สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 5 เหตุการณ์หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า
5.1 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อไหร่ ?
ครั้นถึงวันอังคารเดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน ( นพศก จ.ศ.1129) ตรงกับ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นวันเนาว์สงกรานต์เพลาบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกๆ ค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เพลาค่ำ 8 นาฬิกา แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารปีนปล้นพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน พวก ทหาร ไทยที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็เข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาตั้งแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ 1 ปี กับ 2 เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก ( จรรยา ประชิตโรมรัน, 2536 : 169 )
พงศาวดารพม่าระบุว่าทัพพม่าตีเข้าพระนครศรีอยุธยาได้ในเวลาตี 4 กว่า ของวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนเมษายน พุทธศักราช 2310 ตรงกับปี 1129 ของศักราชพม่า (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 68) โปรดสังเกตว่าวันที่กรุงศรีอยุธยาแตกตามหลักฐานของฝ่ายไทยและพม่าผิดกัน 3 วัน อาจเป็นเพราะการกำหนดเกณฑ์การตีความหมายว่าพม่าเข้ากำแพงเมืองได้หรือยึดวังหลวงได้ หรือมีการจดวันคลาดเคลื่อน (อาทร จันทวิมล, 2546 : 229)
คนทรยศ ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า หน้า 174 บอกว่า มีคนไทยชื่อ พระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศาสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาว่าจะเปิดประตูคอยรับเมื่อพม่าเข้าโจมตี และประตูที่พระยาพลเทพ เปิดให้ก็เป็นประตูเมืองทางทิศตะวันออกเข้าใจว่าคงเป็นบริเวณหัวรอ หรือจะห่างจากบริเวณนี้ก็ไม่เท่าใด ซึ่งพม่าก็ได้ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยามาทางนี้ตามที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ โดยเข้าไปได้ในเวลากลางคืน ส่วนวันตามคำบอกของชาวกรุงเก่านั้นตรงกับวันที่กรุงแตกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่เชลยไทยได้เห็นในขณะนั้น
พงศาวดารหลายฉบับได้กล่าวไว้ว่า เมื่อกรุงใกล้จะแตก ไทยได้เกิดมุมานะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง รบจนพม่าแตกกลับไปทุกครั้ง จนพม่าต้องตั้งล้อมนิ่งอยู่คราวหนึ่ง และเมื่อเวลากรุงแตกนั้น คนไทยที่สู้รบตายคาแผ่นดินอยู่บนกำแพงเมือง และตามที่ต่างๆ คงจะเห็นการกระทำของพระยาพลเทพได้เป็นอย่างดีน่าเสียดายที่ภายหลังต่อมา เราไม่ทราบชะตากรรมของพระยาผู้ทรยศต่อชาติคนนี้ ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 171 )
5.2 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พม่าจัดการกับไทยอย่างไรบ้าง ?
เมื่อพม่าเข้าพระนครได้นั้นเป็นเพลากลางคืน (พงศาวดารพม่ากล่าวว่า เป็นเวลาประมาณตี 4, สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 68) พม่าไปถึงไหนก็เอาไฟจุดเผาเหย้าเรือนของชาวเมืองเข้าไปจนถึงปราสาทราชมณเทียร ไฟไหม้ลุกลามแสงเพลิงสว่างดังกลางวัน ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้แล้ว ก็เที่ยว ฉกชิงและ เก็บรวบรวมทรัพย์ จับผู้คนอลหม่านทั่วไปทั้งพระนคร แต่เพราะเป็นเวลา

พงศาวดารบันทึกว่า “ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก คือวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 วันเสาร์ วันเนาว์
สงกรานต์วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนเชื้อใต้รากกำแพงตรงหัวรอริมป้อมมหาไชย… ถึงเพลาสองทุ่ม
จึงให้จุดเพลิงสัญญาณขึ้น พลพม่าทุกด้านทุกกองซึ่งเตรียมไว้ ก็เอาบันไดพาดที่กำแพงทรุด และที่อื่นๆ
รอบพระนครพร้อมกัน ก็ปีนเข้ากรุงได้ในเพลานั้น และจุดเพลิงขึ้นทุกตำบล เผาเหย้าเรือน อาวาส และ พระราชวังปราสาทราชมณเฑียร (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
กลางคืนพวกชาวเมืองจึงหนีรอดไปได้มาก พม่าจับได้ประมาณ 30,000 คน และจับได้พระเจ้าอุทุมพรซึ่งผนวชอยู่ กับเจ้านายทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระภิกษุสามเณร ที่หนีไม่พ้นพม่าก็จับเอารวมไปคุมไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนผู้คนพลเมืองที่จับได้ก็แจกจ่ายกันไปคุมไว้ ตามค่ายนายทัพนายกองทั้งปวง จากนั้นพม่าก็เที่ยวตรวจเก็บบรรดาทรัพย์สมบัติทั้งสิ่งของของหลวง ของราษฎร ตลอดจนเงินทองของเครื่องพุทธบูช าตามพระอารามใหญ่น้อย ไม่เลือกว่าของที่จะหยิบยกได้หรือไม่พึงหยิบยกได้ พม่ายังเอาทรัพย์ซึ่งราษฎรฝังซ่อนไว้ตามวัดวาบ้านเรือนต่อไปอีก เอาราษฎรที่จับไว้ได้ไปชำระซักถาม แล้วล่อลวงให้ ส่ อกันเอง ใครเป็นโจทย์บอกทรัพย์ของผู้อื่นได้ ก็ยอม ให้ปล่อยตัวไป ส่วนผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ถ้าไม่บอกให้โดยดีพม่าก็เฆี่ยนตี และทำทัณฑกรรมต่างๆ เร่งเอาทรัพย์จนถึงล้มตายก็มี


สภาพเหตุการณ์ราษฎรต่างหนีสงคราม (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ เป็นการศูนย์เสียที่ใหญ่หลวงของชาติไทย พม่าไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ทรัพย์สินสมบัติสูญเสียถูกทำลาย ถูกขุดค้นไปทั่วทุกแห่งหน โดยตั้งใจจะไม่ให้ไทยมีทรัพย์สมบัติอะไรเหลืออยู่ แม้แต่วัดวาอารามอันวิจิตรงดงาม เป็นที่เคารพในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาเดียวกับพม่า พม่าก็เอาไฟเผา และเอาไฟสุมพระพุทธรูปพระศรีสรรเพ็ชรดาญาณ (พระพุทธรูปยืน ทองหล่อหนัก 53,000 ชั่ง (44,166.66 กิโลกรัม) ในสมัยนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ ประดิษฐานในพระวิหารหลังกลาง วัดพระศรีสรรเพชญ์) เพื่อให้ทองคำหุ้มองค์ละลาย เก็บเอาทองคำที่หุ้มองค์พระพุทธรูปหนัก 286 ชั่ง (238.33 กิโลกรัม) ไปใช้ประโยชน์ที่เมืองพม่า อีกทั้งได้กวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยและทาสยังเมืองพม่า พม่าเอาไฟเผาบ้านเรือนทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ 15 วัน (ทวน บุญยนิยม , 2513 : 48-50)
“… ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และพระมเหสี พระราชโอรสธิดากับพระราชวงศานุวงศ์ ก็หนีกระจัดกระจายกันไป มหาดเล็กพาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา เสด็จลงเรือหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่บ้านจิก ริมวัดสังฆาราม พม่าหารู้ไม่ ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต พวกพม่าก็ตามจับได้พระมเหสี และพระโอรสธิดา พระราชวงศานุวงศ์ นำไปค่ายโพธิ์สามต้นเช่นกัน …” ( คำให้ชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ , 2515 : 437-438 ) ( ดูรายละเอียดในบทที่ 2)

ทหารพม่าเอาไฟเผา และสุมพระพุทธรูปพระศรีสรรเพ็ชรดาญาณ (พระพุทธรูปยืน) เพื่อให้ทองคำหุ้มองค์ละลายเก็บเอาทองคำ ที่หุ้มองค์พระพุทธรูปหนัก 286 ชั่ง ไปใช้ประโยชน์ที่เมืองพม่า (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
ไม่เพียงแต่หลักฐานทางฝ่ายไทยที่กล่าวถึงการทำลายพระนคร และฆ่าฟันผู้คนของทหารพม่าในสงคราม คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 หลักฐานทั้งที่เป็นบันทึก และจดหมายโต้ตอบของฝรั่งต่างชาติได้กล่าวถึง พฤติกรรม ของฝ่ายข้าศึกไว้ในทำนองเดียวกัน จากคำบอกเล่าของแอนโทนี่ โกยาตัน (Anthony Goyaton) ชาวอาร์มิเนียน (Armenian) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าฝรั่งต่างด้าวใน “ ประเทศสยาม ” และของฮะยีเซยิด อาลี (Seyed Ali) พระในศาสนาอิสลามซึ่งเคยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ต่อเจ้าท่าชาวฮอลันดา ชื่อ พี.แวน เดอร์ วูร์ต (P. van Der Voort) นั้น “ ทหารพม่าได้ทำลายกรุงศรีอยุธยาอย่างยับเยิน …( และได้ ) สังหารผู้คนจำนวนมาก ขณะที่กำลังหนีไฟ ได้แบ่งผู้ที่รอดออกเป็นพวกๆ แล้วกวาดต้อนไปเมืองพม่า หลังจากที่ได้จุดไฟทำลายโรงสินค้าของบริษัทแล้ว ” (“ บันทึกเรื่องราวเป็นภาษาฮอลันดา,” ใน แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ปีที่ 2 เล่ม 2, 2511 : 23)
คำให้การของแอนโทนี โกยาตัน (ปาเล็มบัง พ.ศ. 2311)
แอนโทนี โกยาตัน ( Antony Goyaton ) เป็นชาวอาร์เมนียน เดิมเป็น Head of the Foreign Europeans อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา โดยได้มีชีวิตอยู่กับ Moslem Priest Seyed Ali
เรื่องราวใน วันสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ แอนโทนีนี้ ได้ทำการบันทึกไว้เป็นคำให้การอย่างเป็นทางการด้วยลายมือ มีความยาวประมาณสองหน้า แล้วลงนามโดย Dutch Shabandar (harbour master) ชื่อ พี.แวน เดอร์ วูร์ต P.van Der Voort ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2311
ความน่าเชื่อถือของโกยาตันขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเขา Head of the Foreign Europeans ในกรุงศรีอยุธยา และที่นายท่า พี . แวนด์ เดอร์ วูร์ตได้บันทึกคำให้การของเขาอย่างเป็นทางการไว้ สำหรับ วี.ไอ.ซี ( บริษัทอินเดียตะวันออกดัทซ์ ) ความถูกต้องของคำให้การเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะได้มีการยืนยันอย่างเป็นทางการไว้ถึงคลังสินค้าที่สำคัญในกรุงสยาม สถานที่หรือโรงงานของบริษัทในอยุธยาได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้นใน พ.ศ.2310 สถานที่แห่งนี้มิได้รับการก่อสร้างขึ้นมาใหม่อีก
ต่อไปนี้เป็นคำให้การของแอนโทนี ที่ได้มีการบันทึกไว้
คำให้การของผู้ที่เห็นเหตุการณ์
( คำให้การเป็นบันทึกทางราชการของผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในการทำลายกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310)
แอนโทนี โกยาตัน ชาวอาร์เมเนียน อดีต Head of the Foreign Europeans ในสยามและ The Arabian Priest Seyed Ali ซึ่งแต่ก่อนได้พำนักอยู่ในกรุงสยามได้เล่าเรื่องราวให้ Shabandar พี แวน เดอร์ วูร์ต ฟัง ดังนี้คือ
“ … หลังจากที่คนรับใช้ของบริษัทได้ออกไปแล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2308 ไม่นานนัก พม่าก็เข้าล้อมกรุงสยามในเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม พ.ศ.2309 หลังจากที่ได้ทำลายเมืองต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ได้แล้ว และพม่าได้วางที่ตั้งยิงปืนใหญ่ขนาดเล็กขึ้นโดยรอบกรุงฯ เพื่อมิให้ผู้ใดเข้าหรือออกได้
สภาพเช่นนี้เป็นไปจนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2310 ในเวลาที่น้ำขึ้น ท่วมรอบกรุงฯ พม่าได้เคลื่อนที่เข้าไปใกล้กรุงฯ ในเวลากลางคืนด้วยเรือหลายลำ ใช้บันไดพาดกำแพงหลายแห่ง และโยนหม้อดินที่บรรจุดินปืนเข้าไปภายในกำแพงที่ถูกล้อม ครั้นเมื่อยึดกรุงฯ ได้แล้ว พวกพม่าได้ช่วยกันทำลายเมืองลงเป็นเถ้าถ่า น หมด การปฏิบัติในครั้งนี้พวกพม่าได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากพว ก เพื่อนร่วมชาติของตนที่อยู่ภายในกรุงฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณห้าร้อยคน ( พวกนี้ถูกฝ่ายสยามจับตัวไปได้ในเหตุการณ์ที่แล้วๆ มา ) กับพวกพม่าที่ทำการรุกเข้าไปที่สามารถทำการติดต่อกันได้ เรื่องได้มีต่อไปว่า หลังจากที่ได้สังหารประชาชนส่วนมากผู้ซึ่งหนีความโกลาหลไปแล้ว พวกพม่าก็แบ่งคนออกเป็นพวกๆ ตามจำนวนของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ออกเป็นหลายพวกแล้วนำพวกเหล่านี้ไป หลังจากที่ได้ทำการวางเพลิง Lodge of the Company ที่ทำการของบริษัทแล้ว
ส่วน กษัตริย์หนุ่ม (พระเจ้าอุทุมพร) พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เช่นเดียวกันกับ Berquelang ก็รวมอยู่ในหมู่ประชาชนที่ถูกนำไปด้วย ในระหว่างทาง กษัตริย์หนุ่มได้ประชวรสวรรคต และ Berquelang ก็ถึงแก่กรรมด้วยการวางยาพิษตนเอง ผู้ให้การได้กล่าวด้วยว่า กษัตริย์องค์ที่สูงด้วยวัย (พระเจ้าเอกทัศน์) ถูกลอบปลงพระชนม์ ในคืนเดียวกันโดยชาวสยามด้วยกัน
ผู้ให้การพร้อมกับเพื่อนในคณะ ซึ่งมีจำนวนประมาณหนึ่งพันคนประกอบด้วยชาวโปรตุเกส อาร์เมเนียน มอญ สยาม และมาเลย์ ทั้งชาย หญิงและเด็ก ได้ถูกนำตัวมุ่งหน้าไปยังพะโคภายใต้การควบคุมของชาวพม่ากลุ่มเล็กๆ เพียงสิบห้า คน เท่านั้น ในระหว่างครึ่งทาง พวกเขาประสบโอกาสจับพวกที่ควบคุมไว้ได้ และพากันหลบหนีมา หลังจากที่ได้บุกป่าฝ่าดงมาแล้ว พวกเขาก็กลับมาถึงแม่น้ำสยามอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ให้การพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาสามเดือนและต่อมาเขากับเพื่อนร่วมบริษัทได้ลงเรือลำเล็กๆ ของชาวจีนเดินทางไปยังกัมพูชาและแล้วก็ต่อไปยังปาเล็มบัง ในที่สุดก็มาถึงที่นี่ในวันที่ 23 ของเดือนนี้ ด้วยเรือของ Juraogan Inc.
ผู้ให้การได้กล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากที่พวกพม่าได้ถอนตัวออกไปจากประเทศแล้ว ชาวสยามบางคนได้ตั้งรกรากอยู่ที่บางกอกอีกซึ่งแต่เดิมเป็นสถานที่ที่ French Lodge ตั้งอยู่ พวกเขาประกอบอาชีพด้วยการทำการค้ากับกัมพูชา ขณะเดียวกันชาวจีนประมาณสองพันคนภายใต้การนำของหัวหน้าคนหนึ่งของพวกเขา คงพักอาศัยอยู่ที่ปากน้ำ ยังทำการกสิกรรมและการประมงสืบต่อไป
ให้การไว้ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2311…”
ข้อพิจารณา
- 1. Shabander หรือ Shabandar นั้น เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย ความหมายเดิมว่า “King of Heaven” พันธกิจมีอยู่ว่า งานแรกของซาแบนดาร์ คือ ดูแลพ่อค้าต่างๆ ที่อยู่ในชาติของตนโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันตลาดและคลังสินค้าก็อยู่ในการจัดการของเขาด้วย เป็นผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบน้ำหนักขนาดและเหรียญต่างๆ และวินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างกัปตันเรือต่างๆ และพ่อค้าของเรือของชาติที่เขาเป็นตัวแทนอยู่
- 2. เมื่อคนรับใช้ของบริษัทออกไปนั้น เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2308 กองทัพพม่ากำลังปฏิบัติการขั้นที่ 2 เมื่อพม่าเข้าล้อมกรุง นั้น เดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม พ.ศ.2309 กองทัพพม่ากำลังปฏิบัติการขั้นที่ 3
- 3. ในเดือนมีนาคม ระดับน้ำในแม่น้ำรอบๆ กรุงศรีอยุธยาจะลดต่ำตามคำให้การมิได้ระบุวันที่ไว้
- 4. วันที่พม่าเข้ากรุงฯ ได้เป็นเดือนมีนาคมตามคำให้การนั้นเป็นวันหนึ่งในเดือนนี้มิได้กำหนดลงไปอย่างแน่นอน แต่ที่ตรวจสอบแล้ววันที่พม่าเข้ายึดได้นี้เป็นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310
- 5. กษัตริย์หนุ่ม คงหมายถึงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ที่สูงวัย คงหมายถึงสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ตามหลักฐานการสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ก็แตกต่างไปจากหลักฐานที่ตรวจสอบและมีอยู่เดิมแล้ว
- 6. แม่น้ำสยามก็คือ แม่น้ำเจ้าพระยา
- 7. ตามหลักฐานที่ตรวจพบ ได้กล่าวว่ามีคนไทยทรยศ ชื่อ พระยาพลเทพเป็นผู้เปิดประตูเมือง แต่ในคำให้การว่า มีพวกพม่าให้การช่วยเหลือจากทางด้านในกรุงฯ ด้วย อาจจะเป็นการแยกกันปฏิบัติหรือปฏิบัติร่วมกัน หรือกรณีเดียวกันที่ทำให้เกิดความไขว้เขวก็ได้
- 8. French Lodge อยู่ที่ธนบุรี ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 196 – 199)
ในจดหมายเหตุคณะบาทหลวงฝรั่งเศสของมองเซนเยอร์บรีโกต์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศความว่า “… เมื่อพม่าเข้ากรุงได้แล้วนั้น พม่าได้เอาไฟเผาบ้านเรือน ทำลายข้าวของต่างๆ อยู่ 15 วัน และได้ฆ่าฟันผู้คนไม่เลือกว่าคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็ฆ่าเสียสิ้น แต่พวกพม่าพยายามฆ่าพระสงฆ์มากกว่าและได้ฆ่าเสียนับจำนวนไม่ถ้วน ข้าพเจ้าเองได้เห็นพม่าฆ่าพระสงฆ์ในตอนเช้าเวลาเดียวกันเท่านั้นกว่า 20 องค์ …” ( ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติเล่ม 9, พระนคร : ก้าวหน้า , 2508 : 420)
M.Turpin ในประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม (History of the Kingdom of Siam แปลโดย ส.ศิวรักษ์ ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ , ปีที่ 4 ฉบับที่ 4, 2510 : 57) กล่าวถึงสภาพภายหลังกรุงแตกและการกระทำอย่างบ้าคลั่งของพม่าไว้ว่า “… กรุงก็ถูกตีแตก สมบัติพัสดุที่ในพระราชวังและตามวัดวาอารามต่างๆ กลายเป็นสิ่งปรักหักพังและเถ้าถ่านไปสิ้น พวกป่าเถื่อนได้ชัยชนะนี้ยิ่งแสดงความโกรธแค้นหนักขึ้นเพราะไม่ได้ทรัพย์สมบัติ ดังความโลภเพื่อให้หายแค้น ได้แสดงความทารุณโหดร้ายแก่ชาวเมืองทั้งหลาย ถึงกับจับคนมาลนไฟที่ส้นเท้า

ทหารพม่าฉุดคร่า ทำอนาจาร
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

ทหารพม่าเข้าปล้นสดมภ์ และฆ่าไม่เว้น
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
เพื่อให้บอกว่าได้ซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ที่ไหน ทั้งยังนำลูกสาวมาข่มขืนชำเราให้ร้องลั่นอยู่หน้าบิดาด้วย พวกพระก็ถูกหาว่าซ่อนสมบัติไว้มาก จึงถูกยิงด้วยลูกศรจนปรุและถูกพุ่งด้วยหลาวหรือปลายหอกจนตัวปรุ และหลายต่อหลายรูปก็ถูกตีด้วยท่อนไม้ จนตายคาที่ วัดวาอารามตลอดจนบริเวณที่กว้าง ล้วนเต็มไปด้วยซากศพ แม่น้ำลำคลองก็มีซากศพลอยเต็มไปหมดเช่นเดียวกัน ส่งกลิ่นเหม็นจนหายใจไม่ออก เป็นเหตุให้ฝูงแมลงวันต่างพากันมาตอมอยู่อย่างมากมาย ก่อให้เกิดความรำคาญแก่กองทัพพม่าที่เข้าไปตั้งอยู่เป็นอันมาก…
… กองทัพพม่าได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็พักอยู่ประมาณเก้าวันสิบวัน (พม่าจุดไฟเผากรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน, อาทร จันทวิมล, 2546 : 22 9) จนพอรวบรวมเชลยและทรัพย์สมบัติสำเร็จแล้วจึงเลิกทัพกลับไป โดยได้กวาดต้อนผู้คน ช้าง ม้า แก้ว แหวนเงินทอง และนำขุนหลวงหาวัด (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ไปด้วย เนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่พม่าได้ตั้งให้สุกี้มอญ (นายกองที่มีความชอบครั้งตีค่ายบางระจันแตก) เป็นนายทัพ ให้มองญาพม่าเป็นปลัดทัพ คุมพลพม่า มอญรวม 3,000 คนตั้งค่ายอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนและเก็บทรัพย์สิ่งของส่งตามไป แล้วตั้งนายทองอิน ( หรือบุญสง ) (ซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เข้าด้วยกับพม่า) ให้เป็นเจ้าเมืองธนบุรี แล้วแบ่งแยกกองทัพออกเป็น 3 กองทัพ กองทัพทางเหนือมีเนเมียวสีหบดีแม่ทัพคุมเจ้านายและข้าราชการที่เป็นเชลยกับทรัพย์สิ่งของที่ดีมีราคามากมาย ยกกลับไปทางด่านแม่ละเมาะ (จังหวัดตาก) กองทัพทางใต้ให้เจ้าเมืองพุกามเป็นนายทัพคุมพวกเรือบรรทุก บรรดาทรัพย์สิ่งของอันเป็นของใหญ่หนักๆ ไปทางเมืองธนบุรีและท่าจีน แม่กลองกองหนึ่ง อีกกองหนึ่งยกเป็นกองทัพบกไปเมืองสุพรรณบุรีไปสมทบกับกองเรือที่เมืองกาญจนบุรี รวมกันยกกลับไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ …”
ครั้งนั้นพม่าได้ปืนใหญ่ 1,200 กระบอก ปืนเล็กหลายหมื่นกระบอก รวมทั้งได้ปืนคู่แฝดหล่อด้วยทองสำริด ขนาดยาว 12 ศอก และเรือพระที่นั่งกิ่งอีก 4 ลำด้วย (อาทร จันทวิมล, 2546 : 230) สำหรับปืนพระพิรุณแสนห่านั้น มีขนาดใหญ่มาก เมื่อตอนใกล้กรุงจะแตก หมดความหวังที่จะชนะพม่าแล้ว ปืนกระบอกนี้ก็ถูกทิ้งลงในสระแก้วในพระราชวังกรุงเก่า ภายหลังพม่าทราบเรื่องเข้า จึงได้นำขึ้นมาจากสระ แล้วตัวปกันหวุ่นแม่ทัพภาคใต้ขนไปทางเรือ จุดหมายปลายทางคือเมืองกาญจนบุรี โดยไปบรรจบกับกองทัพบก ที่นั่น ครั้นมาถึงตลาดแก้ว เมืองนนทบุรี เห็นว่าปืนใหญ่พระพิรุณแสนห่านี้หนักนักเหลือกำลัง ที่จะเอาไปเมืองอังวะได้
ปกันหวุ่นจึงให้เข็นชักขึ้นจากเรือที่วัดเขมา ให้เอาดินดำบรรจุเต็มกระบอก จุดเพลิงระเบิดเสีย เพียงเท่านั้นยังไม่เป็นที่พอใจ พม่ายังขนชิ้นส่วนที่เป็นทองสำริดกลับไปเมืองอังวะ (ทัพพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2310 หลังจากตีกรุงได้แล้วร่วม 2 เดือน, ขจร สุขพานิช, 2545 : 270)
พม่าได้เชลยไทยจำนวน 30,000 คนเศษ พม่าแยกเชลยออกเป็น 2 พวก
– พวกที่ 1 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกับพระบรมวงศานุวงศ์และชาวเมือง เนเมียวสีหบดีให้กองทัพเหนือ คุมตัวกลับไปทางเหนือ
– พวกที่ 2 ราษฎรที่เหลือและพวกมิชชั่นนารี ให้ป กัน หวุ่นแม่ทัพทางใต้คุมไปทั้งทางบกและทางเรือ ล่องใต้ไปทางเมืองทวาย แล้วไปบรรจบกับพวกแรกที่ทางเหนือของกรุงอังวะ
หมายเหตุ
เรื่องเชลยนี้คนแก่คนเฒ่าแต่ก่อนเล่ากันต่อๆ มาว่า พม่าจับเชลยคนไทยได้มาก จะจำด้วยโซ่ตรวนหรือเครื่องพันธนาการอื่นใดก็มีไม่เพียงพอกับจำนวนเชลย จึงเจาะบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าแล้วร้อยด้วยหวายติดกันเป็นพวง เพื่อกวาดต้อนเชลยไทยให้เดินทางไปยังกรุงอังวะ ประเทศพม่า นับแต่นั้นมาคนไทยเรียกบริเวณเอ็นเหนือส้นเท้าว่า “ ร้อยหวาย ” มาจนบัดนี้ (วิเศษไชยศรี, 2541 : 305)
เชลยศึกชาวไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไปครั้งนั้น ได้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณปองเลไต๊ (ตึกปองเล) ใกล้คลองชะเวตาชอง หรือคลองทองคำ แถบระแหงโม่งตีส หรือตลาดระแหง ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ ประมาณ 13 กิโลเมตร มีวัดระไห่ เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน มีตลาดโยเดีย และมีการรำโยเดียที่มีท่ารำชั้นสูง เช่น พรหมสี่หน้าของไทย ในเมืองพม่าปัจจุบันด้วย
พระเจ้าอุทุมพรถูกพระเจ้ามังระผู้คลั่งสงครามบังคับให้ลาผนวช แล้วให้ตั้งตำหนักอยู่ที่เมืองจักกาย ( สแคง ) ตรงหน้าเมืองอังวะ พร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการไทยก็รวบรวมอยู่ที่นั่นเป็นส่วนมาก พม่าได้ซักถามเรื่องพงศาวดารและแบบแผนราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา จดลงจดหมายเหตุคือที่ไทยเราได้ฉบับมาแปลพิมพ์เรียกว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด หรือ คำให้การชาวกรุงเก่า แต่ส่วนพวกราษฎรพลเมืองที่ถูกกวาดเอาไปเป็นเชลย พม่าแจกจ่ายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ภายหลังหนีคืนมาบ้านเมืองได้ก็มี แต่ก็สาบสู ญ ไปในเมืองพม่าเสียเป็นส่วนมาก พระเจ้าอุทุมพรไม่เสด็จกลับมาเมืองไทยอีก หลักฐานสุดท้ายของเจ้านายพระองค์นี้ที่เหลืออยู่ก็คือ เจดีย์ที่เมืองจักกายเท่านั้น อนึ่ง พงศาวดารฉบับหอแก้ว ได้บันทึกถึงเรื่อง เชลยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า หลังสงครามคราวนี้ว่า “ …พระบรมวงศานุวงศ์แต่ราชสำนักอยุธยาซึ่งถูกกุมตัวมายังกรุงรัตนปุระอังวะครั้งนั้น มีเหล่ามเหสี พระกษิฐาภคินี พระเชษฐภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา แลพระภาคิไนยที่เป็นสตรี (พระเจ้ากรุงอังวะ) โปรดให้ประทับในเขตพระราชฐานพรั่งพร้อมด้วยเหล่าบริวารตามฐานันดรศักดิ์ เจ้านายแต่ละพระองค์จะมีพนักงานถวายการดูแล ข้างพระอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระภาคิไนยที่เป็นบุรุษ ก็โปรดให้ประทับนอกเขตพระราชฐาน แต่ก็จัดการให้ได้รับการถวายการดูแลโดยควรมิได้ยิ่งหย่อน เหล่าขุนนางกรุงศรีอยุธยา แลไพร่บ้านพลเมืองที่ถูกกวาดต้อนต่างก็ได้รับพระราชทานถิ่นที่พักอาศัย ในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มีพระองค์หนึ่งนาม “ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ” (Kyauk-bwa Tauk-to) (คือพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อ่านรายละเอียดในบทที่ 2) ซึ่งทรงอยู่ในสมณเพศในคราวที่ถูกกวาดต้อนมายังพระนครอังวะ เจ้านายพระองค์นี้ทรงครองผ้ากาสาวพัตรตราบจนเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 2339 ภายหลังจากที่พระนครย้ายจากกรุงอังวะมายังอมรปุระ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 112)
กรุงศรีอยุธยาอันบรมกษัตราธิราช ได้ทรงครอบครองสืบกันมา 33 พระองค์ ดำรงศักดิ์เป็นราชธานีของสยามประเทศตลอดเวลา 417 ปี ก็ถึงซึ่งพินาศด้วยภัยพิบัติดังกล่าวแล้ว ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 185 – 186)
5.3 เหตุใดพม่าจึงรีบถอนทัพกลับไปกรุงอังวะ เมืองพม่า ?
เหตุที่พม่ายกทัพรีบกลับกรุงอังวะ เนื่องจากเนเมียวสีหบดีได้รับคำสั่งให้กลับกรุงอังวะ เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าถูกคุกคามโดยกองทัพจีนที่ได้บุกรุกหัวเมืองชายแดน กองทัพพม่าก็เดินทางกลับอย่างรวดเร็วถึงกรุงอังวะในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2310 พงศาวดารหอแก้วเล่าต่อไปถึงการรุกรานดินแดนของพม่าของกองทัพจีนในระยะ 2-3 ปี ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310 กองทัพพม่าต้องสาละวนอยู่กับการขับไล่กองทัพจีนที่รุกรานดินแดนของตน ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดระหว่างพ่อค้าจีน กับเจ้าหน้าที่พม่าตามหัวเมืองชายแดนระหว่างจีนกับพม่า
พงศาวดาร หอแก้วกล่าวว่า กองทัพจีนบุกรุกพม่าสี่ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง เป็นเหตุให้พระเจ้าสินปยูชิน ( พระเจ้ามังระ ) ไม่สามารถเสด็จยกทัพมาตีเมืองไทยด้วยพระองค์เองได้ ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงทราบว่าได้มีความพยายามที่จะตั้งราชวงศ์ใหม่และโค่นอำนาจของพม่า ข้อที่ควรสังเกตคือข้อความนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดในกรุงธนบุรี สมเด็จ พระเจ้าตากสิน มหาราช ทรงกู้อิสรภาพของไทยได้ภายในเวลา 7 เดือน และทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งที่กรุงธนบุรี พ.ศ.2310 ( รอง ศยามานนท์ , ในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ปีที่ 18 เล่ม 1 มกราคม 2527 – ธันวาคม 2527 : 39 – 46)
เมื่อเนเมียวสีหบดีกลับถึงพม่าแล้ว มังระกษัตริย์พม่าทรงแต่งตั้งให้เนเมียวสีหบดีเป็น ศรีอยุธยาหวุ่น แต่เป็นเพราะผลกรรมที่พม่าทำร้ายแก่ไทย จึงปรากฏว่าในปีเดียวกันนั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ทั่วประเทศพม่า เจดีย์ และสถานที่สำคัญๆ โค่นพังทะลายลงมามากต่อมาก พระเจ้ามังระตกพระทัย จึงได้สร้างพระพุทธรูปทองคำขึ้นหลายองค์เพื่อล้างบาปและบรรจุไว้ในพระสถูปที่ทรงปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่นั้น ( http://www.worldbuddhism.net/buddhism-history/Burma.html , 14/7/2547)
ข้อพิจารณา 1
การสงครามคราวนี้ กินเวลานานและยืดเยื้อ (พ.ศ.2307-2310) ทั้งนี้เพราะทางฝ่ายพม่าปฏิบัติการต่อเนื่องกัน
- 1. ความมุ่งหมาย ตลอดเวลาพม่าดำรงความมุ่งหมายเดิมเพียงอย่างเดียวคือทำการปล้นเพื่อหวังในทรัพย์สมบัติ เยี่ยงการกระทำของโจร มิใช่ของกองทัพ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมังที่พระเจ้าแผ่นดินพม่า พระเจ้ามังระ ไม่กล้าเข้ามาร่วมในกองทัพ เกรงจะเสียพระเกียรติที่เข้ามาร่วมในกองทัพที่เป็นกองโจร จึงปล่อยให้แม่ทัพเป็นผู้รับหน้านำกองทัพไปเป็นกองโจรแทน
- 2. ที่หมาย ด้วยความละโมภในทรัพย์สมบัติ ซึ่งเดิมทีเดียวก็กำหนดที่หมายไว้เพียงว่าได้แค่ไหนก็จะเอาแค่นั้น กลับมาเปลี่ยนที่หมายใหม่ให้จุใจ โดยกำหนดที่หมายเป็นกรุงศรีอยุธยาเสีย เพราะที่ผ่านมาปล้นสะดมได้สะดวกดี ก็เลยอยากจะได้ถึงราชธานีเสียเลย จึงได้กำหนดที่หมายเสียใหม่เป็นกรุง ศ รีอยุธยา ทำให้ต้องยืดเวลาในการเตรียมการและการปฏิบัติออกไปทั้งระยะทางและระยะเวลา
- 3. พม่ามีความคิดที่จะรุกรานประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องนี้น่าจะเป็นความจริง เพราะมีการกระทำปรากฏให้เห็นแล้ว เพราะเหตุว่า พม่าเป็นชาติรุกราน
– พม่าต้องการปราบรัฐข้างเคียง เพื่อตั้งตัวเป็นใหญ่
– ปราบรัฐใดลงได้ก็ไม่เท่ากับปราบไทย เพราะถ้าปราบไทยได้แล้วชาติอื่นก็จะต้องเกรงกลัวพม่าหมด
– ดังนั้นการคิดที่จะรุกรานไทย และปราบไทยให้ลงได้ จึงคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
- 4. พงศาวดารพม่ายืนยันว่า พระเจ้ามังระมีรับสั่งให้เนเมียวสีหบดีและมังมหานรธา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อพิจารณาดูแล้วก็น่าจะเป็นจริง ถ้าไม่มีคำสั่งแม่ทัพทั้งสองคงไม่กล้าทำ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสั่งตั้งแต่เมื่อไร ถ้าสั่งก่อน มีนาคม พ.ศ.2307 ก็น่าจะจริง แต่ถ้าสั่งหลังจากนั้น ก็น่าจะเป็นไปตามที่สถานการณ์เกื้อกูลมากกว่า ซึ่งตามพฤติการณ์แล้ว ทั้งพื้นที่และระยะเวลาก็เป็นไปอย่างนั้น พวกมิชชันนารีว่า ทัพไทยไร้ประสิทธิภาพ แต่พม่ากลับว่า ทัพไทยมีประสิทธิภาพสูง ความจริงจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่บรรทัดฐานที่จะใช้วัด พวกมิชชันนารีคงใช้บรรทัดฐานยุโรป ส่วนพม่าคงใช้บรรทัดฐานเอเซียด้วยกัน
- 5. ในขั้นที่ 4 พม่าส่งกำลังเข้าประชิดกำแพงพระนคร ประวัติศาสตร์กล่าวถึงแต่การรบที่เกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบว่ากำลังที่อยู่ที่พิษณุโลก ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ กำลังที่อยู่ทางนครราชสีมา ทางตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังที่อยู่ทางปราจีนบุรี ทางทิศตะวันออกและชายทะเล กำลังที่อยู่ที่เพชรบุรี และบริเวณรอบๆ ซึ่งบัดนี้คงตั้งตัวได้แล้ว และกำลังที่อยู่ที่นครศรีธรรมราชพร้อมด้วยกองทัพเรือ ไปอยู่เสียที่ไหนถึงไม่มาช่วย ในพื้นที่เหล่านี้ยังพอมีกำลังที่จะมาช่วยกรุงศรีอยุธยาได้ แต่ไม่มีปรากฏไว้ในประวัติศาสตร์เลย คล้ายกับจะคอยวันให้อยุธยาล่มเพื่อจะได้ตั้งตัวเป็นใหญ่อะไรทำนองนั้น ถ้าทุกแห่งรวมกำลังกันเข้ามาช่วยเพียงจัดกำลังเมืองละหนึ่งกอง สถานการณ์ก็คงจะกลับกัน ไทยจะเป็นฝ่ายเดินเส้นนอก มีพม่าถูกกระหนาบอยู่ตรงกลาง หรืออาจจะเป็นอย่างสงครามครั้ง พ.ศ.2091 สมัย พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ที่ได้ยินว่ามีทัพมาตีกระหนาบ ก็ต้องรีบถอยทันทีก็ได้ แต่ครั้งนี้กำลังภายนอกกรุงมิได้ช่วยในการดำเนินกลยุทธ์เลย
- 6. การใช้ปืนใหญ่ ไทยจะได้เปรียบตรงที่อยู่กับที่ และมีปืนใหญ่ขนาดใหญ่ยิงในระยะไกลใช้ น่าจะมีจำนวนมากเพราะไม่ต้องขนมาไกล แต่ความได้เปรียบนี้ก็หมดไป ด้วยการจำกัดการใช้ลงเสีย เพื่อเป็นการถนอมขวัญของผู้หญิงที่ขวัญอ่อนเพียงไม่กี่คน (หม่อมเพ็ง หม่อมแมน และพวกสนมกำนัลฝ่ายใน) ซึ่งผู้นำประเทศ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) ถนอมขวัญของเธอเหล่านั้นยิ่งกว่าความเป็นความตายของชาติ ก็น่าอยู่ที่กรุงจะแตก
- 7. ในสงครามคราวแรก พระเจ้าเอกทัศน์ขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชออกมาป้องกันประเทศชาติ แต่คราวนี้พระองค์ไม่เชิญให้ทรงลาผนวชออกมาช่วยกันป้องกันบ้านเมือง คงจะเป็นเพราะว่า ในครั้งแรกนั้นพระองค์ไม่ทราบว่าจะทำประการใด จึงต้องคอยให้พระเจ้าอุทุมพรแสดงให้ดูเสียก่อน ซึ่งสงครามคราวก่อนก็ป้องกันรักษากรุงฯ ไว้ได้ง่าย พอถึงคราวนี้ก็คงจะคิดว่าพระองค์จะทำเสียเองก็ได้ ได้เห็นการกระทำมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพระเจ้าอุทมพรก็ได้ จึงมิได้เชิญให้ลาผนวช และฝ่ายพระเจ้าอุทุมพรซึ่งมิได้รับเชิญให้ลาผนวช ก็ไม่ลาผนวช กรุงฯ ก็เลยแตก
- 8. พงศาวดารกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนเสียกรุงฯ ไว้สอดคล้องต้องกัน แต่ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า มีเรื่องพระยาพลเทพแทรกเข้ามาด้วย เป็นการทรยศของคนไทยด้วยกัน ผู้ที่ให้การก็เป็นผู้ที่ทำการต่อสู้อยู่ในที่นั้น ไม่แน่ว่าจะเท็จจริงประการใด ควรจะได้รับการตรวจสอบกันต่อไป
- 9. พงศาวดารพม่ามิได้กล่าวถึงการตีค่ายที่ทางกรุงศรีอยุธยาส่งออกไปวางกำลังเป็นกองระวังป้องกันไว้รอบๆ พระนครเลย แต่หลักฐานทางไทยและมีหลักฐานอื่นได้กล่าวไว้ พม่าต้องเสียทั้งกำลังคนและเวลาในการเข้าตีค่ายต่างๆ ดังกล่าว พม่าใช้เวลา 9 คืนในการตีค่ายวัดไชยวัฒนาราม และใช้เวลาอีก 15 คืนในการตีค่ายจีนคลองสวนพลู
– ค่ายที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นค่ายที่ตั้งอยู่ในตำบลวิกฤต ค่ายถูกยึดได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย
– ค่ายที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระนคร พม่ายึดได้ประมาณครึ่งเดือนหลังของเดือนมีนาคม
– ค่ายที่อยู่ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าพม่ายึดได้ก่อนยึดค่ายทางทิศใต้เล็กน้อย - 10. พงศาวดารพม่ากล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ทัพของพระมหามนตรีพ่ายกลับเข้ามาในพระนครแล้ว พระเจ้าแผ่นดินศรีอยุธยาทรงโปรดให้เอาปืนใหญ่ชื่อทวาราวดี ( ปืนปราบหงสา ตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ) ซึ่งเป็นปืนรักษาพระนครมาแต่โบราณ เป็นปืนศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่ามีเทวดารักษาพระนครสิงสถิตย์อยู่ ออกมาให้ประชาชนทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ และชักขึ้นป้อม (ป้อมมหาชัย วัดศรีโพธิ์, อาทร จันทวิมล, 2546 : 229 ) ยิงค่ายเนเมียวสีหบดีเพื่อเอาเคล็ด แต่ปรา-กฎว่าดินปืนไม่ติดเพราะถูกความชื้นของน้ำที่ไหลเข้ามาทางรอยรั่วทางตัวกระบอกปืน ปืนกระบอกนี้มิใช่ปืนประจำป้อมหรือประจำการ ด้วยความที่เก่าด้วยอายุใช้งานและขาดการบำรุงรักษามาก่อน เมื่อนำมาใช้ใหม่ก็อาจเกิดขัดข้องขึ้นได้ ส่วนพระยาศรีสุริยพาหะเอาปืนใหญ่ชื่อ มหากาฬมฤตยูราช ประจุดินปืนสองเท่า ตั้งบนป้อมท้ายกบ ยิงพม่าที่ภูเขาทอง แต่ยิงไปเพียงนัดเดียวปืนก็ร้าวใช้การไม่ได้ (อาทร จันทวิมล, 2546 : 229)
- 11. พงศาวดารพม่าอ้างถึงสภาพความอดอยากยากแค้นของไทยถึงขนาดต้องปันส่วนข้าวสาร 1 ทะนานต่อคน 20 คน (1 ทะนานเท่ากับ 1 ลิตร) มีประชาชนไม่น้อยที่ยอมให้พม่าจับ เป็นการยืนยันให้เห็นว่า พม่าใช้วิธีให้ยอมจำนนด้วยความอดอยากเป็นหลัก
- 12. พงศาวดารพม่ากล่าวต่อไปว่า พอพม่าเข้าเมืองได้ก็จุดไฟเผาบ้านเรือน กระจายกำลังกันปล้นสะดมตามความพอใจ (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 186-190)
ข้อพิจารณา 2
การพ่ายแพ้ของไทยในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ.2310 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการทหาร อย่างน้อยสองประการด้วยกัน
- ประการแรก ทำให้ผู้ปกครองไทยยุคต่อมาเห็นถึงความจำเป็นในการขยายเขตอิทธิพลทางการเมือง ของอาณาจักรออกไปถึงล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ และจำปาศักดิ์ อย่างแน่นเหนียวและสืบเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าได้อาศัยพื้นที่ดังกล่าวเป็นฐานกำลังในการโจมตีพระนครหลวง ดังที่เนเมียวสีหบดีได้กระทำสำเร็จมาแล้วในสงครามปี พ.ศ.2310
- ประการที่สอง ทำให้ผู้ปกครองไทยต้องหันมาปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การตั้งรับพม่าเสียใหม่ จากการอาศัยตัวพระนครเป็นฐานรับศึกซึ่งใช้ไม่ได้ผลในสงครามเสียกรุง มาใช้เป็นหัวเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพเป็นฐานรับศึกสำคัญ โดยในทางปฏิบัติผู้นำทัพ ซึ่งอาจได้แก่องค์พระมหากษัตริย์เองหรือวังหน้าจะเป็นผู้นำกำลังทัพส่วนใหญ่ยกออกจากพระนคร ไปตั้งรับศึกที่หัวเมืองด้วยตนเอง สภาพตามกล่าว สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงระบุว่า “ นับเป็นปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ” (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2543 : 191)
ข้อพิจารณา 3
- 1. เมื่อเสียกรุงครั้งแรก (พ.ศ.2112) ก่อนเดินทางกลับพม่าจะตั้งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ขึ้นปกครองบ้านเมือง (สมเด็จพระมหาธรรมราชา) หรือไม่ว่าจะมีการรบที่ใดฝ่ายที่ชนะก็มักจะตั้งเจ้าเมืองที่มีถิ่นฐานหรือคนในเมืองนั้นขึ้นปกครอง หรือไม่ก็จัดแม่ทัพนายกองของตนให้ปกครองเมืองสืบต่อไป แล้วให้เมืองหรือประเทศเหล่านี้เป็นประเทศราชขึ้นต่อประเทศที่ชนะอีกที่หนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้บ้านเมืองหรือประเทศนั้นมีระบอบการปกครองที่มีระเบียบ ราษฎรทำมาหากิน มีสันติสุข และเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่คราวนี้ (พ.ศ.2310) พม่ามิได้ทำดังกล่าว ดังที่ประเทศชาติบ้านเมืองอื่นเขาทำกันเพียงแต่ต้องการล้างราชธานีลงให้สิ้นแล้วก็หาผลประโยชน์เท่านั้น
- 2. ภารกิจที่พม่ามอบให้แก่พระนายกองสุกี้ และนายทองอิน นั้นคือคอยค้นคว้าหาผู้คนและสืบหาทรัพย์สมบัติซึ่งยังตกค้างอยู่ส่งไปเมืองพม่า
จากทั้งสองข้อที่กล่าวมาแล้ว แสดงออกมาให้เห็นได้ว่า
– 2.1 การกระทำกับคู่ต่อสู้ และการย่ำยีผู้ที่แพ้แล้ว ด้วยการกระทำที่หยาบช้าสามานย์ เหี้ยมเกรียม ไม่ให้เกียรติแก่ผู้แพ้ ไม่สมกับที่ว่าพม่าก็เป็นเมืองพุทธที่เคร่งครัดประเทศหนึ่ง ที่กระทำกับประเทศที่แพ้ซึ่งก็เป็นเมืองพุทธเช่นเดียวกับพม่าเหมือนกัน
– 2.2 ส่อเจตนาให้เห็นว่า พม่าไม่ต้องการให้ไทยตั้งเป็นประเทศขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับพม่าในย่านแหลมทองนี้ แม้จะเป็นได้ไม่นานก็ขอให้ได้สมใจพระเจ้ามังระชั่วระยะหนึ่งเป็นการสนองตัณหาที่มีอยู่
– 2.3 พฤติการณ์ที่กระทำไปนั้น สมกับเป็นการกระทำอย่างโจรของกองโจร มิใช่การกระทำของกองทัพอันมีเกียรติเช่นชายชาติทหาร ล้างราชธานี ย่ำยีจนหมดสิ้นแล้ว ยังไม่หนำใจ ด้วยความละโมภไม่มีที่สิ้นสุดยังตั้งตัวแทนทำนองสำนักงานดูแลผลประโยชน์ของตนไว้ถึงสองแห่ง เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ส่งไปประเทศพม่าต่อไป เป็นไปในลักษณะขู่เข็ญบังคับ มิใช่ให้รัฐบาลผู้แพ้จัดส่งให้เป็นค่าปรับระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลดังเช่นที่ประเทศอื่นๆ เขากระทำกัน ของที่ได้ไปในลักษณะโจรเหล่านี้ มีอยู่หลายชิ้นยังตั้งประจานอยู่ในพม่าตราบเท่าทุกวันนี้
- 3. ตามคำกล่าวที่ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต (การเสียกรุงครั้งที่ 1) กำลังย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีพม่าข้าศึกมาติดเมือง คนไทยแตกความสามัคคี ยังอยู่จะเสียกรุงเท่านั้น บัดนี้เหตุการณ์ในอดีตได้ย้อนกลับมาครบถ้วน คือเสียกรุงแล้วสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทุกประการ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นครั้งที่ 2 อย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 185-186)
หมายเหตุ
สุกี้พระนายกอง หรือนายทองสุก คำว่า “ สุกี้ ” ที่เรียกกันในพงศาวดารเข้าใจว่าเป็นไทยเรียก เพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า “ ซุกคยี ” แปลว่า นายกอง ในคราวเสียกรุง พ.ศ.2310 นั้น สุกี้พระนายกองมีชื่อตามพงศาวดารว่า นายทองสุก เป็นมอญบ้านโพธิ์สามต้น พระนครศรีอยุธยา เมื่อพม่าเข้าล้อมพระนครศรีอยุธยา นายทองสุกไปเข้าเป็นฝ่ายพม่า ช่วยทำการรบอย่างแข็งขันจนเนเมียวสีหบดี ตั้งให้เป็นตำแหน่งสุกี้ และได้อาสาตีค่ายบางระจันสำเร็จ เมื่อพม่าได้กรุงศรีอยุธยาแล้วจะยกทัพ กลับจึงตั้งให้สุกี้เป็นนายทัพคุมพลพม่ามอญตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น คอยสืบจับผู้คนและเก็บทรัพย์สินสิ่งของ ต่างๆ ส่งตามไปภายหลัง ครั้นเมื่อ สมเด็จ พระเจ้าตาก สิน ตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นได้ สุกี้ แม่ทัพได้สิ้นชีวิตในที่รบ แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ที่แต่งในรัชกาลที่ 1 ว่าหนีไปได้ ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า พระนายกองออกมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตาก ซึ่งภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธได้ให้คนมาเกลี้ยกล่อมให้ขึ้นไปอยู่ที่พิมายด้วยกัน พระนายกองลอบหนีไปเข้าด้วยกับกรมหมื่นเทพพิพิธ ต่อมาเมื่ อสมเด็จ พระเจ้าตาก ฯ ได้ขึ้นไปปราบชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธที่นครราชสีมาได้แล้ว พระนายกองก็ถูกประหารชีวิตในครั้งนั้นด้วย (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 171)
5.4 หลังกรุงศรีอยุธยาแตกมีชุมนุมต่างๆ อะไรบ้าง มีหัวหน้าชุมนุมชื่ออะไร ? ตั้งชุมนุมที่ใด ?
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วบ้านเมืองอยู่ในสภาพระส่ำระสายเกิดแตกแยก เมื่อไม่มีพระมหากษัตริย์ หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ ต่างคนต่างรวบรวมพรรคพวกตั้งเป็นก๊กหรือชุมนุมขึ้น ที่เป็นชุมนุมใหญ่ทั้งหมดมี 6 ชุมนุม คือ
- 1. ชุมนุมพม่า ซึ่งภายหลังที่ได้ชัยชนะจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว พม่าไม่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาโดยตรง แต่ได้แบ่งกำลังไว้ควบคุมคนไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.1 กลุ่มสุกี้พระนายกอง เป็นชาวมอญอาสาสมัครพม่า คุมกำลังประมาณ 3,000 คนคอยริบทรัพย์สิน คนไทยที่หลบหนีพม่า และคนไทยที่กระด้างกระเดื่องแข็งข้อ ตั้งค่ายอยู่ที่ โพธิ์สามต้น ข้างเหนือกรุงศรีอยุธยา
1.2 กลุ่มนายทองอิน ซึ่งเป็นคนไทยที่ไปเข้ากับพม่า ควบคุมอยู่ที่ เมืองธนบุรี ทำหน้าที่กวาดต้อนผู้คน และเก็บทรัพย์สมบัติส่งไปพม่า
- 2. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ( เรือง ) เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 เจ้าพระยาพิษณุโลกได้คุมกองทัพเมืองพิษณุโลกมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ขณะที่ยกพลขึ้นไปรบกับพม่าที่สุโขทัย ถูกหลวงโกษาและเจ้าฟ้าจีดเข้าริบทรัพย์สมบัติและยึดเอาเมืองพิษณุโลกไว้ เจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อทราบ จึงยกกองทัพมาตีเอาเมืองคืน จับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ แล้วตั้งมั่นอยู่ที่ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก มีอาณาเขตแถวพิชัย พิษณุโลกจนถึงนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกมีกำลังไพร่พลมาก อีกทั้งมีความสามารถในการรบ เป็นความหวังของคนไทยฝ่ายเหนือว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการกู้บ้านเมือง จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมาก
- 3. ชุมนุมเจ้าพระฝาง เจ้าพระฝางเป็นสังฆราช เมืองสวางคบุรี หรือ เมืองฝาง ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีชื่อเดิมว่า เรือน เป็นชาวเหนือ แต่ลงมาเล่าเรียนพระไตรปิฎก ณ กรุงศรีอยุธยา จนได้รับสมณศักดิ์เป็นมหา ภายหลังได้เป็นที่พระพากุลเถระ พระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสี (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 59) อยู่ ณ วัดศรีโยธยา และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นที่พระสังฆราช ณ เมืองสวางคบุรี เป็นที่นับถือของประชาชนจำนวนมาก เจ้าพระฝางนี้เป็นพระที่มีความสามารถทางเวทมนต์คาถาไสยศาสตร์
- 4. ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ( หนู ) ซึ่งประกาศอิสรภาพและตั้งตนเป็นเจ้าแผ่นดินมีอาณาเขตแถวแดนมาลายู ขึ้นมาจนถึงชุมพร เป็นกลุ่มที่มีกำลังไพร่พลและกำลังทางเศรษฐกิจเข้มแข็งมั่นคง
เจ้านครศรีธรรมราช (หนู) ได้เคยเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจนได้เป็นที่หลวงสิทธินายเวรมหาดเล็ก แล้วออกไปเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า แผ่นดินว่างกษัตริย์ พระปลัด (หนู) ขณะนั้นว่าราชการแทนในตำแหน่ง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พระยาราชสุภาวดี เจ้าเมืองเดิมมีความผิดต้องออกจากตำแหน่ง (ทวน บุณยนิยม, 2513 : 59 ) ได้ตั้งตัวเป็นเจ้าครอง เมืองนครศรีธรรมราช คนทั่วไปเรียกว่า เจ้านคร หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกต่างนับถืออยู่ในอำนาจเจ้านครทั้งสิ้น นับว่าเป็นชุมนุมใหญ่แห่งหนึ่ง
- 5. ชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธ หรือชุมนุมเจ้าพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธ หรือพระองค์เจ้าแขกเป็นหัวหน้าซ่องสุมกำลังอยู่ที่ เมืองพิมาย มีอาณาเขตแถวนครราชสีมา เรื่อยไปทางตะวันออก จนถึงแดนกรุงศรีสัตนาคนหุตและกัมพูชา ลงมาทางใต้ถึงสระบุรีตลอดแควป่าสัก กรมหมื่นเทพพิพิธทรงเป็นโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระชนนีเป็นพระสนมเอก ทรงรับราชการในตำแหน่งใดไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่รับราชการ ต่างพระเนตรพระกรรณ และดำรงตำแหน่งสำคัญในกรมวังด้วย
เมื่อเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศน์) แล้วออกผนวช กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงฝักใฝ่ฝากตัวกับเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต (เจ้าฟ้าอุทุมพร) มาก่อน จึงโดยเสด็จออกผนวชที่วัดกระโจม (วัดกระโจมนี้อยู่ใกล้วัดนางคำ ริมแม่น้ำตรงปากคลองทรายกับคูขื่อหน้าวังจันทรเกษมมาบรรจบกัน หลังวัดนี้ออกไปทางตะวันออกเป็นวัดประดู่ที่กรมขุนพรพินิตเสด็จประทับอยู่) ครั้งหนึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธและพรรคพวกได้ทูลขอ ให้พระภิกษุสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กลับมาครองราชย์ ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกลงโทษ
ส. พลายน้อย (2546 : 150-153) ได้กล่าวถึง กรมหมื่นเทพพิพิธว่า “ …ภายหลังพระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพ็งจัน พากันออกไปคิดการกบฏกับกรมหมื่นเทพพิพิธ ครั้นรู้ว่าถูกสงสัยก็หนีไปจากวัดกระโจม แต่ถูกตามไปจับได้ ณ ป่านาเริ่ง นอกด่าน พระยาอภัยราชา พระยาเพชรบุรี นายจุ้ยถูกลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำครบไว้ (จำครบ หมายถึง เครื่องจองจำครบห้าอย่าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จำห้าประการ คือ 1) ตรวนใส่เท้า 2) เท้าติดขื่อไม้ 3) โซ่ล่ามคอ 4) คาไม้ใส่คอทับโซ่ 5) มือสองมือสอดเข้าไปในคาแล้วไปติดกับขื่อทำด้วยไม้) ส่วนหมื่นทิพเสนาและนายเพ็งจันหนีไปได้ ความตรงนี้กล่าวตามหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงสยาม
ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวพิสดารไปอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธทราบเหตุก็หนีจากวัดกระโจมไปอยู่ ณ วัดพะแนงเชิง (คือพนัญเชิงในปัจจุบัน) ครั้งนั้นเจ้ากรมปลัดกรมและข้าในกรมทั้งปวง มีความกตัญญูสวามิภักดิ์รักเจ้ามาพร้อมกันเป็นอันมาก ช่วยกันตั้งค่ายล้อมวัดไว้ป้องกันรักษาเจ้าของตน ตำรวจติดตามไปจับกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นมิได้ตัว พวกข้าในกรมออกป้องกันไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ จึงแต่งข้าหลวงที่ฉลาดไปทูลแก่ กรมหมื่นเทพพิพิธ ว่า ทรงพระกรุณาดำรัสว่า “ เจ้าเป็นคนสัตย์ซื่อ เกิดเหตุทั้งนี้เป็นเพราะเจ้ากรม ปลัดกรมคิดอ่านเอง ให้ส่งตัวเจ้ากรมปลัดกรมมาถวายโดยดี ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษแก่เจ้า ”
กรมหมื่นเทพพิพิธกลัวพระราชาอาญาก็รับว่าจะส่งตัวให้ เจ้ากรมปลัดกรมรู้ตัวก็หนีไปทั้งบุตรภรรยา แต่ปลัดกรมนั้นไปผูกคอตายเสีย เจ้ากรมนั้นหารู้ว่าหนีไปแห่งใดไม่ ตามไม่ได้ตัว พวกข้าในกรมก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายกันไป แต่ตัวเจ้ากรมหมื่นเทพพิพิธนั้นพาบุตรชายหลายองค์หนี ไปข้างตะวันตก พวกข้าหลวงไปติดตามจับได้ ณ ป่าพระแท่นดงรัง คุมเอาตัวมาถวายกับทั้งบุตร ทรงพระกรุณาให้สึกออกคุมตัวไว้
ฝ่ายกำปั่นทูต (พระราชพงศาวดารกรุงสยามว่า กำปั่นอังกฤษเข้ามาค้าขาย) ซึ่งออกไปลังกาทวีปครั้งก่อนนั้น ส่งพระสงฆ์แล้วกลับเข้ามา จึงทรงพระกรุณาให้แต่งกำปั่นใหม่ในปีขาลสัมฤทธิศก (พ.ศ.2301) นั้น แล้วให้อาราธนาพระวิสุทธาจารย์ พระวรญาณมุนี พระราชาคณะสององค์ กับพระสงฆ์อันดับสามรูปเป็นห้ารูปลงกำปั่นไปลังกาทวีปอีกครั้งหนึ่งกับด้วยข้าหลวง ออกไปพลัดพระสงฆ์ซึ่งไปครั้งก่อนนั้นให้กลับเข้ามาพระนคร และให้เอากรมหมื่นเทพพิพิธลงกำปั่นไปปล่อยเสีย ณ เกาะลังกาด้วย
เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในเมืองลังกานั้น ขุนนางและราษฎรนิยมยินดีนับถือมาก ด้วยรู้ว่าเป็นพระภาติกราช (น้องชาย) พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ชวนกันเข้าใจว่าทรงพระศรัทธาอุตสาหะออกมาชมพระพุทธศาสน าถึงลังกาทวีป ไม่แจ้งว่าต้องถูกขับไล่เนรเทศออกไป จึงคิดการเป็นกบฏจะจับพระเจ้าลังกาถอดเสียจากเศวตฉัตร แล้วจะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นครองราชสมบัติในเมืองสิงขันธนคร มีผู้นำเรื่องไปกราบทูลพระเจ้าลังกาๆ จึงสั่งให้จับพวกคิดร้าย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีไปอยู่เมืองเทศ ขณะนั้นมีข่าวลือออกไปว่ากรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่าแล้ว กรมหมื่นเทพพิพิธได้ทราบเหตุจึงโดยสารเรือกำปั่นเข้ามาอยู่ที่เมืองมะริด เมื่อปีมะเมีย ศักราช 1124 (พ.ศ.2305) สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ แต่งข้าหลวงออกไปกำกับให้อยู่ที่เมืองตะนาวศรี เมื่อพม่าตีเมืองตะนาวศรีได้ก็ถูกส่งไปอยู่เมืองจันทบูร ครั้นเมื่อพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยากรมหมื่นเทพพิพิธ ก็เข้ามาอยู่ ณ เมืองปราจีนบุรี พม่าก็ยกทัพเรือออกไปตีเมืองปราจีนบุรีแตก กรมหมื่นเทพพิพิธและพระยารัตนาธิเบศก็หนีขึ้นไปอยู่ด่านโคกพระยาในเมืองนครราชสีมา และจับพระยานครราชสีมาฆ่าเสีย หลวงแพ่งผู้น้องหนีไปชักชวนพระพิมายมายึดนครราชสีมากลับคืนได้ หลวงแพ่งจะประหารชีวิตกรมหมื่นเทพพิพิธเสีย แต่พระพิมายกลับพากรมหมื่นเทพพิพิธไปไว้เมืองพิมาย
เพราะเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์กรุงศรีอยุธยา ยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าเมืองพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ฆ่าหลวงแพ่งเสีย ครั้นเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีตีชุมชุนพิษณุโลกไม่สำเร็จ จึงหันมาปราบชุมนุมเจ้าพิมาย ซึ่งมีกำลังอ่อนแอที่สุดก่อน ได้โปรดให้พระมหามนตรี (บุญมา) และพระราชวรินทร์ (ด้วง) คุมกองทัพน้อยไปตีด่านกะโทก ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรีคุมกองทัพหลวงไปตีด่านจอหอแตกเมื่อ พ.ศ.2311 จับได้ตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสีย แล้วยกเลยไปตีชุมนุมเจ้าพิมาย พระมหามนตรี และพระราชวรินทร์ตีด่านกะโทกแตก พระยาวรวงศาธิราช (ลูกคนเล็กของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ บางแห่งว่าเป็นพระยา) ถอยทัพหนีไปเมืองเสียมราฐ ฝ่ายกรมหมื่นเทพพิพิธเมื่อเห็นจะสู้ไม่ได้ก็พาพรรคพวกหนีเอาตัวรอดออกจากเมืองพิมายจะไปกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะชาวเมืองนครราชสีมาจับตัวได้นำมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี ครั้งแรกจะทรงชุบเลี้ยง แต่เจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อม จึงตรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย แล้วทรงตั้งให้ขุนชนะเป็นพระยากำแหงสงครามครองเมืองนครราชสีมาต่อไป
บุตรีกรมหมื่นเทพพิพิธองค์หนึ่งชื่อหม่อมเจ้าอุบล พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระกรุณาเลี้ยงเป็นหม่อมห้าม ภายหลังปรากฏว่าเป็นชู้กับฝรั่งมหาดเล็กถูกลงโทษถึงแก่ความตาย ”
- 6. ชุมนุมเจ้าตาก นับเป็นชุมนุมที่เล็กที่สุด โดยมีสมัครพรรคพวกชั้นเดิมเพียง 500 คน เจ้าตากก่อตั้งชุมนุมขึ้นด้วยความรักชาติอย่างแรงกล้า หวังที่จะกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย ขณะนั้นเจ้าตากได้ตั้งตนเป็นใหญ่ที่ เมืองจันทบุรี มีอำนาจปกครองตั้งแต่แดนต่อแดนเขมรเข้ามา ตลอดจนหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกทั้งหมดในอ่าวไทย ( ดูรายละเอียดในบทที่ 6 )
( http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html , 21/11/45)
ซึ่งขณะนั้นเจ้าตากตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองจันทบุรี ซึ่งดูว่ามีกำลังเข้มแข็งที่สุด ทั้งมียุทธศาสตร์ในการรบต่อสู้พม่า เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระลักษณะเป็นผู้นำที่ดี ทรงเป็นนักรบที่สามารถ และเอาพระองค์ออกหน้าในการรบทุกครั้ง
ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความเคารพนับถือ เกรงกลัว และจงรักภักดี ประกอบกับพระองค์และทหารต้องทำการรบอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทหารชำนาญการรบและมียุทธวินัยอันดี อีกทั้งทรงมีมิตรสหายรุ่นเดียวกันที่เป็นกำลังสำคัญในการรบพุ่งหลายคน ที่เรียกกันว่า ทหารเสือพระเจ้าตาก (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 2543 : 51-55) (ดูรายละเอียดในบทที่ 19)
โดยสรุปสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้ปราบปรามชุมนุมพม่า คือกลุ่มสุกี้พระนายกอง และนายทองอิน เป็นลำดับแรกหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และถือว่าเป็นการประกาศอิสระภาพจากพม่าเมื่อสามารถตีค่ายโพธิ์สามต้นแตก
ส่วนชุมนุมที่เหลือ 4 ชุมนุมนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามได้สำเร็จหลังจากที่ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงธนบุรีแล้ว ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2311-2313 จึงได้อาณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม (ดูรายละเอียดในบทที่ 10)