พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
บทที่ 11 พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับพุทธศาสนา

ตั้งแต่โบราณกาล ประเทศไทยประกอบด้วยสถาบันหลัก 3 สถาบัน คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทั้งสามสถาบันมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะสถาบันศาสนา เพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนา ประจำชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบำรุงทุกศาสนาในพระราชอาณาจักร พระราชทานพระราชทรัพย์และทรงส่งเสริมการบุญการกุศล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเลื่อมใสศรัทธาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแรงกล้า
จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมา ขณะเดียวกันก็ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นๆ ด้วย โดยแท้จริงแล้ว ในด้านพุทธศาสนา ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อส่งเสริมพระศาสนา พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การเสด็จฯ ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 รวมเป็นเวลา 15 วัน แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจอยู่อีกมาก แต่ก็ได้ทรงแสดงถึงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ดังที่ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ตอนหนึ่ง โดยพระราชทานแก่ผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2523 ความว่า
“… ท่านทั้งหลายหวังในบารมีให้ปกเกล้าบ้านเมืองนั้นก็เป็นอย่างหนึ่งที่น่าคิด เพราะว่าบ้านเมืองประกอบด้วยบุคคล และแต่ละบุคคลจะต้องทำด้วยตนเองตามหลักของพุทธศาสนา แต่ละคนจะต้องการอะไร ก็ต้องการความสุขคือความสงบ และความสุขและความสงบนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยตัวเอง ฉะนั้นที่จะให้คนอื่นมาปกป้องรักษาก็เป็นสิ่งที่ยากถ้าตัวเองไม่ทำ อันนี้เป็นข้อที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา และผู้ถือตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนต้องพึ่งตัวเอง มิใช่พึ่งคนอื่น แต่การที่จะอาศัยคนอื่นก็อาศัยได้ โดยดูผู้อื่นที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และคอยฟังสิ่งที่ผู้อื่นที่เราเห็นว่าปฏิบัติดีชอบ ได้พูด ได้แนะนำ ดังนี้ก็เป็นสิ่งที่อาศัยผู้อื่นได้ ฉะนั้น ก็จะต้องมีการพิจารณาของตัวเองว่าผู้นั้นควรเป็น ผู้ที่น่าจะดูการปฏิบัติ หรือฟังข้อแนะนำในการปฏิบัติ และทำตามหรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้บุคคลได้บรรลุถึงความสำเร็จความสุขได้ …”
พระบรมราโชวาทอีกตอนหนึ่งที่พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนา ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2523 ก็แสดงให้เห็นถึงความรู้แจ้งในปรัชญาพุทธศาสนา กล่าวคือ

“… พุทธธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาแสดงความจริงแท้ ที่เห็นแจ้งโดยปัญญาของพระอริยะ จึงเป็นคำสอนอย่างประเสริฐที่จะพึงศึกษา ให้เห็นให้เข้าใจ ตามด้วยการเพ่งพินิจ มิใช่เข้าใจเอาง่าย ๆ โดยไม่อาศัยความพิจารณาไตร่ตรองให้ทั่วถึง เพราะหาไม่จะกลายเป็นความรู้ผิด เห็นผิด เป็นธรรมปฏิรูปไป ท่านทั้งหลายมาร่วมกันปฏิบัติงานด้านส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนา ตลอดจนศีลธรรมจรรยาของประชาชน ย่อมมีหน้าที่ต้องศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่ธรรมอยู่ตลอดเวลา สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่ด้วยความระมัดระวังตั้งใจอย่างที่สุด เพื่อให้ได้เนื้อแท้ที่เที่ยงตรงตามพุทธบัญญัติและพุทธาธิบาย การบำเพ็ญกรณียกิจของท่านในด้านจรรโลงพระศาสนา จึงจะอำนวยผลอันบริสุทธิ์และบริบูรณ์ทุกแง่ทุกส่วน ตามศรัทธาและความปรารถนาที่ตั้งไว้ …”
และพระบรมราโชวาทที่พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 29 ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2524 ก็ทรงอรรถาธิบายไว้แจ้งชัดว่า
“… ธรรมะในพุทธศาสนามีความหมดจดบริสุทธิ์และสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยเหตุผล ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติด้วยปัญญาความเพ่งพินิจ ให้เกิดประโยชน์คือความเจริญความผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้เที่ยง ตั้งแต่ประโยชน์ขั้นพื้นฐานคือการตั้งตัวได้เป็นปรกติสุข จนถึงประโยชน์ขั้นปรมัตถ์คือหลุดพ้นจากเครื่องเกาะเกี่ยวร้อยรัดทุกประการ ข้อนี้เป็นลักษณะพิเศษในพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้พระพุทธศาสนามีคุณค่าประเสริฐสุด …”
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทางด้านพุทธศาสนา มีดังนี้
1.ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

โดยหลักการแล้ว พุทธศาสนิกชนก็เหมือนกับศาสนิกชนในศาสนาต่างๆ ทั่วโลก คือ มีความเชื่อเหมือนกันว่า “ วันสำคัญทางศาสนามีความสำคัญต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ” ด้วยเหตุนี้รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงกำหนดให้วันสำคัญทางศาสนาประจำชาติเป็นวันหยุดราชการ เพื่อให้ศาสนิกชนได้ร่วมประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญ ดังกล่าว ในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ทั้งส่วนที่รัฐกำหนดให้เป็นวันหยุดของชาติและไม่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งเป็นวันสำคัญของท้องถิ่นหรือเฉพาะชุมชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ทรงพระราชกุศลทรงบาตรในพระราชนิเวศน์ เสด็จถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ หรือพระกฐินต้น ณ วัดราษฎร์ต่างๆ และส่วนที่เป็นพระราชพิธีตามบูรพขัตติยประเพณี เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา ในวันอาสาฬหบูชา (เป็นพระราชพิธีที่ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชกาลนี้) เป็นต้น นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปบำเพ็ญพระราชกุศลในที่ต่างๆ อีกด้วย
อนึ่ง ในงานพิธีทางศาสนาที่ประชาชนหรือข้าราชการจัดขึ้นในที่ต่างๆ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ตามพระราชอัธยาศัย ก็ได้รับเชิญและเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีหรือทรงเป็นประธานในพิธีนั้นๆ มิได้ขาด เช่น พิธียกช่อฟ้าใบระกา พิธีฝังลูกนิมิต นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ให้เสด็จในงานพิธีต่างๆ เหล่านี้ที่ประชาชนจัดขึ้นอีกด้วย
2. ทรงทำนุบำรุงและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ( วัดโพธิ์ )
“ วัด ” เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่พระภิกษุสามเณรจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ และปฏิบัติภารกิจต่างๆ เป็นต้นว่า ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ และเผยแผ่ธรรมะ นอกจากนี้ วัดยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนในทุกๆ ด้าน วัดจึงเป็นสถานที่สำคัญยิ่งทั้งต่อภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน
การสร้างวัด การทำนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัด จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทำได้ยากยิ่งนัก เพราะวัดนอกจากจะมีพื้นที่จำนวนหนึ่งแล้ว จะต้องมีกำลังทรัพย์และบริวารที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นต้นว่า โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฎี เสนาสนะอื่นๆ อีกมากมาย ลำพังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลทั่วไปจะสร้างให้สำเร็จได้โดยยาก ด้วยเหตุนี้ พุทธศาสนิกชนจึงมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าใครก็ตามที่สร้างวัดจะได้รับอานิสงส์หลายสถาน เป็นต้นว่า การสร้างกุฎี เชื่อว่าเมื่อตายแล้วจักได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในวิมานหลังใหญ่อันวิจิตรงดงามไปด้วยแก้ว 7 ประการ แวดล้อมด้วยนางเทพอัปสรเป็นยศบริวาร มีความเป็นอยู่อย่างเกษมสุขทุกทิวาวาร
การสร้างวัดในสมัยก่อนจึงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชน หากไม่สามารถสร้างวัดขึ้นในชุมชนตัวเองได้ก็ต้องไปบำเพ็ญกุศลในชุมชนอื่น ซึ่งไม่สะดวกในการสัญจร การที่ไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้านจึงเป็นทุกข์ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของชุมชน และอาจจะถูกมองว่าเป็นชุมชนด้อยความเจริญ ด้วยเหตุนี้พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยอดีตเป็นต้นมา จึงทรงสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ และชักชวนให้ผู้ที่มีกำลังทรัพย์สร้างวัดวาอารามขึ้นในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ
เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัติกิจวัตร พุทธศาสนิกชนจะได้ทำบุญบำเพ็ญกุศล เป็นการแบ่งเบาบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร จึงทำให้เกิดวัดขึ้นในชุมชนต่างๆ มากขึ้น ซึ่งวัดเหล่านั้น นอกจากเป็นที่บำเพ็ญกุศลศึกษาปฏิบัติธรรมแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาชุมชนทุกๆ ด้าน อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยวัตรในเรื่องนี้ตามอย่างบุรพมหากษัตริย์อย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่งนัก แม้ว่าบทบาทของวัดต่อชุมชนในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตบ้าง แต่พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์ ให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของชุมชน ตามบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในลักษณะต่างๆ ได้ เช่น
พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หรือเงินที่มีผู้ทูลเกล้าถวายโดยเสด็จฯ พระราชกุศลขณะที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมวัดนั้นๆ หรือเสด็จฯ ถวายพระกฐินต้น หรือในโอกาสอื่นๆ พระองค์เสด็จฯ ณ วัดใด ก็พระราชทานเงินดังกล่าวแก่วัดนั้น เพื่อไว้บูรณะปฏิสังขรณ์และใช้จ่ายในกิจการต่างๆ ของวัดและชุมชน นอกจากนี้ยังพระราชทานวิสุงคามสีมา แก่วัดที่ประชาชนร่วมกันสร้างขึ้น และยกวัดราษฎร์บางแห่งขึ้นเป็นวัดหลวงด้วย
พระราชจริยวัตรเหล่านี้ส่งเสริมให้พุทธศาสนามีความเจริญมั่นคง ชุมชนได้พัฒนากิจการต่างๆ ให้เจริญก้าวหน้า ทั้งทรงเป็นแบบอย่างให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาเจริญรอยตามพระองค์ท่าน เช่น ค่านิยมในการสร้างวัด ผู้ที่ศรัทธาและมีกำลังทรัพย์เพียงพอได้สร้างวัดขึ้นในพระพุทธศาสนามากมาย และมีขวัญกำลังใจในการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พระองค์ท่านจึงประทับอยู่ในดวงใจพุทธศาสนิกชนตลอดไป
3. พระราชกิจเกี่ยวกับการคณะสงฆ์
- 3.1 การถวายสมณศักดิ์พระสงฆ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทรงใกล้ชิดกับพระสงฆ์เป็นอันมาก โดยทรงอุปถัมภ์การคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นทางการ ในส่วนที่เป็นทางการ คือ ได้ทรงยกย่องถวายสมณศักดิ์พระสงฆ์ที่มีความเพียรศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก มีความมั่นคงในพระธรรมวินัย มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส สมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ไทยที่พระองค์ถวาย มีดังนี้
1. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก 1 รูป เป็นประธานแห่งคณะสงฆ์ (พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช บทที่ 13)
2. สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหญ่ชั้นสุพรรณบัฏ
3. พระราชาคณะ เจ้าคณะรองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏ
4. พระราชาคณะชั้นธรรม
5. พระราชาคณะชั้นเทพ
6. พระราชาคณะชั้นราช
7. พระราชาคณะชั้นสามัญ
- 3.2 ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุ
การส่งเสริมการศึกษาพระปฏิบัติธรรมนี้ก็เพื่อให้พระภิกษุเจริญก้าวหน้าทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้านศาสนบุคคล พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์ให้สามเณรผู้สอบปริยัติธรรมได้เปรียญ 9 ประโยค เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และด้วยบุญญาบารมีนี้เอง จึงปรากฏว่ามีสามเณรเปรียญ 9 ประโยคเกิดขึ้นในรัชสมัยนี้มากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา
4. ทรงสนับสนุนและเผยแผ่ธรรมะของพุทธศาสนา
การเผยแผ่ธรรมเป็นการรักษาพุทธศาสนาที่ดีที่สุด เพราะเป็นการรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ยั่งยืนต่อไป เกี่ยวกับเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระอรรถกถาจารย์ในอดีตได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้สูงยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่ามีการบรรยายอานิสงฆ์ของผู้ที่มีส่วนในการเผยแพร่ธรรมในลักษณะต่างๆ ไว้อย่างลึกซึ้ง เช่น “ อานิสงฆ์การสร้างพระไตรปิฎกจบเดียว เชื่อกันว่าผู้สร้างจะได้อานิสงฆ์ คือ ได้เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เป็นเวลานานถึง 84,000 กัลป์ จากนั้นเป็นเจ้าแผ่นดินในประเทศราช เป็นเวลานานถึง 9 อสงไขย จะได้เสวยสมบัติในตระกูลพราหมณ์มหาศาลเป็นพราหมณาจารย์ มีปัญญามาก มีสมบัติมหาศาล เป็นเวลา 9 อสงไขย จะได้เป็นเศรษฐีคหบดีผู้ใหญ่มีสมบัติมากเป็นเวลา 9 อสงไขย และจะได้เสวยทิพย์สมบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมานรตี และปรนิมมิตาสาวตี เหล่านี้ชั้นละ 9 อสงไขย ครั้นจุติจากเทวโลกลงมาเกิดในมนุษยโลก จะได้เป็นคนมีทรัพย์นับวิชา มากด้วยสมบัติศฤงคารบริวาร จะได้เป็นคนดีมีศีลสัตย์ ยินดีอยู่ในการบำเพ็ญกุศล จะได้เป็นคนมีรูปโฉมงดงามมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแก่ชนทั่วไป ” กล่าวโดยสรุปว่า การสร้างพระไตรปิฎกนั้นมีอานิสงฆ์เป็น “ อจินไตย ” พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงใฝ่ฝัน ที่จะได้สร้างบุญกุศลในการเผยแผ่พระธรรมยิ่งนัก แม้ไม่ได้สร้างเองก็พยายามร่วมอนุโมทนากับผู้อื่น
- 4.1 การชำระพระไตรปิฎก
การชำระพระไตรปิฎก คือการตรวจสอบแก้ไขตัวอักษรที่จดจารึก หรือที่จะพิมพ์ใหม่ให้ถูกต้องตามที่ควร แต่ไม่ใช่การตัดหรือเติมข้อความตามความพอใจ ในการนี้มีการสอบทานฉบับที่จะพิมพ์ใหม่ กับฉบับอักษรของชนชาติต่างๆ ด้วย เช่น พระไตรปิฎกฉบับอักษรลังกา หรือ สิงหล (หรือสีหล ) ฉบับอักษรเทวนาครีของอินเดีย ฉบับอักษรพม่า ฉบับอักษรรามัญ หรือมอญ และฉบับอักษรโรมันที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศอังกฤษ แล้วทำหมายเหตุถ้อยคำที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นหลักฐาน เพราะในการจดจารึกหรือในการพิมพ์ที่แล้วมา อาจมีผิดพลาดตกหล่น เมื่อมีการตรวจชำระก็จะทำให้ถูกถ้อยคำ และตัวอักษรมีความถูกต้องสมบูรณ์ ปราศจากข้อผิดพลาดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นับเป็นการชำระพระไตรปิฎกในประเทศไทย เป็นครั้งที่ 5

ในสมัยพุทธกาล คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาไม่ได้มีการจดบันทึกเขียนไว้ พระภิกษุสงฆ์ใช้การท่องจำหรือบอกเล่าต่อ ๆ กัน ต่อมาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานมาได้ 200 ปี จึงได้รวบรวมคำสั่งสอนและสาระสำคัญทางพุทธศาสนาและเขียนขึ้นไว้เป็นภาษาบาลี หรือภาษามคธ (เป็นภาษาของชาวอินเดียในแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่และสำคัญมากในสมัยพุทธกาล) เพื่อให้คงอยู่สืบไป
พระไตรปิฎกมี 3 ส่วน คือ
1. พระวินัย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับที่สงฆ์ควรปฏิบัติ
2. พระอภิธรรม เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาระสำคัญหรือแก่นแห่งคำสอนทางพุทธศาสนา
3. พระสูตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอนทั่ว ๆ ไป ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสาวกของพระองค์
คำสอนในพระไตรปิฎกมีคุณค่าสูงในการยกระดับความประพฤติทางกาย วาจา และยกระดับคุณธรรมทางใจให้สูงขึ้น คือสอนให้ละเว้นความชั่ว ประพฤติความดี และการชำระจิตใจของตนให้สะอาด
เริ่มมีการแปลพระไตรปิฎกบางส่วนจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และมีการแปลต่อเนื่องกันมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกฉบับของพระไตรปิฎก จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอุปถัมภ์ให้คณะสงฆ์ไทยปรับปรุงพระไตรปิฎกฉบับหลวง 80 เล่ม ที่พิมพ์เมื่องานฉลอง 25 ศตวรรษ (พ.ศ.2500) เป็น 45 เล่ม เท่าจำนวนพระชนม์ของพระพุทธเจ้า และพิมพ์ออกเผยแผ่
ได้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้นในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2530 นับว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นระยะกาลที่พระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา (คำอธิบาย) ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 16. 2534:27)
- 4.2 พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
ในปี พ.ศ.2531 มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำข้อความในพระไตรปิฎก ภาษาบาลีและอักษรไทยเข้าบันทึกในจานแม่เหล็ก (Hard Disk) เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โครงการนี้ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาพระไตรปิฎกสามารถเรียกข้อความที่ต้องการในพระไตรปิฎกมาปรากฏ ในจอภาพและพิมพ์ข้อความนั้นๆ ออกมาเป็นเอกสารให้ได้ศึกษาค้นคว้าได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีที่ต้องการ ซึ่งงานนี้สำเร็จก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2534 นับเป็นพระราชกรณียกิจในการที่ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง และเป็นความสำเร็จผลอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในโลก นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงสุดของประเทศไทยที่ได้รับยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา โดยองค์การพุทธทั่วโลกได้ลงมติให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งถาวรแห่งสำนักงานใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The Word Fellowship of Buddhists) ตลอดไป นอกจากการให้การอุปถัมภ์เกี่ยวกับการชำระพระไตรปิฎกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงอุปถัมภ์การศึกษาค้นคว้าเผยแผ่ธรรมะ ในลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทรงสนับสนุน มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ในการศึกษาค้นคว้าปริวรรตหนังสือธรรมะต่างๆ ออกเผยแผ่ เป็นต้น
ซึ่งในเรื่องนี้ นายมณีพันธุ์ จารุดุล กรรมการผู้จัดการมูลนิธิภูมิพลโลภิกขุ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทาน คณะกรรมการสมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา ที่พระราชทานไว้ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ ที่เข้าเฝ้าฯ รายงานผลการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาของสมาคม ความว่า
“ ฉันขออนุโมทนา ขอให้ทำต่อไป อย่าหยุดเสีย ฉันสนับสนุนงานนี้ร้อยเปอร์เซนต์เต็ม ให้ทำต่อไป เป็นการช่วยให้คนเข้าถึงธรรม การแปลคำบาลีมาเป็นคำไทยนั้น ต้องระวังให้จงหนัก อย่าได้ขัดแย้งกันได้เป็นอันขาด เพราะถ้าขัดแย้งกันแล้ว จะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่นักศึกษาต่อไปภายหน้า ที่ใดสงสัยว่าจะแปลให้เข้าใจไม่แจ่มแจ้ง ก็ควรมีคำอธิบายกำกับไว้ด้วย ”
ซึ่งคณะกรรมการสมาคมศูนย์ค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทดังกล่าวนี้เป็นหลักในการดำเนินงาน และได้พัฒนาเป็นมูลนิธิภูมิพโลภิกขุในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า เผยแผ่พุทธศาสนาที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง
พระราชจริยวัตรดังกล่าวมานี้ นอกจากช่วยให้พุทธศาสนาเจริญมั่นคง แผ่ไพศาลไปในหมู่ชนเป็นอันมากแล้ว ยังช่วยให้พุทธศาสนิกชนและศาสนิกชนศาสนาอื่นๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ธรรมะในพุทธศาสนาได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่รู้ได้เข้าใจ ผู้ที่ยังไม่ศรัทธาเลื่อมใสได้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่เคยเข้าใจผิดในหลักธรรมพุทธศาสนาก็จะได้เข้าใจถูกต้อง ซึ่งการเผยแผ่พุทธธรรมดังกล่าวนี้ ลำพังพุทธศาสนิกชนส่วนเดียวก็จะมีกำลังทำได้ไม่กว้างขวางเพียงพอ พระราชจริยวัตรส่วนนี้จึงเป็นคุณูปการสำคัญยิ่งที่หยั่งรากฝังลึกในหัวใจพุทธศาสนิกชน
5. การอุปสมบทนาคหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอนุเคราะห์ กุลบุตรให้ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า “ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลผนวชและอุปสมบทนาคหลวง ” มาตลอดตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน โดยในปีแรก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2489 ได้เสด็จฯ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงผนวช และอุปสมบทนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีหม่อมเจ้าสุนทรากร วรวรรณ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิสกุล หม่อมราชวงศ์ ยันตเทพ เทวกุล และนายเสมอ จิตรพันธ์ เป็นนาคหลวง

ซึ่งในปีต่อมาได้กำหนดให้เป็น พระราชพิธีพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ บรรพชาอุปสมบทนาคหลวง เป็นประเพณีสืบต่อมาถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จ ฯ เป็นนิตย์ หากปีใดไม่เสด็จ ฯ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมราชวงศ์เสด็จฯ แทนพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ทรงจัดให้พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาตามพระราชประเพณีด้วย
การที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในลักษณะดังกล่าว เป็นการส่งเสริมความเชื่อ ค่านิยมและประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของพุทธศาสนาที่เป็นมรดกของชาติซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ ให้พุทธศาสนิกชนได้เห็นคุณค่าความสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้น เช่น เกิดค่านิยมการรับเป็นเจ้าภาพบรรพชาอุปสมบทให้กุลบุตรผู้มีศรัทธา ประสงค์ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนาแต่ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะ จัดหาเครื่องอัฐบริขารด้วยตนเอง เกิดค่านิยมการช่วยเหลือเกื้อกูลงานบรรพชาอุปสมบทที่จัดขึ้นในชุมชน เกิดค่านิยมการเป็นโยมอุปถัมภ์ภิกษุสามเณรที่ประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนแต่ขาดทุนทรัพย์ เป็นต้น ค่านิยมเหล่านี้จึงก่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลขึ้นในสังคมไทย สร้างโอกาสให้ชนในชาติได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นการพัฒนาประเทศชาติที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง
ณ วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 หรือเดือน 8 หลังในปีอธิกมาสตามจันทรคติ มีกำหนดการอุปสมบทนาคหลวงประจำปี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปัจจุบันผู้ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนาคหลวง ได้แก่ พระราชวงศ์ ราชสกุล ราชนิกุล ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นสัญญาบัตร และต่ำกว่าสัญญาบัตร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และเปรียญธรรม 9 ประโยค สำหรับข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สำนักพระราชวังกำหนดคุณสมบัติ ไว้ว่าต้องเป็นข้าราชการ ต่ำกว่าสัญญาบัตร และผู้บังคับบัญชาต้องรับรองว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง ในปัจจุบันมีพิธีเพียง 2 วัน คือ วันเฝ้า ฯ กราบถวายบังคมลา และวันอุปสมบท สำนักพระราชวังจะเป็นผู้รวบรวมจำนวนผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง นำขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานกำหนดวันเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา ในวันเฝ้าฯ นาคหลวงที่เป็นข้าราชการจะแต่งกายด้วยเครื่องแบบปกติขาวตามยศและสังกัดไปยังพระราชฐาน เข้าแถวยืนเรียงตามลำดับ มีโต๊ะปูผ้าขาววางพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ ของตนไว้ข้างหน้า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ออก กรมวังผู้ใหญ่เบิกตัวนาคหลวง นาคหลวงเปิดกรวยกระทงดอกไม้และถวายคำนับตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราโชวาทถึงการที่จะอุปสมบทเป็นการเสร็จพิธีวันเฝ้าฯ
ก่อนถึงวันอุปสมบท เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะนัดนาคหลวงไปวัดศอกเพื่อทราบขนาดของสบงจีวรที่จะจัดเข้าเป็นชุดไตรครองอุปสมบท และแจ้งรายการสิ่งของเครื่องใช้ที่นาคหลวงจะต้องจัดเตรียม นอกเหนือจากของที่พระราชทาน พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงปัจจุบันไม่ออกเป็นหมายกำหนดการ ออกเพียงหมายรับสั่งเฉพาะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติและมีหน้าที่เฝ้า ฯ โดยตำแหน่งเท่านั้น เวลาเช้าวันอุปสมบท นาคหลวงจะมาพร้อมกันที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้เจ้าหน้าที่ภูษามาลาทำการปลงผม ทั้งนี้ บิดามารดา ผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ของนาคจะขริบเส้นผมให้นาคก่อน เมื่อปลงผมเสร็จแล้วนาคหลวงจะไปอาบน้ำที่ขันสาครเพื่อเตรียมแต่งตัวต่อไป นาคหลวงปัจจุบันแต่งกายคล้ายนาคหลวงสมัยก่อน คือ นุ่งผ้าเยียรบับขาว (ถ้าไม่มีให้นุ่งผ้าเยียรบับสี ผ้าม่วง หรือผ้าขาวแทน) สวมเสื้อชั้นในแขนยาวใส่เฉพาะแขนซ้ายคาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยทับใส่เฉพาะแขนซ้ายวงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง
วันอุปสมบทตั้งเครื่องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้แก่ ธูป เทียนแพ กรวยอุปัชฌาย์ กรวยคู่สวด และบาตร (ในบาตรบรรจุมีดโกน หินลับ ด้าย เข็ม ที่ตัดเล็บ) พานผ้าไตรและเครื่องบริขารสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนพระภิกษุนาคหลวง 28 รายการ ได้แก่ ไตรอาศัย ย่าม ตาลปัตรใบลาน โคมไฟ ไฟฉาย กระเป๋าเอกสาร เป็นต้น
เมื่อนาคหลวงแต่งกายเสร็จแล้ว เวลาบ่ายนาคหลวงออกจากศาลาสหทัยสมาคม เข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางประตูเกย ขึ้นสู่พระอุโบสถไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ฐานพุทธบังลังก์หลังธรรมาสน์ศิลา แล้วนำดอกไม้ ธูป เทียนแพ จากเจ้าหน้าที่ไปวางบนธรรมาสน์ศิลา เป็นการถวายสักการบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตามลำดับ จากนั้นสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์อื่นนั่งหัตถบาส 30 รูป (ถ้าปีใดมีนาคหลวงอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย พระหัตถบาสจะแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 รูป) ทำพิธีขอบรรพชาตามพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เสร็จพิธีกรรมแล้วนาคหลวงครองผ้ากาสาวพัสตร์ ถือผ้ากราบไปยังท่ามกลางสังฆมณฑล ทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามลำดับ ในระหว่างพิธีอุปสมบทถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จฯ มาประทับในพระอุโบสถ สำนักพระราชวังอนุญาตให้บิดามารดา ญาติมิตรของนาคหลวงเข้าไปนั่งอนุโมทนาในพระอุโบสถได้ เวลาเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเครื่องบริขารแก่พระภิกษุนาคหลวง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสร็จพระราชพิธีพระภิกษุนาคหลวงเดินทางไปยังวัดที่จำพรรษาต่อไป
โดยปกติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงเป็นประจำทุกปี ยกเว้นบางปีหากทรงมีพระราชภารกิจหรือทรงพระประชวร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระราชวงศ์ไปประกอบพิธีแทน
6. ทรงสร้างพระพุทธรูปไว้ในพระพุทธศาสนา
โดยทั่วไปแล้วพุทธศาสนิกชนมีความเชื่อและยึดถือว่า พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง ในการบูชาเพื่อระลึกถึงพระคุณ ของพระพุทธเจ้าในพิธีกรรมและในโอกาสต่างๆ พระมหากษัตริย์และพุทธศาสนิกชนไทย ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ต่างก็ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน ไว้ในวัดวาอารามต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อไว้เคารพบูชา เช่น พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยอยุธยา พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
การสร้างพระพุทธรูปในแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงต้องสร้างอย่างประณีตงดงามบรรจง พระพุทธรูปบางองค์นอกจากมีคุณค่าทางศาสนาแล้ว ยังเป็นศิลปะที่ทรงคุณค่าสูงยิ่งจนประเมินค่ามิได้ และได้ตกทอดเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ ให้พุทธศาสนิกชนและชาวโลกได้ชื่นชมเคารพบูชาตราบเท่าทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชจริยวัตรในเรื่องนี้ตามเยี่ยงอย่างบุรพมหากษัตริย์อย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่ง กล่าวคือ พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปขึ้นในโอกาสสำคัญๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. พระพุทธรูปหลวงพ่อจิตรลดา พระพุทธรูปนวราชบพิตร พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ประจำรัชกาล เหรียญพระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ ณ หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐและวัดวาอารามตลอดถึงสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานหล่อพระพุทธรูปในสถานที่ต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนกราบบังคมทูลเชิญ
การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสร้างพระพุทธรูปไว้ในพุทธศาสนา นอกจากเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เกิดความเจริญมั่นคงและสืบทอดงานศิลปะวัฒนธรรมแล้ว ยังช่วยให้พุทธศาสนิกชนมีพระพุทธรูปไว้บูชาประจำท้องถิ่นและมีความภาคภูมิใจที่พระองค์พระราชทานไว้ อันนำไปสู่ความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ และมีความร่วมมือร่วมใจสืบทอดพระศาสนาให้แผ่ไพศาลสืบต่อไป พุทธศาสนิกชนต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นยิ่งนัก
- 6.1 พระพุทธรูป ภปร. มีการสร้าง 3 ครั้ง คือ

6.1.1 พระพุทธรูปปางประทานพร
ในงานฉลอง 72 ปี ศิริราช เมื่อ พ.ศ.2505 โรงพยาบาลศิริราชได้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร และพระพุทธรูปสมเด็จพระมหิตราธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นจำนวนหนึ่งสำหรับให้ประชาชนทั่วไป ได้มีไว้สักการะบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ มาทรงเททอง ณ สนามหน้าตึกมนุสสนาควิทยาคาร โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2505
6.1.2 ครั้น พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินต้น ณ วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ทางคณะกรรมการวัดเทวสังฆารามมีความเห็นว่า ควรจะได้สร้างพระพุทธรูปปางประทานพร เพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อให้ประชาชนได้มีไว้เพื่อสักการะบูชา โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร. ประดับเหนือผ้าทิพย์ของพระพุทธรูปด้วย
6.1.3 ครั้น พ.ศ.2508 วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระพุทธรูป ภปร. ขึ้นเป็นทางการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายช่างผู้ชำนาญออกแบบ นำเอาลักษณะที่งดงามที่เด่นแห่งศิลปะ ในพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เชียงแสน และลังกามาผสมผสานกันเป็นพระพุทธรูปนั่งเหนือบัวคว่ำบัวหงาย บนฐานเท้าสิงห์นาค พระหัตถ์ขวาหงายบนพระเพลา หมายถึง ประทานพร ประดับผ้าทิพย์ ภปร. เป็นพระพุทธรูปแบบใหม่พิเศษแห่งยุคปัจจุบัน มีสัญลักษณ์แห่งศาสนาและพระมหากษัตริย์อันเป็นหลักของชาติ รวมกันอยู่อย่างสมบูรณ์ … ได้พระราชทานภาษิตสำหรับจารึกที่ฐานอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติว่า “ ทยฺยชาตฺยา สามคฺคยํ สติสญฺชาเนน โภชสิยํ รกฺชนฺติ ” (คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี) … ส่วนที่ฐานด้านหลัง คณะกรรมการสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. มีมติให้จารึกว่า “ เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2508 ”
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ของวัดบวรนิเวศวิหาร มี 3 ขนาด คือ ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว และ 5 นิ้ว รมดำกับขนาดเล็กเป็นพระกริ่ง เนื้อสัมฤทธิ์ ทุกขนาด ฝีมือการหล่อตกแต่งประณีตสวยงามมาก ในการหล่อสร้างพระพุทธรูป ภปร. ครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ถึง 4 ครั้ง คือ วันที่ 27 สิงหาคม เวลา 16.20 นาฬิกา เสด็จไปทรงร่วมในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วันที่ 28 สิงหาคม และวันที่ 29 สิงหาคม เสด็จฯ ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนม์พรรษาเสมอ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และการพระราชพิธีฉลองสมโภชพระเจดีย์ หล่อพระพุทธรูปปางประทานพร มีพระปรมาภิไธย ภปร. ทางวัดบวรนิเวศจึงสมมุติเรียกตามถึงพระชนม์แห่งศุภนิมิตในการหล่อสร้างพระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. นี้ว่า “ จาตุรมงคล ”
- 6.2 พระพุทธรูปปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล
เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย ซึ่งไม่มีชาติใดมี เป็นพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ได้ทรงปฏิบัติสืบต่อกันมานาน จากหลักฐานที่พบน่าจะเกิดมีขึ้นตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ที่พระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ทรงโปรดให้สร้างขึ้น สำหรับเชิญนำเสด็จฯ ไป ณ ที่ต่างๆ หรือประดิษฐานไว้ ณ หอพระ และเชิญมาเป็นประธานในพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง คือ
พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะอัญเชิญพระชัยมาตั้งที่หน้าพระพุทธสิหิงค์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เช่นเดียวกัน
พระราชพิธีโสกันต์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะอัญเชิญพระชัยมาตั้งที่ซ้าย และขวาของพระพุทธสิหิงค์
พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะอัญเชิญพระชัยประจำรัชกาลต่างๆ มาร่วมพิธี
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวมักอัญเชิญพระชัยมาด้วย

พิธีพระประทีป มีเรืออนันตนาคราช แต่งเครื่องประทีปทรงพระชัย
ในการเสด็จพระราชสงคราม จะอัญเชิญพระชัยไปในกองทัพด้วย ถ้าไปทางเรือก็จะอัญเชิญประดิษฐานในเรือเป็นพิเศษ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะได้เสด็จจากกรุงศรีอยุธยาทางเรือ ได้ตั้งพระชัยในเรือสุพรรณหงส์ ถ้าเสด็จไปทางสถลมารค ก็จะอัญเชิญพระชัยขึ้นประดิษฐานบนหลังช้าง จึงได้ชื่อว่า พระชัยหลังช้าง
พระราชพิธีราชาพิเษก จะอัญเชิญพระชัยมาประดิษฐานในมณฑลพิธี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในตอนต้นราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชดำริถึงพระพุทธปฏิมาประจำพระองค์ที่ทรงอัญเชิญไปในราชการศึกสงคราม ซึ่งในครั้งนั้นเรียกกันว่า พระชัยหลังช้าง ต่อมาได้ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้หน้าพุทธบังลังก์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ด้วยทรงเห็นว่า เป็นพระพุทธรูปคู่บารมี การนี้ทำให้ทรงขาดพระพุทธปฏิมากร สำหรับถวายสักการะ ณ พระราชมณเฑียร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง ถวายพระนามว่า พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล พระชัยวัฒน์ เป็นพระพุทธรูปโลหะองค์ไม่ใหญ่นักปางมารวิชัยที่มีลักษณะพิเศษกว่าพระพุทธรูปอื่นๆ ประการหนึ่ง คือ พระหัตถ์ซ้ายถือด้ามพัด และท่านั่งเป็นท่าขัดสมาธิเพชร และมักจะเป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม พอที่จะยกเคลื่อนย้ายไปในสถานที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก หลังจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีต่อๆ มาทรงถือเป็นราชประเพณีที่จะโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ หลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้วทุกรัชกาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 แต่ยังมิได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ด้วยทรงมีพระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินไปยังต่างประเทศสืบเนื่องกันเป็นเวลานาน และยังไม่ทรงมีโอกาสอันควร จนกระทั่งปี พ.ศ.2506 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี โดยโปรดเกล้าฯ ให้นายพิมาน มูลประมุข เป็นผู้ปั้นหุ่นพระพุทธรูป และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลปัจจุบัน ในวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2506 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงศีล แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถได้เวลาพระฤกษ์7 นาฬิกา 12 นาที ถึง 7 นาฬิกา 22 นาที โหรลั่นฆ้องชัย ทรงเททองและเงิน หล่อพระพุทธปฏิมาประจำรัชกาล พระสงฆ์ 30 รูป ในพระอุโบสถ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญชัยมงคลคาถา ชาวประโคม ประโคมสังข์แตร บัณเฑาะว์ และดุริยางค์ ทหารปืนใหญ่ (จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ จำนวน 1 กองร้อย โดยมีร้อยโท ชูชาติ หิรัญรักษ์ เป็นผู้บังคับกองร้อย) ยิงปืนพระฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค 19 นัด พระครูวามเทพมุนี ถวายน้ำสังข์ที่พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ทรงประเคนภัตตาหาร พระสงฆ์ 30 รูป รับพระราชทานฉัน สมเด็จพระราชาคณะดับเทียนชัย พระสงฆ์ทั้งนั้นเจริญคาถาดับเทียนชัย
ต่อมาเมื่อการแต่งพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ได้เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีฉลองสมโภชพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ที่ได้ทรงหล่อไว้ ผนวกอยู่ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ.2506 ซึ่งเป็นมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ อีกด้วย
พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบัน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับขัดสมาธิเพชร มีฉัตรปรุ 5 ชั้น ปักดิ้น หน้าตักกว้าง 7 นิ้ว สูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี 9 นิ้ว ในหัตถ์ซ้ายมีพัดแฉกหล่อด้วยเงินปักอยู่ที่ฐานมีคำจารึกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ดังนี้
จารึกด้านหน้า ความว่า
มานสํ วีริยํ ขฺนติ
ภูมิ เว อิทฺธิยา พลํ
อิทฺธิงคโต ส รญฺเชติ
ปฺณฑิโต ชยาฒฺทโน
ซึ่งหมายความว่าความตั้งใจมุ่งมั่น ความเพียร ความขันติ เป็นพลังที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จโดยแท้ ผู้ที่บรรลุถึงความสำเร็จนั้นเป็นบัณฑิต ได้รับความชนะมากย่อมให้เกิดความสุขยินดี คาถาบทนี้สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อครั้งเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เป็นผู้ผูกถวาย
จารึกด้านหลัง ความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงหล่อ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี ที่ 31 ตุลาคม พุทธศักราช 2506
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบัน ไปประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ร่วมกับพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ทุกรัชกาล เมื่อมีงานพระราชพิธีก็เชิญออกไปประดิษฐานในมณฑลพิธีแต่ละครั้งสืบมา
- 6.3 หลวงพ่อจิตรลดา
เมื่อ พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสร้างพระเครื่อง (พระพุทธรูปพิมพ์หรือพระพิมพ์) ขึ้นพิมพ์หนึ่งเป็นการส่วนพระองค์ที่เรียกว่า พระกำลังแผ่นดิน หรือ “ พระสมเด็จจิตรลดา ” หรือที่นักสะสมพระเครื่อง เรียกกันว่า “ หลวงพ่อจิตรลดา ” การที่ทรงสร้างพระกำลังแผ่นดินขึ้น ก็ด้วยทรงมุ่งหมาย จะพระราชทานแก่ผู้ทูลขอพระราชทาน หรือพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้ผู้ที่ได้รับพระราชทานมีความประพฤติดี สมกับที่ได้รับพระราชทาน เพื่อเป็นกำลังของแผ่นดิน และเพื่อให้บังเกิดความสามัคคี รวมกำลังกันรักษาแผ่นดินสืบไป
แบบ (พิมพ์) พระกำลังแผ่นดิน ทรงพระราชดำริโดยทรงปรึกษากับนายช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ทรงออกแบบเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดฐานกว้าง 3 กระเบียด 1 อนุกระเบียด สูง 1 นิ้ว 1 กระเบียด องค์พระเป็นปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนอาสนะบัว 2 ชั้น

มวลสารที่ทรงนำมาผสมสร้างพระกำลังแผ่นดินนั้นล้วนแต่เป็นมงคลทั้งสิ้น คือ
ก. ส่วนในพระองค์ 5 อย่าง คือ
1. ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระพุทธปฏิมากรตลอดเทศกาล จนถึงคราวที่จะเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ ดอกไม้แห้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมไว้
2. เส้นพระเจ้า (เส้นผม) ซึ่งเจ้าพนักงานได้รวบรวมไว้หลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ทุกครั้ง
3. ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตร และด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล
4. สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์
5. ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่งขณะที่ทรงตกแต่งเรือใบพระที่นั่ง
ข. ส่วนที่มาจากจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร เป็นวัตถุที่ได้มาจากปูชนียสถาน หรือพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชาในแต่ละจังหวัด อันได้แก่ ดินหรือตะไคร่น้ำแห้งจากปูชนียสถาน เปลวทองคำปิดพระพุทธรูป ผงธูปหน้าที่บูชา และน้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้เคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จังหวัดละ 1 ถึง 10 รายการ ที่กระทรวงมหาดไทยนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และมีมวลสารที่ศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆ อีกหลายจังหวัด เช่น จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตราด จังหวัดนครนายก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดพัทลุง จังหวัดสตูล และจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
การสร้าง พระองค์ทรงผสมมวลสารดังกล่าวและทรงกดพิมพ์สร้างด้วยพระหัตถ์เอง
การปิดทอง ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะต้องทำการปิดทองหลังองค์พระ
วุฒิบัตร ผู้ที่ได้รับพระราชทานจะได้รับวุฒิบัตรรับรองการพระราชทาน และลงนามรับไว้ในทะเบียนส่วนพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดทำบันทึกและทรงเก็บด้วยพระองค์เอง ในวุฒิบัตรจะมีพระปรมาภิไธย และเลขหมายลำดับการพระราชทาน
- 6.4 พระพุทธนวราชบพิตร
พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างขึ้น เพื่อพระราชทานไปประดิษฐานไว้ ณ จังหวัดต่างๆ สำหรับเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทั่วไป อีกทั้งเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับพสกนิกรของพระองค์ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักรสำหรับเหตุดลพระราชหฤทัยให้ ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาองค์นี้ขึ้นนั้น ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เรียบเรียงไว้ในบทความเรื่อง “ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่กรุงเทพมหานคร ” ในหนังสือ “ จากฟ้า … สู่ดิน ” สรุปความได้ว่า
แต่โบราณกาล ได้มีประเพณีพระราชทานพระแสงราชศัสตรา ไว้ประจำเมืองบ้าง พระราชทานสำหรับตัวบุคคลเป็นครั้งคราว เพื่อปฏิบัติการแทนพระองค์บ้าง ความมุ่งหมายสำคัญของการพระราชทาน พระแสงราชศัสตราก็เพื่อ

1. ให้ผู้ได้รับพระราชทานมีอำนาจ เช่น พระราชอำนาจ ในบางกรณี
2. เป็นเครื่องหมายแทนพระองค์พระมหากษัตริย์
3. ใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น ชุบน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้ข้าราชการดื่มสาบานตน ว่าจะซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน
ในสมัยต่อมาการพระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่บุคคลเพื่อให้มีอำนาจ เช่น พระราชอำนาจไม่ค่อยจะมีปรากฏ มีแต่พระราชทานประจำมณฑล ประจำจังหวัด ซึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5-6-7 ได้พระราชทานไว้กับจังหวัดที่เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมหลายจังหวัด ทุกจังหวัดที่ได้รับพระราชทานต่างถือเป็นเกียรติประวัติอันสำคัญ และถือเป็นสิริมงคลด้วย แต่ก็มีจังหวัดที่ยังมิได้รับพระราชทานอยู่มาก
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ กว้างไกลกว่าในรัชกาลก่อนๆ เพราะการคมนาคมเจริญขึ้น ไปมาได้สะดวกกว่าแต่ก่อน บรรดาจังหวัดต่างๆ ที่เสด็จเยี่ยม จึงอยากจะได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำรัชกาล ไว้เป็นสิริมงคล ได้มีการกล่าวขานออกความเห็นว่าควรพระราชทาน
ความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท ก็มีพระราชดำริว่า พระแสงราชศัสตรานั้นเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมเดชานุภาพของ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ในระบอบปรมิตาญาสิทธิราช จะเจริญรอยพระยุคลบาทนำมาพระราชทานน่าจะไม่เหมาะ สิ่งที่จะพระราชทานควรเป็นนิมิตหมายของความผูกพัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับผองพสกนิกร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตรขึ้นเมื่อ พ.ศ.2509 ตั้งพระราชหฤทัย ที่จะพระราชทานทุกจังหวัดก่อนหลังกันตามควรแก่โอกาส

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงศัสตราประจำเมือง

พระแสงศัสตราประจำจังหวัดปัตตานี

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี 40 เซนติเมตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้าไปปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมานี้ ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ระหว่างปั้นทรงตรวจ พระพุทธลักษณะ ของพระปฏิมานั้น จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปนั้นขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2509 และได้โปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามพระพุทธรูปนั้นว่า “ พระพุทธนวราชบพิตร ” (กรุงเทพมหานคร. 2539 : 291-292 )
ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตรนั้น ได้ทรงบรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ “ พระกำลังแผ่นดิน ” หรือ “ หลวงพ่อจิตรลดา ” ไว้ 1 องค์ พระพุทธนวราชบพิตรนอกจากจะเป็นนิมิตหมาย แห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดแห่งพุทธศาสนิกชนทั่วไปแล้ว ยังเป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับบรรดาพสกนิกร ของพระองค์ในทุกจังหวัดทั่วพระราชอาณาจักร และพระพุทธรูปพิมพ์ ซึ่งได้บรรจุไว้ที่ฐานบัวหงายนั้น ก็ประกอบด้วยวัตถุศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ อันศาสนิกชนทั่วพระราชอาณาจักร ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน พระพุทธนวราชบพิตร
จึงเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สำนักพระราชวัง จึงวางระเบียบปฏิบัติ เกี่ยวกับ พระพุทธนวราชบพิตรไว้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2510 ดังต่อไปนี้
1. เมื่อจังหวัดใดได้รับพระราชทานไปแล้วให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด
2. เมื่อทางจังหวัดมีงานพิธีใดๆ ซึ่งต้องตั้งที่บูชาพระรัตนตรัยก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระบูชาในพิธีนั้นๆ ทั้งนี้ยกเว้นพิธีที่กระทำในโบสถ์ วิหาร หรือปูชนียสถานใดๆ ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว และยกเว้นพิธีซึ่งต้องใช้พระพุทธรูปอื่นเป็นประธานโดยเฉพาะ เช่น พระพุทธคันธารราษฎร์
3. เมื่อเสด็จฯ ไปยังจังหวัดเพื่อทรงเป็นประธานพระราชพิธี หรือพิธีทางจังหวัดก็ดี ก็ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธีและพิธีนั้นๆ ทุกครั้ง หากพระราชพิธี หรือพิธีนั้นๆ กระทำในพระอารามหรือปูชนียสถาน ซึ่งมีพระประธานหรือปูชนียวัตถุอื่นใดเป็นประธานอยู่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐาน ณ ที่บูชาเป็นต่างหากอีกที่หนึ่ง เพื่อทรงนมัสการ
4. เมื่อเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรไปประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา เพื่อทรงนมัสการในพลับพลาหรือที่ประทับซึ่งได้จัดไว้ในกรณีนี้ หากท้องที่ที่เสด็จ ฯ นั้นห่างไกลจากศาลากลางจังหวัด และเป็นที่ทุรกันดารไม่สะดวกแก่การคมนาคม หรือการเสด็จ ฯ นั้นเป็นการรีบด่วน หรือเพียงเป็นการเสด็จผ่าน ทางจังหวัดจะพิจารณาให้งดเสียก็ได้ ตามแต่จะเห็นควร
5. เมื่อเสด็จฯ ไปประทับแรม ณ จังหวัด ให้ทางจังหวัดอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้ ณ ที่บูชา ในพลับพลาหรือในที่ประทับตลอดเวลาที่ประทับแรมอยู่ และให้อัญเชิญกลับไปยังศาลากลางเมื่อเสด็จฯ กลับแล้ว ในการนี้ให้กองมหาดเล็กปฏิบัติเช่นเดียวกับระเบียบแบบแผนที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวกับพระชัยนวโลหะประจำรัชกาล
6. หากทางจังหวัดเห็นสมควรจะอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร ออกไปให้ประชาชนได้นมัสการบูชาในงานเทศกาลใดๆ ก็ให้กระทำได้ตามแต่จะเห็นควร
อนึ่ง การปิดทองที่องค์พระพุทธรูปนั้นอาจทำให้พระพุทธรูปเสียความงดงามไปบ้าง ถ้าหากทางจังหวัดจะประดิษฐานพระพุทธนวราชบพิตร บนฐานซึ่งทำด้วยวัตถุอันอาจปิดทอง ได้อีกชั้นหนึ่งให้ประชาชนได้ปิดทองได้ ก็จะเป็นการเหมาะสมยิ่งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธรูปองค์นี้ ทุกจังหวัดด้วยพระองค์เอง ในการเสด็จฯ ไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรยังจังหวัดต่างๆ จะทรงเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระราชดำรัสแก่ราษฎรจังหวัดนั้นๆ ถึงความสามัคคีกลมเกลียว ของคนในชาติ ความหมายและความสำคัญของพระพุทธนวราชบพิตร ทรงขอให้ประชาชนในจังหวัดนั้นๆ รับพระพุทธนวราชบพิตรไว้เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับจังหวัดและสำหรับตัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจในการที่จะสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันประกอบความดี ทรงขอให้ทุกคนทำงานทั้งปวงด้วยความตั้งใจจริง ขยันหมั่นเพียร ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความสามัคคี เช่น ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรที่จังหวัดสุรินทร์ โดยได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและพสกนิกรที่มารอเฝ้ารับเสด็จฯ ในวันดังกล่าวว่า
“… ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ท่านด้วย พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ตัวฐาน ข้าพเจ้าบรรจุพระพิมพ์ไว้องค์หนึ่ง เป็นพระที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ที่ข้าพเจ้าได้มาจากทุกจังหวัด ทั่วราชอาณาจักร มีดินหน้าหลวงพ่อพระชีว์ พระประธานในอุโบสถวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ นี้รวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าถือว่า พระพุทธนวราชบพิตรเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่ตั้งสูงสุด และเป็นทั้งที่หมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทยและคนไทยทั้งชาติ บรรจุพระพิมพ์ที่ทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญและนำมามอบให้ท่านด้วยตัวเอง ท่านทั้งหลายจงรับพระพุทธนวราชบพิตรไว้เพื่อเป็นศิริมงคลสำหรับจังหวัด และสำหรับตัวท่านเป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจในการที่จะกระทำความดี …”
- 6.5 พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ถึง ปี พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นปีที่เจริญพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา นับเป็น เวลาที่ทรงครองราชย์กว่าหนึ่งหมื่นวันจึงถือเป็นมงคลสมัยพิเศษ ในวาระนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ
อนึ่ง ในครั้งนั้น โหรหลวงได้คำนวณพระชนมพรรษาครบห้าสิบพรรษา และเป็นปีที่เปลี่ยนดาวพระเคราะห์ที่เสวยพระมหาทักษา จากพระเสาร์ซึ่งเป็นองค์อภิบาลเสวยพระชนมพรรษาได้ 10 ปี มาเป็นพระพฤหัสบดีซึ่งเข้าเสวยพระชนมพรรษาในปีนั้น ตามคติทางโหราศาสตร์ต้องมีการประกอบพระราชพิธีรับ – ส่ง ดาวพระเคราะห์ที่เสวยพระมหาทักษา แต่ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดพระราชพิธีนั้นเสีย โดยมีพระราชศรัทราให้หล่อพระพุทธปฏิมาปางลีลาขนาดเท่าพระองค์ 1 องค์ ถวายเป็นพุทธบูชา ประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร และพระพุทธรูปอีก 3 องค์ เพื่อทรงสักการบูชา พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ในพระราชพิธีนี้ล้วนมีความหมายพิเศษ ดังนี้
6.5.1 พระพุทธรูปปางลีลาเท่าพระองค์ สูง 172 เซนติเมตร มีความหมายถึง การเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรในท้องถิ่นชนบท ทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่มหาชน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจิมแผ่นป้ายถวายนามพระพุทธรูปปางลีลาเท่าพระองค์ ถวายนามว่า พระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตร ภูมิพลนริศทสสหัสสทิวัสรัชการีปัณณาสวรรษศรีอุภัยมหามงคล แปลว่า “ พระพุทธเจ้าบพิตรผู้ยังสยามรัฐให้เจริญยิ่ง เป็นมหามงคลแห่งศรีมิ่งมงคล 2 ประการ คือ

สมเด็จพระภูมิพลผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งนรชน เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ และทรงเจริญพระชนมพรรษา 50 พรรษา ” และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร บนฐานชุกชี ด้านตะวันออกของพระพุทธชินสีห์
6.5.2 พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันจันทร์ สูงศอกคืบ คือ 69 เซนติเมตร หมายถึง วันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ อีกทั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 นั้น ก็ตรงกับวันจันทร์ด้วย
ส่วนแผ่นป้ายที่ฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ถวายนามว่า พระพุทธสกลสันติกรบพิตรบรมจักรีศรสถิตมงคล แปลว่า “ พระพุทธเจ้าบพิตรทรงทำสันติทั่วสกลทิศเป็นใหญ่ในจักร คือ ธรรมอำนวยมงคล ให้สถิตมั่นหรืออำนวยมงคลแด่พระอิศวรแห่งพระจักรีวงศ์ให้ดำรงมั่นโดยธรรม ”
6.5.3 พระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเสาร์ หมายถึง พระเสาร์ ซึ่งเป็นองค์อภิบาล พระชนมพรรษา มาแล้ว 10 ปี
6.5.4 พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันพฤหัสบดี หมายถึง พระพฤหัสบดี ซึ่งเป็นองค์อภิบาลพระชนมพรรษาต่อจากพระเสาร์เป็นเวลาอีก 19 ปี ตามคติทางโหราศาสตร์
พระพุทธรูปปางนาคปรก และพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่ง 2 องค์หลังมิได้ถวายนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปทรงถวายสักการะบูชา ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐานต่อไป
พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป เนื่องในมหามงคลสมัยพระชนมพรรษา บรรจบครบ 50 พรรษา มีหมายกำหนดการพระราชพิธี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเททองตามพระฤกษ์เวลา 17.36 นาฬิกา
ครั้นเมื่อการตกแต่งองค์พระพุทธรูปแล้วเสร็จลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเบิกพระเนตร ฉลองพระพุทธรูปในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2520 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามในวาระพิธี
- 6.6 เหรียญพระชัยหลังช้าง

เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ได้สร้างเหรียญพระชัยหลังช้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์สมณาคุณแก่ผู้สมทบทุน ในการตั้งทุนร่วมถวายความจงรักภักดีของพสกนิกร และเพื่อเป็นการเฉลิมพระบุญญาธิการให้ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดรูปเหรียญ ดังนี้
1. เป็นเหรียญพระพุทธรูปจำลอง ทรงพระนามว่า “ พระชัยหลังช้าง ” มีพระปรมาภิไธยย่อของสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลที่ 9 ประดิษฐาน ณ เบื้องหลังแห่งเหรียญนั้น
2. การสร้าง
2.1 โลหะผสม รูปเหรียญขนาดสูง 3.6 เซนติเมตร
2.2 ทอง นาค เงิน รูปเหรียญขนาดสูง 3 เซนติเมตร
3. พิธีพุทธาภิเษก กำหนดประกอบพิธีในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2529 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นองค์ประธาน
พระชัยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษกว่าพระพุทธรูปธรรมดาอย่างหนึ่ง คือพระหัตถ์ซ้ายจะกำ พระหัตถ์อยู่ในลักษณะถือด้ามพัด และเป็นแบบนั่งขัดสมาธิเพชร เท่าที่พบเรื่องราวประมาณว่าจะเกิดมีขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างต่ำ แต่จะเป็นพระพุทธรูปขนาดใดบ้างไม่ทราบแน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานเข้าใจว่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม พอที่จะยกเคลื่อนย้ายไปในพิธีต่างๆ ได้สะดวก เพราะในพระราชพิธีต่างๆ มักจะเชิญพระชัยไปด้วยเสมอ เช่น ในพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาครั้งกรุงศรีอยุธยาก็ได้เชิญพระชัยมาตั้งที่หน้าพระพุทธสิหิงค์
ในพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าครั้งกรุงศรีอยุธยาทำไกรลาสบนชั้นสามที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ มีมณฑปน้อยตั้งพระชัยน้อยซ้ายขวา พระสิหิงค์เป็นประธาน ในพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีพระพุทธรูปที่เป็นสำคัญหลายพระองค์ คือ พระชัยประจำรัชกาลต่างๆ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในพิธีลอยประทีป ในการเสด็จพระราชสงคราม และเสด็จประพาสหัวเมืองจะเชิญพระชัยไปในกองทัพด้วย และในพระราชพิธีพิธีราชาภิเษก หรือแม้แต่ในพระราชพิธีงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525 ก็อัญเชิญพระชัยหลังช้างมาในพระราชพิธีนั้นด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น มีพระชัย 2 องค์ องค์หนึ่งมีขนาดเล็ก เรียกว่า พระชัยหลังช้าง หรือพระชัยเล็ก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงสันนิษฐานว่า พระชัยองค์นี้เข้าใจว่าสร้างแต่ครั้งยังไม่ได้เสวยราชสมบัติ สำหรับไปทัพจับศึกก็เอาขึ้นหลังช้างไปจึงได้ชื่อว่า “ พระชัยหลังช้าง ” อีกองค์หนึ่งเป็นพระขนาดใหญ่เรียกว่า “ พระชัยประจำรัชกาล ” หรือ “ พระชัยใหญ่ ” ก็เรียกกัน
- 6.7 พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล 5 รอบ ( 60 พรรษา)
พุทธศักราช 2530 นับเป็นปีที่มีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยอีกปีหนึ่ง เนื่องจากเป็นวาระซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พระนักษัตร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นศุภวาระมหามงคลสมัยอีกวาระหนึ่ง
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในปี พ.ศ.2530 จึงเป็นการพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ มีพระราชพิธีสำคัญ และรายละเอียดเป็นการพิเศษกว่าครั้งอื่นๆ อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป ประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา มหามงคล 5 รอบขึ้น เป็นการเริ่มต้นพระราชพิธี
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร หมายถึง พระประจำวันพระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตามประเพณีนิยมของพระพุทธศาสนิกชน สำหรับถวายสักการะบูชา ประจำเพื่อสิริมงคล พระประจำวันที่สร้างตามคตินิยม คือ


พระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์
ปางถวายเนตร

วันจันทร์
ปางห้ามญาติ

วันอังคาร
ปางไสยาสน์

วันพุธ
ปางอุ้มบาตร

วันพฤหัสบดี
ปางสมาธิ

วันศุกร์
ปางรำพึง

วันเสาร์
ปางนาคปรก
พระราชประเพณีสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมวารได้ปฏิบัติสืบมา เว้นแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชสมภพวันอังคาร พระพุทธรูปประจำพระชนมวารเป็นพระปางไสยาสน์ ทรงพระราชดำริว่าพระปางไสยาสน์เมื่อนำไปประดิษฐานรวมหมู่กับพระพุทธรูปปางอื่น ๆ ไม่งดงามจึงปรากฏว่าทรงสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติเป็นพระประจำวันพระบรมราชสมภพ
ส่วน พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเท่าจำนวนพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ 37 ปาง ก็ทรงพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตักประมาณ 3 นิ้ว กะไหล่ทอง จำนวน 37 องค์ เท่าพระชนมพรรษาที่ยังมิได้เสวยราชย์ และในปีต่อมาก็ทรงสร้างเพิ่มขึ้นปีละ 1 องค์ ตามพระชนมพรรษาที่เจริญขึ้น พระพุทธรูป 37 องค์ที่แรกสร้างไม่มีฉัตร เพราะยังไม่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ส่วนที่สร้างเพิ่มปีละ 1 องค์ ขณะทรงดำรงสิริราชสมบัติมีฉัตรปรุ 3 ชั้น ถวายปักกั้น และในโอกาสเดียวกันนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 73 องค์ เป็นปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิเพชร ไม่มีฉัตร 28 องค์ และสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 59 องค์ เป็นปางสมาธิไม่มีฉัตร 43 องค์ มีฉัตร 16 องค์ ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าปีที่ทรงพระราชสมภพ มีฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าบริบูรณ์ดี จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์เป็น พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ราชประเพณีทรงสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาได้ปฏิบัติสืบมา จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ไม่มีการหล่อ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา
ในรัชกาลปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ดังนั้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป ประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ตามราชประเพณีที่เคยมีมาแต่กาลก่อน ซึ่งก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีหล่อ พระพุทธรูปประจำพระชนมวารปางห้ามญาติ ซึ่งเป็นพระประจำวันจันทร์ อันเป็นวันพระบรมราชสมภพ ขนาด สูง 9 นิ้ว หล่อด้วยโลหะเงินกะไหล่ทอง และ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล 5 รอบ แบบพระพุทธนวราชบพิตร แต่เป็น ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 18 นิ้ว หล่อด้วยโลหะผสมทองแดงกะไหล่ทองอย่างหนา ถวายฉัตรปรุ 5 ชั้นปักกั้น
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล 5 รอบ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2530 ความละเอียดในหมายกำหนดการคือ
วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เวลา 17.00 น. เสด็จพระราชดำเนิน เข้าสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์ พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ สมเด็จพระสังฆราชถวายศีลจบ พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนต์ และลงคาถาในแผ่นโลหะ ที่จะหล่อพระพุทธรูป
ได้เวลาพระฤกษ์ 17.45 น. ถึง 18.09 น. เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระอุโบสถไปประทับยังเกยที่หน้าพระอุโบสถ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงหย่อนแผ่นทองลงในเบ้า แล้วทรงเททองหล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษามหามงคล 5 รอบ ขณะนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เมื่อทรงเททองหล่อพระพุทธรูปเสร็จแล้ว พระครูสตานันทมุนี ถวายน้ำเทพมนต์ที่หุ่นพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา มหามงคล 5 รอบ เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรกออกจากพระอุโบสถ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ
7. ในด้านการเผยแพร่ศีลธรรมแก่เยาวชน และประชาชนโดยใช้หลักพระพุทธศาสนา
ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดเรียงความในหัวข้อที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ให้จัดพิมพ์ขึ้นสำหรับพระราชทานในวันวิสาขบูชาทุกปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด แล้วให้พระสงฆ์อบรมสั่งสอนนักเรียนโดยใกล้ชิด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังสวนดุสิต จัดรายการธรรมะ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่เป็นประจำ และทรงอุปถัมภ์มูลนิธิเพื่อการพระศาสนา เช่น มูลนิธิภูมิพโล เป็นต้น
พระราชปณิธานด้านการศึกษาที่ทรงเกื้อกูลต่อกุลบุตรกุลธิดานั้น ได้ทรงกระทำอย่างต่อเนื่องในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา จะเห็นได้จากเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินต้น ที่วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2517 ก็ยังทรงมีพระราชปรารภเน้นย้ำในพระราชปณิธานดังกล่าวสรุปได้ว่า
“ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่ให้วัดทั่วไปได้จัดตั้งสถานศึกษาอบรมเด็กเล็กก่อนวัยเรียนขึ้น เพื่อปูพื้นฐานชีวิตของเด็กให้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา ” (พระเทพวราลังการ, สัมภาษณ์, 7 กรกฎาคม 2539)
นอกจากแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานแก่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว พระองค์ยังทรงปฏิบัตินำร่องเพื่อให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอีกด้วย เป็นต้นว่า พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสองแสนสองหมื่นบาท เมื่อคราวเสด็จถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดสุทธจินดา ซึ่งในคราวนั้นพระราชพิศาลสุธีได้สนองพระราชดำริ โดยจัดตั้ง โรงเรียนอนุบาลวัดสุทธจินดา ขึ้น และเจริญพัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนบัดนี้ มีทรัพย์สินมูลค่าถึงสองล้านห้าแสนบาท มีครูอาจารย์ 20 คน นักเรียน 370 คน
โรงเรียนวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ในปี พ.ศ.2536 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับกรุงเทพมหานครก่อสร้างโรงเรียนระดับเด็กก่อนประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นเป็นโรงเรียนสาธิตพระราชทานแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ขึ้นในบริเวณที่ติดกับวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งมีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2539
การที่ได้ทรงปรารภกับพระสงฆ์ คหบดี และพสกนิกรในต่างพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นลำดับนั้น ด้วยทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาอันเป็นพื้นฐานของเยาวชนไทย ว่าน่าจะมีวัดและพระสงฆ์เป็นผู้กล่อมเกลา ปลุกปั้น ฝึกเพาะ ทั้งทางศีลธรรม จรรยามารยาท และวิชาความรู้ เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศสืบไป