พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 6 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ

พระราชกรณียกิจสำคัญประการแรกที่ต้องพระราชประสงค์เป็นเบื้องต้น และทรงถือเป็นพระราชกิจหลัก คือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ให้ทั่วประเทศเสียก่อน แล้วจึงจะเสด็จไปต่างประเทศตามคำกราบบังคมทูลเชิญฯ ดังนั้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2498 ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรบริเวณจังหวัดภาคกลางทั้งทางบกและทางน้ำ ต่อมาได้เสด็จฯ เยือนอีสานเป็นครั้งแรก โดยเสด็จทางรถไฟจากสถานีจิตรลดา ไปยังจังหวัดต่างๆ มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จมากมายทุกแห่ง และต่างก็แสดงความจงรักภักดี

เสด็จฯ เยี่ยมเยือนประชาชนทางอีสาน
สถานีรถไฟจิตรลดา

มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผู้พบเห็น เกิดความตื้นตันใจอย่างเหลือเกิน คือขณะที่รถไฟเคลื่อนขบวนมีตายายคู่หนึ่ง วิ่งละล้าละลังนำกระติบข้าวเหนียว และปลาร้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย และร้องบอกว่า “ เห็นพ่อกับแม่จะไปรถไฟ กลัวไม่มีอะไรกินกลางทาง จึงเอามาฝาก ” นี่แสดงให้เห็นน้ำใจชาวอีสานที่น่าชื่นชม เขาห่วงใยในพระองค์ เช่นเดียวกับที่พระองค์ทรงห่วงใยพวกเขา

ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดพิธีรับเสด็จที่บริเวณทุ่งศรีเมือง โดยจัดให้มีบายศรีสู่ขวัญ 9 ชั้น นับเป็นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มีพิธีถวายพระพรชัยมงคลด้วยถ้อยคำสำเนียงพื้นเมืองอันแสดงวัฒนธรรมดั้งเดิมทางภาคเหนือ

เสด็จเยี่ยมชาวเขา
เสด็จประพาสเชียงใหม

แม้ในเขตอันตรายก็เสด็จไป เช่น ที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ในขณะนั้นมีการรบกัน ตำรวจตระเวนชายแดนถูกล้อมแล้วถูกยิงบาดเจ็บ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เฮลิคอปเตอร์ไปรับผู้บาดเจ็บ พอพระองค์จะเสวยพระกระยาหารกลางวัน ก็มีเสียงเครื่องยนต์กระหึ่มนำผู้บาดเจ็บมา พระองค์จึงงดเสวยพระกระยาหารข้าวห่อที่ทรงนำไปเอง เสด็จไปรับ ครั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรเห็นริมฝีปากของทหารที่บาดเจ็บแห้งผาก ทรงเห็นใจในความทุกข์ทรมาน จึงทรงปอกส้มป้อนพระราชทานทหารผู้นั้น ยังความซาบซึ้งในน้ำพระทัยแก่ทหารผู้บาดเจ็บ และผู้พบเห็นเหตุการณ์มากเหลือเกิน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงปอกส้มป้อนพระราชทานทหารผู้บาดเจ็บ

ตอนที่เสด็จภาคใต้ ตั้งแต่ชุมพรลงไปใต้สุด ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรและสถานที่สำคัญๆ ช่นที่จังหวัดปัตตานีได้เสด็จประทับบัลลังก์ พิจารณาคดีของศาลจังหวัด เสด็จเยี่ยมมัสยิดหรือสุเหร่าของชาวไทยมุสลิม บางแห่งก็ประทับเป็นเกียรติในมัสยิดตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญ เมื่อเสด็จไปในที่ต่างๆ บางคนก็ขอพระราชทานพระหัตถ์ไปจูบ บางคนก็ขอให้จุ่มพระหัตถ์ลงในขัน มีครั้งหนึ่งราษฎรคนหนึ่งขอพระราชทาน ให้ประทับพระบาทบนศีรษะของตน อีกคนหนึ่งก็ขอเช่นเดียวกันบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีกระแสพระราชดำรัสอย่างขันๆ ถามว่า “ แล้วฉันจะยืนได้อย่างไร ”

เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทางภาคใต้

แสดงให้เห็นว่าราษฎรจงรักภักดีเทิดทูนพระองค์ท่านอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นพระจริยวัตรอันงดงามด้วยพระราชหฤทัยอันสูงส่งที่ทรงพระเมตตาปรานีแก่ปวงชน

พระองค์ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชนตลอดมา คราวใดที่ราษฎรประสบภัยพิบัติ เช่นอุทกภัยน้ำท่วม หรือวาตภัยถูกภัยพายุร้ายแรง ราษฎรได้รับความสูญเสียครั้งใหญ่ พระองค์ทรงห่วงใย ได้พระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคเป็นเครื่องปลุกปลอบ เป็นกำลังใจแก่ผู้ที่กำลังอกสั่นขวัญหาย บางครั้งถึงกับเสด็จไปทรงดูแลเยี่ยมเยียนด้วยพระองค์เอง พระมหากรุณาธิคุณนี้นับเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างแท้จริง เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรที่ไหน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีแพทย์อาสาสมัครตามเสด็จไปตรวจรักษาและแจกยาคนไข้ และทรงรับคนป่วยบางคนไว้เป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมราชวงค์องค์อื่นๆ ได้เสด็จฯ จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้สม่ำเสมอตลอดจนทุกวันนี้ ในปีหนึ่งๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศเวลา และทรงตรากตรำพระวรกายในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรไม่น้อยกว่า 8 เดือน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และเป็นที่ทราบกันว่าการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับในแต่ละภาค ก็คือการเปลี่ยนภูมิภาคเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรของพระองค์เท่านั้นเอง ในปัจจุบันมีพระตำหนักในจังหวัดต่างๆ อาทิ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส และพระตำหนักไกลกังวลหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่
พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส
พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร
พระตำหนักไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ

ทั้งนี้เพื่อจะได้ทรงทราบทุกข์สุขของประชาชนโดยใกล้ชิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้

หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการท่านหนึ่ง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2529 ณ หอประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2530 : 9-28) ความตอนหนึ่งว่า

“… การที่เสด็จพระราชดำเนินลงไปสัมผัสคลุกคลีกับประชาชนนี้ ทรงกระทำโดยวิธีที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียน และให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2495 โดยเสด็จพระราชดำเนินเริ่มในภาคกลางครับ เท่าที่ผมจำได้ พวกจังหวัดอุทัยธานี

ต่อจากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินทางภาคอีสาน และภาคอื่นๆ เป็นลำดับมา แล้วก็ถือว่า เป็นพระบรมราโชบายและพระราชประสงค์อันสำคัญ

ที่จะประทับหรือเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ต่างจังหวัดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชนชาวชนบท สิ่งเหล่านี้บางทีก็ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับหน้าที่ของราชเลขาธิการเหมือนกัน ก็คือว่า ในระยะหนึ่งหากทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ หมายความว่าไม่มีอะไร คือ ไม่ทรงพระประชวรแต่อย่างไรแล้ว หรือไม่มีพระราชกรณียกิจสำคัญแล้ว ปีๆ หนึ่งจะประทับอยู่ในต่างจังหวัด 7-8 เดือน และในปีหนึ่งๆ พูดแล้วไม่น่าเชื่อว่า เสด็จพระราชดำเนินเป็นระยะยาว ตามสถิติที่เราทำไว้เป็นหมื่นๆ กิโลเมตร เพราะทรงเห็นความสำคัญในการที่จะไปช่วยชาวไทยผู้ยากไร้ในชนบทให้มากที่สุด เร็วที่สุดที่จะทรงกระทำได้ ที่ผมว่าเกิดเป็นปัญหาสำหรับราชเลขาธิการ เพราะปรากฏว่ามีพระราชกรณียกิจอีกมากมายในกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่สามารถจะบรรจุลงในพระราชกรณียกิจในกรุงเทพมหานครได้

อย่างเช่น การพระราชทานปริญญาบัตรซึ่งปี ๆ หนึ่งก็มิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีมหาวิทยาลัยต่างๆ มากมาย มีจำนวนนิสิต นักศึกษามากขึ้น แต่ในที่สุดก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรส พระราชธิดาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการนี้ครับ …”

“… การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบทในต่างจังหวัดนั้นถือว่าเป็นพระราชภารกิจหลัก ก็จะแบ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเป็นทางการไปเยี่ยมงานของโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีต่างๆ ตามที่จังหวัดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนิน แต่โดยปรกติงานพิธีต่างๆ จะรับเชิญต่อเมื่อมีโอกาสอำนวยเท่านั้น ปรกติมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการทอดพระเนตรและไปเยี่ยมโครงการในพระราชดำริเป็นส่วนใหญ่ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทำให้ได้มีโอกาสทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร ลักษณะของการเสด็จพระราชดำเนินส่วนใหญ่เป็นการส่วนพระองค์ แต่บางแห่งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ได้ช่วยกันพิจารณาตามความเหมาะสม โดยกลั่นกรองจากข้อมูลที่รวบรวมจากหนังสือขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินจากหน่วยราชการต่างๆ ส่วนที่หมายอื่นๆ บางทีทรงกำหนดเอง คือ บางทีคล้ายๆ กับว่าเสด็จพระราชดำเนินไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ล่วงหน้า เป็นการป้องกันเรียกว่า ผักชีโรยหน้า ซึ่งเคยมีอยู่บ้างเหมือนกัน …”

“… ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงศึกษาสถานการณ์ล่วงหน้า จะทรงพิจารณาเส้นทางภูมิประเทศ ตลอดจนความยุ่งยากปัญหาที่ราษฎรในพื้นที่ประสบอยู่ และทรงวางแผนพัฒนาไว้อย่างคร่าว ๆ จนกว่าจะทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริง แล้วจึงปรับแผนให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง จะทรงสังเกตสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ สภาพแหล่งน้ำ สภาพเส้นทางคมนาคม สภาพพื้นที่เพาะปลูก สภาพป่าไม้ตลอดทาง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงที่หมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายท้องถิ่นในโอกาสนี้ หากทรงพบปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีพของราษฎร หรือในกรณีที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาและฝ่ายรักษาความมั่นคง ที่โดยเสด็จพระราชดำเนิน ถึงแนวทางที่จะวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป สำหรับฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายนั้น จะทรงรับกลับมาและโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาประกอบพระราชดำริ ก่อนจะดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสม …”

“…การเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนภูมิประเทศตามชนบทต่างๆ ก็เพื่อจะทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริงของพื้นที่ ทรงใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการที่พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในท้องถิ่น การที่ได้ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรพื้นที่ที่ประสบปัญหาตามสภาพความเป็นจริง สถิติข้อมูลกับรายงานทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา และรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ตลอดจนใจความฎีการ้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย ในบางโอกาสโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เพื่อนำไปปฏิบัติและส่งรายงานมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระยะๆ ตามปรกติจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลงาน โดยทอดพระเนตรผลงานความก้าวหน้าหรือทรงแก้ไขอุปสรรคให้ลุล่วงไปด้วยดีในพื้นที่เดิม จนกระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทรงชำนาญในการวางแผนจากแผนที่ประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศเป็นพิเศษ เนื่องจากทรงศึกษาประโยชน์จากแผนที่ โดยทรงตรวจสอบความถูกต้องกับพื้นที่จริงตลอดเวลา การที่ได้ทรงใกล้ชิดกับราษฎรก็สามารถที่จะทรงทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ผมเคยได้ทราบว่า กรมชลประทานได้เคยกราบบังคมทูลรายงานการสร้างเขื่อน คือ เขื่อนกั้นน้ำเป็นเขื่อนเล็กๆ ในทางภาคเหนือ ก็ทรงตรวจในแผนที่ พระองค์ทรงสงสัยว่าจะสร้างได้หรือไม่ ก็รับสั่งถามราษฎรที่มาจากหมู่บ้านนั้นๆ ทางราษฎรเขาก็ยืนยันว่าสร้างไม่ได้ ถ้าสร้างแล้วก็จะไม่สามารถกั้นน้ำได้ เพราะเหตุว่าพื้นที่ชั้นล่างเป็นทราย

อันนี้ละครับจึงจะเห็นประโยชน์ของการเสด็จพระราชดำเนินไปรับสั่งกับราษฎรหรืออยู่นานๆ ท่านจะได้เห็นจากภาพในโทรทัศน์ว่า เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประทับราบอยู่กับพื้นและกางแผนที่ รับสั่งกับราษฎรก็เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและแท้จริง ไม่ใช่รับรายงานจากหน่วยราชการนั้นๆ แล้วก็จะทรงเชื่อ เพราะทรงสร้างสิ่งเหล่านี้มาจากงบประมาณของแผ่นดินทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะทำอะไรต้องทำด้วยความรอบคอบ และมีความละเอียดถี่ถ้วนในเรื่องเหล่านี้มาก

ทรงซักถามราษฎรเพื่อจะได้
ข้อมูลที่ถูกต้องและแท้จริง

ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการ สภาพภูมิประเทศ แหล่งน้ำอยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมักจะทรงแยกขบวนเพื่อเยี่ยมราษฎร ทรงซักถามถึงสภาพความเป็นอยู่ ทั้งในเรื่องการอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาเล่าเรียนของเด็ก ตลอดจนทรงรับราษฎรที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพพิเศษ โดยอาจจะผลิตผลงานตามที่ตนถนัดแล้วส่งผลผลิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะรับเป็นผู้จัดการจำหน่ายให้ หรือมิฉะนั้นก็จะเดินทางไปฝึกงานศิลปาชีพ ณ พระราชนิเวศน์ในภาคนั้นๆ คือ

ในที่ประทับแต่ละแห่งก็จะมีศูนย์ฝึกอาชีพของมูลนิธิศิลปาชีพทุกแห่ง โดยจะได้รับค่าตอบแทนในการฝึกงานด้วย รวมทั้งค่าอาหารและที่พัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเสร็จพระราชภารกิจด้านการพัฒนาวางโครงการแล้ว ก็จะเสด็จพระราชดำเนินมาสมทบกับขบวนของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ ที่จัดเยี่ยมราษฎร จนเสร็จสิ้นพระราชภารกิจจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับพร้อมกัน

การจะเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระตำหนักเป็นเวลาไม่แน่นอน สุดแล้วแต่พระราชภารกิจและสภาพเส้นทางคมนาคมที่บางแห่งทุรกันดารมาก ผมอยากจะเรียนเพิ่มเติมว่า บางทีเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงสองยาม เป็นต้นครับ แล้วก็ดังเป็นที่ทราบแล้ว บางทีกว่าจะเสวยพระกระยาหารกลางวัน กว่าจะเสวยได้ก็ประมาณบ่ายสี่โมง ซึ่งผู้ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินอย่างผมเป็นต้น บางทีก็ต้องพกลูกกวาดไป แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกนางสนองพระโอษฐ์หรือพวกข้าราชบริพารฝ่ายหญิงก็มักจะมีของติดกระเป๋า และท่านก็กรุณาให้พวกเราได้รับประทานรองท้อง แน่ละครับ เจ้านายทุกพระองค์ท่านก็ต้องทรงอดทน ผมจึงได้กราบเรียนในตอนต้นว่า ทรงเสียสละ ทรงมีขันติธรรมเป็นอย่างมากทีเดียวครับ บางครั้งการเสด็จพระราชดำเนินนั้นต้องเข้าไปบุกป่า มีเรื่องน่าจะเรียนให้ทราบว่า บางครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปบุกดงทาก เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินภาคใต้ก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในพวกดินพรุ ปรากฏว่ากลายเป็นที่ทากมากมายครับ ก็เป็นปัญหาสำคัญ เพราะเหตุว่าก็มีทากกัดพระองค์ท่าน ก็หาทางที่จะแก้ไขกัน เมื่อตอนที่กษัตริย์มาเลเซียที่เรียกว่า อากง มาเยี่ยมประเทศไทยเป็นทางราชการ ก็ได้ถวายคำแนะนำว่า การที่เสด็จพระราชดำเนินไปในดงทากนั้นน่ะ อย่าให้คนอื่นไปก่อน เราต้องไปก่อน แล้วทากไม่รู้ตัว มันก็จะไม่กัด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เข้าใจว่าทากไทยนี้จะฉลาดกว่าทากมาเลเซีย จริงๆ แล้วมีทากมากมายเสียเหลือเกินครับ สิ่งที่ดีก็คือต้องแต่งพระองค์อย่างรัดกุม คุณข้าหลวงมากระซิบบอกผมว่ายาหม่องนี่มีประสิทธิภาพมากครับ ทรงทายาหม่อง และดูเหมือนจะป้องกันได้ดีกว่าคำแนะนำของอากงมาเลเซียเสียอีกครับ ผมจึงถือโอกาสเรียนไว้ เผื่อใครจะฝ่าดงทากบ้างครับ ”

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะเจริญพระชนม์ครบ 77 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2547 นี้ สำหรับบุคคลทั่วไปถือว่าเป็นวัยสูงอายุ สมควรที่จะได้พักผ่อนร่างกายหาความสงบความสำราญตามสมควรแก่อัตถภาพ แต่เจ้าเหนือหัวของชาวไทยก็ยังทรงตรากตรำพระวรกาย เสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมเยียนประชาชนในท้องถิ่น ทรงผจญต่อสายฝนและปลิง ทาก ริ้นไร ที่รุมตอมดูดกินพระโลหิต ทั้งนี้ก็เพื่อทรงนำประชาชนที่ยากไร้ทำสงครามต่อสู้กับความยากจน ความเจ็บไข้ได้ป่วย และความขาดแคลนสติปัญญา พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญเป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นที่ล้นที่พ้นเช่นนี้ เทียบได้กับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าที่ทรงพระเกียรติได้รับการยกย่องเป็นมหาราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระราชกรณียกิจของล้นเกล้า ล้นกระหม่อมรัชกาลรัชกาลที่ 9 ละม้ายแม้นกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระผู้ทรงคุณแก่ชาติและเป็นที่รักของพสกนิกรเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้นจึงได้เกิดมติมหาชนที่ถวายพระราชสมัญญาเป็นสมเด็จพระมหาราชอีกพระองค์หนึ่งของประเทศไทย ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณฯ เป็นล้นเกล้าฯ มหาชนชาวไทยจึงขอตั้งจิตอธิษฐาน อัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์ทั้งหลายในสากล ได้อภิบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9    ให้ทรงพระเกษมสำราญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญแห่งพสกนิกรชาวไทยทั่วกาลนานเทอญ