วิธีการดูแลรักษาและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการปลูกส้ม

วิธีการดูแลรักษาและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการปลูกส้ม

“ส้ม” รวมถึงพืชทุกชนิด ขั้นตอนการดูแลรักษาระหว่างการปลูกมีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็น การบำรุงและปรับธาตุอาหารในดินที่อาจเสื่อมสภาพลง ปริมาณของน้ำที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ปัญหาจากวัชพืช แมลง โรคพืช ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการปลูก สิ่งเหล่านี้สามารถป้องกันได้เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ หากมีวิธีการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาอย่างถูกวิธี
ในระหว่างการปลูกส้ม ดิน น้ำ อากาศ และ ปุ๋ย เป็นสิ่งจำเป็นที่สัมพันธ์กันในการดูแลรักษาต้นส้มให้แข็งแรง เช่น อากาศร้อนจัดอาจส่งผลให้ดินแห้ง ใบเหี่ยว ต้องเพิ่มปริมาณการให้น้ำ รวมถึงปุ๋ยที่มีหน้าที่บำรุงและปรับสภาพดินเพื่อลำเลียงธาตุอาหารไปยังต้นส้มในปริมาณที่เหมาะสม หากใส่ปุ๋ยมากเกินไปอาจจะทำให้ดินมีค่ากรด-ด่าง ที่เป็นผลเสีย เกิดปัญหาดินเค็มและโรคพืช เป็นต้น สำหรับการดูแลรักษาต้นส้มในระหว่างการปลูก จำแนกตามองค์ประกอบในการปลูกส้ม ดังนี้
1. การปรับสภาพดินให้เหมาะสม หมั่นสังเกตดิน หรืออาจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างในดิน หากมีความผิดปกติต้องปรับสภาพดินอาจใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และแกลบเป็นวัสดุปรับปรุงดิน โดยส่วนใหญ่ พื้นที่ปลูกส้มในย่านบางมด ดินจะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 5.1-6.5 ค่าของปริมาณอินทรียวัตถุมีค่าต่ำถึงปานกลาง คือร้อยละ 0.5-2.5 การปรับปรุงดินอย่างง่ายทำได้โดยการใส่ปุ๋ยหมักหรืออินทรีวัตถุอื่น ๆ ส่วนดินที่เป็นกรดควรมีการใส่ปูนขาวปรับค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน เพื่อประโยชน์ของธาตุอาหารโดยเฉพาะแคลเซียมและแมกนีเซียม ให้ไม้ผลมีการเจริญเติบโตและมีผลผลิตสูง แต่ค่า pH ในดินไม่ควรเกิน 5.5 และไม่ควรใส่ปูนพร้อมกับปุ๋ยทุกชนิด (วาสนา มานิช, ปิยทัศน์ ทองไตรภพ และพรรณปพร กองแก้ว, 2552)
2. ปุ๋ยกับการเพิ่มผลผลิต การให้ปุ๋ยทุกชนิดควรมีการวิเคราะห์ดินก่อนปลูก และภายหลังจากการเก็บเกี่ยวทุกปี เพื่อจะได้ทราบชนิดและอัตราของปุ๋ยที่ใช้ให้ตรงกับพืชที่ต้องการ เช่น การใส่ปุ๋ยควรเริ่มตั้งแต่ปลูกจนถึงอายุ 1 ปี ควรใส่ปุ๋ยคอกผสมไปที่ดินบนโขดส้มประมาณ 4-5 กิโลกรัม หรือ 2 บุ้งกี๋/ต้น หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน ให้หว่านปุ๋ยยูเรีย ต้นละ 1 ช้อนแกง หรือ 30 กรัม ส่วนปุ๋ยเคมีควรใช้สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ต้นละ 100 กรัม ประมาณ 3 เดือนต่อครั้ง สำหรับปุ๋ยคอกให้ใส่ในอัตรา 2-3 บุ้งกี๋ หรือประมาณ 4-5 กิโลกรัม ในระยะปีที่ 2 ควรใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง อัตรา 2-3 บุ้งกี๋ หรือ 4-5 กิโลกรัม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 300-500 กรัม / ต้น ประมาณ 3 เดือน/ครั้ง ในช่วงอายุ 3 ปีขึ้นไปควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีตัวท้ายสูงจะทำให้ต้นส้มเริ่มติดผล จากนั้นในช่วงที่ผลใกล้แก่ควรให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพื่อให้ผลส้มมีคุณภาพดีขึ้น ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนมากเกินไป (วิทยา พงษ์สวัสดิ์, อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์, เกษม กาหลง, ม.ป.ป.)
กรมส่งเสริมการเกษตร (2564) ได้แนะนำการใส่ปุ๋ยไว้ว่า ให้เป็นไปตามการวิเคราะห์ดิน ควรทำ 1-2 ปี ต่อครั้ง เพื่อใส่ปุ๋ยตามสูตรและอัตราที่เหมาะสม ถ้า pH ต่ำกว่า 5.5 (เป็นกรด) ควรใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ (Dolomite) อัตรา 1-2 กก./ต้น ปีละ 1-2 ครั้งในฤดูแล้ง ให้น้ำตามปกติ การปลูกในปีแรกให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 10-20 กก./ต้น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./ต้นในปีที่ 2-4 โดยใส่ปีละครั้งช่วงปลายฤดูฝน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15+46-0-0 (1:1) อัตรา 0.5-1.0 กก./ต้นในปีแรก โดยแบ่งใส่ 4-6 เดือนต่อครั้ง และอัตรา 1-2 กก./ต้น ในปีที่ 2-4 โดยใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง และเมื่อต้นส้มมีอายุ 4 ปีขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ยดังนี้ ก่อนออกดอกใส่สูตร 12-24-12 อัตรา 1 กก./ต้น และพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม และเมื่อถึงระยะติดผลให้ธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริม เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี ทองแดง ใบรอน และแมงกานีส เป็นต้น โดยพ่นทางใบ ช่วงใกล้เก็บเกี่ยวใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 1-2 กก./ต้น หลังเก็บเกี่ยว ใส่ปุ๋ย 15-15-15+46-0-0(1:1) อัตรา 1-3 กก./ต้น พร้อมพ่นปุ๋ยทางใบที่มีธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมและให้ปุ๋ยอินทรีย์ 20-50 กก./ต้น
สำหรับดินย่านบางมดที่มีปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม รวมทั้งธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมในระดับสูงถึงสูงมากอาจจะใช้สูตร 15-0-0 อัตรา 100กรัม/ต้น ร่วมกับ 25-7-7 อัตรา 100กรัม/ต้น โดยใส่ทุกเดือนจนผลส้มมีอายุ 5-6 เดือน จากนั้นพ่นปุ๋ยทางใบหรือน้ำหมักชีวภาพอัตรา 4 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร ทุก 10-15 วัน การใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เพียงพอทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าการไม่ใส่ปุ๋ย แต่ไม่ควรใส่มากเกินไปเพราะอาจทำให้มีเกลือสะสมในดินสูง โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุดคือ ปุ๋ยคอก รองลงมาคือ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด แกลบ และ ปุ๋ยเคมี (วาสนา มานิช, ปิยทัศน์ ทองไตรภพ และพรรณปพร กองแก้ว, 2552)
3. ด้านการจัดการน้ำ การให้น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการปฏิบัติดูแลรักษา หากส้มเขียวหวานขาดน้ำจะทำให้ต้นโทรม โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย ระยะที่ปลูกใหม่ๆ ควรให้น้ำทุกวัน หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นส้มเริ่มตั้งตัวได้แล้วการให้น้ำควรให้วันเว้นวัน และเมื่อต้นส้มโตแล้วควรควบคุมการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับช่วงของการเจริญเติบโต ดิน และสภาพอากาศ เช่น ในระยะก่อนออกดอกต้องการน้ำน้อยเนื่องจากอยู่ในช่วงเก็บสะสมอาหาร แต่เมื่อผลติดแล้วจะต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงผลแก่ เมื่อเข้าสีแล้วแล้วควรลดปริมาณน้ำลงจากปกติจะช่วยให้ผลส้มแก่เร็วขึ้น วิธีการให้น้ำมีหลายวิธีตามความเหมาะสม เช่น ให้น้ำทางสายยาง การใช้เรือรดน้ำ และการให้น้ำแบบระบบสปริงเกอร์ ในกรณีที่ปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มักจะพบปัญหาเรื่องโรครากเน่าโคนเน่าอยู่เสมอ (วิทยา พงษ์สวัสดิ์, อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์, เกษม กาหลง, ม.ป.ป.)
สำหรับการปลูกแบบยกร่อง ต้องปรับสภาพน้ำในร่องให้เหมาะสมอยู่สม่ำเสมอด้วยน้ำชีวภาพอัตรา 1 : 200 ระดับน้ำในร่องสวนต่ำกว่าชายขอบร่อง หรือเรียกว่า “สนามพี” ระดับน้ำในท้องร่องไม่สูงเกินกว่า 30 เซนติเมตร จากท้องร่อง หรือต่ำกว่านี้เพื่อรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน และต้องสูบออกหากน้ำมีปริมาณมากเกินไป
การรดน้ำในระยะที่เพิ่งปลูกกิ่งส้มใหม่ๆ ต้องรดน้ำทุกวัน เวลาให้น้ำที่เหมาะสมคือ 08.00-10.00 น. และ 14.00-16.00 น. รดจนดินชุ่มบริเวณโคนและรัศมีโดยรอบ 1 เมตร ประมาณ 10-15 ลิตร/ต้น นาน 3-4 สัปดาห์ เมื่อต้นส้มตั้งตัวได้และเริ่มแตกใบอ่อนจึงให้น้ำห่างขึ้น เปลี่ยนเป็นรดน้ำ 3 วัน ติดต่อกัน เว้น 2 วัน หรือหากฝนตกติดต่อกัน 3-4 วัน ไม่ต้องรดน้ำ สังเกตอาการเหี่ยวของใบเป็นหลัก หากใบเหี่ยวหรือม้วนในตอนกลางวันที่แดดจัด วันรุ่งขึ้นจึงรดน้ำ เมื่อต้นส้มออกดอกติดผลยังคงรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ (วาสนา มานิช, ปิยทัศน์ ทองไตรภพ และพรรณปพร กองแก้ว, 2552 ; กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564)
4. การพยุงลำต้น ตัดแต่งกิ่งและใบ การพยุงลำต้นต้องทำตั้งแต่เริ่มนำกิ่งพันธุ์ลงปลูกด้วยการใช้ไม้ยึดผูกกับกิ่งพันธุ์ไว้ เมื่อต้นส้มเริ่มโต แตกกิ่งและใบ ให้ทำการตัดแต่งกิ่งโดยเลือกตัดแต่งกิ่งแขนงที่รกทึบด้านในลำต้นและกลางลำต้นออกเพื่อให้แสงแดดสามารถส่องเข้าถึงโคนต้น กิ่งปลายยอดที่ห้อยลงชิดดิน กิ่งที่อ่อนแอ กิ่งน้ำค้าง กิ่งที่มีลักษณะคดงอทับกัน กิ่งที่มีโรคหรือถูกแมลงทำลาย
5. วัชพืช ควรมีการกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้วัชพืชขึ้นรก และไม่ควรใช้สารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชที่ใกล้กับโคนต้นส้ม เนื่องจากส้มเขียวหวานมีระบบรากตื้นอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชบางประเภทได้
6. โรคพืชและแมลงศัตรูพืช ในระหว่างการปลูก อาจพบโรคและแมลงในต้นส้มได้หลากหลายชนิดขึ้น สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนะนำการป้องกันการกำจัดปัญหาจากโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่พบบ่อยในต้นส้ม ไว้ดังนี้

ชนิดของโรคพืช

โรครากเน่า โคนเน่า

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา น้ำขังหรือท่วมบริเวณโคนต้นเป็นเวลานาน
อาการที่พบในต้นส้ม จะเกิดบริเวณโคนต้นใกล้ผิวดินอาการเริ่มแรก เปลือกจะเน่าเป็นจุด ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเน่า เปลือกที่เน่าจะมียางสีน้ำตาลไหลออกมา ใบเหลืองซีด ร่วงหล่น กิ่งเริ่มแห้ง และตายในที่สุด
การป้องกันและกำจัด กำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นให้สะอาด ตัดแต่งกิ่งให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น อย่าให้มีน้ำขังหรือท่วมบริเวณโคนต้นเป็นเวลานาน อาจใช้สารเคมีกำกัดเชื้อราในกลุ่มของฟอสฟอริกแอซิสทาตรงส่วนโคนต้นที่เป็นโรค

โรคกรีนนิ่ง

สาเหตุ มีเพลี้ยกระโดดเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดกับกิ่งพันธุ์ หรือการนำกิ่งพันธุ์ที่มีโรคมาปลูก
อาการที่พบในต้นส้ม ใบมีสีเหลืองจนซีด ใบมีขนาดเล็กเรียวและตั้งขึ้น ใบหนากว่าปกติ ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดลีบ ร่วงก่อนกำหนด
การป้องกันและกำจัด คัดกิ่งพันธุ์ที่จะนำมาปลูกให้มั่นใจว่าปราศจากโรค หรือฉีดสารป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดส้ม เช่น ไดเมโทเอต (Dimethoate) อัตรา 30 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และทำลายส่วนต่างๆที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้

โรคกรีนนิ่ง

สาเหตุ มีเพลี้ยกระโดดเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปติดกับกิ่งพันธุ์ หรือการนำกิ่งพันธุ์ที่มีโรคมาปลูก
อาการที่พบในต้นส้ม ใบมีสีเหลืองจนซีด ใบมีขนาดเล็กเรียวและตั้งขึ้น ใบหนากว่าปกติ ผลมีขนาดเล็ก เมล็ดลีบ ร่วงก่อนกำหนด
การป้องกันและกำจัด คัดกิ่งพันธุ์ที่จะนำมาปลูกให้มั่นใจว่าปราศจากโรค หรือฉีดสารป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดส้ม เช่น ไดเมโทเอต (Dimethoate) อัตรา 30 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร และทำลายส่วนต่างๆที่เป็นหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้

โรคแคงเกอร์

สาเหตุ เกิดจากหนอนชอนใบทำให้เกิดเป็นแผล เชื้อโรคเข้าไปได้ง่าย หรือการนำกิ่งพันธุ์ที่มีโรคมาปลูก หรืออาจมาจากต้นมะนาวที่ปลูกในสวนส้ม
อาการที่พบในต้นส้ม ใบจะเป็นแผลกลมนูน แตกเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลทั้งในด้านบนและใต้ใบในใบอ่อนจะมีดวงสีเหลืองล้อมรอบแผล บางครั้งอาจมียางไหลออกมาด้วย อาการที่กิ่งเป็นแผลมีสะเก็ดที่เปลือก ถ้าเป็นมากจะทำให้กิ่งตาย อาการที่ผลจะเกิดรอยแตกตามขวาง
การป้องกันและกำจัด ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลายหรือฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดหนอนชอนใบ ในระยะแตกใบอ่อน ดอกและผลอ่อน

ชนิดของแมลงศัตรูพืช

หนอนชอนใบ

สาเหตุ/ลักษณะการรบกวนของแมลงศัตรูพืช เมื่อไข่จากหนอนเต็มวัยที่วางไข่ใต้ผิวใบไว้ฟักเป็นตัว จะชอนไชกินใบอ่อน พบระบาดรุนแรงในฤดูฝน เป็นต้นเหตุการเกิดเชื้อราและแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำ โดยเฉพาะโรคแคงเกอร์
อาการที่พบในต้นส้ม ที่ใบจะมองเห็นเป็นทางขาวคดเคี้ยวไปมา จากการถูกชอนไชกินใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงอหยุดชะงักการเจริญเติบโต บางครั้งจะเจาะกิ่งอ่อนของส้มด้วย
การป้องกันและกำจัด ตัดยอดอ่อนที่ถูกทำลายไปเผาไฟ กำจัดวัชพืชในสวน และในระยะเริ่มแตกใบอ่อน ควรฉีดพ่นด้วยสารเคมี คาร์โบซัลแฟนไซฟลูธริน (Carbosulfan Cyfluthrin)

ไรสนิมส้ม

สาเหตุ/ลักษณะการรบกวนของแมลงศัตรูพืช พบในช่วงอากาศแห้งแล้ง เข้าทำลายโดยการดูดน้ำเลี้ยงจากผลและใบ ทั้งด้านบนใบ และด้านใต้ใบ
อาการที่พบในต้นส้มผลส้มที่ถูกไรสนิมดูดกิน จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลสนิม ผลมีลักษณะสกปรก ไม่สวยงาม ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ
การป้องกันและกำจัดหมั่นสำรวจแปลงส้มอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงอากาศแห้งแล้ง เมื่อพบระบาดมากให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น โปรปาไกจ์ หรือกำมะถันผง

เพลี้ยไฟ

สาเหตุ/ลักษณะการรบกวนของแมลงศัตรูพืช เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะสามารถดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน และผล
อาการที่พบในต้นส้ม ผลที่ถูกทำลายจะปรากฎรอยสีเทาเงินเป็นวงบริเวณขั้วผลและก้นผล หรือเป็นทางสีเทาตามความยาวของผลส้ม ทำให้ผลส้มแคระแกร็น
การป้องกันและกำจัด ให้เด็ดผลที่แคระแกร็นหรือผลที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายทิ้งและถ้าพบมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมี เช่น คาร์โบซัลแฟน (Carbosulfan) อิมิดาโคลพริด (Imidacloprid)

เพลี้ยอ่อน

สาเหตุ/ลักษณะการรบกวนของแมลงศัตรูพืช พบระบาดมากเมื่อฝนทิ้งช่วงโดยมีมดเป็นพาหะ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายส้มเขียวหวานได้โดยดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อนและใบ
อาการที่พบในต้นส้ม ใบที่ผลิออกมาใหม่เกิดการหงิกงอไม่เจริญเติบโต
การป้องกันและกำจัด หากพบการระบาดเพียงเล็กน้อยอาจใช้น้ำฉีดแรงๆก็จะทำให้ตัวเพลี้ยอ่อนหลุดออกไปได้แต่ถ้าพบระบาดมากให้กำจัดด้วยการฉีดพ่นสารเคมีประเภทดูดซึมด้วยคาร์บาริล (Carbaryl) มาลาไทออน (Malathion)

เพลี้ยหอย หรือ เพลี้ยสะเก็ด

สาเหตุ/ลักษณะการรบกวนของแมลงศัตรูพืช เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่ง ตัวแก่ปกคลุมด้วยวัตถุแข็งเหนียวคล้ายเกราะ หรือมีเกราะอ่อนๆคล้ายขี้ผึ้งหนาๆคลุมตัวไว้ จะดูดน้ำเลี้ยงจากใบ กิ่ง ดอก และผล
อาการที่พบในต้นส้ม ทำให้เปลือกมีสีซีด ผลแคระแกร็น ผิวเปลือกเป็นหลุม ถ้ามีการระบาดมากจะทำให้ใบ หรือผลหลุดร่วง ผลผลิตเสียหาย
การป้องกันและกำจัด ถ้าแดดไม่ร้อนจัด อุณหภูมิไม่สูงมากนัก อาจพ่นด้วยไวท์ออยล์หรือปิโตรเลียมออยล์เพื่อลดการระบาดลงได้ หลังจากนี้ควรตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลายเสร็จแล้วฉีดพ่นด้วยสารเคมีพวกมาลาไทออน (malathion) สารเคมีประเภทดูดซึมพวกไดเมโทเอต (dimethoate)

ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดแมลงมากเกินไป และ ควรหยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวผลส้ม 1 เดือน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2564)

ปัญหาหลักสำหรับการปลูกส้ม คือ พื้นที่ในการปลูก หากบริเวณที่ทำการปลูกเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ไม่สามารถควบคุมน้ำได้ในฤดูน้ำหลากอาจะทำให้เกิดโรคพืชได้ ในกรณีที่ปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง มักจะพบปัญหาเรื่องโรครากเน่าโคนเน่าอยู่เสมอ รวมถึงดินที่อาจถูกน้ำเซาะ พื้นที่ที่ดินมีสภาพเป็นกรดด่างสูง ดินเค็ม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระหว่างการปลูกส้มสูงตามมา ผลผลิตที่ได้อาจไม่สัมพันธ์กับต้นทุน รวมถึงรสชาติของส้มอาจไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ ชาวสวนส้ม ส่วนใหญ่จะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม ปลูกอย่างถูกวิธี แต่ในบางครั้งอาจเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด เช่น ด้านสภาพอากาศ แมลงศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละด้านเท่านั้น หากใช้สารเคมีมากเกินไปจะส่งผลกระทบในระยะยาวกับต้นส้ม เกษตรกร สภาพแวดล้อมดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยรอบ รวมถึงผู้บริโภค
การเก็บผลส้มเขียวหวานจะเก็บผลได้เมื่อมีอายุประมาณ 8-9 เดือน นับจากดอกบาน การเก็บนิยมใช้วิธีบิดผลโดยใช้มือจับด้านใต้ผลขึ้นไปแล้วหักทับบริเวณขั้วผลไปทางด้านใดด้านหนึ่งก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวผลส้ม จะทำความสะอาด คัดขนาด นำไปบรรจุลงในภาชนะ เช่น กล่องกระดาษ หรือตะกร้าพลาสติก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป ในระหว่างนี้จะต้องเก็บรักษาผลส้มไม่ให้เสื่อมคุณภาพ เช่น การเก็บไว้ในห้องเย็น เก็บไว้ในห้องมืด หรือใช้วิธีการเคลือบผิวส้มด้วยน้ำยา เช่น ขี้ผึ้งพาราฟิน วิธีนี้จะช่วยให้ยืดอายุการเก็บผลส้มเขียวหวานได้นานประมาณ 45 ถึง 60 วัน ไม่เสื่อมคุณภาพและน้ำหนักของส้มไม่ลดลงมากนัก (วิทยา พงษ์สวัสดิ์, อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์, เกษม กาหลง, ม.ป.ป.)