พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

บทที่ 12 องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก

นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งนับถือศาสนา อิสลาม ศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู และศาสนาซิกข์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงอุปถัมภ์การดำเนินกิจการในประเทศขององค์การศาสนา เหล่านี้ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนิกของศาสนานั้นๆ เป็นประจำ

1. ศาสนาอิสลาม

ในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2537 มีชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 2,396,198 คน อาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวม 72 จังหวัด มีมัสยิดทั่วประเทศจำนวน 2,799 แห่งใน 50 จังหวัด และจังหวัดที่มีมัสยิดมากที่สุด คือ จังหวัดปัตตานี มีมัสยิด 544 แห่ง ส่วนกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นมีมัสยิด 159 แห่งชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทย มีสถานภาพ และความเป็นพลเมืองที่ค่อนข้างจะแตกต่าง จากพลเมืองของประเทศต่างๆ ในโลก กล่าวคือ

มัสยิดกลาง ประจำจังหวัดปัตตานี

มีฐานะเป็นพลเมืองของประเทศไทย มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคนไทยทั้งมวล และในฐานะที่เป็นมุสลิม สถานภาพในด้านครอบครัว รวมทั้งด้านการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม การใช้กฎหมายและวัฒนธรรมตั้งอยู่บนรากฐานของกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ศาลไทยจะใช้กฎหมายอิสลามบังคับแก่คดีซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นมุสลิม มีดะโต๊ะยุติธรรมเข้าร่วมนั่งเป็นองค์คณะผู้พิพากษา

ดังนั้นไทยมุสลิมจึงเป็นคนไทยที่แท้จริง มีสิทธิที่จะเป็นข้าราชการ และมีหน้าที่รับราชการทหารตามกฎหมาย หรือประกอบอาชีพใดๆ ได้เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไปที่นับถือพระพุทธศาสนา และศาสนาหรือนิกายอื่นใดโดยเท่าเทียมกันทุกประการ

อาจารย์สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์
ประธานคณะกรรมการกลางอิสลาม แห่งประเทศไทย

“ จุฬาราชมนตรี ” เป็นตำแหน่งของหัวหน้าชุมชนมุสลิม ปัจจุบัน จุฬาราชมนตรีคนที่ 11 คือ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ (วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน) และองค์กรการบริหารงานด้านกิจการศาสนาอิสลาม ประกอบด้วย จุฬาราชมนตรี กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรรมการอิสลามประจำจังหวัด และกรรมการมัสยิด

พระราชกรณียกิจในฐานะองค์ศาสนูปถัมภกของศาสนาอิสลาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นมิ่งขวัญ และเป็นที่รักยิ่งของมวลชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระบุญญาบารมีของพระองค์ท่าน ประชาชนทั่วไปและชาวไทยมุสลิมต่างพากันชื่นชมสดุดีแซ่ซ้องในพระราชกรณียกิจของพระองค์ทุกอย่าง และทุกประการที่ทรงกระทำเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยมุสลิมได้บรรลุประโยชน์สุขสูงสุดยิ่ง พระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่สำคัญคือ

1.1 การส่งเสริมศาสนาอิสลามและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
1.2 การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและขจัดความด้อยพัฒนาของชุมชนมุสลิม
1.3 ส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคในการพัฒนาบุคลากรไทยมุสลิม

1.1 การส่งเสริมศาสนาอิสลามและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
1.1 .1 งานเมาลิดกลาง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ งานเมาลิดกลางและได้มีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯ ในงานเมาลิดกลางเกือบทุกปีระหว่าง พ.ศ.2507 – 2513 ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ในงานเมาลิดกลางทุกปี

การแข่งขันการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน ในงานเมาลิดกลาง
คณะกรรมการมูลนิธิ “ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี” ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาคัมภีร์ อัลกุรอาน และคำแปลเป็นภาษาไทย

งานเมาลิด คือ งานเฉลิมฉลองเนื่องในวันคล้ายวันสมภพ ของพระบรมศาสดา นบี มูฮัมหมัด ซ.ล. ซึ่งชาวมุสลิมทั่วโลกได้จัดงานขึ้น ในประเทศไทยได้จัดงานขึ้นในจังหวัดต่างๆ ที่มีชาวไทยมุสลิมอยู่กันหนาแน่น และในส่วนกลางในกรุงเทพมหานครมีชาวไทยมุสลิมทุกจังหวัด เดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก งานที่จัดขึ้นในส่วนกลางเรียกว่า งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย จุฬาราชมนตรีเป็นประธานอำนวยการจัดงาน ได้มีการเชิญเสด็จฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จฯ ทรงเป็นประธานตามโอกาส

1.1.2 การแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุนให้มีการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย และจัดพิมพ์พระราชทานไปยังมัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ

ในปี พ.ศ.2505 เอกอัครราชทูตซาอุดิอารเบีย ได้ทูลเกล้าฯถวายพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาอังกฤษ ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชดำริว่า

หากได้มีการแปลความหมายของพระคัมภีร์อัลกุรอาน ออกเป็นภาษาไทยแล้ว คงจะทำให้ชาวไทยมุสลิมเข้าใจความหมายที่แท้จริง และนำไปประพฤติปฏิบัติกันอย่างถูกต้อง อันจะเกิดประโยชน์ทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก โดยให้คำนึงถึงพระราชประสงค์ 2 ประการ คือ
(1) การแปลพระคัมภีร์อัลกุรอาน เป็นภาษาไทยขอให้แปลอย่างถูกต้อง
(2) ขอให้ได้สำนวนภาษาไทยที่สามัญชนสามารถอ่านเข้าใจได้

การแปลใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี 7 เดือน 8 วัน เสร็จสิ้นในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2507 และเรื่องการจัดพิมพ์ดังกล่าวก็ได้ผ่านการประชุมคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบ ให้ดำเนินการได้โดยใช้งบประมาณ 862,400 บาท ผ่านกรมการศาสนา ซึ่งการดำเนินการจัดพิมพ์นั้นจัดพิมพ์ทีละส่วน พระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับภาษาไทย ฉบับพระราชทานที่พิมพ์ขึ้นทีละส่วนมีทั้งหมด 30 ส่วน ส่วนที่พิมพ์เสร็จแล้วบางสถาบันในส่วนกลางก็ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และได้พระราชทานให้กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยอัญเชิญจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดนราธิวาส และประกอบพิธีพระราชทาน ณ พลับพลา บริเวณศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2513 คณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสได้กำหนดเอาวันที่ 17 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันจัดพิธีทางศาสนา และถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน ในการจัดงานเมาลิดกลางประจำปี พ.ศ.2524 คณะกรรมการจัดงานในครั้งนั้นได้นำพระคัมภีร์อัลกุรอานส่วนที่ 30 อันเป็นส่วนสุดท้าย ซึ่งจัดพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้วขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ดังนั้นการแปลถอดความพระคัมภีร์อัลกุรอานจากต้นฉบับเดิม ที่เป็นภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย จึงเป็นงานสนองพระราชประสงค์ทุกประการ

1.1.3 การพระราชทานรางวัลแก่โต๊ะครู และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสนับสนุนการศึกษาศาสนาอิสลามของชาวมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใหญ่หลวง ก่อนปี พ.ศ.2504 ชาวไทยมุสลิมต้องไปเรียนศาสนาอิสลามจากปอเนาะ ซึ่งโต๊ะครูเป็นเจ้าของและผู้สอน (ปอเนาะ แปลว่า กระท่อม) การสอนศาสนาแบบนี้ นักเรียนจะต้องมาเรียน กินอยู่กับโต๊ะครู และพักอาศัยในกระท่อมที่อยู่ใกล้ชิดกับบ้านโต๊ะครู นักเรียนจะช่วยโต๊ะครูประกอบอาชีพตามที่โต๊ะครูประกอบอยู่ เช่น ทำสวนยาง สวนมะพร้าว เป็นต้น การศึกษาในปอเนาะไม่มีการจดทะเบียน ไม่มีการวัดผล สอนไปตามความสามารถ และความพอใจของโต๊ะครูและนักเรียน วิชาที่สอนได้แก่ ภาคศาสนาและภาษา นอกนั้นก็เป็นภาคปฏิบัติศาสนกิจ

พระราชทานรางวัลจัดโรงเรียนดี แก่คณะโต๊ะครูสอนศาสนาอิสลาม
ณ เรือนรับรอง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

1.1.4 การจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้มีการสนับสนุนการจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้เพื่อสร้างมัสยิดดังกล่าว ขณะนี้ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น มัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี สตูล นราธิวาสและจังหวัดยะลา ในการเปิดใช้มัสยิดกลางแต่ละแห่งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีด้วยพระองค์เอง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรมุสลิมทุกครั้ง อนึ่ง ในเวลาเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรจังหวัดต่างๆ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวไทยมุสลิมได้เฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ได้เสด็จฯ ไปประทับในมัสยิดตามที่อิหม่ามประจำมัสยิดนั้นๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ และโดยเฉพาะในระยะเวลาที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ได้เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปทรงเยี่ยมและสงเคราะห์ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เกือบทุกตำบล และหมู่บ้าน 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท ในโอกาส เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดอาคาร มัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส
มีนาคม 2502 ในระหว่างเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรภาคใต้ได้เสด็จฯ เยี่ยมมัสยิดซอลาฮุดดีน ประทับบนมิมบาร์ เพื่อเป็นเกียรติ แก่ชาวไทยมุสลิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ทรงเยี่ยมมัสยิดประจำชุมชน ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

1.1.6  การแต่งตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมการศาสนาในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.2488 ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ 2) ในปี พ.ศ.2491 จำนวน 2 ท่าน คือ นายต่วน สุวรรณศาสน์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาตั้งแต่รัชกาลก่อน และได้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญมาหลายประการ เช่น การแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยดังกล่าวแล้ว เป็นต้น เมื่อนายต่วน สุวรรณศาสน์ ได้ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2524

ได้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีขึ้นถวายและได้กราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแทนต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายประเสริฐ มะหะหมัด ที่กระทรวงมหาดไทยสรรหากราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง เป็นจุฬาราชมนตรี ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2524 จุฬาราชมนตรีเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย ต่อมาเมื่อนายประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชมนตรีถึงแก่กรรม นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ ได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 11 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2540

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์แก่องค์การอิสลามและชาวไทยมุสลิมอย่างใกล้ชิด มาตั้งแต่ต้นรัชกาลดังตัวอย่างของรายละเอียด ดังนี้

วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปในงานฉลองครบรอบ 10 ปี และในพิธีเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ของสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย ณ บริเวณที่ตั้งสมาคมฯ ตำบลบางคอแหลม อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2513 อธิการกรมการศาสนาได้นำนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี นางสาวไมมูนะห์ มอแอสะอาด ผู้ชนะเลิศการแข่งขันการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานระหว่างประเทศ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานในโอกาสนี้จุฬาราชมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินที่สถาบันมุสลิมและชาวไทยมุสลิมบริจาค ผ่านสำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2515 ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรบ้านตันหยง จังหวัดนราธิวาส และพระราชทานเหรียญที่ระลึกแก่ราษฎรซึ่งน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 210 ไร่ เพื่อสร้างพระหนักที่ประทับเป็นการส่วนพระองค์

คัมภีร์อัลกุรอาน

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2516 ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามหมู่เกาะในอ่าวพังงา อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พระราชทานเสื้อผ้าและผ้าห่มแก่คนชรา และคนยากจนบนเกาะประมาณ 120 คน และพระราชทานเครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์การเรียน ให้แก่ครูประจำโรงเรียนในหมู่บ้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่นักเรียนประมาณ 400 คน

วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2516 ได้เสด็จฯ ไปยังเกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ในการเสด็จฯ ครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียนแก่เด็กนักเรียนประมาณ 600 คน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแนะนำบางประการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้อุดมสมบูรณ์ ในโอกาสนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไปทำการตรวจรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยเป็นเวลา 2 วันด้วย

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2516 คณะธรรมจาริกอิสลามจากกรุงเทพมหานคร จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานีพร้อมทั้งข้าราชการฝ่ายกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 31 คน เฝ้าฯ ณ เรือนรับรอง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส กราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับประวัติของโครงการธรรมจาริกอิสลาม

วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2516 เสด็จฯ ไปยังมัสยิดนุรุลยะห์รีวัลยาบาลี ( เขาตันหยง ) เพื่อทอดพระเนตรงานก่อสร้างมัสยิดและทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้า ฯ ในบริเวณมัสยิดเขาตันหยงนั้น

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2517 ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรบ้านบาโงสะโต บ้านสิโป บ้านดุซงญอ มัสยิดคัยรูคินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเพื่อใช้ในกิจการของมัสยิด และโรงเรียนบ้านดุซงญอ โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ที่โดยเสด็จฯ ตรวจรักษาคนป่วยเจ็บดังที่เคยปฏิบัติทุกครั้ง

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2517 ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นการส่วนพระองค์ ณ หมู่ที่ 1 บ้านกำปงบูเก๊ะ บ้านยามูแรแม และบ้านกะลูแป ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2517 ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร บ้านกูแบยามู อำเภอระแงะ และอำเภอยี่งอ และได้ทอดพระเนตรโคพ่อพันธุ์ “ พันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยนและพันธุ์เรซินด์ ”

วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2517 ได้เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรเป็นการส่วนพระองค์ และทอดพระเนตรการขุดคลองระบายน้ำออกจากพรุ ณ บ้านทอน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2518 ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการปรับปรุงสถานที่และการก่อสร้างโรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นสายสามัญประจำอำเภอยี่งอที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดสร้างขึ้น ณ บ้านบูเก๊ะปาละ อำเภอยี่งอ

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2518 ได้เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรการดำเนินงานขุดคลองระบายน้ำจากพรุลงทะเล ณ บริเวณบ้านบาเซปูเต๊ะ และทอดพระเนตรศูนย์ฝึกอบรมการทอผ้า บริเวณบ้านโคกเคียน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2518 ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านบาโงสะโต บ้านสิโป และบ้านปราง อำเภอเมืองนราธิวาส และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงมัสยิดคัยรูดินี

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2518 ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการสาธิตศิลปะการป้องกันตัว

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2518 ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดประตูบังคับน้ำ “ นราธิวาส 1” ปลายคลองบาเจาะ ซึ่งสร้างขึ้นตามพระราชดำริเพื่อระบายน้ำจากพรุบาเจาะ เป็นการบรรเทาอุทกภัยในนาถึง 60,000 ไร่ ณ บริเวณ บ้านปาเซปูเตะ อำเภอเมืองนราธิวาส

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2518 ได้พระราชทานเงินรางวัลแก่โต๊ะครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจัดโรงเรียนดี ณ เรือนรับรอง

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2518 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนร่มเกล้าฯ และได้มีพระราชปฏิสันถาร กับผู้ร่วมแสดงในขบวนแห่นกจากทุกตำบลโดยทั่วถึง และพระราชทานขนมหวานต่างๆ แก่ผู้แทนคณะกรรมการ อิสลาม อำเภอยี่งอ เพื่อนำไปแจกจ่ายแก่กำนันตำบลต่างๆ เพื่อใช้ในพิธีออกบวชของชาวไทยมุสลิม

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2519 เสด็จฯ ไปพระราชทานรางวัลและทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับผู้แทนโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม เขตการศึกษา 2 ที่ได้รับพระราชทานรางวัลการปรับปรุง ส่งเสริมการศึกษาศาสนาอิสลาม ณ มัสยิดกลางอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2519 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการอิสลามในจังหวัดนราธิวาส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันรายออิดิลฟิตรี (วันออกจากการถือบวช) ณ ศาลาเริง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2520 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ปัตตานีและยะลา กรรมการมัสยิด ดะโต๊ะยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันรายออิดิลฟิตรี ประจำปี พ.ศ.2520 และทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2520 พระราชทานโล่รางวัลแก่โรงเรียนที่จัดการศึกษาดีเด่น และรางวัลแก่คณะครูโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ พระราชทานเข็มพระปรมาภิไธยย่อ ภปร . แก่กรรมการมัสยิดประจำจังหวัด 13 จังหวัดภาคใต้ และพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านจังหวัดยะลา

วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2521 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันเรือกอและ

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2521 เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทาน และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สำหรับบำรุงมัสยิดประจำหมู่บ้านบาเจาะเกาะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2522 เสด็จฯ ไปทรงเปิดมัสยิด ตำบลพิมาน อำเภอเมืองจังหวัดสตูล และพระราชทานรางวัลประจำปีแก่โต๊ะครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามภาคใต้

วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2522 เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ บ้านบือเระ พระราชทานเงินแก่โต๊ะอิหม่าม เพื่อสมทบทุนในการก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2527 คุณหญิงสมร ภูมิณรงค์ ประธานมูลนิธิ “ ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรี ” นำนางรัตนา สุคนธพันธุ์ ที่ปรึกษามูลนิธิฯ และคณะเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จฯ พระราชกุศลในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในปี พ.ศ.2527 นี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะบุคคลเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลและเสด็จฯ ทอดพระเนตรเยี่ยมและสงเคราะห์ประชาชนชาวไทยมุสลิม และพระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงมัสยิดต่างๆ ในระหว่างเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาสทุกปี จนถึงปัจจุบันก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เช่นเดียวกัน

1.2  การส่งเสริมคุณภาพชีวิต และขจัดความด้อยพัฒนา
ทุกๆ ปีระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม – กันยายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จะเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ หรือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ จะตามเสด็จฯ ไปด้วย พระตำหนักทักษิณฯ จึงเป็นเสมือนหนึ่งศูนย์รวมของที่พึ่งทางใจ เป็นสถานพยาบาลน้อยๆ ตลอดจนเป็นโรงเรียน หรือสถานฝึกอาชีพและศูนย์ปลดเปลื้องบรรเทาความทุกข์ยากทั้งหลายในการดำรงชีวิตสำหรับผู้ที่แร้นแค้นและยากจน ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณอันเกิดจากโครงการช่วยเหลือต่างๆ นานัปการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ

– โครงการชลประทาน “ มูโน๊ะ ” จังหวัดนราธิวาส
– โครงการลุ่มน้ำบางนรา
– โครงการพรุโต๊ะแดง (โครงการศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร)
– โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง และโครงการพัฒนาโภชนาการ

1.2.1 โครงการ “ มูโน๊ะ ” เป็นโครงการที่ชาวมุสลิม จังหวัดนราธิวาสได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณ ด้านการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ดินบริเวณตำบลมูโน๊ะ และตำบลปูโป๊ะ เขตอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ไม่สามารถทำกินได้ด้วย เหตุสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพรุ มีน้ำท่วมขังตลอดปี และเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำจืดในแม่น้ำโกลกมีจำนวนน้อย น้ำเค็มจากทะเลจะหนุนเข้ามาแทนที่ทำให้ดินบริเวณนั้นเสีย ไม่สามารถทำการเกษตรได้ และเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำโกลกและจากชายพรุโต๊ะแดงซึ่งเป็นน้ำเปรี้ยวเข้าท่วมพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่แถบนั้นมีน้ำท่วมขังตลอดปี

โครงการนี้กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตามพระราชดำริ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2518 เป็นต้นมา อันประกอบด้วยงานด้านต่างๆ ดังนี้

1) ด้านการระบายน้ำ ด้วยการขุดคลองระบายน้ำมูโน๊ะ ยาว 15 กม. เศษ และขุดลอกคลองธรรมชาติโต๊ะแดง ยาว 13 กม. เศษ
2) ด้านการป้องกันน้ำเค็ม สร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่เพาะปลูก ยาวประมาณ 17 กม.

3) ด้านการบรรเทาอุทกภัย สร้างคันกั้นน้ำตามริมฝั่งแม่น้ำโกลก
4) ด้านการเก็บ กัก และส่งน้ำ ก่อสร้างคูน้ำในพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน พร้อมคลองส่งน้ำอีก 4 สาย ยาว 15 กม.
5) ด้านการปรับปรุงพื้นที่ขอบพรุ หรือโครงการบ้านกุแวตามพระราชดำริ โดยการขุดคลองส่งน้ำแยก จากคลองมูโน๊ะ เพื่อนำน้ำจืดไปชะล้างดินเปรี้ยวขอบพรุโต๊ะแดง แล้วถ่ายเทน้ำเสียออก ทางคลองระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโกลก
6)โครงบ้านหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโน๊ะในพระราชดำริ เพื่อให้ราษฎร และสมาชิก อ.ส.ที่ยากจน และไม่มีที่ทำกินกว่า 100 ครอบครัว ได้มีอาชีพและที่ดินทำกินและเลี้ยงปศุสัตว์กว่า 1,500 ไร่

ความกว้างใหญ่ไพศาลของโครงการมูโน๊ะ ซึ่งครอบคลุม 7 ตำบล ในอำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโกลก เป็นพื้นที่ประมาณ 131,300 ไร่เศษ นับแต่ปี พ.ศ.2510 จนถึง พ.ศ.2539 เวลากว่า 20 ปีเศษ พร้อมทั้งค่าใช้จ่ายประมาณกว่า 464 ล้านบาท ได้เปลี่ยนแปลงให้ความฝันของพสกนิกรไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาสได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา มีอาชีพที่มั่นคง มีที่ดินทำกินและสิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีความสุข และการดำรงชีวิตพ้นจากความยากจนแร้นแค้นโดยสิ้นเชิง พร้อมสุสานที่ฝังศพ (กุโบร์) ซึ่งน้ำไม่ท่วมอีกต่อไปได้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถและพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง ทำให้เขตมูโน๊ะในปัจจุบันประกอบด้วยราษฎรที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 7,329 ครัวเรือน เป็นจำนวนกว่า 21,380 คน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเกื้อกูลโอบเอื้ออาทรบรรเทาความเดือดร้อนได้จนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัย การเกษตร การเพาะปลูก การเลี้ยงปลาและการปศุสัตว์ แหล่งน้ำจืด การป้องกันน้ำเค็ม ตลอดจนการชลประทานและการป้องกันตลิ่งชายแดนตามลำน้ำโกลก ทั้งนี้ก็เพราะมูโน๊ะได้กลายเป็นแผ่นทองขึ้นมาแล้ว และพรุ แหล่งที่น่ารังเกียจ ได้เปลี่ยนมาเป็นขุมทองผืนใหญ่อย่างไม่เคยคาดถึงมาก่อน มูโน๊ะและพรุจะไม่เป็นอย่างวันนี้หากปราศจากเสียซึ่งน้ำพระทัยอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรม ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระพิริยะอุตสาหะที่สร้างมูโน๊ะและพรุด้วยความยากยิ่งจนสำเร็จสวยงามได้ภายใน 20 ปี

ประตูระบายน้ำ
บางนราตอนบน
พื้นที่เกษตรกรรม
ในเขตลุ่มน้ำบางนรา

1.2.2 โครงการลุ่มน้ำบางนรา
เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดจากสายพระเนตรอันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของราษฎรผู้ยากจนอันเกิดจากแม่น้ำสายบางนรานี้อย่างเป็นระบบที่สมบูรณ์และถูกจุดที่สุด เพราะเป็นการวางระบบการจัดทรัพยากรธรรมชาติแบบยั่งยืน พัฒนาลุ่มน้ำบางนราทั้งลุ่มให้เกิดประโยชน์ แก่พื้นที่ทำการเกษตรและการประมง ซึ่งมีอยู่น้อยในภาคใต้ ให้กลับคืนมานับแสนไร่ อันหมายถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร ที่จะประกอบสัมมาชีพให้เกิดรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (สำนักงาน ก.ป.ร. 2535)

ปัญหาสำคัญของอาณาบริเวณที่เรียกว่า เขตลุ่มน้ำบางนรา ก็คือ แม่น้ำบางนราเกิดจากลำน้ำหลายสาขามารวมกันที่จังหวัดนราธิวาส ก่อนไหลลงสู่ทะเล แม่น้ำสายนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของน้ำทะเลเวลาขึ้น-ลง เป็นเหตุให้น้ำในแม่น้ำบางนราเค็มและกร่อยตลอดทั้งปี เป็นผลให้ไม่สามารถเพาะปลูกในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำได้ นอกจากนี้ยังขาดน้ำดิบที่จะทำน้ำประปาบริโภคอีกด้วย ในระหว่างเสด็จฯ แปรพระราชฐานในปี พ.ศ.2523 – 2526 ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน วางโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำบางนรา

เขตลุ่มน้ำบางนรา

เพื่อให้ราษฎรทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำไม่ต้องถูกน้ำท่วม และมีการกักเก็บ ระบายน้ำจืด เพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค ตลอดจนจัดระบบชลประทานและระบบระบายน้ำในเขตโครงการเหมาะสม เพื่อขยายและพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกพร้อมกันไปด้วย

การดำเนินการตามโครงการ มีการสร้างประตูระบายน้ำตอนบนที่ตำบลตะลุวอเหนือและตอนล่างที่ตำบลพร่อน ในจังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งสร้างระบบชลประทานระบายน้ำและป้องกันมิให้น้ำเค็มไหลเข้าแม่น้ำบางนรา

โครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2539 สามารถป้องกันน้ำเค็มมิให้ไหลเข้าแม่น้ำบางนราได้อีกต่อไป เป็นผลให้ปรับปรุงพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ ถึงประมาณ 105,000 ไร่ และได้พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นอีก 69,000 ไร่ หลังจากที่ระบายน้ำที่เกินความต้องการออกไปได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีน้ำจืดสำหรับปลูกพืชได้ทั้งปีประมาณ 62,000 ไร่ และประชาชนในบริเวณลุ่มน้ำบางนรามีน้ำจืดใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดปี

1.2.3 โครงการพรุโต๊ะแดง

พรุ เป็นพื้นที่อันน่ารังเกียจ มีน้ำเสียขังตลอดปี ไม่สามารทำประโยชน์ใดๆ ได้ ทั่วประเทศไทย มีเนื้อที่ป่าพรุรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนไร่ ป่าพรุขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส เป็นป่ากว้างใหญ่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน มีเนื้อที่ประมาณ 283,350 ไร่ ป่าพรุนี้แบ่งออกได้เป็น 2 พรุใหญ่คือ

– พรุโต๊ะแดง พื้นที่ประมาณ 209,900 ไร่ ครอบคลุมเขตอำเภอสถไหงปาดี อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหงโกลก
– พรุบาเจาะ มีเนื้อที่ประมาณ 65,450 ไร่ ในเขตอำเภอบาเจาะและอำเภอเมือง

ปัญหาของป่าพรุท่าสำคัญในจังหวัดนราธิวาสคือ ความเสื่อมโทรมของสภาพป่าพรุและถูกประชากรเข้าทำลายธรรมชาติของป่าพรุให้เสื่อมและไร้ประโยชน์ จึงพระราชทานพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและค้นคว่าเพื่อการพัฒนาขึ้น โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง เพื่อการศึกษาหาแนวทางแก้ไขพรุโต๊ะแดงใหม่ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาส (จิระพันธ์ ทวีวงศ์, ม.ร.ว. ม.ป.ป.)

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมากจาพระราชดำริร่วมกับกรมป่าไม้ จึงได้พิจารณาและจัดตั้ง “ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิริธร ” ขึ้น ณ บริเวณบ้านโต๊ะแดง หมู่ 8 ตำบลปูโต๊ะ อำเภอสุไหงโกลก เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสพระชนมายุ 36 พรรษา เพื่อศึกษาสภาวะแวดล้อมและธรรมชาติวิทยาของป่าพรุโต๊ะแดง การดำเนินงานได้เริ่มขึ้นด้วยการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อตรอวจสภาพภูมิอากาศ และเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมนับแต่ปี พ.ศ.2534 โดยร่วมมือกับ UN University และ Tokyo Universit y และทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมของโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยภายใต้โครงการ “Research Project on Narathiwat Tropical Forest Eco-system” หรือโครงการวิจัยป่าพรุเขตร้อนจังหวัดนราธิวาส
ผลของการดำเนินงานและการศึกษาค้นคว้า เป็นผลให้
1) ป่าพรุสิรินธร เป็นป่าพรุแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีศูนย์รวมและบริการข้อมูลทางวิชาการ แห่งแรกที่สมบูรณ์และทันสมัยที่สุด
2) พบว่ามีพันธุ์ไม้ถึง 470 ชนิด หลายชนิดมีที่ป่าพรุแห่งนี้แห่งเดียวเท่านั้น เช่น ตังหนู หลุมพี ฯลฯ

หลุมพี ( Eleiodoxa conferta)

หมายเหตุ
หลุมพี เป็นพืชที่มีความสัมพันธ์ กับระบบนิเวศในป่าพรุอย่างเหนียวแน่น โดยสภาพทางธรรมชาติ เป็นไม้ชั้นล่างในป่าพรุ ขึ้นได้และเจริญเติบโตได้ดีในที่มีร่มเงา และต้องมีน้ำขังตลอดปี ลักษณะของต้นหลุมพีออกเป็นกอใหญ่ แต่ละต้นออกผลครั้งเดียวแล้วตาย ต้นอื่นซึ่งเป็นหน่อในกอเดียวกัน จะออกผลหมุนเวียนกันต่อไป ทำให้พื้นที่ยึดครองของหลุมพี ขยายกว้างขึ้นตลอด สามารถเก็บความชื้นและน้ำไว้ได้ ซึ่งเอื้อต่อการดำรงชีวิต ของพืชและสัตว์ชนิดอื่นๆในป่าพรุ ที่ผูกพันเป็นห่วงโซ่อาหาร เกิดผลดี ต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวม อันเป็นปัจจัยหลัก ในการดำรงชีวิตของชุมชนรอบป่าพรุ หลุมพีมีผลคล้ายระกำ แต่เปลือกผลมีสีแดงเลือดหมู และไม่มีหนาม แล้วสีเนื้อในคล้ายระกำ แต่มีขนาดเล็กและกลมกว่าระกำ

3) พบว่า มีนก 109 ชนิด และสัตว์ป่า 154 ชนิด มีทั้งสัตว์ที่กำลังถูกล่าหนักขณะนี้ เช่น ลิงแสม นากตีนเป็ด และสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น แมวป่าหัวแบนฯ          4) นอกจากนี้ยังพบพันธุ์ปลาต่างๆ 52 ชนิด รวมทั้งที่หายาก เช่น ปลาจิ้มฟันจระเข้ หรือชนิดที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยก็มี เช่น ปลากะแมะ และปลาอีก 2 ชนิด ซึ่งไม่เคยค้นพบมาก่อนและยังไม่มีชื่อในภาษาไทย

แมวป่าหัวแบน (Flat – Headed Cat)
กะแมะ ( Chaca bankanensis)

ผลการศึกษานี้จะได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาทั้งสัตว์ป่า และการสงวนสภาพป่าพรุให้ดีขึ้นได้ต่อไป อันนับเป็นประโยชน์มิใช่แต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาศึกษาธรรมชาติวิทยา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และการป้องกันการเสื่อมโทรมของป่าพรุโต๊ะแดงอีกด้วย นอกเหนือจากที่เป็นศูนย์การศึกษาธรรมชาติวิทยาแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ก็เพราะสายพระเนตรอันกว้างไกล ในการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาวิชาการ เพื่อนำใช้ประยุกต์แก้ไขปรับปรุงสภาพธรรมชาติ ให้ดีขึ้นของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยแท้แต่พระองค์เดียว

1.2.4 โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำปากพนัง และโครงการพัฒนาโภชนาการ
โครงการในพระราชดำรินอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อประชากรไทยมุสลิมและชาวไทยทั่วๆ ไปในภาคใต้ 3 จังหวัด อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสแล้วยังมีโครงการอื่นๆ ที่ควรนำมากล่าวในที่นี้อีก 2 โครงการ คือ

สองฟากฝั่งแม่น้ำพนัง
ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ

1) โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครธรรมราช ซึ่งเป็นผลจากพระราชดำริพระราชทานให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม พ.ศ.2535 ณ สถานีสูบน้ำ บ้านโคกดูแว

และสถานีสูบน้ำบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพราะทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 4 อำเภอ คือ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากน้ำกร่อยในฤดูแล้ง และน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ราบลุ่มในฤดูฝน จึงมีพระราชดำริว่า ควรพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำ ที่บริเวณแม่น้ำปากพนัง ป้องกันน้ำทะเลมิให้ไหลเข้าแม่น้ำปากพนัง และเพื่อเก็บกักน้ำจืดไว้ในแม่น้ำ และตามลำน้ำสาขา สำหรับให้ราษฎรใช้ทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอปากพนังด้วย นับเป็นโครงการใหญ่ ในพระราชดำริโครงการหนึ่ง ซึ่งให้ประโยชน์พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้ประมาณ 5 แสนไร่ จังหวัดนครศรีธรรมราชมีประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 1,407,340 คน ในจำนวนนี้มีมุสลิมประมาณ 73,748 คน และมัสยิด 97แห่ง อาศัยอยู่ในอำเภอต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 อำเภอภายใต้โครงการนี้ จึงได้รับประโยชน์จากโครงการด้วย (กรมการศาสนา. 2537 : 11)

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2543 พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เกี่ยวกับการบริหารน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อ่างเก็บน้ำห้วยใส การพัฒนาระบบชลประทาน

สาระสำคัญของโครงการประกอบด้วยประตูระบายน้ำปากพนัง การระบายน้ำทิ้งลงอ่าวไทย การสร้างประตูระบายน้ำปิดเปิดเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้ตามลำน้ำสาขาและอ่างเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำปากพนัง การดำเนินการได้สำรวจและออกแบบรายละเอียดแล้ว และก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้เป็นโครงการช่วยเหลือราษฎรอันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ปีที่ 50 ด้วย

หมายเหตุ “ อุทกวิภาชประสิทธิ ” เป็นนามพระราชทานที่เป็นมงคลยิ่ง มีความหมายถึง ความสามารถแบ่งแยก น้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ นั่นคือ มีการบริหารจัดการอย่างสมดุล ปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไป ในลำน้ำกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ดำรงชีพ ซึ่งจะเป็นบทเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และเอื้ออำนวยให้การใช้ ทรัพยากรธรรมชาติ ในลุ่มน้ำปากพนัง เป็นไปอย่างยั่งยืน

ซึ่งประตู ระบายน้ำ อันเป็น ปฐมบท ของโครงการ การพัฒนา ลุ่มน้ำ ปากพนัง อัน เนื่องมา จาก พระราชดำริ ได้เริ่ม ทำหน้าที่ ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2542 มีความสามารถ เก็บกักน้ำจืด เหนือประต ูระบายน้ำ ได้ 72 ล้านลูกบาศก์เมตร มี 10 ช่องบานระบาย และ มีประสิทธิภาพ ในการระบายน้ำ ในอัตรา 1,246 ลูกบาศก์เมตร / วินาที โดยมีการบริหารจัดการ อย่างผสมผสาน ทั้งหลักวิชาการ และเทคโนโลยี การจัดการน้ำ ของกรมชลประทาน ผนวกกับ การมีส่วนร่วม ขององค์กรท้องถิ่น ในรูปของคณะกรรมการ เปิด – ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คน และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปากพนัง อย่างสมบูรณ์ (อ้างอิงจาก http://www.chaipat.or.th/journal/aug01/t2.html , 16/6/2547)

2) โครงการพัฒนาด้านโภชนาการ อันสืบเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ราษฎรไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง ทั้งชนบทและในเมือง มีสุขภาพอนามัยที่ดี แข็งแรง เป็นพลเมืองที่ดีมีประสิทธิภาพ ทั้งให้ประเทศชาติมีความมั่นคงยั่งยืนยิ่งขึ้น (สำนักงาน กปร. 2537 : 29-33)

งานพัฒนาด้านโภชนาการอันสืบเนื่องมากจากพระราชดำริและพระปณิธานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ประกอบด้วยหลายโครงการ อาทิเช่น

2.1 โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งดำเนินการในโรงเรียนต่างๆ ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร โดยเน้นให้เด็กนักเรียนที่ค่อนข้างยากจนได้มีอาหารบริโภคในตอนกลางวันที่โรงเรียน

2.2 โครงการอาหารจานเดียว เป็นโครงการที่เน้นให้เด็กนักเรียนบริโภคอาหารครบทั้ง 4 หมู่ (แป้ง เนื้อสัตว์ ไขมัน และวิตามิน) ที่มีคุณค่าสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ

2.3 โครงการปรับปรุงสภาวะโภชนาการเด็กอายุ 0-60 เดือน อันเป็นโครงการซึ่งสำนักงานกปร. ร่วมกับส่วนราชการหลายหน่วยงาน ดำเนินการตามพระราชดำริใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงนับได้ว่าเป็นโครงการที่เป็นคุณประโยชน์แก่เด็กนักเรียนใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งมีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อบนพื้นฐานศาสนาอิสลาม

โครงการนี้จึงนับได้ว่าเป็นโครงการเสริมและขยายขอบเขตของการพัฒนาออกไปยังชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนประมาณ 476,438 คน จากจำนวนประชากรทั้งจังหวัดประมาณ 601,082 คน (กรมศาสนา. 2537)

1.3 การส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคในการพัฒนาบุคลากรไทยมุสลิม
คนสัญชาติไทยไม่ว่าจะมีเชื้อชาติกำเนิดหรือนับถือศาสนาใด ย่อมถือว่ามีสิทธิและหน้าที่ เท่าเทียมกันตามกฎหมายทุกประการ ฉันใด ชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกับชาวไทย ที่นับถือศาสนาอื่นตามกฎหมายฉันนั้น

แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด มักจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ การเลือกปฏิบัติ ” ในระหว่างชนชนาติเดียวกัน ตามขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ศาสนา ชนชั้น ทรัพย์สิน การศึกษา ชาติพันธุ์ หรือผิวสีที่ต่างกันไม่มากก็น้อยแตกต่างกันไป แล้วแต่ยุคสมัยหรือเหตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ในสังคมไทยแต่โบราณมาตราบเท่าปัจจุบัน ซึ่งมีระบบการปกครองแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขนั้น การเลือกปฏิบัติหรือการรังเกียจเดียดฉันท์เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่รุนแรงเหมือนสังคมอื่น ตรงกันข้ามคนต่างชาติหรือเชื้อสายคนต่างชาติมักจะได้รับการยอมรับ และยกย่องเป็นอย่างสูง ใรความสามารถและสติปัญญา และศาสนาที่บุคคลเหล่านั้นนับถือก็จะได้รับการยอมรับ และยกย่องคุ้มครองตามไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว การส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาค จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรไทย ให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้สังคมในด้านต่างๆ ด้วยการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หรือพระราชทานยศฐาบรรดาศักดิ์ ดังที่ปรากฏในอดีต เช่น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) หรือเจ้าพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี แม้ปัจจุบันจะมีการยกเลิกการพระราชทานบรรดาศักดิ์แล้วก็ตาม ไทยมุสลิมที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ในระบบราชการก็ยังคงมีอยู่เสมอ ถึงขนาดดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เช่น นายรังสฤษดิ์ เชาวน์ศิริ หรือแม้แต่นายอารีย์ วงศ์อารยะ ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน หรือในกองทัพ เช่น พลโทถนอม ไวถนอมสัตว์ พลเรือโททัศนัย ไวถนอมสัตว์ พลโทวุฒิไกร ไวถนอมสัตว์ พล.ต.ต.ศิริ ทองคำวงศ์ เป็นต้น บุคคลที่กล่าวนามมานี้ หรืออีกมิใช่น้อยในปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ในระบบราชการ

ซึ่งการแต่งตั้งจะต้องทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ นั้น มีอยู่เป็นจำนวนมิใช่น้อย ทั้งในวงการแพทย์ การศึกษา การบริหารราชการทั่วๆ ไป หรือแม้แต่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งเอกอัครราชทูต เช่น นายประเสริฐ มัสโอดี ล้วนแล้วแต่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น โดยคำนึงถึงความซื้อสัตย์สุจริต จงรักภักดี และความรู้ความสามารถที่จะรับใช้และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นสำคัญ แม้แต่บุคคลในวงการศาสนา

เช่น นายวินัย สะมะอุน กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายอาศิส พิทักษ์คุมบล กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและประธานกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา และคุณหญิงสุวัฒนา เพ็ชรทองคำ เป็นต้น ก็ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก นอกเหนือจากรัฐมนตรีที่เป็นมุสลิม เช่น นายเด่น โต๊ะมีนา นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ หรือนายวันโนฮำหมัด นอร์มะทา

การที่ชาวไทยมุสลิมได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งสูงและสำคัญในวงการเมืองและรับบราชการ ก็เป็นผลสืบเนื่องจากความรู้ ความสามารถเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทุกครั้งที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนราษฎรสอนศาสนาอิสลามอยู่เสมอ เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้ประชาชนชาวไทยมุสลิมสนใจการศึกษาทั้งศาสนาและทางโลกคู่เคียงกันไป พระราชภารกิจที่ได้ทรงกระทำ เช่น การพระราชทานรางวัลการศึกษา หรือให้ทุนการศึกษาก็ดี ล้วนเป็นสิ่งแสดงความสนพรราชหฤทัยที่จะสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพ ของบุคลากรมุสลิมเพื่อรับใช้สังคมไทยมากขึ้น ทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน ทุนเล่าเรียนหลวงตามความต้องการของหน่วยราชการต่างๆ ก็มีชาวไทยมุสลิมได้รับและสำเร็จการศึกษามามิใช่น้อย

ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันความรู้สึกเดียดฉันท์ หรือเลือกปฏิบัติเพราะศาสนาต่างกันจึงมีแนวโน้ม ที่จะหมดสิ้นไปตามส่วนที่ชาวไทยมุสลิมมีการศึกษาสูงขึ้น เหมือนดั่งเช่นที่เคยเกิดในระหว่างสงครมโลกครั้งที่ 2 ซึ่งข้าราชการหรือผู้ที่มิได้นับถือศาสนาพุทธจะถูกขอร้องให้เปลี่ยนชื่อนามสกุลที่มิใช่ภาษาไทย ตลอดจนขอให้เปลี่ยนความนับถือหรือเชื่อถือในศาสนาอื่นมาเป็นพุทธศาสนิกชน

สิ่งที่ไม่อาจละเว้นที่จะต้องกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ แม้แต่ข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคคลบาทใกล้ชิดตามเสด็จฯ ไปทั่วทุกแห่ง ก็มีทั้งหญิงและชายที่เป็นมุสลิมอยู่เช่นกัน ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงเข้าพระทัยและไว้วางพระราชหฤทัยข้าราชบริพารที่เป็นมุสลิม

และทรงส่งเสริมเอื้อการุณย์ตามความสามารถ มิได้แตกต่างไปจากข้าราชบริพารผู้อื่นแต่ประการใด ด้วยอาศัยความเข้าพระราชหฤทัยที่ดีและรอบรู้เกี่ยวกับอิสลามเป็นอย่างดีนี้เอง จึงเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์สนพระทัยส่งเสริมการศึกษาของมุสลิมภาคใต้ การแปลพระมหาคัมภีร์กุรอ่านเป็นภาษาไทย และการศึกษาศาสนาอิสลามเป็นอย่างดี เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสามัคคี ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

พระราชดำรัสเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
1. พระราชดำรัสในโอกาสเสด็จ ฯ ในงานเมาลิด ส่วนกลาง ปี ฮ.ศ.1384 วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2507 ณ ลุมพินีสถาน
“ ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาร่วมงานฉลองทางศาสนาอิสลามในวันนี้ และมีความปิติที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่ง ท่านนบีมูฮัมหมัด ผู้เป็นตัวแทนศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เป็นมหาบุรุษคนหนึ่งได้ทำคุณประโยชน์แก่โลก พระองค์ท่านสรรเสริญยกย่องความฉลาด ความไตร่ตรองรอบคอบ และความบริสุทธิ์ทั้งใจและกาย ว่าเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น ขอให้ท่านทุกคนจงพยายามปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่าน เพื่อจะได้ประสบความสุขความเจริญ ขอให้งานที่จัดขึ้นนี้ เป็นผลดีสมตามปณิธานของท่านทั้งหลาย ”

2. พระราชดำรัสในโอกาส เสด็จ ฯ ในงานเมาลิดกลาง ฮ.ศ.1385 วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2508
“ ข้าพเจ้าและพระราชินี มีความยินดีที่ได้พบกับท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ระลึกสำคัญทางศาสนาอิสลาม ในวันนี้ ขอขอบใจในไมตรีจิตของท่านที่แสดงต่อข้าพเจ้าในโอกาสนี้ ท่านนบีมูฮัมหมัด ผู้เป็นศาสดาแห่งศาสนาอิสลาม เป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้ทำคุณประโยชน์แก่มหาชนไว้เป็นอันมาก การที่ท่านทั้งหลายจัดงานวันฉลองวันสมภพของท่าน เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและหลักธรรมของท่านทั้งเพื่อชักนำเยาวชนให้เกิดศรัทธาในความดี โดยมุ่งยังประโยชน์สุขส่วนรวมของประเทศชาติเป็นใหญ่เช่นนี้ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งและเป็นการบำเพ็ญกรณียกิจทางศาสนาที่สำคัญส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าขออนุโมทนา หวังว่างานที่จัดขึ้นนี้ จะสำเร็จผลดีตามความมุ่งหมายทุกอย่าง และขอให้มีความสุขความเจริญทั่วกัน ”

3. พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวันเมาลิดกลาง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2519
“ … ข้าพเจ้าชื่นชมที่งานเมาลิดได้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยได้มีการจัดให้เป็นประโยชน์หลายด้าน นับว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสม และแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติครั้งนี้ ได้ปฏิบัติตนและปฏิบัติธรรมโดยชอบธรรม ทำให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างดีเยี่ยม การที่แต่ละคนมีศาสนาเป็นที่ยึดที่มั่นนั้น ก็เป็นกุศลอย่างหนึ่งแล้ว และเมื่อมีศาสนาที่ดีเป็นที่ยึดมั่น ได้พยายามปฏิบัติให้ครบถ้วนนั้นก็ดียิ่งขึ้น ทำให้แต่ละคนในส่วนตัวและส่วนรวมได้รับความผาสุกขึ้น งานที่ร่วมกันทำและเป็นผลสำเร็จนั้น ก็นำไปสู่ความสำเร็จต่อไป ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายได้พยายามที่จะนำความรู้และวิธีปฏิบัติของศาสนาที่ดีเลิศมาปฏิบัติโดยแท้ ด้วยความไม่ท้อถอยนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะสร้างความผาสุกส่วนรวมของประเทศทั้งประเทศ เพราะว่าประเทศไทยประกอบด้วยบุคคลต่างๆ ซึ่งมีความเชื่อมั่นต่าง ๆ กัน แต่ว่า แม้จะมีความเชื่อมั่นในทางศาสนาต่างกัน ถ้าแต่ละคนที่ยึดมั่นศาสนาที่ดี ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่มีการขัดเคืองกัน และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้ การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั้น ก็หมายความแต่ละคนสามารถที่จะปฏิบัติตามความเชื่อมั่นที่ดีที่ชอบของตนโดยไม่มีการขัดขวาง เพราะเหตุว่าความเชื่อมั่นที่ถูกต้องย่อมไม่ขัดขวางกัน ความเชื่อมั่นที่ถูกต้องนั้นมีการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งนั้นทุกศาสนา ฉะนั้น การที่ได้เพ่งศาสนาและปฏิบัติศาสนาอย่างดีนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เพียรพยายาม ในการปฏิบัติให้เคร่งครัดที่สุด และพยายามที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่อาจจะด้อยความรู้ในการปฏิบัติตน ให้ทุกคนปฏิบัติตนอย่างดี อย่างชอบ จะนำความมั่นคงและผาสุกสู่ส่วนรวมของประเทศชาติได้ ก็นับว่าท่านทั้งหลายจะได้ทำงานเพื่อส่วนรวม และทำงานเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของแต่ละคนในเวลาเดียวกัน …”

4. พระราชดำรัส ในงานฉลอง 14 ศตวรรษแห่ง อัลกุรอาน ณ สนามกีฬากิตติขจร พระนคร วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2511
“ ข้าพเจ้าและพระราชินี มีความยินดีที่ได้มาร่วมในงานฉลอง 14 ศตวรรษ แห่ง อัลกุรอาน ซึ่งท่านทั้งหลายพร้อมกันจัดขึ้นครั้งนี้ คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่งซึ่งมหาชนรู้จักยกย่องและได้แปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ อย่างแพร่หลายแล้วด้วย การที่ท่านทั้งหลายได้ดำเนินการแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยให้อิสลามิกบริษัท ในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะได้สะดวกและแพร่หลาย ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษา ทำความเข้าใจในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม อย่างถูกต้องกว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า คัมภีร์อัลกุรอานมีอรรถรสลึกซึ้ง ยากที่แปลออกเป็นภาษาอื่นใดให้ตรงภาษาเดิมได้ เมื่อท่านมีศรัทธาและมีวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้า แปลออกเป็นภาษาไทยโดยพยายามรักษา ใจความแห่งคัมภีร์เดิมไว้ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ และพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลายเช่นนี้ จึงเป็นที่ควรอนุโมทนาสรรเสริญและร่วมมือสนับสนุนอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขออวยพรให้งานฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จประโยชน์ทุกประการตามความมุ่งหมาย และขอให้ท่านทั้งหลายที่มาประชุมพร้อมกัน ในงานนี้มีความสุขความเจริญโดยทั่วกัน ”

5. พระราชดำรัสในการพระราชทานพระคัมภีร์อัลกุรอาน และคำแปลเป็นภาษาไทยแก่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ณ ศาลากลาง จังหวัดนราธิวาส วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2513                                                                                                                                                                                                                                                 “ ข้าพเจ้ายินดีมากที่มีโอกาสได้พบกับคณะกรรมการอิสลามและบรรดาอิสลามิกชน ในการมาเยี่ยมจังหวัดนราธิวาสคราวนี้ ข้าพเจ้านึกอยู่เสมอว่า การที่ท่านทั้งหลายได้เป็นกำลังสร้างฐานะและความเจริญ และความสงบในจังหวัดภาคใต้มาด้วยความตั้งใจและความสุจริต ตลอดหลายชั่วอายุคนสืบมานั้น เป็นเพราะท่านถือมั่นและปฏิบัติตามแบบแผนอันดีงาม ตามคำสั่งสอนในศาสนาอิสลาม ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะส่งเสริมการศึกษาทางศาสนา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ส่งเสริมการศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานให้แพร่หลายทั่วถึงกันยิ่งขึ้น การศึกษาพระคัมภีร์ในทุกวันนี้ยังกระทำไม่ได้สะดวกเต็มที่นัก เพราะผู้ศึกษาจะต้องเรียนรู้ภาษาอาหรับให้แตกฉานเป็นเบื้องต้นก่อน ซึ่งลำบากและกินเวลามากทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเรียนภาษาอาหรับ เสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไป แต่ถ้าหากมีพระคัมภีร์ที่แปลเป็นภาษาของเราด้วย ก็จะทำให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาได้โดยสะดวก ข้าพเจ้าจึงมอบเรื่องให้จุฬาราชมนตรีจัดแปลพระคัมภีร์อัลกุรอานออกเป็นภาษาไทย จุฬาราชมนตรีก็รับจัดการให้ด้วยความยินดี ทั้งที่ทราบอยู่ว่าเป็นการยากยิ่งที่จะแปลถอดความให้ได้เนื้อความและอรรถรสสมบูรณ์ และตรงตามพระคัมภีร์เดิม บัดนี้ การจัดทำสำเร็จไปได้ส่วนหนึ่งพอที่จะนำออกเผยแพร่ได้ ข้าพเจ้าจึงนำมามอบให้แก่ท่าน ขอให้ท่านได้รับพระคัมภีร์กุรอานพร้อมทั้งคำแปลภาษาไทยไว้เพื่อศึกษา และเพื่อให้เป็นนิมิตหมายแห่งความเจริญแพร่หลายของการศึกษาหลักธรรมในศาสนาอิสลาม ในประเทศของเราในกาลสืบไป ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพเลื่อมใส กับทั้งความตั้งใจอันสุจริตของท่าน บันดาลให้ความปรารถนาทั้งนี้บรรลุจุดประสงค์จงทุกประการ ”

6. กระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะธรรมจาริก ณ ตึกรับรอง พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2516                   … งานของคณะธรรมจาริกที่ได้ปฏิบัติมาแล้วเป็นเวลาสามปี ก็นับว่าได้ผลดี เพราะว่าได้สามารถเข้าไปถึงประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามให้เข้าใจในพระศาสนา และในการปฏิบัติตนเพื่อสอดคล้องกับการเป็นประชาชนพลเมืองอยู่ในประเทศไทย ศาสนาอิสลามนี้มีความดีเป็นพื้นฐานสมควรที่จะสนับสนุน เพราะว่าศาสนาอิสลามสอนให้ทุกคนเป็นพลเมืองดี ทุกคนมีความเข้มแข็ง มีวินัย และมีความปรารถนาดีต่อกันนี้เป็นหลักที่สำคัญ และหลักนี้ ถ้าสนับสนุนให้เข้าใจอย่างดีก็จะทำให้มีความคิด มีความเจริญ มีความก้าวหน้าและความมั่นคงกันทั่วทุกคน ถ้าเราสามารถที่จะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายทุกคน ก็จะทำให้เรามีการปกครองที่สมบูรณ์ ทำให้ทุกคนได้รับผลการจัดงานของชาติได้อย่างดี สำหรับเรื่องของการเผยแพร่ศาสนาที่แท้จริงนี้ยิ่ง มีความสำคัญมาก ก็เพราะว่าในปัจจุบันนี้สังคมของประเทศ รู้สึกว่าสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงขึ้นไป มีวิชาการทางวัตถุใหม่ ๆ ที่ทำให้เราสามารถพัฒนาชีวิตให้มีความสะดวกมีความสุขสบายใจมากขึ้น ถ้าสามารถที่จะชี้แจงว่าศาสนามิได้ขัดกับความก้าวหน้าเลย ก็จะทำให้เราสามารถที่จะช่วยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่มีธรรมจาริกได้ไปสั่งสอนศาสนาที่แท้ที่เหมาะสม พร้อมกับได้นำความเจริญทางวัตถุ เช่น ทางแพทย์ไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่อยู่ห่างไกล หรือที่ราชการไปไม่ถึง เป็นการกุศลอย่างยิ่ง เพราะว่าการเข้าใจผิดมีอยู่ว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัด ต้องไปรับสิ่งที่มาใหม่ซึ่ง เป็นสิ่งตรงข้ามกับความมุ่งหมายและคำสั่งสอนของพระมะหะหมัด พระมะหะหมัดมุ่งสั่งสอนให้ทุกคนพยายามขวนขวายสิ่งที่ดีที่งามเพื่อที่จะให้คนมีความมั่นคง และหมู่คณะมีความมั่นคง ที่พูดถึงหมู่คณะก็มิได้หมายถึงเฉพาะหมู่คณะในหมู่บ้านหรือในเครือญาติพี่น้อง แต่ว่าหมู่คณะในชาติบ้านเมือง ซึ่งพระมะหะหมัดได้ทรงสั่งสอนไว้ว่า ผู้ที่อยู่ในบ้านเมืองใดก็จะต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองนั้นให้สงบให้เจริญ ประเทศไทยของเรามีผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ หลายศาสนา ล้วนแต่อยากจะทำให้คนอื่นมีความรู้ เป็นคนที่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ มีความสงบสุข ฉะนั้นศาสนาอิสลามที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นโดยเฉพาะจังหวัดสี่จังหวัดที่กล่าวออกมา จึงเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เพื่อให้ประเทศชาติของเราได้ก้าวหน้ารุดหน้าออกไป โดยใช้กำลังของประชาชนที่ปฏิบัติตนในทางที่ดีที่ชอบมาช่วยกัน  ฉะนั้นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างบ้านเมืองให้เจริญและมั่นคง ปัจจัยในการสร้างความมั่นคงนี้ก็คือความเข้าใจดีในส่วนของพระศาสนาและบัญญัติต่าง ๆ ของพระศาสนาเป็นข้อหนึ่ง ขอให้งานของคณะธรรมจาริกเป็นผลดีอย่างสมบูรณ์ทุกประการ ให้มีความเพียรปฏิบัติในการงานนี้จนได้รับผลสำเร็จ ได้มีกำลังกายกำลังใจสมบูรณ์เกิดประโยชน์อันดี ขอจงมีความสุขความเจริญความสำเร็จทุกประการ ”

7. พระราชดำรัส พระราชทานแก่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานีและยะลา ในโอกาสเข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันอิดิลฟิตรี ณ ศาลาบุหลัน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2422                                                                                                                                                                                         … การที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญการถือศีลในระยะเดือนรอมฎอนอันสำคัญนี้ ก็เท่ากับท่านทั้งหลายได้ฝึกจิตใจและร่างกายของท่านเพื่อให้มีความเข้มแข็งตามบัญญัติของพระคัมภีร์ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าการฝึกกายและใจนี้เป็นสิ่งสำคัญของมวลมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ใดที่เกิดมาเป็นคนแล้ว และตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถ มีความรู้และมีความเข้มแข็งทั้งกายทั้งใจนี้ ก็นับได้ว่าทำหน้าที่ของผู้ที่เกิดมาเป็นคน ทำให้มีสันติสุข ความมุ่งหมายของศาสนาทุกศาสนาและโดยเฉพาะศาสนาอิสลามก็มีอยู่ ที่จะสร้างคนให้เป็นคนที่มีความสามารถ และเป็นคนที่สามารถหาความสุขให้แก่ตนแก่หมู่คณะ ให้แก่สังคม ตลอดจนให้แก่ประเทศชาติอันเป็นสังคมใหญ่ มีบทบัญญัติหลายบทที่สั่งไว้ให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาบำเพ็ญ และบทที่สำคัญที่สุดก็คือให้รู้จักสร้างตนให้แข็งแรง และใช้กำลังของตัวนี้ คือกำลังทั้งกายทั้งใจของตัว ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อให้มวลมนุษย์อยู่ได้โดยผาสุก ด้วยความสงบ ข้อนี้ก็เป็นข้อที่สำคัญมาก ฉะนั้น การที่ท่านมีสมานฉันท์มากันจำนวนมากในวันนี้ เพื่อมาให้พรในโอกาสอันสำคัญ ก็นับว่าเป็นการแสดงว่าท่านทั้งหลายมีความสามัคคีและเข้าใจดีในความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกัน และนอกจากนี้ที่ได้มีการบริจาคเงินเพื่อการกุศล ก็ขอขอบใจที่ท่านเคยบริจาคเงินมาเป็นประจำปี ก็เคยได้มอบให้ทางการตั้งเป็นทุนเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน จึงจะขอมอบเงินนี้ให้แก่ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อดำเนินการตามจุดประสงค์ …”

2. ศาสนาคริสต์  ในประเทศไทยมี 2 นิกาย คือ นิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์

2.1 ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีศูนย์กลางอยู่ที่นครวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี เผยแพร่มาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2054 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และในปี พ.ศ.2531 นี้มีสภาบาทหลวงตั้งอยู่ที่ เลขที่ 51 ซอยโอเรียนเต็ล บางรัก กรุงเทพมหานคร นิกายนี้ได้แบ่งเขตการปกครองเป็น 10 เขตมิสซัง คือ เขตมิสซังกรุงเทพ ราชบุรี จันทบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ ท่าแร่ – หนองแสง (สกลนคร) อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา (ชำเลือง วุฒิจันทร์, 2531 : 462)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป และเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ณ พระราชวังวาติกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2503 เสด็จเยือนประมุขของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ยังความประทับใจและปลาบปลื้มใจแก่ชาวคาทอลิกไทยอย่างยิ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปฏิสันถารส่วนพระองค์กับพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เป็นเวลาประมาณ 20 นาที จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาทรงนำล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จชมหอสมุดวาติกันอันลือชื่อ ทรงแลกของที่ระลึกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์แก่กัน แล้วพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ทรงมีพระราชดำรัสแด่ล้นเกล้า ฯ ทั้งสองพระองค์ว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป และเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ที่ 23 ณ พระราชวังวาติกัน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2503

“ ข้าพเจ้ารู้สึกปีติซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ในการเสด็จมาเยือนของพระองค์ เป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้แสดง ความรู้สึกหวังดีเป็นพิเศษต่อประชากรแห่งประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริบูรณ์ ด้วยความงามตามธรรมชาติ อีกทั้งเพียบพร้อมไปด้วยขนบประเพณีอันสูงศักดิ์มาแต่กาลนาน รัฐบาลและประชากรชาวไทย ได้เพียรพิทักษ์รักษามรดกอันแสนประเสริฐนี้ไว้ด้วยความหวงแหน และมุ่งนำประเทศชาติให้พัฒนาการในด้านต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ จึงได้บรรลุถึงผลอันสมควรแก่การสรรเสริญ เป็นต้น ในวงการสังคมและการศึกษา บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษชาวคาทอลิกผู้เป็นบุตรของข้าพเจ้า ต่างใฝ่ใจที่จะได้มีส่วนช่วยเหลือในการนี้ด้วยกิจการ อันเกิดผลรุ่งเรืองและมากมายหลายชนิดด้วยกัน

เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และสุขศาลา เพื่อแสดงให้ปรากฏว่าตนเองก็กระหายที่จะทำงานเช่นบุตรผู้ซื่อสัตย์ เพื่อความเจริญวัฒนาและความรุ่งเรืองของปิตุภูมิของตนในโลกนี้ และเพราะความเสียสละอันไม่เห็นแก่ตัวนี้ จึงทำให้เขาเหล่านี้ได้รับความเคารพยกย่องและเห็นใจ อันเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของตน ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะกราบบังคมทูลเฉพาะพระพักตร์พระองค์ว่า คาทอลิกได้รับการเคารพและเสรีภาพ ซึ่งเป็นผลของการมองเห็นอนาคตอันเฉียบแหลมแห่งข้อกำหนดกฎหมาย และความหวังดีอันน่าชมของบรรดาผู้มีอำนาจในรัฐ กุศลกรรมนี้นับเป็นขนบประเพณีมาแต่โบราณกาลแล้ว ทั้งนี้เนื่องด้วยตั้งแต่ ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) แล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 (Innocent) ได้ทรงมีพระสมณสาส์นถึงพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม แสดงความขอบพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้พระราชทานความคุ้มครองเป็นอย่างดีแก่มิสซังคาทอลิก

ในโอกาสที่คณะทูตไทยได้มากรุงโรมและสมเด็จพระสันตะปาปาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ให้การต้อนรับอย่างดีที่สุด ได้แสดงความเอาพระทัยใส่ต่อบรรดาผู้ร่วมชาติของพระองค์ด้วยการติดตามดูแลและพระราชทานของที่ระลึกต่าง ๆ พระองค์ทั้งสองทรงตระหนักแก่พระทัยแล้วว่า ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศแปลกหน้าของรัฐวาติกัน สำหรับข้าพเจ้าเองข้าพเจ้ามีความรู้สึกต่อประเทศไทยเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 ผู้ล่วงลับไปแล้ว และข้าพเจ้ารู้สึกพอใจเป็นอย่างยิ่งที่จะยืนยันแสดงความหวังดีต่อพระองค์ ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ โปรดประทานพระพรอันอุดมแด่ประเทศชาติอันสูงศักดิ์นี้ แด่บรรดาผู้นำชาติ และแด่พระองค์และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ด้วย ” (ทบวงมหาวิทยาลัย. เอกกษัตริย์อัจฉริยะ, 2539 : 516-517)

เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 (John Paul) เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมราชวงศ์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสให้กำลังใจและสนับสนุนงานพัฒนาสังคม ของชาวคาทอริกในประเทศไทยไว้ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความปีติชื่นชมยิ่งนัก ที่ได้ต้อนรับพระคุณเจ้าในโอกาส ที่เสด็จมาเยือนประเทศของเรา สำนักวาติกันกับประเทศไทย แม้จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ไม่นานนัก แต่แท้ที่จริงเราได้มีความผูกพัน อันลึกซึ้งต่อกันมาแล้วช้านาน ในประการที่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ได้เผยแพร่เข้ามาถึงประเทศนี้ นับด้วยศตวรรษ ตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี คณะบาทหลวงและศาสนทูตผู้เดินทางเข้ามา เผยแพร่ศาสนาทุกเหล่าทุกรุ่นได้นำเอาคริสตธรรม พร้อมทั้งวิทยาการต่างๆ ซึ่งเจริญอยู่ในประเทศยุโรปในกาลนั้น เข้ามาสั่งสอนคนไทย อำนวยโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้คริสต์ศาสนา และสรรพวิทยาอันก้าวหน้า พร้อมทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณี ของชาวตะวันตก และได้นำมาประกอบปรับปรุงให้เป็นประโยชน์ แก่กิจการบ้านเมืองเป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2527

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความปีติชื่นชมยิ่งนักที่ได้ต้อนรับพระคุณเจ้าในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศของเรา สำนักวาติกันกับประเทศไทย แม้จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ไม่นานนัก แต่แท้ที่จริงเราได้มีความผูกพัน อันลึกซึ้งต่อกันมาแล้วช้านาน ในประการที่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ได้เผยแพร่เข้ามาถึงประเทศนี้ นับด้วยศตวรรษ ตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี คณะบาทหลวงและศาสนทูตผู้เดินทางเข้ามา เผยแพร่ศาสนาทุกเหล่าทุกรุ่นได้นำเอาคริสตธรรม พร้อมทั้งวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งเจริญอยู่ในประเทศยุโรปในกาลนั้น เข้ามาสั่งสอนคนไทย อำนวยโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้คริสต์ศาสนาและสรรพวิทยาอันก้าวหน้า พร้อมทั้งศิลปวัฒนธรรมประเพณี ของชาวตะวันตก และได้นำมาประกอบปรับปรุงให้เป็นประโยชน์ แก่กิจการบ้านเมืองเป็นอันมาก

ารที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแพร่ศาสนาต่าง ๆ ด้วยไมตรีและด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัย มานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกชนมีจิตสำนึกมั่นคง อยู่ในกุศลสุจริตและในความเมตตาการุญ เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติแต่ในทางที่ถูกที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสงบสุขอย่างผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีเนติแบบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือ ชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตร แผ่ไมตรีแก่กันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจ มิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นเหตุนำความแตกร้าว และความรุนแรงเดือดร้อน มาให้ ดังนี้ คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงาม ขึ้นได้ในประเทศนี้ ชาวไทยต่างรู้จักและเคารพยกย่ององค์ พระสันตะปาปาประมุขแห่งชาวคาทอลิกอย่างสูง ในฐานะบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ผู้แผ่ความสงบร่มเย็น และความสว่างแจ่มใสแก่ชาวโลกถ้วนหน้า

เมื่อคราวที่ข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสต์ศักราช 1960 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ตรัสถามถึงคนไทย ว่านับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าได้ทูลตอบว่าคนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ และนอกนั้นยังนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะชนชาวเรามีอิสรภาพและมีสิทธิเสมอภาคกัน ทั้งโดยกฎหมาย ทั้งโดยประเพณีนิยมในการนับถือศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้นทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่ดีมีศีลธรรมยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ

ในการเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งนี้ พระคุณเจ้าคงจะได้ทรงประจักษ์ชัดว่าชาวคริสต์ในประเทศนี้ ต่างปฏิบัติศาสนกิจของตนอย่างเคร่งครัด ด้วยความผาสุก ทั้งคงจะได้สังเกตเห็นด้วยว่าประชาชนชาวไทย มีความนิยมยินดี เต็มใจถวายพระเกียรติ ที่พระคุณเจ้าเป็นประมุขของศาสนา ผู้ใฝ่สันติเปี่ยมด้วยเมตตาจิต และความบริสุทธิ์เยือกเย็น ข้าพเจ้าเชื่อว่า ความเป็นมิตรความมีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ความเอื้ออารีเกื้อกูลกันโดยจริงใจระหว่างศาสนิกชนทั้งมวลนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอันมีกำลังศักดิ์สิทธิ์ ที่จะยังสันติสุขกับทั้งอิสรภาพ เสรีภาพและความเสมอภาค ให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษย์ได้เป็นแน่แท้

ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขออวยพรให้พระคุณเจ้าทรงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสาร ศุภสวัสดิ์ ทุกประการ เพื่อให้ทรงสามารถบำเพ็ญกรณียกิจอันที่จะนำความสงบสุข ความเป็นมิตรไมตรีโดยสมานฉันท์ และความเจริญมั่นคงอย่างแท้จริง มาสู่ชาวโลกได้ ยืนยงนานไป ”

เมื่อพ.ศ.2512 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และมีเอกอัครสมณทูตของนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำรัฐวาติกันด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัส ในโอกาสที่เอกอัครราชทูตแห่งวาติกันประจำประเทศไทยคนแรกเข้าเฝ้า ฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2512 ตอนหนึ่งว่า

“ ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่าน และรู้สึกชื่นชมที่ท่านได้กล่าวถึงความพยายามร่วมกันที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพอันถาวร และเสรีภาพของมนุษยชาติ ประเทศไทยได้ถือเป็นนโยบายเสมอมาในการให้ประชาชนพลเมืองมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชาวไทยทุกคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการเลือกนับถือศาสนาใด ๆ ตลอดทั้งการปฏิบัติบูชาตามความเชื่อถือของตนด้วย รัฐธรรมนูญของไทยก็ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวข้างต้นโดยประการฉะนี้ บรรดาผู้ที่นับถือศาสนาต่าง ๆ กันในระเทศไทย จึงมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกมานานนับศตวรรษ

ข้าพเจ้าพอใจที่ท่านกล่าวยืนยันถึงความภักดีและความร่วมมือของชาวคาทอลิกในประเทศไทย อีกทั้งความร่วมมือของท่าน ในอันที่จะส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทย ในการนี้ ขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า ท่านจะได้รับการสนับสนุนจากข้าพเจ้า และทางราชการไทยจะได้อำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ เพื่อให้สัมฤทธิผลในหน้าที่ของท่าน ”

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 เสด็จ ฯ ไปในงานฉลองครบรอบ 50 ปีของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ทรงประกอบพิธีเปิดหอประชุม “ เดอ มงฟอร์ต ” ทรงเจิมศิลาฤกษ์อาคารวิทยาศาสตร์ เสด็จฯ ทอดพระเนตรห้องเรียน ห้องนิทรรศการวันวิชาการ และพระราชทานเหรียญอนุสรณ์แก่ครูอาวุโสของโรงเรียน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2517 เวลา 15 นาฬิกา เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงประกอบพิธีเปิดโบสถ์พระมหาการุณย์ ณ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกล็ด จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2517 เวลา 16.30 นาฬิกา เสด็จ ฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเรือพระที่นั่งจากท่าวาสุกรีไปยังโบสถ์คอนเซ็ปชั่ญแห่งพระแม่เจ้า ณ ซอยมิตรคาม ถนนสามเสน ในโอกาสสมโภช 300 ปี แห่งการก่อตั้งโบสถ์

วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2519 เสด็จ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปยัง โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร ในโอกาสเปิดตึกใหม่ และห้องปฏิบัติการของโรงเรียน

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 เสด็จฯ ไปยังโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ในโอกาสที่เจษฎาจารย์ คณะเซ็นต์คาเบรียลเข้ามาดำเนินการศึกษาในประเทศไทยครบ 75 ปี ได้ทรงพระกรุณาเปิดตึก “ วัชรสมโภช ” เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของเยาวชน

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2525 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารสองหลัง ในโรงพยาบาลเซนต์หลุยซ์ของมิสซัง กรุงเทพฯ ที่ขอพระราชทานนามว่า “ สิริกุศลา ” และ “ ศรีสวัสดิ์ ”

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในงานทวีธาวัชรสมโภช คือฉลองโบสถ์นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ครบ 150 ปี ณ ซอยมิตรคาม ถนนสามเสน ตามที่พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู มุขนายกมิสซังกรุงเทพฯ ได้มีหนังสือถึงหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ (ราชเลขาธิการในขณะนั้น) ขอได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จ

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่โบสถ์และประทับพระราชอาสน์ พระคาร์ดินัล ไมเกิล มีชัย ได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน

บาทหลวงสังวาลย์ ศุระศรางค์ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีจิตศรัทธาเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย หลังจากนั้นเบิกผู้มีน้ำใจดีบริจาคทรัพย์ช่วยการบูรณะโบสถ์เข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึกตามลำดับ แล้วทรงพระนามในศิลาจารึกสมุดอนุสรณ์ ทรงเจิมแผ่นศิลา และพระราชทานพระดำรัสดังนี้

“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้าเป็นผู้แทนพระองค์ มาในงานฉลองโบสถ์นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ครบ 150 ปี ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายในโอกาสนี้

ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาต่างๆ กันหลายศาสนา แต่ไม่เคยมีเหตุขัดแย้งเดือดร้อน หรือวุ่นวายเป็นปัญหา ด้วยเรื่องของศาสนา ทั้งนี้เพราะคนไทยเราเข้าใจดีว่าทุกศาสนาก็มีจุดประสงค์อันเป็นแก่นแท้อย่างเดียวกัน คือสอนให้ทุกคนเป็นคนดี และชี้ทางที่ถูกต้องพอเหมาะพอดีให้ ในการที่ครองชีวิตอยู่ด้วยความสุข ความเจริญ นอกจากนั้น ยังต่างถือว่าการแผ่เมตตากรุณา สงเคราะห์ อนุเคราะห์เกื้อหนุนกัน เป็นกรณียกิจสำคัญของทุกคน ที่อยู่ร่วมกันในสังคม

ผู้รับผิดชอบโครงการ : สหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากประชาชนในประเทศของเราพร้อมกันประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ให้ตรงตามหลักธรรมในศาสนาของตนๆ ให้หนักแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ความสงบร่มเย็น และความวัฒนาผาสุก จะยิ่งปกแผ่กว้างไกลออกไปทั่วทุกแห่งหน ชาติบ้านเมืองของเราก็จะยิ่งมั่นคง ดำรงอิสรภาพอันสมบูรณ์ อยู่ได้ตลอดชั่วกาลนาน

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้งานฉลองโบสถ์นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ครบ 150 ปี ครั้งนี้สำเร็จประโยชน์ตามที่มุ่งหมายทุกประการ และขอให้ทุกท่านที่มาร่วมในงานนี้ มีความสุขความสวัสดีโดยทั่วกัน ” (เอกสารของโบสถ์นักบุญฟรังซิสเซเวียร์. ม.ม.ป.)

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัตรราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์เปิดงาน “ ศตวรรษอัสสัมชัญ ”

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2529 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานฉลองสุวรรณสมโภชโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานทอดพระเนตรการแสดงโขนชุดสมโภชพระราม ณ หอประชุมสุวรรณสมโภช ในวาระครบ 100 ปีของโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานงานฉลองครบ 60 ปี ของโรงเรียนเซนฟรังต์ซิสซาวียร์คอนแวนต์

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2529 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารโรงเรียนมัธยมมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์อาคารฮิวเบอร์ตอนุสรณ์ และอาคารสมาคมศิษย์เก่า ณ โรงเรียนเซนต์คาร์เบรียล และเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2530 ก็เสด็จอีกครั้งหนึ่งทรงประกอบพิธีเปิดอาคารทั้งสอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานถุงเงินรางวัลประเภทโรงเรียนดีเด่นแก่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เมื่อปี พ.ศ.2510 และ 2512

วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานงานหิรัญสมโภชของโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในวโรกาส “ ครบรอบ 100 ปี การวางศิลาฤกษ์ของสมเด้จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ” ทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังใหม่

วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน 80 ปี ของโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดตึกศิรินเทพของโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2532 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเรียนอนุบาล “ ตึกเรยีนา เซลี ” โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานเฉลิมฉลองครบ 84 ปี ณ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ

วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทอดพระเนตรการแสดงละครของนักเรียนโรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์

วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด “ อาคารเฉลิมรัชมงคล ” ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2533 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงเปิดงาน “ วันวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน ” ณ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2534 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในงานลีลาศการกุศล “ คืนหนึ่งแวร์ซาย ” โดยมีนักเรียนเซนโยเซผคอนแวนต์ จำนวน 17 คน ทำหน้าที่ขายดอกไม้และน้ำหอม

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2535 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารอำนวยการ และฉลองครบรอบ 12 ปีของโรงเรียนอัสสัมชัญ สำโรง

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีฉลอง 30 ปี และเปิดอาคารเรียนโรงเรียนพระแม่มารี

วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2535 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณ ณวดี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานครบรอบ 30 ปี ของโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด “ อาคารเอมมานูเอล ” ณ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิดป้ายมูลนิธิอุบลรัตน์ฯ ณ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์

วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2536 สมเด้จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ และคุณพลอยไพลิน เสด็จฯ มูลนิธิอุบลรัตน์ฯ และพระราชทานทุนซ่อมแซมสร้างโรงเรียนคาทอลิกที่ประสบอัคคีภัยในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ ณ หอประชุม Trinity Hall

วันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในงานครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและทรงเปิดตึกอนุสรณ์ “ ถกลพระเกียรติ สก. ”

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จตามพระราชินีฟาบีโอลาแห่งเบลเยียม ทรงเยือนมหาวิทยาลัยในวโรกาสที่ทางมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระเจ้าโบดวง อดีตกษัตริย์แห่งเบลเยียม

พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงแสดงออกสนับสนุนให้กำลังใจแก่สถาบันการศึกษาคาทอลิก โดยเสด็จเยือนด้วยพระองค์เองก็ดี พร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถและพระราชวงศ์ก็ดี หรือทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ระดับต่างๆ เสด็จแทนพระองค์ก็ดี ล้วนแต่ยังความปลาบปลื้มใจแก่ผู้บริหารพร้อมทั้งผู้ร่วมงาน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษา ได้ชื่นชมพระบารมีกันทั่วหน้า เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่กระตุ้นเตือนสติผู้รับผิดชอบสถาบันการศึกษาคาทอลิกทั้งหลาย ให้ปรับปรุงคุณภาพการอบรมสั่งสอนให้เข้มข้นอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้ว่าศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาคาทอลิกเหล่านี้ซึ่งนับถือศาสนาต่างๆ กันได้ออกไปประกอบอาชีพ และรับใช้สังคมด้วยความสำนึกในหน้าที่อย่างละเอียดสุขุมจนเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่กล่าวขวัญกันในสังคมทั่วไป

พระราชจริยวัตรแสดงพระปรีชาญาณ จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก และด้วยพระราชจริยวัตรอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาเยี่ยงบิดาที่ห่วงใยบุตรธิดาเช่นนี้

เป็นผลให้ชาวคริสต์โรมันคาทอลิกมีความมั่นใจในเอกลักษณ์ของตน แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยแต่ก็มีกำลังใจพัฒนาฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต จนได้เป็นชั้นนำในสังคมรอบด้าน พร้อมที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ดังปรากฏว่าชาวคาทอลิกที่มีคุณภาพรับใช้ประเทศในกองทัพทุกหมู่เหล่า และจำนวนไม่น้อยได้สละเลือดเนื้อและสุขภาพเยี่ยงวีรชน ยังมีอีกจำนวนมากที่พร้อมสละผลประโยชน์และความสุขส่วนตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ด้อยโอกาส โดยไม่คำนึงถึงศรัทธาและความเชื่อ

นับว่าช่วยโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นอย่างดีทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในด้านการศึกษา ด้านการพยาบาล ด้านพัฒนาชนบท ด้านช่วยบรรเทาสาธารณภัย ด้านดูแลสงเคราะห์ผู้อพยพลี้ภัย ด้านสงเคราะห์คนชรา ด้านพัฒนาอาชีพผู้ด้อยการศึกษา ฯลฯ ดังรายการเท่าที่รวบรวมได้ดังนี้

หน่วยงานสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย ( โคเออร์  )

  • คณะกรรมการส่งเสริมคุณค่าชีวิตพิชิตเอดส์
  • คณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัว
  • คณะกรรมการยุติธรรมและสันติ
  • สมาคมนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล ช่วยเหลือคนยากจนทั่วไป
  • ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคคล คลองเตย ฝึกอาชีพ เปิดโรงเรียนวันละบาท คลินิกในชุมชนแออัด
  • สถานสงเคราะห์คนชรา บ้านเซนต์หลุยส์
  • บ้านเด็กเซนต์หลุยส์ รับเด็กกำพร้า
  • ชมรมเวชบุคคลคาทอลิก เพื่อช่วยเหลือสังคมเรื่องเจ็บป่วย
  • ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด นนทบุรี
  • ศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนตาบอดหญิง ซอยศรีเสถียร สามพราน
  • บ้านพักคนชรานักบุญคามิลโล สามพราน

เครดิตยูเนียน เป็นองค์กรขึ้นอยู่ตามวัดทั่วไป

  • บ้านเอื้ออารี สีลม / พญาไท ให้ที่พักและอาหารฟรีไม่เกิน 7 วัน กับคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำ
  • บ้านสวนศานติ ลำลูกกา ปทุมธานี ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์
  • ศูนย์คอมมูนิตา อินคอนโต้ ลำลูกกา ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด
  • บ้านพักใจ ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์
  • ชมรมคาทอลิกอีสาน เพื่อช่วยเหลือคนอีสานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
  • ศูนย์บรรเทาใจ นนทบุรี ช่วยเหลือคนป่วยเอดส์
  • ศูนย์เมอร์ซี่ เซนเตอร์ กรุงเทพฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ขั้นสุดท้าย
  • โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา สอนวิชาชีพคนพิการ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ฯ

เครดิตยูเนียน เป็นองค์กรขึ้นอยู่ตามวัดทั่วไป

  • บ้านเอื้ออารี สีลม / พญาไท ให้ที่พักและอาหารฟรีไม่เกิน 7 วัน กับคนต่างจังหวัดที่มาหางานทำ
  • บ้านสวนศานติ ลำลูกกา ปทุมธานี ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์
  • ศูนย์คอมมูนิตา อินคอนโต้ ลำลูกกา ช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด
  • บ้านพักใจ ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์
  • ชมรมคาทอลิกอีสาน เพื่อช่วยเหลือคนอีสานที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
  • ศูนย์บรรเทาใจ นนทบุรี ช่วยเหลือคนป่วยเอดส์
  • ศูนย์เมอร์ซี่ เซนเตอร์ กรุงเทพฯ ช่วยเหลือผู้ป่วยเอดส์ขั้นสุดท้าย
  • โรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา สอนวิชาชีพคนพิการ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ฯ
  • ศูนย์ธารชีวิต 1-2 พัทยา ช่วยเหลือหญิงผู้มีอาชีพพิเศษ และรวมทั้งเด็ก ๆ ด้วย
  • โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ช่วยฝึกอาชีพเด็กนักเรียนยากจน
  • มูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและคนชรา
  • สถานพักฟื้นคนโรคเรื้อน โคกปีบ
  • ศูนย์บำบัดยาเสพติด บางคล้า
  • ศูนย์สังคมพัฒนา สระแก้ว
  • สำนักงานสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย ปราจีน
  • บ้านมารีนา เชียงใหม่ สอนอาชีพแก่หญิงสาวชาวเขา เพื่อจะได้ไม่ลงมาขายบริการ
  • ศูนย์ม้ง ช่วยเหลือชาวเขา ทั้งการศึกษา สุขภาพฯ
  • ศูนย์อบรมเด็กไทยชาวเขา จอมทอง เชียงใหม่ ชาวไทยภูเขา เผ่าปากะญอ
  • ศูนย์อบรมเด็กไทยชาวเขา ลาฮู เชียงใหม่
  • ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงสาว อ . เมือง เชียงราย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ทำอาชีพบริการ
  • ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงสาว เวียงป่าเป้า เชียงราย
  • ศูนย์แม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ลำปาง
  • ศูนย์สังคมพัฒนา เชียงใหม่
  • ศูนย์ช่วยเหลือคนโรคเรื้อนและตาพิการ
  • ศูนย์สังคมพัฒนา ท่าแร่
  • ศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย นครพนม
  • ศูนย์สังคมพัฒนา นครราชสีมา
  • ศูนย์โคนมและอบรมอาสาพัฒนา ซอนต้า ฝึกอาชีพให้แก่ชาวบ้าน
  • ศูนย์เกิดใหม่ จอมบึง ราชบุรี ช่วยเหลือผู้ที่ติดยาเสพติดหรือติดเชื้อเอดส์
  • บ้านเบธานี บ้านพักคนชรา บ้านโป่ง
  • ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนชาย
  • ศูนย์สังคมพัฒนาราชบุรี
  • ศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย ( โคเออร์ ) ราชบุรี
  • ศูนย์ฝึกอาชีพดอนบอสโก ร่อนพิบูลย์
  • สถานสงเคราะห์เด็กและคนชรา
  • ศูนย์สังคมพัฒนา สุราษฎร์ฯ
  • ศูนย์บ้านสุขสันต์ สงขลา
  • คลินิกมารีอุปถัมภ์ เกาะสมุย
  • บ้านสงเคราะห์คนชรา บ้านจิก
  • ศูนย์สงเคราะห์บุคคลปัญญาอ่อน
  • คลินิกนิรนาม บ้านน้อยฯ
  • สถานสงเคราะห์ผู้ชราและโรคเรื้อน
  • สถานพักฟื้นผู้ป่วยโรคเรื้อน
  • ศูนย์สงเคราะห์เด็กพิการและปัญญาอ่อน 1-2
  • ศูนย์สงเคราะห์เด็กพิการและปัญญาอ่อนเชียงคาน เลย
  • ศูนย์สังคมพัฒนา อุบล
  • สหกรณ์เครดิตยูเนียน แม่มูล
  • บ้านสวนเทเรซา บ้านสงเคราะห์คนชรา (ทบวงมหาวิทยาลัย, 2539 : 537-538)

2.2 ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์  เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2371 โดยมิชชันนารีกุสลาฟและทอมลินนำมาเผยแพร่แก่กลุ่มชาวจีน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงกลับไป จนต่อมาหมอบรัดเลได้นำวิทยาการแผนใหม่ เช่น การพิมพ์และการแพทย์มาเผยแพร่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ขัดแย้งกันเองกับมิชชันนารีที่มาพร้อมกันจนต้องยุติการเผยแพร่ไปอีก ในปี พ.ศ.2383 คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนมาเริ่มเผยแพร่ใหม่ในกรุงเทพฯ จนถึงกรุงเทพฯ พ.ศ.2404 จึงได้ขยายงานไปยังจังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2411 ขยายไปถึงเชียงใหม่ โดยการประกาศคริสตศาสนาแก่คนทั่วไป ตั้งคริสตจักรให้การศึกษาแก่คริสเตียนและบุคคลทั่วไป โดยตั้งโรงเรียนขึ้นตามคริสตจักรและในเมืองและให้บริการด้านสาธารณสุข โดยการตั้งโรงพยาบาลขึ้นรักษาผู้ป่วยตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง และกรุงเทพฯ ปัจจุบันคริสตศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ สภาคริสตจักรในประเทศไทย สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย มูลนิธิคริสตจักรแบบติสต์ และมูลนิธิคริสตจักรวันเสาร์แห่งประเทศไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เคยทรงเป็นแพทย์ประจำบ้าน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิก ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2472

วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลแมคคอร์มิก โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยา และโรงเรียนดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

โรงพยาบาลแมคคอร์มิก

วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 เสด็จฯ เยี่ยมและทรงเปิดอาคารคนไข้ภายในโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2521 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยี่ยมสถาบันแมคเคน

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2527 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.สำราญ แพทยกุล องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปเป็นประธานเปิดงานฉลองครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสภาคริสตจักรในประเทศไทย (ชำเลือง วุฒิจันทร์, 2531 : 464)

3. ศาสนาพราหมณ์

มีอิทธิพลต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทยโดยเฉพาะ และที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ทรงอุปถัมภ์สำนักพราหมณ์ โดยตั้งสำนักพราหมณ์ในสำนักพระราชวัง และมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ เทวสถาน แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร กรมการศาสนาได้จัดสรรเงินอุดหนุน สำนักพราหมณ์ในสังกัดพระราชวัง เพื่อดำเนินกิจกรรมทางด้านศาสนาพราหมณ์

ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระครูวามเทพมุนีเป็นประธานพราหมณ์ ๆ คนถัดมาคือ พระครูสตานันทมุนี คณะพราหมณ์จะประกอบพิธีสำคัญที่เคยเป็นพระราชพิธีในสมัยก่อน คือ พิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า) ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ตกประมาณเดือนมกราคมทุกปี ส่วนที่เกี่ยวกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือ การพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะพราหมณ์เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักที่ประทับในตอนเช้า 3 วัน หรือ 2 วันติดต่อกัน ถ้าเป็นงาน 3 วัน วันแรกคณะพราหมณ์จะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินพระบรมราชานุเคราะห์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเทวรูปอิศวร

ทรงเสด็จเปิดหอเวทวิทยาคม

พระอุมา และพระคเณศ ที่จะได้เชิญเข้าในพิธีตรียัมปวาย วันที่สอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะพราหมณ์เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลและน้อมเกล้า ฯ ถวายสิ่งของในการพิธีตรียัมปวาย วันที่สาม ทรงเจิมเทวรูปนารายณ์ที่จะให้เชิญเข้าพิธีตรียัมปวาย ถ้าเป็นงานสองวัน วันแรกคณะพราหมณ์จะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินพระบรมราชานุเคราะห์แล้วทรงเจิมเทวรูปอิศวร (พระศิวะ) พระอุมา พระคเณศ พระนารายณ์ และพระพรหม (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา) ซึ่งจะนำเข้าในพิธีตรียัมปวาย วันที่สองจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะพราหมณ์เฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล และน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของในการพิธีตรียัมปวาย ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานสองวันมาตั้งแต่ พ.ศ.2500

นอกจากที่เกี่ยวกับพิธีตรียัมปวายแล้วยังมีพิธีขึ้นภัทรยัฏเทวปฏิมากรรม พิธีสถาปนาศิวลึงค์และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์กระทำพิธีในการพระราชพิธีและพิธีในพระบรมมหาราชวังและพิธีของพระบรมราชวงศ์เป็นประจำ

1. งานพระราชพิธี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีพราหมณ์ในพระราชพิธี เปลี่ยนเครื่องทรงประจำฤดูพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทั้งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏหิรัญบัฏ ในการสถาปนาพระอิสริยศพระบรมราชวงศ์และสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ รองสมเด็จพระราชาคณะ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก พระราชพิธีสมโภช 3 วัน และสมโภชเดือน ขึ้นพระอู่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ฯลฯ

พิธีพราหมณ์ในงานพระราชพิธีพืชมงคล

2. งานเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พราหมณ์ ประกอบพิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระศรีสุริโยทัย และอดีตพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์อื่นๆ พิธีเททองหล่อพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ที่สวรรคตหรือทิวงคตไปแล้ว พิธีปัดรังควาน ณ พระตำหนักต่างๆ หรือพิธีฉลองพระชนมายุ พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ พิธีแทงน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ฯลฯ

4. ศาสนาฮินดู

เป็นศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ที่มีอยู่ในประเทศภารต ( อินเดีย ) ในปัจจุบัน ชาวภารตที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารได้นำศาสนาฮินดูเข้ามาเผยแพร่ และดำเนินกิจการแบ่งเป็น 2 สมาคม คือ ฮินดูสภา ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2468 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมฮินดูสมาช ตั้งสำนักงานอยู่เลขที่ 136/1-2 ถนนศิริพงษ์ แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีศาสนสถานเทพมณเฑียรอยู่ ณ ที่ตั้งสำนักงานแห่งเดียวกัน จัดให้มีการสวดมนต์ ฟังธรรม ฯลฯ ที่โบสถ์เทพมณเฑียรทุกวันทั้งตอนเช้าและตอนเย็น และมีพิธีกรรมในวันสำคัญทางศาสนา เช่น งานวันศิวาราตรี งานไวสารี มีโรงเรียนภารตวิทยาลัยอยู่ในความอุปถัมภ์ของสมาคม

สมาคมฮินดูธรรมสภา ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2458 เป็นสมาคมทางศาสนาพราหมณ์นิกายสมารต ตั้งอยู่ที่ 50 ซอยวัดปรก แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการจัดพิธีและงานฉลองวันสำคัญทางศาสนาที่โบสถ์อันเป็นที่ตั้งสมาคมเป็นประจำคือ พิธีบูชาพระศิวเทพในวันมหาศิวาราตรี พิธีตรุษชาวฮินดูในวันโฮลี พิธีวันประสูติพระรามในวันรามนวมี พิธีบูชาพระยานาคในวันนาคปัญจมี พิธีวันประสูติพระกฤษณะในวันศรีกฤษณชนมาษฎมี และพิธีบูชาพระรามและพระแม่เจ้าอุมาเทวีในวันวิชัยทศมี นอกจากนี้ยังได้จัดพิธีโกนจุก พิธียโญญปวีต พิธีเสดาะห์เคราะห์ พิธีตั้งศาลพระภูมิ ฯลฯ

สมาคมศาสนาฮินดูทั้งสองนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เผยแพร่ศาสนาตามคตินิยม และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้า ฯ ในโอกาสต่าง ๆ ตามที่ขอพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
พระราชทานบรมราชวโรกาสให้ชาวซิกข์ เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูป ปีพ.ศ.2499

5. ศาสนาซิกข์

เป็นศาสนาของชาวภารตพวกหนึ่ง ตั้งเป็น สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา อยู่ที่เลขที่ 565 ถนนจักรเพชร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ดำเนินการชุมนุมชาวซิกข์สวดมนต์ตามพิธีกรรมทางศาสนาทุกเช้าเย็น ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับองค์การศาสนาอื่น และในงานฉลองครบรอบ 500 ปี ศาสนาซิกข์ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปในงาน และพระราชทานพระราชดำรัสความว่า “ ข้าพเจ้ายินดีและพอใจที่ผู้เป็นประธานของท่านกล่าวยืนยันว่า ชาวซิกข์ในประเทศไทยได้รับความสะดวกสบาย และได้รับความอุปถัมภ์ให้มีความผาสุกร่มเย็นพร้อมมูล ในการทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดจนการประกอบศาสนกิจ ตามความเชื่อถือ ฐานะความมั่นคง พร้อมทั้งความสุขของบุคคลนั้น จะเกิดมีได้ก็ด้วยความปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นธรรม และปฏิบัติเกื้อกูลกันและกันของแต่ละบุคคล ท่านทั้งปวงได้รับความสุขความสงบ เพราะต่างตั้งตนไว้ในทางที่ถูกที่ควร มีความมุ่งหมายที่จะปลูกฝังสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์ โดยมิได้ถือชาติ ถือชั้น ถือลัทธิศาสนา และได้พยายามดำเนินตามหลักการนั้นด้วยดีตลอดมา โดยถือว่าสังคมหรือส่วนรวมนั้นเป็นที่ตั้งที่อาศัยของบุคคล ”

6. พระราชดำรัสเกี่ยวกับศาสนา และองค์การศาสนาต่าง ๆ

6.1 พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการของสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2515            “ ขอขอบใจสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทยที่ได้จัดงานสาธารณสุข และทั้งได้นำเงินมาเพื่อช่วยกันสร้างสารานุกรมสำหรับเด็กและเยาวชน สารานุกรมนี้ก็มีจุดประสงค์ที่จะรวบรวมความรู้ต่างๆ สำหรับให้เยาวชนในบ้านเมืองของเราได้ทราบถึงวิชาการทุกๆ ด้าน และให้ทราบว่าวิชาการในด้านต่างๆ นี้มีความสัมพันธ์กัน แต่สารานุกรมนี่เป็นงานที่ใหญ่ และต้องการความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ต่างๆ ที่จะสร้างขึ้นมา และนอกจากนี้ก็ยังต้องการใช้ทุนสร้างอีกไม่น้อยสำหรับงานนี้ ฉะนั้น การที่ท่านทั้งหลายช่วยในการนี้ด้วย ก็นับว่าช่วยให้งานการศึกษาของประเทศชาติเจริญก้าวหน้าขึ้น ซึ่งจะทำให้อนุชนรุ่นหลังมีความรู้ในวิชาการ มีความรู้ในความเป็นอยู่และการวางตัวในอนาคตด้วยก็ขออนุโมทนาในจิตใจกุศลที่ท่านทั้งหลายได้มี ขอให้ทุกท่านจงประสบแต่ความดีงาม ความเจริญรุ่งเรืองทุกประการ ”

6.2 กระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการคณะคริสเตียนชาวไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2516
“ ขอขอบใจคณะคริสเตียนที่ได้บริจาคข้าวสำหรับช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัย เพราะว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีอุทกภัยรุนแรงในจังหวัดภาคเหนือและภาคอื่นๆ ที่มีความเดือดร้อน ก็ได้ช่วยด้วยสิ่งอุปโภคบริโภคมาก ทั้งเรี่ยรายพ่อค้าและทั้งหน่วยราชการ ทั้งเอกชนได้ช่วยสมทบ ทำให้เห็นว่าในประเทศไทยเราทุกคนไม่ว่าศาสนาใด ก็มีจิตใจอันเดียวกัน คือ เมตตาต่อผู้เคราะห์ร้าย การเมตตาหรือรู้สึกว่าเป็นห่วงผู้ร่วมชาติที่ประสบความเดือดร้อนนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่ได้ และอยู่ในหลักของศาสนาทุกศาสนา ฉะนั้น ที่ท่านทั้งหลายได้บริจาคข้าว เป็นการช่วยเหลือสังคมหลายทาง จึงเป็นบุญกุศลที่ทำ ข้าวนี่ก็ไปช่วยผู้ที่ยากไร้เป็นไปตามจุดประสงค์หรือตามคำสั่งสอนของทางศาสนา และได้เป็นการกระชับไมตรีระหว่างประชาชนทุกชาติ ก็เป็นกฎที่อยู่ในคำสั่งสอนของทุกศาสนาเหมือนกัน
ขอให้มีกำลังใจกำลังกายพร้อมสมบูรณ์ มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสำเร็จในกิจการต่างๆ ที่ทำ ทั้งมีความสุขกายสบายใจตลอดไป ”

6.3 พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารของอาศรมวัฒนธรรมไทย – ภารตะ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2514
“ ขอขอบใจท่านที่ได้มาในวันนี้ในนามของอาศรมวัฒนธรรมไทย – ภารตะ ซึ่งทำให้บังเกิดความปลื้มปีติที่ได้เห็นท่านทั้งหลายทั้งไทยทั้งชาวชมพูทวีปที่ได้มาอยู่ในประเทศไทยมาให้พร อาศรมวัฒนธรรมได้ปฏิบัติงานและได้ส่งเสริมเกี่ยวข้องกับทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ และทางความสามัคคีเป็นอย่างดี สำหรับประเทศไทยก็ถือว่าได้รับวัฒนธรรมอินเดียเป็นส่วนใหญ่ และก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราได้มีการติดต่อ ได้มีการค้นคว้าและสังสรรค์เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งสองประเทศอยู่เสมอ จึงเป็นสิ่งที่น่าพอใจที่อาศรมวัฒนธรรมได้ปฏิบัติการมาด้วยความเรียบร้อย มาเป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้ว

ขอให้ท่านได้ช่วยกันกระชับไมตรีกระชับสัมพันธ์ในเรื่องวัฒนธรรมต่อไป ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศและคงเป็นประโยชน์ต่อตัวมนุษย์ด้วย ที่ทำให้การติดต่อระหว่างปวงชนต่าง ๆ มีความเข้าใจกันดี และเป็นการสร้างสรรค์ความมั่นคง สร้างสรรค์ความสงบในโลกนี้ด้วย

ขอขอบใจท่านทั้งหลาย และขอให้ทุกคนมีทั้งกำลังกายทั้งกำลังใจเข้มแข็งปฏิบัติงานของแต่ละคนให้ลุล่วงสำเร็จเรียบร้อย ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองและความดีงามทุกประการ ”

6.4 พระบรมราโชวาท ในโอกาสที่สถาบันและองค์การที่เกี่ยวกับศาสนา เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้า ฯ ถวายสิ่งของ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาผกาภิรมย์ วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2511 “ ที่ท่านทั้งหลายผู้เป็นผู้แทนขององค์การสมาคม และศาสนาต่าง ๆ หลายศาสนาพากันมาให้พรวันเกิดพร้อมกัน ณ ที่นี้ เป็นเครื่องแสดงความสามัคคีระหว่างคนไทยผู้อยู่ในเมืองไทย แม้จะถือศาสนาต่าง ๆ กันก็มีสมานฉันท์ที่จะมารวมกันโดยพร้อมเพียงได้ นับว่าเป็นการดีมาก และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมืองไทยเรานี้เรามีเสรีภาพในทางความคิดอย่างเต็มที่ เมื่อมีเสรีภาพทางความคิดและทางความนับถือเต็มที่เช่นนี้ เราจึงจะต้องรักษาไว้ ด้วยความหวงแหนอย่างที่สุด … ว่าศาสนาต่างกันอาจมีแนวทางต่างกัน อย่าให้ความแตกต่างในแนวทางนี้มาทำให้เกิดเป็นอุปสรรค เพราะว่าอุปสรรคในการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างศาสนาว่าด้วยวิธีการนั้น บางทีก็พูดกันได้ว่าเป็นการดึงลงนรก แต่ละศาสนาก็สอนให้เมตตาต่อผู้อื่น ให้เคารพความคิดของผู้อื่น ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ข่มขู่ จึงพูดได้ว่าดีใจที่ได้พบท่านทั้งหลายที่สนใจที่จะปฏิบัติ ที่จะค้นคว้าในศาสนาต่างๆ

และก็ขอให้ท่านได้ค้นคว้าได้สนใจและปฏิบัติอย่างดีที่สุดเพื่อความสงบสุขของสังคม เพื่อความเข้าใจในทางที่ถูกต้องของประชาชนทั่วๆ ไป ผู้ที่เยาว์ในความคิดก็ควรจะได้รับความสนับสนุนและช่วยเหลือจากผู้ที่คิดได้มากกว่า  และผู้ที่พยายามหาความสุขอยู่แล้วก็ขออย่าหาความสุขอยู่คนเดียว ให้แบ่งให้ผู้อื่นบ้าง หมายถึงว่าชี้ทางให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าชี้ทางแล้วอีกฝ่ายไม่เข้าใจหรือคัดค้านเราจะต้องโกรธ เราจะต้องพยายามอธิบายด้วยเหตุผลที่แน่นแฟ้น คือด้วยความรู้ว่า เมื่อเกิดเหตุแล้วก็จะต้องเกิดผล แล้วก็ผลนั้นจะดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่เหตุ ขอให้ท่านได้ปฏิบัติตามที่มีเจตนาที่ดีงามและมีกำลังไม่ท้อถอยเพื่อรักษาความสามัคคี เพื่อรักษาความเป็นอยู่ของเราในประเทศไทย ซึ่งได้ประจักษ์แล้วว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด มีสิทธิ์ที่จะปฏิบัติ ขอเพียงอย่าให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

ด้วยเจตนาดีของท่านและโดยกุศลเจตนาทุกอย่างที่ท่านทำและปฏิบัติทางใจ ขอให้เป็นกำลังเป็นพรให้ทุกคนมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีจิตใจเข้มแข็ง สำเร็จในความคิด สำเร็จในการงานที่ตนทำ โดยเฉพาะในเรื่องที่จะให้หลักธรรมะที่ดีที่งามของแต่ละศาสนา ขอให้ประสบชัยชนะ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อที่จะให้ส่วนรวมคือสังคมของคนไทยและประเทศไทยยั่งยืน มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองทั้งทางวัตถุทั้งทางจิตใจ ให้ได้ชื่อว่าประเทศไทยนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าอยู่ เป็นที่มีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่รักสงบ และในเวลาเดียวกันก็หวงแหนความเรียบร้อยความสงบนี้ ขอขอบใจอีกครั้งที่ทุกคนมาให้พรในโอกาสวันเกิด ขอให้ทุกคนมีความเจริญรุ่งเรือง ”