สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 17 พระราชอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสรุปเหตุการณ์สำคัญสมัยกรุงธนบุรี
17.1 พระราชอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นอย่างไร ?
ตั้งแต่เยาว์วัยมา พระองค์มิใช่เด็กเรียบร้อยนัก กล่าวคือ ทรงมีนิสัยซุกซน และชักนำให้เด็กอื่นประพฤติตาม เช่นการนำการเล่นการพนันเข้าไปในวัดจนถูกพระอาจารย์ลงโทษ และถ้ารวบรวมประพฤติเหตุต่างๆ ในวัยเยาว์ของพระองค์ เราจะเห็นได้ว่าท่านทรงมีพระราชอุปนิสัยเป็น ผู้นำ มาแต่ทรงพระเยาว์
ต่อมาเมื่อเข้ารับราชการในระยะแรกพระองค์ก็มิใช่ข้าราชการที่เพียงแต่รับคำสั่งเท่านั้น แต่ได้ใช้วิชาความรู้ที่ทรงเรียนรู้มาให้เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านกฎหมาย ระเบียบราชการ และการที่พระมหากษัตริย์ทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงไว้วางพระราชหฤทัย ให้ปฎิบัติราชการเกี่ยวกับเรื่องคดีความที่ฟ้องร้องกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีนิสัยรักความยุติธรรม ทั้งนี้เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระนิสัยนี้ก็ยังเป็นที่ประจักษ์ยกเว้นแต่เวลาที่ทรงกริ้ว
นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา (2544 : 12-13 ) ได้เขียนสดุดีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า ทรงประกอบไปด้วยความยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเสด็จไปปราบเจ้านครศรีธรรมราช พ.ศ.2312 มีการต่อสู้กัน ในที่สุดก็จับตัวเจ้านครได้ ลูกขุนปรึกษาว่าโทษของเจ้านครฯ ถึงสิ้นชีวิตแต่ไม่ทรงเห็นชอบด้วย ดำรัสว่าในเวลาบ้านแตกเมืองเสีย ต่างคนต่างตั้งตัวหมายจะเป็นใหญ่ด้วยกัน เจ้านครยังไม่เคยเป็นข้ามาแต่ก่อน ที่รบพุ่งต่อสู้จะเอาเป็นความผิดไม่ได้ ครั้นจับตัวมาได้ เจ้านครก็อ่อนน้อมยอมตัวเป็นข้าโดยดี ควรเอาตัวไปไว้รับราชการที่ในกรุง
ทรงมีไหวพริบอันดี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากฯ รวบรวมพรรคพวกหนีออกไปจากกรุงศรีอยุธยาก็เป็นที่แจ้งชัดอยู่ กล่าวคือทรงเลือกทางหนีทีไล่ที่พม่าไม่สามารถต้านทานได้ทั้งนี้เพราะพม่ามีกำลังไม่มาก (ถึงจะมากกว่าท่าน) ทั้งเพราะไม่เจนภูมิประเทศ อีกทั้งพระองค์ทรงเลือกเดินทางอย่างเลี้ยวไปเลี้ยวมามิใช่เพื่อหลอกล่อพม่า แต่เพื่อให้พม่ายิ่งงงงวยต่อการติดตามมากขึ้น คือเมื่อออกจากกรุงศรีอยุธยาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ (บางท่านกล่าวว่าด้านตะวันออก) ก็ไปตามคลองบ้าง ท้องนาบ้าง จนพ้นเขตพระนครศรีอยุธยาไปถึงนครนายกและปราจีนบุรีตามลำดับ โดยต้องปะทะกับพม่าไม่กี่ครั้ง คือในเขตต่อระหว่างอยุธยากับนครนายกและที่ใกล้เมืองปราจีนบุรี แล้วก็ข้ามแม่น้ำปราจีนหาทางออกทะเลด้านตะวันออก คือไปทางแปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) ต่อไปเมืองชลบุรีซึ่งทรงทราบแล้วว่าพม่ามิได้รบกวนไปถึง อีกทั้งข้าวปลาอาหารยังอุดมสมบูรณ์ แผนการณ์ในระยะนั้น ก็เพื่อไปชักชวนและรวบรวมกำลังกลับมารบขับไล่พม่าไปจากกรุงศรีอยุธยานั่นเอง แต่ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ต้องรบและฆ่าฟันคนไทยด้วยกันก่อนที่จะรวบรวมกำลังได้ตามแผน
ความสามารถในเชิงยุทธศิลป์ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็แสดงออกจากวิธีการเข้าโจมตีเมืองจันทบุรี คือพระองค์มิได้ใช้กำลังคนมากแต่ใช้การให้ทำเสียงดังๆ หลอกฝ่ายตรงข้าม จนตกใจคิดว่าถูกโจมตีด้วยกำลังทหารมากกว่าความเป็นจริง จึงยอมแพ้แต่โดยดี
พระปรีชาสามารถ ฉลาด เฉียบแหลม บาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้เขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินไว้ว่า “พระยาตากคนนี้เป็นคนที่ฉลาดไหวพริบมาก ได้ไปตั้งอยู่ที่บางกอกและได้ซ่อมแซมป้อมซึ่งพวกฝรั่งเศสได้สร้างขึ้นไว้เมื่อครั้งแผ่นดินหลุยส์ที่ 14 และซึ่งพวกพม่าทำลายลงเมื่อได้ตีกรุงแตกแล้ว ” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ กับครั้งกรุงธนบุรีแลครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น)
เมื่อทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแล้ว ให้เที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนที่แตกฉานซุกซ่อนอยู่ตามป่าตามที่ห่างไกลให้กลับมาอยู่ในบ้านเมือง แต่พอคนมารวมกันมากเข้าก็เกิดอัตคัตเสบียงอาหารพากันอดอยาก ด้วยบ้านเมืองมิได้ทำไร่นามาถึง 2 ปี แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ ด้วยการทุ่มจ่ายพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารที่พ่อค้าต่างเมืองเอามาขาย แม้เรียกราคาถังละ 4-5 บาท ก็ยอมซื้อเอามาแจกจ่ายชาวพระนครที่อดอยาก เมื่อชาวเมืองต่างถิ่นรู้ว่าขายข้าวที่เมืองธนบุรีได้ราคาดี ก็บรรทุกข้าวมาขายมากขึ้น จนในที่สุดราคาต้องลดต่ำลงเพราะเกินความต้องการของผู้ซื้อ และราษฎรที่แตกฉานหลบซ่อนตัวอยู่ เมื่อทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทำนุบำรุงราษฎร โดยเมตตาอารี ต่างก็พากันกลับเข้ามาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม เป็นเหตุให้ทรงมีไพร่บ้านพลเมืองเป็นกำลังเพิ่มขึ้นอีก
พระนิสัยที่เห็นเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ ความกล้าหาญ ซึ่งก็แสดงออกมาแต่เยาว์วัยเรื่อยตลอดมาจนเข้ารับราชการ เรื่องราวที่ชี้ชัดก็คือ การที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงตระหนักในความกล้าหาญและฝีมือในการรบทัพจับศึก จึงทรงสั่งให้มาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อพระเจ้าตากทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาไม่มีความพร้อมเพรียงในด้านทหาร อย่างสิ้นเชิงและพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ทรงมีความสามารถใดๆ ทั้งสิ้น จึงทรงพาพรรคพวกตีฝ่าออกไปมิได้อยู่ต้านพม่าในกรุงศรีอยุธยาตอนใกล้จะเสียกรุง ซึ่งก็ไม่มีทางสู้พม่าได้อยู่แล้ว
“ …พระองค์ทรงทนทานต่อความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาเฉียบแหลม มีพระนิสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว ถ้าจะว่าไปก็ทรงเป็นทหารอันกล้าหาญผู้หนึ่ง ตั้งแต่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้เสด็จยกทัพไปปราบปรามเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองไทรบุรี ซึ่งทั้ง สองเมืองก็ยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปตีเมืองคันเคาและเมืองป่าสักมาได้ และทางฝ่ายเขมรนั้นก็ไม่มีใครคิดต่อสู้พระองค์ … ”
โปรดควบคุมกองทัพเองอย่างใกล้ชิด “ …เป็นธรรมเนียมของพระยาตากอย่างหนึ่งซึ่งต้องคุมกองทัพไปด้วยตนเองเสมอ ครั้นไปถึงเมืองคันเคาก็ได้มีชัยชนะ ผู้ใดทำผิดพระยาตากก็ลงโทษเสียสิ้น… ” (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส)
ทรงกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
1. เมื่อตอนแรกที่เสด็จยกกองกำลังอันมีจำนวนพลเพียง 500 แหวกวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ใหม่ๆ นั้น เมื่อเสด็จไปถึงบ้านพรานนก ก็ได้เกิดปะทะกันกับกองทัพพม่า ในขณะที่ปล่อยทหารให้เที่ยวออกลาดตระเวณ หาเสบียงอาหาร ทหารไม่ทันรู้ตัวจึงพากันแตกตื่นไม่เป็นกระบวน พระองค์ได้ตัดสินพระทัยแก้ไขเหตุการณ์ เฉพาะหน้าอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว โดยเสด็จขึ้นม้าออกนำหน้า พาทหารเอกคู่พระทัยอีก 4 ม้า เข้ารบรับทัพพม่า ในทันที แล้วทรงมีบัญชาให้ทหารรีบรวบรวมกำลังกันเข้า ตั้งเป็นปีกกาออกรบแซงทั้งสองข้าง เข้าตีกระหนาบทัพพม่า ยังผลให้ทัพพม่าปราชัยล่าถอยกลับไปหมดสิ้น
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65 บันทึกเรื่องราวในตอนนี้ไว้ดังนี้
“ … จึงหยุดประทับแรมอยู่บ้านพรานนก ฝ่ายทแกล้วทหารออกไปลาดเลี้ยวเที่ยวหาอาหาร จึงพบกองทัพพม่ายกมาแต่บางคาง พม่าไล่ติดตามมาถึงที่ประทับ จึงเสด็จขึ้นมากับทหารม้า 4 ม้าแกมารบกับพม่าก่อน กองทัพทั้งปวงจึงตั้งปืนปีกกาออกรบแซงล่อ ข้างกองทัพพม่า 30 ม้าแตกล่นไป ถึงพลเดินเท้า 2,000 ก็กระจายไป ฝ่ายทแกล้วทหารเห็นกำลังบุญฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ดังนี้ ก็ยกย่องว่าเป็นจอมกษัตริย์สมมุติวงศ์ …”
2. ตอนตีเมืองจันทบุรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310
“ … จึงเสด็จทรงช้างพระที่นั่งพังคิรีกุญชรฉัททันต์เข้าทลายประตูใหญ่ เหล่าทหารซึ่ง รักษาประตูและป้อมเชิงเทินนั้น ก็ยิงปืนใหญ่น้อยดุจดังห่าฝน แลจะได้ถูกต้องโยธาผู้หนึ่งผู้ใดหาไม่ กระสุนปืนลอดท้องช้างพระที่นั่งไป ควาญช้างจึงเกี่ยวไว้ให้พังคีรีกุญชรถอยออกมา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระโกรธ เงื้อพระแสงจะลงพระราชอาญา นายควาญช้างขอพระราชทานโทษได้ จึงทรงพระแสงกฤชแทงพังคีรีกุญชรขับเข้าทลายประตูพังลง ทหารหน้าช้างลอดเข้าไปได้ … ”
( ประชุมพงศาวดารที่ 65) แปลว่า มิได้ทรงหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อกระสุนปืนใหญ่น้อย ที่ระดมยิงออกมาเป็นห่าฝน เข้าใส่พระองค์… ”
3. เมื่อคราวที่เสด็จกรีธาทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกในปี 2313 ทรงเห็นว่าครั้งนั้นจะ ยังไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ ก็โปรดให้กองทัพถอยกลับมาก่อน
“ ครั้งนั้นโปมะยุง่วน (เจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น) เห็นไทยถอยทัพ ได้ทีก็ให้กองทัพออกติดตามตี พวกพม่าก้าวสกัดยิงกองทัพหลังระส่ำระสาย ตื่นแตกมาจนถึงกองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นกองทัพหลังเสียทีข้าศึกก็เสด็จลงไปคุมกองหลัง ทรงพระแสงดาบเข้าสู้รบข้าศึกเอง เข้ารุกรบข้าศึกถึงตะลุมบอน ข้าศึกต้านไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป แต่นั้นกองทัพกรุงธนฯ ก็กลับมาได้โดยสะดวก… ” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 6 เรื่องไทยรบพม่า)
นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา (2544 : 12-13) ได้สดุดีสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า “ ทรงมี ความเด็ดขาดและกล้าได้กล้าเสีย ดังเช่นกรณีให้ทหารทุบหม้อข้าวให้แตกสิ้นก่อนตีเมืองจันทบุรี โดยทรงกำหนดว่าถ้าตีเมืองไม่ได้ให้อดข้าวตายกันทั้งกองทัพ การตัดสินพระทัยเช่นนี้จึงทำให้ทหารเกิดความรู้สึกสู้ตาย และในการรบชิงเมืองเชียงใหม่ครั้งที่สอง ณ วันจันทร์ เดือน 3 แรม 4 ค่ำ ทรงทราบว่ามีกองทัพข้าศึกยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ และเลยเข้ามาถึงบางแก้วเขตเมืองราชบุรี จึงเสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักแพหน้าพระราชวังกรุงธนบุรี ให้ตำรวจลงเรือไปคอยส่งกองทัพกรุงธนบุรีที่ยกกลับมาจากเมืองเชียงใหม่ ให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดแวะบ้านเมืองเป็นอันขาด เรือกองทัพที่มาถึงได้ทราบกระแสรับสั่งก็แล่นเลยมาหน้าตำหนักแพ ถวายบังคมลาแล้วเลี้ยวเข้าคลองบางกอกใหญ่ไปทุกลำ แต่มีพระเทพโยธาแวะเข้าที่บ้าน ทรงทราบก็ทรงพระพิโรธตรัสให้เอาตัวพระเทพโยธามามัดเข้ากับเสาตำหนักแพ แล้วทรงพระแสงดาบตัดศีรษะพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ แล้วให้เอาศีรษะไปเสียบประจานไว้ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ”
“ …ถ้าในระหว่างที่กำลังรบกันอยู่ สมเด็จพระเจ้าตากทรงเห็นนายทัพนายกองคนใดถอยหลังก็จะเสด็จเข้าหานายทัพนายกองคนนั้นรับสั่งว่า “ เองกลัวดาบข้าศึก แต่เองไม่กลัวคมดาบของข้าดอกหรือ ” แล้วก็ทรงเงื้อพระแสงดาบฟันศีรษะฆ่านายทัพนายกองคนนั้นทันที… ” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 จดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส)
พระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงเป็นที่ครั่นคร้ามเกรงขามของนานาประเทศแถบนี้ในครั้งนั้นโดยทั่วไป ดังที่จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสฯ มีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ ในระหว่างที่พระยาตากเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหม่ของกรุงสยาม ได้ทรงทำให้บ้านเมืองใกล้เคียงสะทกสะท้าน กลัวเดชานุภาพไปหมด… ”
ทรงลงโทษเด็ดขาดแก่ผู้รังแกราษฎรในเมืองขึ้นที่ตีได้ เมื่อคราวที่กองทัพไทยไปตีเมืองพุทไธมาศ (ซึ่งอยู่ริมทะเล ระหว่างชายแดนเขมร-ญวน) ได้ในปี พ.ศ.2314 นั้น ได้โปรดให้ออกหมายประกาศให้บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งไทย และจีนทั้งปวงห้ามข่มเหงรังแกราษฎรในเมืองนั้น ดังมีรายละเอียดปรากฏอยู่ในจดหมายรายวันทัพครั้งนั้น ดังนี้ “…ให้มีกฎหมายประกาศแก่นายทัพนายกองไทยจีนทั้งปวง ซึ่งจีนแลญวนไพร่พลเมืองจะเดิน ไปมาค้าขายตามถนนหนทาง อย่าให้จับกุมโบยตีฆ่าฟันเป็นอันขาด ให้ตั้งเกลี้ยกล่อม ทำมาหากินตามภูมิลำเนาแต่ก่อน ถ้าผู้ใดมิฟังบังอาจละเมิดพระราชกำหนด จะลงพระราชอาญาผู้นั้นถึงแก่ชีวิต… ”
ต่อมาได้มีผู้ละเมิดไปวิวาทรังแกคนจีนในเมืองนั้น ต้องถูกลงพระราชอาญาถึงประหารชีวิต จดหมายรายวันทัพจดไว้ ดังนี้ “ อนึ่งทนายเลือก 2 คนเสพสุราแล้วไปวิวาทกับจีน เอาดาบฟันเอาจีนเจ็บป่วย จึงถามได้เนื้อความถ่องแท้แล้ว ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 2 หวายแล้วให้ตัดศีรษะเสีย ”
พระราชอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อีกประการหนึ่งที่ปรากฏอยู่เสมอก็คือ ความเอื้ออาทรต่อญาติมิตร ตลอดจนทหารและข้าราชการโดยทั่วๆ ไป แม้จนกระทั่ง ต่ออาณาประชาราษฎร์ สำหรับญาติมิตรตลอดจนนายทหารและข้าราชการที่ใกล้ชิดเมื่อได้ประกอบความดีความชอบ พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งยศถาบรรดาศักดิ์เป็นที่เชิดหน้าชูตา ได้พระราชทานบำเหน็จรางวัลอย่างไม่เสียดาย แม้จนกระทั่งทรงยกเจ้าจอมอย่างน้อยก็ 2 คน พระราชทานแด่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชและเจ้าพระยานครราชสีมา
ในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช ตอนหนึ่งกล่าวว่าครั้งหนึ่งพระเจ้าราชาธิราชได้พระราชทานนางอุตะละ พระสนมคนโปรดให้แก่สมิงนครอินทร์ทหารเอก ตามที่เจ้าตัวแสดงความปรารถนา แต่แล้วสมิงนครอินทร์ก็ได้ถวายกลับคืนไป ด้วยเป็นการลองพระทัยมากกว่า จึงนับว่ามิได้พระราชทานจริง แต่สำหรับเรื่องราวในพงศาวดารไทยสมัยกรุงธนบุรีแล้ว ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานพระสนม แก่นายทหารคนสำคัญไปถึง 2 คน โดยที่มิได้มีการถวายกลับคืนมาเหมือนดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราชเลย
รายที่ 1 พระราชทาน เจ้าหญิงปราง (หนูเล็ก) ให้แก่เจ้าพัฒน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยกรุงธนบุรีตอนนั้น มีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “ พระเจ้าขัตติยราชนิคม ” หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ พระเจ้านครศรีธรรมราช ” หรือที่รู้จักกันดีในนามว่า “เจ้านคร” ผู้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า ภายหลังกรุงแตกในปี 2310 นั่นเอง)
เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งนั้น (ปีพ.ศ.2317) เจ้าพัฒน์ไปราชการที่สงครามแล้ว เจ้าหญิงนวล ชายา ซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ข้างหลังได้สิ้นชีวิตลง เจ้าพัฒน์มีความเศร้าโศกมาก ครั้นเสร็จราชการสงคราม เจ้าพัฒน์ผู้มีความชอบก็ได้มาเข้าเฝ้า
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงมีพระราชดำรัสปลอบว่า “ อย่าเสียใจเลย จะให้น้องสาวไปแทนตัวจะได้เลี้ยงลูก ” (การที่มีรับสั่งว่า “ จะให้น้องสาวไปแทนตัว จะได้เลี้ยงลูก ” นั้น ก็เนื่องด้วยเจ้าจอมปรางมิใช่ใครอื่น เป็นธิดาของพระเจ้านครศรีธรรมราชเช่นกัน และเป็นน้องสาวแท้ๆ ของเจ้าหญิงนวล ชายาของเจ้าพัฒน์ที่วายชนม์ไปแล้วนั่นเอง) ตรัสเสร็จก็เสด็จขึ้น แล้วก็มีพระราชดำรัสให้ท้าวนางส่งตัวเจ้าจอมปราง (หรือ “ หนูเล็ก ” ) ไปพระราชทานแก่เจ้าพัฒน์ แต่ท้าวนางได้กราบทูลกระซิบให้ทรงทราบความสำคัญว่า ขณะนั้นเจ้าจอมปรางขาดระดูมา 2 เดือนแล้ว แปลว่าเจ้าจอมปรางค์กำลังตั้งครรภ์ แต่ได้มีพระราชดำรัสตอบไปว่า “ ได้ลั่นวาจาเสียแล้ว ให้ให้ไปเถิด ”
ดังนั้น ท้าวนางจึงได้ส่งเจ้าจอมปรางพระราชทานให้ไปเป็นชายาแก่เจ้าพัฒน์ ตามพระบรมราชโองการ แต่เจ้าพัฒน์ในครั้งนั้น เมื่อรับตัวเจ้าจอมปรางไปแล้ว ก็มิได้ถือเอาเป็นชายา ด้วยเหตุผลที่เคารพ ในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งไว้ในฐานะเป็น “ แม่วัง ” ส่วนครรภ์ที่ติดเจ้าจอมปรางค์ ไปนั้น ต่อมาก็คลอดออกมาเป็นชาย มีนามว่า “ เจ้าน้อย ” หรือ “ ท่านน้อย ” ก็คือ เจ้าพระยานคร (น้อย) รัฐบุรุษสำคัญท่านหนึ่ง ซึ่งมีความเข้มแข็งในราชการมาก ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั่นเอง
เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้นี้ เป็นต้นสกุล ณ นคร ซึ่งเป็นเชื้อสายโดยตรงสายหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
รายที่ 2 พระราชทาน เจ้าหญิงยวน หรือจวน ให้แก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) เรื่องเกิดขึ้นทำนองเดียวกับเจ้าพัฒน์กล่าวคือ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้ไปราชการสงคราม คราวตีเวียงจันทน์ในปี 2321-2322 ซึ่งยังผลให้ได้ พระแก้วมรกต กลับคืนมาเป็นของไทยเราตามเดิมนั้น เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ปฏิบัติการรบองอาจกล้าหาญเป็นผลดีแก่ราชการเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอย่างยิ่ง
แต่ในระหว่างที่ปฏิบัติการรบอยู่ที่เวียงจันทน์นั้นเอง ท่านผู้หญิงนครราชสีมาก็ได้ถึงอนิจกรรมลง ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้โปรดพระราชทานเจ้าหญิงยวน หรือจวน ซึ่งเป็นธิดาอีกองค์หนึ่งของพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้ไปเป็นภริยา เป็นบำเหน็จความชอบแก่เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ในราชการสงครามคราวนั้น
เรื่องก็เช่นเดียวกันกับกรณีเจ้าพัฒน์อีก กล่าวคือ เจ้าหญิงยวน หรือจวนนั้นได้รับราชการฝ่ายในเป็นบาทบริจาริกามาจนมีครรภ์อ่อนๆ แล้ว และเมื่อเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) รับพระราชทานไป ก็เอาไปเป็นแม่เมือง มิได้ถือเอาเป็นภริยา ด้วยความคารวะในองค์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครรภ์ที่ติดเจ้าหญิงยวนไปนั้น ต่อมาก็ได้คลอดออกมาเป็นเจ้าชาย ราวปี พ.ศ.2323 เมื่อเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) มีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล ก็โปรดพระราชทานเครื่องอิสริยยศอย่างพระองค์เจ้า และพระราชทานนามไปว่า “ ทองอินทร์ ” เมื่อเจริญวัยเติบใหญ่ขึ้นมา ก็ได้รับราชการอยู่ ณ เมืองนครราชสีมาจนกระทั่งได้เป็น เจ้าพระยากำแหงสงคราม รามภักดี อภัยพิริยะ ปรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ เจ้าพระยานครราชสีมา ” ในสมัยรัชกาลที่ 3
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) ผู้นี้ เป็นแม่ทัพคนสำคัญ ที่เข้มแข็งในราชการสงครามเป็นอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 อีกท่านหนึ่ง ได้มีบทบาทในราชการทัพคราวปราบกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์และสงครามเขมร-ญวน เคียงบ่าเคียงไหล่กับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) มาโดยตลอด
เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์) เป็นต้นสกุล “ ณ ราชสีมา ” ซึ่งมีสาขาร่วมหลายสกุลด้วยกัน อันได้แก่ อินทโสฬส มหาณรงค์ อินทรกำแหง นิลนานนท์ เนียมสุริยะ ชูกฤส อินทนุชิต คชวงศ์ ศิริพร และเชิญธงไชย
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ ทรงปกครอง ไพร่ฟ้าบ่าวไพร่ พลเรือน และทหาร ด้วยทศพิธราชธรรม ดียิ่ง มากกว่าทรงเป็นเจ้านาย ดังข้อความพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า สนิทชิดเชื้อ เหมือนกับพ่อ เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงรับสั่งเมื่อประทับอยู่ที่ค่ายเขาพระ ขณะนั้นกำลังล้อมพม่าบ้านบางนางแก้ว ทรงกำหนดพระราชอาญาไว้ว่า ผู้ยิงปืนไม่พร้อมกันให้ยิงพร้อมกันทีละสามสิบ สี่สิบนัดตามรับสั่ง ทรงตรัสแก่ข้าราชการนายทัพนายกองว่า “ ข้าราชการทั้งปวงพ่อใช้ให้ไปทำศึกบ้านเมืองใดพ่อมิได้สกดหลังไปด้วยก็มิสำเร็จราชการ ครั้นพ่อไปราชการสงครามเชียงใหม่ ให้ลูกทำราชการข้างหลังและพ่ายแพ้แก่พม่าให้ขายพระบาทพ่อ อันทำศึกครั้งนี้พ่อจะชิงชังแก่ลูกผู้ใดหามิได้ รักใคร่เสมอกัน เป็นกษัตราธิราชเจ้าแผ่นดิน ถ้าผู้ใดมีความชอบมิได้ปูนบำเหน็จ ผู้ใดกระทำผิดมิได้เอาโทษ ทำเช่นนี้ก็ไม่ควรแก่ราชการแผ่นดินหามิได้ ประเวณีกษัตราธิราช ผู้มีความชอบปูนบำเหน็จรางวัล ให้รั้งเมืองครองเมือง ตามฐานานุกรมลำดับ โทษผิดควรจะตีก็ตี ควรฆ่าก็ฆ่าเสีย จึงชอบด้วยราชาแผ่นดิน จึงจะทำสงครามกับพม่าได้ พ่ออุตส่าห์ทรมานเที่ยวทำสงครามมานี้ ใช่จะจงพระทัยปรารถนาหาความสุขแต่พระองค์เดียวก็หามิได้ อุตส่าห์สู้ลำบากการครั้งนี้ เพื่อทำนุบำรุงศาสนาสมณะชีพราหมณ์ประชาราษฎร ให้เป็นสุขทั่วขอบขัณฑ์เสมอ เพื่อมิให้คนอาสัตย์อาธรรม์ และครั้งนี้ลูกทั้งหลายทำการแพ้แก่พม่า ครั้นจะเอาโทษก็เสียดายนัก ด้วยได้เลี้ยงดูมาเป็นใหญ่โต แล้วผิดครั้งนี้จะยกไว้ให้ทำราชการแก้ตัวครั้งหนึ่งก่อน ครั้งต่อไปถ้ารบพม่าแล้วชนะจึงจะพ้นโทษ ทั้งนายและไพร่เร่งคิดจงดีเถิด อันพ่อจะละกำหนดบทอัยการศึกเสียมิได้ ก็ให้เร่งคิดอ่านทำการแก้ตัวไปให้รอดชีวิตเถิด ”
อีกครั้งเมื่อพระยาตากสินนำไพร่พลตีเมืองชลบุรี ผ่านบางละมุงขณะนั้นนายบุญเรืองมหาดเล็ก เป็นผู้รั้งเมืองบางละมุง คุมไพร่ 20 คน ถือหนังสือมาจะลงเอาไปให้พระยาจันทบุรี เดินผ่านในแขวงเมืองระยอง พวกทหารพระยาตากสิน จับตัวได้ ซักได้ความว่า เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น มีหนังสือมาบอกให้พระยาจันทบุรีเข้าไปอ่อนน้อมเสียโดยดี
นายทัพนายกองทูลพระยาตากสินว่า ผู้รั้งเมืองบางละมุงเป็นพวกพม่า ขอให้ประหารชีวิตเสีย พระยาตากสินไม่เห็นชอบด้วยว่า “ ผู้รั้งเมืองบางละมุงตกอยู่ในอำนาจพม่า ก็ต้องยอมให้ใช้มาโดยจำเป็น จะว่าเอาใจไปเผื่อแผ่ข้าศึกหาควรไม่ อีกประการหนึ่ง ผู้รั้งเมืองบางละมุงก็ยังมิได้เป็นข้าของเรา จะว่าทำความผิดต่อเราก็ยังไม่ได้ ที่พม่ามีหนังสือมาบังคับพระยาจันทบุรีอย่างนี้ก็ดี พระยาจันทบุรีจะได้เลือกเอาอย่างหนึ่งว่า จะไปเข้ากับพม่าหรือเข้ากับไทย ” พระองค์ทรงปกครองไพร่ราษฎร ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงพระราชดำริพิจารณาถึงเหตุถึงผลด้วยความเป็นธรรมเสมอเป็นพ่อปกครองลูก หาพระทัยลำเอียงมิได้ ( http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)
คราวหนึ่งในการเสด็จกรีธาทัพไปตีเมืองพุทไธมาศ เมื่อปี พ.ศ.2314 นั้น เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพผู้ใหญ่รายงานกราบบังคมทูลว่า จมื่นไวยวรนาถปฏิบัติการย่อหย่อนในการสงคราม ถูกลงพระราชอาญาจับตัวจำไว้แล้วนั้น แม่ทัพปรึกษากันว่าโทษถึงตาย จะเอาไว้มิได้ จะเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป จึงได้มีรับสั่งให้ตัดศีรษะเสีย แล้วโปรดตั้งนายเดชมหาดเล็ก เป็นจมื่นไวยวรนาถแทน
แต่แล้วในตอนบ่าย 3 โมงวันนั้นเอง แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่น้อย 22 คน ก็ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้โอกาสได้ทำราชการแก้ตัวใหม่ ฉลองพระเดชพระคุณอีกครั้ง ในการนี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบเป็นที่น่าประทับใจมาก เช่นทรงรับสั่งว่าจมื่นไวยวรนารถนั้น มิใช่ว่าจะไม่ทรงรัก แต่เมื่อทำความผิดแล้ว ก็ต้องว่าไปตามผิด ฯลฯ ที่สำคัญก็คือได้ทรงมีพระราชปรารภถึงลักษณะของผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ ที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานสาบานพระองค์ต่อหน้าพระสงฆ์ด้วย
รายละเอียดเรื่องราวตอนนี้มีปรากฏอยู่ในจดหมายรายวันทัพคราวปราบเมืองพุทไธมาศและเขมรสมัยกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2314 ตอนหนึ่งดังนี้ “ จึงมีพระราชบริหารดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า
“ ผู้จะเป็นกษัตราธิราช ทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎรแลแผ่นดินให้สมบูรณ์นั้น มิได้ตั้งอยู่ในขนบธรรมเนียมพระราชบัญญัติทางอุเบกขา ผิดแลมิกระทำโทษ ชอบแลมิให้ปันบ้านเมืองนั้นก็เสียไป แลอ้ายมีชื่อ 5 คน กระทำบัดนี้ผิดดุจประเวณีอันเป็นธรรม ดุจพญาเอลาราชก็เป็นอย่างอยู่ ใช่ว่าจมื่นไวยเลี้ยงมาจะไม่รักใคร่นั้นหามิได้ มาตรว่าไพร่คนหนึ่งอันเป็นข้าขอบขันธเสมาเสียไปนั้น ก็มีความรักประดุจชีวิต จึงทรงพระสัตยาธิษฐานสาบานต่อหน้าพระอาจารย์วัดเทริงหวายพระสงฆ์หลายรูปว่า เป็นความสัจแห่ง ฯ ข้าฯ ๆ ทำความเพียรมิได้คิดแก่กายแลชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณะชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข
อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดอาจสามารถจะอยู่ในราชสมบัติ ให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลผู้นั้น แล้ว ฯข้าฯ จะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้นจะปรารถนาศีรษะแลหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น ถ้าแลมิสัจฉะนี้ ฯข้าฯ มุสาวาทขอให้ตกไปยังอบายภูมิเถิด เมื่อแลคนทั้งปวงกระทำโทษผิดถึงฉะนี้ ครั้นจะมิเอาโทษ ก็จะเสียขนบธรรมเนียมบ้านเมืองไป ครั้นมิให้บัดนี้เล่าเจ้าพระยาและพระยา พระหลวงมาขอเป็นอันมาก เป็นมิรู้ที่จะคิด ” ในที่สุดก็พระราชทานอภัยโทษไว้ชีวิตแก่จมื่นไวยวรนาถ พร้อมกับบุคคลอื่นที่ต้องถูกประหารชีวิตพร้อมกัน 5 คน ตามคำกราบบังคมทูลของขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย 22 คน ให้ไปทำราชการแก้ตัวในการตีเมืองป่าสักต่อไป (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 97)
ทรงเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพอพระทัยที่ใช้สรรพนามเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” กับบรรดาบุคคลโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นขุนนาง แม่ทัพ นายกอง ตลอดจนอาณาประชาราษฎรทั่วๆ ไป แม้กับขุนนางผู้ใหญ่ เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ (สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) ก็ยังทรงตรัสเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” เช่นกัน (มีหลักฐานอยู่ในเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษ) และครั้งสำคัญก็คือตอนอวสานของพระองค์ เมื่อพระยาสรรค์เป็นกบฏ คุมทัพจากรุงเก่าลงมาล้อมกรุงธนบุรี มีผู้ยอมพลีเพื่อพระองค์ ลากปืนจ่ารงขึ้นตั้งบนป้อม จะยิงใส่พวกกบฏ ก็ทรงตรัสห้ามไว้ “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย… !” ปรากฏเรื่องราวอยู่ในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ตอนหนึ่งดังนี้
“ …เสด็จออกหน้าวินิจฉัย ทราบว่าพระยาสรรค์มาปล้นตีเมือง ให้จำภริยากับบุตรไว้ เสด็จเข้ามาฟันตะรางปล่อยคนโทษข้างใน พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ต่อสู้ลากปืนจ่ารงขึ้นป้อม ข้าศึกถอยหนี เสด็จกลับออกไป มีรับสั่งห้ามว่า สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย… ”
ในราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพ.ต.หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) แปลก็มีกล่าวถึงเรื่องราวในทำนองเดียวกัน (แต่มีพลความแตกต่างกันไปบ้าง) ดังนี้
“ …กองทัพพระยาสรรค์แลขุนแก้วยกเข้ามาถึงกรุง พากันโห่ร้องเข้ามาแล้วยิงปืนที่ป้อมมุมเมืองข้างทิศอิสาณ คนนอนเวรเฝ้าป้อมได้ยิงโต้ตอบจนถึงเวลาสว่าง คนเวรต้านทานไม่ได้ ก็แตกหนีทิ้งป้อมไป พระยาสรรค์จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าตากว่า บัดนี้บรรดาข้าราชการแลอาณาประชาราษฎร ก็เห็นพร้อมกันแล้ว ที่จะเชิญเสด็จออกจากราชสมบัติ พระเจ้าตากรับสั่งตอบว่า กูวิตกแต่ศัตรูมาแต่ประเทศเมืองไกล แต่เดี๋ยวนี้ไซร้ ลูกหลานของกูเองว่ากูคิดผิดเป็นบ้าเป็นบอแล้วดังนี้ จะให้พ่อบวชก็ดี ฤาจะใส่ตารางพ่อก็ดี พ่อจะยอมรับทำตามใจลูกบังคับทั้งสิ้น พระยาสรรค์ก็ยอมให้บวชที่วิหารวัดแจ้ง ซึ่งอยู่ในพระราชวังแต่ภายหลังให้สึกออก แล้วใส่ตรวนจำไว้ให้ทหารคุมอยู่หนาแน่น… ”
รวมความว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตรัสเรียกพระองค์เองว่า “พ่อ” กับบุคคลโดยทั่วไปทุกระดับชั้นเสมอมา เรื่องนี้นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทย แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน ตั้งแต่โบราณมาจนตราบกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะอยู่ในการปกครองระบอบใดๆ คนไทยเราก็นิยมนับถือ องค์พระมหากษัตริย์ ว่าทรงเป็นบิดาของปวงชนกันตลอดมา และออกพระนามอย่างสามัญสั้นๆ ว่า “พ่อ” “ พ่อหลวง” “คุณพ่อ” ฯลฯ เสมอมา
ทรงเป็นผู้ปฎิวัติราชประเพณี
“ บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่า พระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นเพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆ ไม่ และในธรรมเนียมของเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออก ที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสีย พระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์ และถ้าจะทรงมีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงอย่างใด เพราะพระองค์มีพระประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น… ” (ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศสฯ)
ดังนั้นในสมัยที่ประชาชนตกอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย ต้องบริจาคพระราชทรัพย์ซื้อข้าวปลาอาหาร พระราชทานแจกจ่ายไปเป็นจำนวนมากนั้น พระองค์จึงทรงประทับช้างพระที่นั่ง (ด้วยในครั้งนั้นยัง ไม่มีรถยนต์พระที่นั่ง) เสด็จออกตรวจตราดูแลด้วยพระองค์เอง ให้โอกาสประชาชนได้เข้าชมพระบารมี ได้โดยใกล้ชิด ผิดกับประเพณีพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาโดยทั่วไปแต่ก่อนมา
สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมี ความสนพระราชหฤทัยใฝ่แสวงหาความรู้หลายๆ สาขา โดยเฉพาะทางด้านวิปัสสนาและการฝึกสมาธิ แต่ในขณะที่พระองค์ประสบปัญหาที่กระทบกระเทือน พระราชหฤทัยอย่างแรง อีกทั้งศึกสงครามซึ่งก็ยังพัวพันจากราชศัตรูภายนอกทั้งพม่าและญวน ในระหว่างรัชสมัยที่ค่อนข้างสั้นของพระองค์ ร่วมกันส่งผลทางลบคือทำให้พระองค์ทรงมีพระอารมณ์ แปรปรวนไปในทางดุร้ายไม่มีเหตุผล
เมื่ออยู่ในระหว่างทำศึกสงครามและเมื่อพระอารมณ์ไม่ค่อยปกตินั้น พระองค์ก็มักจะทรงกริ้วอย่างรุนแรง เมื่อขัดพระทัยแม้ในเรื่องทหารที่ทำการไม่สมดังพระราชหฤทัย ก็ทรงประหารเสียอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเมื่อทรงทราบถึงเรื่องที่สนมเจ้าจอมของพระองค์เองมีชู้ ก็ให้ลงโทษอย่างรุนแรงจนกระทั่งให้ประหารชีวิตเสีย แล้วก็เกิดหวนเสียพระทัยอย่างรุนแรง จัดว่าในบางโอกาสพระอารมณ์ค่อนข้างแปรปรวนอย่างกระทันหัน และความเสียพระทัยอย่างรุนแรงก็เกิด
เมื่อทรงตระหนักว่าไม่ทรงอยู่ในภาวะที่จะตอบแทนพระคุณของพระมารดายามประชวรหนัก เพราะต้องทรงรบทัพจับศึกอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพระมารดาทิวงคต พระองค์ก็เสียพระทัยอย่างมาก ด้วยทรงเห็นว่าชาติสำคัญกว่าพระราชกิจส่วนพระองค์ มีเรื่องราวเป็นหลักฐานอยู่เป็นอันมากที่กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเคารพรักและกตัญญู พระบรมราชชนนีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อมีศึกสงครามาประชิดติดบ้านเมืองก็ทรงทอดทิ้งพระบรมราชชนนีในขณะที่กำลังทรงประชวรหนัก เสด็จออกไปบัญชาการรบเพื่อชาติบ้านเมืองได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2317 หลังจากเสร็จศึกตีเชียงใหม่กลับมาเป็นของไทยตามเดิมได้ ก็มีกองทัพพม่าบุกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่บางแก้ว เมืองราชบุรี ต้องเสด็จกลับกรุงธนบุรีอย่างรีบด่วน เพื่อเตรียมรับศึกใหม่ที่บางแก้ว ราชบุรีต่อไป ในตอนนี้เอง สมเด็จกรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี ก็เกิดทรงพระประชวรหนักขึ้นมา แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงหักพระทัย เสด็จยกกองทัพออกจากรุงธนบุรีไปยังราชบุรีได้ ทั้งๆ ที่ทรงพระปริวิตกห่วงใยในพระบรมราชชนนีเป็นอย่างยิ่ง
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเรื่องราวตอนนี้ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ “ อนึ่ง เพลาย่ำค่ำแล้ว 5 บาท ขุนวิเศษโอสถหมอ ถือพระอาการทรงพระประชวรสมเด็จพระพันปีหลวงมาถวาย ณ พระตำหนักค่ายวัดเขาพระ ครั้นทอดพระเนตรอาการแล้วเร่งให้ขุนวิเศษโอสถกลับไป แล้วตรัสว่า พระโรคเห็นหนัก จะมิได้ไปทันเห็นพระองค์ ด้วยการแผ่นดินครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ครั้นจะไปบัดนี้ ไม่เห็นผู้ใดที่ไว้ใจอยู่ต้านต่อข้าศึกได้ ” ในที่สุดสมเด็จบรมราชชนนีก็ได้เสด็จสวรรคต ในระหว่างที่ทรงบัญชาการศึกอยู่ที่ราชบุรีนั้นเอง เรื่องนี้ย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นทรงถือเอาราชการของชาติบ้านเมือง เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าพระราชกิจส่วนพระองค์
17.2 สรุปเหตุการณ์สำคัญสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310 – 2325)
พ . ศ . 2310
– การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่า
– พระยาวชิรปราการ (สิน) หรือเจ้าตาก ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ภายในเวลา 7 เดือน และทรง ประกาศอิสรภาพหลังจากที่รบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น
– การสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เป็นเมืองหลวง
– การรบกับพม่าที่ยกมาตีไทยที่บางกุ้ง (เมืองสมุทรสงคราม)
พ . ศ . 2311
– เริ่มการบูรณะวัดวาอารามในกรุงธนบุรีครั้งใหญ่คราวแรก
– การตั้งพระอาจารย์ดี วัดประดู่เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์แรก
– การปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นชุมนุมแรก แต่ไม่สำเร็จทรงบาดเจ็บกลับมา
– การปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ( กรมหมื่นเทพพิพิธ ) สำเร็จเป็นชุมนุมแรก
– สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเษก (28 ธันวาคม)
พ . ศ . 2312
– กรุงศรีสัตนาคนหุต แต่งเจ้าหน่อเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาขอเป็นเมืองขึ้น
– ปราบชุมนุมเจ้านคร (นครศรีธรรมราช) สำเร็จ
– ยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร (กัมพูชา) ครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ
– ตั้งพระอาจารย์ศรี เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2
พ . ศ . 2313
– ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บทละคร
– แขกเมืองตรังกานู และแขกเมืองยักตรา (จาการ์ตา อินโดนีเซีย) ถวายปืนคาบศิลา 2,200 กระบอก
– ปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง (เมืองสวางคบุรี) สำเร็จ
– จัดการปกครอง และการพระศาสนาในหัวเมืองเหนือครั้งใหญ่
– พม่าที่ยึดครองเชียงใหม่ยกทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก
– กองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก
พ . ศ . 2314
– นายสวนมหาดเล็ก แต่งโคลงยอพระเกียรติ
– การสร้างกำแพงเมืองกรุงธนบุรี
– ยกทัพไปตีเขมรครั้งที่ 2 ได้หัวเมืองเขมรกลับมาขึ้นต่อไทยตามเดิม
พ . ศ . 2315
– กองทัพพม่าจากเชียงใหม่ยกลงมาตีเมืองพิชัยครั้งแรก
พ . ศ . 2316
– การสักเลก (ไพร่หลวง ไพร่สม และเลกหัวเมือง)
– พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 เกิดวีรกรรม “ พระยาพิชัยดาบหัก ”
– ตราพระราชกำหนดว่าด้วยศีลสิกขา
พ . ศ . 2317
– กองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้หัวเมืองลานนากลับคืนเข้ามารวมอยู่ ในพระราชอาณาจักรตามเดิม
– พม่ายกทัพมาตีที่บางแก้ว (แขวงเมืองราชบุรี) ทัพไทยล้อมทัพพม่า จนกระทั่งพม่าอดอาหารและจับพม่าข้าศึกได้ 1,328 คน
พ . ศ . 2318
– โปสุพลา และโปมะยุง่วน แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่คืน แต่ไม่สำเร็จ
– อะแซหวุ่นกี้ ตีหัวเมืองเหนือ เกิดศึกหนักที่สุดที่เมืองพิษณุโลก
– งานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนี ที่วัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม)
พ . ศ . 2319
– กองทัพพม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่คืน แต่ไม่สำเร็จ เชียงใหม่ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง
– สร้างสมุดภาพไตรภูมิบุราณ
– กบฏเมืองนางรอง ไทยยกทัพไปปราบหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง ตีเมืองนางรอง และเมืองนครจำปาศักดิ์ (ลาว) ได้
– กปิตันเหล็ก (กัปตันไลท์) ส่งปืนนกสับเข้ามาถวาย 1,400 กระบอก
– ฟรานซิสไลท์ ได้รับมอบหมายจากไทยให้ไปหาซื้อปืนคาบศิลาที่เมืองตรังกาบาร์ ในอินเดียตอนใต้จำนวน 10,000 กระบอก
– โปรดให้บูรณะวัดบางยี่เรือใต้ (วัดอินทาราม ตลาดพลู ปัจจุบัน) คราวใหญ่ ในคราวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสักการะพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชชนนี
– สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จไปทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดบางยี่เรือใต้ เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน
– ทรงพระราชนิพนธ์บทความธรรมะเรื่อง “ ลักขณะบุณ ”
– ทรงบูรณะวัดหงส์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนารามปัจจุบัน) ครั้งใหญ่
พ . ศ . 2320
– โปรดให้มีหนังสือติดต่อไปยังฟรานซิสไลท์ ให้ช่วยซื้อหาอาวุธมาใช้ในราชการ
– ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำเมืองมัทราสที่อินเดีย มีสาส์นเข้ามาถวาย พร้อมกับถวายดาบทองคำประดับพลอย
– ทรงสถาปนาเจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก
พ . ศ . 2321
– กรุงศรีสัตนาคนหุต แต่งทัพมารบกับพระวอที่หนองบัวลำภู และที่ดอนมดแดง กองทัพไทยยกไปตีได้เวียงจันทน์ ได้หัวเมืองลาวทั้งหมดกลับมาขึ้นกับไทยอีกครั้งหนึ่ง
– พระราชทานบรรดาศักดิ์ฟรานซิสไลท์ เป็น “พระยาราชกปิตัน”
พ . ศ . 2322
– กองทัพไทยยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ และตีได้สำเร็จ
– กองทัพไทยยกกลับมาพร้อมกับอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบางมาสู่กรุงธนบุรี
– โปรดเกล้าฯ ให้มีละครหลวง แสดงสมโภชพระแก้วมรกตครั้งใหญ่
– หลวงสรวิชิต (หน) แต่งอิเหนาคำฉันท์
พ . ศ . 2323
– เกิดจราจลวุ่นวายในเขมร
พ . ศ . 2324
– คณะราชทูตไทยไปเมืองจีน
– พระยามหานุภาพแต่ง “นิราศเมืองกวางตุ้ง”
– กองทัพไทยยกขึ้นไปปราบจลาจลในเขมร
– ความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรี
– กบฏพระยาสรรค์
– สงครามกลางเมืองระหว่างพระยาสรรค์ และพระยาสุริยอภัย
พ . ศ . 2325
– การพิจารณาปัญหาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน
– การสิ้นสุดของสมัยกรุงธนบุรี
(เสทื้อน ศุภโสภณ , 2531 : 115 และ http://www.wangdermplace.com/kingtaksin/thai_thegreat.html 21/11/45)