สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
บทที่ 7 สงครามกู้อิสรภาพจากพม่า
7.1 สงครามกอบกู้อิสรภาพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นคือ สงครามที่ต้องต่อสู้หรือปราบปรามใคร ?

พระยาตากสินได้ตั้งมั่นอยู่ในหัวเมืองแถบตะวันออก รวบรวมรี้พลสกลไกร เครื่องศัตราวุธ เพื่อเตรียมยกทัพกลับไปกู้บ้านเมืองคืนจากทัพพม่า (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
เจ้าตากได้ยึดเมืองจันทบุรี วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310 ต่อมาภายหลังไปตีเมืองตราดได้อีก เจ้าตากจึงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในหัวเมืองตะวันออก โดยสมบูรณ์ ระหว่างนี้มีข้าราชการจากกรุงศรีอยุธยามาเข้าด้วยหลายคน ที่สำคัญคือ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก และนายสุดจินดา ( ต่อมาคือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ฯ ) ได้นำนางนกเอี้ยงมารดาเจ้าตากมาจากบ้านแหลม เมืองเพชรบุรีด้วย ( ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 93) ภารกิจสำคัญยิ่งของเจ้าตาก คือการกู้กรุงศรีอยุธยาให้มีอิสรภาพสมบูรณ์ เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตอนนี้ท่านคงคิดอย่างหนัก เพราะขณะนั้นกำลังหลักที่ต้องต่อสู้ปราบปรามมี 5 หน่วยคือ สุกี้นายกองพม่าที่โพธิ์สามต้น กับก๊กคนไทยอีก 4 ก๊ก
อย่างไรก็ตามเมื่อเจ้าตากพิจารณาความเร่งด่วนแล้ว สิ่งที่จะต้องปฏิบัติทันทีคือ การทำลายกำลังของพม่าที่โพธิ์สามต้น เมื่อทรงได้ตกลงพระทัยแล้ว การเตรียมแผนการสงครามได้กำเนิดขึ้น ที่หมายอันดับแรกคือ 1. ป้อมวิชัยประสิทธิ์ที่เมืองธนบุรี 2. เข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้นที่อยุธยา ( เวลานี้อยู่ในเขต อ.บางปะหัน )
การเตรียมกำลังพลอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหารและต่อเรือรบน้อยใหญ่จำนวน 100 ลำเศษ ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเศษ ขบวนเรือรบของเจ้าตาก มีตั้งแต่เรือสำเภา ( ส่วนหนึ่งยึดได้จากเมืองตราด ) เรือเอี้ยมจุ้น เรือพาย เรือติดใบ เรือถ่อ ( สำหรับเข้าลำน้ำเจ้าพระยา ) และคงมีเรืออีกหลายชนิดที่สามารถแล่นชายทะเลได้ กองเรือรบที่ปากแม่น้ำจันทบุรีอันมีเจ้าตากทรงเป็นแม่ทัพเรือ คงจะเป็นขบวนเรือที่น่าดู น่าศึกษามิใช่น้อย

ทรงยกกองทัพเพื่อไปทำลายกำลังของพม่า ที่ค่ายโพธิ์สามต้น (เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)

สภาพเรือเสม็ดงามระหว่างการขุดค้นเมื่อ พ.ศ.2525 โครงสร้างไม้เรือส่วนหนึ่งถูกชาวบ้านรื้อขึ้นไปกองไว้บนฝั่ง และทิ้งระเกะระกะทั่วไป (ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
สายันต์ ไพรชาญจิตร (2533 : 64-74) ได้กล่าวถึง แหล่งโบราณดคีที่สำคัญเกี่ยวกับเรือที่สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินใช้ในการกู้เอกราชว่า “ …เรือเสม็ดงาม เป็นเรือสำเภาโบราณ ที่ชาวบ้าน บ้านเกาะเสม็ดงาม บนฝั่งตะวันออกของคลองอ่าวขุนไชย (แม่น้ำจันทบุรี) ขุดพบในปี พ.ศ.2523 และมีความเชื่อว่าเป็น อู่ต่อเรือพระเจ้าตากสิน และได้แจ้งต่อกรมศิลปากร ในปี พ.ศ.2524
กรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจ และสร้างเขื่อนดินกั้นล้อมบริเวณนั้น และเรียกเรือลำนั้นว่า “ เรือเสม็ดงาม ” ตามชื่อตำบลบ้านที่พบเรือ ปี พ.ศ.2532 โครงการโบราณคดีใต้น้ำ และคณะกรรมการฝึกอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำระดับสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และศูนย์สปาฟา ( SPAFA) ได้ทำการขุดค้นซากเรืออีกครั้ง เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมและศึกษาโครงสร้างเรือโดยละเอียด ผลการดำเนินงานขุดค้นศึกษาและวิเคราะห์ หลักฐานแวดล้อม ในชั้นแรกนี้ชี้ให้เห็นว่า ซากเรือเสม็ดงาม น่าจะเป็นหลักฐานเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการเตรียมกองทัพเรือ สำหรับการกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน ”
“ …การเตรียมกองทัพเพื่อกู้ชาติของพระเจ้าตากสิน ณ เมืองจันทบูร นั้นไม่ใคร่ปรากฏรายละเอียดมากนัก ในหลักฐานเอกสารแม้แต่ในประชุมพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นเอกสารที่ถือกันว่ามีความเป็นไปได้มากกว่าหลักฐานเอกสารฉบับอื่นๆ ก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า พระองค์ได้ยกกองทัพเรือและกองทัพบกไปโจมตีชมรมชาวพ่อค้าสำเภาที่ทุ่งใหญ่ (ตราด) และทรงมีชัยชนะเหนือชาวสำเภาทั้งหลาย จีนเจียม ซึ่งเป็นหัวหน้าได้ยอมสวามิภักดิ์และถวายธิดาให้เป็นบาทบริจาริกา
เมื่อเสด็จกลับเมืองจันทบูรแล้วโปรดให้มีการเตรียมกองทัพโดยให้ต่อเรือรบจำนวนมาก ความในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกันกล่าวว่า “ …ในเวลานั้นก็เสด็จกลับมา ณ เมืองจันทบูร ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ 100 เศษ… ” ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าพระเจ้าตากสินได้ทรงนำเอารูปแบบกองทัพเรือ แบบใหม่ มาใช้ในการรบกับพม่า ซึ่งรูปแบบและองค์ประกอบของกองทัพเรือของพระองค์นั้นแตกต่างไป จากกระบวนทัพเรือของกรุงศรีอยุธยา เพราะยุทธปัจจัยสำคัญในการเดินทางคือ

การขุดค้นเรือเสม็ดงามครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2532 ดำเนินการโดยโครงการโบราณคดีใต้น้ำ
และคณะผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำ ( ST-141a) ของสปาฟา ( SPAFA) (ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
เรือนั้น พระองค์นำเอาเรือสำเภามาใช้เป็นยุทธพาหนะในการรบด้วย … ประเด็นที่น่าสนใจคือ “ เรือรบ ” ที่โปรดให้ต่อขึ้นนั้นเป็นเรือชนิดใด ขนาดไหน จึงจะสามารถต่อได้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าลำในระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนเท่านั้น เมื่อพิจารณาถึงความในพงศาวดาร ฉบับเดียวกันซึ่งบันทึกเหตุการณ์ หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี แล้วทรงยกกองทัพเรือไปตีพม่าที่บางกุ้ง เมื่อจุลศักราช 1130 (พ.ศ.2311) พระองค์ทรง เรือพระที่นั่งสุวรรณมหาพิชัยนาวา ซึ่งเป็นเรือยาว (แบบเรือหัวรูปสัตว์) ขนาดยาว 11 วา กว้าง 3 ศอกเศษ ใช้พลกรรเชียง 28 คน และเมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองพุทไธมาศในปีจุลศักราช 1133 (พ.ศ.2314) ซึ่งเป็นการเดินทัพทางทะเลเส้นทางเดียวกับ เมื่อคราวยกทัพจากเมืองจันทบูรมาขับไล่พม่าที่ธนบุรี คราวนี้พระองค์ใช้ เรือพระที่นั่งสำเภาทอง พร้อมทั้งเรือรบ 200 ลำ เรือสำเภาอีก 100 ลำ จึงไม่ต้องสงสัยว่า เรือรบที่ทรงให้ต่ออีกร้อยกว่าลำนั้น คือ เรือในตระกูลเรือยาวใช้ฝีพาย หรือพลกรรเชียงเป็นแรงขับเคลื่อน

ภาพการขุดค้นเรือเสม็ดงามครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ.2532
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)

แผนที่แสดงภาพการเดินเรือจากจันทบูรมายังอยุธยา
(ภาพจากหนังสือเรือ : วัฒนธรรมชาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา และวารสารศิลปวัฒนธรรม)


ภาพลายเส้นเรือสำเภาในเอกสารประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เมื่อพุทธศตวรรษที่ 22 สันนิษฐานว่าเรือสำเภาเสม็ดงาม คงมีรูปร่างไม่แตกต่างไปจากสำเภาลำนี้
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)
แต่ในการเดินทัพทางทะเลจากเมืองจันทบูรไปธนบุรีนั้น คงต้องใช้เรือสำเภาด้วยอย่างแน่นอน… โดยการรวบรวมเรือสำเภาจากบรรดาชาวพ่อค้าสำเภา (จีน) ซึ่งมีจำนวนมากแถบหัวเมืองชายทะเลจันทบุรีและตราด และมีการซ่อมดัดแปลงเรือสำเภาให้แข็งแรง และมีสภาพที่เหมาะสมต่อการใช้ในกองทัพเรือ จากหลักฐานต่างๆ ที่พบในการขุดค้นศึกษาแหล่งเรือเสม็ดงาม ตั้งแต่พ.ศ.2524 พอจะชี้ให้เห็นว่า
- 1. เรือเสม็ดงาม เป็นเรือสำเภาจีน (เป็นเรือสำเภาขนาดเล็ก คาดว่าน่าจะต่อและนำมาจากเมืองจีน เรือมีใบสามเสา ใช้หางเสือแบบกลางท้าย (axial-rudder type) ขนาดความยาวตลอดลำประมาณ 12 วา (24 เมตร) ปากเรือกว้าง 4 วา (8 เมตร))
- 2. เรือถูกทิ้งร้างอยู่บนคานในอู่ซ่อมเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 (หรือราว พ.ศ.2300 กว่าๆ)
- 3. ซ่อมไม่เสร็จ ในเรื่องนี้มีประเด็จที่น่าพิจารณาคือ สาเหตุของการซ่อมไม่เสร็จสมบูรณ์นั้นเนื่องมาจากผู้ซ่อมไม่มีเวลามากพอ หรือว่าเรือมีสภาพชำรุดมากเกินไปจนไม่สามารถซ่อมให้ใช้การได้
เหตุผลน่าจะเป็นมาจากผู้ซ่อมไม่มีเวลามากพอ เพราะระยะเวลาที่ใช้ในการดัดแปลง หรือซ่อมนั้นมีจำกัด เรือที่นำมาซ่อมหรือดัดแปลงมีจำนวนมาก และเรือมีจำนวนมากพอที่จะนำมาใช้งาน ดังนั้นเรือลำนี้จึงถูกทิ้งค้างไว้บนคานซ่อมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
หมายเหตุ หลวงสมานวนกิจ (2496 : 39) ได้กล่าวถึง ไม้ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำมาใช้ในการต่อเรือรบที่เมืองจันทบุรีว่า “ …ได้ตัดโค่น ต้นตะเคียน ขนาดใหญ่ในป่าลงมาเลื่อยทำเป็นเรือรบได้อย่างดี ทนทาน แข็งแรงไม่มีไม้ชนิดอื่นสู้ได้ และเนื่องจากที่พระเจ้ากรุงธนได้เสด็จไปตั้งกองสร้างเรือรบที่จันทบุรี โดยใช้ไม้ตะเคียนในป่าเป็นผลดีได้กู้ชาติเป็นเอกราชขึ้นได้อีก ทรงระลึกถึงบุญคุณของต้นตะเคียน จึงทรงราโชบายหาทางปรองดองกันไม่ให้ประชาชนทำลายไม้ตะเคียน แต่รักษาไว้ให้เป็นมิ่งขวัญของชาติเท่าที่จะทำได้ จึงทรงตรัสให้ผู้มีอิทธิพลออกไปตามหัวเมือง เล่ากันว่าได้พบนางตะเคียนเป็นเทพธิดารักษาต้นตะเคียน ผู้ใดโค่นตัดไม้ตะเคียนย่อมจะเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของพฤกษาเทวา นางไม้ ตั้งแต่นั้นมาประชาชนก็ไม่กล้าตัดไม้ตะเคียนลงทำประโยชน์ใดๆ ความเชื่อถืออันนี้ก็ยังคงมีอยู่ในจังหวัดนอกๆ ซึ่งเป็นผลดีแก่การรักษาพันธุ์ไม้อันมีค่าของประเทศชาติ โดยมิต้องออกกฎหมาย หรือประกาศหวงห้ามแต่อย่างใด พระเดชพระคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังที่กล่าวมานี้ ควรจะได้จดจำรำลึกได้อยู่จนตราบสิ้นดินฟ้า ”
1. การยึดป้อมวิชัยประสิทธิ์ ( เมืองธนบุรี ) ครั้นปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2310 กองเรือใหญ่น้อย 100 ลำ เรือลำหนึ่งจุทหารได้ราว 100 คน (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 159 ) บรรทุกเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ พร้อมกับทหารไทยจีนอีก 4,000 คน ออกจากปากน้ำจันทบุรี เข้าอ่าวไทยมุ่งเข้าปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อขบวนเรือก่อนถึงป้อมวิชัยประสิทธิ์ แผนการยกพลขึ้นบกเพื่อยึดป้อม ปฏิบัติตามแผนทุกประการ เมื่อได้ป้อมวิชัยประสิทธิ์แล้ว การเคลื่อนย้ายต่อไปคงใช้เรือตลอดลำน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงที่หมาย การเริ่มเข้าตีและยึดค่ายต่างๆ ขั้นแรกเจ้าตากทรงใช้การยกพลขึ้นบกเกือบทุกแห่ง เพื่อความเข้าใจในเหตุการณ์นี้ขอคัดจาก หนังสือไทยรบพม่า ให้ทราบดังนี้
“ ฝ่ายนายทองอินทร์ หรือบุญสง ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2543 : 3) ซึ่งพม่าให้ตั้งรักษาเมืองธนบุรีรู้ว่าเจ้าตาก ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำ ก็ให้รีบขึ้นไปบอกแก่สุกี้แม่ทัพที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกคนขึ้นรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์และหน้าที่เชิงเทินเมืองธนบุรีคอยจะต่อสู้ ครั้นกองทัพเจ้าตากยกขึ้นมาถึง พวกรี้พลรักษาหน้าที่เห็นว่าเป็นกองทัพไทยยกมา ก็ไม่เป็นใจที่จะต่อสู้ รบพุ่งกันหน่อยหนึ่ง เจ้าตากก็ตีเมืองธนบุรีได้ จับนายทองอินทร์ได้ ให้ประหารชีวิต ”
2. การยึดค่ายโพธิ์สามต้น เจ้าตากเร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายสุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ได้ทราบความจากคนที่นายทองอินทร์ให้ไปบอกข่าว ไม่ช้าพวกที่แตกหนีไปจากเมืองธนบุรีตามไปถึง บอกสุกี้ว่าเสียเมืองธนบุรีแก่ไทยแล้ว สุกี้ได้ทราบก็ตกใจ ให้รีบเตรียมรักษาค่ายโพธิ์สามต้น และเวลานั้นเป็นฤดูฝนสุกี้เกรงว่ากองทัพไทยจะขึ้นไปเสียก่อนเตรียมต่อสู้พรักพร้อม จึงให้มองญ่า ( หรือมองย่า ) นายทัพรองคุมพลพวกมอญและไทยที่ไปยอมอยู่ด้วย ยกเป็นกองทัพเรือลงมาตั้งสกัดคอยต่อสู้อยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาในค่ำวันนั้น ได้ความว่ามีกองทัพข้าศึกลงมาตั้งอยู่ที่เพนียด ยังไม่ทราบว่ากำลังข้าศึกจะมากน้อยเท่าใดก็ตั้งอยู่ ฝ่ายพวกไทยที่มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพไทยด้วยกันยกขึ้นไป ก็รวนเรจะหลบหนีไปบ้าง จะมาเข้ากับเจ้าตากบ้าง มองญ่าเห็นพวกไทยไม่เป็นใจต่อสู้ข้าศึก เกรงจะพากันเป็นกบฏขึ้น ก็รีบหนีเอาตัวรอดกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในค่ำวันนั้น
พอรุ่งเช้าเจ้าตากทราบความจากพวกที่หนีพม่าเข้ามาด้วยว่าข้าศึกถอยหนีจากเพนียดหมดแล้ว ก็รีบยกตามขึ้นไป และค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นนั้นตั้งข้างฟากตะวันออกค่ายหนึ่ง ( บริเวณวัดหงษ์ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ) ข้างฟากตะวันตกค่ายหนึ่ง ( คือค่ายโพธิ์สามต้น ) ตัวสุกี้แม่ทัพอยู่ข้างฟากตะวันตก ค่ายนี้พม่ารื้อเอาอิฐตามวัดมาก่อกำแพงทำเชิงเทินมั่นคงมาแต่ครั้งเนเมียวสีหบดีแม่ทัพใหญ่อยู่เมื่อล้อมกรุงฯ จึงเป็นที่มั่นของสุกี้ต่อมา เจ้าตากยกตามมองญ่าขึ้นไปโพธิ์สามต้น เวลาเช้าก็สั่งให้ทหารระดมตีค่ายพม่าข้างฟากตะวันออก พอเวลา 9 นาฬิกาก็ได้ค่ายนั้น เจ้าตากจึงให้เข้าตั้งรักษาค่าย แล้วทำบันไดสำหรับพาดปีนค่ายพม่าข้างฟากตะวันตกแต่เวลาเช้านั้น ครั้นพร้อมเสร็จพอเวลาค่ำก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิชัยนายทหารจีน คุมกองทหารจีนไปตั้งประชิดค่ายสุกี้ทางด้าน “ วัดกลาง ” ( ควรเป็น “ วัดกำแพง ” เพราะอยู่ใกล้ค่าย ส่วนวัดกลางอยู่ไกลมากกว่า 1 กม. ) พอรุ่งเช้า ณ วันศุกร์เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 ( http://board.dserver.org/n/natshen/00000133.html 21/11/45) ก็ให้กองทัพทหารไทยจีนเข้าระดมตีค่ายสุกี้พร้อมกัน รบกันแต่เช้าจนเที่ยง กองทัพเจ้าตากก็เข้าค่ายพม่าได้ ฆ่าสุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ พวกพลไพร่ที่เหลือตายนั้นมองญ่าพาหนีไปได้บ้าง แต่ที่จับได้และที่เป็นไทยอ่อนน้อมโดยดีนั้นเป็นอันมาก
การบุกค่ายโพธิ์สามต้นพระราชพงศาวดาร เขียนไว้ว่า “ ครั้นรุ่งเช้าเป็นวันเดือน 12 ข้างขึ้น เพลาสามโมงเศษ ให้พลทหารยกเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออกแตก จึงตรัสสั่งให้ทำบันไดจะพาดเข้าปีนค่ายใหญ่ฟากตะวันตก ซึ่งมีกำแพงพระนายกองอยู่นั้น … ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง จึงดำรัสให้ทัพจีนกองหน้ายกเข้าตีค่ายพระนายกอง พระนายกองก็คุมพลทหารออกต่อรบ รบกันตั้งแต่เช้าจนเพลาเที่ยง พวกพระนายกองหนีเข้าค่าย ทัพจีนไล่ติดตามเข้าไปในค่าย พระนายกองสู้รบอยู่ตัวตายในค่ายนั้น… ”
(เอื้อเฟื้อภาพโดย เมืองโบราณ)
หมายเหตุ : ชะตากรรมของสุกี้
พระราชพงศาวดารของไทยขัดแย้งกันอยู่เรื่องชะตากรรมของสุกี้
ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า สุกี้สู้รบจนตัวตายที่ค่ายโพธิ์สามต้น ส่วนมองย่าหนีไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธ ฉบับบริติชมิวเซียม ให้เนื้อความเช่นเดียวกับฉบับพันจันทนุมาศ และว่าเมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธยึดเมืองนครราชสีมาได้แล้ว จึงให้ลงมารับพระนายกองและมองย่า ซึ่งอยู่รั้งกรุงนั้นขึ้นไป ณ เมืองพิมาย
ฉบับพันจันทนุมาศมีข้อความที่บอกว่าลงมารับพระนายกองและมองย่าขึ้นไปเมืองพิมายดังนี้ “ ..กรมหมื่นเทพพิพิธให้มาชวนสุกี้พระนายกองของพม่ากับมองย่าปลัดเมืองให้เข้ากับพวกด้วย พระนายกองจึงคิดอ่าน ให้พระยาธิเบศร์บริรักษ์ผู้เป็นที่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ออกมาถวายบังคมสวามิภักดิ์ยอมเป็นข้ารับใช้กรมหมื่นเทพพิพิธ …”
ฉบับพันจันทนุมาศนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงชำระเองเมื่อ พ.ศ.2338 ฉะนั้นจึงเชื่อได้ว่าไม่ผิด
การที่กรมหมื่นเทพพิพิธหันไปเล่นด้วยกับพม่า ย่อมทำให้คนไทยทั้งปวงเสียความรู้สึกเป็นอันมาก ดังนั้นการที่สุกี้และมองย่าหนีจากค่ายโพธิ์สามต้นไปเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธนั้นย่อมไม่เป็นความลับ ความทราบถึงเจ้าตาก ดังนั้นหลังจากที่เจ้าตากยกทัพไปปราบเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) และเจ้าพระยาพิษณุโลกยิงปืนต้องหน้าแข้งของเจ้าตากบาดเจ็บ เจ้าตากจำต้องล่าทัพลงมายังกรุงธนบุรีตามเดิม พอรักษาบาดแผลที่หน้าแข้งหายแล้ว และทรงได้ข่าวสุกี้กับมองย่าไปร่วมการใหญ่กับกรมหมื่นเทพพิพิธ จึงยกทัพไปปราบ มีการรบใหญ่ที่ด่านขุนทด และด่านจอหอ ผลปรากฏว่าทัพเจ้าตากประสบชัยชนะ
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าจับมองย่าได้ เข้าใจว่าสุกี้ก็คงถูกจับได้ด้วย และเมื่อเจ้าตากให้ประหารชีวิตมองย่าเสีย ก็เข้าใจว่าสุกี้คงถูกประหารชีวิตด้วย (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 200-205)
เมื่อเจ้าตากตีค่ายโพธิ์สามต้นได้ ก็ได้กรุงศรีอยุธยาคืนมาเป็นของไทย เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 หมายความว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนได้ ภายในเวลา 7 เดือน นับว่าเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์
เมื่อเจ้าตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ได้ ตั้งกองทัพอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น ขณะนั้นมีผู้คนและทรัพย์สมบัติซึ่งสุกี้ยังไม่ได้ส่งไปเมืองพม่าเอารวบรวมรักษาไว้ในค่ายแม่ทัพ อีกทั้งมีพวกข้าราชการที่พม่าจับเอาไปไว้หลายคนคือ พระยาธิเบศร์บดี (น่าจะเป็นคนเดียวกับพระยาธิเบศร์บริรักษ์) จางวาง มหาดเล็กเป็นต้น ต่างพากันเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงที่พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ในกรุงฯ ที่โคกพระเมรุ ( ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 19 ; ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 94 ) และทูลว่ายังมีเจ้านายซึ่งพม่าจับได้ต้องกักขังอยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ ที่เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ คือ เจ้าฟ้าสุริยาพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจันทวดีพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์หนึ่ง รวม 4 พระองค์
ที่เป็นชั้นหลานเธอคือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทร องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ามณี ธิดาของกรมหมื่นเสพภักดีองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจีด องค์หนึ่ง รวม 4 องค์ เจ้านายทั้ง 8 องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรหนัก จึงยังมิได้ส่งไปเมืองอังวะ เจ้าตากทราบก็มีความสงสาร และแต่ก่อนมาเมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรีนั้น ก็ได้พบพระองค์เจ้าทับทิม ราชธิดาพระเจ้าเสือพระองค์หนึ่ง ซึ่งพวกข้าพาหนีไปเมืองจันทบุรี เห็นจะเป็นเพราะเจ้าจอมมารดาเป็นญาติกับพระยาจันทบุรี เจ้าตากก็อุปการะทำนุบำรุงไว้ จึงจัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ( พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้า 603-604 ) ตอนหนึ่งว่า
“… ตรัสสั่งมิให้ทหารทำการอันตรายเบียดเบียนแก่ไพร่ฟ้าประชากรทั้งปวง ครั้นตรัสเห็นขัตติยวงศ์บูราณ เสนาบดีซึ่งอนาถาได้รับความทุกข์เวทนาลำบาก ก็พระราชทานเสื้อผ้าต่างๆ แก่พวกนายกอง และเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก แล้วจึงเชิญเสด็จพระบรมศพพระที่นั่งสุริยา มรินทร์แห่แหนมา ณ โพธิ์สามต้น ถวายพระเพลิง และพระราชทานฐานาศักดิ์แก่เสนาบดีให้คงอยู่กับนายกองดังเก่า อนึ่งแต่งให้ขึ้นไปเกลี้ยกล่อม ณ เมืองลพบุรี สำเร็จแล้วให้รับบูราณขัตติยวงศา ซึ่งได้ความลำบากลงมาทำนุบำรุง ณ เมืองธนบุรี …”
เจ้าตากโปรดให้ปล่อยคนทั้งปวงที่ถูกพม่ากักขังไว้ แล้วแจกจ่ายทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคประทานให้พ้นทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น แล้วจึงให้ปลูกเมรุคาดผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง และให้สร้างพระโกศเครื่องประดับสำหรับงานพระบรมศพตามกำลังที่จะทำได้ ครั้นเตรียมการพร้อมเสร็จ เจ้าตากจึงเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลาอยู่ในกรุงฯ ให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศน์อัญเชิญลงพระโกศ ประดิษฐานที่พระเมรุสร้างไว้ให้ เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ นิมนต์มารับทักษิณานุประทานและสดับปกรณ์ตามประเพณี แล้วเจ้าตากกับเจ้านายในพระราชวงศ์เดิมและข้าราชการทั้งปวงก็ถวายเพลิงพระบรมศพ และประจุพระอัฐิธาตุตามเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา ( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 64-69)
หมายเหตุ : ยังมีหลายๆ ท่านที่เข้าใจเรื่องสถานที่ตั้งชื่อ โพธิ์สามต้น คลาดเคลื่อน มีหนังสือของสถาบันแห่งหนึ่งได้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารการกินของธนบุรี และด้วยความสมบูรณ์ดังกล่าวเนื้อหาในหนังสือนั้นได้เข้าใจผิดว่า “… พม่าได้แต่งตั้งให้สุกี้เป็นนายกองพม่ามาตั้งค่ายที่โพธิ์สามต้นกรุงธนบุรี เพื่อสะสมเสบียงอาหารและไพร่พล …” เรื่องความเข้าใจทำนองนี้อาจมีขึ้นอีกและนำไปอ้างอิงในการเขียนประวัติศาสตร์ต่อๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งผู้มีความประสงค์ในการทัศนาจรจะได้ไม่สับสน จึงเสนอสถานที่ตั้งโพธิ์สามต้นทั้งสองแห่งดังนี้
โพธิ์สามต้นที่ธนบุรี เป็นชื่อซอยที่แยกจากถนนอิสระภาพ ในซอยนี้ยังมีตลาดชื่อโพธิ์สามต้น ในบริเวณตลาดมีโพธิ์ต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่งและมีศาลเจ้าอยู่ด้วย ซอยและตลาดโพธิ์สามต้นนี้อยู่ในแขวงวัดอรุณฯ เขตบางกอกใหญ่ ธนบุรี ชื่อโพธิ์สามต้นที่ธนบุรีสันนิษฐานได้หลายกรณี เช่น เมื่อก่อนอาจมีต้นโพธิ์อยู่สามต้น ตายไปสองต้น แต่ชาวบ้านคงชื่อนี้เอาไว้ หรือตั้งชื่อโพธิ์สามต้นเพื่อเป็นเกียรติและประวัติที่พระเจ้าตากสินได้เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น ที่อยุธยาจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดเช่นเดียวกับบ้านพรานนกหรือถนนลาดหญ้า ( การรบที่ทุ่งลาดหญ้าในสงครามเก้าทัพที่ จังหวัดกาญจนบุรี )
โพธิ์สามต้นที่อยุธยา เป็นชื่อค่ายทหารพม่าสร้างไว้สมัยเนเมียวสีหบดีแม่ทัพเมื่อคราวมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ.2309 ต้นโพธิ์สามต้นนั้นมีอยู่ที่วัดโพธิ์หอม พ.อ.ประยูร มณฑลพันธุ์ เคยบวชที่วัดนี้บอกว่า โพธิ์ตายไปหนึ่งต้นเมื่อ 60 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเหลืออยู่สองต้นหน้าวัดโพธิ์หอม ส่วนค่ายโพธิ์สามต้นพม่าได้ตั้งค่ายในพื้นที่ห่างจากวัดโพธิ์หอม หรือห่างจากต้นโพธิ์ทั้งสาม ไปทางตะวันตก ตามลำน้ำลพบุรีเก่าประมาณ 800 เมตร และเรียกชื่อค่ายนี้ว่า “ ค่ายโพธิ์สามต้น ” เพราะอยู่ใน เขตตำบลโพธิ์สามต้น มิใช่ว่าต้นโพธิ์อยู่ในค่ายหรือริมค่ายสามต้นจึงจัดตั้งชื่อตาม จำนวนต้นโพธิ์ ค่ายโพธิ์สามต้นนี้อยู่ในเขตตำบลโพธิ์สามต้น อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ( รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ , พลโท , 2537 : 27-32)