หลายคนเข้าใจผิดว่า ระบบปรับอากาศเป็นระบบเดียวกันกับระบบระบายอากาศ แท้จริงแล้ว เป็นระบบที่แยกกันแต่สามารถทำงานร่วมกันได้เพื่อให้อากาศภายในอาคารมีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น เป็นระบบที่นำมวลอากาศเข้าเครื่องแล้วปรับอากาศใหม่ออกมา ให้มีภาวะเย็นสบาย
ระบบปรับอากาศ คือ กระบวนการรักษาสภาวะอากาศโดยการควบคุม อุณหภูมิ ความชื้น ความสะอาด การกระจายลม ให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยใช้การทำความเย็น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- ระบบปรับอากาศแบบทำน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooled Water Chiller) เป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุด แบ่งออกเป็นวงจรน้ำเย็นและวงจรน้ำระบายความร้อน เห็นได้จากห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่
- ระบบปรับอากาศแบบทำน้ำเย็นระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooled Water Chiller) คล้ายแบบแรกแต่ไม่มีวงจรระบายความร้อน ควรมีการให้ร่มเงาแก่ชุดพัดลมที่ติดตั้งนอกอาคาร ซึ่งสำนักหอสมุด มจธ. มีการใช้ระบบปรับอากาศประเภทนี้ด้วย
- ระบบปรับอากาศแบบเป็นชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooled Package) ระบบขนาดเล็ก แต่ดูแลบำรุงรักษาและทำความสะอาดค่อนข้างยาก เนื่องจากเครื่องควบแน่นมีขนาดเล็ก
- ระบบปรับอากาศแบบแยกส่วน (Split Type) เป็นระบบที่มีขนาดเล็กที่สุด ใช้กับห้องปรับอากาศทั่วไป
ระบบปรับอากาศในอาคาร LX ใช้ระบบภายในแบบ VRF (Variable Refrigerant Flow) สามารถเปลี่ยนแปลงปริมาณสารทำความเย็นตามภาระโหลดการทำความเย็น โดยให้ค่าสัมประสิทธิ์ของประสิทธิภาพในการทำความเย็น (COP) สูง โดยเราจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อความเย็นได้ที่ เครื่องปรับอากาศจะมีการสลับกันพักการทำงาน นอกจากนั้นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศยังเลือก ใช้สาร R410A ที่ช่วยลดการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศและตำแหน่งเครื่องระบายความร้อน (CDU) จัดวางให้ห่างจากพื้นที่อาคารข้างเคียงเพื่อลดการรบกวนด้านเสียง และความร้อนที่จะเกิดขึ้น
- CFC = Chlorofluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่มีผลทำลายชั้นโอโซน จึงได้มีการยกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น น้ำยา R-11, R-12
- HCFC = Hydro- chlorofluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่มีส่วนทำลายชั้นโอโซน 5% ซึ่งได้มีโครงการที่ยกเลิกในอนาคต เช่น น้ำยา R-22 , R-123
- HFC = Hydro- fluorocarbon เป็นน้ำยาทำความเย็นที่ไม่มีผลทำลายชั้นโอโซน เช่น น้ำยา R-123a, R-407c, R-410a
คุณลักษณะความแตกต่างของน้ำยา R410a กับน้ำยาตัวอื่น ๆ
R410a คือสารผสมซึ่งประกอบขึ้นด้วยสารประกอบ 2 ชนิด คือ สารทำความเย็น R32 (อัตราส่วนร้อยละ 50) และ r125 (อัตราส่วนร้อยละ 50) R 410a ได้ขึ้นทะเบียนกับสถาบัน ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air Conditioning Engineers, USA) จากตารางจะพบว่าน้ำยา R-410a มีคุณสมบัติการทำงานที่มีความดันสูงกว่าน้ำยา R-22 มาก ดังนั้น การออกแบบคอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ของเครื่องปรับอากาศจะต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับความดันที่ใช้งานที่สูงขึ้น เมื่อเครื่องทำงานที่ความดันสูง ความหนาแน่นของน้ำยาขณะทำงานจะสูงตามไปด้วย ซึ่งจะช่วยลดการไหลเวียนของน้ำยาในระบบบได้ ส่งผลให้สามารถออกแบบอุปกรณ์ เช่น คอยล์และคอมเพรสเซอร์ ให้มีขนาดเล็กลงได้ทำให้ใช้ปริมาณน้ำยาที่ลดลง เครื่องปรับอากาศมีประสิทธิภาพดีขึ้น
R410a มีสารประกอบฟลูออโรคาร์บอน (Fluorocarbon) ข้อดีของ R410a คือ มีการแลกเปลี่ยนความร้อนที่ดี มีความเสถียรของสัดส่วนและคุณสมบัติทำให้ใช้ปริมาณน้ำยาลดลง ช่วยให้ระบบปรับอากาศมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าเดิม ซึ่งสารประกอบน้ำยาแอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมีการคิดค้นสาร HCFC มาใช้แทนสาร CFC ที่เป็นส่วนผสมของน้ำยาแอร์ ด้วย
สาร CFC (Chlorofluorocarbons) สารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,000 เท่า จากอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ แอร์ในรถยนต์ มีองค์ประกอบของคลอรีน ฟลูออไรด์ และโพรวีน เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศที่ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อนนี้ จึงมีการผลิตสารทดแทนสาร CFC คือ สาร HCFC (Hydrochlorofluorocarbons) ขึ้น โดยสารดังกล่าวนี้ ประกอบด้วย ไฮโดรเจน คลอรีน ฟลูออรีน และคาร์บอน เนื่องจากเดิมนั้นคลอรีนเป็นตัวสร้างปัญหาที่ทำลายโอโซนดังนั้นจึงใช้ไฮโดรเจนช่วยลดอะตอมของคลอรีน ซึ่ง สาร HCFCs ได้รับการแนะนำให้เป็นสารทดแทน CFC ตั้งแต่ปี 1987 แล้ว