นักวิทย์ นักคิดของโลกในสมัยรัชกาลที่ 4
The Pioneer
เจมส์ วัตต์ (James Watt)
เจมส์ วัตต์ เป็นนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ผู้ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องจักรไอน้ำของวัตต์เป็นที่นิยมอย่างมาก นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นมีศักยภาพในการผลิตและมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นเครื่องจักรของวัตต์ยังเป็นต้นแบบของเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันอีกด้วย เป็นผู้บัญญัติศัพท์ “แรงม้า” (Horse Power) ซึ่งเป็นวิธีคำนวณประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร และชื่อของเขาได้รับไปตั้งเป็นหน่วยกำลังไฟฟ้าในระบบหน่วยเอสไอ (SI Unit)
Table of content
Table of content
ประวัติส่วนตัว
วัตต์ เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1736 ที่เมืองกรีนน็อค ประเทศอังกฤษ พ่อของเขาชื่อว่า โทมัส วัตต์ (Thomas Watt) เป็นช่างไม้และดำเนินกิจการเกี่ยวกับไม้ทุกชนิด ฐานะทางครอบครัวของวัตต์ค่อนข้างยากจน จึงทำให้ไม่ได้รับการศึกษามากนัก แต่เขาก็มีความสนใจในเรื่องของการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ มาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งวัตต์ยังมีความฉลาด และมักชอบเรียนรู้ในสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ ความที่เขาเคยช่วยงานในร้านของบิดาอยู่ระยะหนึ่งทำให้เขามีพื้นฐานความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับการประดิษฐ์รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องช่างไม้ที่เขาได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดาของเขาด้วย
ต่อมาในปี ค.ศ. 1754 ขณะที่เขาอายุได้ 18 ปี เขาได้เดินทางไปยังเมืองกลาสโกว์ (Grassgrow) เพื่อหางานทำ ในที่สุดเขาก็ได้งานทำในตำแหน่งผู้ช่วยช่างในร้านประกอบเครื่องมือเครื่องใช้แห่งหนึ่ง และเขาใช้เวลาว่างช่วงเย็นหลังจากเลิกงานไปเรียนต่อ ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอ่อนแอลงอย่างมากเพราะกลางวันต้องทำงาน ส่วนกลางคืนก็ต้องเรียนอีก เขาจึงต้องลาออกจากงาน และเดินทางไปยังกรุงลอนดอน เพื่อจะได้เรียนหนังสืออย่างจริงจัง วัตได้สมัครเข้าเรียนเกี่ยวกับการทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในระหว่างที่วัตต์อยู่ที่กรุงลอนดอนได้เกิดสงครามยุโรปขึ้น รัฐบาลมีคำสั่งให้เกณฑ์ชายหนุ่มเข้าฝึกทหาร แต่วัตต์ไม่ชอบเป็นทหาร จึงได้เดินทางกลับไปที่กรีนน็อคอีกครั้งหนึ่ง
เส้นทางนักประดิษฐ์
Newcomen atmospheric engine
Watt steam engine
ในปี ค.ศ.1756 เมื่อเขาเดินทางมาถึงบ้านเกิดเขาต้องการจะเปิดร้านรับซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ แต่เขาไม่สามารถเปิดร้านได้เพราะขาดคุณสมบัติ เนื่องจากกฎหมายของเมืองนี้ ผู้ที่จะประกอบการค้าได้นั้นต้องจะขึ้นทะเบียนกับสมาคมพ่อค้า ซึ่งผู้ที่จะสามารถจดทะเบียนได้นั้นต้องเป็นบุตรของพ่อค้า หรือต้องเคยทำงานในร้านค้าที่สัมพันธ์กันมาก่อนทำให้ความฝันของวัตต์ต้องพังลง วัตต์จึงต้องหางานอย่างอื่นทำ แต่ในที่สุดวัตต์ก็ได้งานทำในตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องมือในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ โดยได้รับค่าจ้างปีละ 35 ปอนด์ ในขณะที่เขาทำงานมีวันหนึ่งเครื่องจักรไอน้ำนิวโคแมนของมหาวิทยาลัยเกิดเสีย วัตต์สามารถซ่อมจนใช้งานได้ดีอีกทั้งยังปรับปรุงให้เครื่องจักรไอน้ำนิวโคแมนมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย และจากเหตุนี้เองทำให้วัตต์เกิดประกายความคิดที่จะสร้างเครื่องจักรไอน้ำเอง และโดยมีความมุ่งหวังว่าจะต้องสร้างให้มีประสิทธิภาพดีกว่าของนิวโคแมน เพราะเครื่องจักรไอน้ำของนิวโคแมนในความคิดของวัตต์นั้นมีขนาดใหญ่เกินไป อีกทั้งการทำงานก็ล่าช้าเป็นอย่างมาก
ปัญหาด้านการเงินลงทุน
ในปี ค.ศ. 1773 มีนายทุนชื่อ จอห์น โรบัค (John Roebuck) ได้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน วัตต์จึงเริ่มประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ โดยได้ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำใหม่และนำเครื่องยนต์ทั้งหมดมาใส่ไว้ในโลหะทรงกระบอก เพื่อทำให้เครื่องจักรมีขนาดเล็กลง แล้วต่อท่อให้ไอน้ำเข้าในเครื่องจักรโดยตรง ซึ่งไอน้ำจะเป็นตัวที่เข้าไปดันให้ลูกปืนขยับ เพื่อให้เครื่องจักรไอน้ำทำงาน
ในระยะแรกเครื่องจักรไอน้ำที่วัตต์สร้างมีปัญหายังใช้การไม่ได้ เพราะเมื่อไอน้ำกลายเป็นน้ำก็จะทำให้ไอน้ำที่ส่งเข้าไปใหม่กลายเป็นหยดน้ำไปด้วย ซึ่งส่งผลให้เครื่องจักรทำงานไม่ได้ผลเต็มที่เกิดอาการเครื่องดับ ๆ ติด ๆ หรือไม่ก็หยุดทำงานไปเลย ทำให้นายทุนอย่างโรบัค ซึ่งมองแต่ด้านผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนเงินทุนให้เขาอีกต่อไป เพราะเริ่มไม่มั่นใจว่าวัตต์จะประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ แต่วัตต์ก็โชคดีเพราะเขาก็ยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากนายทุนคนใหม่ที่มีทุนหนากว่า จอห์น โรบัค (John Roebuck) คือ แมทธิว โบลตัน (Mathew Bolton) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม
บัญญัติศัพท์คำว่า “แรงม้า”
ในปี ค.ศ.1776 หลังจากที่วัตต์พยายามหาวิธีแก้ปัญหาอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุดเขาก็สามารถแก้ปัญหาได้ วิธีแก้ปัญหาของเขา คือ การแยกท่อให้ไอน้ำเข้าไปออกมาต่างหากอีกท่อหนึ่ง สร้างท่อที่ให้ไอน้ำออกมา และกลายเป็นหยุดน้ำอีกท่อหนึ่ง ซึ่งการแก้ไขในครั้งนี้ประสบความสำเร็จดีเกินคาดทำให้เครื่องจักรไอน้ำของวัตต์มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นที่นิยมในเวลาอันรวดเร็ว แม้ว่าวัตต์จะไม่ใช่บุคคลแรกที่สามารถประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ แต่เครื่องจักรไอน้ำของวัตต์ก็มีประสิทธิภาพและเป็นที่นิยมมากกว่า เมื่อวัตต์สามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำได้สำเร็จ เขายังได้บัญญัติศัพท์ที่ใช้เรียกกำลังเครื่องจักรไอน้ำ คือคำว่า แรงม้า (horse power) ใช้อีกด้วย
ในเวลาต่อมา วัตต์ได้นำผลงานของเขาไปจดทะเบียนสิทธิบัตร และร่วมมือกับโบลตันผลิตเครื่องจักรไอน้ำออกจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมและบุคคลทั่วไปสิ่งประดิษฐ์ของวัตต์ไม่ได้เพียงแต่ประดิษฐ์เครื่องจักไอน้ำได้เท่านั้น เขายังประดิษฐ์เครื่องมืออีกหลายชนิด เช่น ในปี ค.ศ. 1784 วัตต์ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรช่วยตีเหล็ก และในปีค.ศ.1785 วัตต์ได้ประดิษฐ์เครื่องจักรช่วยปั่นด้าย วัตต์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประดิษฐ์เครื่องจักรสำหรับใช้ในวงการอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้วงการอุตสาหกรรมมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น โดยต่อมาวัตต์ เสียชีวิตในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1819 ที่ประเทศอังกฤษ (England) ด้วยชื่อเสียงของวัตต์ในด้านการสิ่งประดิษฐ์เครื่องจักรสำหรับใช้ในวงการอุตสาหกรรม ทำให้ชนรุ่นหลังนำนามสกุล “วัตต์“ ของเขาไปตั้งเป็นหน่วยกำลังไฟฟ้าในหน่วยวัดทางวิทยาศาสตร์ (SI Unit)
สุดท้ายนี้ หากใครสนใจหรืออยากอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว เจมส์ วัตต์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้รอบตัว สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำหนังสือของ เจมส์ วัตต์ ได้ที่ https://kmutt.me/book-watt
พันธลักษณ์. (2546). นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ 19
"Watt" - Encyclopædia Britannica - [Online]. Available: https://www.britannica.com/science/watt [31 มีนาคม 2566]
"Standard Units of Measurement for Electricity" - Edison Tech Center - [Online]. Available: https://www.edisontechcenter.org/UnitsElectrical.html [31 มีนาคม 2566]