สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 1 พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสินจอมบดินทร์มหาราช)
หมายเหตุ อ่านเพิ่มเกี่ยวกับ พระบรมสาทิสลักษณ์ในภาคผนวก

1.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพเมื่อไร

วันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ  เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช              ทรงพระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 1096 เวลาห้าโมง          ก่อนเที่ยงวัน ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ปีที่ 3 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว             บรมโกศพ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส (2515 : 2, 6) ได้เขียนโคลงไว้ดังนี้

               กาลฤกษ์ขึ้นสิบห้า                ค่ำจิตร มาสเฮย
เจ็ดสิบเมษอาทิตย์                              ค่อนเช้า
ห้าโมงก่อนเที่ยงสถิต                         ตกฟาก
ปีเกิดบวกขาลเข้า                                ครบถ้วนชาตา

ดวงพระราชสมภพ
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
ดวงพระราชสมภพ
(ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)

แต่หนังสือที่เขียนโดย ทวน บุณยนิยม (2513 : 4) กล่าวว่า “ ลุพุทธศักราช 2277 เวลารุ่งอรุณของวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก ปีขาล แม่นางนกเอี้ยงก็ได้ให้กำเนิดบุตรเป็นชาย ” และหนังสือที่ระลึกเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรีเขียนไว้ว่า (2544 : 13) ทรงมีพระราชสมภพเวลาประมาณ 05.00 น. สำหรับวันที่เกิดที่แน่นอนก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าเป็นวันใดแน่ เช่น เสทื้อน ศุภโสภณ (2527 : 31) เขียนว่า “ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชสมภพที่พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2277” แต่มีผู้เขียนหลายท่านกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ( หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 2543 : 13 ; หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจังหวัดจันทบุรี, 2524 : 13 ; สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 3) แต่มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ 2 ท่านที่มีความเห็นต่างกันออกไปคือ

วีณา โรจนราธา (2540 : 86) ได้แสดงข้อคิดเห็นดังนี้                                                                                                                                                                                                                “ กรณีวันพระราชสมภพ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยใช้การคำนวณย้อนหลังจากวันเสด็จสวรรคตตามที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุโหรว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ 48 ปี 15 วัน และตามหลักฐานของชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า ทรงถูกประหารชีวิตในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2325 วันพระราชสมภพคือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 แต่หากถือตามหลักฐานฝ่ายไทยซึ่งบันทึกว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2356 วันพระราชสมภพก็คือ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิธ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ไทยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2277”

สุจิตต์ วงษ์เทศ (2528 : 64 คัดลอกมาจากบทนิพนธ์บางเรื่องของหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (หม่อมหลวงเพิ่มยศ อิศรเสนา ) ว่า “ หนังสือเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของประยูร พิศนาคะ ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน สมภพเมื่อ เวลา ห้าโมงเช้า วันอังคาร เดือนเจ็ด ปีขาล จุลศักราช 1096 (พุทธศักราช 2277) แต่ไม่บอกว่า เป็นวันขึ้นกี่ค่ำหรือแรมกี่ค่ำ ก็เดือนเจ็ดปีนั้น มีวันอังคารอยู่สี่วันคือ วันขึ้น 7 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ วันแรม 6 ค่ำ แรม 13 ค่ำ ซึ่งตรงกับ วันอังคารที่ 8 ที่ 15 ที่ 22 ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2277 (ค.ศ.1734) ถ้าหนังสือเล่มนี้ถูกต้องวันพระราชสมภพ ก็ต้องเป็นวันใดวันหนึ่งใน 4 วันนี้ แต่ก็จะเอาเป็นที่ยุติไม่ ขอให้ดูจดหมายเหตุโหรประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8

ในปูมจดหมายนั้นว่า ปีขาล จุลศักราช 1144 ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้า เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน เมื่อทดย้อนหลังจากวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้าย้อนไป 15 วัน เป็นวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนห้า และย้อนหลังไปอีก 48 ปี ตกเป็นวันราชสมภพ วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนห้า ปีขาล จุลศักราช 1096 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2277 ในปูมโหรนี้ว่า ณ วันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือนห้า (5 เมษายน 2325) พระพุทธยอดฟ้าได้ราชสมบัติปราดาภิเษก ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้า (10 เมษายน 2325) เจ้าตากดับขันธ์ ในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับถึงกรุงธนบุรีในวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือนห้า (6 เมษายน) และพระเจ้าตากสินต้องโทษประหารในวันเดียวกันนั้นเอง

หนังสือเรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินของประยูร พิศนาคะ ที่ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินสมภพวันอังคาร เดือนเจ็ด นั้นอยู่ในเล่ม 1 หน้า 40 แต่หนังสือเล่ม 2 หน้า 436 กล่าวว่า วันสำคัญต่างๆ ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระยาบริรักษ์เวชการได้คำนวณเปรียบเทียบกับวันทางสุริยคติ และวันพระราชสมภพเป็นวันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1096 ปีขาล ฉศก ตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2277 วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีนั้น ปฏิทินไทยว่า เป็นวันอาทิตย์ถูกต้อง และตรงกับปฏิทินฝรั่งวันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน ไม่ใช่วันที่ 7 ซึ่งฝรั่งว่าเป็นวันพุธ และตรงกับไทยวันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนห้า คือวันพุธ เดือนห้า ขึ้น 4 ค่ำ ไม่ใช่ ขึ้น 15 ค่ำ

ที่เจ้าคุณบริรักษ์ท่านว่า สมภพในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 นั้น ไม่ทราบว่าท่านจะได้หลักฐานมาจากไหน แต่ก็มีเค้าอยู่ในปูมโหรที่ว่า เมื่อทรงดับขันธ์ ในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 5 นั้น พระชนมายุได้ 48 ปี กับ 15 วัน ก็เศษ 15 วันนี้ คิดทด วันแรม 13 ค่ำ เป็นวันขึ้น 13 ค่ำ ก็จะได้ 15 วันพอดี แต่วันขึ้น 13 ค่ำบังเอิญเป็นวันศุกร์ เป็นวันค่อนข้างอ่อน ดูไม่ต้องกับลักษณะพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเข้มแข็ง เหี้ยมหาญ ท่านจึงปรับลงมาเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ให้พอสมกับพระเดชานุภาพที่ปรากฎในพระราชประวัตินี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน เจ้าคุณบริรักษ์ฯ ท่านก็สิ้นบุญไปนานแล้ว ไม่รู้จะไปสอบถามท่านผู้ใด ”

พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ( http://www.dabos.or.th, 28/11/44  ) เขียนไว้เกี่ยวกับดวงพระชะตาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ดังนี้                                   “ อย่างไรก็ตามได้มีการกล่าวไว้ในเอกสารอื่นๆ ว่า วันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 ( หนังสือ “ อภินิหารบรรพบุรุษ ”) บ้าง วันที่ 17 เมษายนบ้าง ( หนังสือ “ ราชจักรีวงศ์และราชสกุลพระเจ้าตากสินมหาราช ”) วันที่ 7 เมษายนบ้าง (“SOMDEJ PHRA CHAO TAK SIN MAHARAT โดย de FELS, JACQUELINE”) สำหรับประเด็นหลังๆ นี้สามารถตัดออกได้เลย เนื่องจากผมได้ทดลองคำนวณดูแล้วปรากฏว่า วันแรม 15 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2277 ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ปีเดียวกัน ดังนั้นเมื่อคิดคำนวณพระชนมายุจนถึงวันเสด็จสวรรคต แล้วจะไม่ถึง 48 ปี 15 วัน ดังที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหร ซึ่งเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดฉบับหนึ่ง …ดังนั้นหากใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อว่าอาจจะเป็นวันเสด็จสวรรคตที่กล่าวเป็นนัยไว้รวม 3 ประการคือ วันที่ 6 เมษายน หรือวันที่ 7 เมษายน หรือวันที่ 10 เมษายน ซึ่งตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 5 มาคิดคำนวณตามพระชนมายุตามที่ระบุไว้ในจดหมายเหตุโหร จะได้ผลดังนี้ หากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน พระองค์ท่านจะทรงพระราชสมภพในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 และถ้าเสด็จสวรรคตในวันที่ 7 เมษายน จะทรงพระราชสมภพในวันที่ 23 มีนาคม ส่วนที่ว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 เมษายนนั้น วันพระราชสมภพจะตรงกับวันที่ 26 มีนาคม … เมื่อประเด็นวันพระราชสมภพเป็นวันที่ 26 มีนาคมอ่อนลง จึงยังคงเหลือวันที่ 22 และวันที่ 23 มีนาคม … ผมจึงขอตัดประเด็นวันพระราชสมภพที่ตรงกับวันที่ 22 มีนาคมออกไป จึงเหลือวันที่ 23 มีนาคมซึ่งตรงกับจดหมายเหตุคณะบาทหลวง ( ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39) จากการศึกษาคำนวณจุดที่ตั้งและกำลังดาวเคราะห์ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 นี้ … เมื่อได้มีการคำนวณเลือกหาเวลาที่เหมาะสมโดยการนำเอาพระราชประวัติ พระราชอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งแต่ต้นตลอดพระชนม์ชีพ เท่าที่จะหาได้ในเอกสารประวัติศาสตร์พงศาวดาร ในที่สุดจึงได้เวลา 05.45 นาฬิกา ของวันอังคารที่ 23 มีนาคม ( ทางโหราศาสตร์ไทยเรายังตีว่าเป็นวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม เนื่องจากยังไม่ถึงเวลารุ่งอรุณของวันนั้นคือ เวลา 06 นาฬิกา 20 นาที พระราชลัคนาจึงสถิตในราศีมีน ตรียางศ์ที่ 1 นวางศ์ที่ 1 ต่อจากนั้นได้นำเอาจุดที่ตั้งและกำลังดาวพระเคราะห์ต่างๆ ในดวงพระชะตามาคำนวณตรวจสอบความเป็นไปได้ ประกอบแล้วปรากฏว่าเป็นที่น่าเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง ”

 “ จึงพยากรณ์ได้ว่า เจ้าชะตาจะเป็นคนรูปร่างเล็กผิวขาวเหลือง … ตามประวัติศาสตร์ได้ระบุชัดว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยลูกจีน จึงมีพระฉวีสีขาวเหลือง ส่วนรูปร่างจะเล็กจริงตามคำพยากรณ์หรือไม่เพียงไรนั้นได้ปรากฏหลักฐานเขียนโดยนักธรรมชาติวิทยา ชาวเดนมาร์กผู้เคยพบเห็นพระองค์ท่านกล่าวไว้ว่า “… บัดนี้เราได้ติดตามชีวประวัติของชายร่างเล็กคนหนึ่งนับตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่กำลัง จะสร้างประวัติศาตร์ทั้งของสังคมไทยและตัวเขาเอง กลายเป็นเรื่องราวที่เล่าขานสืบมา เพราะความยิ่งใหญ่ของทั้งบุคคล และสิ่งที่ได้กระทำขึ้น …” (A History of Modern Thailand โดย B.J. TERWIEL) … อนึ่งการวางพระราชลัคนาไว้ ณ ราศีมีนนี้เป็นราศีเดียวกับที่ดวงอาทิตย์สถิตอยู่ นอกจากจะพยากรณ์ได้ว่า เป็นผู้ที่ทำบุญคุณคนไม่ขึ้น ( ดวงอาทิตย์อยู่ในราศีมีนซึ่งเป็นธาตุน้ำ เรียกว่า “ อาทิตย์ตกน้ำ ”)

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช)

เนื่องจากดวงอาทิตย์สลับเรือน อุจกับ ดาวศุกร์ … จึงส่งผลให้ยังคงกำลังซึ่งจะแสดงออกถึงคุณลักษณะเด่น ประจำพระองค์ประการหนึ่งคือ การเป็นผู้นำที่ดี … สรุปว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชสมภพ ในวันที่ 23 มีนาคม ( โหราศาสตร์ตะวันออกยังถือว่าเป็นวันที่ 22 มีนาคม ) พุทธศักราช 2277 จุลศักราช 1076 ซึ่งตรงกับวันอังคาร ( โหราศาสตร์ตะวันออกยังถือว่าเป็นวันจันทร์ ) แรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล เวลา 5 นาฬิกา 45 นาที ณ กรุงศรีอยุธยา ” ( เรียบเรียง ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ . ศ . 2541)

ดร.สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 76) กล่าวว่า “… สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชสมภพ ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2277 …” ซึ่งตรงกับความเห็นของพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์

1.2 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอภินิหาร หรือบุญญาธิการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจริงไหม ?

ภาพแสดงองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของเรือนไทย
  • 1. มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านเกิดอากาศแจ่มใสไม่มีเมฆหมอก แต่เกิดมีฟ้าผ่าลงเสาดั้ง ( เสาที่ตั้งร้านอกไก่ตั้งบนรอด ) แต่กุมารสินก็ไม่เป็นอันตราย
  • 2. กล่าวกันว่าท่านทรงมีสะดือลึกขนาดนำหมากสง ( หมากดิบ ) ทั้งเปลือกใส่ลงไปได้ ซึ่งแปลกกว่าเด็กอื่นๆ และโดยลักษณะของกุมารน้อยปรากฏเป็นจตุรัสกาย ( เป็นส่วนสี่เหลี่ยม ) ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 5) กล่าวคือวัดตั้งแต่สะดือไปถึงเท้า เท่ากับวัดตั้งแต่สะดือไปถึงเชิงผม ที่หน้าผากกว้างใหญ่ ถ้าหากวัดตั้งแต่ปลายนิ้วทั้งซ้ายขวา เมื่อเหยียดเต็มแขนหน้าแล้วจะเท่ากับ ความยาวตั้งแต่ปลายเท้าไปถึงเชิงผมที่หน้าผาก บุคคลที่มีลักษณะเช่นนี้ นักปราชญ์โบราณทั้งไทยและจีนกำหนดเรียกว่า มหาบุรุษโดยแท้ (สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 3)
  • 3. เมื่อเกิดได้ 3 วัน มีงูเหลือมมาขดรอบกระด้งที่ใส่ท่านไว้ ( พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส , 2515 : 2) ทำให้บิดาและมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินวิตกกลัวภัยอันตรายต่างๆ ว่าจะมีเหตุร้ายบังเกิดขึ้นซึ่งตามธรรมเนียมจีนมักจะนำบุตรซึ่งบังเกิดระหว่างเหตุร้ายนั้นไปฝังเสียทั้งเป็น แต่ไม่สามารถทำได้ในเมืองไทยเพราะกลัวอาญาแผ่นดิน จึงคิดว่าน่าจะนำบุตรไปทิ้งเสียให้พ้นบ้าน เจ้าพระยาจักรีทราบเรื่องจึงมีจิตคิดเวทนาสงสารกุมาร ท่านจึงขอกุมารนั้นจากจีนไหฮองผู้บิดา ซึ่งก็ยินดียกท่านให้เจ้าพระยาจักรี

หมายเหตุ  พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส (2515 : 328-329 ) ได้ให้คำอธิบายว่า “ ในพงศาวดารจีนหลายเรื่องเช่น “ เรื่องไซ่ฮั่น ” เล่าปัง คือ ฮั่นอ๋อง ซึ่งได้ราชสมบัติแห่งมหาอาณาจักรจีน ก็มีนิมิตเรื่องงู เมื่อเล่าปังเจอะงูขาวขวางทางอยู่ เล่าปังเอากระบี่ฟันงูขาวตาย มีนางไม้พูดว่า “ เจ้างูสีม่วงเจ้าฆ่างูสีขาวเสียแล้ว ” และงูขาวนั้น ชาวจีนเปรียบว่าเป็นห้างอี๋ หรือ ฌ้อปาอ๋อง เมื่อเล่าหยูชิงราชสมบัติพระเจ้ากวงเต้ อันเป็นกษัตริย์วงศ์พระเจ้าสุมาเอี๋ยน เล่าหยูเข้าไปในป่า พบเด็กตำยา เด็กนั้นบอกเล่าหยูว่า ตำยาไปรักษาเจ้าของตนซึ่งเป็นงูใหญ่ เล่าหยูตวาดเด็กเหล่านั้นๆ ก็มีความกลัวหายไป ดังนั้นเปรียบได้ว่าเล่าหยูเป็นมังกร เด็กเหล่านั้นจึงกลัวมาก ทั้งๆ ที่เจ้าของตนก็เป็นงูใหญ่ แต่ก็สู้มังกรไม่ได้ เล่าหยูก็เป็นกษัตริย์วงศ์น่ำซ้อง ” ในเรื่องเม่งเฉียว หรือหมิงเฉา จูง่วนเหล็งปฐมกษัตริย์ก็มีเสียงอสรพิษอยู่บนศีรษะ จูง่วน เหล็งก็ได้เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหม็งหรือหมิง ” ท่านไหฮองคงไม่เคยอ่านพงศาวดารจีนจึงตกใจกลัว

 ศาลาท่าน้ำ วัดโกษาวาส มีอยู่ 2 ท่า ไม่รู้ว่าท่าไหนที่เด็กชายสินถูกมัดประจานไว้ที่ตีนบันได จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน (พ.ศ.2531) คลองตื้นขึ้นมาจนบันไดอยู่บนบกเสียแล้ว (ภาพจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน    จอมบดินทร์ มหาราช)
  • 4. เมื่อโตขึ้นไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดโกษาวาส ครั้งหนึ่งท่านได้ตั้งตัวเป็นเจ้ามือกำถั่ว พวกเด็กอื่นๆ มาเล่นด้วยส่งเสียงดัง พระอาจารย์สั่งให้ลงโทษเฆี่ยนสานุศิษย์ทั้งหลายซึ่งเล่นเบี้ยแทงถั่วนั้นทั่วทุกคน ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงโดนเฆี่ยนและโดนมัดคล่อมไว้กับบันไดสะพานท่าน้ำ เพื่อเป็นการประจานในความผิด จะได้ไม่มีผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง แล้วพระอาจารย์ลืมปล่อยทิ้งไว้จน 20 นาฬิกาเศษ (2 ทุ่ม ) จึงนึกขึ้นได้ ก็ตกใจกลัวว่าจะจมน้ำตายเพราะว่าเป็นเวลาน้ำขึ้น แต่เมื่อไปถึงท่าน้ำ พบว่ากระไดหลุดจากท่าและกุมาร (สิน) ผูกติดกับบันไดซึ่งลอยน้ำอยู่จึงรอดชีวิตด้วยปาฏิหาริย์ (พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส, 2515 : 12-14)
  • 5. เมื่อตอนจัดพิธีตัดเปีย มีผึ้งหลวงมาจับเพดานในบริเวณที่จะรดน้ำ และอยู่ตรงนั้นเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ผึ้งจึงพากันบินจากไป จึงเป็นอีกนิมิตหนึ่งที่ชี้ให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ( พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส , 2515 : 15)
  • 6. เมื่ออายุได้ 21 ปี ท่านได้อุปสมบท วันหนึ่งขณะที่พระภิกษุสินและพระภิกษุทองด้วง รอรับบาตรก็ได้มีซินแสท่านหนึ่ง เดินมาหยุดจ้องหน้า ( พระภิกษุทั้งสองรูป ) พระภิกษุสิน และพระภิกษุทองด้วง ( ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชจักรีวงศ์ ) เมื่อพิจารณาพระภิกษุสองรูปอยู่พอสมควร ก็หัวเราะเดินจากไป เมื่อไต่ถามก็ได้คำตอบว่าทั้งสองท่านนี้ประหลาดแท้ๆ ด้วยลักษณะของแต่ละท่านจะได้เป็นเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน (ประยูร พิศนาคะ , 2527 : 7-8)
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
(ภาพจากหนังสือพระแสงราชศัสตราประจำเมือง)
  • 7. พระบารมีปรากฏอภินิหาร

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 41-42, 48-49) ได้เขียนเล่าเกี่ยวกับพระบารมีปรากฏอภินิหารว่า “ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จจะไปตีเมืองนครศรีธรรมราชโดยได้เสด็จไปทางเรือ บังเกิดพายุคลื่นลมหนัก และเรือรบข้าราชการในกองหลวง และกองหลังบ้างล่ม บ้างแตก บ้างเข้าจอดแอบบังอยู่ในอ่าว สมเด็จพระพุทธเจ้า (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) จึงดำรัสให้ปลูกศาลขึ้นสูงเพียงตาบนฝั่ง ให้แต่งตั้งเครื่องกระยาสังเวยบวงสรวงเทพารักษ์อันพิทักษ์ท้องมหาสมุทร ให้จัดธูปเทียนกระทำการสักการะบูชาและทรงตั้งพระสัตยาธิษฐาน เอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่ตั้งกับทั้งพระบารมีซึ่งทรงบำเพ็ญมาแต่บรรพชาติและในปัจจุบัน ขอจงดลบัลดาลให้คลื่นลมสงบในบัดนั้น ด้วยเดชะอำนาจพระราชกฤษฎาธิการอภินิหารบารมีเป็นมหัศจรรย์ คลื่นลมนั้นก็สงบสงัดราบคาบ เป็นประจักษ์ในขณะทรงพระสัตยา    ธิษฐาน และเรือพระที่นั่งและเรือข้าราชการทั้งหลาย ล้วนเป็นเรือรบน้อยๆ ก็ไปได้ในมหาสมุทรหาอันตรายมิได้ ” (จากพระราชพงศาวดาร เล่ม 2 ตอน 2 หน้า 18) “… และในการไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อทรงยกกองทัพถึงตำบลลุ่มเหลือง เสด็จหยุดประทับแรม ณ พลับพลาในค่ายนั้น และครั้งนั้นเป็นเทศกาลคิมหันตฤดู กันดารด้วยน้ำ … จึงดำรัสว่า “ อย่าปรารมภ์เลย เป็นภารธุระของเรา ค่ำวันนี้อย่าให้ตีฆ้องยามเลย จงกำหนดแต่นาฬิกาไว้เพลาห้าทุ่ม เราจะให้ฝนตกลงจนได้ ” แล้วจึงดำรัสสั่งพระยาราชประสิทธิ์ให้ปลูกศาลเพียงตา ตั้งเครื่องพลีกรรมบวงสรวงเทพยดาบนเขาแล้ว จึงทรงตั้งพระสัตยาธิษฐาน เอาพระบรมโพธิสมภารบารมีของพระองค์ ซึ่งทรงสันนิจยาการมาแต่อดีตบุรพชาติตราบเท่าถึงปัจจุบันภพนี้ จะเป็นที่พึ่งพำนักแก่ไพร่พลทั้งปวง กับทั้งอานุภาพเทพยดาขอจงบันดาลให้ท่อธารวรรโษทก จงตกลงในราตรีวันนี้ให้เห็นประจักษ์ และเพลานั้นพื้นนภากาศก็ปราศจากเมฆ ผ่องแผ้วเป็นปกติอยู่ ด้วยเดชะอำนาจกำลังพระอธิษฐานบารมีกับทั้งอนุภาพ พอถึงเพลาสี่ทุ่มแปดบาทบันดาลให้ฝนห่าใหญ่ตกลงหนัก จนน้ำไหลนองไปทั่วท้องป่า และขอนไม้ในป่าลอยไหลไปเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ครั้นเพลาเช้าก็ทรงช้างพระที่นั่งให้ยกพลโยธาหาญข้ามเขานั้นไป … จนถึงเมืองลำพูน …” (จากพระราชพงศาวดาร เล่ม 2 ตอน 2 หน้า 40)

1.3  พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นใคร ?

  • 1. พระบิดา มีหลายพระนาม ดังนี้

ในหนังสือ “ อภินิหารบรรพบุรุษ ” อันเป็นสมุดไทย กระดาษข่อยขาว ตัวหมึก รวม 2 เล่ม (เป็นสมบัติของหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ สุประดิษฐ์ ) กล่าวว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชื่อ ไหฮอง มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒน์ ( นายอากรบ่อนเบี้ย ) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ( พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ) เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ กอปรด้วยทาสชายหญิง ได้ไปพึ่งบารมีท่านเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กำแพงพระมหานครศรีอยุธยา       คำว่า ‘ ฮอง ‘ หรือ ‘ ฮง ‘ เป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาษาปักกิ่งอ่านว่า ‘ ฟง ‘ หรือ ‘ เฟิง ‘                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายไว้ในหนังสือคืนถิ่นจีนใหญ่ (2541 : 6) ดังนี้ “ …คำว่า ไหฮอง เป็นภาษาจีนกลางอ่านว่า ‘ไห่เฟิง’ เป็นตำบลอยู่ทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางไปทางเท่งไฮ้ (ชื่ออำเภอๆ หนึ่ง) ไปเสิ่นเจิ้น ที่เริ่มกล่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นคนเท่งไฮ้ นั้นมาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York : Cornell University Press, 1975) ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารจีนราชวงศ์เช็ง แผ่นดินพระเจ้าเขียนหลง ( เคี่ยนหลง ) อาลักษณ์จีนได้บันทึกพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไว้ว่า “ บิดาเจิ้งเจาเป็น ชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจาที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถได้รับราชการ อยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ ”                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              หมายเหตุ  “เจิ้งเจา” เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามสำเนียงปักกิ่งของจีน ถ้าหากเป็นสำเนียงแต้จิ๋วแล้วก็จะกลายเป็น “ แต้เจียว ” แต่ พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส (2515 : 328) ได้ให้คำอธิบายว่า ไหฮอง ดังนี้ “ เป็นนามของ พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นจีน ไหหลำ แน่นอน เห็นได้จากคำว่า ‘ ไห ‘ ซึ่งเป็นแซ่หนึ่งของจีนไหหลำ จากการสอบถามชาวจีนเขาบอกว่า แซ่ห่าน แซ่ฮู้ แซ่ไห จีนพวกอื่นเช่น แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี๋ยน อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น มีแต่จีนไหหลำพวกเดียว อนึ่งคำว่า ‘ ไหหลำ ‘ เข้าใจว่าเป็นคำเพี้ยน ที่ถูกจะต้องเป็น ‘ ไหหนำ ‘ ซึ่งแยกศัพท์แล้ว ‘ ไห ‘ แปลว่า ‘ ทะเล ‘ ‘ หนำ ‘ แปลว่า ‘ ใต้ ‘ รวมแล้วแปลว่า ‘ ทะเลใต้ ‘ ถ้าคิดถึงสถานที่อาจมุ่งความว่า ‘ เกาะทะเลใต้ ‘”

  • 2. ใน “ พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ” ฉบับ พ.ต.หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์-บิดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) แปลนั้น มีกล่าวถึงพระองค์ไว้ตอนหนึ่งดังนี้ “ ลุศักราช 1131 (พ.ศ.2312) ปีฉลู พระเจ้าตาก (สิน) เป็นบุตรจีน ไหหง อยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้รวบรวมกำลังออกรบกับพม่ามีชัยชนะ ขับไล่พม่าออกไปจากเมืองไทยแล้วตั้งตนขึ้นเป็นเจ้าในกรุงศรีอยุธยา ได้ใช้ให้ข้าหลวงนำศุภอักษรมาทูลสมเด็จบรมบพิตร พระนารายณ์ราชาธิบดี ณ กรุงกัมพูชา ให้มีราชสาส์น (พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการดอกไม้เงินทอง) ไปถวายแด่พระเจ้าตากเพื่อเป็นทางพระราชไมตรีดุจกาลก่อน” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 33 )
  • 3. หนังสือที่ระลึกเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี (2524 : 1) และหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม (2543 : 164) กล่าวว่า บิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นชาวจีน แซ่แต้ ที่อพยพมาเมืองไทยชื่อ ไหฮอง นักค้นคว้าในภายหลังได้พบว่า ไหฮองนั้นที่จริงเป็นอำเภอหนึ่งใน มณฑลแต้จิ๋ว และชื่อพระบิดาที่ปรากฏในหนังสือที่เขียนขึ้นหลังราชวงศ์แมนจูชื่อ เซิ่นย้ง หรือ เซิ่นหยง ( ชื่อ หยง นี้มีปรากฏในเอกสารบางฉบับเช่นในหนังสือวารสารไทย 19 (71) : กรกฎาคม – กันยายน 2542 โดย ประพัฒน์ ตรีณรงค์ “ แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ” (2542 : 17)  แต่มีบางฉบับกล่าวว่า ‘ หยง ‘ เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี ( หม่อมราชวงศ์ ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุช . พระราชประวัติ 9 มหาราช , พระนคร : พิทยาคาร (2514 : 241) และหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดราชบุรี (2541 : 1)
  • 4. พิมพ์ประไพ พิศาลกุล (2541 : 94) เขียนไว้ดังนี้ “ … ปี ค.ศ.1734 (พ.ศ.2277) วีรบุรุษที่ได้เกิดมาในแวดวง คนแต้จิ๋ว แห่งกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็คือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชบิดาของพระองค์ แซ่แต้ ชื่อ หยง มาจากอำเภอเท่งไฮ้… ”
  • 5. นายสังข์ พัธโนทัย ( ม.ป.ป. : 23, 139) เขียนใน เที่ยวเมืองแต้จิ๋ว กล่าวว่า “… ไหยฮองที่เขียนไว้ในหนังสือนั้นคือ ชื่ออำเภอที่แต้จิ๋วนี้ ไม่ใช่ชื่อคนดอก ไหยฮอง ไฮ้ฮง หรือ ไฮฮอง ก็คำเดียวกันทั้งนั้น ปัจจุบันเป็นอำเภอล่างสุดและเล็กที่สุดของจังหวัดซัวเถา ในสมัยโบราณคงกันดารสาหัส พระบิดาของพระเจ้าตากสิน จึงอพยพไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา… ”
  • 6. ชูสิริ จามรมาน (2527 : 65) กล่าวว่า “.. การที่ผู้เขียนประวัติเอาชื่ออำเภอเป็นชื่อคนดังกล่าว อาจเป็นความคิดของพระบิดาพระเจ้าตากสินเองก็ได้ เพราะบอกชื่อที่อยู่ไว้ยังพอไปสืบเสาะบรรพบุรุษเอาได้ หากใครคิดจะสืบเสาะ ตัวบอกเพียงชื่อตัวและแซ่อาจจะหากันไม่เจอ เพราะชื่อแซ่ซ้ำกันมากเหลือหลาย พระบิดาของพระเจ้าตากสิน แซ่แต้ ซึ่งจีนปักกิ่งออกเสียงเป็น เจิ้ง คนแซ่แต้มีอยู่นับไม่ถ้วนในแต้จิ๋ว …”
  • 7. ดร.สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 76) เขียนไว้ว่า “ … บิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินชื่อนายหยง แซ่แต้ เป็นคนจีนแต้จิ๋ว มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่เมืองไฮ้ฮอง อันเป็นอำเภอเล็กๆ ของซัวเถามาปักหลักอยู่ที่คลองสวนพลู ได้รับความดีความชอบเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยที่เมืองตาก… ”
  • 8. แต่ในหนังสือ “ เวียดนามสือกี้ ” หรือ “ พงศาวดารญวน ” ฉบับที่นายหยอง ญวน ทหารปืนใหญ่แปลเมื่อ 80 ปีเศษมาแล้ว ( พิมพ์ครั้งแรกปี พ . ศ . 2443) นั้นกล่าวว่า บิดาพระเจ้าตากสินฯ เป็นจีนแต้จิ๋วชื่อ ก๊กฮวย แซ่ติ้น “ ประการหนึ่งอันพระเจ้ากรุงธนบุรีคือเจ้าตากสิน ชาติตระกูลบิดาเป็นจีน แต้จิ๋ว ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเขตแขวงกรุงเก่า แซ่ติ้น ชื่อ ก๊กฮวย ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาโบราณเสียแก่พม่าข้าศึก พระยาตากจึงตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งกรุง ณ ประเทศตำบลบางกอกใหญ่ เรียกกรุงธนบุรี ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 33)
  • 9. แต่จากหนังสือ “ ใครฆ่าพระเจ้าตาก ” ของวรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 6-7) ได้กล่าวถึง บิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่าชื่อ เจียนโล้ว แซ่ลิ้ม ท่านเจียนโล้วเป็นบุตรท่านเจียนสุน ท่านช่วนจู ภรรยาท่านเป็นสตรีไทยชื่อนางนกเอี้ยง ”

สรุปว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีหลายพระนาม เช่น ไหฮอง เซิ่นหยาง หรือเซิ่นย้ง หยง ก๊กฮวย และเจียนโล้ว ส่วนแซ่ของท่านอาจเป็นแซ่แต้ หรือ แซ่ติ้น หรือ แซ่ลิ้ม อีกทั้งกล่าวกันว่าท่านเป็นจีนแต้จิ๋ว หรือเชื้อสายกวางตุ้ง มีท่านเดียว ( พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส ) คิดว่าท่านเป็นจีนไหหลำ จะเห็นได้ว่า    นักประวัติศาสตร์คงจะยังหาข้อสรุปไม่ได้ สำหรับพระนามพระบิดา และแซ่ของสมเด็จ พระเจ้าตากสินฯ และได้มีนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งได้เสนอแนวคิดไว้ดังนี้    ( วีณา โรจนราธา , 2540 : 86)

1. เรื่องราวเกี่ยวกับพระบิดา ภายหลังตรวจสอบว่าชื่อ “ ไหยฮอง ” เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดแต้จิ๋ว ออกเสียงจีนกลางว่า “ ไห่เฟิง ” แต้จิ๋วว่า “ ไฮ้ฮง ” หนังสือ “ ซือสือเอ๋อเหม๋จูซี่ ” ซึ่งเขียนขึ้นในสาธารณรัฐ ประชาชนจีน ยุคหลังราชวงศ์แมนจูแล้ว ให้ข้อมูลว่าพระราชบิดาพระนามเดิม เซิ่นย้ง หรือ เซิ่นหยง เป็นชาวกวางตุ้ง ชอบเที่ยวเตร่ใช้เงินจนยากจนลงจึงอพยพมาเมืองไทย เกิดโชคดีมีฐานะมั่งคั่งเพราะการพนัน ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตจากการศึกษาเอกสารหนังสือเก่าว่า ก.ศ.ร. กุหลาบคงเป็นคนแรกที่ออก พระนามพระราชบิดาว่า หยง แซ่แต้ ซึ่งคงเป็นแหล่งข้อมูลแก่หนังสือในเมืองจีนระยะหลังต่อมา อย่างไรก็ตาม ต้วนลี่เซิงได้พบสุสานบรรจุฉลองพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ตำบลหัวฟู่ อำเภอเฉิงไห่ จังหวัดแต้จิ๋ว (เฉาโจว) อยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล, 2541 : 91) รวมทั้งศาลประจำตระกูลซึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2464 คงเป็นผู้สืบราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ส่งไปฝังแทนพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน สิ่งนี้อาจเป็นหลักฐานว่า สายวงศ์พระราชบิดาอยู่ที่ตำบลนั้น ซึ่งเป็นถิ่นที่แห้งแล้ง ทำให้อพยพมาอยู่พระนครศรีอยุธยา

สุสานเสื้อผ้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เท่งไฮ่
(เซี่ยมล้อแต้อ๊วงตากสินไต้ตี่)
(ภาพจากดุจนาวากลางมหาสมุทร)

2. เรื่องแซ่และพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ หลักฐานค่อนข้างตรงกัน เรื่องแซ่ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) ฉบับหมายเลข ๒ / ไฆ ว่าเดิมพระเจ้าตากสินฯ ชื่อ จีนแจ้ง ซึ่งเป็นพ่อค้าเกวียน “ แจ้ง ” เมื่อออกสำเนียงจีนกลางตรงกับเสียง “ เจิ้ง ” และสำเนียงแต้จิ๋วตรงกับเสียง “ แต้ ” ตรงกับพงศาวดารชิงซึ่งได้ข้อมูลจากพระราชสาส์นกรุงธนบุรี ออกพระนามว่า “ เจิ้งเจา ” ทั้งยังตรงกับที่ต้วนลี่เซิง นักวิชาการชาวจีนออกพระนามว่า “ แต้สิน ” บางฉบับกล่าวว่าทรงมีพระนามเดิมว่า “ หยง ” (ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุช, 2514 : 241) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระนามสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นที่เรียกขานกันในหมู่ชาวจีนตรงกับเสียงภาษาไทยว่า “ แต้สินตาก ” จึงสรุปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงใช้แซ่นี้ และพระนามเดิมนั้นหลักฐานส่วนใหญ่ก็ออกพระนามตรงกันว่าสิน

3. ส่วนเรื่องเชื้อสายจีนของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้น หลักฐานส่วนใหญ่ว่าทรงเป็นแต้จิ๋ว อย่างไรก็ตามพงศาวดารชิงให้ข้อมูลต่างออกไปว่า ทรงมีเชื้อสายจีนกวางตุ้ง แต่พระราชพงศาวดารเหนือเลขที่ ๑ / ไฆ ให้ข้อมูลว่า ทรงมีเชื้อสายพระเจ้ามักกะโทกษัตริย์มอญ ( วีณา โรจน ราธา , 2540 : 86) หลักฐานที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีเชื้อจีนมีดังนี้ จากในพระราชพงศาวดารของไทยคือในยามวิบัติของกรุงศรีอยุธยานั้น มีคนจีนจำนวนนับพันได้เข้าเป็นทหารในบังคับบัญชาของพระยากำแพงเพชร (คือพระเจ้าตากสิน) ต่อสู้กับพม่าอย่างทรหด เมื่อสู้ไม่ไหวพระยากำแพง เพชร ก็นำทหารไทยจีนแหวกวงล้อมของข้าศึกออกไปตั้งตัวเพื่อกู้ชาติพอไปถึงเมืองระยอง บรรดาไทยจีนซึ่งคุมกำลังกันอยู่ตามบ้านตามป่ารู้ข่าวก็พากันเข้ามาสวามิภักดิ์ ขอร่วมกำลังในการกู้ชาติด้วย นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าถ้าหากไม่ใช่พระยากำแพงเพชร หรือพระเจ้าตากสินแล้ว คงจะไม่สามารถรวมกำลังไทยจีนได้อย่างนี้แน่นอน พระเจ้าตากสินทรงดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งซึ่งผนึกกำลังชาวจีนได้อย่างน่าสรรเสริญนั่นคือ เมื่อมีคนจีนเข้ามาช่วยกู้ชาติด้วยมากๆ พระองค์ทรงให้ยศฐาบรรดาศักดิ์แก่คนจีนเหล่านั้นเป็นไทยหมด เท่าที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารคือ หลวงพิพิธ หลวงพิชัย หลวงพรหม ขุนจ่าเมืองเสือร้าย และหมื่นท่อง ท่านทรงตั้งให้บังคับบัญชาทหารจีนบรรดาที่ถือง้าวเป็นอาวุธกองหนึ่ง ในขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองระยอง มีฝ่ายตรงข้ามยกกำลังเข้าล้อม กองทหารจีนได้ออกสู้รบถึงตะลุมบอน และฝ่ายตรงกันข้ามแตกหนีไป กองทหารจีนไล่ติดตามไปหกสิบเจ็ดสิบเส้น (ประมาณ 2.8 กิโลเมตร) พระเจ้าตากสินฯ จึงลั่นฆ้องชัยเรียกทัพกลับ ในการเข้าตีเมืองจันทบุรีซึ่งเป็นที่สำคัญ พระราชพงศาวดารของเราระบุว่า มีทหารจีนเข้าร่วมโจมตีด้วย และประสบชัยชนะ เมื่อทรงสั่งสมกำลังที่เมืองจันทบุรีพร้อมแล้ว ทรงยาตราทัพไทยจีนเข้าตีพม่าที่อยู่ตามจุดต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น ทหารจีนถูกส่งไปเป็นกองหน้า รบกันแต่เช้าจนเที่ยง จึงตีค่ายพม่าได้ หลังจากนั้นเสด็จนำทัพไทยจีนไปปราบพวกที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ จนราบคาบ (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 143)

1.4 พระมารดาชื่ออะไร ?

พระมารดา เป็นคนไทย ชื่อนางนกเอี้ยง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นธิดาขุนนางครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 13)

ดร.สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 76) กล่าวว่า มารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นผู้ดีอยู่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ทวน บุณยนิยม (2513 : 4) เล่าว่า “ ส่วนแม่นางนกเอี้ยงนั้นเป็นธิดาของขุนนางผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่ง รับราชการอยู่ในพระราชสำนักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ท่านบิดาได้นำธิดาของท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม่นางนกเอี้ยงเป็นกุลสตรีที่มีรูปงามตามแบบชาววัง ”

ชูสิริ จารมรมาน (2527 : 65) กล่าวถึงพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่า “… มักจะกล่าวว่าเป็นกุลสตรีไทย ชาวกรุงศรีอยุธยา ( ซึ่งเคยมีนักประพันธ์ยุคปัจจุบันนำไปกล่าวถึงว่ามีอายุรุ่นสาวขึ้น ในสมัยที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และนางเคยอยู่ในวังของเจ้านายพระองค์นั้น )”

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 7) เขียนไว้ว่า นางนกเอี้ยง เป็นบุตรท่านผลึก และท่านทองจีบ แต่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ซึ่งพิมพ์ที่ปารีส เมื่อ พ.ศ. 2314 ต้นสมัยกรุงธนบุรี มีกล่าวถึง พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่า “ ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีน ท่านเป็นทั้งนักการเมือง และนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่าน… ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 34) แต่วีณา โรจนราธา (2540 : 86) ได้เขียนไว้ว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ ลั่วยั้ง หรือนางนกยาง ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คงเลือนมาจากชื่อไทยว่า นางนกเอี้ยง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสวยราชย์แล้ว ได้สถาปนาพระมารดาเป็นกรมพระเทพามาตย์ ทรงพระประชวรด้วยยอดอัคเนสัน เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2317 ( สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 315)

 

1.5 พระนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เรียกขานกันมีอะไรบ้าง

พระนามที่เรียกขานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอยู่มากมายแต่ละคำล้วนแสดงความสัมพันธ์และสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้เรียกขานที่มีต่อพระองค์ท่าน (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 18-22) ที่สำคัญเช่น

1. กันเอินซื่อ ปรากฏในจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง จนถึงเดือน 8 ของปีที่ 37 แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. 2315) คำนี้คงจะหมายถึงพระยากำแพงเพชร
2. ขุนหลวงตาก คำเรียกขานของคนในสมัยรัตนโกสินทร์
3. จีนแจ้ง ปรากฏในหลักฐานไทย ซึ่งเขียนขึ้นโดยคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี
4. เจิ้งกั่วเอิง ปรากฏในจดหมายเหตุดานัง ( เอกสารเวียดนาม ) อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนกลาง แต่สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 78 ) กล่าวว่า คนญวนจะเรียก              ท่านว่า จิ้นก๊กฮวย ส่วนคนกวางตุ้งเรียก ท่านว่า เจิ้งกว่ออิง
5. 
เจิ้งกว๋ออิง ปรากฏในหลักฐานจีนสำเนียงจีนกลาง แปลว่า เจิ้งวีรบุรุษของประเทศเป็นคำเรียก ในหนังสือของพระยาราชาเศรษฐี ( ชาวจีนที่ได้รับแต่งตั้งเป็น       เจ้าเมืองพุธไธมาศ ที่มีไปถึงผู้ว่าราชการมณฑลกวางตุ้ง เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยหลังกรุงแตก )
6. เจิ้งเจา หรือ เจิ้นเจา ปรากฏในเอกสารราชการของราชสำนักชิง เจิ้งเจา แปลว่า กษัตริย์เจิ้ง คนจีนในประเทศไทยเรียกขานพระนามนี้มาช้านานแล้ว
7. เจ้ากรุงธน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5) ทรงใช้
8. เจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4) ทรงใช้
9. เจ้าเมืองตาก คำเรียกเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก
10. เจ้าเมืองระแหง ตากและระแหงเป็นเมืองคู่แฝด
11. ตากสิน ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า บ้างกล่าวว่าทรงเป็นเจ้าเมืองตาก บ้างกล่าวว่าเป็นเจ้าเมืองระแหง
12. แต้เจียว ปรากฏในพระราชสาส์นถวายพระเจ้ากรุงจีน
13. แต้สิน ปรากฏในเอกสารของต้วนลี่เซิง นักวิชาการชาวจีนเมื่อกล่าวถึงประวัติพระบิดา
14. แต้สินตาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4) ทรงออกพระนามที่เรียกขานกัน ในหมู่ชาวจีนเป็นสำนวนไทย
15. เตียซินตัด หรือ เตียซินตวด ปรากฏในข้อมูลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน หมอสมิธ เกี่ยวกับการเรียกขานพระนามในหมู่                      ชาวจีน เตีย คือ แซ่แต้ ซิน คือ สิน ตัด หรือ ตวด คือ เมืองตาก                                                                                                                                                                              16. ผี่เอียซิน ปรากฏในจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง เป็นคำแปลทับศัพท์คำไทยว่า พระยาตาก
17. แผ่นดินต้น ปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
18. พระยาตาก ปรากฏในหลักฐานชั้นต้นกล่าวเรียกระหว่างช่วงเวลากอบกู้กรุงศรีอยุธยา
19. พระยาตากสิน ปรากฏในคำให้การของเชลยกรุงเก่า สันนิษฐานว่าอาจจะยังมีพระยาตากนอกราชการอยู่ จึงมีการออกพระนามเฉพาะ เพื่อให้แน่ชัดว่า               หมายถึงพระยาตากคนที่ชื่อว่าสิน
20. พระศรีสรรเพชร สมเด็จพระบรมธรรมิกราชฯ ปรากฏในจดหมายเหตุสมุดไทยดำสมัยกรุงศรีอยุธยา ในพระราชสาส์น และศุภอักษรโต้ตอบระหว่าง                    กรุงธนบุรี และกรุงศรีสัตนา-คนหุต ( ลาว ) จุลศักราช 1140
21. พ่อ เป็นคำเรียกขานพระองค์เอง
22. สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ปรากฏในหนังสือของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม
23. สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ปรากฏตามหนังสือกรมสารบรรณ คณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2497 เรื่องการเปิดพระบรมรูป            สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
24. สมเด็จพระบรมหน่อพุทธางกูร ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี
25. สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เจ้ากรุงธนบุรี ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
26. สิน ชื่อตัวว่า สิน นี้คงเป็นชื่อจริงที่พระองค์เคยใช้ หรือเป็นที่รู้จักกันในสมัยปลายอยุธยา และในรัชสมัยของพระองค์
27. หัวหน้าเผ่าชนอาณาจักรสยาม ราชสำนักชิงใช้คำนี้ก่อนที่จะรับรองฐานะกษัตริย์ไทย ตั้งแต่เดือน 4 ของปีที่ 37 แห่งรัชกาลเฉียนหลง ปรากฏคำว่า                      เจิ้งเจาแทน

1.6 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีพี่น้องหรือไม่ ?

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 8) เขียนเล่าว่า ท่านเจียนโล้ว แซ่ลิ้มและนางนกเอี้ยงมีบุตรชายคนแรกเป็นชายผิวขาว เนื้อละเอียดเหมือนท่านมารดา ผิวหน้าและรูปหน้าสวยผิดเด็กผู้ชายทั้งหลายในหมู่นั้น ท่านตั้งนามให้บุตรชายตามฤกษ์ยามว่า เจียนสิน ต่อมาท่านมีบุตรชายอีก 2 คนชื่อ เจียนซื่อ และเจียนจิ้น มีบุตรหญิง 3 คน ท่านนกเอี้ยงตั้งชื่อให้ว่า ประยงค์ ประหยัด และประยอม ( พยอม ) ทั้งสามคนนี้หน้าตาสวยผิวเนื้อละเอียด รูปร่างสมทรงเหมือนท่านมารดา

1.7  นิวาสถาน หรือบ้านเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อยู่ที่ไหน ?

บ้านเดิมของท่านอยู่ตรงหน้าบ้านเจ้าพระยาจักรี ซึ่งอยู่ใกล้กับกำแพงพระนคร ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2542 : 18) แต่วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 6-7) เขียนเล่าไว้ดังนี้ “ ณ เมืองสามโคก ( ปทุมธานี ) อันเป็นเมืองซึ่งมีแม่น้ำ และทุ่งนาอันกว้างขวางอุดมสมบูรณ์นั้น มีบ้านหลังใหญ่ปลูกอยู่ริมแม่น้ำ ท่านเจ้าของบ้านสามีเป็นลูกจีนในเมืองไทยชื่อ ท่านเจียนโล้ว แซ่ลิ้ม … ภรรยาท่านเป็นสตรีไทยชื่อนกเอี้ยง ทั้งสองสามีภรรยาเป็นผู้วิริยะพากเพียรในการสร้างตัวจากเงินทองที่ได้รับมาจากบิดามารดา ก็นำมาประกอบการค้าขายข้าวสารจนเป็นปึกแผ่นขึ้น จึงได้ขยายร้านข้าวเป็นโรงสีข้าว รับซื้อข้าวเปลือกมาสีแล้วขายข้าวสารด้วย ต่อมาก็ซื้อเรือสำหรับบรรทุกข้าวไปขายทางอยุธยาบ้าง สุพรรณบ้าง จนเป็นที่รู้จักดีในหมู่พ่อค้าและข้าราชการในเมืองนั้น และเมืองหลวงนครศรีอยุธยา ”

1.8 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีบิดาบุญธรรมจริงหรือ ?

มีเรื่องเล่าว่า “ เจ้าพระยาจักรีได้ขอมาเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งชื่อให้ว่า นายสิน ” ( เพื่อแผ่นดินไทย , ม.ป.ป. : 41) และจากหนังสือสดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 3 ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2534 : 1) ได้เขียนไว้ว่า “ พระองค์ทรงได้รับการอุปการะเป็นอย่างดีจากเจ้าพระยาสมุหนายก ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ( พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ )” สนั่น ศิลากรณ์ ( 2531 : 3-4) เขียนว่า “ ต่อมา เจ้าพระยาจักรีได้เอ่ยปากขอเด็กชายสินไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม ” และในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ได้กล่าวถึงพระองค์ไว้เมื่อครั้งปฐมวัย ตามจดหมายเหตุของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ตอนหนึ่งว่า “ …จำเดิมแต่เจ้าพระยาจักรีได้รับบุตรจีนไหฮองมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมจนเจริญ ก็ได้ลาภและทรัพย์สินสมบัติเป็นอันมาก เจ้าพระยาจักรีจึงตั้งชื่อกุมารนั้นว่า ‘ นายสิน ‘…”

ทวน บุญยนิยม (2513 : 5) ได้เขียนรายละเอียดที่ว่า เหตุใดบิดาและมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงยกพระองค์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี ดังนี้ “ ท่านขุนพัฒน์หวาดกลัวไปต่างๆ นานา ( ดูจากอภินิหาร หรือบุญญาธิการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หมายเลข 1-3) จึงปรึกษาหารือกับแม่นางนกเอี้ยง ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าจะไม่เลี้ยงกุมารนั้นไว้ ท่านขุนพัฒน์เป็นผู้ที่เชื่อถือโชคลางยิ่งนัก เพราะกุมารเกิดมานำเหตุร้ายมาด้วยถึงสองครั้ง ในระยะเวลา 3 วัน ถ้าขืนเลี้ยงไว้ต่อไป ก็คงจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นเนืองๆ ใจหนึ่งก็นึกว่ากุมารน้อยเป็นผู้มีบุญวาสนา แต่จะเลี้ยงไว้เองไม่ได้ ท่านขุนพัฒน์จึงตัดสินใจว่าจะไม่เลี้ยงกุมารน้อยนั้นไว้กับตน

กิตติศัพท์เรื่องท่านขุนพัฒน์จะไม่เลี้ยงกุมารนั้นไว้เอง ทราบถึงท่านเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายก ( เทียบเท่ากับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่าการฝ่ายหนือ คู่กับสมุหกลาโหมว่าการฝ่ายใต้ในสมัยนั้น ) ท่านเจ้าคุณเล็งเห็นว่าเหตุอัศจรรย์ทั้งสองครั้ง ( อสุนีบาตฟาดเปรี้ยงลงมาตรงเสาดั้งตรงหน้าห้อง ที่ใช้เป็นห้องคลอด แต่กุมารหาเป็นอันตรายไม่ และมีงูเหลือมขนาดใหญ่ขดอยู่รอบกระด้งด้วยความสงบ จากนั้นค่อยๆ คลายขดเลื้อยไปเอง ) นั้นเป็นนิมิตดีเป็นสิริมงคลแก่ตัวกุมารน้อย สำหรับชีวิตอนาคต ถ้าหากท่านมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่คนใดคนหนึ่งรับไปเลี้ยงดูอุปการะ ท่านเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้ที่มีจิตเมตตา รักเด็กอยู่แล้วเป็นนิสัย ครั้นได้พบว่าขุนพัฒน์จะไม่เลี้ยงดูกุมารน้อยบุตร ของตนไว้เอง ท่านเจ้าพระยาฯ จึงออกปากขอเป็นผู้อุปการะทันที ขุนพัฒน์และแม่นางนกเอี้ยงก็ยินดียกให้ ทั้งๆ ที่ใจของแม่นางไม่อยากให้บุตรสุดที่รักไปเลย แต่นั้นเป็นไปตามความประสงค์ของสามี ซึ่งกว่าจะยินยอมพร้อมใจกันก็ต้องปลอบใจแม่นางเสียนาน ทั้งท่านเจ้าพระยาฯ ก็เป็นผู้มีพระคุณเป็นที่เคารพ ทั้งบุตรชายก็จากไปอยู่ในบริเวณบ้านนั่นเอง พอจะได้เห็นหน้ากันทุกเช้าค่ำ ท่านเจ้าพระยาจักรีครั้นทั้งสองสามีภรรยายินดียอมยกให้ก็มีความยินดียิ่งนัก รับเอากุมารนั้นไว้ ยกย่องเลี้ยงดูไว้ในฐานะเป็นบุตรบุญธรรมของท่าน ”

“… ท่านเจ้าพระยาจักรีศรีสมุหนายกนั้น เมื่อได้บุตรบุญธรรมมาเลี้ยงแล้วก็มีโชคดีได้ลาภ และทรัพย์สินเงินทองไหลเทมาร่ำรวยขึ้นเป็นอันมากยิ่งๆ กว่าแต่ก่อน ด้วยเหตุที่ท่านเจ้าเจ้าพระยาฯ ได้ลาภทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้น นับแต่ได้กุมารน้อยมาเป็นบุตรบุญธรรม ท่านเจ้าพระยาจักรีจึงขนานนามกุมารน้อยว่า “ สิน ” และให้เอาไว้เปียแทนเอาไว้จุก เพื่อมิให้ขาดเชื้อสายจีนของกุมาร ท่านเจ้าพระยาฯ มีความรักใคร่เอ็นดูในกุมารน้อยสินยิ่งนัก ให้ความเลี้ยงดูฟูมฟักประดุจท่านเป็นบิดาบังเกิดเกล้า ”

ในเรื่องเกี่ยวกับพระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นมีนักเขียนบางคนตั้งข้อสงสัยว่า ท่านเป็นบุตรของนายไหฮองจริงหรือ แล้วทำไมเจ้าพระยาจักรีจึงขอมาเป็นบุตรบุญธรรม และยกย่องเชิดชูโดยไม่รังเกียจว่าเป็นลูกคนจีน ได้มีผู้สันนิษฐานแตกต่างกันไป เช่น

  • 1. ทวน บุณยนิยม (2513 : 16-17) ได้เขียนในบทวิจารณ์เพิ่มเติมตอนที่ 1 ว่า “ ได้กล่าวในตอนต้นว่า สาเหตุที่ให้มีการสมรสเกิดขึ้นระหว่างแม่นางนกเอี้ยงกับท่านขุนพัฒน์ไม่ปรากฏหลักฐานนั้น ผู้เขียนได้พบในหนังสือพงศาวดาร 2-3 เล่ม กล่าวไว้พอสรุปได้ว่า พระมหาอุปราชของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ( กุ้ง ) พระราชโอรสองค์ใหญ่นั้นทรงเป็นกวีเอก และพอพระทัยในอิสตรีแม้ในพระราชวัง จนถึงกับมีผู้ขนานพระนามว่า “ เจ้าฟ้าคลั่งรัก ” และทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ และเจ้าฟ้านิ่มผู้เป็นพระชายาของสมเด็จพระราชบิดา ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงสอบสวนรับเป็นสัตย์ จึงถูกลงพระราชอาญาถึงแก่สิ้นพระชนม์ แม่นางนกเอี้ยงอาจได้เป็น ชายาลับๆ ของพระมหาอุปราช แล้วตั้งครรภ์ก็ได้ จึงถูกส่งตัวออกมาทำการสมรส กับท่านขุนพัฒน์ นายอากรบ่อนเบี้ยผู้มั่งคั่ง ท่านขุนพัฒน์และแม่นางนกเอี้ยงก็คงทราบดีและเข้าใจกัน ท่านพระยาจักรีศรีสมุหนายกก็คงทราบความเช่นเดียวกัน ความในพงศาวดารตอนหนึ่งยังกล่าวเมื่อตอนนายสินยังเล็กๆ อยู่ว่า หากไม่ไว้เปียดูเค้าหน้าเหมือนใครคนหนึ่ง ที่มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่ท่านเจ้าพระยาก็มิได้เอ่ยให้ผู้ใดทราบ ”
  • 2. สนั่น ศิลากรณ์ ( 2531 : 104-106) ได้คัดลอกความคิดเห็นของอาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง นักโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร ที่เขียนเรื่องปมปฤษณาเกี่ยวกับกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ในเรื่อง “ ปฤษณาขุนหลวงตาก ” ในหนังสือวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 8 มิถุนายน , 2528 : 85-93 โดยกล่าวว่าท่านน่าจะเป็น โอรสลับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยให้ข้อสันนิษฐานดังนี้

    “ สังคมไทยครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในช่วงนั้น ยังเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยระบบชั้นวรรณะ คือคนไทยนั้นถือตัวมาก การที่เจ้าพระยาจักรี ( วัดโรงฆ้อง ) ผู้นั้นจะยินยอมรับลูกคนจีนเข้าไปเลี้ยงดูอุปถัมภ์ค้ำจุน ขนาดเป็นบุตรบุญธรรมให้การศึกษาอย่างเต็มที่จนมีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยม ตลอดจนชีวิตราชการ พระองค์ท่านเริ่มต้นรับราชการเพียงไม่นาน วิถีชีวิตทางราชการพุ่งขึ้นสู่ตำแหน่งเจ้าเมืองตาก เป็นพระยาตาก ( พระชนม์ 33 พรรษา ) ในเวลามิช้านัก นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งเหลือเกินว่ามิใช่เรื่องธรรมดา คนในสมัยก่อนจะต้องวิเคราะห์วิจัยกันถึงเรื่องชาติตะกูลอย่างถี่ถ้วนมาก เห็นจะยิ่งกว่าในสมัยนี้ ถ้าไม่มีเชื้อสายผู้ดีมีตระกูลแล้วจะเข้ารับราชการดำรงตำแหน่งถึงระดับ “ เจ้าพระยา ” หรือขั้นเจ้าเมืองขนาดนั้นมิได้ หากเป็นลูกคนจีนหรือแม้แต่ที่เรียกว่า “ ลูกครึ่ง ” มาแต่เดิม เข้าไปเป็นบุตรบุญธรรมอดีตเจ้าพระยาจักรี วัดโรงฆ้อง อย่างนี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้หรือไม่มีทางเลย ข้าราชการผู้สูงศักดิ์แม้จะเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม สิ่งแวดล้อมทางสังคมนั้นยังบังคับและบงการอยู่ ที่จะยอมรับบุตรบุญธรรมอย่างนั้นเป็นไปได้ยาก อย่างดีที่สุดคงจะเก็บไว้เพียงฐานะนายกับบ่าว ไม่ถึงกับเป็นทาสในเรือนเบี้ยก็นับว่าเป็นบุญโขแล้ว อย่างดีพอจะมองเห็นลู่ทางว่าอันน่าจะเป็นไปได้มากกว่า ฐานะบุตรบุญธรรม อาศัยพระราชจริยวัตรบางประการที่พบเห็นจาก จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (ดูหมายเหตุท้ายบท) จะพบว่าขุนหลวงตากทรงมีความห่วงใย และเป็นกังวลต่อพระราชวงศ์กษัตริย์ กรุงศรีอยุธยาในครั้งสุดท้ายมาก และทรงพยายามยกย่องเชื้อสายพระราชวงศ์นั้นอยู่โดยมาก ในทำนองนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่า ทรงเคารพในราชตระกูลกษัตริย์อยุธยา ซึ่งอาจบ่งให้เห็นได้ว่าในฐานะที่ พระองค์เอง ได้รับการทะนุบำรุงจากกษัตริย์อยุธยาจนกระทั่งหมดสภาพนั้น ด้วยน้ำพระทัยยึดมั่นในพระกตัญญูภาพอย่างนี้ก็คงอยู่ในฐานะอันจักพึงเป็นได้ แต่ในอีกฐานะหนึ่งนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะพระองค์เองนั่นแหละอาจนับเนื่องในสายขัตติยสกุลฝ่ายอยุธยาด้วย บางทีในแแนวทางนี้เป็นปฤษณาอันเร้นลับอย่างนี้ต่อพระชาติภูมิของพระองค์อันสภาพประหนึ่งว่า “ น้ำซึมใต้ทราย ” ทีเดียว … เพราะหากมีสายเลือดต่างชาติหรือสายเลือดอื่นอยู่ด้วยแล้วก็เรื่องอันใดเล่า ที่จะเฝ้าประคับประคองสายตระกูลกษัตริย์ดั้งเดิมของอยุธยาอยู่ และแม้แต่จะคิดกอบกู้เอกราชของชาติบ้านเมือง ในยามที่บ้านเมืองแตกเช่นนี้ มีแต่จะคิดหาทางหาความปลอดภัยให้กับตนเองเป็นที่ตั้ง การที่จะเที่ยวตรากตรำลำบากคิดเห็นความทุกข์ยากของอาณาประชาราษฎร์นั้น มิใช่วิสัยของคนที่มีเลือดต่างด้าว หรือเลือดลูกครึ่ง ในครั้งโบราณโน้นเป็นอันขาด ” …. “ ถ้าหากขุนหลวงตากมิได้มีพระชนกเป็นจีนที่ชื่อนายไหฮอง นายอากรบ่อนเบี้ยแล้ว ตะเข็บหรือหัวเงื่อนตรงที่เจ้าพระยาจักรีนอกราชการ วัดโรงฆ้องรับพระองค์ไปเลี้ยงดูในฐานะบุตรบุญธรรม ก็จะต้องมีเบื้องหลังอันเร้นลับและลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากว่าพระชนนีของพระองค์ท่านจะเป็นนางใน หรือพระสนมนางหนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมาก่อนที่จักทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ …”

“ กล่าวคือ ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังทรงเป็นพระมหาอุปราชวังหน้าอยู่ร่วมสมัยแผ่นดิน สมเด็จพระเชษฐาธิราชของพระองค์ ในตอนปลายๆ แผ่นดินได้บังเกิดทุร-ยุค ชิงราชสมบัติกันขึ้นระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ในขณะเหตุการณ์กำลังดำเนินไปหรือก่อนหน้าที่จะทรงทำการใหญ่ ก็อาจทรงพระดำริหาลู่ทางปลอดภัยให้แก่บรรดาข้าราชบริพารทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้าของพระองค์ ให้รอดพ้นราชภัยอันจะมาถึง ถ้าเกิดพลาดพลั้งแล้วก็หมดอนาคตเหมือนกัน ตลอดจนข้าทาสบริวารและเลือดเนื้อเชื้อไขจะต้องถูกกำจัดให้สิ้นไปอย่างถอนรากถอนโคนกันทีเดียว ดังนั้นเหตุการณ์อันไม่แน่นอนในเบื้องหน้า พระองค์ก็จำเป็นอยู่ดีจะต้องทรงยักย้ายถ่ายเทให้แก่พวกสนมกรมในของพระองค์ปลายๆ แถวที่ไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก ให้แยกย้ายกันไปอยู่ตามสถานที่อันปลอดภัยและยากที่ผู้ใดจะล่วงรู้ ส่วนพระโอรส พระธิดา ตลอดจนพระชายา นางห้ามที่มีพระหน่อแล้วก็เป็นที่ประจักษ์ชัด ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะหลบซ่อนหนีไปทางไหนก็ไม่มีวันพ้น ก็จำต้องเสี่ยงตายอยู่ด้วยกันอันเป็นภาวะที่จำยอมอยู่แล้ว ครั้นหมดขวากหนามแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ที่ขยับขยายข้าราชบริพารออกไปให้พ้นราชภัยในครั้งนั้น บางส่วนก็คงได้กลับเข้ามา บางส่วนหรือบางคนก็อาจจะหลงเลยไปไม่ได้กลับเข้ามาสู่ฐานะอันควรอย่างนี้ก็คงจะมีได้ หรือไม่พระองค์เองนั่นแหละ อาจจะทรงติดต่อกันอย่างลับๆ ทรงฝากฝังข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดสนิทพระทัยไว้ ทรงมอบหมายให้ดูแลและทะนุบำรุงอย่างมิให้ผู้ใดล่วงรู้หรือแพร่งพรายได้เป็นอันขาด กรณีอย่างนี้ เจ้าพระยาจักรีนอกราชการผู้นั้น จึงได้อยู่ในฐานะบิดาบุญธรรมของขุนหลวงตาก เป็นการปกป้องสายเลือดขัตติยสกุลไว้ชั้นหนึ่ง ซึ่งนับว่าพ้นภัยพิบัติที่จะเข้ามาสู่ราชตระกูลอันเต็มไปด้วยแรงริษยาอาฆาตนั้น ถ้าเรามองปฤษณาในรูปการณ์ดังกล่าวมาแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าคิดและชวนฉงนยิ่ง เพราะเราได้พบร่องรอยบางอย่างที่น่าใส่ใจซึ่งได้พยายามกล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า วิถีชีวิตการรับราชการของขุนหลวงตากดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก การที่กล่าวอย่างนี้ก็เป็นข้อที่น่าสังเกตอยู่มากทีเดียว เพราะเราได้ปีประสูติที่แน่ชัดสำหรับพระองค์ท่านว่า ประสูติในปีพุทธศักราช 2277 อันเป็นระยะที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงผ่านไอศวรรยาธิปัตย์ ครองสมบัติมาแล้ว 1 ปี เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ในปีพุทธศักราช 2301 นั้น ขุนตากทรงมีพระชนม์เพียง 24 พรรษา ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2310 ก็สิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในแผ่นดินขุนหลวงสุริยามรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งครองราชย์อยู่ได้เพียง 9 ปี เท่านั้น ในตอนที่เสียกรุงครั้งสุดท้ายหมดสมัยอยุธยานี้ ขุนหลวงตากทรงมีพระชนมายุได้ 33 พรรษา ตำแหน่งครั้งสุดท้ายในราชการของพระองค์ท่านคือ พระยาวชิรปราการหรือพระยากำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา และเป็นแหล่งประชุมทัพใหญ่ของทหารทางฝ่ายพระนครศรีอยุธยาทุกครั้งที่จะยกกองทัพขึ้นไปทางฝ่ายเหนือ เมืองกำแพงเพชรนี้มีฐานะเป็นเมืองสำคัญชั้นรองลงมาจากเมืองพิษณุโลกเท่านั้น แต่ในคราวที่ทรงเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรนั้น คงเป็นแต่เพียงเรียกตัวมารับตำแหน่ง ยังมิทันจะได้กลับไปครองเมือง ก็พอดีติดศึกพม่า ต้องอยู่ช่วยราชการในกรุงศรีอยุธยา นับว่าทรงเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนสุดท้ายก็อาจจะว่าได้ และภายหลังที่เสียพระนครกรุงศรีอยุธยาแล้วในปี พ.ศ. 2310 นั่นเอง พระองค์ก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ไม่ทันข้ามปี ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีปกครองประเทศสืบต่อมาในขณะที่ทรงพระชนมายุได้ 33 พรรษาฉะนี้ ”

  • 3. วีณา โรจนราธา (2540 : 85-86) ได้วิจารณ์เรื่องทรงเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก โดยอ้างว่า นิธิ เอียวศรีวงศ์ตีความว่า น่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาภายหลัง เพื่อให้พระองค์เป็นคนไทยทางวัฒนธรรมในสายตาคนไทยมากขึ้น เพราะเมื่อตรวจสอบหลักฐานแล้วพบว่า เจ้าพระยาจักรีคนที่พอจะเลี้ยงนายสินเป็นบุตรบุญธรรมได้นั้นเสียชีวิตเร็วมากจน ไม่น่าจะเป็นผู้อุปถัมภ์ให้เรียนหนังสือจนกระทั่งได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รวมทั้งไม่ปรากฏร่องรอยว่าเจ้าพระยาจักรีคนดังกล่าวมีตัวตนอยู่จริงในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้

    ประพัฒน์ ตรีณรงค์ เขียนไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ตอนที่ 1) ในวารสารไทย (19 (7) : กรกฎาคม-กันยายน (2542 : 18-20) ได้อ้างถึง น.ต.หยด ขจรยศ ร.น. กองประวัติศาสตร์ ผก.ทร. ซึ่งเป็นผู้เขียน “ พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ” ว่า น.ต. หยด ขจรยศได้ทำเชิงอรรถชี้แจงเรื่องเจ้าพระยาจักรี ดังนี้

    เจ้าพระยาจักรี ปรากฏตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ จ.ศ.1096 (พ.ศ.2276) ตั้งหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาจักรี แต่พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 ตอน 1 ว่า ตั้งหลวงจ่าแสนยากรเป็นเจ้าพระยาอภัยมนตรีว่าที่สมุหนายก ท่านผู้นี้ (หลวงจ่าแสนยากร) ถึงอสัญ-กรรมในปีจอ จ.ศ.1104 (พ.ศ.2285) (สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี มีพระชนมายุได้ 8 พรรษา) แล้วจึงตั้ง พระยาราชภักดี ขึ้นเป็น เจ้าพระยาราชภักดี ให้ว่าที่สมุหนายกต่อมา

    คำว่า “ เจ้าพระยาจักรี ” นี้ มีผู้รู้อธิบายว่า เป็นชื่อประจำตำแหน่งสมุหนายก ผู้ใดดำรงตำแหน่งสมุหนายกจะมีชื่อว่าอย่างใดก็ตาม เรียกกันว่า “ เจ้าพระยาจักรี ” ทั้งนั้น โดยนัยนี้จึงเป็นอันว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ต้องได้รับอุปการะจากท่านผู้เป็นสมุหนายก (อย่างน้อย 2 ท่าน) ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมีพระชนมายุไม่น้อยกว่า 24 พรรษา

พระราชประวัติในเวลาต่อมาคือ เจ้าพระยาจักรี (หลวงจ่าแสนยากรได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาอภัยมนตรีที่สมุหนายก) ได้ขอเอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และตั้งชื่อให้ว่า สิน จนเมื่อพระชนมายุได้ 5 พรรษา (บางแห่งว่า 9 พรรษา) จึงได้นำไปฝากเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยกับหนังสือขอม และเรียนพระไตรปิฎก กับพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ วัดโกษาวาส

พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่วัดโกษาวาสจนถึงพระชนมายุได้ 13 พรรษา จึงโสกัณต์ (โกนจุก) ภายหลังจากนั้น เจ้าพระยาจักรีก็นำเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งโปรดให้ทำราชการอยู่กับหลวงนายศักดิ์ บุตรเจ้าพระยาจักรี

เจ้าพระยาจักรีท่านนี้ คงเป็นเจ้าพระยาราชภักดี เพราะเจ้าพระยาจักรี (เจ้าพระยาอภัยมนตรี) ถึงอสัญกรรมแล้วเมื่อปีจอ จ.ศ.1104 (พ.ศ. 2285) ดังอ้างแล้ว

1.9 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงศึกษาเล่าเรียนอย่างไร ?

เมื่ออายุได้ประมาณ 8-9 ขวบ เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปฝากพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ( วัดคลัง หรือวัดเชิงท่า ) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีเป็นผู้สร้างวัดนี้ขณะที่รับตำแหน่งโกษาธิบดี ( การคลัง ) ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2534 : 1) ให้เป็นผู้สอนวิชาความรู้และอบรมด้านต่างๆ กุมารสินได้เรียนวิชา ภาษาไทย อ่านออกเขียนได้ อีกทั้งเรียนหนังสือ ภาษาขอม เรียนคัมภีร์ พระไตรปิฎก จนอายุได้ 13 ปี ( ทวน บุญยนิยม , 2513 : 6-7)

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 8-9) เขียนไว้ว่า “ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เป็นศิษย์พระอาจารย์สุก วัดพระยาเมือง ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์สำนัก วัดพันทาย แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ และได้บวชเรียนอยู่กับท่าน ส่วน ภาษาจีน นั้นเรียนอยู่กับท่านซินแส เมื่อจะเข้ารับราชการนั้น ท่านบิดาพาไปฝากกับขุนนางผู้ใหญ่ที่ท่านรู้จักโดยตนเองคือ พระยาราชสุภาวดี ( คนเก่า ) บ้านประตูจีน ซึ่งมีเชื้อสายจีนเหมือนกัน ” … “ ท่านเจียนสิน ( สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ) เป็นคนฉลาด เรียนรู้ทั้งภาษาไทย และภาษาจีน เป็นผู้บากบั่นและขยันในหน้าที่การงาน

ทวน บุณยนิยม (2513 : 11) เขียนไว้ดังนี้ “ นายสินตั้งแต่เข้ามารับราชการอยู่ในพระราชวังหลวงแล้ว ก็ใฝ่ใจหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอจากสำนักราชบัณฑิต ซึ่งมีทั้งไทย จีน และแขก ภาษาไทยนั้นก็ได้ศึกษาอักษรศาสตร์ วรรณคดี ศึกษาโคลง ฉันท์ กาพย์กลอนเพิ่มขึ้น ทางด้าน วิชาการทหาร ก็ได้ศึกษาตำรับพิชัยสงครามยุทธศาสตร์ และอาวุธศึกษา ฝึกการใช้อาวุธทุกชนิดที่มีใช้กันในขณะนั้นทั้งบนหลังช้าง หลังม้า และทางทหารราบ จนมีความชำนิชำนาญคล่องแคล่วยากจะหาตัวจับได้ ”

ชูสิริ จามรมาน (2527 : 83-85) เขียนสรุปไว้ใน แถลงงานประวัติศาสตร์ : เอกสารโบราณคดี ปีที่ 18 เล่ม 1 เดือนมกราคม 2527- ธันวาคม 2527 ไว้ดังนี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาอีกด้านหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าตากน่าจะทรงได้ให้ความสนใจศึกษา ตั้งแต่เยาว์วัยและเมื่อปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้วยังสนพระทัยศึกษา ทั้งด้วยพระองค์เองทั้งจากพระอาจารย์ต่างๆ ที่ทรงพบปะโดยเฉพาะพระอาจารย์สุกซึ่งเคยเป็นอุปัชฌาย์ก็คือ ศึกษาทางด้านวิปัสสนา อีกทั้งน่าจะสนพระทัย ศึกษาด้านโหราศาสตร์ อีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อระหว่างที่ทรงมีปัญหาทั้งส่วนพระองค์ทั้งส่วนบ้านเมือง พระองค์ก็มักทรงทำสมาธิและทรงเคยทำนายอนาคตของขุนนางข้าราชการ และข้าราชบริพารด้วยวิธีการคำนวณตามตำราโหราศาสตร์ ส่วนผลจากการศึกษาที่ไม่มีผู้ใดเขียนไว้ในพระราชประวัติของพระองค์ คือการศึกษาทางด้านภาษาไทยรวมทั้งการประพันธ์ หรืออีกนัยหนึ่งผลของการศึกษาทางด้านภาษาไทย แต่ยังเยาวว์วัยนั้นคงทรงได้มีความรู้แตกฉานในด้านวรรณคดีและการประพันธ์ จึงมีผลงานการประพันธ์ของพระองค์ คือบทละครรามเกียรติ์เป็นประจักษ์พยานอยู่ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงมีความรู้และใช้ ภาษาจีน ภาษาญวน เวลาทรงสนทนากับพระสงฆ์จีนและญวน เป็นภาษาทั้งสองได้เป็นอย่างดี

วีณา โรจนราธา (2540 : 87) ได้อ้างนิธิ เอียวศรีวงศ์ว่า ในการศึกษาวิเคราะห์ได้ตรวจสอบกับหลักฐานชั้นต้นเท่าที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันพบว่า ยังคลุมเครือและขาดความน่าเชื่อถืออยู่หลายแห่ง อาทิเรื่องการศึกษาก่อนเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก ที่ว่าได้ข้อมูลจากจดหมายเหตุพระอาจารย์ทองดีมหาเถระตามที่อ้างใน “ อภินิหารบรรพบุรุษ ” นั้น ค่อนข้างขาดความน่าเชื่อถือเพราะเป็นไปได้ยากมากที่พระสงฆ์ผู้นั้นจะบันทึกเรื่องราว ของเด็กคนหนึ่งซึ่งไม่มีทางทราบได้ว่า อนาคตจะได้เป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ ของพระองค์ก็พอจะทำให้น่าเชื่อถือได้ว่าทรงมีความรู้ในทางพุทธศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ตลอดจนได้รับการศึกษาอบรมแบบผู้ดีไทยพอสมควร ซึ่งอาจจะทรงได้รับการเลี้ยงดูโดยพระมารดาซึ่งเป็นคนไทย แต่การที่ทรงตรัสภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วหรือทรงนิยมแบบอย่างจีนในบางเรื่องนั้น อาจเป็นเพราะต้องทรงรับผิดชอบการทำมาหากินสืบต่อจากพระบิดา ซึ่งอาจเป็นการค้าขายตามความนิยมของชาวจีน เพราะไม่ปรากฏว่าทรงเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย ตามอย่างพระบิดา

ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับดร.สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 77) ที่ว่า “ …ได้ไปทำการค้าเกวียนที่เมืองตาก สมัยนั้นเกวียนได้บรรทุกของป่าจากเหนือมากรุงศรีอยุธยามีทั้งของป่า ปลาย่าง และปลาแช่เกลือ… ” และสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีพันจันทนุมาศ ( เจิม ) ที่บันทึกว่า พระเจ้าตากทรงเป็นพ่อค้าเกวียนก่อนที่จะมีความชอบในแผ่นดินได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ณ เมืองตาก โดยเข้ารับราชการเป็นพระยาตาก หากข้อสังเกตนี้เป็นความจริง อาชีพพ่อค้าเกวียนนี้น่าจะมีส่วนทำให้ทรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์แบบอย่างจีน และทำให้ทรงมีประสบการณ์ความสามารถบางอย่างอันเป็นประโยชน์ต่อการกอบกู้เอกราชในเวลาต่อมา เช่น ความสามารถในการสู้รบ ความชำนาญในท้องที่ตอนเหนือของพระราชอาณาจักรอยุธยา ความสามารถในการตรัสภาษาจีน ญวน ลาว รวมทั้งการรู้จักคุ้นเคยกับผู้คนในท้องถิ่นซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการกอบกู้เอกราชภายหลัง

1.10 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพระผนวชเมื่อไร ?

เมื่ออายุ 13 ปี ได้บวชเป็นสามเณรในสำนักวัดสามวิหาร (หรือสามพิหาร, ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2542 : 20 ) นอกกรุงศรีอยุธยา เพื่อรับการศึกษาเพิ่มเติม

เมื่ออายุครบอุปสมบท นายสินได้เข้าอุปสมบทในสำนักวัดโกษาวาสอันมีพระอาจารย์ทองดีเป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ได้ 3 พรรษา ก็ลาสิกขาบทออกมารับราชการตามเดิม และไม่ได้ไว้เปียต่อไปอีก ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 9, 15-16)

วัดโกษาวาส เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี ตรงข้ามกับป้อมท้ายสนม และคลองปากท่อ ทางทิศเหนือของเกาะเมืองใกล้คูไม้ร้องที่เก็บเรือพระที่นั่ง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดคอยท่า โดยมีคำเล่าว่า ลูกสาวสวยคนหนึ่งของเศรษฐีหนีไปกับชายคนรัก เศรษฐีผู้เป็นพ่อต้องรอคอยการกลับมาของลูกด้วยความรักและอาลัย จึงได้ปลูกเรือนหอเอาไว้โดยหวังว่าหากกลับมาขอขมาก็จะให้อภัยและยกเรือนหอให้ แต่รอคอยลูกอยู่หลายปี ไม่เห็นลูกกลับ จึงสร้างวัดแล้วอุทิศเรือนที่สร้างให้แก่วัด ต่อมาชื่อวัดกลายเป็น วัดตีนท่า บ้าง วัดเชิงท่า บ้าง เพราะเป็นที่รวบรวมหญ้าเพื่อนำข้ามเอาไปให้ช้างม้าในวัง แต่เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) บูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดโกษาวาส และที่ว่า “ เป็นวัดสำคัญ ” ก็เพราะเป็นสถานศึกษาทางฝ่ายสงฆ์จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ในการช่าง เช่น ช่างเขียน ช่างสลัก ช่างจารหนังสือใบลานที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดียิ่งอีกด้วย

วัดเชิงท่า

อย่างไรก็ตาม มีบางท่านกล่าวว่า วัดนี้มีชื่อว่า วัดคลัง ด้วย แต่ เฉลิม สุขเกษม ค้านว่า ไม่เคยใช้ชื่อวัดดังกล่าวและได้กล่าวถึงเหตุผลไว้ในหนังสือ “ โบราณคดี ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ” ว่า วัดคลังเป็นชื่อเดิมของวัดสมณโกศ ที่ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ เดิม วัดคลัง มีชื่อเต็มว่า วัดพระยาคลัง ซึ่งดำรงตำแหน่งนั้น โดยทั่วไปแล้วเรียกกันว่า พระยาพระคลัง หรือพระคลัง เมื่อปฏิสังขรณ์วัดจึงมีชื่ออย่างนั้น ปัจจุบันวัดโกษาวาสที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงเข้าศึกษากับพระอาจารย์ทองดีมหาเถระมีชื่อว่า วัดเชิงท่า กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดโกษาวาส เช่นเดียวกับวัดเชิงท่า จังหวัดลพบุรี ที่อยู่ริมน้ำใกล้กับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ที่พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ (ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2543 : 20 )

1.11 การรับราชการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์                                                                        ( พระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ ) เป็นอย่างไร

เมื่ออายุประมาณ 13 ปี เด็กชายสินได้เข้ารับราชการเป็น มหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกับบุตรชายเจ้าพระยาจักรี คือหลวงนายศักดิ์ ต่อมาเมื่ออายุครบบวช ( ประมาณ 21 ปี ) ก็ได้กราบถวายบังคมลาไปบวช และจำพรรษาอยู่ ณ วัดโกษาวาส และอยู่ในบรรพชิตวิสัยเป็นเวลา 3 ปี จึงลาสิกขาบทกลับมารับราชการดังเดิม ( ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 82) เมื่อท่าน ลาสิกขาบทได้กลับเข้ารับราชการ ในราชสำนักสมเด็จพระเจ้าบรมโกศดังเดิม ด้วยพระเจ้าแผ่นดินทรงเห็นว่านายสินรอบรู้ขนบธรรมเนียมต่างๆ ดี จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ มหาดเล็กรายงานข้อราชการ ทั้งหลายในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง (ที่ระลึกเปิดพระบรมราชานุ-สาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี, 2524 : 18 ) และด้วยพระมหากษัตริย์ตระหนักถึงความรู้อื่นๆ ของนายสินด้วยจึงแต่งตั้งให้เป็น ผู้กำกับศาลชำระความ ต่างๆ ในกรมวังศาลหลวงอีกด้วย

ภาพตัวอย่างตราพระราชสีห์
(ภาพจากหนังสือ 100 ปีมหาดไทย และวารสารไทย)

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความ ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพราะทรงมีความรู้ด้านกฎหมาย ทรงว่าความด้วยความเด็ดขาด ซื่อตรงยุติธรรม ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ

หมายเหตุ
จากหนังสือ100 ปี มหาดไทย (2535 : 85-92 ; http://www.moi.go.th/sign.htm , 30/8/2547) ได้กล่าวถึงตราและสีประจำกระทรวงมหาดไทย ว่า มีวิวัฒนาการมาจากตราประจำตำแหน่งราชการ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าตราประจำตำแหน่งเป็นของสำคัญมาก เพราะเอกสารต่างๆ ของทางราชการในสมัยโบราณตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ใช้ประทับตราประจำตำแหน่งเป็นสำคัญ ไม่มีการลงลายมือชื่อแต่อย่างใด สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ตรัสอธิบายว่า “ แต่ก่อนไม่ได้ใช้เซ็นชื่อใช้ตราประจำตัวหรือประจำตำแหน่งประทับแทนเซ็นชื่อ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งบรรดาคนสามัญ ซึ่งมีธุระในการหนังสือก็ทำตราขึ้นใช้ประจำตัว ”

ตราประจำตัว ประจำตำแหน่ง แต่เดิมมีประเพณีพระราชทานพระราชลัญจกรไปเป็นเกียรติ ยศ พระราชลัญจกรที่พระราชทานไปนี้ เป็นพระตราอันเคยใช้ทรงประทับหรือโปรดให้ทำขึ้นใหม่ก็ได้ เมื่อพระราชทานไปแล้วก็ไม่เรียกว่า พระราชลัญจกร จะเรียกจำเพาะแต่ที่ใช้ทรงประทับเท่านั้น ผู้ที่ได้รับตราพระราชทาน ถ้าเป็นตราประจำตัวเมื่อไม่มีตัวแล้วก็ส่งคืน ถ้าเป็นตราประจำตำแหน่ง เมื่อเลิกตำแหน่งแล้วก็ต้องส่งคืนเช่นกัน ใครจะเอาไปกดหรือใช้ต่อไปหาได้ไม่ ทั้งนี้ เปรียบเสมือนเครื่องยศอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นตำแหน่งสำคัญๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชทานด้วยพระองค์เอง

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ยังทรงให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ ความเป็นมาของตราประจำ ตำแหน่ง ไว้ด้วยว่า “ ตราพระราชสีห์เห็นจะมีก่อนอื่นหมดเพราะเดิมเสนาบดีมีตำแหน่งเดียว เป็นรองจากพระเจ้าแผ่นดินในที่ว่าราชการต่างๆ แต่การรบคงมากกว่าอย่างอื่นตามตำแหน่งที่เรียกเสนาบดี ก็หมายความว่าเป็นใหญ่ในเสนา ( คือทหาร ) เป็นการยกย่องว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญ ตามคำที่ใช้เรียกคนกล้าว่า “ นรสิงห์ ” ภายหลังราชการมากขึ้น คนเดียวบังคับไม่ไหวจึงตั้งเติมอีกตำแหน่งหนึ่ง แบ่งกันบังคับการ คนหนึ่งให้บังคับพลเรือน คือพวกที่อยู่เรือนไม่ไปสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ จะให้ใช้ตราอะไรเป็นคู่กัน ก็เลือกได้แต่ “ คชสีห์ ” แต่ที่จริงคลาดไปหน่อย คำว่า คชสีห์ เห็นจะเป็นคำยกย่องช้างตัวกล้าว่าเหมือนราชสีห์ ได้มาจากคำว่า นรสีห์ นั่นเอง ทีหลังท่านทั้งสองนี้ไม่ไหวเข้า จึงเกิดตั้งเสนาบดีขึ้นอีกสี่ตำแหน่งเรียกว่าจตุสดมภ์ สำหรับช่วยบังคับการงาน ”

อนึ่ง ตราพระราชสีห์ตามที่ปรากฏลายประทับอยู่ใน “ กฎหมายตราสามดวง ” ครั้งรัชกาลที่ 1 ไม่เหมือนกับตราพระราชสีห์ที่ใช้อยู่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงสันนิฐาน ว่า คงจะเป็นเพราะดวงเดิมใช้จนลายตราสึกตื้นขึ้นต้องแกะรุกใหม่ แต่เห็นจะรุกได้น้อยหนจนต้องทำใหม่ ( รุก คือแกะร่องระหว่างลายให้ลึกลงไป ลายจะได้เด่นขึ้น พิธีรุกตราทำอย่างเดียวกับพิธีแกะตรา คือมีฤกษ์และพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และมีสมโภชตั้งดวงตราในพิธีมณฑล เป็นทำนองเดียวกับพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ จะต่างกันที่พิธีรุกตรา ไม่มีอาลักษณ์อยู่ด้วยเท่านั้น ) ช่างผู้เขียนดวงใหม่จะไม่ได้เลียนดวงเก่าหรือบางทีจะไม่ได้เห็นดวงเก่าเลยก็เป็นได้ จึงได้มีลายไม่เหมือนกัน แต่มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ตราพระราชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และตราประจำกระทรวงมหาดไทยว่า นับแต่สมัยที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน รูปลักษณ์ของตราพระราชสีห์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็น “ มหาดไทย ” ตามที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและวัสดุ ครุภัณฑ์ต่างๆ นั้น จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่มีรูปแบบของตราพระราชสีห์ที่กำหนดไว้จำเพาะเจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน เช่น รูปพระราชสีห์บนดวงตราประทับทั้ง 7 ดวง … แต่ละดวงก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน ทั้งท่วงท่าของพระราชสีห์ ตลอดจนลวดลายที่วาดประกอบหรือแม้แต่หน้าของพระราชสีห์ ก็หันไปในทิศทางที่ต่างกัน ลวดลายพระราชสีห์ปูนปั้นที่ประดับหน้าจั่วตึกศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน ( สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ) ก็มีรูปลักษณ์ที่ต่างออกไป คือ มีลวดลายคล้ายทรงดอกบัวตูมล้อมรอบอยู่ แทนที่จะอยู่ในลวดลายทรงกลมดังเช่นในดวงตราประทับ ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการกำหนดธงเรือราชการกระทรวงมหาดไทยขึ้นใช้ ตราพระราชสีห์ที่ใช้ประดับมุมธง ก็ใช้รูปพระราชสีห์ยืนแท่น ไม่มีวงกลมล้อมรอบ ดังนี้เป็นต้น จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า นับแต่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานตราพระราชสีห์ ให้เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก และต่อมาได้กลายเป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่ว่าช่างจะสร้างสรรค์ให้พระราชสีห์มีรูปลักษณ์เพื่อความงดงามเหมาะสมกับการใช้งานแตกต่างกันไปอย่างไร ก็ถือว่าตราพระราชสีห์นั้นเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็น “ มหาดไทย ” ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะไม่มีตัวบทกฎหมายใดบัญญัติไว้ให้เป็นข้อยึดถือ อย่างไรก็ตามหากประสงค์จะหารูปแบบเพื่อเป็นจุดยืนร่วมกันแล้ว ก็น่าจะพิจารณาจากข้อเขียนของพระยาอนุมานราชธนที่กล่าวว่า “… ครั้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย … ตราประจำตำแหน่งเสนาบดีก็ไม่ปรากฏได้ใช้ประทับอีกต่อไป ( ใช้การลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ ) นอกจากใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำกระทรวง …” การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมอบหมายงานดังกล่าวให้ข้าราชบริพารที่อายุน้อยเช่นนั้น น่าจะเป็นด้วยทรงตระหนักว่านายสินได้สนใจศึกษาและ มีความรู้เป็นอันดีในด้านกฎหมายและระเบียบราชการ ทั้งนี้นายสินระหว่างที่อยู่ในบรรพชิต 3 ปีนั้นคงมิได้ศึกษาแต่ทางธรรม แต่คงได้ศึกษาหาความรู้ ( อาจจะทั้งการอ่าน การเขียนและทั้งศึกษาจากภิกษุอาวุโสที่เคยรับราชการมาก่อน)

ผลงานด้านกฎหมายของท่านเริ่มเป็นที่ประจักษ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อโปรดฯ ให้นายสินขึ้นไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อกลับมากราบบังคมทูลรายงานก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ที่เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก

สมภพ จันทรประภา กล่าวไว้ในเรื่อง “ หลวงยุกกระบัตรราชบุรี ” มีเรื่องเกี่ยวมาถึงหน้าที่ราชการของพระองค์ (ในที่นี้หมายถึงรัชกาลที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหลวงยกกระบัตรราชบุรี) ว่า เมื่อทรงเป็นมหาดเล็ก ทำความดีความชอบจนได้เลื่อนขั้นเป็นนายเวรขวาที่นายฤทธิภักดี แล้วจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นหลวงมีราชทินนามว่า หลวงยุกกระบัตร พร้อมกันนี้ได้นำคำอธิบายเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของยุกกระบัตรที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในเรื่อง “ ฉากญี่ปุ่น ” มาประกอบว่า

“ เปิดปทานุกรมดูก็พบว่า ยกกระบัตรหรือยุกกระบัตรคือ ตำแหน่งข้าราชการครั้งโบราณสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี, ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับตำแหน่งอัยการบัดนี้ ตรงกับหัวหน้าฝ่ายธุรการของศาล ตรงกับจ่าศาลในบัดนี้, เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร ซึ่งดูเล็กน้อยเต็มที ” จากหนึ่งฉากญี่ปุ่นของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ค่อยได้ความเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นเพราะท่านว่า “ ตำแหน่งยกกระบัตรของไทยมีหน้าที่สอดส่องดูแลความประพฤติ ของขุนนางตามหัวเมืองต่างๆ ว่าปฏิบัติราชการดีอยู่และยังมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีอยู่หรือไม่เพียงใด ”

แผนที่แสดงที่ตั้งจังหวัดตาก
(ภาพจากหนังสือแผนที่ประเทศไทย)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นหลวงยุกกระบัตร หรือยกกระบัตรเมืองตากได้ผลและเลื่อนทั้งตำแหน่งและบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตาก แทนพระยาตากคนเดิมซึ่งถึงแก่อนิจกรรม เมืองตากสมัยนั้น มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นด่านระหว่างไทยกับพม่าทางตอนเหนือ ผู้ได้รับตำแหน่งนี้ต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เจ้าเมืองตากและปลัดเมืองตากคนเดิมถึงแก่อนิจกรรม จึงได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเป็นเจ้าเมืองตาก ขณะนั้นมีพระชนมายุยังไม่ถึง 30 พรรษา

แผนที่แสดงที่ตั้งวัดต่างๆ ในอยุธยา
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)

มาจนกระทั่งสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2301) กรมขุนพรพินิตพระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 และมีพระนามอื่นที่เรียกขานกันโดยทั่วไปอีก เช่น ขุนหลวงหาวัด สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร เป็นต้น กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ ทรงได้รับการยกย่องสรรเสริญว่า “ ดีที่สุดแห่งพระราชวงศ์สวนพลู ” แต่ก็ทรงครองราชย์อยู่ได้เพียง 2 เดือนเศษ (บางแห่งว่า 3 เดือนเศษ) ก็จำเป็นต้องเวรราชสมบัติให้พระเชษฐา คือ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี เสด็จขึ้นครอง มิฉะนั้นอาจเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งพระองค์ไม่มีพระราชประสงค์เช่นนั้น แล้วก็เสด็จออกผนวช ณ วัดอโยชฌิยา (วัดอโยธยาหรือวัดเดิม) แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดประดู่ทรงธรรม และเมื่อกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 แต่ก็ยังมีพระนามเรียกเป็นอย่างอื่นอีก เช่น สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ กษัตริย์พระองค์นี้เป็นพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงดำรงตำแหน่งพระยาตาก (บางแห่งเรียกว่า พระยาตากสิน) อยู่ต่อมาและปกครองเมืองตากจนได้รับความนิยมยกย่องอย่างกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งมีชื่อว่า วัดข่อยเขาแก้ว แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดพระยาตากสิน ตั้งอยู่ริมน้ำปิง และห้วยแม่ท้อไหลผ่านที่ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก (ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2543 : 21 )

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก นำข้าราชการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ วัดข่อยเขาแก้ว หรือวัดดอยเขาแก้ว จังหวัดตาก (ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

วัดข่อยเขาแก้ว หรือวัดดอยเขาแก้ว หรือวัดพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ตำบลแม่ท้อห่างจากแม่น้ำปิง 250 เมตร โบราณสถานประกอบด้วย โบสถ์ซึ่งมีใบเสมาคู่วิหาร เจดีย์และมีพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ ด้านหน้ามีเจดีย์ 2 องค์ใช้บรรจุอังคารพระมารดาและพระบิดาของพระเจ้าตาก สินมหาราช                                                                (ภาพจาก http://www.thai.net/MAESOT_MET/tourist.htm )

ภาพกำแพงโบสถ์ชำรุด วัดข่อยเขาแก้ว ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก วัดข่อยเขาแก้วหรือวัดข่อยดอนแก้วนี้ ตั้งอยู่บนเนินสูงจากพื้นที่ราบประมาณ 30 วา มีพระเจดีย์หักอยู่องค์หนึ่ง เล่ากันว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้งดำรงพระยศ เป็นพระยาวชิรปราการได้อธิฐานเสี่ยงทาย ก่อนที่จะลงมาช่วยทำศึกสงครามป้องกัน ประเทศชาติ คราวพม่ารุกรานไทย แล้วขว้างยอดพระเจดีย์องค์นั้นหักตกมาอยู่ที่ลานวัดกลางสวนดอก พระเจดีย์ชำรุดยอดหัก เหลือแต่องค์ยังอยู่ที่วัดข่อยเขาแก้วบัดนี้ ห่างจากวัดข่อยเขาแก้วลงมา ประมาณ 300 เมตร ณ พื้นที่ราบเชิงเนินนั้น เป็นที่ตั้งวัดกลางสวนดอก หรือวัดเขาแก้ว มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างไว้ในที่ที่ยอดพระเจดีย์วัดข่อย เขาแก้วตกลงมานั้น ทรงได้ชัยชนะด้วยแรงอธิษฐานและเสี่ยงทายไปจากที่นี้ (ภาพและข้อความจากหนังสือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน จอมบดินทร์มหาราช)

ต่อมา (พ.ศ. 2303) ระหว่างที่รับราชการอยู่ ณ เมืองตาก ก็ได้ไปบำเพ็ญกุศล ณ วัดข่อยเขาแก้ว และวัดดอยกลาง อันเป็นวัดต่อเนื่องกันไปในเขตตำบลบ้านระแหง แขวงเมืองตาก และมีเรื่องที่กล่าวขวัญถึงจนมีผู้เขียนไว้ใน “ หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ ” โดยอ้างว่าได้นำมาจากจดหมายเหตุของเจ้าอธิการวัดข่อยเขาแก้วว่า ทรงอธิษฐานแล้วเสี่ยงบุญขว้างไม้ไปถูกเฉพาะตอนกลางถ้วยแก้วที่คอดกิ่วแตก และได้นำส่วนถ้วยแก้วที่ไม่แตกไปทำพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อเป็นเจ้าเมืองตากได้ทรงปรับปรุงเมืองตากจนเจริญรุ่งเรือง ( ในสมัยนั้นเมืองตากเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางภาคกลางของไทย )

ในปี พ.ศ. 2307 พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ทรงแต่งตั้งพระยาตากสินเป็นพระยาวชิรปราการ (บางฉบับเรียกว่า พระยาวิเชียรปราการ ) เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอกในสมัยนั้น จึงต้องเข้ามารับสัญญาบัตร ที่กรุงศรีอยุธยา แล้วยังมิได้กลับไปเมืองกำแพงเพชร พอดีพม่ายกทัพมารุกรานพระราชอาณาจักรไทย และเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองใหม่จึงต้องยับยั้งการเดินทางเพื่ออยู่ช่วยราชการสงครามที่อยุธยา มีผลให้ชื่อเสียงความเป็นนักรบมีฝีมือเลื่องลือไป (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถาน ในพระราช วังเดิม , 2543 : 16) ครั้นทัพหน้าพม่ารุกเข้ามาถึงกรุง พระยาวชิรปราการก็ต้องคุมพลรบพุ่งต้านทานรบรับทัพพม่า พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยานั้นไว้เป็นเวลาเกือบ 3 ปีเศษ

หมายเหตุ :
จดหมายเหตุความทรงจำ เป็นพงศาวดารไทย ที่มีผู้จดเหตุการณ์ย่อๆ นับแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 เรื่อยมา หอพระสมุดวชิรญาณได้เอกสารนี้มาจากวังหน้าเมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชวินิจฉัยว่าจดหมายเหตุนี้แปลกประหลาดกว่าหนังสืออื่นด้วยโวหารและ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ; http://www.tungsong.com/Modify-Lifetsgcity/LifeTsgCity/DigitalLibrary/Importantdays/SDay/Data/Taksinday.html )

ท่วงทีถ้อยคำเป็นสำนวนผู้หญิง เรื่องราวแสดงว่ารู้กิจการภายในใกล้ชิดมาก ทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นเจ้านายในพระราชวงศ์เป็นผู้แต่ง ทรงเชื่อว่า กรมหลวงนรินทรเทวี พระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้บันทึก … เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ได้จดหมายเหตุความเดียวกันนี้มาอีกเล่มหนึ่ง ข้อความติดต่อกันและมาสิ้นสุดลงในรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2381 อันกรมหลวงนรินทรเทวีนั้นสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2370 ฉะนั้นจดหมายเหตุจึงมีข้อความเกินพระชนมายุของกรมหลวง นรินทรเทวีถึง 11 ปี

หอสมุดฯ จึงแน่ใจว่ากรมหลวงฯ ไม่ใช่เป็นผู้แต่งจดหมายเหตุนี้ แต่จะเป็นใคร ผู้แต่งไม่ทราบ ในการพิมพ์ครั้งหลังๆ นี้หอสมุดฯ จึงขนานนามว่า “ จดหมายเหตุความทรงจำ ” เฉยๆ (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 153-154)