นักวิทย์ นักคิดของโลกในสมัยรัชกาลที่ 4
The Pioneer
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/Thomas_Edison2-800x1024.jpg)
โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)
นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แล้ว สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก เขาคือนักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ผลงานการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ จำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น ที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาจากมันสมองของเขา เช่น หลอดไฟฟ้า เครื่องเล่นจานเสียง กล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องขยายเสียง หีบเสียง เครื่องบันทึกเสียง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สร้างความสะดวกสบาย และเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับสาธารณชน นอกจากนี้เขายังปรับปรุงเครื่องใช้ที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โทรศัพท์ และเครื่องส่งโทรเลข เป็นต้น
Table of content
คนอะไรเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปี
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/หนังสือพิมพ์Grand_Trunk_Herald.jpg)
Grand Trank Herald
โทมัส อัลวา เอดิสัน เกิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1847 เมืองมิลาน (Milan) มลรัฐโอไฮโอ (Ohio) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United State of America) เอดิสันมีแววเป็นเด็กฉลาด และเป็นเด็กช่างคิดช่างสังเกตโดยเฉพาะเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และบางครั้งความอยากรู้อยากเห็นของเขาก็ทำให้เกิดความเดือดร้อน เช่น เคยเอาไฟเผาโรงนาจนไฟเกือบไหม้ทั้งเมืองมาแล้ว บิดาได้ส่งเข้าเรียนในขั้นต้นที่โรงเรียนในเมืองพอร์ตฮิวรอน พอร์ตฮิวรอน (Port Huron) แต่เขาไปโรงเรียนได้เพียง 3 เดือนเท่านั้นก็ไม่ยอมไปอีก เมื่อเขาออกจากโรงเรียนมารดาจึงเป็นครูสอนหนังสือให้เขาเอง แต่เขาเรียนได้เพียง 2 ปี เท่านั้นเขาก็สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว สิ่งที่เอดิสันให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ วิทยาศาสตร์การทดลอง และการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ เขาสร้างห้องทดลองขึ้นเองในบ้านตั้งแต่เขาอายุได้ 10 ขวบ และมักจะขลุกอยู่แต่ในห้องทดลองนั้น เมื่อเขาอายุได้ 11 ขวบ เขาสามารถสร้างเครื่องโทรเลขตามแบบหนังสือของแซมมวล มอร์ส ได้ ดังนั้นเขาจึงเริ่มหางานทำตั้งแต่อายุได้ 12 ขวบ เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือ และเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ งานแรกที่เอดิสันได้ทำ คือบริษัทรถไฟแกรนทรังค์ (Grand Trank Train Company) ในหน้าที่เด็กขายหนังสือพิมพ์บนรถไฟสายพอร์ตฮิวรอน-ดีทรอยต์ (Port Huron-Detroit) เอดิสันทำงานอยู่ระยะหนึ่งเขาก็สามารถเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง เขานำเงินไปซื้อแท่นพิมพ์เล็ก ๆ เครื่องหนึ่ง เพื่อมาพิมพ์หนังสือพิมพ์ซึ่งเขาเป็นทั้งเจ้าของ บรรณาธิการ นักเขียนและพนักงานขายหนังสือพิมพ์ด้วย โดยหนังสือพิมพ์ของเอดิสันมีชื่อว่า “Grand Trank Herald”
พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/เครื่องจักรNewcomen-atmospheric-engine-230x300.png)
First model of Thomas Edison’s phonograph, 1877
เอดิสันใช้เวลาว่างจาการทำงานประจำมาประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นหลายชิ้น เช่น เครื่องบันทึกคะแนนเสียงในรัฐสภา แต่เมื่อผลิตออกจำหน่ายกลับไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เขาจึงประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ราคาตลาดหุ้น และเครื่องโทรเลข 2 ทาง ซึ่งประสบความสำเร็จในการทดลองส่งเป็นอย่างดี เอดิสันได้นำผลงานชิ้นนี้ไปเสนอต่อบริษัทเวสเทิร์น ยูเนียนเทเลกราฟ (Western Union Telegraph Company) บริษัทได้ว่าจ้างเขาให้ปรับปรุงโทรศัพท์ของเบลล์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โทรศัพท์ที่ปรับปรุงแล้วของเอดิสันเป็นที่นิยมและขายดีในเวลาต่อมา แต่ประโยชน์ที่เอดิสันได้รับนอกจากเงินเป็นอย่างมากก็คือ ระหว่างที่เขาปรับปรุงโทรศัพท์อยู่นั้น เขาได้บังเอิญค้นพบว่าเสียงที่สั่นสะเทือนในเครื่องโทรศัพท์นั้นสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นหีบเสียงได้ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับโทรศัพท์ คือเมื่อมีเสียงส่งผ่านเข้าไป จะทำให้โลหะที่อยู่ภายในสั่น ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเสียง เอดิสันจึงได้ประดิษฐ์หีบเสียงขึ้น ในปี ค.ศ.1877 เมื่อผลงานชิ้นนี้ของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฎว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากอีกเช่นกัน และต่อมาเอดิสันได้ปรับปรุงหีบเสียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ
สิ่งประดิษฐ์ของเขาอีกชิ้นหนึ่งก็คือ เครื่องบันทึกเสียงซึ่งประกอบไปด้วยกระบอกสูบเป็นร่องที่เป็นลานเกลียวยาวอันหนึ่ง ซึ่งหมุนไปด้วยข้อเหวี่ยง ทั้งสองด้านของกระบอกสูบนี้เป็นท่อเล็ก ๆ พร้อมกับมีแผ่นกระบังและเข็ม เขาได้ส่งแบบเครื่องบันทึกเสียงพร้อมกับคำแนะนำให้กับ จอห์น ครุยส์ (John Kruesi) หัวหน้าผู้ช่วยของโรงงาน เมื่อครุยส์นำเครื่องกลที่สร้างเสร็จแล้วมาให้เอดิสัน แต่ครุยส์ก็ยังไม่เข้าใจว่าเครื่องกลนี้มีประโยชน์อย่างไร จนกระทั่งเอดิสันพูดใส่ลงไปในกระบอกสูบว่า “Mary have a small sheep” และหมุนเครื่องอีกครั้ง ก็มีเสียงดังออกมาว่า “Mary have a small sheep” สร้างความประหลาดใจให้กับคนงานในโรงงานเป็นอย่างมาก เครื่องบันทึกเสียงถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นที่เอดิสันชื่นชอบมากที่สุด ต่อมาเขาได้ปรับปรุงเครื่องบันทึกเสียงมาเป็นเครื่องบันทึกโทรเลข (Automatic Telegraph Repeater)
เมื่อนำผลงานทั้ง 2 ชิ้น ของเอดิสันลงในหนังสือพิมพ์ เมื่อข่าวนี้เผยแพร่ออกไปทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/Thomas-Edison-phonograph-214x300.jpg)
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/หลอดไฟedison-768x570.jpg)
สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก
ผลงานที่สร้างซื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดอีกชิ้นหนึ่งก็คือ หลอดไฟฟ้า ก่อนหน้านั้นเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้าโดยการนำลวดมาต่อเข้ากับขั้วบวกและลบของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ เมื่อเอาปลายของลวดทั้งสองเข้ามาใกล้ ๆ กัน ปรากฎว่าเกิดประกายไฟกระโดดข้ามไปมา โดยประกายไฟกระโดดมีลักษณะโค้งเล็กน้อยอีกทั้งมีแสงสว่างออกมาด้วย ต่อมาเขาได้ทำการทดลองเช่นนี้ในสุญญากาศและผลจากการทดลองครั้งนี้ เดวี่ได้นำไปประดิษฐ์หลอดไฟ โดยตั้งชื่อหลอดไฟฟ้าชนิดนี้ว่า “Arc Light” แต่เส้นลวดไม่สามารถทนความร้อนได้สูง ทำให้การใช้งานของหลอดชนิดนี้มีอายุสั้น จากการทดลองของเดวี่ เอดิสันจึงได้พยายามค้นหาตัวนำที่สามารถทนความร้อนได้สูง เอดิสันทดลองใช้วัสดุมากกว่า 10,000 ชนิด มาทำการทดลองใช้เป็นไส้ของหลอดไฟ และในปี ค.ศ.1879 เอดิสันก็พบว่า เมื่อนำเส้นใยที่ทำด้วยฝ้ายมาทำด้าย จากนั้นนำมาเผาไฟ จะได้ถ่านคาร์บอนที่ทนความร้อนได้สูง และเมื่อนำมาบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศหลอดไฟของเอดิสันสามารถจุดให้แสงสว่างได้นานถึง 45 ชั่วโมง หลอดไฟฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า “Incandesent Electric Lamp” แต่ถึงกระนั้นหลอดไฟฟ้าของเอดิสันก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนักเพราะราคาค่าไฟฟ้าในขณะนั้นแพงมาก
เอดิสันจึงเดินทางกลับมานิวยอร์คอีกครั้งหนึ่ง และก่อตั้งบริษัทชื่อว่า Edison Electric Limit Company เพื่อสร้างเครื่องผลิตกระแไฟฟ้า โดยการนำไดนาโมของไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) มาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเขาได้ตั้งชื่อเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องนี้ว่า “Beauty Mary Ann” ตามชื่อของภรรยาของเขา จากนั้นเอดิสันได้วางสายไฟฟ้าไปทั่วเมืองนิวยอร์ค ทำให้ทุกคนได้มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างทั่วถึง นับว่าเอดิสันเป็นผู้ที่บุกเบิกกิจการไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้เขายังสร้างเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า และสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าอีกด้วย กิจการของเอดิสันดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งการจำหน่ายหลอดไฟฟ้า และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า
เอดิสัน ผู้สร้างภาพยนตร์?
ต่อมาในปี ค.ศ.1889 เขาได้ประดิษฐ์เครื่องมือเกี่ยวกับการถ่ายภาพขึ้น โดยใช้หลักการเดียวกับเครื่องบันทึกเสียงในขั้นแรกภาพที่ถ่ายยังไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ต่อมาในปีค.ศ. 1912 เขาได้ปรับปรุงและทำให้ภาพเคลื่อนไหวได้และพัฒนามาเป็นการถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ นอกจากกล้องถ่ายภาพยนตร์แล้ว เขายังสร้างเครื่องฉายภาพยนตร์ขึ้นด้วย ต่อจากนั้นเอดิสันใช้เครื่องบันทึกเสียงเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการฉายภาพยนตร์ได้ เขาจึงสร้างภาพยนตร์ที่พูดได้ครั้งแรกในโลกขึ้น เขาได้ว่าจ้างนักแสดงจากบรอดเวย์ (Broadway) มาแสดงในภาพยนตร์ชื่อว่า Synchronized Move ผลงานของเอดิสันยังมีอีกหลายชิ้น ได้แก่ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องขยายเสียง (Amplifier) เครื่องอัดสำเนา (Duplicating Machine) และแบตเตอรี่ที่ทำจากนิกเกิลและเหล็ก เป็นต้น
![](https://www.lib.kmutt.ac.th/wp-content/uploads/2023/04/เครื่องฉายภาพยนตร์Edison-Kinetograph-768x377.jpg)
First model of Thomas Edison’s phonograph, 1877
บั้นปลายชีวิต
เอดิสันได้ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดเวลา เขาพักผ่อนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง การที่เขาทำงานอย่างหนักนี้ ทำให้เอดิสันได้ล้มป่วยลงด้วยโรคกระเพาะ เบาหวาน และปัสสาวะเป็นพิษ แต่เมื่ออาการทุเลาลง เขาก็ไม่ยอมหยุดเพื่อพักผ่อนกลับไปทำงานอย่างหนักอีกทำให้อาการป่วยกำเริบขึ้นมาอีกครั้ง จึงเป็นสาเหตุทำให้เขาเสียชีวิตในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ.1931 นับอายุรวม 84 ปี การจากไปของเขาถูกรำลึกและจดจำเทียบเท่าบุคคลสำคัญระดับประเทศ ได้รับการยกย่องในฐานะผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา
สุดท้ายนี้ หากใครสนใจหรืออยากอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว โทมัส เอดิสัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้รอบตัว สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำหนังสือของ โทมัส เอดิสันได้ที่ https://kmutt.me/book-thomas
พันธลักษณ์. (2546). นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ 19
Money Buffalo. (2565). ส่องประวัติ โทมัส อัลวา เอดิสัน เจ้าพ่อนักประดิษฐ์ แต่ไม่ได้ผลิตหลอดไฟสำเร็จเป็นคนแรก. [Online]. Available: https://www.moneybuffalo.in.th/history/thomas-alva-edison [31 มีนาคม 2566]