หนึ่ง เช่น พระประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ
งานแกะสลัก ได้แก่ พระแท่นบรรทม และ พระแท่นสำหรับประทับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
1. พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารเล็ก วัดอินทาราม ใกล้ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี ทำด้วยไม้กระดาน 2 แผ่นประกอบกัน มีความกว้าง 1.76 เมตร ยาว 2.48 เมตร หนา 5 ซม . มีลูกกรงเป็นงา และมีแผ่นงาจำหลักเป็นลายวิจิตรดอกพุดตาน ประดับภายใต้ลูกกรงโดยรอบ มีเสาสำหรับพระวิสูตร ( มุ้ง ) ประกอบอยู่พร้อมสรรพ
2. พระแท่นสำหรับประทับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในโบสถ์น้อย หน้าพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี ใกล้พระราชวังเดิม อันเป็นโบสถ์เดิมของวัด ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา คู่กับพระปรางค์องค์เดิม (พระปรางค์องค์ปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3) พระแท่นดังกล่าวนี้สร้างขึ้นด้วยไม้กระดานแผ่นเดียว กว้าง 7 ฟุต ยาว 20 ฟุต พระแท่นทั้งสองนี้ ทำด้วยฝีมือเรียบๆ ธรรมดา มิได้มีความงดงามอันใดเป็นพิเศษเลย นักโบราณคดีถือกันว่าฝีมือค่อนข้างหยาบเต็มที แสดงว่าเป็นฝีมือช่างที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟื้นฟูฝึกหัดขึ้นใหม่ ยังไม่มีความชำนาญถึงขนาดเป็นช่างชั้นครูได้

บานประตูมุขพระอุโบสถ และบานประตูมุขวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(ภาพจากหนังสือ The Grand Palace)
นอกจากนี้ยังมี ตั่งจากอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร อีกทั้ง บานประตูมุก ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระมณฑปด้านเหนือ
13.3.4 เครื่องปั้นดินเผาในสมัยกรุงธนบุรี (ซึ่งตรงกับช่วง พ.ศ.2311- 2325)
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ขึ้นครองราชย์ที่กรุงธนบุรี จึงเริ่มขยายการค้าขายกับจีน ระยะนั้นไทยยังคงสั่งซื้อเครื่องถ้วยชามจากจีนเข้ามาใช้ ส่วนใหญ่เป็นชามเบญจรงค์ลายเทพนม ลายนรสิงห์ ข้างในเคลือบสีขาว ไม่เคลือบเขียวเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา
เครื่องถ้วยเบญจรงค์
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุง ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2310 แล้ว เครื่องปั้นดินเผาของจีนที่มีการเขียนสีทับน้ำเคลือบโดยใช้แม่สี 5 สี สีขาว ดำ แดง เหลือง และเขียวหรือน้ำเงิน ที่เรียกว่าเครื่องเบญจรงค์ เข้ามามีบทบาทในไทย
เครื่องเบญจรงค์เป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดเขียนลวดลาย บนเคลือบที่ราชสำนักสยามสั่งทำจากจีน เป็นสินค้าที่ผลิตให้กับไทยโดยเฉพาะ ลวดลายที่เขียนบนเบญจรงค์เขียนเป็นลายไทย ตามที่ราชสำนักไทยส่งแบบไปให้จีนเขียน ต่อมาเครื่องเบญจรงค์ก็กลายเป็นที่นิยมกว้างขวาง ในบรรดาผู้มีบรรดาศักดิ์ของไทย

เครื่องเบญจรงค์
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช)
เครื่องเบญจรงค์จะมีการเขียนลายเต็มหมดไม่เว้นที่ว่าง ในสมัยอยุธยานิยมลายเทพนม นรสิงห์ มีลายกนกเปลวประกอบ ภายในชามจะเคลือบเขียว ต่อมามักจะเขียนเป็นลายราชสีห์ ครุฑ สิงห์ นรสิงห์ กินรี หนุมาน ประกอบลายกนกเปลว และก้านขด เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นเบญจรงค์ที่เขียนลายเทพนม ลายดอกไม้ ใบไม้ที่พระอาจารย์แดง วัดหงส์รัตนารามออกแบบเขียนลายส่งไปทำกระเบื้องเคลือบที่เมืองจีน เพื่อนำไปใช้ตกแต่งวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามด้วย ( ผุสดี ทัพทัส , สารานุกรมวัฒนธรรมไทย – ภาคกลาง เล่ม 3, ค้างคาวกินกล้วย , เพลง – จิตรกรรมกระบวนจีน , 2542 : 1131, 1141)
13.3 งานสถาปัตยกรรม งานสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรีเป็นงานก่อสร้างอะไร ?
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นยุคของการสร้างบ้านแปลงเมือง จึงมีการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก อาทิ พระราชวัง ป้อมปราการ กำแพงพระนคร พระอาราม ต่างๆ ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยนี้ ล้วนสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฐานอาคารจะมีลักษณะอ่อนโค้งดุจรูปเรือสำเภา ทรงอาคารจะสอบชลูดขึ้นทางเบื้องบน ส่วนประกอบอื่นๆ ของอาคารก็ไม่แตกต่างจากอยุธยามากนัก เป็นที่น่าเสียดายว่าสถาปัตยกรรมสมัยธนบุรีมักได้รับการบูรณะ ซ่อมแซมในสมัยหลังหลายครั้งด้วยกัน ลักษณะในปัจจุบันจึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่บูรณะครั้งหลังสุด เท่าที่ยังปรากฏเค้าเดิมในปัจจุบัน ได้แก่ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กำแพงพระราชวังเดิม พระตำหนักท้องพระโรงและพระตำหนักเก๋งคู่ในพระราชวังเดิม พระอารามทั้งในพระนครและหัวเมืองที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลนี้ ล้วนแต่ได้รับการบูรณะใหม่ในรัชกาลต่อมาเช่นกัน ที่ยังแสดงลักษณะศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรีได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถและพระวิหารเดิมวัดราชคฤห์ พระอุโบสถเดิมวัดอินทาราม ตำหนักแดงวัดระฆังโฆสิตาราม และพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
หมายเหตุ
1. วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอมรินทร์ ตั้งอยู่ปากคลองมอญ ตรงข้ามตลาดท่าเตียน วัดนี้เป็นวัดที่สวยงามมากวัดหนึ่ง แสดงฝีมือการช่างศิลปของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นอย่างดี
ประวัติความเป็นมาของวัด
วัดอรุณราชวราราม เดิมเป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกวัดมะกอก ภายหลังเปลี่ยนเป็น วัดมะกอกนอก ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดแจ้ง และได้รับสถาปนาเป็นพระราอารามหลวงชั้นเอกสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ด้วยเหตุที่ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาตากได้ตีฝ่ากองทัพพม่าออกมา ได้ล่องเรือมาจนสว่างขึ้นที่หน้าวัดแห่งหนึ่งในเมืองธนบุรี จึงตั้งชื่อว่า วัดแจ้ง และได้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองนี้ เมื่อทรงกู้อิสรภาพได้ใน พ.ศ.2311 ก็ทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง โดยทรงกำหนดเอากำแพงป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วโปรด “ …ให้ขยายเขตกั้นเป็นพระราชวังถึงคลองนครบาล (คลองวัดแจ้ง) เพราะฉะนั้นวัดแจ้งจึงตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวัง เป็นการยกเว้นเลิกไม่ให้พระสงฆ์อยู่อาศัย เขตพระราชวังตะวันตกจดวัดโมลีโลกย์ ซึ่งเป็นตลาดท้ายสนม เรียกว่า วัดท้ายตลาด ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี ระยะ 15 ปีนั้น ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารเดิมของวัดแจ้งให้บริบูรณ์ดีขึ้นตามที่จะทำได้ …” (กรมศิลปากร, 2521 : 5-6 )
ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงปฏิสังขรณ์ ก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มเติม แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชธาราม ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ต่อมาจนเรียบร้อยและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ซึ่งได้ใช้เป็นชื่อทางราชการมาจนบัดนี้
โบราณสถานที่สำคัญในวัด
โบราณสถานในวัดอรุณราชวราราม มีที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง เช่น พระอุโบสถ แสดงช่างฝีมือช่างศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อยู่เป็นอันมาก
ด้านหน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถมียักษ์อยู่ 2 ตน ยืนถือตะบองอยู่ทั้งสองข้างของประตูเรียกกันว่า กุมภัณฑ์เฝ้าวัด สร้างขึ้นด้วยคติว่า เป็นสิ่งที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันภูตผีปีศาจ เป็นผู้คุ้มครองรักษาวัดให้พ้นภยันตราย ยักษ์ทั้งสองนี้แสดงให้เห็นถึงศิลปการแต่งตัวโขนละครเป็นงานฝีมือปั้นชั้นครูของพระยาหัตถการบัญชา (ปัจจุบันถูกซ่อมผิดไปจากฝีมือเดิม) อันแสดงวิธีการประดับตกแต่งที่ถูกต้อง ประตูทางเข้ามียอดซุ้มเป็นรูปมงกุฎรอบพระอุโบสถมีวิหารคด ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยโดยรอบ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นามพระพุทธธรรมิศรราชโลกนาถดิลก เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยปูนลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 ขนาดหน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ ที่น่าสนใจคือ พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นหุ่นเอง เบื้องหน้าด้านข้างทั้งสองของพระประธาน มีพระอัครสาวก 2 องค์ นั่งประนมมือ ที่ภายในพระอุโบสถนี้ มีจิตรกรรมฝาผนังที่น่าสนใจ เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ ส่วนบานประตูหน้าต่างด้านในเป็นลายกำมะลอ
โบราณสถานอีกแห่งหนึ่งคือ พระวิหาร ภายในมีพระพุทธรูปชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธาน และมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ด้านหน้ามีพระนามว่า พระอรุณ หรือ พระแจ้ง ขนาดหน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร พระแจ้งนี้เชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดนี้ ด้วยทรงดำริว่า นามพระพุทธรูปองค์นี้ตรงกับชื่อวัด ส่วนด้านหน้าทางทิศใต้ของวัด มีพระอุโบสถเดิม และพระวิหารน้อยตั้งอยู่ สถานที่ทั้ง 2 แห่ง ก็มีสิ่งที่น่าสนใจเช่นกันคือ ในพระอุโบสถเดิมมีพระแท่นที่ประทับของพระเจ้าตากสินมหาราชพระแท่นหนึ่งสร้างด้วยไม้กระดานแผ่นเดียว ขนาดกว้าง 1.67 เมตร ส่วนที่พระวิหารน้อยประดิษฐานพระธาตุจุฬามณี
นอกจากนี้ยังโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชปรารภที่จะสถาปนาพระปรางค์เดิม ซึ่งสูงเพียง 16 เมตร หรือ 8 วา ให้งดงาม และสูงยิ่งขึ้น แต่เมื่อโปรดให้กำหนดลงมือขุดรากแล้ว พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ดำเนินการสถาปนาองค์พระปรางค์ต่อเติมอีกจนสำเร็จ ถึงยกยอดมงกุฎลำภุขันธ์ แต่ยังหาทันได้ทำการฉลองไม่ก็เสด็จสวรรคต องค์พระปรางค์ซึ่งก่อสร้างขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกนี้ ตามหลักฐานระบุว่า เป็นงานออกแบบของพระยาราชสงคราม (ทัต หงสกุล) นายช่างผู้สืบเชื้อสายสกุลช่างมาแต่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงสถาปนาองค์พระปรางค์ต่อเติมจนเสร็จบริบูรณ์ การต่อเติมในระยะหลังตลอดจนการประดับกระเบื้องสีองค์พระปรางค์นี้เป็นงานที่พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ผู้เป็นบุตรของพระยาราชสงคราม (ทัต) ได้กระทำต่อมาจนแล้วเสร็จ ด้วยเหตุที่พระปรางค์องค์นี้ได้รับการสถาปนาสร้างมาถึง 3 รัชกาล ฐานและทรงขององค์พระปรางค์จึงได้รับการเสริมสร้างต่อเติม บูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดมาจนกร ะทั่งรัชกาลปัจจุบัน (ณัฎฐภัทร นาวิกชีวิน, 2519 : 57-58)
2. วัดอินทาราม หรือวัดบางยี่เรือนอก
เป็นวัดที่พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกอบพระราชกุศล มีโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้อง กับพระองค์หลายอย่างเช่น พระแท่นบรรทมไสยาสน์ เป็นพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับแรมทรงศีล และทรงเจริญกรรมฐาน
นอกจานี้ยังเป็นที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ถวายพระเพลิง ทั้งบรรจุพระบรมอัฐิไว้ ณ วัดนี้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันวัดอินทาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเทอดไท ตำบลบางยี่เรือ อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ (ปัจจุบัน) ประมาณ 25 ไร่ วัดนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ใดสร้างและสร้างในสมัยของใคร แต่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่ากันว่า พื้นที่ตามริมคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นตำบลบางยี่เรือในขณะนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้มีลักษณะเป็นป่าสะแกทึบ แต่ฝั่งตรงกันข้ามเป็นที่ลุ่มมีหญ้าและกกขึ้นอยู่ในน้ำตื้นๆ คล้ายป่าพลุ ถ้าหากมีเรือล่องมาจากลำคลองจะต้องอ้อมคุ้ง มองเห็นบริเวณป่าในระยะไกลได้ถนัด ชายป่าตรงริมฝั่งนี้เองได้เป็นชัยภูมิของทหารไทย ใช้เป็นที่ดักซุ่มยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านออกมาอย่างไม่ระมัดระวัง อาการที่ได้ซุ่มยิงนี้ เรียกว่า บังยิงเรือ กลายเป็นชื่อตำบลนั้น ต่อมาเพี้ยนเป็น บางยิงเรือ แล้วเป็น บางยี่เรือ ในที่สุด
วัดอินทาราม เดิมเรียกว่า วัดบางยี่เรือนอก คู่กับวัดราชคฤห์ (บางยี่เรือใน) เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นนครหลวง วัดนี้นับว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์มาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์อย่างถึงขนาด มีการขยายที่ของวัดออกไปเป็นอันมาก แล้วทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลใหญ่ๆ หลายครั้ง
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงถวายที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์เป็นอันมาก ทรงสร้างกุฏิ เสนาสนะ 120 ห้อง บูรณะพระปฏิมา และพระอุโบสถ เจดีย์ วิหาร และถวายพระไตรปิฎกอีกด้วย ทั้งให้บูรณะขึ้นทั่วทั้งอาราม และเสด็จมาทรงศีล บำเพ็ญพระกรรมฐานพระตำหนักอยู่ถึง 5 ครั้ง และทรงใช้วัดอินทารามเป็นที่ทรงงานถวายพระเพลิง และงานถวายประดับปกรณ์พระบรมอัฐิของสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) พระราชชนนี โดยโปรดให้สร้างพระเมรุ ซึ่งใช้เวลาสร้างถึง 2 เดือน และโปรดให้ชักพระศพมาสู่วัดอินทาราม เมื่อวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือน 6 ปี มะแม พุทธศักราช 2318 รุ่งขึ้นอีก 2 วัน ก็ถวายพระเพลิง คือวันพฤหัสบดี แรม 4 ค่ำ รวมเวลาประกอบพระราชพิธี ถวายพระเพลิง 3 วัน 3 คืน และมีมหรสพราว 20 โรง โรงพิธีต่างๆ โดยได้นิมนต์สมณชีพราหมณ์มาทำบุญราว 6,000 รูปเศษ (ในคราวเดียวกันกับที่บำเพ็ญพระราชกุศลนี้ มีทัพพม่าอะแซหว ุ ่นกี้ ยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลก จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยจะถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีอีกครั้งหนึ่ง)
ในปี พ.ศ.2319 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้จัดงานถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชชนนีขึ้นอีก โดยในงานพระราชกุศลคราวนี้ทรงบำเพ็ญเป็นงานใหญ่ เพื่ออุทิศส่วนพระราชกุศลเป็นการฉลองพระกียรติ ได้เกณฑ์ทหารต่างเมืองมาช่วยด้วย มีเมืองลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา ราชบุรี เพชรบุรี และสุพรรณบุรี ให้มาช่วยกับทางวัด
ตามหมายกำหนดการ เมื่อวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้ายปีวอก พ.ศ.2319 หลังจากสร้างพระเมรุและสถานที่สำหรับสมโภชงานและเมื่อแห่พระบรมอัฐิจากพระราชวังผ่านวัดโมฬีโลก (วัดท้ายตลาด) ขึ้นไปถึงบางยี่ขัน แล้วกลับมาประดิษฐาน ณ พลับพลาวัดอินทารามแล้วนั้น จึงโปรดให้กรมกองกลางนำเงินไปแจกเป็นมหาทานแก่พวกทูลละอองที่มาในงานทุกคน ผู้ชายพระราชทานสลึง ผู้หญิงคนละเฟื้อง กับให้พระยามหาเสนาคุมเงิน 10 ชั่งไปเที่ยวแจกกระยาจกวณิพก ทั้งในกรุงและนอกกรุง โปรดให้สังฆการี อารธนาพระสงฆ์มาสบสังวาส 1 หมื่น มีพระภิกษุ 2,230 รูป เถรและเณร 1,738 รูป (สงฆ์สบสังวาสในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันนุมาศ (เจิม) ว่า สงฆ์ไม่เลือกนิกายและอารามรวมกัน ในพระราชวิจารณ์รัชกาลที่ 5 ทรงให้อรรถาธิบายว่า สบสังวาสหมื่นหนึ่งหมายถึง การถวายข้าวสงฆ์องค์ละ 2 ห่อ ไม่ใช่การถวายเงินซึ่งเป็นวิธีของชาวกรุงเก่า)
โบราณวัตถุสถานที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระเจดีย์กู้ชาติ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยอดบัวกลุ่มคู่กับพระเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระมเหสี ทั้งสองพระองค์ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถเก่า
พระพุทธรูปฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นพระพุทธรูปปางตรัสรู้ เป็นพระประธานในพระอุโบสถเก่า และเป็นที่บรรจุพระบรมสรีอังคาร (ขี้เถ้า) ของพระองค์
พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยสมัยอยุธยา ประดิษฐานในพระวิหารเล็กข้างพระอุโบสถเก่า หรือวิหารพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระอุโบสถเก่าที่พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงปฏิสังขรณ์ไว้ แต่ก่อนไม่มีหน้าต่างท่านเจ้าคุณพระทักษิณคณิสรได้เจาะเปิดผนังทำหน้าต่าง เมื่อท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส
พระวิหารไว้พระแท่นบรรทมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบรมรูปแบบจำลองทรงกรรมฐานอยู่ในพระวิหารสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระอุโบสถใหม่ ซึ่งสร้างจากบริเวณที่ประดิษฐาน (ฝัง) พระบรมศพของพระเจ้ากรุงธนบุรี
นอกจากนี้ยังมีพระปรางค์ เจดีย์วิหารต่างๆ ซึ่งสร้างและบูรณะซ่อมแซมในสมัยหลังพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกมาก มีทั้งที่หักพังไปมากแล้ว และที่กำลังบูรณะและสร้างขึ้นใหม่ก็มี (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 123-125)
13.4 ด้านวรรณกรรม
ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นต้นมา วรรณคดีที่เคยรุ่งเรืองก็กลับซบเซาเหงาเงียบไปอีกวาระหนึ่ง และหลังจากที่ต้องเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาพินาศย่อยยับ เมืองถูกเผาทำลาย ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่หนังสือเก่าๆ ก็ถูกทำลายเสียหาย ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมความเป็นปึกแผ่นของชาติขึ้นได้ใหม่ วรรณคดีจึงเริ่มมีชีวิตขึ้น แต่ยุคกรุงธนบุรีมีเวลาเพียง 15 ปี และเป็นเวลาเริ่มสร้างทุกอย่าง วรรณคดีจึงมีอยู่น้อย แต่ที่ยังพอมีปรากฏอยู่ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าแทบทั้งสิ้น
มีคำกล่าวที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่ายามที่บ้านเมืองสงบสุข วรรณกรรมย่อมเจริญรุ่งเรืองและในทางตรงข้าม คราวบ้านเมืองยุ่งยากมีศึกสงคราม วงการประพันธ์ก็ย่อมเศร้าหมอง ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองมีเหตุการณ์ยุ่งยากด้วยประการทั้งปวง ดังกล่าวข้างต้น แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็มิได้ทรงปล่อยให้วรรณกรรมพลอยเศร้าหมองไปตามสภาพที่น่าจะเป็น ทรงเป็นผู้ต่อต้านความเสื่อมโทรมนั้นอย่างเต็มที่ จนทำให้สมัยกรุงธนบุรีเป็นยุคที่มีการสร้างสรรค์วรรณคดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาโดยตรง โดยใช้วรรณคดีต่างๆ ที่มีอยู่เป็นแบบฉบับในการแต่งคำประพันธ์ ดังนั้นวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับวรรณกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยามาก ลักษณะวรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. วรรณกรรมทุกเรื่องแต่งด้วยบทร้อยกรองทั้งหมด โดยใช้คำประพันธ์ทุกประเภท คือโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
2. มีเนื้อหาสาระเน้นหนักในทางศาสนา คติธรรมคำสอน ยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ และความบันเทิงเริงใจ
3. ลักษณะการแต่ง ขึ้นต้นคำประพันธ์ด้วยบทประณามหรือบทไหว้เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อสิ่งที่เคารพนับถือ มีการบรรยายและพรรณนาอารมณ์ความรู้สึก บทชมสิ่งต่างๆ ที่มุ่งเน้นความไพเราะเป็นสำคัญ มากกว่าเนื้อหาสาระและแนวความคิด
4. สอดแทรกค่านิยมไทยไว้อย่างชัดเจน อันได้แก่ความเคารพนับถือ ความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ ความถือมั่นในพระพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 8-9)
13.4.1 กวีในสมัยกรุงธนบุรีเป็นใครบ้าง ?
กวีสมัยกรุงธนบุรีนอกจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แล้วกวีสมัยกรุงธนบุรีล้วนเป็นข้าราชการและพระเถระผู้ใหญ่ที่ปรากฏนามคือ
1. พระวันรัต ( ทองอยู่ ) ซึ่งภายหลังได้เป็นพระอาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสึกออกมารับราชการเป็นพระยาพจนาพิมล
2.พระพิมลธรรมวัดโพธาราม ( วัดพระเชตุพนฯ ) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระวนรัต
3. พระรัตนมุนี ( แก้ว ) ภายหลังสึกมารับราชการเป็นพระยาธรรมปรีชา ต้นสกุลรักตประจิต
4. นายสวนมหาดเล็ก แต่งโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่งเมื่อปี พ.ศ.2314
5. หลวงสรวิชิต ( หน ) นายด่านเมืองอุทัยธานี ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาพระคลัง ( หน ) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่งเพชรมงกุฎโดยนำนิทานเรื่องเวตาลปกรณัมมาเป็นเค้าโครงเรื่อง ( ตอนที่เวตาลเล่านิทานปริศนา เรื่องเจ้าชายเพชรมงกุฎ ) และอิเหนาคำฉันท์ ท่านถึงแก่อสัญกรรมปี พ.ศ.2348
6. พระยามหานุภาพ (อ้น) แต่งนิราศกวางตุ้ง เมื่อไปเมืองจีน พ.ศ.2324 นับว่ามีค่าทางประวัติศาสตร์มาก เพื่อบันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นในการเดินทาง และเพลงยาวของพระยามหานุภาพ มีอยู่ 3 บท
7. พระภิกษุอิน เมืองนครศรีธรรมราช แต่งคำฉันท์กฤษณาสอนน้องร่วมกับพระยาราชสุภาวดี ( วีณา โรจนราธา , 2540 : 99)
8. พระยาราชสุภาวดี เดิมเป็นเจ้ากรมสุรัสวดีในกรุงศรีอยุธยา ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าเอกทัศน์ให้มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่มาครองในปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏ กล่าวกันว่าพระยาราชสุภาวดี เป็นกวีเอกคนหนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และท่านมีชีวิตต่อมาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในขณะที่ท่านรับราชการในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั้นท่านมีความผิด จึงถูกเรียกตัวไปแก้คดีที่กรุงศรีอยุธยา ผลที่สุดท่านแพ้คดีจึงต้องพ้นจากตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.2308 และในตอนหลังได้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีข้าหลวงนครศรีธรรมราช (ตั้งแต่ พ.ศ.2312-2319 รวมเป็นเวลา 7 ปี) และในสมัยที่เจ้านราสุริยวงศ์ดำรงค์ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านอยู่ในฐานะช่วยราชการ เมื่อเจ้านราสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย ท่านก็ถูกเรียกตัวกลับไปรับราชการที่กรุงศรีอยุธยาตามเดิม ( http://www.navy.mi.th/navy88/files/Nakorn.doc , 31/03/2547) ( พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี : งานพระราชทานเพลิงศพ นส . ผัน ณ นคร 20 กันยายน, 2524 : 8)
13.4.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมอะไรบ้าง ?
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงเป็นนักรบ นักกู้ชาติมากกว่าจะทรงเป็นกวี เพราะตลอดรัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยการศึกสงคราม แต่พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่เห็นการณ์ไกล ทรงเห็นคุณค่าของวรรณคดี จึงทรงใช้เวลาว่างพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญคือ เรื่อง รามเกียรติ์ ขึ้น บทพระราชนิพนธ์ที่เหลือปรากฏหลักฐานในปัจจุบัน คือ บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ วิรุณจำบังล้ม ท้าวมาลีวราชว่าความ ทศกัณฐ์ตั้งพิธีเผารูปเทวดา พุ่งหอกกบิลพัสดุ์ หนุมานผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑและปล่อยม้าอุปการ นอกจากนี้ยังมี หนังสือราชการ ในรัชกาลที่ทรงแก้ไขหรือพระราชนิพนธ์ เช่น พระราชสาส์น ศุภอักษร สารตรา กฎต่างๆ ตำรับพิชัยสงคราม ตำราทำอาวุธ บทสุภาษิต ขนบราชการ ขนบประเพณีเมือง เป็นต้น
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ทรงเขียนลงสมุดไทยดำ ตัวอักษรเป็นเส้นทอง สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงเป็นอย่างยิ่ง ตามบานแผนกบทพระราชนิพนธ์นี้ บอกเวลาที่ทรงพระนิพนธ์ไว้หน้าต้นทุกเล่มว่า วันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราช 1132 ปีขาล โทศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ.2313 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์ แล้วต่อมาในภายหลังพวกอาลักษณ์นำเอาต้นพระราชหัตถเลขามาชุบลงไว้ตามที่ทรงแก้ไขใหม่ แต่ยังคงบานแผนกเดิมไว้ จึงปรากฏเป็น “ ทราม ภอดี อยู่ ” ดังปรากฏในต้นฉบับสมุดไทยที่คัดมา โดยบอกเวลาชุบเส้นทองไว้ว่า (วันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1142 (พ.ศ.2323)” เป็นตอนปลายรัชกาล บอกนามอาลักษณ์ ผู้ชุบไว้ 4 คนคือ นายถี อาลักษณ์ชุบเล่ม 1, นายสัง อาลักษณ์ชุบ เล่ม 2, นายสน อาลักษณ์ชุบเล่ม 3 และนายบุญจัน อาลักษณ์ชุบเล่ม 4 บอกชื่อผู้ทานไว้ 2 คน ตรงกันทุกเล่ม คือขุนสารประเสริด และขุนมหาสิทธิ น่าเสียดายที่ไม่พบฉบับทรงเดิม (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 15)

ภาพรามเกียรติ์ ตอนหนุมานทอดตนเป็นสะพานให้กองทัพพระพรต ข้ามมหาสมุทรกลับกรุงศรีอยุธยา, 2473
สีฝ่น จิตรกรรมฝาผนัง ห้อง 154 พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ
โดยศิลปิน สวงษ์ ทิมอุดม (ภาพจากหนังสือศิลปะรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1-8 เล่ม 1)
ที่มาของบทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ก็เนื่องจากได้เสด็จกรีธาทัพลงไปปราบชุมนุมเจ้านครที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2312 ครั้งนั้นเจ้านครพร้อมทั้งพรรคพวกญาติพี่น้องคนสำคัญ ได้หลบหนีไปยังเมืองเทพา ( อยู่ในเขตจังหวัดสงขลาปัจจุบัน ) กองทัพกรุงได้ยกติดตามไป
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงเรื่องราวในตอนนี้ไว้ว่า
“ พระฤทธิเทวา เจ้าเมือง รู้ว่ากองทัพบกติดตาม กลัวพระบารมี ส่งตัวเจ้านครฯ กับพวกพ้องพงศ์พันธุ์ ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของ ส่งมาถวายพร้อม ”
แปลว่า ครั้งนั้นนอกจากจะได้ตัวเจ้านครฯ บุคคลสำคัญที่สุดมาเป็นเชลยได้แล้ว ยังได้ละครผู้หญิงเป็นผลพลอยได้ตามมาด้วย
ขณะที่กองทัพกรุงธนบุรีต้องติดมรสุมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ยังกลับพระนครไม่ได้เป็นเวลาหลายเดือนนั้นเอง ในเดือน 12 ปีนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พร้อมกับโปรดให้มีละครผู้หญิงของเจ้านครฯ ร่วมเล่นในงานสมโภชด้วย เป็นเหตุให้พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย และสนพระราชหฤทัยในการละครเป็นอย่างมากตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงได้ฝึกหัดฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในกรุงธนบุรี ดังจะปรากฏเรื่องราวอยู่ในเรื่องของนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์โดยตรง
ครั้นเสด็จกลับจากนครศรีธรรมราชในคราวนั้นได้เพียงเดือนเดียว ก็ทรงพระราชอุตสาหะรจนาบทละครรามเกียรติ์ทันทีโดยที่ทรงมีเวลาเพื่อการนี้เพียง 2 เดือนเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นก็ต้องเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่อุตรดิตถ์อีกในเดือน 6 ต้นปี พ.ศ.2313
นับว่าได้ทรงใช้เวลาน้อยเหลือเกิน สำหรับการแต่งวรรณคดีชั้นสูงเช่นนี้ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมจะต้องมีการบกพร่อง ไม่รัดกุม ขาดความไพเราะไปบ้าง พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์บทละครดังกล่าวนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยตรง มิได้ผ่านฝีปากของกวีคนอื่นใด (ดังเช่นรามเกียรติ์บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1) บทพระราชนิพนธ์เรื่องนี้จึงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอุปนิสัย และพระปรีชาญาณของพระองค์ได้เป็นอย่างดียิ่ง (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 76) และในเดือน 6 พ.ศ.2313 นั้นเอง ก็ทรงได้รับใบบอกจากกรมการเมืองอุทัยธานี เมืองชัยนาท เรื่องลามกกรรมของพวกเจ้าพระฝาง ถึงเดือน 8 ปีเดียวกันนั้นก็เสด็จนำทัพหลวงไปปราบ ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ คงจะได้ทรงพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จทั้ง 4 ตอนในช่วงเวลานั้น แต่คงจะได้มาแก้ไขในภายหลังบ้าง ดังข้อความที่แทรกไว้ในบางตอนว่า “ ยัง ( ทราม , ภอดี ) อยู่ ” หรือ “ ทรงแทรก ” เป็นต้น หากได้ทรงพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จก่อนไปตีเจ้าพระฝาง ในงานสมโภชเมื่อตีเมืองสวางคบุรีได้แล้ว (ซึ่งตามจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวง นรินทรเทวี ว่า “ ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง 7 วัน แล้วเสด็จไปเหยียบเมืองพิษณุโลก
สมโภชพระชินราช พระชินศรี 7 วัน มีละครผู้หญิง ” นั้น) ก็อาจใช้ละครเรื่องรามเกียรติ์จับบทตามพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็เป็นได้
การที่พระมหากษัตริย์ทรงใฝ่พระทัยในกวีนิพนธ์ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์ทั้งๆ ที่แทบจะมิได้ว่างเว้นจากราชการทัพเช่นนี้ เท่ากับเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีความสามารถทางกวีนิพนธ์ในยุคนั้นสร้างสรรค์งานขึ้นมาได้บ้าง แม้เหตุการณ์ของบ้านเมืองจะยังมิได้คืนสู่สภาพปกติสุขดีนัก
ความมุ่งหมายในการแต่ง
อาจคะเนความมุ่งหมายในการทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ได้ดังนี้
1. ทรงสืบราชประเพณีในการส่งเสริมวรรณกรรม โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชนิพนธ์นำด้วยพระองค์เอง
2. มีพระราชประสงค์จะให้เป็นเครื่องบันเทิงใจราษฎร
3. ฟื้นฟูและรักษาเรื่องวรรณกรรมรามเกียรติ์อันเป็นวรรณกรรมสำคัญที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
4. ทรงเลือกตอนที่เป็นคติธรรมเหมาะที่จะเป็นแนวคิดและสิ่งปลุกปลอบใจราษฎรในขณะนั้น อีกประการหนึ่งทรงแทรกเรื่องวิปัสสนาซึ่งพระองค์ทรงสนพระทัยอย่างยิ่งเข้าไว้ด้วย เท่ากับเป็นการแนะนำให้ราษฎรปฏิบัติเพื่อความสงบสุขทางใจ
5. ทรงแต่งเพื่อใช้เป็นบทละครของหลวง ซึ่งตามธรรมเนียมต้องเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตามพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพไปตีเมืองนครศรี ธรรมราช พ.ศ.2312 ได้ตัวเจ้านครพร้อมด้วยละครผู้หญิงเข้ามาก่อตั้งละครหลวงขึ้น จึงต้องทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใช้แสดง (กุหลาบ มัลลิกะมาศ , วรรณกรรมไทย : มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ม.ป.ป. : 24-25)
บานแผนกในต้นฉบับสมุดไทยของวรรณกรรมเรื่องนี้กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ จ.ศ.1132 (พ.ศ. 2313) เป็นกลอนบทละคร บอกชื่อเพลงร้อง และกระบวนท่ารำไว้ครบครันรวม 4 ตอน (4 เล่มสมุดไทย) ดังนี้
ตอน 1 ตอน พระมงกุฎ เรื่องนี้เป็นเรื่องตอนท้ายของรามเกียรติ์ ทรงแต่งเป็นพระราชนิพนธ์เล่มแรก เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระมงกุฎและพระลบโอรสของพระรามกับนางสีดา อยู่ในป่ากับฤาษีวาลมีกิ เพราะนางสีดาถูกเนรเทศไป ฤาษีมอบศรวิเศษให้สองกุมาร สองกุมารลองศรเสียงกัมปนาทถึงกรุงอโยธยา พระรามปล่อยม้าอุปการแสดงอำนาจ พระมงกุฎ พระลบจับม้าไปขี่เล่น พระภรตจับพระมงกุฎไปถวายพระราม พระลบตามไปแก้ได้และพากันหนีไป จบลงตอนพระรามยกกองทัพไปตามจับสองกุมาร
ตอน 2-3-4 เป็นเนื้อความต่อเนื่องกันคือ
ตอน 2 เป็นตอนที่ หนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์ เนื้อความตอนต้นขาดหาย จึงเริ่มต้นตอนหนุมานพบนางวานรินทร์ในน้ำ (นางวานรินทร์เป็นนางฟ้าถูกสาปและให้คอยบอกทางแก่หนุมานไปฆ่าวิรุณจำบัง จึงจะพ้นคำสาป) ได้นางเป็นภรรยาแล้วหนุมานไปฆ่าวิรุณจำบังสำเร็จ กลับมาส่งนางไปเมืองฟ้า ทศกัณฐ์ให้ไปเชิญท้าวมาลีวราชมากรุงลงกา เพื่อให้ช่วยเป็นฝ่ายตน ความตอน 2 จบลงแค่ท้าวมาลีวราชมาถึงสนามรบไม่ยอมเข้าไปกรุงลงกา
ตัวอย่าง
ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์
เจ้านี้ยศยิ่งยอดกัญญา สาวสรรค์ชั้นฟ้าไม่มีสอง
อย่าแคลงพี่จะให้แจ้งน้อง ขอต้องนิดหนึ่งนารี
ตอน 3 เป็นตอน ท้าวมาลีวราชว่าความ ด้วยความเที่ยงตรง ให้โจทก์จำเลยและนางสีดามา สนามรบ ตัดสินให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดา แต่ทศกัณฐ์ไม่ยอม จึงถูกท้าวมาลีวราชสาปแช่ง
ตอน 4 เป็นตอนที่ ทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรดและปลุกเสกหอกกบิลพัสดุ์ นางมณโฑยุให้ทศกัณฐ์ฆ่าพิเภกเสีย เพราะเป็นผู้คอยทำนายบอกเรื่องราวต่างๆ ให้แก่ฝ่ายพระราม พิเภกหนีแอบบังพระลักษณ์ พระลักษณ์จึงต้องหอกโมกขศักดิ์ หนุมานต้องเหาะไปหายาแก้ แม่หินบดยาอยู่เมืองนาค ส่วนลูกหินอยู่ลงกา ทศกัณฐ์หนุนนอน หนุมานสะกดให้หลับและหักยอดปราสาทไปลักลูกหินมาได้ แล้วแกล้งผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑเข้าไว้ด้วยกัน ทศกัณฐ์แก้ผมไม่ออก จนต้องเชิญฤาษีโคบุตรมาแก้
ตัวอย่าง
ตอนหนุมานผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ
อันได้เนกขัมมะประหารแล้ว คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า
ทั้งฤทธิ์และจิตรวิชา อีกกุพะนามะโนมัย
กอปรด้วยโสตรประสาทญาณ การชาติหน้าหลังระลึกได้
ถึงนั่นแล้วอันจะบัลลัย ไม่มีกะตัวถ่ายเดียว…
ตอนเทพบุตรพาลีรบทศกัณฐ์
ฝ่ายพาลีอ่านคาถา เรียกกำลังอสุรามาได้
ตามพรพระเจ้าโลกาไตร ชิงชัยสัปยุทธอสุรี (2 คำ)
ฝ่ายทศเศียรเสียกำลังกึ่ง ขึงขืนเข้าชิงชัยศรี
หิวโหยโรยแรงอสุรี เหาะหนีมานครลงกา (2 คำ)
ลักษณะโดยทั่วไปของบทละครรามเกียรติ์
บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ เป็นกลอนบทละคร มีสำนวนกลอนแบบเก่าสมัยศรีอยุธยา มีเพลงและท่ารำประจำบทครบถ้วน ลักษณะโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ใช้คำพื้นๆ ตลอดเรื่อง เหมาะที่ใช้เป็นบทละครสำหรับผู้ชมโดยทั่วไป เช่นกลอนว่า
คิดแล้วให้สืบเทวา ตามตำรามาแถลงไข
เทวาจะว่าประการใด จงเร่งให้การมา
ฝ่ายทศกัณฐ์โจทก์ค้าน พยานเหล่านี้ชังข้างข้า
ไม่รู้ว่าได้ษีดา มาเป็นพยานมิเต็มใจ
ฝ่ายเทพรับสมอ้างค้าน สบถสาบานแถลงไข
แม้นมุสาให้ข้าบรรลัย มิได้เอาเท็จมาเจรจา
ชังจริงด้วยเธออาธรรม ถึงกระนั้นก็ไม่มุสา
ไม่แจ้งว่าได้ษีดา ข้ามิได้เอาเท็จมาพาที
เดิมข้าได้ยินเขาลือเลื่อง ในเมืองพระชนกฤาษี
เธอกลับเข้าครองบุรี ทำการพิธีมงคล
ให้ตั้งธนูยกศิลป์ชัย ชวนกันลงไปทุกแห่งหน
ใครยกไหวจะได้เนียรมล ผู้คนเต็มไปทั้งพารา
ลักษณะกลอนในบทพระราชนิพนธ์ ทรงนิยมใช้ถ้อยคำธรรมดาสามัญอยู่เป็นอันมาก จนบางตอนดูคล้ายกับบทละครนอกอันเป็นละครพื้นบ้านในสมัยก่อน เช่นตอนบทของท้าวมาลีวราชเมื่อได้ทรงฟังคำให้การแก้ตัวบิดเบือนของทศกัณฐ์ เรื่องขโมยนางสีดาไปจากพระราม
เมื่อนั้น พระบรมลักษมณ์ศักดิ์สิทธิ์
ได้ฟังพ่ออ้ายอินทรชิต บิดผันเศกแสร้งเจรจา
เป็นสิ่งของหรือตกหล่น นี่มาเก็บคนได้กลางป่า
ผิดที่มิเคยพบเห็นมา หรือว่าผู้อื่นลักนาง
พอพบพระยาอสุรี ถ้าฉะนี้จะเห็นด้วยบ้าง
เกรงกลัวคิดว่าผัวนาง ขว้างเสียทิ้งไว้หนีไป
อันกระนั้นมั่นแม่นผิดที่ ถ้าฉะนี้พอจะเห็นด้วยได้
นี่สิว่านางตกกลางไพร จนใจไม่รู้ที่เจรจา ฯลฯ
บทพระราชนิพนธ์เหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงพระราชอัธยาศัยที่ว่องไวกระฉับกระเฉง ไม่เกรงกลัวใคร พอพระทัยตรัสตรงไปตรงมา ไม่ชอบอ้อมค้อม แต่ก็ทรงสนุกในการใช้ศัพท์เล่นอยู่บ้าง
หลายตอนทรงใช้ถ้อยคำหนักๆ ตรงไปตรงมา แบบขวานผ่าซาก ใช้ภาษาธรรมดาแบบพื้นบ้าน ว่ากันอย่างถึงอกถึงใจจริงๆ เฉพาะอย่างยิ่งบทดุด่าว่ากล่าวสั่งสอน เช่น ตอนท้ายมาลีวราชตวาดทศกัณฐ์ ที่ตลบตะแลงให้การเท็จ ในกรณีขโมยนางสีดาไปจากพระราม
เมื่อนั้น พระทรงทศธรรมรังษี
เดือดด่าพญาอสุรี อ้ายนี่มันช่างเจรจา
ฝ่ายมึงลักเมียเขาพรากผัว จะช่วยชั่วกระไรอ้ายบ้า
เมื่อเอ็งเล็ดลอดลักมา จะเห็นหน้าตามึงกลใด
มาดแม้นถ้าพบเจ้าผัว โดยชั่วไม่ละเมียให้
เช่นนี้หรือนางตกกลางไพร จะพิพากษาให้มึงมา ฯลฯ
อีกตอนหนึ่ง ที่ท้าวมาลีวราชให้โอวาทปลอบทศกัณฐ์ นอกจากจะทรงใช้ถ้อยคำหนักๆ อย่างบุคคลธรรมดาสามัญดุด่าสั่งสอนกันแล้ว ยังทรงสอดแทรกอารมณ์สนุกเกี่ยวกับผู้หญิงยิงเรือเข้าไว้อีกด้วย
จงฟังคำกูผู้ปู่สอน ให้ถาวรยศยิ่งภายหน้า
จะทำไมกับอีษีดา ยักษาเจ้าอย่าใยดี
มาดแม้นถึงทิพสุวรรณ สามัญรองบทศรี
ดั่งฤาจะสอดสวมโมลี ยักษีอย่าผูกพันอาลัย
หนึ่งนวลนางราชอสุรี ดิบดีดั่งดวงแขไข
ประโลมเลิศละลานฤทัย อำไพยศยิ่งกัญญา
ว่านี้แต่ที่เยาว์ๆ ยังอีเฒ่ามณโฑกนิษฐา
เป็นยิ่งยอดเอกอิศรา รจนาล้วนเล่ห์ระเริงใจ
แม้นเจ้ามิฟังคำกู จะไปสู่นรกหมกไหม้
ล้วนสาหัสฉกรรจ์บรรลัย จะใยดีอะไรกับษีดา ฯลฯ
2. ไม่นิยมสัมผัสสระ ยังคงติดสามัญอักษรตามความนิยมครั้งกรุงศรีอยุธยา
เมื่อนั้น ท้าวทรงจตุศีลยักษา
ครั้นเห็นนวลนางษีดา เสน่หาปลาบปลื้มหฤทัย
อั้นอัดกำหนัดในนาง พลางกำเริบราคร้อนพิสมัย
พิศเพ่งเล็งแลทรามวัย มิได้ที่จะขาดวางตา
ชิชะ โอ้ว่าษีดาเอ๋ย มางามกระไรเลยเลิศเลขา
ถึงนางสิบหกห้องฟ้า จะเปรียบษีดาได้ก็ไม่มี
แต่กูผู้รู้ทศธรรม์ ยังหมาย มั่นมุ่งมารศรี
สาอะไรกับอ้ายอสุรี จะมิพาโคติกาตาย..
3. แทรกความรู้และความคิดทางวิปัสสนาธุระแสดงว่าขณะที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้นทรงศึกษา หรือได้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว เช่น ตอนฤาษีโคบุตรกล่าวกับทศกัณฐ์ว่า
พระมุนีจึงว่าเวรกรรม มันทำท่านท้าวยักษี
อันจะแก้ไขไปให้ดี ต่อกิจพิธีว่องไว
จึงจะสิ้นมลทิลบาปหยาบหยาม พยายามอนุโลมลามไหม้
ล้างลนอกุศลสถุลใจ เข้าไปในเชาวน์วิญญาณ
เป็นศีลสุทธิ์วุฑฒิ หิริโดยตะทังคะประหาร
คือบทแห่งโคตระภูญาณ ประหารโทษเป็นที่หนึ่งไป
คุณสมบัติพิเศษ อันนับเป็นเอกลักษณ์ ยากที่จะมีพบปรากฏในรามเกียรติ์ฉบับอื่นใด ก็คือรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มีเนื้อหาและโวหารหลายตอน หนักไปทางธรรมและอิทธิปาฏิหาริย์ อันแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณ และพระราชอุปนิสัยของพระองค์ ที่ทรงฝักใฝ่ในทางธรรมตลอดจนการปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐาน
เมื่อทรงกล่าวถึงบทของท้าวมาลีวราช ก็มักจะทรงใช้ถ้อยคำว่าพระทรงธรรมธิราชเป็นใหญ่ พระกอบกิจธรรมเป็นใหญ่ พระทรงทศธรรมรังษี พระทรงธรรมธิราชรังษี หรือพระทรงจตุศีลยักษา ฯลฯ บางตอนเข้าใจว่าน่าจะได้ทรงนำเอาพระราชกิจวัตรส่วนพระองค์มาสอดแทรกใส่ไว้ด้วย เช่น ตอนที่กล่าวถึงพระอิศวรเสด็จออกนั่งสนทนาธรรมกับพระฤาษี
วันหนึ่งจึงเธอออกนั่ง ยังบัลลังก์รัตน์รังษี
สนทนาไญยธรรมอันมี กับพระนารอทฤษีมีญาณ
พระราชนิพนธ์ตอนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพระราชอุปนิสัย ที่ทรงฝักใฝ่ในข้ออรรถข้อธรรม เมื่อยามว่างพระราชกิจ ก็จะทรงพอพระทัยมีธรรมสากัจฉากับพระราชาคณะ หรือแม้นักบวชในลัทธิศาสนาอื่นๆ เป็นต้นว่า กับพวกบาทหลวงฝรั่งเศส หรือพวกโต๊ะครูในศาสนาอิสลามดังปรากฏเรื่องราวเป็นหลักฐานอยู่ในจดหมายเหตุและพระราชพงศาวดารอยู่หลายตอน
ตอนที่นางมณโฑปลอบทศกัณฐ์ ที่ผิดหวังจากท้าวมาลีวราชท่านไม่ยอมเข้าข้างด้วย ก็ทรงสอดแทรกหลักธรรมเข้าไว้เป็นอย่างดี
พระจอมเกศแก้วของเมีย ปละอาสวะเสียอย่าหม่นไหม้
แม้จิตไม่พิทราลัย ถีนะมิทธะภัยมีมา
อันซึ่งความทุกข์ความร้อน ตัวนิวรณ์วิจิกิจฉา
อกุศลปนปลอมเข้ามา พาอุธัจจะให้เป็นไป
ประการหนึ่งแม้นมีเหตุ เวทนาพาลงหมกไหม้
ฝ่ายซึ่งการแพ้ชนะไสร้ สุดแต่ได้สร้างสมมา
ถึงกระนั้นก็อันประเวณี ให้มีความเพียรจงหนักหนา
กอปมนตร์ดลทั้งอวิญญาณ์ สัจจะสัจจาปลงไป
ล้างอาสวะจิตมลทิน ให้ภิญญโญสิ้นปัถมัย
เมียเขาเอามันมาใย ไม่ควรคือกาลกินี ฯลฯ
เฉพาะอย่างยิ่ง ตอนพระโคบุตรฤาษีสอนทศกัณฐ์นั้น ได้แสดงออกถึงพระปรีชาญาณที่ทรงภูมิธรรมชั้นสูงเป็นอย่างดี มีศัพท์แสงเกี่ยวกับธรรมะสูงๆ อยู่เป็นอันมาก นอกจากนี้ยังแสดงถึงเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ จากการปฏิบัติธรรมไว้อีกด้วย
พระมุนีจึงว่าเวรกรรม มันทำท่านท้าวยักษี
อันจะแก้ไขไปให้ดี ต่อกิจพิธีว่องไว
จึงจะสิ้นมลทินบาปหยาบหยาม พยายามอนุโลมลามไหม้
ล้างลนอกุศลสถุลใจ เข้าไปในเชาว์วิญญาณ
เป็นศีลสุทธิ์วุฑฒิ หิริโดยตะทังคะประหาร
คือบทแห่งโคตระภูญาณ ประหารโทษเป็นที่หนึ่งไป
แล้วจึงทำขึ้นที่สอง โดยเนกขัมคลองแถลงไข
ก็เป็นศิลาทับระงับไป อำไพพิลึกโอฬาร์
อย่าว่าแต่พาลโภยภัย ปืนไฟไม่กินนะยักษา
ทั้งหกสวรรค์ชั้นฟ้า จะฆ่าอย่างไรไม่รู้ตาย
อย่าคณนาไปถึงผู้เข่นฆ่า แต่วิญญาณ์คิดก็ฉิบหาย
จะทำอย่างใดไม่รู้ตาย อุบายถอยต่ำลงมา
อันได้เนกขัมประหารแล้ว คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า
ทั้งฤทธิ์และจิตตวิชชา อีกกุพนามโนมัย
กอปไปด้วยโสตประสาทญาณ การชาติหน้าหลังระลึกได้
ถึงนั่นแล้วอันจะบรรลัย ไม่มีกะตัวถ่ายเดียว
อย่าประมาณแต่การเพียงนี้ สามภพธาตรีไม่คาบเกี่ยว
สาบไปแต่ในนาทีเดียว มิทันเหลียวเนตรอสุรา
จะสาอะไรกับรามลักษณ์ ถึงไตรจักรทั่วทศทิศา
ไม่ครั่นครือฤทธิ์วิทยา ถ้าปรารถนาเจ้าเรียนเอา ฯ
บทพระราชนิพนธ์ตอนนี้ สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า
“ ข้อความที่เรียงลงนี้ เป็นความในใจเจ้ากรุงธนบุรี สำแดงออกให้เห็นชัดเจนดีนัก ที่เชื่อวิชากล้าหาญ และที่เพลิดเพลินในทางธรรมกรรมฐาน รูปร่างความคิดเช่นนี้ ”
อีกตอนหนึ่งได้ทรงพระราชวิจารณ์ว่า “ …ส่วนที่เจ้ากรุงธนบุรีแก้นั้น มักจะปรากฏอยู่ในตอนทัพศึกและในเรื่องอิทธิฤทธิวิชาในทางนั่งพระธรรม ”
4. เป็นบทละครที่ดำเนินเรื่องได้รัดกุม ทันอิริยาบถของผู้แสดงละครเช่นตอนหนุมานรบ วิรุณจำบัง
ฝ่ายวิรุณจำบังตกใจ ก็รู้ว่าภัยมาตามผลาญ
จึงอ่านพระเวทวิชาการ บันดาลแทรกตัวออกมา
พ้นจากวงหางขุนกระบี่ อสุรีอายใจยักษา
ก็ผาดโผนแผลงฤทธา กลับเข้าเข่นฆ่าหนุมาน
หนุมานเผ่นโผนโจนจับ จับกุมกันตามกำลังหาญ
วิรุณจำบังตีหนุมาน พลังทานมิได้จมไป
หนุมานผุดขึ้นอ่านมนต์ เข้าผจญชิงเอากระบองได้
วิรุณจำบังจมไป ผุดเมื่อไรซ้ำตีอสุรา
หนังสือ “ ชุมนุมตัวอย่างพระราชนิพนธ์บทกลอน ” ของหอพระสมุดวชิรญาณ อธิบายไว้ตอนท้ายพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ พระราชนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรีว่าเล่นละครยากนัก เล่ากันมาว่าทรงพระราชนิพนธ์อย่างไร จะให้ร้องและให้รำได้อย่างพระราชนิพนธ์ บางทีต้นบทร้องไม่ได้ ถึงทรงพระพิโรธ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเล่าไว้ตอนหนึ่งในหนังสือพระราชวิจารณ์ว่า “ แต่พระราชนิพนธ์เจ้ากรุงธนบุรีนั้นผิดจากนี้มาก มีเล่ากันว่าดังโฮกฮากหลายตอน เมื่อจวนจะคลั่งอยู่แล้ว พระราชนิพนธ์ที่ต้องถูกเฆี่ยนถูกตีกันมากตอนถวายลิงว่า
“ กลางวันก็ใช้ กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟ ตีเกราะเคาะไม้ อยู่ไม่ได้จึงหนีมา ”
5. เนื้อความค่อนข้างสั้น กระทัดรัดเพราะทรงมุ่งเอาเรื่องราวเป็นใหญ่ จึงมิได้มีลีลาเยิ่นเย้อยืดยาว เหมือนดังรามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ซึ่งส่วนมากรู้จักกันดี เป็นต้นว่าเนื้อเรื่องตอนหนึ่งตรงกัน ในฉบับพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีกล่าวไว้เพียง 146 คำ แต่ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 นั้น บรรจุข้อความไว้ถึง 400 คำ ถ้าเปรียบเทียบหน้ากระดาษพิมพ์กัน ฉบับพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีบรรจุความเพียง 11 หน้า แต่ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 กินเนื้อความถึง 50 หน้า ฯลฯ
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นพระราชอุปนิสัยว่องไว ไม่ชอบเยื้องกรายยืดยาด พอพระทัยแต่จะตรัสอย่างตรงไปตรงมา ให้ได้เรื่องได้ราวเร็วๆ เป็นสำคัญ จึงทรงมุ่งเอาแต่เนื้อความและเรื่องราวเป็นใหญ่
การที่รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 มาขยายข้อความให้ยืดยาวมโหฬารยิ่งใหญ่ออกไปอีกหลายเท่าตัว ด้วยการใช้โวหารพรรณนากันอย่างสุดคารมนั้น บางท่านตั้งข้อสังเกตว่ากวีบางคนได้รับมอบหมายให้แต่งเป็นตอนๆ นั้น ได้ใช้ฉบับพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นหลัก เพียงแต่มาขยายพลความออกไปเท่านั้นเอง
ด้วยเหตุนี้ เนื้อเรื่องจึงเหมือนกันตรงกัน แต่บรรจุคำกลอนมากกว่ากันหลายเท่าตัว
6. มีหลายตอนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงแสดงอารมณ์กวี เป็นสุนทรียรสให้ปรากฏอยู่เหมือนกัน เช่น ตอนท้าวมาลีวราชชมโฉมนางสีดา สามารถทรงใช้พรรณนาโวหาร ได้อย่างชนิด “ ไม่เบา ” เลยทีเดียว พระราชนิพนธ์ตอนนี้ กลับยืดยาวมาก ดังจะขออัญเชิญมาแสดงไว้เป็นตัวอย่างตอนหนึ่ง ดังนี้
เมื่อนั้น พระทรงจตุศีลยักษา
ครั้นเห็นนวลนางษีดา เสน่หาปลาบปลิ้มหฤทัย
อั้นอัดกำหนัดในนาง พลางกำเริบราคร้อนพิสมัย
พิศเพ่งเล็งแลทรามวัย มิได้ที่จะขาดวางตา
ชิชะโอ้ว่าษีดาเอ๋ย มางามกระไรเลยเลิศเลขา
ถึงนางสิบหกห้องฟ้า จะเปรียบษีดาได้ก็ไม่มี
แต่กูผู้รู้ทศธรรม์ ยังหมายมั่นมุ่งมารศรี
สาอะไรกับอ้ายอสุรี จะมิพาโคติกาตาย
โออนิจจาทศกัณฐ์ สู้เสียพงศ์พันธุ์ฉิบหาย
ม้ารถคชพลวอดวาย ฉิบหายเพราะนางษีดา
ตัวกูผู้หลีกลัดตัดใจ ยังให้หุนเหี้ยนเสน่หา
ที่ไหนมันจะได้สติมา แต่วิญญาณ์กูแดยัน
ขวยเขินสะเทินวิญญาณ์ กว่านั้นไม่เหลือแลแปรผัน
ไม่ดูษีดาดวงจันทร์ พระทรงธรรม์เธอคิดละอายใจ
บิดเบือนพักตร์ผินไม่นำพา ขืนข่มอารมณ์ปราไส
อัดอั้นอดยิ้มไม่ได้ เยื้อนแย้มว่า ไปแก่ษีดา
เจ้าผู้จำเริญสิริภาพ ปลาบปลื้มเยาวยอดเสน่หา
เจ้าเป็นเอกอรรคกัญญา หน่อนามกษัตราบุรีใด
ทำไมจึ่งมาอยู่นี่ สุริวงศ์พงศ์พีร์อยู่ไหน
ลูกผัวเจ้ามีหรือไม่ บอกไปให้แจ้งบัดนี้
บางตอนก็ทรงสอดแทรกอารมณ์ตลกไว้เป็นอย่างดี เช่น ตอนทศกัณฐ์สนทนากับนางมณโฑ มเหสี ถึงเรื่องเผารูปเทวดา ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้
ฝ่ายพี่จะปั้นรูปเทวา บูชาเสียให้มันม้วยไหม้
ครั้นถ้วนคำรบสามวันไซร้ เทวัญจะบรรลัยด้วยฤทธา
ไม่ยากลำบากที่จะปราบ ราบรื่นมิพักไปเข่นฆ่า
พี่ไม่ให้ม้วยแต่นางฟ้า จะพามาไว้ในธานี
เท่าที่กล่าวมานี้ เป็นข้อคิดแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีข้อความที่น่าศึกษา น่าสรรเสริญ ในพระราชวิริยะอุตสาหะที่ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้ขึ้นมาท่ามกลางความสับสนวุ่นวายจากการศึกสงคราม ความไม่เป็นปรกติสุขของบ้านเมืองนานาประการบีบรัดอยู่รอบด้าน แต่กระนั้นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ยังทรงคุณค่าในทางวรรณคดีอย่างน่าพิศวง
คุณธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้สันทัดในการนาฎศิลป์การละคร ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ไว้เป็นอย่างดีในบทความเรื่อง “ เล่าเรื่องรามเกียรติ์ ” ที่ท่านได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 มีความสำคัญอยู่ตอนหนึ่งดังนี้
“ รวมความว่า ถ้อยคำสำนวนกลอน และโวหารการประพันธ์ ตลอดจนบทบาทของตัวละครที่ทรงบรรยายถึงในท้องเรื่องรามเกียรติ์ความนี้ ย่อมเป็นเสมือนกระจกเงาอันแจ่มใส ฉายให้เห็นถึงพระราชอัธยาศัย และพระอารมณ์ของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ ว่าน่าจะทรงมีพระนิสัยเปิดเผย ตรงไปตรงมา ชอบรวดเร็ว ฉับไว ดังจะเห็นได้แม้จากการบรรจุหน้าพาทย์ ทรงกล้าได้กล้าเสีย ห้าวหาญเด็ดเดี่ยวยอมเสี่ยงภัยได้อย่างพระทัยเย็นแม้ในคราวคับขัน และในขณะเดียวกันก็ยังทรงสร้างอารมณ์ให้สนุกสนานประกอบกันไปกับการงานที่เอาจริงเอาจัง ทั้งแสดงถึงพระนิสัยที่ทรงพอพระทัยในการตรองตรึกนึกถึงอรรถธรรมในภูมิธรรมอันสูง ไม่ทรงยอมที่จะพอพระทัยอยู่แต่ในขั้นต่ำคือถ้าได้ ก็ต้องได้หมด หรือค่อนข้างมาก ถ้าเห็นไม่ได้ ก็ไม่เอาเสียเลยทีเดียว ดีกว่าจะพอพระทัยอยู่เพียงนิดหน่อย หรือครึ่งๆ กลางๆ
ดังจะเห็นได้แม้จากรูปของกลอน และความยาวสั้นของบท น่าคิดว่าช่างทรงมีพระนิสัยเหมาะแก่ลักษณะของผู้นำในเวลานั้นเสียจริงๆ …ฯลฯ… ”
จากบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บทละคร เท่าที่ได้กล่าวมาในตอนนี้ย่อมเป็นพยานหลักฐานได้เป็นอย่างดี ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น นอกจากจะทรงเป็นนักรบที่ชาญฉกาจแล้ว ยังทรงเป็นนักปราชญ์ราชกวี ที่ทรงพระปรีชาสามารถพอพระองค์ อีกโสดหนึ่งด้วย (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 76-80 ; สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 24-26)
คุณค่า
1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ใช้คำง่ายแก่การเข้าใจ กระบวนกลอนใช้ถ้อยคำรวบรัด ตรงไปตรงมา มีลีลารวดเร็ว จริงจัง ฟังดูไม่นุ่มนวลเท่าไรนัก แต่ถ้าเป็นบทรักก็ใช้คำอ่อนโยน
2. คุณค่าทางศาสนาและศีลธรรม ได้ให้แง่มุมคำสั่งสอนที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น สอนให้เห็นคุณค่าของการออกบวช การประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้มรรคผล (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 8)
13.4.3 นายสวน มหาดเล็ก แต่งโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยใช้โคลงชนิดใด และมีความยาวเท่าใด ? และแต่งเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร ?
นายสวน มหาดเล็ก เป็นข้าราชสำนักผู้หนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี ไม่สามารถสืบทราบประวัติความเป็นมาได้ หากพิจารณาเนื้อเรื่องในงานวรรณกรรม “ โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ” แสดงว่าเป็นผู้รับราชการใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่ก่อนสถาปนาพระนครและได้ทราบเหตุการณ์สำคัญอย่างละเอียด ทราบพระจริยาวัตรและเข้าใจพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างดี ท่านผู้นี้ได้สร้างผลงานทางด้านวรรณกรรมอันล้ำค่าชิ้นหนึ่งไว้เป็นอนุสรณ์ คือ “ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ” ซึ่งได้ประพันธ์ไว้เป็น โคลงสี่สุภาพ ล้วนมีอยู่ทั้งหมดด้วยกัน 85 บท ใจความของโคลงทุกบทแสดงว่าผู้แต่งประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และเปี่ยมล้นด้วยความจงรักภักดี
คำโคลงชุดนี้ได้รับยกย่องว่าเป็นบทโคลงที่ไพเราะมากเรื่องหนึ่ง สมกับที่เป็นบทโคลงยอพระเกียรติ แต่งสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดิน ประโยชน์จากการอ่านบทโคลงเรื่องนี้ นอกจากจะได้รับความ เพลิดเพลิน ทางวรรณคดีแล้ว ยังได้ ความรู้ และ สารัตถะ ในทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกสารที่ช่วยในการสอบสวนเรื่องราวความเป็นไปในสมัยกรุงธนบุรีตอนต้นได้เป็นอย่างดี นายสวนเขียนชมกรุงธนบุรีว่า
ดูดุจเทพแท้ นฤมิต
ฤาวิษณุกรรมปลิด จากฟ้า
ถ่อมถวายมอบสิทธิ์ ทรงเดช
เลอวิไลงามหล้า เลิศล้ำบุญสนอง
นายสวน มหาดเล็ก ได้แต่งโคลงยอพระเกียรตินี้เมื่อปี พ.ศ. 2314 อันเป็นปีที่ 4 ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อยู่ในช่วงระยะเวลาที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพิ่งทรงรวบรวมอาณาจักรไทยได้สำเร็จใหม่ๆ และกำลังเตรียมการที่จะแผ่แสนยานุภาพขยายพระราชอาณาเขตออกไป เพื่อรวบรวมบรรดาประเทศราชต่างๆที่เคยขึ้นต่อประเทศไทยเรามาในกาลก่อน ให้กลับมาขึ้นต่อกรุงธนบุรีต่อไปตามเดิม
เนื้อเรื่อง กล่าวถึง การก่อตั้งกรุงธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นที่รกร้าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาขึ้นจนเป็นเมืองที่สมบูรณ์ มี พระราชวัง ประกอบด้วยอาคารต่างๆ เช่น พระคลังแสง โรงช้าง ที่ตัดสินความ โรงพระโอสถ ศาลาเข้าเฝ้าและป้อมค่าย เกี่ยวกับบุคคล ได้กล่าวถึงพระมเหสีฝ่ายขวาและซ้ายที่ทรงพระสิริโฉม มี มุขมนตรี ที่ปรีชาสามารถทั้งฝ่ายกลาโหม สมุหนายก จตุสดมภ์ เหล่าอาสา ตำรวจ และมหาดเล็ก ในพระราชวังมี การขับร้องบรรเลงดนตรีและฟ้อนรำ นอกจากนั้นยังกล่าวถึง ช้างเผือกและม้าดี ด้วย การ ปราบปรามชุมนุมต่างๆ สำเร็จด้วยพระปรีชาสามารถทำให้มีเมืองต่างๆ ในพระบารมีถึง 104 หัวเมือง
นายสวน มหาดเล็กได้เริ่มต้นโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยการบอกชื่อเสียง เรียงนาม และวันเดือน ปีที่เริ่มลงมือแต่งไว้ ดังนี้
นายสวน มหาดเล็กเจ้า จอมกษัตริย์
แถลงเรื่องราชศรีสวัสดิ์ กราบเกล้า
ถวายต่างบุษปรัตน์ มาลย์มาศ
ภุมวารเดือนเก้า สิบขึ้นเถาะตรี
วันที่เริ่มลงมือแต่งวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ ก็คือวันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 10 ค่ำ ปีเถาะ จุลศักราช 1133 ตรีศก ตรงกับ พ.ศ. 2314 อันเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะได้เสด็จพระราชดำเนิน ออกไปปราบเมืองพุทไธมาศและประเทศเขมร(กัมพูชา) เป็นเวลา 2 เดือน
จากนั้น เป็นการกล่าวถวายคารวะเฉลิมพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ด้วยถ้อยคำที่สรรหามาได้อย่างไพเราะและเหมาะสมยิ่ง
บังคมบทรัชไท้ ทรงทศ ธรรมนา
พระปิ่นอยุธยายศ ยอดฟ้า
ขอแถลงนิพนธ์พจน์ เฉลิมบาท พระเอย
ไว้พระเกียรติท่วมหล้า โลกเหลื้องลือบุญ
บุญพระภูวนาถเจ้า จักรพาฬ
ทรงฤทธิเดโชชาญ เชี่ยวพ้น
พระสติวิทยาญาณ ขยันยอด ชนแฮ
ทรงสมาธิปัญญาล้น แหล่งหล้าหรือเสมอ
หากสังเกตบทหลังจะพบว่ากวีผู้นี้สรรเสริญการปฏิบัติธรรม ของพระองค์ท่านมาก “ ทรงสมาธิปัญญาล้น แหล่งหล้าหรือเสมอ ”
ในบทที่ 5-7 กล่าวถึงการเสด็จยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามากู้ชาติไว้ ดังนี้
พระตรีญาณประเวศด้วย นรชน
เห็นทุกข์เมทนีดล แด่ขว้ำ
ยลสาสน์พระพุทธพล โรยร่อย ไปนา
หวังช่วยเชิดชูปล้ำ ปลุกให้คงเกษม
จึงยกพยุหยาตรข้าม กันดาร ชเลนา
จรจากจันทบูรสถาน ท่านไท้
สถิตธน นครินราญ อริราช
หวังสาสน์สมบูรณ์ให้ เทพซร้องสดุดี
ฝูงทวยราษฏรทั้ง พสุธา
มาพึ่งบารมี มา มากพร้อม
ภักดีอยู่ถนอมบา ทุการาช
บาทพระเป็นมกุฎย้อม โลกให้คืนเกษม
ตอนตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
จึ่งแต่งฐานที่ตั้ง ภูมิไชย
ให้สถิตถาวรไป ตราบเท้า
กัลปาวสานใน ธรณิต
ธนบุรินปิ่นเกล้า ตริสร้างเวียงสถาน
เมืองเก่าดูระดะด้วย ระนามวัน
พงพ่านผักโหมหัน แหกขึ้น
กอบกองอศุภสรรพ์ เนียรชีพ
ครั้นพระมาสถิตฟื้น กลับแผ้วผ่องไสว
ในโคลงชุดนี้บทที่ 33 ก็กล่าวเฉลิมพระเกียรติไว้ได้อย่างไพเราะเหมาะสมมาก
พระเดชานุภาพพ้น พงศ์กษัตริย์
ควรแก่เศวตฉัตรรัตน์ เรื่อฟ้า
เป็นหลักโลกุดมดัด ใจโลก
ด้วยบุรพาบารมีกล้า กว่ากล้ากลับแข็ง
โคลงบทที่ 47-51 กล่าวถึงการปูนบำเหน็จเชื้อพระวงศ์ และทหารเอกคู่พระทัย โดยทรงมอบหมายให้เป็นเจ้าเมืองต่างๆ ภายหลังที่การปราบชุมนุมต่างๆ ได้เสร็จสิ้นลง โดยมีชุมนุมเจ้าพระฝางเป็นชุมนุมสุดท้าย ในปี พ.ศ.2313
ความตอนนี้นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สำหรับสอบสวนเหตุการณ์ในรัชสมัยได้เป็นอย่างดีตอนหนึ่ง
ทหารเอกพระมอบหมั้น เมืองเอก
ตามที่ตรี โท เษก ส่งให้
ขนานนามย่อมดิเรก ดำแหน่ง มีนา
ทั้งราชนิกูลไท้ เษกสร้างตามขบวร
เจ้านรานเรศร์เรื้อง รวิวงศ์
ทรงพระกรุณาปลง โปรดให้
ครองปาตลิบุตรทรง ธรณิศ
ต่างพระฤทัยไท้ ท่านตั้งตามสถาน
เจ้าพระยาอนุชิตเชื้อ อาษา
ครองพิษณุโลกา เพริศแพร้ว
เจ้าพระยาพิชัยรา- ชาชื่อ ฦาแฮ
ครองสวรรคโลกแผ้ว ผ่องน้ำใจถวิล
เจ้าพระยาอนุรักษ์เรื้อง ณรงค์รุทร์
ครองนครสวรรค์ผุด ผาดแผ้ว
ฤทธิ์จะประมาณสุด คำร่ำ ถึงฤา
เจ้าพระยาสรรค์ทะแกล้ว โปรดให้เมืองสรรค์
บำเหน็จดำแหน่งน้อย พอประมาณ ก็ดี
พระโปรดประทานสถาน ที่ได้
เป็นพระยาพระหลวงหาญ ในนอก
เมืองเอก โท ตรี ให้ ครอบเลี้ยงประชาชน
“ เจ้านรานเรศร์เรื้อง รวิวงศ์ ” ในที่นี้ ก็คือ เจ้านราสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอ ผู้ได้รับมอบให้ครอบครองเมืองนครศรีธรรมราช (ในโคลงชุดนี้ออกชื่อว่า “ เมืองปาตลิบุตร ” โดยตลอด) อยู่ในขณะนั้น
“ เจ้าพระยาอนุชิตเชื้อ อาษา ” ก็คือ เจ้าพระยาอนุชิตอาษา ซึ่งในพระราชพงศาวดารออกนามว่าพระยาอนุชิตราชาได้เป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก เมืองเอกในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ต่อมาก็คือสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในสมัยรัชกาลที่ 1
เจ้าพระยาพิชัยราชา ทหารเอกอีกคนหนึ่ง ได้เป็นเจ้าพระยาสวรรคโลก ครองเมืองสวรรคโลก (ท่านเป็นคนละคนกับ “ หลวงพิชัยอาสา ” หรือ “ พระยาพิชัยดาบหัก ” ต้นสกุล “ วิชัยขัทคะ ” ซึ่งขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “ พระยาสีหราชเดโช ” แล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิชัย-ครองเมืองพิชัย ในคราวเดียวกัน)
“ เจ้าพระยาอนุรักษ์ฯ ” ก็คือ เจ้าพระยาอนุรักษ์ภูธร ซึ่งได้ครองเมืองนครสวรรค์ จึงมีชื่อเรียกกันต่อมาอีกอย่างหนึ่งว่า “ เจ้าพระยานครสวรรค์ ” เป็นนายทหารเอกคู่พระทัย ที่มีน้ำใจห้าวหาญในการศึกสงครามเป็นที่โปรดปราน มาก่อนเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
เจ้าพระยาสรรค์ (กล่าวกันว่าท่านเป็นบรรพบุรุษของสกุล แพ่งสภา ) ได้ครองเมืองสรรคบุรี
อีกตอนหนึ่ง กล่าวถึงเมืองขึ้นต่างๆ ในสมัยกรุงธนบุรีตอนต้น (ในปี 2313) ว่ามีอยู่ทั้งหมดด้วยกัน 104 เมือง และกล่าวถึงการยอมอ่อนน้อมของประเทศราชบางเมืองเข้าไว้ด้วย เช่นเมืองตานี (ปัตตานี) กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์-ประเทศลาว) นับเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกตอนหนึ่ง
ประมวญนัคเรศแคว้น อยุธยา
หนใต้ฝ่ายเหนือมา ท่วนทั้ง
ร้อยสี่บุรีสถา- พรทั่ว สถานแฮ
พระมอบมาตย์ไปตั้ง แต่งไว้เป็นเฉลิม
นานาประเทศขึ้น ยังหลาย
เป็นที่ทูลทางถวาย ดอกไม้
หิรัญรัตน์ทองพราย สรรพส่ง มานา
ทั้งพระยาไทรไซร้ มอบเกล้าสดุดี
ตานีนัคเรศเจ้า นครา
ส่งสุวรรณบุษป์มา กราบเกล้า
น้อมถวายปิ่นอยุธยา ภูวนาถ
กลัวรักภักดีเข้า สู่เงื้อมบทมูล
กรุงศรีสัตนาคเจ้า กรุงกษัตริย์
ทรงพระสุพรรณบัตร บอกร้อน
ถ่อมถวายบุษปรัต- นามาศ มานา
มาพึ่งบารมีต้อน ตัดร้ายรอนเข็ญ
ท้าวทั่วนัคเรศน้อม ผะนมกร
ส่งสุวรรณมาลย์จร จรดเกล้า
มาถวายบทบวร วรราช
ถ้วนอัษฎาทิศเข้า นอบน้อมสดุดี
ในบทที่ 57-58 ได้กล่าวเป็นเชิงสดุดีพระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นที่ชวนให้ซาบซึ้งตรึงใจยิ่งนัก เมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ตอนที่ทรงซื้อเสื้อผ้าอาหาร แจกเป็นทานแก่ไพร่ฟ้าประชาชนคนโซ ซึ่งมีอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองในเวลานั้น
พระเดียวบุญลาภเลี้ยง ประชากร
เป็นบิตุรมารดร ทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอน สั่งโลก
เป็นศักดิ์ศุภผลอ้า โอบให้เป็นคุณ
เป็นที่พำนักถ้วน นรชน
เป็นที่กรุณาคน ยากไร้
เป็นที่ส่งสัตว์ดล เมืองโมกข์
เป็นทรัพย์ปจุบันให้ ทั่วหน้าเนืองเขษม
คำถวายพระพรตอนท้ายของโคลงเฉลิมพระเกียรติชุดนี้ ก็กล่าวไว้ในสิ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อย่างที่ไม่ซ้ำกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ดังตัวอย่าง 2 บทนี้
ขอพรพระพุทธเรื้อง สัพพัญญู
ให้เดชเดชาชู ปิ่นเกล้า
ตราบเสร็จโพธิญาณตรู ตราโลก
ดับเด็จปัญจขันธ์เข้า สู่ห้องนฤพาน
ขอพระธรรมเจ้าช่วย ผะชุมธรรม์
แปดหมื่นสี่ธรรมขันธ์ ช่องชี้
พระไตรปิฎกพลัน สิงสู่ พระนา
ให้พระปัญญานี้ ตรัสรู้ถ่องถวิล
ก่อนที่จะจบสิ้นครบถ้วนกระบวนความ นายสวน มหาดเล็กกวีคู่พระบารมีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้แสดงเจตนารมณ์ในการพากเพียรประพันธ์คำโคลงชุดนี้ไว้ในบทที่ 84 (โคลงชุดนี้มี 85 บทด้วยกัน) ดังนี้
หวังให้กุลบุตรเบื้อง อนาคต
ปรากฏเกียรติศักดิ์ยศ ปิ่นเกล้า
ไป่ยลแต่สดับพจน์ ราวเรื่อง สนองนา
ก็จะสาธุการเช้า ค่ำชี้ชมผล
โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ของนายสวน มหาดเล็ก จึงนับว่าเป็นวรรณกรรมล้ำค่าชิ้นหนึ่งในสมัยกรุงธนบุรี (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 80-82)
ลักษณะทั่วไปของโคลงเฉลิมพระเกียรติ
1. ใช้คำพื้นๆ ที่เข้าใจง่าย ได้ความหมายชัดเจน แต่มีคำที่ใช้ติดปากซ้ำๆ อยู่หลายแห่งนับเป็นข้อบกพร่องส่วนหนึ่ง
2. พยายามเลือกใช้คำตามลักษณะการแต่งโคลงที่ดี เช่น การสัมผัสอักษรทั้งในวรรค และข้ามวรรค
3. บรรยายละเอียดและลำดับความดีมาก โดยเฉพาะตอนที่กล่าวถึงอาคารสถานที่ ตัวอย่างโคลงต่อไปนี้ กล่าวถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าเป็นที่อบอุ่นและซาบซึ้งใจของพสกนิกรอย่างยิ่ง
พระเดียวบุญลาภเลี้ยง ประชากร
เป็นบิตุรมารดร ทั่วหล้า
เป็นเจ้าและครูสอน สั่งโลก
เป็นศักดิ์ศุภผลอ้า โอบให้เป็นคุณ
เป็นที่พำนักถ้วน นรชน
เป็นที่กรุณาคน ยากไร้
เป็นที่ส่งสัตว์ดล เมืองโมกข์
เป็นทรัพย์ปจุบันให้ ทั่วหน้าเนืองเขษม
(สมพันธุ์ เลขะพันธุ์, 2530 : 27)
คุณค่า
1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ใช้ศัพท์ง่ายทำให้อ่านแล้วเข้าใจ บรรยายความได้ละเอียดลออดีมาก เป็นวรรณกรรมที่ดีเรื่องหนึ่ง มีสำนวนเรียบง่าย
2. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ถูกต้องละเอียดลออในสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์ช่วงนั้นได้ชัดเจนขึ้น และช่วยให้ทราบสถานที่ต่าง ๆ ในสมัยกรุงธนบุรี (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 55)
13.4.4 หลวงสรวิชิต (หน) แต่งร้อยแก้วร้อยกรองอะไรบ้าง และวรรณกรรมชิ้นใดแต่งในสมัยกรุงธนบุรี ?
หลวงสรวิชิต (หน) เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฤาชัย (บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ บรรพบุรุษเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รับราชการมีชื่อเสียงมาแต่สมัยอยุธยา ผู้นี้ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นรัตนกวีที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของเมืองไทยในยุคต้นแห่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่าในสมัยกรุงธนบุรีนั้น ท่านเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี มีบทบาทสำคัญในการปราบจรา-จลสมัยปลายกรุงธนบุรี ตามพงศาวดารพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการรักษาพระนครไว้รอจนกว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากไปตีเขมร หลวงสรวิชิต (หน) ออกไปรับทัพ ณ ทุ่งแสนแสบ รายงานข้อราชการต่างๆ แล้วเชิญกลับเข้ามายังพระนคร นับเป็นความชอบพิเศษ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้เป็นที่พระยาพิพัฒนโกษา และเจ้าพระยาพระคลังในที่สุด ท่านเป็นบรรพบุรุษต้นสกุลบุญ – หลง ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.2348 (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์, 2530 : 30-31 )
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความสามารถทางการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เป็นกวีที่แต่งกลอนได้ลักษณะสง่างามและรสไพเราะจับใจยิ่งนัก ผลงานวรรณกรรมมีทั้งหมด 11 เรื่อง คือ
1. ลิลิตศรีวิชัยชาดก
2. ลิลิตเพชรมงกุฎ
3. ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
4. อิเหนาคำฉันท์
5. ร่าวยาวมหาชาติ กัณฑ์กุมารและมัทรี
6. บทมโหรีกากี
7. เป็นผู้อำนวยการแปลหนังสือสามก๊ก
8. แต่งเรื่องราชาธิราช ร่วมกับกวีอื่นอีก 3 ท่าน
9. กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาทองที่วัดราชคฤห์
10. สมบัติอมรินทร์คำกลอน
11. สุภาษิตและเพลงยาวเบ็ดเตล็ด
ผลงานในทางด้านวรรณคดี ที่ท่านผู้นี้ได้สร้างขึ้นไว้ในสมัยกรุงธนบุรี คือ
1. ลิลิตเพชรมงกุฎ แต่งระหว่าง พ.ศ. 2310-2322 เพื่อถวายพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
2. อิเหนาคำฉันท์ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2322 เป็นปีที่ 12 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
1. ลิลิตเพชรมงกุฎ แต่งเป็นลิลิตสุภาพ คือ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ และ โคลงสี่สุภาพ เนื้อเรื่องเป็นนิทานที่เวตาลเล่าถวายพระวิกรมาทิตย์ (เรื่องเวตาลปัญจวีสติ ของศิวทาส ชาวอินเดีย เป็นนิทานสันสกฤต)
เนื้อหาสาระ ท้าววิกรมาทิตย์เสด็จพระพาสป่า จับตัวเวตาลมาเป็นพาหนะ เวตาลขอเล่านิทานถวายโดยมีข้อตกลงว่า ท้าววิกรมาทิตย์ตอบปัญหาได้จะยอมเป็นข้าตลอดไป หากตอบไม่ได้จะขอเศียรท้าววิกรมาทิตย์ เวตาลจึงเล่านิทานถวายท่านท้าววิกรมาทิตย์
โดยเริ่มจากพระเพชรมงกุฎทูลลาพระบิดาไปล่าสัตว์กับพี่เลี้ยงแล้วเกิดหลงทางกันขึ้นมา จนถึงเมืองกรรณ ได้พบพระธิดาเมืองกรรณและเกิดความพึงใจต่อกัน พี่เลี้ยงจึงออกอุบายให้พระธิดาเมืองกรรณเป็นชายาของพระเพชรมงกุฎ พระธิดาเกิดความกลัวว่าพี่เลี้ยงจะชวนพระเพชรมงกุฎกลับเมือง จึงวางยาพิษหมายจะฆ่าพี่เลี้ยงให้ตาย แต่พี่เลี้ยงฉลาดกว่า จึงหาทางพาพระเพชรมงกุฎกลับเมืองจนได้
ต่อมาพี่เลี้ยงได้แนะนำให้พระเพชรมงกุฎนำพระธิดากลับมาด้วย โดยทำกลอุบายให้พระเจ้ากรุงกรรณเข้าพระทัยผิด ขับไล่พระธิดาออกจากเมือง พระเพชรมงกุฎจึงรับนางไปที่เมืองตน และทำหนังสือมาขอทำไมตรี พระเจ้ากรุงกรรณทรงทราบว่าถูกกลอุบายจึงตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์ เวตาลแกล้งถามท้าววิกรมาทิตย์ว่า ความผิดควรตกอยู่ที่ผู้ใด ท้าววิกรมาทิตย์เผลอตอบไปว่า ความผิดอยู่ที่เจ้ากรุงกรรณ เวตาลจึงได้โอกาสที่ท้าววิกรมาทิตย์ผิดสัญญาว่าจะไม่ตรัสอะไรตลอดทาง ลอยกลับไปอยู่ที่ป่าเหมือนเดิม แต่ในที่สุดเวตาลต้องยอมเป็นข้ารับใช้พระวิกรมาทิตย์ต่อไป (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 56-57)
ตัวอย่างบทชมเนื้อ
ภูธรเสด็จประพาส หมู่จัตุบาทนานา นำนิกรคลาไต่เต้า ออกจากเหล่าแหล่งตน กลาดพน สณฑ์คล้อเคียง เลี้ยวเล็มเกลียงกลางแปลง บ้างเริงแรงโผนผยอง กาสรลองลับเขา ละมั่งเมาเมียงคู่ หมีเม่นหมูปนแปม ลูกน้อยแนมแนบข้าง ช้างน้าวบงช้างแซม ลูกน้อยแกมเล่นลองเชิง โคถึกเถลิงกวางทราย เลียงผาผายเผ่นผา ขลาฟุบแฝงคอยโค แรดร้ายโมห์เคี้ยวหนาม ต่ายเต้นตามหมู่หมาย สัตว์หลากหลายเหลือตรา ต่างคณาเหลือไกร ชมมฤคในป่ากว้าง เพลินหฤทัยเจ้าช้างชื่นแท้โดยจงฯ
ปางเพชรมงกุฎไท้ ทอดตา
ยลมฤคหนึ่งอาภา เผือกผู้
สีสังข์เศวตมุกดา งามแง่
หมู่มฤคร้ายรอบรู้ ยศเบื้องบริวารฯ
พี่เลี้ยงทูลเพชรมงกุฎให้ระงับราคะ
พระเอยยามยากกลั้น กระหาย
เสพย์สิ่งใดอย่าหมาย อิ่มท้อง
รสใดจะหลงหลาย ดุจรส ราคนา
พ่ออย่าหลงเลศต้อง วุ่นว้ายภายหลัง
คุณค่า
1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ลิลิตเพชรมงกุฎเป็นวรรณกรรมที่มีอายุยาวนานถึงสองร้อยกว่าปี เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความงดงามไม่น้อย ใช้ถ้อยคำสำนวนนิ่มนวลเรียบง่าย มีท่วงทำนองคล้ายลิลิตพระลอ แต่ก็มีลักษณะเป็นของตนเองด้วย
2. คุณค่าทางคติธรรมคำสอน ได้แสดงให้เห็นความรักระหว่างพ่อแม่ลูกที่มีต่อกัน ซึ่งแสดงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวตามแบบอย่างไทย ๆ ได้เป็นอย่างดี ( อุทัย ไชยานนท์ , 2545:61)
2. อิเหนาคำฉันท์ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2322 โดยเนื้อเรื่องแต่งตามความของละครเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ามงกุฎ (สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย) ลักษณะคำประพันธ์แต่งเป็นฉันท์ปนกาพย์ เริ่มเรื่องตั้งแต่อิเหนาวางอุบายลอบเผาเมืองดาหา แล้วแย่งตัวบุษบาไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำ จรกาติดตามไปพบอิเหนา อิเหนาแกล้งกลบเกลื่อนจนจรกาหลงเชื่อว่าอิเหนามิได้ลักพาไป
เข้าใจว่าเจ้าพระยาคลัง (หน) แต่งเรื่องนี้โดยไม่มีความมุ่งหมายใดเป็นพิเศษ นอกจากแต่งตามวิสัยของกวีที่พอใจจะแสดงออกทางอารมณ์ และคงต้องการแสดงฝีปากทางฉันท์ด้วย ผลงานของท่านเท่าที่ปรากฏอยู่ มีแต่เรื่องนี้เท่านั้นที่แต่งเป็นฉันท์
ลักษณะทั่วไปของอิเหนาคำฉันท์
1. คำฉันท์มีลักษณะเป็นสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อย่างชัดเจนเทียบได้กับสำนวนกลอนของท่าน คือสัมผัสอักษรแพรวพราวอยู่ทั่วไป เช่น
“ สอดชงฆสอดชา ณ สองกรสอดกร
สองโอษฐเอมอร ตฤบรสรสาสรรพ์
พร่างพักตรพรายเนตร บยลเดือนตะวันจันทร์
พยุโพยมครร ชิตวิชุลดาพราย ”
บางแห่งซ้ำคำคล้ายกลบท แปลกกว่าที่อื่น เช่น
“ แช่มชื่นชื่นชีว์ รู้รสรสดี เสน่ห์เสน่ห์หา ใหลหลงหลงกาม กลพรรษ์หรรษ์สา หัสลืมลืมธา นีราชราชฐาน ”
2. บทจรกาครวญถึงบุษบา กล่าวชมความงามแทบทุกส่วนของร่างกายเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ตามคติของกวีสมัยก่อนอย่างครบครัน ตั้งแต่หน้า คิ้ว ผม ตา หู แก้ม ปาก คอ แขน ไปจนถึงทรวงอก นับว่าได้รักษาธรรมเนียมนิยมและความคิดเชิงเปรียบเทียบแบบเก่าไว้อย่างสมบูรณ์
3. กวีมีความรู้ทางฉันทลักษณ์และใช้ศัพท์ถูกต้อง
ตัวอย่างสำนวนโวหารบางตอน
อิเหนาปลอบบุษบาในถ้ำ
แม้จักนิวัตวรนิเวศน์ ทิศนี้ณะรัฐยา
ตัวพี่ก็จักจรทุรา อรัญเวศจวบวาย
อ้าแม่อย่าแหนงมนัสพี่ ว่าจะเมื้อหมันหยาหมาย
ใจเรียม บ สูญสัจจะมลาย ชีวม้วยวนาดอน
พระชี้ชมวิหคา จับพฤกษารายเรียง หงส์จับเหียงอยู่เหินห่าง
ยูงไต่ยางสุดยอด กะต้อพลอดกิ่งพลับ จิงโจ้จับจิกแจง
ไก่ฟ้าแฝงพุ่มแฟบ รังนานแนบขานาง ฝูงนกลางจับเลียบ
เค้าโมงเซียบซองแมว ฝูงนกแก้วจับเกด มุโนเรศจับรัง
ขุนแผนพังจับฝาก ดอกบัวบากหารัง กะกรุมตรังบ้างบินร่อน
ดุเหว่าว่อนกินหว้า คณาคล้าจับคลาย ขมิ้นหมายกระทุ่มหมู่
นกเค้าคูคาบแค ซังแซวแซ่จับซาก จากพรากไต่พฤกษ์
หัวขวานตึกเจาะจวิด… (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 22-23)
คุณค่า
1. ทางสำนวนโวหาร มีความไพเราะคมคาย ลึกซึ้งกินใจ มีสัมผัสอักษร คุณค่าทางวรรณคดี เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความนิยมยกย่อง เรื่องอิเหนาที่สืบเนื่องมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
2. ทางด้านสังคม แสดงให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยโดยทั่วไป (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 52)
13.4.5 นิราศเมืองกวางตุ้งมีคุณค่าทางด้านใด ?
พระยามหานุภาพ เป็นผู้แต่งนิราศเรื่องนี้ แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับประวัติของกวีผู้นี้ สันนิษฐานกันว่าเป็นหัวหน้าคณะทูต ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปเจริญสัมพันธไมตรียังประเทศจีน พ.ศ. 2324 ในแผ่นดินพระเจ้าเคี่ยนหลง ณ กรุงปักกิ่ง พระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงนเรนทร์รณเรศ (ทองจีน) ในครั้งนั้นดำรงพระยศเป็นหลวงฤทธินายเวรมหาดเล็ก เป็นอุปทูต ร่วมเดินทางไปด้วย
การเดินทางไปเมืองจีนครั้งนั้น เป็นช่วงเวลาใกล้สิ้นรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี บ้านเมืองกำลังมีเหตุการณ์ไม่สงบ ผลงานทางการทูตจึงไม่เป็นที่สนใจของคนทั่วไป และพงศาวดารก็มิได้กล่าวถึงผลงานครั้งนั้นไว้อย่างชัดเจน
กวีผู้นี้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยามหานุภาพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีผลงานกลอนชื่อ “ เพลงยาวว่าความ ” แต่งร่วมกับกวีอื่นในรัชกาลที่ 1 คือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จมื่นไวยวรนาถและหลวงทรงพล (เพลงยาวเรื่องนี้มีรวมอยู่ในหนังสือประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)
นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน
หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า นิราศเมืองกวางตุ้ง เป็นกลอนนิราศที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นจดหมายเหตุฉบับเดียวที่ปรากฏรายการ เรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงแต่งราชทูต ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ กรุงปักกิ่ง นับเป็น วรรณกรรมล้ำค่า ที่ให้อรรถรสทางกวีนิพนธ์ ประเภทกลอน คือ เป็นกวีนิพนธ์เรื่องแรกที่กวีพรรณา สถานที่การเดินทางทางทะเลจากประสบการณ์ของตนเอง เป็นเอกสารที่มีความสำคัญทั้ง ทางวรรณคดี ประวัติศาสตร์และทางการทูต มีความยาว 372 คำกลอน
ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือนิราศเรื่องนี้ เป็นนิราศเรื่องเดียว ที่แต่งเกี่ยวกับเรื่องราวการเดินทางของ คณะฑูตไทยไปเมืองจีน ในสมัยเมื่อ 200 ปีกว่ามาแล้ว เท่าที่มีเหลืออยู่ในบรรณโลกตราบจนบัดนี้
“ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ” จึงมีคุณค่าเป็นอันมาก ทางด้านที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทยในสมัยโบราณและเป็นเอกสารที่ออกจะหาอ่านได้ยากยิ่งด้วย
ความมุ่งหมายที่แต่งนิราศเรื่องนี้ น่าจะได้แก่ความต้องการที่จะบันทึกเรื่องราวประทับใจในการเดินทางทางเรือ การต้อนรับและสิ่งแปลกตาที่ได้พบเห็นในต่างแดน ทั้งต้องการเฉลิมพระเกียรติและแต่งถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วย ดังข้อความตอนต้นว่า
“ เป็นจดหมายมาถวายด้วยภักดี ตามที่ได้สดับเดิมความ ”
เนื้อหาสาระ เริ่มจากกล่าวถึง จุดมุ่งหมายในการแต่งคณะทูตไทยออกเดินทางโดยเรือสำเภา 11 ลำ มีบทชมขบวนเรือคณะทูต เครื่องบรรณาการ พระราชสาส์น ความอาลัยห่วงใยบ้านเมือง กล่าวถึงการเดินทางผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเช้า เขาสามร้อยยอด เมืองพุทไธมาส ป่าสัก เมืองญวนจนถึงมาเก๊า มีการกล่าวชมเมืองกวางตุ้ง กล่าวถึงประเพณีจีน กล่าวถึงการเดินทางกลับ ตามด้วยสดุดีพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ( อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 62)
ลักษณะทั่วไปของนิราศกวางตุ้ง
1. สำนวนกลอนใกล้เคียงสำนวนเพลงยาวมาก ทั้งยังนิยมสัมผัสอักษรอย่างกลอนสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วย
“ เสื่อมสนองโดยคลองกษัตริย์ชาติ เสื่อมราชไมตรีไม่มีสมาน
เสื่อมสวาดิขาดมาก็ช้านาน จะประมาณยี่สิบสี่ปีปลาย ”
2. การบรรยายละเอียดถี่ถ้วนมาก เช่น ตอนชมตลาด ชมหญิงเมืองกวางตุ้งและบอกวันเวลาเดินทางอย่างละเอียด
ครั้นถึงวันภุมเชษฐมาสี กาลปักษ์ดิถีสิบสามค่ำ
เมื่อโมงสองบาทเช้าพอเงาง้ำ สิบเอ็ดลำบังคมลาแล้วคลาไคล
หมายเหตุ ชื่อวันในภาษาบาลี คือ อาทิจจะ, รวิ (วันอาทิตย์) จันทะ, โสมะ (วันจันทร์) ภุมะ (วันอังคาร) พุธะ, วุธะ (วันพุธ) วิหปติ, ครูวาร (วันพฤหัสบดี) ศุกระ (วันศุกร์) โสระ (วันเสาร์)
3. คำพื้นๆ มีคำระดับภาษาปากปนอยู่มากและใช้คำซ้ำๆ กันจนสังเกตได้ชัด เช่น
“ แล้วไปสองวันครึ่งก็ถึงไศล ”
“ แล้วก็ไปสามวันถึงบรรพต ”
“ แล้วไปสองวันเล่าก็เขาขนุน ”
“ แล้วจากนั้นสองวันก็เห็นเขา ”
4. การเปรียบเทียบและวิธีพรรณนา ดำเนินตามแบบเก่าๆ สังเกตได้ว่ากวีผู้นี้ยึดถือการแต่ง “ แบบครู ” อยู่มากเช่น รำพันว่า
“ ถ้ากลางคืนก็ได้ชื่นแต่แสงจันทร์ ทิวาวันก็ได้ชมแต่รังสี ”
กล่าวถึงการเจริญวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นเชิงเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับวรรณคดีเก่าๆ ว่า
“ พระชมฌาณแทนเบญจกกุธภัณฑ์
เอาพระไตรลักษณ์ทรงเป็นมงกุฎ ก็งามสุดยอดฟ้าสุทธาสวรรค์
เอาพระศีลสุจริตในกิจธรรม์ เป็นสุวรรณเนาวรัตน์สังวาล
เอาพระวิมุติธรรม์เป็นคันฉัตร เอาพระสัจเป็นระบายอันไพศาล
ล้วนเครื่องศีลวัตรอันชัชวาล พระอุเบกขาญาณเป็นธารกร ”
5. นิราศกวางตุ้งมีรำพันถึงจากการหญิงที่รักน้อยมาก เมื่อเทียบกับนิราศเรื่องอื่นๆ แต่จะรำพันถึงพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตลอดเวลา เมื่อยามเข้าที่คับขันก็ไหว้วอนขอบารมีเป็นที่พึ่งทุกครั้งไป ในตอนท้ายพรรณนาเรื่องการประทับนั่งกรรมฐานและจบด้วยการถวายพระพร
อาจกล่าวได้ว่า นิราศกวางตุ้งแต่งดี เทียบเคียงกับนิราศคำกลอนเรื่องอื่นๆ ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากวีในสมัยกรุงธนบุรีล้วนจงรักภักดี ภูมิใจในพระปรีชาสามารถและพระบุญญาบารมีของพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก จึงปรากฏความจงรักภักดีและความภูมิใจ ดังกล่าวในงานวรรณกรรมอย่างเด่นชัด (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 28-29)
นิราศเรื่องนี้ประเดิมด้วย การถวายคารวะแด่องค์พระมหากษัตริย์เจ้าชีวิต กล่าวถึงพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในการที่จะพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ให้รุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์และสาเหตุที่จะโปรดให้ส่งคณะราชทูตออกไปยังเมืองจีน (เมืองจีนนี้ในสมัยโบราณแต่ก่อนมา ทางไทยเราเรียกกันว่า “ ราชคฤห์ ” ดังปรากฎอยู่ในนิราศเรื่องนี้แล้ว) ในคราวนั้น ดังนี้
สรวมชีพบังคมบรมนารถ
ด้วยภักดีชุลีลาบาท อภิวาทขอเบื้องพระบารมี
เป็นร่วมโพธิ์สุวรรณกั้นเกศ ไปประเทศกวางตุ้งกรุงศรี
เป็นจดหมายมาถวายด้วยภักดี ตามที่ได้สดับเดิมความ
แรกราชดำริตริตรองถวิล จะเหยียบพื้นปัถพินให้งามสนาน
จะสร้างสรรค์ดังสวรรค์ที่เรืองราม จึงจะงามมงกุฎอยุธยา
เมื่อไอศูรย์สมบูรณ์ด้วยสมบัติ กับกษัตริย์ราชคฤคฤาหา
เคยร่วมพื้นยืนแผ่นสุวรรณมา แต่นิราเสื่อมเศร้ามาเนานาน
เสื่อมสนองโดยครองกษัตริย์ชาติ เสื่อมราชไมตรีไม่มีสมาน
เสื่อมสวาทขาดมาก็ช้านาน จะประมาณยี่สิบสี่ปีปลาย
ตอนหนึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์พระราชสาส์น ลงแผ่นพระสุพรรณบัฏที่จะจัดส่งไปถวายยังพระเจ้ากรุงจีน พร้อมด้วยข้าวของเครื่องราชบรรณาการไป “ จิ้มก้อง ” เมืองจีนเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์แสดงถึงโบราณราชประเพณีเป็นอย่างดี
จึงพระบาททรงราชนิพนธ์สาร เป็นตะพานนพคุณควรสงวน
ให้เขียนสารลงลานทองทวน จัดส่วนบรรณาการละลานตา
อนึ่งนอกจิ้มก้องเป็นของถวาย ก็โปรยปรายประทานไปหนักหนา
ทั้งนายห้างขุนนางในนัครา ให้มีตราบัวแก้วสำคัญกัน

ตราบัวแก้ว เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีที่พระคลัง บังคับบัญชาต่างประเทศและกรมคลัง (ภาพจากหนังสือพระราชลัญจกร)
“ ตราบัวแก้ว ” กำกับเครื่องราชบรรณาการและของกำนัลขุนนาง นายห้างทางเมืองจีนที่ว่านี้ เป็นตราประจำกรมท่า หรือกรมพระคลังในครั้งนั้น ซึ่งทำหน้าที่ทางด้านการทูต-การค้ากับนานาประเทศ ปัจจุบันใช้เป็น ตราประจำกระทรวงต่างประเทศ
ตอนต่อไป กล่าวถึงสำเภา 11 ลำ ที่จะนำสินค้า เครื่องราชบรรณาการและคณะราชทูตออกไป พร้อมกับแจ้งวัน เวลาที่เรือเริ่มออกจากท่ากรุงธนบุรีในครั้งนั้นไว้ ดังนี้
อนึ่งนอกจิ้มก้องเป็นของถวาย รับสั่งยกให้หกนายข้าหลวงว่า
บรรทุกเสร็จทั้งสิบเอ็ดเภตรา มาทอดท่าคอยฤกษ์เรียงลำ
ครั้นถึงวันภุมเชษฐมาสี กาฬปักษ์ดิถีสิบสามค่ำ
เมื่อโมงสองบาทเช้าพอเงาง้ำ สิบเอ็ดลำบังคมลาแล้วคลาไคล
วันเวลาที่เรือของคณะทูตเริ่มออกเดินทางจากท่ากรุงธนบุรีราชธานี ก็คือวันอังคาร เดือน 7 แรม 13 ค่ำ ปีฉลู ตรีศก จุลศักราช 1143 ตรงกับ พ.ศ. 2324 แม้นิราศเรื่องนี้ จะมีแต่เรื่องการทูตไปเมืองจีนในครั้งนั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีอยู่หลายตอนที่สอดแทรกอารมณ์กวีตามประเพณีการแต่งนิราศ ที่จำต้องคลาดคลาจากคนรัก
ครั้นเรือล่องคล้อยคลองตลาดเลี้ยว ตลึงเหลียวแล้วชลนัยน์ไหล
จะจากเรือนจากเพื่อนภิรมย์ไกล ดังสายใจนี้จะขาดจากอาตมา
โอ้ความปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ ตั้งแต่จะนับวันคอยหา
จะนับเดือนเคลื่อนสังวัจฉรา จะก้มหน้านั่งช้ำระกำไป
ชะรอยพรากเนื้อนกวิหคขัง บำราศรังริบลูกเขาเป็นไฉน
มาตามทันบั่นร้างไว้กลางใจ ให้จำไกลจากราชธานี
บางตอนกล่าวถึงเรือต้องเผชิญวาตะภัยอันยิ่งใหญ่น่ากลัว ต้องอัญเชิญพระบารมีขององค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มาปกเกล้าฯ คุ้มครอง ซึ่งกลอนตอนนี้เขียนได้ดีมาก เฉพาะอย่างยิ่งที่สดุดีถึงการที่พระองค์ท่านปฏิบัติธรรมนั่งกรรมฐาน เพื่อบรรลุโพธิญาณ
สุดคิดจึงอุทิศถึงพระบาท แล้วยอกรอภิวาทเหนือเกศี
ขอเดชะตบะบุญพระบารมี จะแทนที่วรพุทธโพธิญาณ
กับอนึ่งซึ่งพระองค์ได้ทรงศีล อันผ่อนภิญโญยอดพระกรรมฐาน
มาช่วยป้องลมขัดอย่าพัดตราน ขอบันดาลลมส่งให้ตรงไป
อนึ่งเขาในชลามัจฉาชาติ ทั้งปีศาจพวกพรายอย่ากรายใกล้
ให้ปลอดเหตุสารพัดกำจัดภัย จำเริญชัยชมชื่นจนคืนมา
ครั้นสิ้นคำบรรยายพระพายพัด พอคำสัตย์ส่งท้ายก็ย้ายหา
ให้เห็นเหตุในพระเดชเดชา ก็แล่นไปได้ทวาทสวัน ฯลฯ
ประเพณีไหว้ผีน้ำ ตลอดจนเจ้าเขา-เจ้าทะเล ฯลฯ เพื่อสวัสดิภาพในการเดินทาง ตามประเพณีความเชื่อถือในสมัยนั้น ปรากฏอยู่หลายตอน
ครั้นถึงกึ่งกลางมหาสมุทรไท จึงบูชาตรงหน้าพุทไธมาศ
เซ่นสาดลงท้องทะเลใหญ่ กระดาษเผารินเหล้าแล้วลอยไป
เขาว่าไหว้ผีน้ำในท่ามกลาง ฯลฯ
ถึงสลุปกำปั่นไปค้าขาย จะแล่นนอกนั้นไม่ได้ใกล้เกาะทราย
จำเพาะบ่ายเข้าหว่างเป็นทางจร เขาล้มไก่ลงไหว้เทเวศร
ตามเพศที่สถิตอยู่สิงขร บรรดาพวกเรือค้าเภตราจร
ถวายกรตามตำแหน่งทุกแห่งไป ฯลฯ
ประเพณีไหว้ปลาวาฬ เมื่อกรายเข้ามาใกล้ จะเป็นอันตรายแก่เรือ กวีก็ได้บรรยายไว้เป็นอย่างดี
จะโดยทิศใดก็ใจหวาด วิปลาสเห็นวาฬขึ้นข้างขวา
ประมาณยาวราวสามสิบห้าวา ที่ท่อนหน้าไม่ตระหนักประจักษ์ใจ
เห็นคล้ายกุ้งที่กระพุ้งแพนหาง ประมาณกว้างนั้นสิบห้าวาได้
แต่โดยลมอมชลที่พ่นไป ก็สูงได้โดยหมายกับปลายตาล
เขาก็กลับใบบากออกจากที่ คะเนหนีจะให้พ้นแถวสถาน
เอาธูปเทียนบวงบนขึ้นลนลาน วันทนาปลาวาฬวุ่นวาย ฯลฯ
แสดงว่า ชาวเรือสมัยนั้นเกรงกลัวปลาวาฬ ถึงกับต้องจุดธูปเทียนไหว้วอนกัน การเดินทางไปเมืองจีนในสมัยนั้น จึงนับว่าเต็มไปด้วยอันตราย พระยามหานุภาพได้รำพันไว้สั้นๆ ตอนหนึ่งว่า ถ้ากลางคืนก็ได้ชื่นแต่แสงจันทร์ ทิวาวันก็ได้ชมแต่รังษีกับจะดูมัจฉาในวารี ก็มีแต่พวกพรรค์จะอันตราย ระยะทางจากเมืองไทยไปเมืองจีน จากกรุงธนบุรีไปถึงเมืองกวางตุ้ง ประมาณเท่าใด กินเวลาเดินทางนานเท่าใด ในนิราศกวางตุ้งแจ้งไว้ดังนี้
ขอประมาณแต่นิราธานี ถ้านับวันก็ได้สามสิบสามวัน
ถ้าสำคัญว่าเท่าไรในวิถี ก็ได้สามร้อยโยชน์เศษสังเกตมี
การต้อนรับทางเมืองจีนเมื่อแรกไปถึง ขอยกตัวอย่างมาให้เห็นสักตอนหนึ่ง ดังนี้
ฝ่ายจีนจงเอี้ยซึ่งเป็นใหญ่ ได้คุมไพร่สิบหมื่นรักษาสถาน
ก็ลงเรือรีบพลันมิทันนาน มาถามการข่าวข้อคดีดี
ฝ่ายทูตตอบว่าพระราชสาร พระผู้ผ่านอยุธยาวดีศรี
มาจิ้มก้องโดยคลองประเพณี จำเริญราชไมตรีตามโบราณ
ฝ่ายจีนจดหมายเอารายชื่อ แล้วก็รื้อดูทรงส่งสัญฐาน
แต่จำกดจดไปจนไฝปาน แล้วเกณฑ์เจ้าพนักงานลงคุมไป
กับทหารสามสิบใส่เรือรบ เครื่องครบอาวุธสรรพไสว
พนักงานป้องกันให้ครรไล ก็แล่นไปตามเรื่องรัถยา
(อธิบายศัพท์บางคำ-จงเอี้ย ก็คือจ๋งเอี้ย ในภาษาจีน แปลว่า นายค่าย หรือนายทัพ)
สภาพความเป็นไปภายในเมืองจีนครั้งนั้น กวีท่านก็พรรณนาไว้น่าดู ถึงขนาดในน้ำก็ไม่มีปลา ในป่าก็ไม่มีต้นไม้ ในอากาศก็ปราศจากนกกา ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นมีแต่ผู้คน
เห็นวารีนั้นไม่มีมัจฉาชาติ อรัญวาสเล่าก็ไร้รุกขา
บนอากาศขาดหมู่สกุณา พสุธาดาดาษด้วยคนไป
เป็นชาวคามนิคมวาสี ช่างทำที่นั้นอุตส่าห์น่าอาศัย
ล้วนตึกก่อต่อเนื่องเป็นเรื่องไป ทุกวุ้งเวิ้งเชิงไศลละลานตา
ที่พ้นน้ำนั้นก็ทำเป็นเรือกสวน บ้างเพาะพรวนปลูกผักก็หนักหนา
ที่ลุ่มลาดหาดน้ำก็ทำนา ไม่มีป่าปลูกไม้ไว้มากมี ฯลฯ
ภาพของทหารจีน และฝูงชนที่แห่กันมาห้อมล้อมดูคณะทูตไทย มีว่าไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้
เหล่าทหารประจำการกินเบี้ยหวัด ก็เปลี่ยนผลัดกันพิทักษ์รักษา
ล้วนเกาทัณฑ์สันทัดอยู่อัตรา ถือตำราที่โบราณท่านชิงชัย
ฝ่ายฝูงประชาชนชาติ ก็เกลื่อนกราดกลุ้มมาไม่นับได้
สะพรั่งพร้อมล้อมพรูมาดูไทย ทั้งชายหญิงวิ่งไขว่กันไปมา
บ้างลงเรือน้อยๆ มาพลอยทัก ยิ้มพยักด้วยไม่รู้ภาษา
บ้างลอยล้อมตอมรอบทั้งเภตรา เอาผักปลามาจำหน่ายขายไทย
อันนารีเรือลากสำหรับจ้าง นั้นรูปร่างหมดจดสดใส
นวลนิ่มจิ้มลิ้มละไมใจ เมื่อดูไกลเอกเอี่ยมลออตา ฯลฯ
การต้อนรับคณะทูตอย่างเป็นทางการ ตลอดจนสภาพสองข้างทาง ที่คณะทูตผ่านเป็นตลาดการค้า ย่านชุมชนของชาวจีน กวีก็สามารถบรรยายให้เราได้เห็นภาพเมืองจีน ในสมัยเมื่อ 200 ปีมาแล้วเป็นอย่างดี
ครั้นถึงวันรวิวารเวลา ภัทรบทกำหนดปีอุศุภศก
ข้างหมูอี้จงตกเขาปรึกษา แล้วมารับคำนับราชสารา
กับทูตาข้าหลวงทั้งปวงไป ขึ้นขี่เกวียนจรดลด้วยคนหาม
ดำเนินตามที่ทางถนนใหญ่ ศิลาลาดดาดปูที่ดูไป
นั้นอำไพเรียบริมรัถยา อันร้านรายขายของทั้งสองฟาก
ประหลาดหลากล้วนทำด้วยฉำฉา ประจงเจียนเขียนวาดแล้วชาดทา
ที่ตั้งหน้าตรงร้านกระดานทอง เป็นวิสัยลูกค้าบรรดาขาย
จารึกรายไว้ให้ดูรู้ของ ที่กระถางธูปเทียนนั้นเขียนทอง
ทั้งเตียงรองหลั่นลดนั้นรจนา อันเครื่องร้านที่สำหรับประดับของ
ล้วนแก้วแหวนเงินทองนั้นนักหนา แพรพรรณสรรพสิ่งละลานตา
ทั้งเสื้อผ้ามุ้งม่านตระการใจ ทั้งถ้วยโถโอจานแลจันอับ
จะคณนานามนับเป็นไหนๆ บ้างหาบคอนร่อนขายอุบายไป
บ้างเคาะไม้แทนปากก็มากมาย อันหมูแพะแกะกะทิงมหิงห์ห่าน
วันละพันก็ไม่พานพอขาย เต็มตลาดดาษดูไม่รู้วาย
บ้างซื้อจ่ายวุ่นไขว่กันไปมา ฯลฯ
(อธิบายศัพท์บางคำ-หมูอี้จงตก หรือจงตกหมูอี้ นั้นก็คือผู้สำเร็จราชการมณฑล)
ที่หน้ากว้านร้านตลาดนั้นกวาดเลี่ยน ตะลิบเตียนมิให้มีสิ่งใดได้
อันหญิงชายประชาข้าเวียงชัย ก็วิ่งไขว่ซ้อนหน้ามาอลวน
บ้างอุ้มลูกจูงยายตะพายหลาน ก็ลนลานวิ่งเบียดกันเสียดสน
ที่ชรามายากลำบากตน ก็ขี่คนรีบเร่งมาเล็งแล
เอาแว่นตาติดเนตรเข้าเพ่งพิศ หวังจิตให้รู้จักตระหนักแน่
ทั้งสาวหนุ่มกลุ้มกลัดมาอัดแอ ซ้อแซ้เพ่งพิศพินิจไทย ฯลฯ
ตอนชมความงามของหมวยสาวชาวจีนสมัยนั้น ท่านกวีก็พรรณนาไว้ ชวนให้น่าพิศมัยใหลหลง
อันหมู่สาวสุดามัชฌิมาหม้าย นั้นแต่งกายแซมมวยด้วยไม้ไหว
ที่เยี่ยมยลอยู่บนตึกใน นั้นอำไพพิศพริ้งพรายตา
ดูยืนแต่ละอย่างกับนางเขียน ทั้งจีบเจียนยั่วยวนเสนหา
ผัดพักตร์ผิวพรรณดังจันทรา นัยนากวัดแกว่งดังแสงนิล
นาสิกเสื้องทรงดังวงขอ งามคองามคิ้วควรถวิล
งามเกศดำเพศภุมริน ปักปิ่นมวยห้อยสร้อยสุวรรณ
ปากแดงนั้นด้วยแสงลินจี่แต้ม เมื่อยิ้มแย้มน่าชมภิรมย์ขวัญ
ใส่เสื้องามสามสีสลับกัน พื้นสุวรรณแวววาบวิไลใจ
แม้นองค์พระธิดาดวงสมร จะเอกเอี่ยมอรชรสักเพียงไหน
แต่ได้ดูหมู่ข้ายังอาลัย ดังสายใจนี้จะยืดไปหยิบชม ฯลฯ
(อธิบายศัพท์บางคำ – เสื้องทรง หมายถึงรูปร่างสูงแหลม)
ภาพของหญิงจีนโบราณที่นิยมห่อเท้าให้เรียวเล็ก ก็มีปรากฏอยู่ในนิราศเรื่องนี้
อันชมสาวที่ชาวสถลมาศ ไม่อุจาดเหมือนจีนประจำท่า
อันรูปทรงสรรเสริญจำเริญตา ครั้งพิศเบื้องบาทาก็เสียดาย
เอาผ้าคาดขึงเหนี่ยวจนเรียวรัด พาวิบัติอินทรีย์ให้มีสลาย
จะดำเนินมิใคร่ตรงพอทรงกาย ย่อมใช้ชายขายค้ามาให้กิน ฯลฯ
ภาพขอทานเมืองจีนสมัยเมื่อ 200 ปีมาแล้ว
อันยาจกวรรณิพกที่ไปมา เที่ยวภิกขาจารขอไม่พอกิน
ก็อุบายทำกายนั้นต่างๆ จะร่ำปางโดยดูไม่รู้สิ้น
บ้างอุจานทานทำทั้งกายิน บ้างนั่งวอนนอนดิ้นลงโดยจน
บ้างก็เอามีดสับจับอิฐต่อย จนโลหิตแดงย้อยไปเต็มถนน
มิได้ของแล้วก็ร้องไม่จรดล ไปเห็นจนก็ได้คิดอนิจจา ฯลฯ
(อธิบายศัพท์บางคำ-อุจาน ในที่นี้หมายถึง อุจาด นั่นเอง)
เกี่ยวกับข้อราชการที่ทูตไทยไปเมืองจีนในครั้งนั้น ท่านก็พรรณนาไว้ดียิ่ง ดังจะขอยกตัวอย่างบางตอนมาแสดงไว้พอเป็นสังเขป
อันเหล่าเจียงทหารใหญ่ในกรุงศรี นั้นใส่หมวกจามรีถ้วนหน้า
แวดล้อมเหล่าไทยให้ไคลคลา ใครผ่านหน้าตีต้อนตะบึงไป
ก็ลุดลตำบลกงกวนเก่า สถานทูตเคยเข้าอยู่อาศัย
เป็นตึกตรอกอยู่นอกเวียงชัย ก็เชิญราชสารไว้ที่ควรการ
แล้วส่งของที่คุมไปขึ้นไว้ห้าง ตามร่างเรื่องตราโกษาสาร
ทั้งสองห้างตามอย่างธรรมเนียมนาน แล้วแจ้งของที่ประทานนั้นออกไป
ข้างจงตกหมูอี๋ผู้มีสติ เขาดำริแล้วไม่รับประทานได้
ว่ากฎห้ามกวดขันถึงบรรลัย ประนมไหว้ควรขอบพระคุณมา
แล้วให้คนเร็วรีบยังนัคเรศ ถวายเหตุราชคฤคฤาหา
แต่กำหนดนับไว้ทั้งไปมา นี่ทางม้ายี่สิบเจ็ดราตรี
ผู้ถือสารจึงเอาสารรับสั่งส่ง ให้กับจงตกดูหมูอี๋
แล้วคัดข้อสารามาพาที ว่าพระเจ้าหมื่นปีนั้นโปรดปราน
ให้ส่งทูตไปถวายอภิวาท ตามราชตำราบุราณสาร
กับสิ่งของในคลองบรรณาการ ที่นอกอย่างบุราณมีมา
นั้นไม่รับครั้นจะกลับให้คืนของ ระวางคลองเหมือนไม่แสนเสนหา
เสียดายราชไมตรีที่มีมา ทางทะเลก็เป็นท่ากันดารนาน
ก็ควรขายจำหน่ายเอาทุนทรัพย์ ให้คืนกลับอยุธยามหาสถาน ฯลฯ
การแต่งกายของคณะราชทูตไทย ตอนจะเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนนั้น ก็พรรณนาไว้น่าดู
ครั้งถึงวันที่จะทำโดยกำหนด เดือนสิบเอ็ดขึ้นทศมาสา
จึงจงตกหมูอี๋ให้ลีลา มาเชิญทูตกับข้าหลวงจร
ไปอภิวันท์ปั้นสื้อในนัคเรศ ตามเพศขุนนางแต่ปางก่อน
ข้างทูตไทยผู้จะไปถวายกร ก็ผันผ่อนแต่งแง่ให้งามทรง
เป็นคนเจนชัดเช่นในเชิงเก่า ถึงแก่เถ้าก็จริตยังหยิบหย่ง
นุ่งยกช่องกระจกโจงผจง ฉลององค์อัตลัดประทานงาม
เอาเสนากุฎใส่วิไลเกศ ดังชัยเชษฐบุราณชาญสนาม
พระพี่เลี้ยงข้าหลวงทั้งปวงตาม ทหารหามคันเกี้ยวด้วยกันไป ฯลฯ
การตกแต่งสถานที่ต้อนรับของทางเมืองจีน ก็มีพรรณนาไว้ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
ครั้นไปถึงที่ประตูเห็นหมู่ทหาร ริมทวารขัด ดาบดูไสว
ทั้งสองแถวรัถยาดาไป ที่ชั้นในไว้เหล่าที่เกาทัณฑ์
ทั้งง้าวปืนยืนงามไปตามถนน ที่ว่างคนลดเลี้ยวเป็นหลายหลั่น
ถึงสถานที่จะได้ไปอภิวันท์ พิศพรรณเพียงจะแลละลานตา
ล้วนปิดทองธรรมชาติแล้ววาดเขียน ธงเทียนพื้นสุวรรณเลขา
ที่ถิ่นฐานสะอ้านโอฬาร์ รจนาโคมเคียงเรียงกัน
อันโรงรีซึ่งเป็นที่สำหรับรับ นั้นประดับแพรแดงแกล้งสรรค์
ใส่พู่รายข่ายรอบเป็นขอบคัน เอาพื้นพรรณแพรลาดเป็นหลังคา
แล้วก็แซมดอกไม้กับใบสน เป็นที่ยลนับถือกันหนักหนา ฯลฯ
ลักษณะการกราบไหว้ถวายบังคม ที่ทางไทยปฏิบัติไม่เหมือนกับทางจีน โดยทางจีนนั้นต้องกราบถวายบังคมแบบจีนไหว้เจ้า เอาศีรษะโขกพื้น 3 ครั้ง ข้างฝ่ายทูตไทยทำได้ไม่ถนัด ต้องกลั้นหัวเราะไปตามๆ กัน
เขาขุยขลุกลุกพร้อมแล้วกรอมกราบ ข้างเหล่าไทยมิใคร่ราบแต่โรยหา
ก็กลั้นสรวลอยู่จนถ้วนทั้งสามครา แล้วกลับมาสถิตโรงเมื่อแรกไป
พวกทูตไทยที่ไปเมืองจีนครั้งนั้น คงจะหนีเรื่อง “ เที่ยวผู้หญิง ” ไม่พ้น คงจะเที่ยวซุกซนกับพวกหยำฉ่า จน “ ติดโรค ” ไปตามๆ กัน จึงมีรำพันรำพึงไว้ตอนหนึ่งว่า
อีดอกทองราวทองธรรมชาติ พิศวาสมิได้เว้นวันสม
จนโรคันปันทบข้างอุปทม เสนหาส่าลมขึ้นเต็มตัว
ตอนจบของ “ นิราศกวางตุ้ง ” กวีท่านก็ได้สดุดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไว้อย่างคมคาย ไม่ซ้ำแบบกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใด
เฉพาะอย่างยิ่ง บทสรรเสริญการเจริญพระกรรมฐานของพระองค์ท่าน ตลอดจนการบำเพ็ญพระองค์ประดุจพระโพธิสัตว์ กวีสามารถใช้โวหารเปรียบเทียบเปรียบเปรยได้เป็นอย่างดี
ชะรอยอรรคบุรุษอุดมวงศ์ ในสิบองค์โพธิสัตว์ดุสิตสวรรค์
ได้ลัทธยาเทศทายทำนายธรรม์ ในอนันต์สำนักชิเนนทร์นาน
จึงดลใจให้พระองค์ทรงนั่ง บัลลังก์รักรสพระธรรมกรรมฐาน
ให้ทรงเครื่องนพรัตน์ชัชวาล พระชมฌาน แทนเบญจกกุธภัณฑ์
เอาพระไตรลักษณ์ทรงเป็นมงกุฎ ก็งามสุดยอดฟ้าสุธาสวรรค์
เอาพระศีลสุจริตในกิจธรรม์ เป็นสุวรรณเนาวรัตน์สังวาล
เอาพระวิมุติธรรม์เป็นคันฉัตร เอาพระสัจเป็นระไบไพศาล
ล้วนเครื่องศีลวัตรอันชัชวาล พระอุเบกขาญาณเป็นธารกร
เอาพระไวปัญญาเป็นอาวุธ ตัดวิมุติสงสัยแล้วสั่งสอน
สว่างแจ้งกว่าแสงทินกร สถาวรทั่วโลกแลงาม
จะดูโดยโลกีย์เป็นที่รัก ก็งามนักสุดโลกเหลือถาม
จะดูฤทธิ์เล่าก็คล้ายนารายณ์ราม จะชูงามไปทั่วกัลปา
ขอพรพระศรีรัตนตรัย อันเป็นใจจอมพุทธศาสนา
ช่วยบำบัดตัดบาปธรรมา ให้ลุโดยเจตนาโพธิญาณ ฯลฯ
ลงท้ายก็ถวายพระพรตามประเพณี ขอบารมีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์ อันได้แก่พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมได้ประทานพรคุ้มครองพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วกวีก็จบท้ายถวายพระพรชัยด้วยบทกลอนอันประทับจับใจว่า
อันสมบัติในจังหวัดทวีปนี้ ให้อยู่ในพระบารมีทุกแห่งหน
ให้พระเกียรติก้องฟ้าสุธาดล ขอพระชนม์ได้ร้อยพระวษา เอยฯ
จากบางตอนของ “ นิราศกวางตุ้ง ” หรือ “ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ” วรรณคดีสำคัญยิ่งเล่มหนึ่งของสมัยกรุงธนบุรี เพียงเท่าที่ได้นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้ ก็จะเป็นที่เห็นได้แล้ว ว่าเป็นวรรณกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเล่มหนึ่งของสังคมไทย
นอกเหนือไปจากจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สะท้อนให้เห็นแบบแผนประเพณีทางการทูต เฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในสมัยโบราณ และได้รับอรรถรสทางวรรณศิลป์ ตามประเพณีการแต่งนิราศพอสมควรแล้ว ยังเป็นหนังสือเล่มเดียวที่แต่งขึ้นในสมัยเมื่อ 200 ปีมาแล้วขึ้นไป ที่ว่าด้วยการเดินทางท่องเที่ยวไปเมืองจีนในครั้งกระโน้น ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องผจญภัยรอบด้านนานาประการ มีทั้งภัยจากพายุ จากหินโสโครก จากปลาวาฬ ฯลฯ
ประการสำคัญคือ ทำให้เราสามารถทราบถึงสภาพความเป็นไปของเมืองจีน ในสมัยเมื่อ 200 ปีมาแล้วเป็นอย่างดีพอสมควร อันเป็นเรื่องที่ไม่มีปรากฏในวรรณกรรมเล่มใดที่แต่งไว้ในสมัยโบราณทั้งสิ้น
“ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ” จึงเป็นวรรณกรรมที่สำคัญยิ่งเล่มหนึ่ง ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ส่งคณะราชทูตไทย ออกเดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระเจ้ากรุงจีนในครั้งนั้น (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 84-87)
คุณค่า
1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ใช้ถ้อยคำง่าย สำนวนราบเรียบ กระบวนพรรณนาละเอียดลออ มีความไพเราะไม่น้อยทีเดียว แม้ไม่เทียมเท่านิราศของสุนทรภู่ก็ตาม
2. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ ช่วยบันทึกเหตุการณ์ในการเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนและแบบธรรมเนียมการทูต นับเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกที่มีฉากของต่างประเทศ
3. คุณค่าทางสังคม ได้ทราบถึงสภาพบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีน และประเพณีปฏิบัติของชาวเรือ (อุทัย ไชยานนท์ , 2545:79)
13.4.6 กฤษณาสอนน้อง เป็นวรรณกรรมลักษณะใด ? ผู้ใดแต่ง ?
ผู้แต่งมี 2 ท่าน คือ พระยาราชสุภาวดี และพระภิกษุอิน (หรืออินทร์) ไม่ปรากฏประวัติกวีทั้งสองท่านนี้ เพียงแต่ทราบตามที่บอกไว้ท้ายเรื่องนี้ว่า
พระยาราชสุภาวดี เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าตากสินมหาราชให้ไปช่วยราชการที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้านราสุริยวงศ์พระเจ้าหลานเธอ ที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งไปครองเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย พระเจ้าตากสินมหาราชก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทน ภายหลังมีรับสั่งย้ายมาประจำอยู่ที่กรุงธนบุรี
พระภิกษุอิน เป็นพระภิกษุชาวเมืองนครศรีธรรมราช จำพรรษาอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ไม่ทราบว่าเป็นวัดอะไร เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในทางกวีที่หาตัวจับยากท่านหนึ่งในสมัยนั้น (อุทัย ไชยานนท์ , 2545:24)
ทั้ง 2 ท่านร่วมกันแต่งกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ โดยพระยาราชสุภาวดีแต่งตอนต้นและพระภิกษุอินได้รับอาราธนาให้ช่วยแต่งเติมต่อจนจบบริบูรณ์ และกล่าวด้วยว่าเรื่องนี้เคยมีฉบับเดิมแต่สูญหายไปเสียแล้ว
ความมุ่งหมายในการแต่ง เช่นเดียวกับกวีท่านอื่นที่แต่งกฤษณาสอนน้องคือ ให้เป็น ภาษิตสอนใจหญิง เกี่ยวกับการครองเรือน เป็นวรรณกรรมที่แต่งโดยอาศัยเค้าโครงเรื่องมาจากมหากาพย์เรื่อง มหาภารตะของอินเดีย ตัดเอาตอนนางกฤษณามเหสีของกษัตริย์ปาณฑพทั้งห้าสอนความประพฤติของสตรีผู้เป็นภริยา และแม่เรือนว่าควรประพฤติและปฏิบัติต่อสามีอย่างไร
แต่งเป็นคำฉันท์ด้วย กาพย์ฉบัง และ กาพย์สุรางคนางค์ เป็นส่วนใหญ่ มี อินทรวิเชียรฉันท์ และ วสันตดิลกฉันท์ บ้างเล็กน้อยในตอนท้ายเรื่อง
เนื้อหาสาระ กล่าวถึงกษัตริย์พรหมทัต พระราชาแห่งเมืองพาราณสี มีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือพระนางกฤษณา และพระนางจิรประภา เมื่อพระราชบิดาทรงจัดให้มีการเลือกคู่ พระนางกฤษณาเลือกได้ 5 คน พระนางจิรประภาเลือกได้คนเดียว พระนางกฤษณามีความเฉลียวฉลาดสามารถในการปรนนิบัติจึงมีความสุขอยู่กับสามีอย่างที่สุด ส่วนพระนางจิรประภาบกพร่องในหน้าที่จึงหามีความสุขไม่ พระนางจิรประภาจึงขอร้องให้พระนางกฤษณาช่วยบอกวิธีการให้ พระนางกฤษณาจึงกล่าวสอนน้องว่า การที่จะทำให้สามีรักใคร่มีความสุขด้วยกันนั้น ผู้หญิงต้องฉลาดในการเรือน รู้หน้าที่ของภริยา บำรุงบำเรอสามีเก่ง ทำตัวอยู่ในโอวาทของสามี พระนางจิรประภาก็นำคำสอนของพี่ไปปฏิบัติต่อสามี (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 25)
ลักษณะทั่วไป
1. ปรากฏชัดว่า สำนวนแต่งตอนต้นอ่อนกว่าตอนท้าย แสดงว่า พระยาราชสุภาวดีมีฝีมือ ฝีปากด้อยกว่าพระภิกษุอิน กับทั้งพระยาราชสุภาวดีคงถนัดแต่งกาพย์มากกว่าฉันท์ ตอนต้นจึงเป็นกาพย์ทั้งหมด เข้าใจว่าพระภิกษุอินเป็นกวีมีชื่อของเมืองนครฯ มีฝีปากคมคายและทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจตามแบบของกวีชั้นครูว่า
เสร็จสารสฤษดิ์อนุสนธิ์ วงจรประจงฉันท์
ลำนำพฤทธิคณอัน นุประกอบยุบลกลอน
แต่งตามวโตไทยวรา ก็เสนาะสถาวร
เอก โท ครุ ลหุ สอน กุลบุตรพึงยล
2. ใช้ศัพท์แผลงและตัดศัพท์มาก โดยเฉพาะตอนต้นๆ
3. มีเนื้อหาตรงกันเป็นส่วนใหญ่ กับกฤษณาสอนน้องฉบับอื่น เนื้อความการเปรียบเทียบ ก็ตรงกับฉบับของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เช่น
ดวงจันทรกระจ่างแสงพราย มลเมฆกลับกลาย
รัศมีก็มัวมลทิน
กระษัตรีเฉกโฉมกินริน แปมปนมลทิน
เทียรย่อมจะเศร้าอัปรา
คชสารแม้ม้วยมีงา โคกระบือมรณา
เขาหนังก็เป็นสำคัญ
บุคคลถึงการอาสัญ สูญสิ้นสารพัน
คงแต่ความชั่วกับดี
ปรากฏในพื้นปัถพี กฤษดิศัพท์จักมี
ติดปากสรรเสริญนินทา
(สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 29-30)
วิธีที่หญิงพึงปฏิบัติต่อชาย
กาพย์สุรางคนางค์ 28
พี่จักสอนนาถ เป็นวรโอวาท จำไว้เยาวมาลย์
เจ้าจักรักชาย ชมชื่นหึงนาน มิให้รำคาญ วิโยคเจียนไกล
สุดแต่ความสัตย์ กับทางปรนนิบัติ ให้ชอบน้ำใจ ฯลฯ
เมื่อสบายบันเทิงหฤทัย ทุกข์โศกสิ่งใด
คอยได้โอกาสจึ่งทูล
ได้ถ้อยทางความทั้งมูล เห็นจักบริบูรณ์
มโนรสาสมสาร
อย่าเสียจารีตโบราณ พระนุชเยาวมาลย์
ทรงพระดำริจงดี
หนึ่งจงบริรักษ์ราชี พระชนกชนนี
พระญาติวงศ์ทรงชรา
โดยชอบธรรมแท้สัตยา ตอบแทนคุณา
ทุกเทพท้าวสรรเสริญ
พระยศยิ่งจักจำเจริญ ศรีสวัสดิเจริญ
ในมุขมงคลทั้งหลาย
มาตรว่าทวยทาสหญิงชาย นอกในหมวดหมาย
ทุพพลภาพพิกลแก่ชรา
ควรคิดสังเวชอนิจจา ยำเกรงกรุณา
ผิดพลั้งอดออมเอาใจ
อย่าเกรี้ยวโกรธาฟุนไฟ ทำเป็นปากไว
ด่าด้วยถ้อยคำหยาบหยาม
มักขึ้งมักเคียดคุมความ เสียศรีซึ่งงาม
จะหมองน้ำนวลพักตรา
หนึ่งโสดคุณบิตุมารดา เกิดเกล้าเรามา
ประเสริฐยิ่งภพไตร
คุ้มครองป้องกันโพยภัย แต่เยาว์เท่าใหญ่
พระคุณก็สุดแสนทวี
ครั้นเรามีคู่สมศรี พระคุณสวามี
เป็นมิ่งมงคลคุ้มตัว
นามชื่อกษัตรีมีผัว ดุจแหวนมีหัว
เห็นงามแก่ตาโลกทั้งหลาย
เป็นที่สงวนรักกับกาย อย่าทำให้สลาย
แสงแก้วจะอับเงางาม
แม้ทองเนื้อแท้สุกอร่าม ปราศจากพลอยพลาม
สุวรรณจะเศร้าหมองมัว
ดุจหญิงพลัดพรากจากผัว ปากคนย่อมหัว
เยาะเย้ากระซิบครหา
จะกันกลความนินทา เห็นสุดปัญญา
ยากนักในอกกษัตรี
ทำชอบชอบใจสวามี ทำผิดทุบตี
วิโยคร้างแรมตาย
ดวงจันทร์กระจ่างแสงพราย มลเมฆกลับกลาย
รัศมีก็มัวมลทิน
กษัตรีเฉกโฉมกินริน แปมปนมลทิน
เทียรย่อมจะเศร้าอัปรา
คชสารแม้ม้วยมีงา โคกระบือมรณา
เขาหนังก็เป็นสำคัญ
แม้นยิ้มยิ้มพอพริ้มพราย ยิ้มนักมักสลาย
เงาฟันจะเศร้าศรีแสง
แม้นจามค่อยจามตามแรง แม้นมีกิจแถลง
อย่าน้อยอย่ามากพอการ
แม้นนอนอย่าได้นอนนาน คิดถึงการงาน
การมือการปากจงดี
กินน้อยซูบเนื้อเสียศรี กินมากมักพี
แต่พอประมาณดูงาม
จะเดินนอนนั่งทั้งสาม อุตส่าห์พยายาม
อิริยาจงพร้อมเสมอสมาน
จะสบายเอ็นสายสำราญ ดับโรครำคาญ
จะพูนความสุขทุกอัน
ความรู้แม้นเรียนรู้ขยัน ทุกสิ่งสารพัน
ครั้นเศร้าก็เสียแรงเรียน
มาตรว่าเก็บปักขบวนเขียน ถ้ามีความเพียร
จะภิญโญยิ่งวิชา
รู้กานท์รู้กลเจรจา รู้กันนินทา
รู้กินรู้รักษาตัว
เท่านี้ชอบน้ำใจผัว รักเราเมามัว
ยิ่งกว่าทำเสน่ห์เล่ห์กล
รักตัวอุตสาห์เสงี่ยมตน ฝ่ายในกุศล
ถือศีลศรัทธาทำบุญ
มุจลินทร์จุลาการ ก็บังเกิดมหัศจรรย์
คลุ้มคลื่นตรังคัน อุโฆษศัพทเครงโครม
บุษบันก็ทรงดวง สะเทือนดอกวิลาสโดม
มัตสยาก็ล่องโลม ระรื่นเชยกระแสสินธุ์
เอิบอาบ บ เอื้ออิ่ม สโรชสร้อยสวาริน
ตรลบกลิ่นผกาตฤณ แสยงเศียรสบายกาย
ส่องแสงสุริโย พยอนโยกกระแสสาย
ชลทิตประพรายพราย ปทุมเมศกระจ่างบาน
ภุมราภมรมัว ฤดีร่วมผสานสาร
เกลือกเคล้าสุคนธาร ทวีราคนิรารมย์
สององคอ่าองค์ สบายองค์เกษมสม
แสนสนุกนิอุดม ถวัลย์เวียงวิเจษฎา
ยศศักดิสมบูรณ์ อุกฤษฏ์เกียรติลือชา
ทั่วเทพเทวา นราราษฎร์ก็ชมบุญ
สองทรงศิลาทาน สถิตรัตนาคุณ
คุ้งชันษาสุญ ชราภาพชีวา
คุณค่า
1. คุณค่าทางอักษรศาสตร์ ใช้ถ้อยคำง่าย ๆ จึงอ่านเข้าใจได้ง่าย และยังช่วยให้มีการรักษาวรรณกรรมสำคัญไว้ไม่ให้สูญหายไป และยังมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมรุ่นหลังอีกด้วย เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ทรงแต่งกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ขึ้นมาอีกฉบับเหมือนกัน
2. คุณค่าทางสังคม วรรณกรรมเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงรู้หลักในการปฏิบัติตนให้ถูกต้องในฐานะที่เป็นภริยา อันนำมาซึ่งความสุขในครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยสำคัญของสังคม และเมื่อครอบครัวแต่ละครอบครัวปฏิบัติตามได้ ก็จะมีความสุขทุกครอบครัว เมื่อครอบครัวมีความสุข ย่อมส่งผลให้สังคมมีความสุขตามไปด้วย (อุทัย ไชยานนท์ , 2545 : 36-45)
13.4.7 กวีนิรนามแต่งวรรณกรรมเรื่องใด ?
กวีนิรนาม แต่ง
1. นิทานเรื่องปาจิตกุมารกลอนอ่าน
เป็นนิทานเรื่องเล่าที่แพร่หลายในรูปแบบของนิทานพื้นบ้าน อันเป็นนิทานเรื่องเก่าแก่ของเมืองพิมาย เป็นชาดกเรื่องหนึ่งจากหนังสือ ปัญญาสชาดก ต้นฉบับมีด้วยกัน 5 เล่มสมุดไทย เมื่อพิจารณาแล้วแบ่งได้ 2 สำนวนคือ
สำนวนที่ 1 มีต้นฉบับอยู่ 4 เล่ม ลักษณะเป็นสมุดไทยกระดาษขาว เขียนเส้นหมึก อักษรไทย ลายมือเป็นของบุคคลคนเดียวโดยตลอดทั้ง 4 เล่ม อาจเป็นลายมือของผู้แต่งเอง สำนวนนี้เป็นวรรณกรรมสมัยธนบุรี มีหลักฐานชัดเจนตอนท้ายเรื่องระบุวันเดือนปีว่า “ แต่งแล้วเดือนเก้า ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล เขียนแล้วเดือน 5 แรม 14 ค่ำ ปีขาล ฉอศก สักกราช 2316 วาษา ปริยบูนน้านิถิตา ” ฉบับนี้ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง
ส่วน สำนวนที่ 2 มีอยู่ 1 เล่ม แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ฯ)
ความมุ่งหมาย เพื่อบันทึกเรื่องราวไว้ให้ถูกต้องและเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง
ลักษณะการแต่ง แต่งเป็นกลอนอ่าน
เนื้อหาสาระ แบ่งเป็น 5 ตอน
1. ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม 1 เลขที่ 1 ตู้ 115 ชั้น 6/5 มัดที่ 28 ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด 16/5/56 (ฉบับหลวงบำรุงสุวรรณแต่ง)
เนื้อความมีคำประณามพจน์ เริ่มเรื่องปาจิตกุมาร จนถึงพระปาจิตอำลานางอรพิมกลับเมืองนครทม เพื่อเตรียมยกกระบวนขันหมากมาสู่ขอนาง
2. ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม 2 เลขที่ 2 ตู้ 115 ชั้น 6/5 มัดที่ 28 ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อเรื่องตั้งแต่พระปาจิตทรงสุบินนิมิต ให้โหรทำนายแล้วส่งอำมาตย์ไปสืบข่าวยังบ้านนางอรพิม จนถึงพรานไพรยิงพระปาจิตสิ้นชีวิต แล้วพานางอรพิมไป เล่ม 2 นี้ไม่ต่อเนื่องกับเล่ม 1 เนื่องจากเป็นฉบับต่างสำนวนกัน ไม่อาจเปรียบเทียบเนื้อความที่หายไป
3. ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม 3 เลขที่ 3 ตู้ 115 ชั้น 6/5 มัดที่ 28 ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม 2 ตั้งแต่นางอรพิมถูกนายพรานพาตัวไป นางคิดอุบายฆ่านายพรานตาย แล้วรีบกลับมาที่พระศพพระปาจิตพ่นยาที่พระอินทร์บอกช่วยสามีคืนชีวิต จนถึงนางอมรให้สาวใช้นำเภสัชและสารไปถวายสมเด็จพระสังฆราช
4. ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม 4 เลขที่ 4 ตู้ 115 ชั้น 6/5 มัดที่ 28 ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความต่อเนื่องกับเล่ม 3 ตั้งแต่พระสังฆราชอ่านสารแล้วจึงตอบสารนางอมรทราบ จนถึงพระปาจิตพานางอรพิมออกจากนครจัมปาก
5. ปาจิตกุมารกลอนอ่าน เล่ม 5 เลขที่ 5 ตู้ 115 ชั้น 6/5 มัดที่ 28 ประวัติสมบัติเดิมของหอสมุด (ฉบับสมัยธนบุรี)
เนื้อความตั้งแต่ไพร่พลของพระปาจิตสร้างเมรุถวายพระเพลิงพระเจ้าพรหมทัต ณ เมืองพาราณสี จนถึงประชุมชาดกจบเรื่อง มีวันเดือนปี ที่แต่งเสร็จและคำอธิษฐานของผู้แต่ง (อุทัย ไชยานนท์ , 2545:84-85)
2 .นิทานสุภาษิตเรื่องพระโพธิสัตว์โกสามกิน
เป็นนิทานคำกาพย์อีกเรื่องหนึ่ง สันนิษฐานว่าอาจเป็นการแต่งของกวีคนเดียวกัน เพราะต้นฉบับปรากฏอยู่ท้ายเล่มสมุดไทยเรื่อง ปาจิตกุมาร (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, 2543 : 124)
13.5 ด้านนาฏดุริยางค์ การละเล่น และมหรสพ
นาฎศิลป์ โขน ละครและการละเล่นในสมัยกรุงธนบุรีมีลักษณะอย่างไร ?
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 นั้น ส่งผลกระทบให้ตัวละครและบทละครของหลวง หรือของราชสำนัก เฉพาะอย่างยิ่งละครผู้หญิง ซึ่งเป็นแบบฉบับอันสำคัญยิ่งของบ้านเมืองในครั้งนั้น ต้องเป็นอันตรายสูญหายไปในการสงครามครั้งนั้นเป็นอันมาก ด้วยพม่าได้กวาดต้อนเอาบรรดาตัวละครของหลวงในราชสำนักเป็นเชลย จับส่งไปไว้เมืองพม่าเสียเป็นอันมาก บทละครต่างๆ ก็ถูกทำลายเผาผลาญไปพร้อมกับบ้านเมืองจนแทบหมดสิ้น การนาฏศิลป์ โขน ละคร อันเป็นแบบฉบับเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมในสังคมไทย จึงต้องประสบกับความพินาศครั้งใหญ่ตามไปด้วยประการนี้
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกู้เอกราชเป็นผลสำเร็จ และบ้านเมืองค่อยกลับคืนเข้าสู่สภาวะเป็นปรกติแล้ว พระองค์ท่านก็ได้ทรงเอาพระทัยใส่ เพียรพยายามฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติทางด้านนี้เป็นอย่างมาก ปรากฏว่าพระองค์ท่านทรงได้ ละครผู้หญิง ของเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อคราวเสด็จลงไปปราบชุมนุมเจ้านครเมื่อ ปี พ.ศ.2312 นั้นเข้ามาเป็นครูฝึกหัดขึ้นใหม่ สมทบกับพวกละครต่างๆ ที่ทรงรวบรวมได้มาจากที่อื่นมาฝึกหัดจัดเป็น ละครหลวง ขึ้นใหม่ในกรุงธนบุรีโดยยึดถือแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นแบบฉบับในการฝึกหัดจึงเป็นเหตุให้การนาฏศิลป์โขน ละครของไทย ได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่ละครของเมืองนครกับละครของกรุงเก่า (กรุงศรีอยุธยา) มีแบบแผนการแสดงแตกต่างกันไปบ้าง ละครของกรุงเก่ามีเจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นต้นแบบ เคร่งครัดในการแสดงอย่างละครใน ส่วนละครของเมืองนครซึ่งไม่ใช่เมืองหลวงนั้น ผ่อนผันตามความนิยมของผู้ชมโดยทั่วไปบ้าง
ละครผู้หญิงนี้ นับว่ามีความสำคัญมาก ด้วยเป็นนาฏศิลป์แบบฉบับของบ้านเมืองอย่างแท้จริง และในสมัยก่อนนั้น ถือเป็นของต้องห้าม ผู้ใดจะมีไม่ได้เป็นอันขาด นอกจากในพระราชสำนัก มีได้แต่ของหลวงแห่งเดียว สำหรับเล่นในการพระราชพิธีในพระราชนิเวศน์ และถือเสมือนเป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่ง บุคคลอื่นๆ แม้แต่เจ้านายผู้สูงศักดิ์ ถึงขั้นเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ ก็จะมีละครผู้หญิงไม่ได้ ประเพณีจำกัดสิทธิการมีละครผู้หญิงเพิ่งยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง การที่เจ้านครสามารถมี หรือบังอาจมีละครผู้หญิงได้ ในเวลานั้น ก็เนื่องด้วยในยามบ้านแตกสาแหรกขาด กรุงศรีอยุธยาต้องพินาศอับปาง เจ้านครได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้จัดให้มีละครผู้หญิงขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบารมี ทั้งนี้กล่าวกันว่า เจ้านครได้ครูฝึกจากละครหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา ด้วยตัวละครบางคนสามารถอพยพหลบหนีพม่าออกไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ที่ปลอดภัยจากการรุกรานย่ำยีของพม่าได้ เฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้น เจ้านครจึงสามารถตั้งคณะละครผู้หญิงขึ้นได้สำเร็จ ด้วยสาเหตุดังได้กล่าวมานี้
หลังจากที่กลับจากเมืองนครศรีธรรมราชมาในครั้งนั้นแล้ว ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในทางนาฏศิลป์และการละครเป็นอันมาก ถึงกับทรงพระราชอุตสาหะนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นด้วยพระองค์เอง รวม 4 ตอน ภายหลังที่เสด็จกลับมาได้เพียงเดือนเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อให้คณะละครของหลวงที่ทรงฟื้นฟูขึ้นมาใหม่นั้นได้นำไปใช้ฝึกหัด และนำออกแสดงกันในครั้งนั้น
ภายหลังที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จกลับมาจากนครศรีธรรมราชได้เพียงไม่กี่เดือน ทรงพระราชอุตสาหะเร่งแต่งบทละครเรื่องรามเกียรติ์เพราะต้องเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางในต้นปี พ.ศ.2313 เมื่อทรงปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้สำเร็จแล้ว ก็โปรดให้จัดงานสมโภชพระธาตุเมืองฝาง เสร็จแล้วก็โปรดให้สมโภชพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก สมโภชพระศรีรัตนมหาธาตุ พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ที่เมืองพิษณุโลก ต่อเนื่องกันไป
ในการสมโภชแต่ละครั้งที่หัวเมืองฝ่ายเหนือในคราวนั้น ซึ่งเริ่มต้นด้วยงานสมโภชพระธาตุเมืองฝางนั้น ถึงกับได้โปรดให้ลงมารับเอาละครผู้หญิงในราชสำนักที่ทรงแรกฟื้นฟูฝึกหัดขึ้นมาใหม่ ขึ้นไปเล่นสมโภชด้วยทุกงานไป เข้าใจว่าจะได้ใช้บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บทละคร ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นไว้สดๆ ร้อนๆ หลังจากเสด็จกลับมาจากเมืองนครศรีธรรมราชได้เพียงเดือนเดียวนั้นเอง มาใช้แสดงกันในครั้งนั้น ด้วยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในสมุดไทยบทพระราชนิพนธ์ดังกล่าว บันทึกไว้ในที่หลายแห่งว่า ” ยังทรามอยู่ ” บ้าง ” พอดี ” บ้าง ” ทรงแปลงใหม่ ” บ้าง ” ทรงแทรก ” บ้าง แสดงว่าได้ทรงปรับปรุงแก้ไขต้นฉบับอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมกลมกลืนกับการแสดงเป็นอย่างดี
เกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับการละครนี้ สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ สังเกตดูโปรดละครมาก ไปตีเมืองฝางได้แล้ว ยังให้มารับละครขึ้นไปเล่นสมโภชพระฝาง การฉลองพระนี้ดูเจ้ากรุงธนบุรีเองจะสนุกมากกว่าคนอื่น ” นอกจากจะได้ทรงแต่งบทด้วยพระองค์เองแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังได้ทรงเอาพระทัยใส่กำกับ หรือทรงบัญชาการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เองอีกด้วย
มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในตอนปลายรัชสมัยนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเพิ่มเติม ให้ละครหลวงนำไปใช้แสดงกันอีก ตอนที่ต้นเสียงและผู้แสดงต้องถูกเฆี่ยนถูกตีกันมากก็คือตอนถวายลิง ซึ่งมีบทของหนุมานว่า
“ กลางวันก็ใช้ กลางคืนก็ใช้ นั่งยามตามไฟ ตีเกราะเคาะไม้ อยู่ไม่ได้จึงหนีมา ”
ปรากฏว่าต้นเสียงร้องไม่ได้ ถูกเฆี่ยนเสียเป็นหนักเป็นหนา เอาจนร้องได้ !
แต่บทพระราชนิพนธ์ตอนถวายลิงนี้ไม่มีต้นฉบับเหลือไว้เลย
อีกเรื่องหนึ่ง เล่ากันมาว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงระยะปลายรัชสมัยเช่นเดียวกัน วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังประทับทอดพระเนตรการแสดงละครเรื่องอิเหนาตอนเสี่ยงเทียน ครั้นเมื่อละครเล่นมาถึงตอนที่นางมะเดหวีสอนนางบุษบา ให้กล่าวคำอธิษฐานตามบท แต่นางบุษบาแสดงกิริยาอิดเอื้อนด้วยความอาย นางมะเดหวีจึงเซ้าซี้ชี้ชวนให้นางบุษบากล่าวคำอธิษฐานออกมาจนได้
ปรากฏว่าเมื่อการแสดงได้ดำเนินมาถึงตอนนี้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งประทับทอดพระเนตรอยู่ จะเป็นด้วยไม่พอพระราชหฤทัยในตัวผู้แสดง หรือจะเป็นด้วยผู้แสดงที่เป็นตัวนางมะเดหวีนั้น “ ตีบทแตก ” แสดงได้ดีถึงขนาด จนทำให้พระราชหฤทัยเคลิบเคลิ้มเห็นเป็นเรื่องจริงจัง หรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้ ทำให้ทรงมีรับสั่งออกมาในขณะนั้นว่า
” อีนี่ เขาไม่ใช่ลูกใช่เต้าของตัว เอามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการ เอาตัวมันไปเฆี่ยนเสีย !”
ตกลงวันนั้น “ นางมะเดหวี ” ต้องถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนเจ็บตัวไป ด้วยเหตุที่แสดงได้ดีถึงขนาด
ด้วยมีเรื่องเล่ากันสืบมาดังนี้ จึงสันนิษฐานได้ว่า นอกจาก เรื่องรามเกียรติ์ แล้ว บทที่ใช้ในการแสดงละครหลวงครั้งสมัยกรุงธนบุรีนั้น คงจะมี อิเหนา อีกเรื่องหนึ่ง
แต่ไม่ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ เข้าใจว่าคงจะทรงใช้บทครั้งกรุงเก่า เท่าที่มีอยู่นำออกแสดง
นอกจากนี้ ตามทางสันนิษฐาน ละครในสมัยกรุงธนบุรีอาจจะมีการเล่น เรื่องอุณรุท ด้วยอีกเรื่องหนึ่ง โดยใช้บทละครของเก่าที่แต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยามาแสดงเช่นกัน
ในสมัยกรุงธนบุรี คงจะได้มีการฝึกหัดละครหลวงกันขึ้นใหม่ เป็นจำนวนมากคนด้วยกัน จึงสามารถแบ่งตัวออกแสดงพร้อมๆ กันได้หลายโรง และละครหลวงในครั้งนั้นปรากฏว่ามีทั้ง ละครผู้หญิง และ ละครผู้ชาย ละครผู้ชายนั้น เข้าใจว่าจะเล่นอย่าง “ ละครนอก ” ซึ่งยึดตลกโปกฮาเป็นใหญ่ ด้วยตัวแสดงเป็นผู้ชายล้วนๆ การที่จะมีลีลาร่ายรำงดงามอ่อนช้อยอย่าง ” ละครใน ” นั้นย่อมจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
การแสดงละครครั้งสำคัญที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี มีการเล่นประชันกันหลายคณะหลายโรงทั้งของหลวง ของเจ้านคร และของเอกชน ทั้งละครผู้หญิง – ละครผู้ชาย มีมหรสพนานาชนิดเล่นเรียงรายไปทั้งสองฟากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา รวมหลายสิบโรงด้วยกัน ก็คือเมื่อคราวงานต้อนรับและ สมโภชพระแก้วมรกต เมื่อปลายปี พ.ศ.2322 ต่อกับต้นปี พ.ศ.2323
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงการแสดงละครครั้งนั้นว่า
“… พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ละครผู้หญิงละครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง 10 ชั่งเงินโรงผู้ชาย 5 ชั่ง มี 7 วัน … ฯลฯ … ให้มีละครผู้หญิงประชันกับละครเจ้านครวัน 1 โรงละ 5 ชั่ง ละครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ 5 ชั่ง มีอีก 3 วัน …”
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชวิจารณ์เหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
” พลับพลานั้นเห็นจะเป็นพลับพลายาวปลูกขึ้นใหม่ ทอดพระเนตรได้ทั้ง 2 ด้าน “
แสดงว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในครั้งนั้น ได้ตั้งพระทัยทอดพระเนตรการแสดงของละครอย่างจริงจัง ตลอด 7 วัน 7 คืนที่มีละครหลวงเล่นประชันกัน
นับเป็นงานสนุกสนานมโหฬารที่สุดของคนไทยในครั้งนั้น นับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยามาได้ 12 ปีเต็มพอดี
นาฏศิลป์และการละเล่นสมัยกรุงธนบุรี เท่าที่ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุ สมโภชพระแก้วมรกต พ.ศ.2323 คือ โขน หนัง หุ่น ละคร รำ ( รำหญิง , รามัญรำ , ชวารำ , ญวนรำถือโคมดอกบัว ) มโหรี ปี่พาทย์ ระเม็ง โมงครุ่ม ญวนหก และคนต่อเท้าโจนหกรับหอก หกไม้ลำเดียว หกไม้สูง 3 ต่อ ไต่ลวดลังกาไม้ลอดต่ำ ดุลาเล็ก มังกรตีวิสัย ( แทงวิสัย ) โตกระบือหรือโตกระบือ จีนเงาะ มวย คู่ปล้ำ เสลหรือดาบดั้ง คู่ง้าว คู่ทวน คู่หอก คู่กฤช ชนช้าง แข่งม้า ทวนหลังม้า กระบี่หลังม้า และม้าคลุมม้าคลี
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีได้กล่าวถึงละครในสมัยธนบุรีไว้หลายตอน เช่น “ ต้นปีฉลู โปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้น หมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย แล้วเสด็จไปตีเมืองนคร เสด็จไปทัพเรือ ทรงเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด เข้าปากน้ำเมืองนคร ณ วันเดือน 10 แรม 7 ค่ำ จุลศักราช 1131 ปีฉลู เอกศก ”
“ เมื่อชนะศึกแล้วได้รับการถวาย ทั้งละครผู้หญิง เครื่องประดับเงินทองราชทรัพย์สิ่งของ เสด็จลงมาสมโภชพระบรมธาตุ มีละครผู้หญิง แล้วให้ตั้งแห่สระสนาน 3 วัน เสด็จอยู่นานจนจีนนายสำเภา เอาของปากสำเภามาถวาย จึงให้เจ้านราสุริยวงศ์อยู่กินเมือง เสด็จกลับมากรุงธนบุรี “
” ติดตามไปพบช้างอยู่ชายป่าแม่น้ำมืด ได้มาถวาย รับสั่งให้สมโภชนางพญาแล้ว ให้รับละครผู้หญิงขึ้นไปสมโภชพระฝาง 7 วัน แล้วไปเหยียบเมืองพิษณุโลก สมโภชพระชินราช พระชินศรี 7 วัน มีละครผู้หญิง …”
” เชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานมาศแห่มา ณ โรงพระแก้วอยู่ที่ท้องสนาม พลับพลาเสด็จอยู่กลาง ละครผู้หญิงละครผู้ชายอยู่คนละข้าง เงินโรงผู้หญิง 10 ชั่ง เงินโรงผู้ชาย 5 ชั่ง มี 7 วัน … สมโภชถ้วนสัตตวาร ให้มีละครผู้หญิงประชันกับละครเจ้านคร 1 วัน โรงละ 5 ชั่ง ละครหลวงแบ่งออกประชันกันเองโรงละ 5 ชั่ง มีอีก 3 วัน …”
นอกจากการละครแล้ว การดนตรี มโหรี ปี่พาทย์ ก็ได้รับการส่งเสริมคู่เคียงกันมา ปรากฏในจดหมายความทรงจำกล่าวถึงการบรรเลงดนตรีครั้งสำคัญๆ หลายครั้ง
หมายเหตุ

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ (ภาพจากหนังสือดนตรีในวิถีชีวิตไทย)
วงปี่พาทย์ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ปี่พาทย์ไม้แข็ง และปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ทั่วไปประกอบด้วยเครื่องดนตรี 4 ชนิด หลักคือ ระนาด ฆ้องวง ปี่ และเครื่องประกอบจังหวะ วงปี่พาทย์ทั้งสองชนิดต่างกันที่ความแข็งของไม้ที่ใช้ตีระนาดและฆ้องวง และเครื่องดนตรีที่นำมาใช้ประสมวง กล่าวคือ วงปี่พาทย์ไม้นวมจะใช้ขลุ่ยแทนปี่ และเพิ่มซออู้เข้าไป จึงทำให้มีเสียงทุ้มนุ่มนวล และบรรเลงด้วยลีลาที่อ่อนหวานสนุกสนานตามแบบฉบับไม้แข็ง วงปี่พาทย์ทั้ง 2 ชนิดจำแนกออกได้ 3 ขนาด คือ วงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

เครื่องสายวงเล็ก (ภาพจากหนังสือดนตรีในวิถีชีวิตไทย)
วงเครื่องสาย เป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดีด และเครื่องสีเป็นหลัก มีเครื่องเป่าและเครื่องตีที่ได้เลือกว่ามี เสียงเหมาะสมกันผสม ประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย และเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ โทน รำมะนา และโหม่ง วงเครื่องสายจำแนกได้ตามขนาดของวงและวิธีประสมเครื่องดนตรี จำแนกได้ 4 ชนิด คือ เครื่องสายวงเล็ก เครื่องสายเครื่องคู่ เครื่องสายปี่ชวา เครื่องสายประสม

วงมโหรี (ภาพจากหนังสือดนตรีในวิถีชีวิตไทย)
วงมโหรี เป็นการผสมวงเครื่องสายและวงปี่พาทย์ไว้ด้วยกัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือ ซอสามสาย เพราะซอสามสายเป็นสัญลักษณ์ของวงมโหรีโดยแท้ สำหรับวงมโหรีที่ไม่มีซอสามสายเป็นวงมโหรีที่ไม่สมบูรณ์ จึงเรียกวงประสมระหว่างปี่พาทย์กับเครื่องสายว่าวงมโหรี นักวิชาการไทยบางท่านเรียกว่า “ วงเครื่องสายประสมปี่พาทย์ไม้นวม ” ซึ่งฟังดูเยิ่นเย้อ จึงนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ วงปี่พาทย์เครื่องสาย ” มากกว่า วงมโหรี มี 3 ขนาด คือ มโหรีวงเล็ก มโหรีเครื่องคู่ และมโหรีเครื่องใหญ่ (ปัญญา รุ่งเรือง, 2545 : 48-69)
เช่น ในคราวสมโภชพระเจ้าลูกยาเธอประสูติใหม่ นอกจากนี้นายสวน มหาดเล็ก ได้กล่าวไว้ในโครงเฉลิมพระเกียรติเกี่ยวกับมโหรีเชิงม่านว่า
มโหรีเชิงม่านแม้น พิณอินทร์
เป็นที่นฤบดินทร์ยิน ยั่วล้ำ
ดั่งอัปสรเทวินทร์ ขับท่อ ถนอมนา
เหมือนจะส่อออกซ้ำ แซกซ้ำนำเกษม
งานมหรสพสมโภชในสมัยกรุงธนบุรี

การละเล่นต่างๆ ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังไทย ญวนหก โปรดสังเกต ร้านน้ำที่อยู่บนหลังคาโรงมหรสพ ทุกแห่ง มีบันไดพาด และมีหม้อน้ำตั้งไว้ สำหรับดับไฟซึ่งอาจเกิดขึ้นเนื่องในการจุดดอกไม้ไฟ
(ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2523) (ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
มหรสพ มีความหมายที่ใช้กับการสมโภชฉลองพระบรมศพ พระศพของเจ้านาย ขุนนาง บุคคลสำคัญ (เป็นความหมายที่ใช้ก่อนปี พ.ศ.2416) แต่ในปัจจุบัน หมายถึงการละเล่น หรือการแสดงเพื่อความสนุกสนาน (เกื้อกูร ยืนยงอนันต์, 2546 : 188)
การมหรสพสมัยกรุงธนบุรีนั้นมีหลากหลายชนิด จากหนังสือประชุมหมายรับสั่งภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงการมหรสพสมัยนี้มี โขน ละคร หุ่น งิ้ว รำหญิง หนัง เทพทอง มโหรี ปี่พาทย์ ส่วนการละเล่นมี ปรบไก่ ญวนหก มงครุ่ม ระเบ็ง คนต่อเท้า ลอดบ่วง คู่มวยปล้ำ กระบี่กระบอง หกไม้สูง หกไม้ลำเดียว ไต่ลวด โยนมี เป็นต้น โดยสรุปมหรสพเหล่านี้มีทั้งที่เป็นการแสดง การบรรเลงดนตรี การละเล่นพื้นเมืองและกายกรรม นอกจากนี้การแสดงแต่ละชนิดยังมีหลายคณะตามเชื้อชาติด้วย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
งานมหรสพสมโภชของหลวงที่นำมากล่าวถึงนี้มี 5 งาน เพื่อที่จะได้ศึกษารายละเอียดของการแสดงและการละเล่นเปรียบเทียบกัน ดังนี้

ภาพการละเล่นต่างๆ ลอดบ่วง ระทาดอกไม้ไฟ โรงหนังจีน (หุ่น) ญวนหก (ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง
ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2523) (ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
งานที่ 1 งานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ณ วัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทารามในปัจจุบัน) จ.ศ.1138 (พ.ศ.2319) ในงานนี้ มีหมายรับสั่งกำหนดเครื่องเล่น ดังนี้
“ …กลางวัน โขนหลวงอินทรเพท 1 โขนขุนราชเสนี 1 (รวม) 2 โรงงิ้วพระยาราชเศรษฐี โรง 1 …เทพทอง โรง 1 …โขน 4 รำหญิง 4 โรง หนังกลางวัน 2 โรง หุ่นยวน 1 โรง งิ้ว 2 โรง (รวม) 17 โรง … หุ่นลาว 2 โรง … รวม 18 โรง
กลางคืน หนังไทยโรงใหญ่ 3 โรง …หนังไทยโรงช่องระทา… หนังจีน 2 โรง … (รวม 16 โรง)
(รวมกลางวันกลางคืน) 35 โรง … ”
งานที่ 2 งานพระราชทานเพลิงพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์และเจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ในจ.ศ.1138 (พ.ศ.2319) ณ วัดบางยี่เรือนอก กำหนดเครื่องเล่น ดังนี้
“ …กลางวัน มีการแสดงโขนโรงใหญ่ 2 โรง หว่างระทาโขน 2 โรง รำหญิง 1 โรง หนังกลางวัน 1 โรง หุ่นมอญ 1 โรง หุ่นลาว 2 โรง (รวม) 7 โรง งิ้วโรงใหญ่ โรง 1 เทพทอง โรง 1 ละครเขมร รามัญเก่ารำ รามัญใหม่รำ หนังไทยโรงใหญ่ 2 โรง หนังไทยหว่างระทา 5 โรง หนังจีน โรง 1 ส่วนกายกรรมมี ญวนหก คนต่อเท้า 2 คน …”

ภาพการละเล่นต่างๆ ญวนหก ไต่ลวด ระทาดอกไม้ไฟ หนังไทย (ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง
ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , 2523) (ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
งานที่ 3 งานพระศพมารดาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ จ.ศ. 1142 (พ.ศ.2323) ณ วัดบางยี่เรือนอก กำหนดเครื่องเล่น ดังนี้
“ …กลางวัน มีการแสดงโขนโรงใหญ่ 2 โรง หุ่นลาว 2 โรง หุ่นลาวโรงใหญ่ โรง 1 ละครโรงใหญ่ โรง 1 ละครเขมรโรง 1 งิ้วจีนโรง 1 เทพทองหว่างระทาโขน 1 โรง รำหญิง 1 โรง หุ่นมอญ 1 โรง กลางคืนมีหนังไทยโรงใหญ่ 2 โรง หนังไท (ไทย) หว่างระทา 7 โรง หนังจีนโรง 1 รามัญเก่ารำ รามัญใหม่รำ … ”

ภาพการละเล่นต่างๆ ลอดบ่วง ต่อตัว โยนมีด (ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , 2523)
(ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
งานที่ 4 งานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าเสง พระยาสุโขทัย พระยาพิไชยสวรรค์ ณ วัดบางยี่เรือนอก จ.ศ.1139 (พ.ศ.2320) กำหนดเครื่องเล่น ดังนี้
“ …กลางวันมีโขนโรงใหญ่ 2 โรง หว่างระทาโขน 2 โรง รำหญิง 1 โรง หนังกลางวัน 1 โรง หุ่นมอญ 1 โรง หุ่นลาว 2 โรง งิ้วโรงใหญ่โรง 1 รามัญเก่าโรง 1 รามัญใหม่โรง 1 เทพทองโรง 1 ญวนหก คนต่อเท้า … ”

ภาพการละเล่นต่างๆ ต่อยมวย (ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , 2523) (ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
งานที่ 5 งานสมโภชพระแก้วมรกต งานนี้มีสมโภชหลายระยะ เริ่มจากขบวนอัญเชิญพระแก้วมรกตมาถึงท่าเจ้าสนุก เมืองสระบุรี ก็มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน จากนั้นแห่เรือลงมาถึงพระตำหนักบางขรณี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จขึ้นมารับที่นี่ และแห่เรือเครื่องเล่น ซึ่งเป็นขบวนที่ยิ่งใหญ่ใช้เรือสองร้อยกว่าลำ เครื่องเล่นที่แห่ลงมามี ดังนี้
“ …โขนลงสามป้านหลวงรักษาสมบัติ งิ้วลงสามป้านพระยาราชาเศรษฐี … ละครไทยหมื่นเสนาะภูบาล หมื่นโวหารภิรมย์ ละครเขมรลงสามป้านหลวงพิพิธวาที ปี่กลองจีนหลวงโชฎึก ญวนหกลงเรือญวน หุ่นลาวลงเรือกุแหละ ชวารำหน้า มโหรีไทยหลวงอนุชิตราชา มโหรีฝรั่ง หลวงศรียศ มโหรีเขมรพระองค์แก้ว เป็นต้น… ”
เมื่อกระบวนแห่พระแก้วมรกตมาถึงสะพานป้อมต้นโพธิ์ปากคลองนครบาล พนักงานได้อัญเชิญขึ้นมาไว้ในโรงข้างพระอุโบสถวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม ในปัจจุบัน) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์รามัญ ปี่พาทย์ลาว มโหรีแขกฝรั่ง มโหรีจีนญวน มโหรีมอญเขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภชเป็นเวลา 2 เดือน 12 วัน ดังจะเห็นได้ว่า บรรยายกาศบริเวณรอบๆ วัดแจ้งในช่วงนั้นคงร่มเย็นเต็มไปด้วยเสียงเพลง
ครั้นถึงเวลาสมโภช ณ วันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน ได้มีการแสดงมากมายเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน อาทิ

โรงงิ้ว (ที่มา : ประชุมหมายรับสั่ง ภาคที่ 1 สมัยกรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี , 2523)
(ภาพจากหนังสือสิปปศาสตร์รังสรรค์)
กลางวันมีหุ่นลาว ละครเขมร งิ้วจีน งิ้วญวน หว่างระทาโขน รำหญิง หนังกลางวัน เทพทอง กลางคืนมีหนังไทย หนังหว่างระทา หนังจีน เป็นต้น
งานมหรสพสมโภชพระแก้วมรกตครั้งนี้เป็นวาระที่สนุกสนานครึกครื้นมากสำหรับชาวธนบุรี เพราะนอกจากมีการแสดงแล้วยังมีการละเล่นและกายกรรมให้ชม อาทิ หกไม้สูง หกไม้ลำเดียว ไต่ลวดต่ำ ญวนหก คนต่อเท้า 2 คน ปรบไก่ มงครุ่ม ระเบ็ง ชวารำหน้า ญวนรำถือโคมดอกบัว นอกจากนี้ยังมีคู่ปล้ำ คู่มวย คู่กระบอง คู่กระบี่ คู่โล่ คู่ดั้ง คู่ทวนมอญ ลาวญวน เป็นต้น
งานมหรสพสมโภชคงไม่สมบูรณ์ ถ้าไม่มีการเล่นไฟ ดังนั้นงานนี้จึงมีทั้งเสียงประทัด พลุจีน ดอกไม้เพลิง ดอกไม้รุ่ง ฝอยทอง กังหัน เพลิงพะเนียง เป็นต้น
มหรสพการแสดงในงานพระบรมศพ งานพระศพ และงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้านาย ขุนนาง รวมทั้งการสมโภชพระแก้วมรกต ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นทั้ง 5 งาน ได้สะท้อนอะไรบ้าง ?
ภาพสะท้อนจากงานมรหสพสมโภช
งานมหรสพสมโภชทั้ง 5 งาน ให้ภาพสะท้อนดังนี้
1. สังคมสมัยกรุงธนบุรีเป็นสังคมนานาชาติ จะเห็นได้จากการแสดงและการละเล่นสมัยนี้ มีความหลากหลาย แต่ละชนิดเป็นศิลปะของหลายเชื้อชาติ หลายภาษา เช่น
การแสดงหุ่นก็มี หุ่นไทย หุ่นมอญ หุ่นเขมร หุ่นลาว หุ่นจีน หุ่นญวน และหุ่นทวาย (หุ่นทวาย รูปทวาย หรือรูปคนทวาย พวกทวายทำด้วยไม้ มีผ้านุ่งห่มอย่างคนทวาย มีสายชัก (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2525, 2538) ส่วนงิ้วมีทั้งงิ้วจีนและงิ้วญวน ละครมีทั้งละครไทยและละครเขมร รำก็มีทั้งรำหญิง (ไทย) รามัญรำ มอญรำ ส่วนหนังมีทั้งหนังไทยและหนังจีน การบรรเลงดนตรีก็มีทั้งมโหรีไทย มโหรีแขกฝรั่ง มโหรีจีนญวน มโหรีมอญเขมร ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์รามัญ การแสดงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งเป็นสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม อาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งลาว มอญ เขมร แขกตานี จีน ญวน ฝรั่ง เป็นต้น คนเล่านี้บางกลุ่มอยู่มาแต่ดั้งเดิม หลายกลุ่มมาจากการถูกกวาดต้อนเมื่อกองทัพธนบุรีชนะสงคราม
หลายกลุ่มได้รับการเกลี้ยกล่อมให้อพยพมาอยู่ที่กรุงธนบุรี กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนเฉพาะของตนมีหัวหน้าปกครอง หัวหน้าเป็นข้าราชการ มีบรรดาศักดิ์และศักดินา ขุนนางผู้ใหญ่เหล่านี้ต่างก็มีคณะโขน หนัง ละคร เพลงพื้นเมืองและวงดนตรีเป็นของตนเอง คณะการแสดงเหล่านี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมในงานสมโภชทำให้การแสดงนั้นสร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นตระการตา และหลากรสเป็นอันมาก
ขุนนางผู้ใหญ่ที่ดูแลจัดคณะมาร่วมงานสมโภช เช่น
– พระยาราชาเศรษฐีองเชียงชุน มโหรีญวน
– พระยาราชาเศรษฐีจีน มโหรีจีน
– พระยารามัญวง มโหรีมอญ
2. ความสนุกสนานของคนในสังคมเมืองธนบุรี ถ้าพิจารณาจากงานมหรสพสมโภชจะเห็นได้ว่า งานใหญ่ทั้ง 5 งานให้ความบันเทิงแก่ผู้คนแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสมโภชพระแก้วมรกต พ.ศ.2322 มีความสนุกสนาน ครึกครื้นมากกว่าพระบรมศพและพระศพ ในงานสมโภชพระแก้วมรกตมีการแสดงหลากหลายชนิด ให้ชมเหมือนการสมโภชวาระอื่นๆ แต่สิ่งที่สร้างสีสันก็คือ การละเล่นพื้นเมืองและกายกรรม ซึ่งมีมากมายหลายชนิดให้ดู ดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนระยะเวลาที่สมโภชพระแก้วมรกตก็ยาวนาน ตั้งแต่แห่พระแก้วมรกตมาถึงท่าเจ้าสนุก เมืองสระบุรี ก็มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน จากนั้นก็แห่เรือมาที่กรุงธนบุรี ขบวนเรือทั้งหมดมี 246 ลำ ครั้นถึงวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) กรุงธนบุรี ก็จัดให้มีการบรรเลงดนตรีทั้ง มโหรี ปี่พาทย์ ผลัดเปลี่ยนกันตลอดเวลา 2 เดือน 12 วัน หลังจากนั้นเมื่อถึงวันสมโภชยังมีงานฉลองอีก 7 วัน 7 คืน งานนี้เต็มไปด้วยแสงจากดอกไม้เพลิง พลุ คบไฟ และเสียงปี่พาทย์ มโหรี ตลอดจนการแสดงหนัง เป็นต้น
การฉลองที่ยาวนานและสนุกสนาน หลากรส หลายวัฒนธรรมเช่นนั้น ย่อมแสดงว่าคนธนบุรีในช่วงเวลานั้น คงคลายจากความทุกข์ที่ต้องทำสงคราม ความอดอยากขาดแคลนอาหาร การระวังภัยจากทั้งภายในและภายนอก การสร้างบ้านเมืองในต้นรัชกาล ระยะเวลาที่ผ่านมา 10 กว่าปีที่ต้องอดทน ในปลายรัชกาลคงได้ผ่อนคลายบ้าง
3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับการแสดงการละเล่น งานมหรสพสมโภชทุกงานมีการแสดง ทั้งกลางวันและกลางคืน การแสดงกลางวันจะมีให้ชมมากกว่า ส่วนการแสดงกลางคืนจะมีแต่ “ หนัง ” ซึ่งต้องอาศัยการสุมเพลิงให้สว่างที่ฉากผ้าขาว ส่วนผู้เชิดและเต้นจะเชิดและเต้นให้ลงจังหวะตามบทบาทของตัวหนังซึ่งมีทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง เป็นต้น โดยผู้เชิดจะเชิดและเต้นอยู่หน้าจอ เรื่องที่แสดงได้แก่ รามเกียรติ์ นอกจากนี้ยังมีการบรรเลงดนตรี การจุดดอกไม้เพลิง ซึ่งมีหลายชนิด เช่น พลุ พะเนียง ดอกไม้รุ่ง ระทาดอกไม้เพลิง เป็นต้น
การเตรียมการจัดงานแต่ละครั้งมีการกระจายความรับผิดชอบให้คนในกรมกองต่างๆ ดูแลการสร้างโรงการแสดง โรงทาน พลับพลา สะพานข้ามคลอง นอกจากนี้ยังจัดให้อยู่ประจำการ ปี่ กลองชนะ แตร สังข์ ฉัตรต่างๆ มีการเกณฑ์แรงงานจากหัวเมืองมาช่วยงานโยธา เช่น ในงานเชิญพระอัฐิสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์มีการเกณฑ์ให้กรมการเมือง นครสวรรค์ พิจิตร สรรค์บุรี กำแพงเพชร ช่วยทำโรงทึม ให้กรมการเมืองชัยนาท สิงห์บุรี อินทรบุรี พรหมบุรี ช่วยสร้างสะพาน ส่วนชาวต่างชาติก็มีส่วนร่วมกิจกรรมด้วย เช่น ชาวเขมรปลูกโรงละครเขมร ชาวรามัญปลูกโรงรามัญใหม่ เป็นต้น กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ มีคนทุกฝ่ายในสังคมมาร่วมแรงร่วมใจกันทำให้เกิดความสามัคคี ความพร้อมเพรียงและยังได้รับความสนุกสนานด้วย
ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน จะเห็นว่างานทุกงาน รัฐได้จ่ายเงินค่าจ้างให้ทั้งคนงานก่อสร้าง คนร่วมพิธีแห่ รวมทั้งนักแสดง ค่าใช้จ่ายที่ใช้เงินมากเห็นจะเป็นงานสมโภชพระแก้วมรกต ใช้เงินทั้งสิ้น 379 ชั่ง 3 ตำลึง 1 บาท 2 สลึง
4. ความสำคัญของวัดบางยี่เรือนอก (วัดอินทาราม) วัดนี้เป็นสถานที่จัดงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้านาย และขุนนางคนสำคัญ ดังปรากฏตามหมายรับสั่ง ทั้งนี้เป็นเพราะวัดนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ใกล้พระราชวัง ใกล้บริเวณสามแยกที่คลองบางกอกใหญ่ คลองด่านและคลองชักพระมาประสบกัน คงเป็นศูนย์การค้าทั้งสินค้าขาออก และสินค้าขาเข้าเป็นด่านเก็บภาษีอากรขนอนตลาด เป็นที่ชุมนุมคน เป็นชุมนุมทางคมนาคม เป็นทำเลทำให้เศรษฐกิจคล่องตัว นอกจากนี้วัดนี้ยังเป็นวัดที่ ่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป พระเจดีย์ วิหารสร้างกุฏิพระจำนวนหลายหลัง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อารธนาพระสงฆ์ฝ่ายคณะวิปัสสนามาจำพรรษาที่วัดนี้
5. การแสดง การบรรเลงดนตรี การละเล่นพื้นเมือง และกายกรรมในสมัยกรุงธนบุรีเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเชื่อมโยงจากสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องไปสู่สมัยรัตนโกสินทร์ แม้ว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.2310 แล้ว ผู้ที่รู้แบบแผนการแสดงต่างๆ จะกระจัดกระจายหายไป แต่ในที่สุดก็สามารถระดมศิลปินจากหัวเมืองมาฟื้นฟูศิลปการแสดงที่กรุงธนบุรีได้ นับเป็นการธำรงรักษาของเดิมไว้ และส่งต่อไปสู่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์
กล่าวโดยสรุปการมหรสพในสมัยกรุงธนบุรีต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ต่อมาในช่วงต้นรัชกาล กรุงธนบุรีก็ต้องเผชิญปัญหาสภาพบ้านเมืองและปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาอย่างยิ่งปัญหาความอดอยาก ปัญหาโจรผู้ร้าย จึงยังไม่มีเวลาที่จะฟื้นฟูศิลปะแขนงต่างๆ แต่เมื่อบ้านเมืองเริ่มมั่นคงขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงพยายามรื้อฟื้นศิลปะทุกๆ แขนง โดยระดมศิลปินจากเมืองนครศรีธรรมราชมาฝึกหัด การแสดงละครและอื่นๆ แก่ชาวธนบุรี นอกจากนี้ยังทรงกำหนดการแสดง การละเล่นหลากหลายชนิดในงานมหรสพสมโภชทั้งงานพระศพของเจ้านาย และศพของขุนนาง ตลอดจนงานสมโภชพระแก้วมรกต
งานสมโภชเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้ชนทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงธนบุรี ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมงาน การแสดงอื่นๆ ทำให้คนทุกฝ่ายได้สมัครสมานสามัคคีกัน ได้ฟื้นฟูจิตใจของประชาชนให้คลายความทุกข์บ้าง อีกทั้งยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยมิให้สูญหายไปอีกด้วย (เกื้อกูล ยืนยงอนันต์, 2546 : 188-194)
สรุปพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เกี่ยวกับ การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในครั้งนั้นอาจประมวลได้ดังนี้
1. ทรงมีความสนพระทัยกว้าง ทรงเห็นความสำคัญของศิลปะวิทยาการทุก ๆ ด้าน และทรงขยันขันแข็งในพระราชกรณียกิจไม่ทรงปล่อยเวลาให้เสียไปด้วยการแสวงหาความสุขส่วนพระองค์ แม้จะทรงมีเวลาว่างเพียงเล็กน้อยจากการศึกสงคราม และการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ก็ทรงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำนุบำรุงศิลปะวิทยาการมากที่สุด
2. ทรงต้องการเก็บรวบรวบวรรณกรรมเก่า อันเป็นของดีของหวงในสมัยอยุธยาให้คงไว้ การที่จะเก็บรวบรวมวรรณกรรมของเก่าที่เหลือรอดจากการถูกไฟเผาแต่อย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ จำเป็นต้องแสวงหานำมาปะติดปะต่อทั้งจากต้นฉบับและจากความทรงจำ ต้นฉบับวรรณกรรมอาจต้องสืบหาตามบ้านเรือนราษฎร วัด และหัวเมืองต่าง ๆ ที่ได้คัดลอกกันไป งานรวบรวมดังกล่าวคงจะเป็นงานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดให้ดำเนินการอย่างรีบเร่งเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยให้เนิ่นนานไป วรรณกรรมต่าง ๆ ย่อมเสื่อมสลายไปได้
3. ทรงเห็นความจำเป็นในการบำรุงขวัญของประชาชน บ้านเมืองภายหลังพ่ายแพ้สงครามยับเยิน ไพร่บ้านพลเมืองย่อมเสียขวัญเป็นอย่างมาก หมดกำลังใจที่จะปฏิบัติภารกิจการงานของตน แม้พระเจ้าแผ่นดินได้กอบกู้อิสรภาพคืนมาจนสร้างบ้านเมืองใหม่แล้วก็ตาม แต่สภาพจิตใจของพลเมืองย่อมกลับคืนคงเดิมได้ยากและช้านานกว่าการสร้างสรรค์สภาพทางวัตถุ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตระหนักในเรื่องนี้ จึงทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ในการบำรุงขวัญราษฎรด้วยการส่งเสริม ศิลปะ วรรณกรรม ซึ่งเป็นเครื่องบันเทิงใจของประชาชน นอกจากจะทรงโปรดให้มีการแต่งบทวรรณกรรมแล้ว ยังโปรดให้ ฟื้นฟูการละคร ขึ้นอีก ทรงนำละครซึ่งเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครศรีธรรมราชเข้าฝึกหัดชาววัง และยังโปรดให้ฟื้นฟูละครของหลวงตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นอีกด้วย การแต่งวรรณกรรมและการฟื้นฟูส่งเสริมการละครเป็นกุศโลบายอันแยบคายในการบำรุงขวัญประชาชน
4.ทรงต้องการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ให้ครบถ้วนตามโบราณราชนิยม กล่าวคือพระเจ้าแผ่นดินต้องส่งเสริมการ อักษรศาสตร์ ด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้แสดงถึงน้ำพระทัย มุ่งมั่นที่จะทรงทำพระราชกรณียกิจด้านนี้ให้ดีที่สุด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและ สภาพการณ์แวดล้อมทั้งปวง ผลงานด้านวรรณคดีในสมัยของพระองค์แม้จะไม่ดีเด่นเท่าเทียมสมัยที่รุ่งเรือง แต่ก็ได้แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมยากที่จะพึงทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น
5. อาจทรงหวังให้วรรณกรรมเป็นเครื่องนำให้เกิดความคิด ความรักใคร่สามัคคี ความรักชาติและความเสียสละ ทรงแต่งรามเกียรติ์ตอนพระมงกุฎ เป็นตอนที่บ้านเมืองพระรามยุ่งยากเพราะเกิดความหลงผิดกันขึ้นและเมื่อทุกคนเข้าใจกันได้ ก็เกิดความสงบสุขทั่วกัน รามเกียรติ์ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินทร์จนถึงส่งนางไปเมืองฟ้า และตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ล้วนเป็นตอนที่แสดงคติธรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองทั้งสิ้น จะเห็นได้ชัดว่าการฟื้นฟูส่งเสริมวรรณกรรมสมัยธนบุรี นอกจากจะทำเพื่อเชิดชูและรักษาศิลปะการประพันธ์ตามปกติแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องกับความจำเป็นในการบริหารบ้านเมืองและความผาสุกของประชาชนด้วย (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 22-23)
สรุปลักษณะเฉพาะของศิลปวัฒนธรรมสมัยธนบุรี
สมัยธนบุรีมีช่วงเวลาสั้นเพียง 15 ปี ลักษณะเฉพาะของศิลปวัฒนธรรมจึงไม่ปรากฏเด่นชัดนัก พอสรุปได้ดังนี้
1. ศิลปกรรมเกือบทั้งหมดได้รับอิทธิพลจากความเจริญของกรุงศรีอยุธยา ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม นาฏกรรมและวรรณกรรม
2. ศิลปกรรมสมัยธนบุรี มักเป็นศิลปะที่ไม่วิจิตรพิสดาร มีลักษณะพื้นๆ ง่ายๆ สังเกตได้จากการก่อสร้างอาคารสถานที่สำคัญๆ เช่น พระราชวังและวัดวาอาราม ทั้งนี้คงเป็นเพราะสถานะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังตกต่ำอย่างมากนั่นเอง ทางด้านวรรณคดีก็เช่นกันมีแต่วรรณกรรมเรื่องสั้นๆ วรรณกรรมที่เป็นเรื่องยาวมาก่อน เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา ก็ตัดทอนมาแต่งเป็นตอนสั้นๆ เท่านั้น แม้ว่าสมัยธนบุรีจะไม่มีศิลปกรรมที่เด่นพิเศษเป็นแบบอย่างได้ แต่ก็มีลักษณะที่ดำรงรักษาความเจริญรุ่งเรืองในยุคก่อนให้คงอยู่ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมฟื้นฟูในสมัยต่อมา (สมพันธุ์ เลขะพันธุ์ , 2530 : 33-34)