สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

บทที่ 2 กรุงศรีอยุธยาและความเป็นไปของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก่อนเสียกรุงฯ

2.1 กรุงศรีอยุธยามีชื่อเต็มว่าอย่างไร ?

กรุงศรีอยุธยามีชื่อเต็มดังนี้
“ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ”

แผนที่วาดโดย R.P. Placide นักภูมิศาสตร์ในคณะราชทูตฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดินทางมายังอยุธยาสมัยพระนารายณ์ เมื่อ ค.ศ.1686 หรือ พ.ศ.2229 ปลายรัชสมัยของพระนารายณ์ แผนที่นี้แสดงให้เห็นว่าเรือกำปั่น ของคณะทูตฝรั่งเศส ของเชอรวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เดินทางมา ผ่านมหาสมุทรอินเดียแล้วเข้าช่องแคบซุนดา (แทนที่จะเข้าช่องแคบมะละกา) ระหว่างเกาะสุมาตรา และเกาะชวาผ่านมลายูเข้าอ่าวสยาม ถึงปากน้ำเจ้าพระยา (ภาพจากหนังสืออยุธยา)

2.2 กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมานานเท่าไร ?

กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมานาน 417 ปี (พ.ศ.1893-2310)

2.3 กรุงศรีอยุธยามีลักษณะอย่างไร

มีบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา จากเอกสารคำให้การชาวกรุงเก่า และขุนหลวงหาวัด (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ซึ่งพม่ากวาดต้อนไปเป็นเชลยตอนเสียกรุงครั้งที่ 2 แล้วจดบันทึกปากคำเชลยศึกทั้งหลายไว้เป็นภาษาพม่า ต่อมาอีกนับร้อยปีได้มีการค้นพบฉบับที่แปล เป็นภาษามอญแล้วแปลกลับมาเป็นภาษาไทย ได้ข้อความสำคัญว่า

กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ที่หนองโสน ในบริเวณที่เป็นชุมทางของแม่น้ำหลายสายคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย ทำให้มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาเขตได้สะดวก แต่แรกนั้นอยุธยาไม่เป็นเกาะ ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดฯให้ขุดคลองหรือคูขื่อหน้าแยกจากแม่น้ำลพบุรี บริเวณหัวรอลงมาบรรจบแม่น้ำบางกะจะ หรือแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หน้าป้อมเพชร ทำให้อยุธยากลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ ป้องกันข้าศึกมาประชิดเมือง อยุธยามีแม่น้ำสายใหญ่ไหลลงทางใต้ออกสู่อ่าวไทย ทำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่จากต่างประเทศ สามารถแล่นเข้ามาจอดถึงหน้าเมือง บริเวณป้อมเพชรอย่างสะดวก ดังนั้นอยุธยาจึงเป็นเมืองท่านานาชาติ ที่มีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างประเทศในทวีปยุโรป และเอเชียตะวันตก เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส อิหร่าน อินเดียกับประเทศแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น

แผนที่อยุธยาและลำน้ำต่างๆ
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)
ราชอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ.1893-2310/ค.ศ.1351-1767)
แผนที่โดย ฟรองซัวส์ วาเลนทิน ค.ศ.1726 (พ.ศ.2269)
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)

กรุงศรีอยุธยา มีกำแพงเมืองซึ่งเดิมทำด้วยดิน ต่อมาสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้เปลี่ยนเป็นกำแพงอิฐถือปูนล้อมรอบพระนครยาว 310 เส้น สูงประมาณ 4 วา ตามแนวกำแพงมีใบเสมาและมีป้อมเป็นระยะๆ คือป้อมเพชร (อยู่มุมพระนครด้านใต้ตรงบางกะจะ สำหรับสู้ข้าศึกที่จะมาทางเรือจากด้านใต้) ป้อมมหาไชย (มีปืนใหญ่ชื่อปราบหงสา อยู่มุมวังจันทร์เกษมตรงตลาดหัวรอ ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามวัดสามวิหารที่พม่าตั้งค่ายยิงปืนใหญ่เข้ามา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2)

ป้อมซัดกบหรือท้ายกบ (อยู่มุมพระนครตรงลำน้ำหัวแหลมใกล้วัดภูเขาทอง มีปืนมหากาฬมฤตยูราช) ป้อมศุภรัตน์และป้อมปากท่อและป้อมท้ายสนม (อยู่เหนือป้อมซัดกบ ป้อมในไก่หรือนายการ) ป้อมหัวสมุทรและป้อมประตูข้าวเปลือก (อยู่เหนือวัดธรรมิกราช) ป้อมมหาชัยและป้อมวัดขวาง (อยู่ใกล้วังหน้าตรงข้ามวัดแม่นางปลื้ม ) ป้อมหอราชคฤห์ (อยู่ด้านหน้าวัดสุวรรณดาราราม) ป้อมจำปาพล (เป็นป้อมนอกพระนคร อยู่ถัดประตูข้าวเปลือกเหนือวัดท่าทรายใกล้สวนหลวงวัดสบสวรรค์) ป้อมเพชรและป้อมท้ายคู (อยู่ริมแม่น้ำตรงบางกะจะ) ป้อมวัดฝาง (อยู่ระหว่างวัดโคกกับวัดตึก) ป้อมอกไก่ (อยู่ใกล้วัดขุนเมืองใจ )

ในกรุงศรีอยุธยา มีถนนพูนดินสูงปูด้วยอิฐตะแคงหรือดินเปล่า ชื่อถนนป่าตอง (เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ผ่านหน้าศาลหลักเมือง ปัจจุบันคือถนนศรีสรรเพ็ชญ์) ถนนหน้าวัง (ผ่านหน้าศาลพระกาฬไปป่าตองยาว 50 เส้น ใช้เป็นเส้นทางรับราชฑูต) ถนนหน้าบางตรา (จากท่าสิบเบี้ยไปป่ามะพร้าว) ถนนตลาดเจ้าพรหม (เชิงสะพานป่าถ่านถึงวัดจันทร์) ถนนหลังวัง (ข้างหอ กลอง) ถนนหน้าพระกาฬ (สี่แยกถนนหลังวังตัดถนนหน้าพระกาฬ เป็นสี่แยกกลางพระนคร เรียกตะแลงแกง ใกล้บริเวณที่เรียกว่า ชีกุน) ถนนป่ามะพร้าว (อยู่ข้างวัดพลับพลาชัย) ซึ่งสอดคล้องกับหนังสืออยุธยา (2546 : 317 ) ที่กล่าวว่า ถนนในพระนคร ส่วนใหญ่เป็นถนนที่อัดด้วยดิน ใช้ช้างและแรงงานคนในการก่อสร้าง ซึ่งมักเป็นถนนคู่ขนานไปกับคูคลอง และมีบางสายที่ปูด้วยอิฐ อาทิเช่น ถนนหลวงชื่อ มหารัฐยา เป็นถนนกลางพระนครปูศิลาแลงกว้างราว 12 เมตร เชื่อมระหว่างพระราชวังโบราณกับประตูไชยทางทิศใต้ เป็นถนนที่ใช้ในงานหลวง เช่น กระบวนแห่พยุหยาตรา แห่กฐินหลวง แห่พระบรมศพ คณะทูตเข้าถวายพระราชสาส์น ถนนที่ ดูทันสมัยและมีผู้คนคึกคักเป็นพิเศษคือ ถนนมัวร์ ซึ่งเป็นถนนที่ปูด้วยอิฐแบบก้างปลา ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รถม้าและรถลากแล่นได้โดยสะดวก บนถนนมัวร์มีย่านที่สำคัญ เช่น บ้านออกญาวิชาเยนทร์ บ้านหลวงรับราชทูต ย่านพราหมณ์ ย่านแขก ย่านชาวจีน ซึ่งเป็นที่ชุมนุมสินค้า และมีถนนหลายสายตัดผ่าน นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อถนนในพระนคร ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นเขตย่านร้านตลาดสินค้าด้วย เช่น ถนนตะกั่วป่า ถนนป่าเกรียบ (ย่านขายพาน) ถนนบ้านขันเงิน ถนนย่านป่าหญ้า (ขายเครื่องเทศ เครื่องไทย) ถนนป่าชมภู (ขายผ้า) ถนนป่าไหม ถนนป่าเหล็ก ถนนป่าฟูก (ขายเครื่องนอน หมอนมุ้ง) ถนนป่าผ้าเขียว (ขายเสื้อกางเกง) ถนนย่านบ้านช่างทำเงิน ถนนย่านชีกุน (ขายดอกไม้เพลิง ขายสุรา) ถนนบ้านย่านกระชี (ทำพระพุทธรูปขาย) ถนนย่านขนมจีน (ขายขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ) ถนนย่านในไก่ (ขายสินค้าจากเมืองจีน) ถนนย่านป่าดินสอ ถนนบ้านแห (ขายแหหาปลา ขายเปลป่าน) ถนนย่านบ้านพราหมณ์ (ขายกระบุงตะกร้า) หากถนนเกิดชำรุดจะมีการรื้ออิฐส่วนที่แตกหักออกไป หรือหากเกิดน้ำท่วมถนน จะมีการปูซ้อนทับขึ้นไปด้วย ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ถนนบางแห่งมีการซ่อมแซมถึง 3-4 ครั้ง ถนนภายในเกาะเมืองปัจจุบันนี้มีบางสายที่สร้างทับเส้นทางโบราณ เช่น ถนนอู่ทอง ที่สร้างทับกำแพงเมือง และบางส่วนของป้อมปราการยาว 12.4 กิโลเมตร ถนนโรจนะ เป็นถนนสายหลักของอยุธยาที่เชื่อมการคมนาคมจากภายนอกเกาะ…มีสะพานไม้ หรือสะพานอิฐจำนวนมาก ซึ่งจากหลักฐานสมัยอยุธยาตอนปลายระบุว่ามีสะพานรวม 30 แห่ง ทำด้วยอิฐ และไม้อย่างละ 15 แห่ง (อยุธยา, 2546 : 318) เช่น สะพานป่าถ่าน สะพานชีกุน สะพานประตูจีน สะพานประตูเทพหมี สะพานช้าง สะพานสายโซ่

…มีคลองหลายคลอง มีประตูน้ำทำด้วยเสาไม้ตะเคียน หรือไม้เต็งรังตอกปิดปากคลองสองชั้น แล้วเอาดินถมตรงกลางเพื่อป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ และกักน้ำไว้ใช้ในพระนครตอนหน้าแล้ง เช่น คลองฉะไกรใหญ่ (อยู่ท้ายวังออกแม่น้ำที่พุทไธสวรรย์) คลองประตูข้าวเปลือกต่อคลองประตูจีน (อยู่ตำบลท่าทรายออกแม่น้ำด้านใต้) คลองหอรัตนชัย คลองในไก่ (อยู่ใต้วังจันทร์เกษมด้านตะวันออกไปแม่น้ำริมป้อมเพชร) คลองประตูจีน (อยู่ด้านใต้เหนือคลองในไก่) คลองประตูเทพหมีหรือเขาสมี (อยู่ใกล้คลองประตูจีน) คลองฉะไกรน้อย (อยู่เหนือคลองประตูเทพหมี) คลองประตูท่าพระ มีบึงใหญ่ในกรุงเรียกบึงชีขัน (บึงพระราม) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้ง เมื่อน้ำในแม่น้ำลดลงมาก

มีประตูน้ำสำหรับกั้นน้ำหลายประตูคือ ประตูข้าวเปลือก ประตูหอรัตนชัย ประตูสามม้า ประตูจีน ประตูเทพหมี ประตูฉะไกรน้อย ประตูฉะไกรใหญ่    ประตูหมูทะลวง มีประตูเมืองกว้างราว 6 ศอก มียอดทรงมณฑปทาดินแดงหลายแห่ง (ดูจากรูปผนังอุโบสถวัดยมและจากหนังสือโบราณ) เป็นประตูบก

เช่น ประตูศรีไชยศักดิ์ ประตูจักรมหิมา ประตูมหาไพชยนต์ ประตูมงคลสุนทร ประตูสมณพิศาล ประตูทวารเจษฎา ประตูกัลยาภิรมย์ ประตูอุดมคงคา ประตูมหาโภคราช ประตูชาตินาวา ประตูทักขิณาภิรมย์ ประตูพรหมสุคต ประตูทวารวิจิตร ประตูโอฬาริกฉัตร ประตูทวารนุกูล ประตูนิเวศวิมล ประตูทวารอุทก ประตูพระพิฆเนศวร ประตูศรีสรรพทวาร ประตูนครไชย ประตูพลทวาร ประตูแสดงราม ประตูสะเดาะเคราะห์ ประตูท่าพระ ประตูเจ้าปราบ ประตูชัย ประตูเจ้าจันทร์ ประตูช่องกุฎ ฯลฯ ประตูเมืองเหล่านี้ในปัจจุบันถูกทำลายหมด

ภาพเขียน Afbeldine der Stadt Judiad แสดงให้เห็นรูปทรงสันฐานของกรุงศรีอยุธยาว่าเป็น “ เกาะกลางแม่น้ำ ” แสดงผังเมือง ที่มีถนน และลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมตัดโยงใยกัน (ภาพจากหนังสืออยุธยา)
เรือพระราชพิธีของอาณาจักรอยุธยา
จากภาพเขียนของฝรั่ง (ภาพจากหนังสืออยุธยา)

มีอู่เรือพระราชพิธีอยู่ที่ตำบลคูไม้ร้อง ระหว่างวัดเชิงท่ากับวัดพนมยงค์ มีเรือกว่า 150 ลำ โรงเรือพระที่นั่งยาว 1 เส้น 5 วา อยู่ริมวัดตีนท่าถึงคูไม้ร้อง (ในปัจจุบันชาวบ้านแถบนี้เคยขุดพบชิ้นส่วนเรือโบราณบ่อยๆ ) มีเรือใหญ่สำหรับออกทะเลไปทรงเบ็ดปลาฉนาก ปลาฉลาม 2 ลำ เป็นเรือพระที่นั่งกำปาง (กำปั่น) ชื่อพระครุฑพ่าห์ และพระหงศ์พ่าห์ นอกจากนั้นก็มีเรือพระที่นั่งกิ่งใหญ่ ชื่อแก้วจักรมณี และสุวรรณจักรรัตน์ เรือพระที่นั่งกิ่งรองทรงชื่อ สุวรรณพิมาณไชย สมมุติพิมานไชย และสาลิกาล่องลม มีฝีพายเรือ 500 คน พักอยู่บ้านโพเรียง และบ้านพุทเลา

ปืนมหาจักรกรด   หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีหูจับยกคู่หนึ่ง ตอนท้ายลำกล้องมีรูปดอกไม้ใบไม้ รูปมงกุฎบนลายกนก รูชนวน มีรูปกนก สร้าง ณ โรงงานที่ดูเอย์ ประเทศฝรั่งเศส โดย เจ . เบรังเยร์ เมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2311 ปัจจุบันตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม
(ภาพจาก http://www1.mod.go.th/opsd/sdweb/cannon3.htm )

ปืนใหญ่ที่สำคัญในกรุงศรีอยุธยา มีชื่อนารายณ์สังหาร (มีประวัติการใช้ใน พ.ศ.2096 ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1) มหาฤกษ์ มหาไชย มหาจักร มหากาล ปราบหงสา (มีประวัติการใช้ใน พ.ศ.2310) ชะวาแตก อังวะแหลก ละแวกพินาศ พิฆาตสังหาร มารประลัย มหากาฬ มหามฤตยูราช (มีประวัติการใช้ใน พ.ศ.2310) และตาปะขาวกวาดวัด

แผนผังแสดงบริเวณที่ตั้งพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเพิ่งจะมีขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเติบโตขึ้นมาเป็นราชอาณาจักรจึงต้องปรับระบบใหม่ ให้เหมาะกับสภาพความเป็นไป
(ภาพจากหนังสือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท)

ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา มีพระที่นั่งที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายแห่งที่สร้างสมัยพระเจ้าอู่ทอง (พ.ศ.1893-1912) มีพระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท และพระที่นั่งไอศวรรย์มหาปราสาท สันนิษฐานว่าสร้างด้วยไม้ ต่อมาเกิดไฟไหม้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกที่ดินวังหลวงเดิมให้เป็นเขตพุทธาวาสเมื่อ พ.ศ.1991 (ปัจจุบันคือบริเวณวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ที่มีพระเจดีย์ใหญ่สามเจดีย์อยู่ข้างวิหารพระมงคลบพิตร บรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2)

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท (จำลอง) เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทเป็นพระที่นั่งสำคัญ และเก่าแก่ที่สุดเป็นที่ออกว่าราชการ และประกอบพระราชพิธีสำคัญของราชอาณาจักร และถูกพม่าเอาไฟเผาทิ้งทั้งองค์เหลือแต่ซากฐาน ครั้งคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 (ภาพจากหนังสือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท)
ภาพซากฐานพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท อยุธยา จะเห็นว่ามีการก่อขั้นบันไดแคบๆ เพื่อให้เหมาะสำหรับการหมอบคลานขึ้นสู่ท้องพระโรง ตามโบราณราชประเพณี (ภาพจากหนังสือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท)
พระที่นั่งสรรเพ็ชญมหาปราสาท (จำลอง) มีมุขหน้าและมุขหลังยาว มุขข้างสั้น หลังคาโค้ง ขนานกับฐาน เครื่องยอดบนหลังคาได้แบบมาจากสังเค็ดไม้จำหลัก         ในวิหารพระพุทธชินราช พิษณุโลก (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
ภายในพระที่นั่ง ด้านหน้า และด้านหลังมีประตูด้านละ 3 ประตู ประตูด้านข้างเป็นประตูเล็ก ตรงกลางเป็นประตูใหญ่ ลักษณะเป็นพุ่มยอดมณฑป      มีฐานเป็นอัฒจันทร์ประดับด้วยลายเทพพนม ครุฑ สิงห์

พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทองค์เดิม-พระที่นั่งองค์กลางมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องนารายณ์สิบปาง ตามที่ปรากฏหลักฐานจากหนังสือหอวัง ซึ่งเป็นเอกสารสมัยอยุธยาระบุไว้ และเคยใช้เป็นที่ตั้งพระแท่นบรรยงก์สามชั้นหุ้มทองคำ ประดับพลอยนวรัตน์ (แต่พม่าขนไปอังวะเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310) ความสำคัญของพระที่นั่งองค์นี้ เคยใช้เป็นที่ประกอบพระบรมราชาภิเษก หรือรับราชทูตสำคัญๆ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น ครั้งราชทูตเชอร์วาเลีย เดอโชมองด์ เชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส และลาลูแบร์เชิญเข้ามาอีกเป็นคำรบสอง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบมาสร้างเป็นพระที่นั่งอินทราภิเษก แต่ต้องอสุนีบาตเกิดเพลิงไหม้ จึงได้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นแทน (นำเที่ยวเมืองโบราณ : สำหรับนักเรียน, 2546 : 18-19) (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ผืนผนังรอบพระที่นั่งตอนบนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง และลายกรวยเชิงปิดทองประดับกระจกสีขาว ตอนล่างติดลายประจำยามอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ปิดทองประดับกระจกสีขาว หน้าต่าง ลายประดับมุก ถ่ายแบบลวดลายมาจากบานประตูวิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
เพดานดวงดาวปิดทอง ประดับกระจก ได้แบบอย่างจากเพดานพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) ทรงสร้างพระราชวังขึ้นใหม่ด้านเหนือ พระราชวังเดิม โดยสร้างพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท และพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสร้าง พระที่นั่งศรียศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น จักวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พระที่นั่งยรรยงก์รัตนาศน์ และพระที่นั่งพิมานรัถยา อีกด้วย (ปัจจุบันมีการจำลองพระที่นั่งสมัยอยุธยาบางองค์ไว้ที่เมืองโบราณ บางปู เพราะของเดิมถูกทำลายจนเหลือแต่ฐานราก หรือไม่เหลืออะไรเลย) มีหอกลอง 3 ชั้น สูง 10 วา ที่ตะแลงแกง ชั้นยอดใช้คอยดูข้าศึก ชื่อมหาฤกษ์ ชั้นกลางคอยสังเกตเพลิงไม้ ชื่อมหาระงับดับเพลิง ถ้าเพลิงไหม้นอกกรุงให้ตีกลอง 3 ที ถ้าเพลิงไหม้เชิงกำแพงและในกำแพงกรุงให้ตีกลอง จนกว่าเพลิงจะดับ ชั้นล่างสุดใส่กลองใหญ่ ชื่อพระทิวาราตรี สำหรับตีย่ำเที่ยง ย่ำสันนิบาต เพลาตะวันยอแสง พลบค่ำ ผู้รักษาหอกลองคือ กรมพระนครบาล โดยเลี้ยงวิฬาร์ (แมว) กันมิให้มุสิกะ (หนู) มากัดกลอง ครั้นเวลาเช้าเย็นให้เก็บเบี้ย (เงินตรา) จากร้านตลาดหน้าคุก ร้านละ 5 เบี้ย สำหรับซื้อปลาย่างให้แมวกิน

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เมื่อลาลูแบร์เข้ามาเป็นทูต ได้ประมาณจำนวนคนในกรุงศรีอยุธยา ไว้ว่ามีราว 150,000 คน ตั้งบ้านเรือนทำด้วยไม้อยู่ริมคลอง แม่น้ำ และใกล้กำแพงพระนคร บริเวณกลางเมือง คงเป็นที่ว่างเปล่าไม่ค่อยมีบ้านเรือนผู้คน บ้านที่เป็นตึกในกรุงสยามมีอยู่น้อย เช่น ตึกขายสินค้าของพวกฝรั่ง ใกล้ที่จอดกำปั่นท้ายคู ตึกโคระส่านของพวกเปอร์เซียที่ลพบุรี (บางแห่งเรียก ตึกคชสาร) พวกโปรตุเกส วิลันดา ญี่ปุ่น อยู่ริมแม่น้ำ ตำบลปากน้ำแม่เบี้ย ใต้ป้อมเพชร พวกฝรั่งเศสสร้างโบสถ์ และบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองตะเคียน ด้านเหนือ

มีวัดพุทธจำนวนมาก เช่น วัดพนัญเชิง อยู่ที่ปลายแหลมบางกะจะใกล้ที่จอดเรือเดินทะเลปากแม่น้ำแม่เบี้ย ซึ่งพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ บันทึกไว้ว่า “ …จุลศักราช 696 ชวดศก แรกสถาปนา พระพุทธเจ้าพะแนงเชิง ” หมายความว่า มีการสร้างหลวงพ่อวัดพนัญเชิง เมื่อ พ.ศ.1967 ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี 26 ปี วัดแม่นางปลื้ม เป็นวัดโบราณสมัย อโยธยา อยู่ใกล้วัดหน้าพระเมรุ เป็นที่ซึ่งพม่าตั้งปืนใหญ่ยิงกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดโคกพญาหรือโคกพระยา อยู่หลังวัดหน้าพระเมรุ นอกเกาะเมืองใกล้ภูเขาทอง เป็นที่สำเร็จโทษเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ด้วยท่อนจันทร์ วัดศาลาปูน (มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนปลายที่สำคัญ)

มีเรือใหญ่ท้ายแกว่งของชาวเมืองพิษณุโลก บรรทุกน้ำอ้อย ยาสูบมาขายที่หน้าวัดกล้วย เรือใหญ่ท้ายแกว่ง ชาวเมืองสรรคโลก บรรทุกสินค้าฝ่ายเหนือมาจอดตามริมแม่น้ำและในคลองวัดมหาธาตุ พวกมอญบรรทุก มะพร้าวห้าว ไม้แสม และเกลือมาขายที่ปากคลองกอแก้ว เกวียนจากนครราชสีมาบรรทุกรัก ขี้ผึ้ง ปีกนก ผ้าตะราง ผ้าสายบัว หนัง เนื้อเอ็น เนื้อแผ่นมาขายที่ศาลาเกวียน

ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญล่องเรือบรรทุกข้าวเปลือก มาขายที่บ้านวัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน ชาวบ้านที่นั่นตั้งโรงสีครกกระเดื่องซ้อมข้าวขายสำเภาและโรงเหล้า จีนต้มเหล้าขายที่บ้านปากข้าวสาร เรือระแหงแขวงเมืองตากและเรือหางเหยี่ยวเพชรบูรณ์ นายม บรรทุกครั่ง กำยาน เหล็กหางกุ้ง ไต้ หวาย ชัน น้ำมันยาง ยาสูบ และสรรพสินค้าตามแขวงตามย่านมาจอดเรือขาย บ้านหลังตึกพุทไธสวรรค์สกัดน้ำมันงาขาย บ้านนอกกำแพงฉะไกรขายเสารอด และแพไม้ไผ่ ชาวบ้านยี่สาน บ้านแหลม บางทะลุจากเพชรบุรีบรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม กะพง กุเลา ปลาทู กระเบนย่างมาจอดเรือขาย บ้านปูน วัดเขียน ทำปูนขาย บ้านพระกรานจับปลาหมอมาเร่ขายชาวกรุง เพื่อซื้อปล่อยเทศกาลตรุษสงกรานต์ บ้านหน้าวัดราชพลี วัดทรมา ขายโลงและเครื่องสำหรับศพ ย่านป่าตองขายฝ้าย มีตลาดตะแลงแกงขายของสดเช้าเย็นชื่อ ตลาดหน้าคุก ตะแลงแกงนี้เป็นที่ประหารนักโทษด้วยการตัดหัว และสับตัวเป็นท่อนๆ แล้วเสียบประจานไว้อยู่บนถนนป่าโทน ใกล้หอกลองใกล้วัดพระราม ที่ประหารชีวิตนักโทษอีกแห่งหนึ่งคือที่ประตูท่าช้าง อยู่ริมแม่น้ำลพบุรี ตอนเหนือของเกาะเมืองใกล้วัดคงคาราม ที่ประหารทั้งสองแห่งนี้ ประชาชนสามารถดูการประหารชีวิตได้

ในฤดูมรสุม สำเภาจีน และกำปั่นสุรัต (อินเดีย) อังกฤษ ฝรั่งเศส และ ฝรั่งหมากเกาะ มาทอดสมอกำปั่นอยู่ที่บ้านท้ายคู ขนสินค้ามาอยู่บนตึกในกำแพงกรุง เรือแขกชะวามลายู บรรทุกหมากเกาะ มาขายที่คลองคูจาม (ในสมัยต่อมามีการพบเรือสำเภาล่มอยู่ใต้ท้องน้ำหลายลำ บางลำมีร่องรอยการถูกเผา เคยมีประดาน้ำไปดำของโบราณขึ้นมาขาย) จีนต้มเหล้าเลี้ยงหมูที่บ้านคลองสวนพลู จีนตั้งโรงสุราที่แม่น้ำหัวแหลมใต้วัดภูเขาทองใต้ศาลเจ้านางหินลอย แขกจามทำเสื่อลันไตน้อยใหญ่ขายที่บ้านท้ายคู แขกจามทอผ้าไหมผ้าด้ายขายที่วัดลอดช่อง แขกฟั่นเชือกเปลือกมะพร้าวขายนายกำปั่นสุรัตอังกฤษที่บ้านท่ากายี (กรมศิลปากร : รวมเรื่องกรุงเก่าของ พระยาโบราณราชธานินทร์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวเพ็ญ เดชะคุปต์ 12 ธันวาคม พ.ศ.2541 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : คำให้การชาวกรุงเก่า, สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2515 อ้างอิงโดย อาทร จันทวิมล “ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301), ” ใน ประวัติของแผ่นดินไทย : ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ร้อยล้านปี สมัยหิน บ้านเชียง อยุธยา พฤษภาทมิฬ จนถึงพ.ศ.2546, 2546 : 223-227)

2.4 กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์ปกครองกี่พระองค์ อยู่ในพระราชวงศ์อะไรบ้าง และพระราชวงศ์สุดท้ายคือ พระราชวงศ์อะไร ?

พระราชวงศ์ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีทั้งหมด 5 พระราชวงศ์คือ
1) พระราชวงศ์เชียงราย
2) พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ
3) พระราชวงศ์สุโขทัย
4) พระราชวงศ์ปราสาททอง และ
5) พระราชวงศ์บ้านพลูหลวง

พระราชวงศ์สุดท้ายได้แก่ พระราชวงศ์บ้านพลูหลวง กรุงศรีอยุธยา มีพระมหากษัตริย์รวม 33 พระองค์ (ถ้านับขุนวรวงศาธิราช ด้วยจะเป็น 34 พระองค์) มีดังนี้คือ

  • 1. พระราชวงศ์เชียงราย  (หรือราชวงศ์เวียงชัยปราการ)
พระเจ้าอู่ทอง (ภาพจากสมุดภาพประติมากรรมกรุงรัตนโกสินทร์)

1) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ( พระเจ้าอู่ทอง ) ครองราชย์ พ.ศ. 1893-1912 (20 ปี)
2) สมเด็จพระราเมศวร ( พระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ครองราชย์ 2 ครั้งคือ
      – พ.ศ. 1912 (1 ปี ) ถวายราชสมบัติให้ขุนหลวงพงั่ว แล้วพระองค์เสด็จไปอยู่ที่เมืองลพบุรี) และ
      – พ.ศ. 1931-1938 (7 ปี )

  • 2. พระราชวงศ์สุพรรณภูมิ (หรือราชวงศ์เวียงชัยนรายณ์)

3) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ( ขุนหลวงพงั่ว มาจากราชวงศ์เวียงชัยปราการ เป็นพระปิตุลา ( อา ) ของสมเด็จพระราเมศวร เสด็จยกมาจาก                          สุพรรณบุรี ทำนองจะมาแย่งราชสมบัติ สมเด็จพระราเมศวรจึงถวายราชสมบัติให้โดยดี ) ครองราชย์ พ.ศ. 1913-1931
4) สมเด็จพระเจ้าทองลัน ( หรือพระเจ้าทองจันทร์) ราชโอรสขุนหลวงพงั่ว ครองราชย์ได้ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จมาแต่เมืองลพบุรี เข้าใน                        พระราชวังแล้วจับพระเจ้าทองลันฆ่าเสีย
5) สมเด็จพระรามราชาธิราช ( พระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร ) ครองราชย์ พ.ศ. 1938-1952 (14 ปี) เจ้าขุนหลวงมหาเสนาบดี สมุหนายกเป็น                กบฏเข้าปล้นเอากรุงศรีอยุธยาได้ แล้วถวายราชสมบัติแก่พระอินทราชา (พระราชวงศ์เวียงชัยนรายณ์) )
6) สมเด็จพระอินทราชา หรือสมเด็จพระอินทร์ราชาธิราช ( พระนครอินทร์ ) หรือสมเด็จพระนครอินทราธิราช ( พระราชนัดดา ( หลาน ) พระบรม                        ราชาธิราชที่ 1) ครองราชย์ พ.ศ. 1952-1967 (14 ปี) สมเด็จพระอินทราชา มีพระโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา และเจ้าสาม                      พระยา พระราชบิดาให้ไปกินเมืองสุพรรณบุรี เมืองแพรกศรีราชา และเมืองชัยนาท ตามลำดับ

ครั้นสมเด็จพระอินทราชาสวรรคต เจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยาก็ยกทัพเข้ามาเพื่อแย่งราชสมบัติกัน การรบระหว่างเจ้าพี่และเจ้าน้องถึงกับชนช้างกัน และทั้งคู่พระศอขาดพร้อมกันทั้งสองพระองค์ มุขมนตรีจึงเชิญเจ้าสามพระยาขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 27) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ( เจ้าสามพระยา พระราชโอรสในสมเด็จพระอินทราชา ) ครองราชย์ พ.ศ. 1967-1991 (24 ปี)

การชนช้างของเจ้าอ้ายเจ้ายี่ เพื่อแย่งราชสมบัติ (ภาพจากหนังสืออยุธยา)
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

8) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ( พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2) ครองราชย์            พ.ศ. 1991-2031 (39 ปี)
9) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2031-2034 (4 ปี)
10) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (สมเด็จพระเชษฐา พระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)           ครองราชย์ พ.ศ. 2034-2072 (38 ปี)
11) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ( พระบรมราชามหาพุทธางกูร หรือหน่อพุทธางกูร )                       ครองราชย์ พ.ศ.2072-2076 (5 ปี)
12) สมเด็จพระรัษฏาธิราชกุมาร พ.ศ. 2076 ( ครองราชย์ได้ 5 เดือน ) พระปิตุลาเสด็จยกทัพ          มาแต่เมืองพิษณุโลก จับสมเด็จพระรัษฏาธิราชกุมารปลงพระชนม์เสีย แล้วขึ้นครองราชย์          แทนเป็นสมเด็จพระชัยราชาธิราช
13) สมเด็จพระชัยราชาธิราช หรือสมเด็จพระไชยราชาธิราช ( พระราชโอรสในสมเด็จพระ                   รามาธิบดีที่ 2) ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089 (12 ปี)

14) สมเด็จพระแก้วฟ้า หรือสมเด็จพระยอดฟ้า ( พระราชโอรสพระชนม์ได้ 11 พรรษา ในสมเด็จพระชัยราชาธิราช และพระแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ) ครองราชย์               พ.ศ. 2089-2091 (2 ปี ) โดยมีพระแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งต่อมาได้ยกขุนวรวงศาธิราช (หรือขุนชินราช) ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่เป็นได้ไม่             นาน และทางประวัติศาสตร์ไม่นับว่าเป็นกษัตริย์ ขุนพิเรนทรเทพ (ราชวงศ์เวียงชัยบุรี) กับขุนนาง ร่วมใจกันจับกุมขุนวรวงศาธิราชกับพระแม่อยู่หัวศรีสุดา               จันทร์ฆ่าเสีย แล้วถวายราชสมบัติแก่พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ในสมเด็จพระชัยราชาธิราช
15) สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หรือสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก ( สมเด็จพระเฑียรราชา พระอนุชา ( น้อง ) ต่างพระชนนีของสมเด็จพระชัยราชาธิราช ) ครองราชย์               พ.ศ. 2091-2106 (15 ปี)
16) สมเด็จพระมหินทราธิราช ( พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ) ครองราชย์ พ.ศ. 2106-2112 ทรงครองราชย์ร่วมกับพระราชบิดา พม่ายกทัพมา             ตีไทย (สมัยพระเจ้าบุเรงนอง) ในครั้งนั้นความแตกแยกกันในหมู่คนไทยมีมาก ตลอดจนมีข้าราชการทรยศต่อชาติ ในที่สุดไทยต้องเสียเอกราชให้แก่พระเจ้า               บุเรงนองๆ ให้จับเอาตัวสมเด็จพระมหินทราธิราชไปกรุงหงสาวดี หากแต่สวรรคตเสียกลางทาง

  • 3. พระราชวงศ์สุโขทัย  (ราชวงศ์เวียงชัยบุรี)

17) สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 1 ) ครองราชย์ พ.ศ. 2112-2133 (22 ปี) ในขณะนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นกับประเทศพม่า
18) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 2 ( พระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ) ครองราชย์ พ . ศ . 2133-2148 (15 ปี) ใน                 แผ่นดินนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นแก่พม่าในปี พ.ศ. 2135

19) สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 3 ( พระอนุชาในสมเด็จพระนเรศวร               มหาราช ) ครองราชย์ พ.ศ. 2148-2163 (15 ปี)
20) สมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 4 ( พระราชโอรสในสมเด็จพระ             เอกาทศรถ ) ครองราชย์ พ.ศ. 2163 ( ไม่ถึง 1 ปี ) พระศรีสิน พระราชวงศ์ เป็นพระพิมล             ธรรม เป็นกบฏจับสมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ไปสำเร็จโทษเสีย แล้วขึ้นครองราชย์สืบแทน
21) สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 1 ( พระปิตุลา ( อา ) ของสมเด็จเจ้า             ฟ้าศรีเสาวภาคย์ ) ครองราชย์ พ.ศ. 2163-2171 (8 ปี)

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

22) สมเด็จพระเชษฐาธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 ( พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ) ครองราชย์ พ.ศ. 2171-2172 (2 ปี ) เจ้าพระยากลาโหม               เข้ายึดอำนาจจับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 สำเร็จโทษเสีย แล้วถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระอนุชาของสมเด็จพระบรมราชาที่ 2
23) สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พ.ศ. 2172 ทรงมีพระชนม์ 9 พรรษา ขึ้นครองราชย์ได้ประมาณ 7 เดือน (บางฉบับว่า 36 วัน) มุขมนตรีประชุมปรึกษากันเห็น                         สมควรถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์

  • 4. พระราชวงศ์ปราสาททอง
                     สมเด็จพระนารายณ์มหาราช                                                                              (ภาพจากสมุดประติมากรรม กรุงรัตนโกสินทร์)

24) สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 5 (เดิมคือ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์)                       ครองราชย์ พ.ศ. 2172-2198 (26 ปี)
25) สมเด็จเจ้าฟ้าชัย ( เจ้าฟ้าไชย ) หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 6 ครองราชย์ พ.ศ. 2198-2199 (1 ปี )                 (เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระนารายณ์ราชกุมารกับพระศรีสุธรรมราชาคิด                 กบฏจับสมเด็จเจ้าฟ้าชัยสำเร็จโทษ)

26) สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 7 ครองราชย์ พ.ศ. 2199 (3 เดือน )                               พระนารายณ์ราชกุมารคิดกบฏเกิดศึกกลางเมือง จับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาสำเร็จโทษ                                   แล้วขึ้นครองราชย์สืบแทน
27) สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ( พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาท             ทอง ) ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231 (32 ปี) ออกพระเพทราชากับออกหลวงสรศักดิ์คิดกบฏประหาร            เจ้านายในพระราชวงศ์ แล้วเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ออกพระเพทราชาก็ขึ้นครองราชย์

  • 5. พระราชวงศ์บ้านพลูหลวง

28) สมเด็จพระเพทราชา หรือสมเด็จพระมหาบุรุษ ( ชาวบ้านพลูหลวง เมืองสุพรรณบุรี ) ครองราชย์ พ.ศ. 2231-2246 (15 ปี )
29) สมเด็จพระศรีสรรเพชญที่ 8 ( เรียกภาษาชาวบ้านว่า สมเด็จพระเจ้าเสือ ) ( เดิมเรียก ขุนหลวงสรศักดิ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา ) ครองราชย์                 พ.ศ. 2246-2251 ( 7 ปี)
30) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 9 หรือสมเด็จพระภูมินทรราชา (พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเสือ ) ครองราชย์ พ.ศ. 2251-                  2275 (23 ปี ))
31) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ( หรือบรมโกษฐ์ ) หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ( เจ้าฟ้าพร พระอนุชาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ) ครองราชย์                       พ.ศ. 2275-2301 (26 ปี)

32) สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ( เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คนทั่วไป                      เรียกขุนหลวงหาวัด ) เสวยราชย์ พ.ศ. 2301 อยู่ประมาณ 2-3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแด่พระเชษฐา
33) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ( กรมขุนอนุรักษ์มนตรี คนทั่วไปเรียกว่า ขุนหลวงขี้เรื้อน                       ทรงเป็นพระเชษฐา (พี่) เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ) ครองราชย์  พ.ศ. 2301-2310 บ้านเมืองเสื่อมโทรมอย่างหนัก พม่ามาตีได้กรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ. 2310

( จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงสารประเสริฐ และฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ เล่ม 1, 2504 : สารบัญ . และประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องของคนไทย – ปฏิวัติสามสมัย โดยประกอบ โชปราการ , สมบูรณ์ คนฉลาด และประยุทธ สิทธิพันธ์, ม.ป.ป. : 45-47 รวมทั้งหนังสือแถลงงานประวัติศาสตร์ ปีที่ 18 เล่มที่ 1, 2527 : 43-45 และทวน บุณยนิยม (2513 : 163-167)

2.5 กษัตริย์จากพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง 3 พระองค์สุดท้ายมีพระราชประวัติอย่างไร ?

  • 1. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275 – 2301) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 31 ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2275 สิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เกิดเหตุการณ์ชิงราชบัลลังก์โดยราชโอรสสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ คือ เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ ได้สู้รบกับเจ้าฟ้ามหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร หรือพระบัณฑูรน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเสืออีกพระองค์หนึ่ง) มีการฆ่าฟันกันเป็นเบือ มหาอุปราชทรงมีชัย ทรงกระทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างขนานใหญ่ โดยทรงให้นำเจ้าฟ้าทั้งสองไปสำเร็จโทษ แล้วมหาอุปราชขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (บางทีเรียก สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์) ในรัชกาลนี้มีการกำจัดข้าราชการวังหลวงยุคเดิม ซึ่งเป็นคนของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์เกือบทั้งหมด ทำให้กำลังทหารของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ มีการส่งเสริมด้านการค้า อักษรศาสตร์และวัฒนธรรม มีการแต่งวรรณคดีเรื่อง อิเหนา กาพย์เห่เรือ ปุณโณวาทคำฉันท์ กลบทศิริวิบุลกิติ โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

พ.ศ. 2276 มีเรือสำเภาจีนเข้ามาสยาม 9 ลำ และมีการส่งฑูตสยามไปเมืองจีนด้วย พฤศจิกายน พ.ศ. 2279 ฝ่ายสยามถืออาวุธไปล้อมหมู่บ้านฮอลันดาที่อยุธยา เพราะขัดแย้งกันเรื่องการตีราคาผ้าที่นำมาจากอินเดีย

พ.ศ. 2290 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี โดยเสด็จทางชลมารค (ทางเรือ) ทางลำน้ำป่าสักถึงบ้านท่าเรือแล้วเสด็จโดยสถลมารค (ทางบก) ถึงวัดพระพุทธบาท การเดินทางครั้งนี้ นาย Jacobus van der Heuvel พ่อค้าชาวฮอลันดาได้ตามเสด็จและบันทึกไว้ว่าได้ไปที่ถ้ำประทุน และธารทองแดง ทั้งยังได้ดูละครด้วย พวกมุสลิมสายสกุลบุนนาค เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในช่วงนี้ บริษัทอินเดียตะวันออก ( VOC) ของฮอลันดาซื้อหนังกวาง หนังปลากระเบนและไม้ฝางของสยาม ส่งไปขายญี่ปุ่นที่เมืองนางาซากิ ส่งดีบุก ตะกั่ว และงาช้างไปขายที่ปัตตาเวีย

พ.ศ. 2292 ไข้ทรพิษระบาด หรือฝีดาษ คนตายมาก

ภาพแสดงสินค้าหนังปลากระเบนขนาดต่างๆ ของสยาม ที่พวกฮอลันดานำไปขายญี่ปุ่นเพื่อทำด้าม จับซามูไร เมื่อพ.ศ.2290 (ค.ศ.1747) สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(ภาพจากหนังสือ ประวัติของแผ่นดินไทย : ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ร้อยล้านปี สมัยหินบ้านเชียง อยุธยา พฤษภาทมิฬ จนถึงพ.ศ.2546)

หมายเหตุ

ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส “ Variolar ” พบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2504 สามารถแพร่กระจายในอากาศ จากละอองสิ่งคัดหลั่งของคนที่เป็นโรค อาทิ น้ำมูก น้ำลายหรือจากการสัมผัสกับผิวหนังที่มีแผล มีความคงทนต่อสภาพอากาศไม่ว่าจะอากาศร้อนหรือหนาว และสามารถติดต่อจากคนไปสู่คนได้โดยง่าย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดท้อง ในบางรายอาจมีอาการทางสมอง เช่น เพ้อ อาละวาด หรือซึม จากนั้นจะเริ่มมีแผลในช่องปาก คอ หน้า ลำตัว แขน และขา ซึ่งแผลตามตัวที่เห็นจะเป็นตุ่มหนอง ตอนแรกจะดูใส ต่อมาไม่นานก็จะเป็นขุ่นแบบตุ่มหนอง

สภาพของเด็กที่เป็นไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ( Small Pox)

คล้ายอีสุกอีใส แต่รุนแรงกว่าภายใน 24-48 ชม. และใช้เวลาประมาณ 8-9 วัน กว่าที่ตุ่มหนองเหล่านี้จะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ดดำๆ และกลายเป็นแผลเป็นใน 3-4สัปดาห์ โดยมีระยะติดต่อตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีอาการ และช่วงสัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่ายที่สุด ไปจนถึงตอนที่แผลแห้งเป็นสะเก็ดแล้ว ปัจจุบันมีความพยายามที่จะนำเชื้อโรคชนิดนี้มาเป็นอาวุธชีวภาพ เนื่องจากโรคชนิดนี้มีผ ลต่อระบบทางเดินหายใจ รวมถึงโรค Anthrax, กาฬโรค (Plaque) ( http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=4632818276285 , 14/7/2547)

พ.ศ. 2294 พม่าเสียกรุงอังวะให้แก่พวกมอญ

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2294 ราชฑูตลังกามากรุงศรีอยุธยา พรรณนาไว้ว่า “ …ภายในกำแพงเมือง มีคลองหลายสายยืนแนวเดียวกัน มีเรือและผู้คนที่ไปในทางเรือมากมายเหลือที่จะพรรณนา…ร้านรวงขายสินค้าสิ่งของต่างๆ ตลอดจนพระพุทธรูปทองก็มีขาย ” สมณฑูตชาวลังกาที่เข้ามากรุงสยามจดบันทึกไว้ว่า “ วันพุธ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 นำร่องพาเรือกำปั่นแล่นเข้าปากน้ำ ไปจอดที่ตำบลอัมสเตอร์ดัมที่พวกวิลันดา (ฮอลันดา หรือประเทศเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) สร้างขึ้นไว้ที่ปากน้ำ ” ในการส่งสมณฑูตไทยไปลังกาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2295 มีบันทึกว่า “ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น 15 ค่ำออกเรือจากเมืองธนบุรีไปยังตึกวิลันดา ณ บางปลากด ”

แผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาสมัยพระเจ้าท้ายสระ โดยฟรังซัวร์ วาเลนทิน (อัมสเตอร์ดัม, พ.ศ.2269/ค.ศ.1726) (ภาพจากหนังสืออยุธยา)

พ.ศ.2296 (ค.ศ.1753) บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลแลนด์ จัดเรือส่งพระสงฆ์ไทย 19 องค์ ไปบวชพระลังกา เพราะพระเจ้ากรุงลังกา กีรติสิริราชสิงหะให้ราชทูตเดินทางมาขอพระภิกษุสยามไปสืบพระพุทธศาสนาที่เสื่อมโทรม จึงทรงให้พระอุบาลี พระอริยมุนี และพระสงฆ์อีก 50 รูปเดินทางไปลังกา โดยนำพระพุทธรูป พระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทรกับพระไตรปิฎกไปด้วย (พระไตรปิฎกฉบับดังกล่าวทางลังกาได้รักษาไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน) คณะสงฆ์สยามพักที่วัดบุพพารามเมืองแคนดี ทำการอุปสมบทสืบพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ต่อมา)

แผนที่ประเทศลังกา หรือศรีลังกาในปัจจุบัน
(ภาพจาก  http://www-user.tu-chemnitz.de/. ../srilan-map.jpg)
วัดกุฎีดาว (ภาพจาก http://www.pantip.com/cafe/gallery
/topic/G2875425/G2875425.html 
)
ภาพซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพของเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งถูกพม่าจับตัวไปหลังสงคราม พ.ศ.2310 (ภาพจากหนังสืออยุธยา)

ขณะเดียวกันปีนั้นเองพระเจ้าอลองพญา ซึ่งเคยเป็นพรานพม่าชื่อมังอองไจยะ ทรงตีเมืองอังวะและหงสาวดีได้ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พม่าตอนปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมหมื่นพรพินิต หรือขุนหลวงหาวัด ซึ่งทรงเป็นมหาอุปราชและเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (มีเรื่องเล่าว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทรงมีพระเนตรบอดหนึ่งข้าง)

ในรัชกาลนี้ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว ซึ่งเป็นวัดโบราณ สร้างก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา (อาทร จันทรวิมล, 2546 : 220-222)

หมายเหตุ
วัดกุฎีดาว เป็นวัดร้างตั้งอยู่ริมถนนในซอยวัดกุฎีดาว ใกล้กับวัดมเหยงคณ์ที่อยู่ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออก ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารชัดเจนเกี่ยวกับประวัติการสร้าง มีเพียงข้อความที่ระบุในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะที่ดำรงพระยศเป็น พระมหาอุปราชเมื่อปี พ.ศ.2254

ภายหลังการขุดแต่ง – ขุดค้น พบว่าโบราณสถานภายในวัดกุฎีดาวนี้ได้รับการสร้างขึ้นมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยปรากฏร่องรอยการก่อพอกทับที่เจดีย์ประธาน และการสร้างอุโบสถซ้อนทับอยู่บนรากฐานของอาคารเดิมในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งน่าจะเป็นงานก่อสร้างคราวปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ พร้อมกับการสร้างพระวิหารและเจดีย์รายเพิ่มเติมภายในวัด ทางด้านทิศเหนือนอกเขตกำแพงวัดยังปรากฏอาคารทรงตึก 2 ชั้น เรียกกันทั่วไปว่า “ พระตำหนักกำมะเลียน ” มีรูปแบบเช่นเดียวกับตำหนักมเหยงคณ์ และตำหนักวัดเจ้าย่า เชื่อว่าน่าจะเคยถูกใช้เป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศขณะ ทรงงานปฏิสังขรณ์วัดนี้ ( http://www.thai-worldheritage.com/thai/ayuth-monu-out-E.html , 15/7/2547)

  • 2. สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 32 ของกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระราช

โอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวษาน้อย (กรมหลวงพิพิธมนตรี ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็นกรมพระเทพามาตย์) เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงให้ลงโทษพระมหาอุปราช ( เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ) ว่าเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์ พระชายาของพระองค์ จนถึงแก่ทิวงคต ทั้งสองพระองค์ กรมหมื่นเทพพิพิธเสนาบดีกราบบังคมทูลกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ขอให้ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพร ( หรือเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ) ซึ่งในขณะนั้นเป็นกรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นพระมหาอุปราชสืบแทนเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์

มีจดหมายเหตุฝรั่งกล่าวไว้ว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรนี้เป็นผู้มีอัธยาศัยเฉลียวฉลาด ทรงรับอักขระสมัยในสำนักสงฆ์แต่ยังทรงพระเยาว์ ใฝ่พระทัยในการพระศาสนายิ่งนัก และมีพระนิสัยมักน้อย เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตทรงเห็นว่าพระราชวงศ์ไม่ปรองดองกัน เกรงจะเกิดความลำบากในวันข้างหน้า จึงทรงทำเรื่องราวขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ้างว่ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเชษฐายังมีอยู่ ขอให้ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิโรธนัก เพราะไม่ใช่พระประสงค์ของพระองค์ จึงมีพระราชดำรัสว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ หากได้ครอบครองแผ่นดินแล้วบ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติฉิบหาย พระองค์มิได้ทรงเห็นแก่เรื่องส่วนตัวเป็นใหญ่ แล้วจึงรับสั่งให้เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีไปทรงผนวชเสีย เพื่อมิให้อยู่กีดขวางกิจการบ้านเมืองต่อไป เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็จำต้องไปผนวชด้วยเกรงพระราชอาญา เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตก็ไม่กล้า ที่จะขัดรับสั่งต่อไปได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีอุปราชาภิเษกกรมขุนพรพินิตเป็นพระมหาอุปราช เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2301 และในปี พ.ศ. 2301 เดียวกันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็ประชวรหนัก และสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตพระมหาอุปราชก็เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีผู้เป็นพระเชษฐาก็ทรงลาผนวชออกมา แต่เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังประชวรอยู่ แล้วทรงตั้งพระองค์เองเป็นอิสระขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาอมรินทร์ ( หรือพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ) โดยพลการ ตั้งพระองค์เสมือนเป็นกษัตริย์ พระเจ้าอุทุมพรทรงเล็งเห็นว่าพระเชษฐามุ่งหมายจะครองราชสมบัติ พระองค์เองมิได้มีพระทัยคิดมักใหญ่ใฝ่สูง ทรงครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษก็ทรงถวายราชสมบัติแก่พระเชษฐาเจ้าฟ้าเอกทัศน์ แล้วเสด็จออกผนวช ณ วัดอัศนาน์วิหาร ( หรืออัศนาวาศน์วิหาร ) พระอารามหลวง ( เดิมชื่อวัดประดู่โรงธรรม ) นอกคูพระนครด้านตะวันออก เมื่อทรงผนวชแล้ว ราษฎรทั้งหลายก็ถวายพระนามว่า ขุนหลวงหาวัด ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 27-28)

หมายเหตุ

หลังจากที่พระเจ้าอุทุมพร ( กรมขุนพรพินิต หรือขุนหลวงหาวัด ) สละราชสมบัติให้แก่ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว ทรงออกผนวชบางคราได้เสด็จมาประทับจำพรรษาที่พระตำหนักคำหยาด ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ด้วยเพราะสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงแสดงความรังเกียจ พระเจ้าอุทุมพรจึงทรงปลีกพระองค์ออกมาอยู่ให้ไกลจากพระนคร ครั้นมีศึกพม่ามาประชิดพระนคร พระองค์ได้ทรงลาผนวชมาช่วยบัญชาการศึก ครั้นเสร็จศึกก็ออกผนวชอีก โดยได้ประทับอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เสด็จกลับมาประทับที่ วัดประดู่ทรงธรรม นอกกำแพงพระนคร

พระตำหนักคำหยาด (จำลอง) ณ เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
พระตำหนักคำหยาด อ่างทอง
(ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม 3)

พระตำหนักคำหยาดนี้เข้าใจว่า เดิมคงจะอยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ทอง ซึ่งยังไม่ร้าง …แต่ต่อมาคงจะร้างไปในคราวกรุงแตก พระตำหนักก่อด้วยอิฐถือปูน ยกพื้นสูง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร มีใต้ถุนและเจาะช่องใต้ถุนทำเป็นคูหา หน้าต่างภายในตึกเป็นแบบโค้งยอดแหลม ภายในตึกโปร่งปูพื้นด้วยกระดาน ฐานของตำหนักอ่อนโค้งแบบท้องสำเภา มี 5 ห้อง มีมุขหน้า มุขหลัง มีห้องพระ เครื่องบนพังทลาย เชื่อกันว่าอยู่ในราวศตวรรษที่ 23 ตามคติการก่อสร้างสมัยนั้น ที่นิยมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระตำหนักมีมุขย่อกระเปาะด้านหน้าทางทิศตะวันออก เครื่องบนไม่เหลือให้เห็น คงปรากฏเพียงผนังตึก ซึ่งเป็นอาคารขนาดกระทัดรัด (นำเที่ยวเมืองโบราณ : สำหรับนักเรียน, 2546 : 20)

  • 3. สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ( หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ) 

ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษาน้อย ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ทรงเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ผู้ซึ่งได้สละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์ได้เพียง 3 เดือนเศษ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ได้กระทำพิธีราชาภิเษก เมื่อพระชนม์ 40 พรรษา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ บรมราชามหากษัตริย์ บวรสุจริต ทศพิธธรรมเรศน์ เชษฐโลกนายก อุดมบรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ราษฎรทั่วไปเรียกว่า  ขุนหลวงขี้เรื้อน เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นโรคกลากเกลื้อนหรือโรคผิวหนังประจำพระองค์ ทรงมีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีอยู่โดยมาก จึงไม่ทำให้ราษฎรเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

ต่อมาไม่นานกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งออกผนวชอยู่ กับพระยาอภัยราชา และพระยาราชบุรี (พระยาเพชรบุรี- ส. พลายน้อย, 2546 : 150-153 กล่าวไว้ในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย) คบคิดกันจะเชิญพระเจ้าอุทุมพรกลับมาครองราชย์สมบัติดังเดิม และได้นำความไปกราบบังคมทูลหารือพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรๆ ได้นำความไปทูลพระเชษฐา ( สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ) ให้ทรงทราบ แต่พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอร้องอย่าให้มีการฆ่าฟันพวกที่คิดร้าย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเสียยังประเทศลังกา (คือซีลอน หรือศรีลังกาในปัจจุบัน) ส่วนข้าราชการที่ร่วมคิดกันให้จำขังไว้

นับแต่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ข้าราชการเกิดความระส่ำระสาย มีบางคนลาออกจากราชการ บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุไว้ในตอนนั้นว่า “… บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน ( พระราชชายา ) ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบถ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น (ตามพงศาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศน์ มีพระมเหสี 4 องค์ มีพระสนม 869 และมีพระญาติอีกกว่า 30 ( ขจร สุขพานิช, 2545 : 269) พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น …” ผู้น้อยเห็นผู้ใหญ่ทำ ก็ทำเช่นนั้นบ้าง ดังนั้นจึงมีการกดขี่รีดไถ มีการข่มเหงไม่เป็นธรรมอยู่ทั่วไปทุกมุมเมือง ใครมีเงินก็ใช้เงินช่วยบรรเทาความผิด ให้เป็นความไม่ผิดไปได้ ราษฎรระส่ำระสายหมดที่พึ่งพิง ซึ่งเป็นมิ่งขวัญความสามัคคีพร้อมเพรียงกันก็หย่อนลงไป เพราะขาดความยุติธรรม ข้าราชการพลเมืองขาดกำลังใจ ครั้นพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้มหาดเล็กพาลงเรือลอบเสด็จหนีออกจากเมืองไป แต่พวกพม่าไปพบที่บ้านจิก ข้างวัดสังฆาวาส เวลานั้นอดพระกระยาหารมากว่า 10 วัน พอเสด็จถึงค่ายโพธิ์สามต้นจึงสวรรคต ( สาระน่ารู้กรุงธนบุรี, 2543 : 162) แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ว่า “ หลังจากที่ทหารไปพบพระบรมศพในพุ่มไม้ใกล้บ้านจิก สิ้นพระชนม์อยู่ เพราะอดอาหารจึงคิดจะอัญเชิญพระบรมศพกลับมาถวายพระเพลิงในพระนครหลังจากสิ้นสงครามแล้ว ” (ปรามินทร์ เครือทอง, 2545 : 36) ชูสิริ จามรมาน (2527 : 64 ) และขจร สุขพานิช (2545 : 269) เขียนว่า “ … หลักฐานพม่าว่า กษัตริย์ไทย พระมเหสี และพระราชโอรส ธิดา พยายามพรางพระองค์ทรงพยายามหนีออกทางประตูเมืองด้านตะวันตก (บางเล่มว่าหนีออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูทิศตะวันตก) กษัตริย์เลยถูกลูก (ปืน) หลง ( random shot ) จนสิ้นพระชนม์ … ”

พงศาวดารพม่าระบุว่า ทัพพม่าตีเข้าพระนครได้ในเวลาตี 4 กว่าของวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนเมษายน พ.ศ.2310 ตรงกับปี 1129 ของศักราชพม่า เมื่อเข้าพระนครได้พม่าก็เผาผลาญบ้านเรือน และอารามลงสิ้น ทั้งยังริบทรัพย์จับเชลยชายหญิงข้าวของมีค่าเป็นคณานับ

ข้างพระเจ้าเอกทัศน์ ครั้นเห็นพระนครแตก ก็ปลอมพระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งสิ้น หนีออกทางประตูด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทหารพม่านำกำลังบุกเข้ามา จึงเกิดสับสนอลหม่าน พระเจ้าเอกทัศน์นั้นต้องปืนสวรรคตอยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีผู้ใดรู้ถึงการสวรรคต จนรุ่งขึ้นของอีกวันหนึ่ง ทหารพม่าจึงคุมพระองค์สอสาน พระอนุชาพระองค์หนึ่งของพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งในช่วงสงครามต้องพระอาญาจำตรวนให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้างออกค้นหาเพราะเป็นบุคคลที่จำพระพักตร์ได้ จนท้ายที่สุดมาพบพระบรมศพอยู่ที่ประตูตะวันตก จึงนำกลับเข้ามาเพื่อถวายพระเพลิง (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 68)

M. Turpin (แปลโดย ส. ศิวรักษ์, 2510 : 57) กล่าวว่า “ พระเจ้าแผ่นดินพยายามเสด็จหนี แต่มีคนจำพระองค์ได้ จึงถูกปลงพระชนม์ที่หน้าประตูวังนั้นเอง ”

ส่วนพงศาวดารหอแก้วของพม่ากล่าวตรงกับหลักฐานฝ่ายไทยคือ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศน์นั้นได้ซุ่มซ่อนพระองค์อยู่ประมาณ สิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต ( รอง ศยามานนท์ , 2527 : 43, จากหนังสือแถลงงานประวัติศาสตร์ ปีที่ 18 เล่ม 1, มกราคม 2527- ธันวาคม 2527) สมพร เทพสิทธา (2540 : 31) เขียนไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้เสด็จหนีพม่าไปซุกอยู่ในป่าละเมาะนอกเมือง และสวรรคตในที่ซ่อน พม่าตามไปพบเห็นเครื่องทรง และพระธำมรงค์ก็เอาพระศพมาให้ เนเมียวสีหบดีดู จึงให้เอาพระศพไปฝังไว้ สุกี้พระนายกองได้อัญเชิญพระบรมศพมาฝังไว้ที่โคกพระเมรุตรงหน้าวิหารศรีสรรเพชญ (แต่รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ (2537 : 18-20) กล่าวว่า ฝังไว้ที่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร) ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ขุดพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิง ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 162)

หมายเหตุ
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ ( สุริยาศอมรินทร์ ) หรือ สุริยามรินทร์ ที่เรียกกันเป็นสองอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชวิจารณ์ในเรื่องพระราชมณเฑียรในกรุงเก่าตอนหนึ่งว่า “ พระที่นั่งสุริยามรินทร์พึ่งออกชื่อเป็นครั้งแรกในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ลงมาจากลพบุรีขึ้นประดิษฐานไว้พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ในเวลานั้นมีปราสาทสามองค์ คือวิหารสมเด็จสรรเพ็ชญ์ปราสาท เบญจรัตนมหาปราสาท สององค์แรกชื่อยังคงอยู่ ต้องเข้าใจว่าพระที่นั่งเบญจรัตนนั้นเองแปลงนามเป็น พระที่นั่งสุริยา มรินทร์ เพราะอยู่ริมน้ำ เชิญพระศพมาทางเรือก็ขึ้นตั้งที่นั้น … คำที่เรียกว่า พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ พึ่งมาปรากฏภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ.. .การที่เปลี่ยนสุริยามรินทร์เป็นสุริยาศน์อัมรินทร์เห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเปลี่ยน เพื่อให้คล้องกันทั้ง 3 พระที่นั่ง ” ภายหลังพระเจ้าเอกทัศน์ประทับอยู่ในพระที่นั่งองค์นี้ เมื่อขึ้นเสวยราชย์จึงเรียกขานในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ (ส. พลายน้อย, 2546 : 406-407)

2.6 กรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่าเป็นอย่างไร ?

ก่อนอื่นต้องหา สาเหตุที่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาจะหมดกำลัง เสียก่อน เหตุที่กรุงศรีอยุธยา เสื่อมถอยหมดกำลังลงนั้น เกิดจากสาเหตุหลายประการคือ

  • 1. ความอ่อนแอในระบบป้องกันตนเองของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพวกราชวงศ์แตกแยก แก่งแย่งสมบัติ และแบ่งเป็นฝ่ายเป็นพวก เริ่มจากเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2171-2173) ทรงแย่งราชสมบัติสมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ( พ.ศ.2163 ) ครั้งนั้นได้ฆ่าขุนนางเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172-2231) ได้ฆ่าขุนนางพวกสมเด็จพระเชษฐาธิราช (พ.ศ.2171-2173) แต่จำนวนไม่มากเท่า ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) ได้ฆ่าขุนนางที่เป็นพวกสมเด็จเจ้าฟ้าชัยและสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจนเกือบหมด จึงต้องใช้ขุนนางแขก ขุนนางลาว และขุนนางฝรั่ง เช่น พระยารามเดโช พระยาราชวังสัน พระยาสีหราชเดโช และเจ้าพระยาวิชชาเยนทร์ เป็นต้น ( จากพงศาวดารกรุงเก่า : 67-68) ระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประชวรอยู่ที่พระราชวังเมืองลพบุรี พระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ก็เริ่มกำจัดทั้งเชื้อพระวงศ์ ทั้งข้าราชการไทยและต่างชาติที่เป็นคู่แข่ง หรือนิยมฝรั่งเศส แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.2231-2246) ทรงตั้งเจ้าฟ้าศรีสุวรรณขึ้นเป็นพระราชกัลยาณี ทรงตั้งกรมหลวงโยธาทิพพระบรมราชภคินีและกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมเหสีฝ่ายขวาและซ้ายตามลำดับ หลังจากทรงยกย่องภริยาเดิมเป็นมเหสีกลาง เมื่อพระมเหสีใหม่ทั้ง 2 พระองค์ประสูติพระราชโอรสองค์ละองค์ สมเด็จพระเพทราชาก็ทรงโปรดปรานยกย่องพระราชโอรสมาก เพราะทั้งสองพระองค์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นที่เคารพรักของข้าราชบริพารทั้งหลายมาก แม้จะยังคงให้ขุนหลวงสรศักดิ์เป็นพระมหาอุปราชดังเดิม แต่พระมหาอุปราชก็ทรงแคลงพระทัยในพระราชโอรส ในสมเด็จพระเพทราชา พระองค์หนึ่งคือ เจ้าพระขวัญ ส่วนอีกองค์หนึ่งคือ พระตรัสน้อย พระมารดาทรงนำไปสร้างพระตำหนักอยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ถึงพระชนม์ได้ 13 พรรษา โปรดให้ทำพิธีโสกันต์ แล้วผนวชเป็นสามเณร 5 ปี ทรงเรียนพระธรรมแตกฉาน ทรงลาผนวชเพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ แล้วพอชนมายุครบ ก็ผนวชเป็นพระภิกษุจึงพ้นราชภัยไป อีกทั้งในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ต้องไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนครราชสีมา ขุนนางที่มีฝีมือทางการรบก็คงจะตายไปเป็นจำนวนมาก

วัดพุทไธศวรรย์

ถึงแม้รัชกาลของสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8 ( พระเจ้าเสือ ) จะมีเพียง 6 ปี (พ.ศ.2246-2251) และรัชกาลสมเด็จพระภูมินทรราชา หรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.2251-2275) จะยาวนานถึง 24 ปี เมื่อรวมกันตลอด 30 ปี ก็ไม่มีสงครามกับต่างชาติเป็นการใหญ่ แต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระภูมินทรราชา ก็มีการฆ่าฟันกันเองอีก กล่าวคือ เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสทรงรบกับพระมหาอุปราชคือ เจ้าฟ้าพร ซึ่งเป็นสมเด็จอา ฝ่ายหลังชนะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 แต่ผู้เขียนประวัติศาสตร์ไทยขนานพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ อาจจะด้วยเหตุที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย ของกรุงศรีอยุธยาที่พระบรมศพ ได้ประดิษฐานในพระบรมโกศ ( ข้อคิดของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล )

ในรัชกาลนี้บ้านเมืองเจริญหลายประการ และมั่งคั่งจากการค้า แต่ก็เกิดฆ่าฟันกันเองอีกกล่าวคือ เมื่อปลายรัชกาล พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์กราบบังคมทูลฟ้องว่า สมเด็จพระมหาอุปราชเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เป็นชู้กับพระสนมเอกคือ เจ้าฟ้าสังวาลย์ พระธิดาในสมเด็จพระภูมินทรราชา ได้ความเป็นสัตย์จริง ทั้งสองพระองค์จึงถูกลงพระอาญาจนสิ้นพระชนม์

ส่วนสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อยังไม่ได้ครองราชย์ มีพระนามว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ซึ่งสมเด็จพระราชบิดา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็ทรงตระหนักดีว่า พระราชโอรสองค์นี้ทรงไม่มีความเหมาะสม ที่จะเป็น พระมหากษัตริย์ เมื่อสมเด็จพระมหาอุปราชองค์แรกต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์ จึงทรงข้ามไปโปรดฯ ให้พระราชโอรสองค์ที่ 3 คือ เจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงเป็นพระมหาอุปราช แต่พอสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ และสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไม่เกิน 3 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีก็ตั้งพระองค์เองขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์ ( กรมหมื่นจิตสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ กรมหมื่นเสพย์ภักดี ) ไม่พอพระทัยจะก่อกบฏ แต่ถูกจับได้ จึงถูกประหาร ชีวิตทั้งหมด สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรผู้ทรงเป็นพระอนุชาร่วมพระมารดา ก็ทรงตัดสินพระทัยด้วยเหตุผล ส่วนพระองค์ อาจจะผนวกด้วยพระนิสัยใฝ่สงบอีกด้วย จึงปลีกพระองค์ไปผนวชเสีย อันที่จริงการตัดสินพระทัย ทั้งนี้ก็มีส่วนให้บ้านเมืองถูกปล่อยปละละเลย จนพม่าข้าศึกทราบและฉวยโอกาสรุกรานแผ่นดินไทย แต่การที่ถูก พม่ารุกรานครั้งแรกใน พ.ศ. 2302 นั้น พระองค์ยังทรงตระหนักถึงหน้าที่ และทรงยินยอมลาผนวช ตามคำกราบทูลขอของข้าราชการผู้ใหญ่ มาทรงช่วยบัญชาการทัพเพื่อป้องกันบ้านเมือง แต่เมื่อว่างเว้นศึกพม่าไป 5 ปี และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์กลับทรงแสดงพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์อีก พระองค์ก็ทรงตัดเรื่องโลก ไปผนวชอีก และไม่ยอมลาผนวชอีกเลย จนเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกใน พ.ศ. 2310 พฤติกรรมของ เจ้าฟ้าอุทุมพร อันส่งผลให้ได้รับพระสมัญญานามว่า “ ขุนหลวงหาวัด ” นั้น ที่จริงก็มีผลกระทบถึงความพินาศ ของกรุงศรีอยุธยาด้วย ถ้าหากพระองค์ไม่ทรงใฝ่สงบเกินไป และยอมรับความจริงว่าพระเชษฐานั้น ไม่เหมาะที่จะครองราชย์ในระยะเวลาที่บ้านเมืองมีศึกใหญ่ ข้อบกพร่องต่างๆ ของบ้านเมืองก็มีช่วงเวลาถึง 5 ปี (พ.ศ. 2302-2307) ที่จะแก้ไขได้ แต่เพราะถึงกาลเวลาแห่งความสิ้นสุดของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้า เอกทัศน์ จึงทรงได้นำความเสื่อมเสียมาสู่บ้านเมือง ในการที่ทรงพระเกษมสำราญในเรื่องส่วนพระองค์ ไม่ได้ทรงกระทำหน้าที่ผู้นำของบ้านเมืองเลย

โดยขุนหลวงหาวัดก็ทรงเลิกสนพระทัยในปัญหาบ้านเมือง มุ่งหน้าปฏิบัติธรรมเท่านั้น สรุปแล้ว ผู้อยู่ในฐานะประมุขของบ้านเมืองมิได้ทรงกระทำหน้าที่ ของพระองค์ องค์หนึ่งก็หย่อนสมรรถภาพทุกประการไม่สามารถจะทรงทำหน้าที่ได้ อีกองค์หนึ่งก็ทั้งรักพระเชษฐาในทางที่ผิดและทั้งแสวงหาแต่ทางธรรมจนหมดความสนพระทัย ในสภาพการณ์อันเข้าวิกฤตของบ้านเมือง

อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้จะว่างเว้นจากสงครามกับต่างชาติรวมทั้งหมดกว่า 60 ปี แต่การกบฏระแวงไม่ไว้ใจในหมู่เครือญาติ อันเนื่องมาจากความแตกสามัคคีในระหว่างราชวงศ์และข้าราชการ ก็เป็นที่มาประการแรกของความเสื่อมของกรุงศรีอยุธยา

สรุปคือ ในสมัยการปกครองแผ่นดินของพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง เสถียรภาพทางการเมืองของอยุธยา ถูกบั่นทอนด้วยการแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนนางกับกษัตริย์ ฐานของอำนาจของขุนนางในส่วนหัวเมือง เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงได้ลดทอนอำนาจของหัวเมืองลงด้วยการลิดรอนและกดขี่ ตลอดจนออกกฎห้ามมิให้เจ้าเมืองติดต่อกันเอง เพื่อป้องกันมิให้เจ้าเมืองใดมีกำลังพอเพียง ที่จะเป็นกบฏ ต่อพระนครได้ การทำให้หัวเมืองไร้ประสิทธิภาพ เท่ากับอยุธยาได้ทำลายระบบป้องกันตนเองลง อยุธยาไม่สามารถเกณฑ์ทหารจากหัวเมืองที่อ่อนแอมารักษาพระนครได้ เมื่อพม่ายกทัพเข้าใกล้พระนคร กองทัพไทยไม่สามารถสกัดทัพพม่าไว้ให้พม่าห่างจากพระนคร คนส่วนใหญ่ขาดกำลังใจที่จะต่อสู้พม่า อย่างจริงจัง มีการหนีทัพและความวุ่นวายปั่นป่วนโกลาหลทั่วไป (ชูสิริ จามรมาน, 2527 : 56-58)

  • 2. การตั้งอยู่ในความประมาท กล่าวคือตั้งแต่พระประมุขตลอดจนข้าราชการทั้งในกรุง และหัวเมืองตลอดจนราษฎรทั่วๆ ไป (ยกเว้นชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม) ล้วนตั้งอยู่ในความประมาท ราษฎรส่วนมากหาแต่ความสุขสบาย ส่วนตัวเสนาบดีไม่บำรุงรักษาป้องกันแผ่นดิน

การที่พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าทรงรบเพื่อรวบรวมหัวเมืองมอญ แล้วยกทัพข้าม แดนไทยติดตามมอญเข้ามาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2302 เริ่มต้นด้วยการยึดครองเมืองมะริด ( เมืองท่าของอาณาจักรอยุธยา ) ทวาย ตะนาวศรีได้โดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายไทย    ก็ทรงยกทัพข้ามเขาและเลียบฝั่งทะเลตีได้เมืองกุย เมืองปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และขึ้นเหนือมาทางสุพรรณบุรี จนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ 2-3 เดือน ทางกรุงศรีอยุธยาก็มีการโต้ตอบน้อยมากเพราะตั้งอยู่ในความประมาทโดยแท้ เมื่อบ้านเมืองเว้นว่างจากสงครามภายนอกไปหลายสิบปี ก็คงจะ เพิกเฉยมิได้ทะนุบำรุงกองทัพ มิได้ฝึกทหารเพื่อไว้ใช้ในสงคราม ชายฉกรรจ์เองก็คงหมดความกระตือรือร้นในเชิงการเป็นทหาร

ยังไม่ทันที่พระเจ้าอลองพญาจะข้ามแดนไทยก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ตามหลักฐานไทยว่ามีพระนามว่า มังลอก (แต่พม่าใช้พระนามว่า นองดอคยี) ขึ้นครองราชย์ได้เพียง 3 ปี ก็ทิวงคต ในระหว่าง 3 ปีที่ครองราชย์ ก็ทรงต้องปราบปรามทั้งการกบฏของพระญาติและการแย่งเมือง ของเจ้าเมืองต่างๆ ยังไม่เรียบร้อยดี ก็ทิวงคตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2306 พระอนุชาองค์ต่อไปที่หลักฐาน ของไทยขนานนามว่า “ มังระ ” และพม่าว่าพระนามเดิมคือ “ มะเยดูเม็ง ” (แต่เป็นที่รู้จักในพระนามชินบยูชิน) ได้ขึ้นครองราชย์และยังทรงจัดการบ้านเมืองอยู่ ไทยจึงไม่ได้ถูกพม่ารุกรานถึง 5 ปี แต่ไทยก็มีความประมาท สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็ มิได้ปรับปรุงกองทัพ ไม่ปรากฏหลักฐานการคัดเลือกแม่ทัพหรือนายทหาร แม้การฝึกพลทหารก็ถูกปล่อยปละละเลย อีกทั้งอาวุธก็ไม่มีการสะสมเพิ่มเติม ทั้งที่ชาวต่างประเทศตะวันตกได้แก่ โปรตุเกสที่เคยขายและสอนการใช้ปืนใหญ่ให้ไทยมาหลายร้อยปีแล้ว อังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศสก็ยังมา สอนศาสนาบ้าง มาค้าขายบ้าง มีจดหมายโต้ตอบและจดหมายเหตุของบาทหลวงชาวฝรั่งเศส และพ่อค้าชาว ฮอลันดา ซึ่งกรมศิลปากรได้รวบรวมฉบับแปลเป็นภาษาไทยไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 ซึ่งก็พอกล่าวอย่างสังเขปว่า “ …สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์นั้น เมื่อไม่ทรงสามารถจะหานายทหารไทย ที่มีความสามารถมาช่วยรบ ก็ขอให้ชาวต่างประเทศช่วย ชาวต่างประเทศเหล่านี้ก็มิใช่ทหาร จึงช่วยได้เท่าที่พอ จะทำได้ อาวุธก็มีไม่มาก และก็ยังมีการกบฏที่หัวเมืองเกิดขึ้นเนืองๆ เมื่อปราบได้ก็ทรงให้ฆ่าเสีย จึงยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังทางทหารลงไปอีก… ” แทนที่จะปรับปรุงการป้องกันบ้านเมือง หรือแก้ไขข้อบกพร่องอันเป็นชะนวนให้เกิดกบฏ จัดว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างประมาท ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ทั้งในด้านการปกครองประเทศ ทั้งในด้านการป้องกันบ้านเมือง

ฝ่ายข้าราชการเมื่อตระหนักว่าพระเจ้าแผ่นดินหย่อนสมรรถภาพเช่นนั้น ก็น่าจะช่วยทางหนึ่งทางใด เช่นส่งเสริมให้มีการฝึกทหาร หรือหาทางกราบบังคมทูลให้ตระเตรียมการป้องกันบ้านเมือง เพราะท่าทีพม่าเมื่อมังระหรือพระเจ้าชินบยูชินขึ้นครองราชย์ ก็เห็นได้ชัดว่ารวบรวมกำลังเป็นปึกแผ่นทำนองเดียวกับพระเจ้าอลองพญา และก็ทราบกันดีว่าพระองค์เคยเสด็จมาล้อมกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับพระราชบิดา ( พระเจ้าอลองพญา ) ก็ย่อมรู้ทางหนีทีไล่ในเขตขันธสีมาไทย ตลอดจนรู้ถึงความหย่อนเชิงฝีมือรบของไทย น่าที่ไทยจะเตรียมปรับปรุงกำลังการฝึกซ้อมวิธีการรบและการใช้อาวุธให้มีประสิทธิภาพในเชิงการรบ แต่เราก็ประมาทอย่างไม่มีทางแก้ตัว

แม้กษัตริย์พม่า (พระเจ้ามังระ) มิได้เสด็จเองเช่นครั้งพระเจ้าอลองพญา แต่ก็ทรงรู้ลู่ทางเดินลัดเข้ามาทางตะวันตกของเมืองไทย ก็ทรงส่งกองทัพมาเส้นทางเดียวกันกับในพ.ศ. 2306 ทางหนึ่ง ไทยก็ มิได้เตรียมกำลังไว้ต่อต้านพม่า เลย แสดงความประมาทอย่างโจ่งแจ้ง พม่าจึงเดินทัพเข้ามาอย่างสะดวกสบายข้ามแดนไทยมายึดเมืองต่างๆ มาถึงราชบุรีพักทัพอยู่ถึง 4 วัน เมื่อไทยส่งทหารไปลาดตระเวณ จึงไปปะทะทัพพม่า ซึ่งหลักฐานทางพม่าว่าแม่ทัพพม่าชื่อ ออกญา ยศวันฐาน (Yazawunthan) ต่อมาเมื่อไทยส่งกำลังทัพไปต่อต้านพม่า อาวุธไม่พร้อม นายทหารและพลทหารก็ไม่ได้ฝึกการรบจึงแพ้ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าอาวุธก็ไม่พร้อมเพรียง อย่างชาวเมืองวิเศษไชยชาญ และชาวบ้านบางระจัน ก็ยังต่อต้านพม่าอย่างเข้มแข็ง จนพม่าต้องวางอุบายต่างๆ จึงพ่ายแพ้ แต่ก็ยอมเสียชีวิตทั้งหมด

หมายเหตุ : วีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน
ในปี พ.ศ. 2307 พม่ายกทัพเข้ามาดูลาดเลาของไทย เนื่องจากไทยมีการผลัดแผ่นดิน พม่าเข้ามาจนถึงสุพรรณบุรี สิงห์บุรีแล้ว แต่กองทัพไทยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็ยังไม่ยกออกไปต้านข้าศึก กองทัพพม่าจึงยกเข้ามาถึงบ้านบางระจัน (จังหวัดสิงห์บุรี)

อนุเสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน
ค่ายบางระจัน
(ภาพจากสมุดภาพประติมากรรมกรุงรัตนโกสินทร์ และสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่ม 3)
แผนที่ตั้งสังเขปแสดงที่ตั้งอำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
(ภาพจากหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 3 ค้างคาวกินกล้วย, เพลง-จิตรกรรมกระบวนจีน)

ชาวบ้านบางระจัน และชาวเมืองสรรค์ได้รวมตัวกันภายใต้การนำของพระครูธรรมโชติ และหัวหน้าชาวบ้านจำนวน 11 คน คือ

1 . นายแท่น ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
2. นายอิน ชาวบ้านศรีบัวทอง เเขวงเมืองสิงห์บุรี
3. นายเมือง ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
4.นายโชติ ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
5. นายดอก ชาวบ้านกรับ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ

6. นายทองแก้ว ชาวบ้านโพธิ์ทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
7. ขุนสรรค์สรรพกิจ ( ทนง ) กรมการเมืองสรรคบุรี
8. นายพันเรือง กำนันตำบลบางระจัน
9. นายทองแสงใหญ่ ผู้ช่วยกำนัน ตำบลบางระจัน
10. นายจันเขียวหรือจันหนวดเขี้ยว นายบ้านโพธิ์ทะเล
11. นายทองเหม็น ผู้ใหญ่บ้าน

ต่อสู้กับพม่าข้าศึกด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวถึง 7 ครั้ง ครั้งสุดท้ายพม่าให้สุกี้นายกองมอญซึ่งเคยมาอาศัยข้าวแดงแกงร้อนเมืองไทยกินจนเติบใหญ่ รู้ทางหนีทีไล่ยกกองทหารไปตีค่ายบางระจันด้วยการใช้ปืนใหญ่ยิงถล่มเข้าไปในค่าย จนชาวบ้านบางระจันบาดเจ็บล้มตายไปทุกวัน ขุนสรรค์จึงพาชาวบ้านบางระจันส่วนหนึ่ง เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชทานปืนใหญ่ไปต่อสู้พม่า แต่สมุหกลาโหมได้กราบทูลไม่ให้ทรงอนุญาต โดยเกรงว่าปืนใหญ่ที่ให้ชาวบ้านบางระจันไปจะถูกพม่าชิงเอาไปเป็นอาวุธยิงถล่มกรุงศรีอยุธยา พระอาจารย์ธรรมโชติ (วัดเขาบางบวช) จึงเป็นประธานหล่อปืนใหญ่สองครั้งสองหน แต่ปืนใหญ่แตกใช้การไม่ได้ หล่อครั้งที่สามยิงได้นัดเดียวปืนก็ระเบิดหมดหนทาง ในที่สุดชาวบ้านบางระจันจึงได้รวบรวมเด็กเล็กและสตรีที่อ่อนแอขึ้นเกวียนเล็ดลอดหนีภัยออกไปทางด้านหลัง

ตอนเช้าตะวันรุ่ง หลังจากกินอาหารมื้อสุดท้ายแล้ว ชาวบ้านบางระจันก็เปิดค่ายดาหน้ากันเข้าห้ำหั่นกับศัตรูอย่างกล้าหาญ โดยมิเสียดายชีวิต สุกี้นายกองได้สั่งให้ยิงปืนใหญ่ใส่ชาวบ้านบางระจันฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่เหลือฝ่าดงปืนใหญ่เข้าต่อสู้กับพม่าข้าศึกที่มีกำลังเหนือกว่ามาก จนตายกันหมดเลือดนองแผ่นดินไทย ค่ายบางระจันก็แตก เมื่อวันจันทร์เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีจอ ใช้เวลาในการต่อสู้นาน 5 เดือน ในที่สุดพม่าก็สามารถเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ (สมพร เทพสิทธา, 2540 : 19-20)

ต่อมา ผู้รักผืนแผ่นดินไทย จังหวัดสิงห์บุรีพร้อมด้วย ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกัน สร้างอนุสาวรีย์ เพื่อระ ลึกถึงความกล้าหาญ รักชาติและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2519 และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี ราชการกำหนดให้เป็นวันพิธีน้อมรำลึกถึงวีรกรรมของวีรชนตลอดมา ( http://kanchanapisek.or.th/kp8/sbr/sbr203.html , 15/7/2547)

สาเหตุแห่งความประมาทอีกประการก็คือ คนไทยไม่พร้อมรบในการป้องกันประเทศ กล่าวคือ ไม่คำนึงถึงบทเรียนที่พม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งพระเจ้าอลองพญา ว่าพม่าใช้วิธีเด็ดขาดเช่น การใช้ปืนใหญ่เข้ามาระดมยิงอย่างใกล้ชิด และลงทุนทำนาเพื่อเตรียมไว้เป็นเสบียง เป็นต้น ไทยก็ประมาท มิได้ตัดทางมิให้พม่าฉวยโอกาสทำนาได้ แถมทางฝ่ายไทยเองก็ มิได้เตรียมการล่วงหน้า ที่จะรวบรวมเสบียงไว้ให้มากๆ มัวแต่เชื่ออย่างแต่ก่อนว่าพอถึงฤดูน้ำหลากพม่าก็จะถอนทัพกลับ แต่เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าพม่าปักหลักอยู่ปีกว่ามิได้หนีน้ำ กลับหาเรือมาและทำนาเสียเอง ไทยก็ยังมุ่งมั่นแต่จะป้องกัน กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว ทิ้งหัวเมืองไว้ตามยถากรรม และยังเรียกเอาเจ้าเมืองที่เป็นนายทหารมีฝีมือ เช่น พระยาตาก และท่านอื่นๆ อีกเข้ามาช่วยรบอยู่แต่ในกรุง แถมมาอยู่ใต้กฎเกณฑ์เข้มงวดของพระเจ้าแผ่นดิน ที่บัญชาการทัพไม่เป็น ถึงจะมีนายทหารมีฝีมืออย่างไร ก็ไม่สามารถต่อต้านพม่าได้ และด้วยการลงโทษอย่างรุนแรง ขุนนางหัวเมืองจึงไม่มีผู้ใดคิดยกกำลังมาช่วย โดยยังมิได้รับคำบัญชาการ แต่ก็ปรากฏว่าทั้งเหนือใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ พอเสียกรุงศรีอยุธยาต้นปี พ.ศ. 2310 ก็มีผู้มีความสามารถหลายคนรวบรวมตั้งเป็นก๊กต่างๆ และแสดงถึงความมักใหญ่ใฝ่สูง โดยที่ไม่ได้คิดจะกอบกู้อิสระภาพ ( แต่ไม่ทุกก๊ก ) (ชูสิริ จามรมาน, 2527 : 58-60)

  • 3. ระบบงานที่ไร้ประสิทธิภาพของอยุธยา

อย่างน้อย 2 เรื่องคือ ความไร้ระเบียบในระบบไพร่ และความบกพร่องในด้านข่าว (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 2543 : 33-34)

3.1 ความไร้ระเบียบในระบบไพร่ หลวงต้องสูญเสียกำลังไพร่ให้ขุนนางและเจ้าเมืองต่างๆ เป็นอันมาก อีกทั้งยังมีการหลบหลีกไม่ยอมขึ้นทะเบียนหลวง ทำให้              การจัดกำลังทัพเป็นไปอย่างยากลำบาก และจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ไม่สามารถส่งทัพใหญ่ไปต้านทัพพม่าตามหัวเมืองทางผ่านของพม่าได้
3.2 ความบกพร่องในด้านการข่าว ทำให้ข้อมูลในการเดินทัพและกำลังพลของพม่าสับสน ไทยต้องจัดทัพออกตั้งรบพม่าในหลากหลายท้องที่ กำลังพล                       กระจัดกระจายอ่อนแอรวนเรไม่สามารถสู้รบได้ กองทัพไทยแตกพ่ายถอยร่นกลับอยุธยาทุกครั้งที่เผชิญทัพพม่า

ความโกลาหล ความระส่ำระสายและความอ่อนแอที่เกิดขึ้นในกระบวนการล่มสลาย ของอยุธยานั้นอาจจะเป็นความล้มเหลวของผู้นำเพียงส่วนหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่าราชอาณาจักรอยุธยามิได้มีโอกาสต่อสู้กับข้าศึกเยี่ยงราชอาณาจักรจะพึงกระทำได้

  • 4. แผนอันแยบยลของพม่าเพื่อพิชิตกรุงศรีอยุธยา

พม่าได้วางแผนพิชิตกรุงศรีอยุธยาอย่างแยบยล ด้วยการส่งทัพมากระหนาบกรุงศรีอยุธยา 2 ทาง ทั้งจากทางเหนือและทางใต้ ทำสงครามแบบกองโจรใช้เวลา 3 ปี ตีหัวเมืองต่างๆ ทัพจากเหนือและทางใต้มาบรรจบกันในปลาย พ.ศ. 2308 พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาจนถึง พ.ศ. 2310 ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2310 กำแพงพระนครศรีอยุธยาก็ถูกทลายลง พม่ากรีฑาทัพเข้ายึดเมืองไว้ ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สิน เผาเมืองและวัดวาอาราม พระนครศรีอยุธยามิได้ถูกทำลายทางวัตถุเท่านั้น มีการทำลายล้างทางไสย-ศาสตร์ผสมด้วย อันได้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวไทยยึดถือเป็นมิ่งขวัญและกำลังใจ เรียกได้ว่า แม้ “ ขวัญของเมือง ” ก็สูญสลายเพื่อมิให้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นได้อีก การล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาในครั้งนี้ จึงมิใช่การสูญเสียเอกราชของรัฐหนึ่งให้แก่อีกรัฐหนึ่ง หากแต่เป็นการสูญสลายอย่างสิ้นเชิงของอาณาจักรหนึ่งที่เคยเจริญรุ่งเรือง คงเหลือไว้แต่เพียงชื่อให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 2543 : 35-36)

ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 11-12 ) ได้สรุปเหตุแห่งความเสื่อมของอาณาจักรอยุธยาไว้ดังนี้

1. ความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าในทางทฤษฎีพระมหากษัตริย์ของ กรุงศรีอยุธยาจะทรงเป็นทั้งเจ้าชีวิตและเจ้าแผ่นดิน เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีกษัตริย์น้อยพระองค์มากที่สามารถดำรงรักษาพระราชอำนาจเหล่านั้นไว้ได้อย่างมั่นคง ดังปรากฏในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีการแย่งชิงอำนาจโค่นราชบัลลังก์กันอยู่เสมอในระยะเวลา 417 ปีนี้มีกษัตริย์เพียง 20 พระองค์เท่านั้นที่สามารถรักษาราชบัลลังก์ไว้ได้โดยไม่ถูกรัฐประหารถอดจากราชสมบัติ สำหรับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ความไม่มั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์คือ ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในด้วย

2. ความขัดแย้งภายในชนชั้นผู้ปกครองในอาณาจักรอยุธยา ความขัดแย้งภายในชนชั้นผู้ปกครองมีทั้ง ในรูปของความขัดแย้ง ระหว่างกษัตริย์กับราชวงศ์ ความขัดแย้งระหว่างราชวงศ์ด้วยกันเอง ความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับกษัตริย์ ความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับราชวงศ์ และความขัดแย้งระหว่างขุนนางกับขุนนาง ความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการปกครอง สถานภาพทางเศรษฐกิจ และสมรรถภาพในการป้องกันประเทศและรักษาอาณาจักร

3. ระบบการปกครองขาดประสิทธิภาพ กล่าวคือ การควบคุมกำลังคน และการควบคุมพระราชอาณาเขตไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกิดการจราจล และกบฏบ่อยๆ เป็นการบั่นทอนอำนาจและความมั่นคงของอาณาจักร

4. ข้าศึกมีความเข้มแข็งมากกว่า และได้เตรียมแก้ปัญหาทางด้านยุทธศาสตร์ที่อาณาจักร อยุธยาเคยใช้ได้ผลไว้เรียบร้อยแล้ว

ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าว ทำให้กรุงศรีอยุธยาไม่สามารถรักษาสถานภาพเอาไว้ได้ ต้องเสียให้แก่พม่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2310

พลตรี จรรยา ประชิตโรมรัน (2536 : 193-194) ได้กล่าวถึงสาเหตุของการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า โดยสรุปได้ดังนี้

1. พระเจ้าเอกทัศน์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแอปราศจากพระปรีชาสามารถ การปกครองแผ่นดิน ในระยะเวลา 9 ปี ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
2. สภาพบ้านเมืองทรุดโทรมลง เนื่องมาจากการชิงราชสมบัติ หรือในปัจจุบันเรียกว่า รัฐประหาร มิใช่การปฏิวัติด้วยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเดิม
3. บรรดาเจ้านายก็ไม่มีความรักสามัคคีต่อกัน มุ่งที่จะเป็นใหญ่ในบ้านเมือง เกือบไม่ได้มีส่วนในการบริหาร ราชการแผ่นดิน เว้นเมื่อมีศึกสงครามมาประชิดกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ข้าราชการก็แตกความสามัคคีกันหลายคราว
4. พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงเกือบไม่ได้พัฒนาบ้านเมืองแต่อย่างใด การเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรก็ไม่ได้มีการทำนุบำรุงให้ดีขึ้น การค้าก็ทำเหมือนอย่างที่ได้ทำกันมาแล้ว
5. ถ้าหากราชวงศ์อลองพญาโดยเฉพาะมังระไม่ได้ครองพม่าแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็คงรอดพ้นจากการรุกรานจนสูญเสียแก่พม่าข้าศึก มังระมีความมุ่งหมายอย่างแน่วแน่ที่จะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ ทางกรุงศรีอยุธยาคงทราบข่าวนี้และได้จัดการทำนุบำรุงการป้องกันพระนครและสะสมเครื่องศาสตราวุธ แต่คงไม่มากเพียงพอ คงเนื่องจากขาดเงินทองสำหรับรายจ่ายประเภทนี้

หมายเหตุ

เพลงยาวทำนายดวงเมืองอยุธยา

จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนะราชพระศาสนา … มหาดิเรกอันเลิศล้น
เป็นที่ปรากฏรจนา … สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรีสีมามณฑล … จบสกลลูกค้าวาณิช
ทุกประเทศสิบสองภาษา … ย่อมมาพึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นอกนิษฐ์
ประชาราษฎร์ปราศจากภัยพิษ … ทั้งความวิกลจริตและความทุกข์
ฝ่ายองค์พระบรมราชา … ครองขัณฑสีมาเป็นสุข
ด้วยพระกฤษฏีกาทำนุก … จึงอยู่เป็นสุขสวัสดี
เป็นที่อาศัยมนุษย์ในใต้หล้า … เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี
ทุกนิกรนรชนมนตรี … คฤหบดีพราหมณ์พฤฒา
ประดุจดังศาลาอาศัย … เหมือนหนึ่งร่มพระไทรสาขา
ประดุจหนึ่งแม่น้ำคงคา … เป็นที่สิเนหาเมื่อกันดาร
ด้วยพระเดชเดชาอานุภาพ … อาจปราบไพรีทุกทิศาน
ทุกประเทศเขตขัณฑ์บันดาล … แต่งเครื่องบรรณาการมานอบนบ
กรุงศรีอยุธยานั้นสมบูรณ์ … เพิ่มพูนด้วยพระเกียรติขจรจบ
อุดมบรมสุขทุกแผ่นภพ … จนคำรบศักราชได้สองพัน
คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย … จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ … จนเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์ 16 ประการ
คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพศ … อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ … เกิดนิมิตพิศดารทั้งบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดเป็นเลือดนก … อกแผ่นดินจะบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง … ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร
พระเสื้อเมืองก็จะเอาตัวหนี … พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้ … อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่อห่อนผิด … เมื่อพินิจพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม … มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น … เกิดวิบัตินานาทั่วสากล
เทวดาผู้รักษาพระศาสนา … จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สับปุรุษจะแพ้แก่ทุรชน … มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว … คนชั่วจะล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก … จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย
ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ … นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย … น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า … เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพย์สม
ผู้ทรงศีลจะเสียซึ่งอารมณ์ … เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา
พระมหากษัตริย์จะเสื่อมสิงหนาท ประเทศชาติจะเสื่อมซึ่งยศฐา
อาสัตย์จะเลื่องฤๅชา … พระธรรมจรรยาฤๅกลับ
ผู้กล้าจะเสื่อมใจหาญ … จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์ … สับปุรุษจักอับซึ่งน้ำใจ
ทั้งอายุขัยจะถอยเคลื่อนเดือนปี … ประเวณีจะรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนหย่อนไป … ผลหมากรากไม้จะถอยรส
ทั้งเภทพรรณว่านยาก็อาเพศ … เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส … จะถอยถดไปตามประเพณี
ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง … สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี … ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศเขตราชธานี … จะบังเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างจากใจทั้งไพร่พล … จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย
จะร้อนอกสมณาประชาราษฏร์ … จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวอดวาย … ผู้คนจะล้มตายกันเป็นเบือ

ทั้งทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก … เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงสาราสัตว์เนื้อเบื้อ … จะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน
ทั้งฝูงคนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย … จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาฬจะมาผลาญซึ่งแผ่นดิน … จะสูญสิ้นด้วยการณรงค์สงคราม
กรุงศรีอยุธยาจะสูญแล้ว … จะกลับรัศมีแก้วทั้งสาม
ไปจนคำรบปี เดือน คืน ยาม … จะสิ้นนามศักราชถ้วนห้าพัน
กรุงศรีอยุธยาเกษมสุข … แสนสนุกสุขล้ำเมืองสวรรค์
จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ … นับวันจะเสื่อมสูญเอย .

(ตัดลอกจาก http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W2537795/W2537795.html , 1/9/2547)

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

คราทีนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลาย
จะเกิดความอันตรายเป็นแม่นมั่น
ด้วยผู้มีอำนาจขาดทศพิธราชธรรม์
จึงเกิดเข็ญเป็นอัศจรรย์สิบหกประการ

คือดาวเดือนดินฟ้าจะอาเพศ
อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ
เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง

พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก
อกแผ่นดินจะบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง
ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร

พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี
พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้
พระธรณีจะตีอกไห้
อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม

ในลักษณะทำนายไว้บ่ห่อนผิด
เมื่อวินิจพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม
…………………………….( ตก )

………………………………( ตก )
มิใช่เทศกาลฝนก็จะอุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด
เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา
จะรักษาแต่คนอกุศล
สัปปุรุษจะแพ้แก่ทรชน
มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก

ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว
คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก
จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ
นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย
น้ำเต้าอันน้อยจะถอยจม

ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า
เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์
เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

พระมหากษัตริย์จะเสื่อมซึ่งสีหนาท
ประเทศราชจะเสื่อมซึ่งยศถา
อาสัตย์จะเลื่องลือชา
พระธรรมจะตกลึกลับ

ผู้กล้าจะเสื่อมในหาญ
จะสาบสูญวิชาการทั้งปวงสรรพ
ผู้มีสินจะถอยจากทรัพย์
สัปปุรุษจะอับซึ่งน้ำใจ

ทั้งอายุจะถอยเคลื่อนจากเดือนปี
ประเวณีจะแปรปรวนตามวิสัย
ทั้งพืชแผ่นดินจะผ่อนไป
ผลหมากรากไม้จะถอยรส

ทั้งแพทย์พรรณว่านยาก็อาเพศ
เคยเป็นคุณวิเศษก็เสื่อมหมด
จวงจันทร์พรรณไม้อันหอมรส
จะถอยถดไปตามประเพณี

ทั้งข้าวจะยากหมากจะแพง
สารพัดแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะเกิดทรพิษมิคสัญญี
ฝูงผีจะวิ่งเข้าปลอมคน

กรุงประเทศราชธานี
จะเกิดการกุลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล
จะสาละวนทั่วโลกทั้งหญิงชาย

จะร้อนอกสมณะประชาราษฎร์
จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย
ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ …

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยานี้ บางตำราวรรณคดีระบุว่า พระนารายณ์มหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ บ้างก็ว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศวร์ทรงนิพนธ์ บ้างก็ว่าแต่งช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขณะใกล้กรุงแตก อย่างไรก็ตามวรรณคดีเรื่องนี้มีผู้นิยมอ่านและจดจำกันไม่น้อยเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนก่อนกรุงแตก กับเหตุการณ์โลกปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งกล่าวไว้คล้ายๆ กันคือ กาพย์พระไชยสุริยา (ดูช่วงสุนทรภู่) และไปละม้ายกับ พุทธทำนายให้พระเจ้าปเสนทิโกศล ของพระพุทธเจ้า 10 ข้อ หลังพุทธกาล (คมทวน คันธนู , 2541 : 10 5-108)