โครงการพระจอมเกล้าศึกษา
สยามเปิดประตูทางการค้า สมัยรัชกาลที่ 4 : รากฐานการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ
รวบรวม และเรียบเรียงโดย น.ส.สมปอง ยิ้มละมัย และน.ส.สุภาพ กลิ่นเรือง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทรงดำเนินนโยบายเปิดการติดต่อสัมพันธ์กับชนชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง และเป็น “ต้นแบบ” ของนโยบายต่างประเทศในเวลาต่อมา เนื่องจากตลอดระยะเวลา 27 ปีที่ทรงครองสมณเพศอยู่นั้นได้ทรงติดตามข่าวคราวการเคลื่อนไหวของมหาอำนาจตะวันตกอยู่ ด้วยความห่วงใยอนาคตของบ้านเมืองทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยควรจะเริ่มพยายามศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับชาวตะวันตกตลอดทั้งความเจริญตามแบบตะวันตก เพื่อจะได้เตรียมตัวไว้รับเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง เช่นการปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป การแผ่ขยายลัทธิจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจตะวันตกที่แข่งขันกันทางแสนยานุภาพในการแสวงหาอาณานิคมโพ้นทะเล ซึ่งเริ่มเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษชนะรบพม่า จีน และหัวเมืองมาลายู เป็นต้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในทวีปยุโรป
เมื่อคริสต์ศตวรรษ ที่ 18-19 โดยเริ่มที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก และตามมาด้วยประเทศในยุโรปอื่น ๆ เมื่ออุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ผลผลิตมีปริมาณมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ จำเป็นต้องแสวงหาตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อระบายสินค้า จึงนำไปสู่การแข่งขันขยายอิทธิพลไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งขณะนั้นบรรดาประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทย กำลังถูกอิทธิพลของชาวตะวันตกคุกคามอยู่ โดยเฉพาะการที่จีนที่ถือว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ในทวีปเอเชียต้องพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ เพราะจีนพยายามกีดกันทางการค้าและไม่ยอมเปิดประเทศติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตกก่อให้เกิดผลร้ายต่อจีนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสงครามฝิ่น (ค.ศ. 1840-1842) และในขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสต่างพยายามแสวงหาที่มั่นในพม่าและอินโดจีน เพื่อใช้เป็นบันไดไปสู่ยูนานและธิเบต

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

สงครามฝิ่นจีน
รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4

ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์และพระมหาพิชัยมงกุฎ ฉายเมื่อ พ.ศ.2407
ทรงครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ.2394-2411 ตลอด 17 ปี เป็นระยะเวลาที่ประเทศไทยหรือสยามขณะนั้นก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการค้าขายกับต่างประเทศครั้งใหญ่ คือ สนธิสัญญาบาวริง รวมถึงสนธิสัญญาจากชาติอื่น ๆ ที่ตามมา ทำให้ระบบการค้าแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้าถูกยกเลิก ยกเลิกสินค้าต้องห้าม เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีจากเรือสินค้าใหม่ เป็นการเปลี่ยนประเพณีการค้าขายของไทยครั้งใหญ่
สนธิสัญญาบาวริง
ในปี 2398 เซอร์ จอร์น บาวริง (Sir John Bowring) เอกอัครราชฑูตจากสำนักอังกฤษ เดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า ด้วยสนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) ในการทำสนธิสัญญากันครั้งนั้น ฝ่ายไทยดำเนินตามพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ความข้อใดซึ่งเห็นว่าอังกฤษคงจะเอาให้จงได้ ไทยก็ยอมให้โดยดีเพื่อแลกเอาข้อที่ไทยต้องการให้อังกฤษลดหย่อนผ่อนผันให้ ทั้งนี้เพื่อให้การทำสนธิสัญญาเป็นไปโดยราบรื่น จะไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ “ฝรั่ง” เอากำลังบังคับ เช่นที่ได้กระทำกับจีนและพม่า
“ เซอร์ จอร์น บาวริง ได้กล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าลุกขึ้นกล่าวว่ารู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่ข้าพเจ้าได้รับการตอนรับเป็นอย่างดี ทั้งยังได้รับความสะดวกทุกประการในการเจรจาทางการฑูตของข้าพเจ้าให้เป็นผลสำเร็จรวดเร็ว ข้าพเจ้าได้แสดงความมั่นใจว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยให้ชื่อของประเทศสยามเป็นที่รู้จักกันยิ่งขึ้นในหมู่ประเทศตะวันตก และจะช่วยให้เกิดความมั่งคั่งถาวรให้แก่ประเทศคู่สนธิสัญญาทั้งสอง และแก่โลกอันไพศาลในที่สุด…”
และต่อมาการที่ไทยยอมทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ และปรัสเซีย ด้วยนั้น ก็เพื่อมิให้อังกฤษเข้ามามีอิทธิพลเหนือไทยแต่เพียงประเทศเดียว เป็นการชักนำให้ประเทศต่าง ๆ เข้ามารักษาอิทธิพลของตนในไทย ในลักษณะที่ต่างก็ถ่วงดุลอำนาจกันเองเพื่อมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในไทยมากเกินไป แต่การที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยได้เพียงใดนั้นก็ขึ้นกับความสามารถในเชิงการฑูตและการบริหารบ้านเมืองของผู้นำเป็นสำคัญ

เซอร์ จอห์น บาวริง (Sir John Bowring)
17 ตุลาคม 2335 – 23 พฤศจิกายน 2415

สนธิสัญญาบาวริง เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398
สาระสำคัญของสนธิสัญญาบาวริงที่เกี่ยวกับการค้ามีดังนี้
ผู้ซื้อสินค้าจะซื้อ ขายสินค้าส่งออกนอกประเทศได้ทุกชนิดโดยเสรี แต่รัฐบาลไทยสามารถสงวนสิทธิที่จะห้ามส่งสินค้าออกนอกประเทศได้ เมื่อเกิดทุพภิกขภัย
2.ผู้ขายจะนำสินค้าเข้ามาขายในกรุงเทพได้ทุกชนิด นอกจากอาวุธยุทธภัณฑ์ต้องขายให้กับรัฐบาลเท่านั้น และฝิ่นต้องขายให้กับเจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น
3. ผู้ขายและผู้ซื้อสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยเสรี
4. ยกเลิกค่าธรรมเนียมปากเรือ เปลี่ยนมาเก็บภาษีศุลกากรจากสินค้าขาเข้าร้อยละ 3
ผลจากการทำสนธิสัญญาทำให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการค้าซึ่งเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา
การทำการค้าโดยเสรี
มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายมากมาย สินค้าของไทยขายได้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว รัชกาลที่ 4 ทรงส่งเสริมให้ราษฎรทำนาให้เต็มกำลัง “ถ้าราษฎรผู้ใดไม่มีนาทำ ให้ข้าหลวง เสนา กรมการ จัดแจงจองนาให้แก่ราษฎรทำ และเพิ่มผลผลิตโดยการขยายเนื้อที่การเพาะปลูกออกไป มีการกระตุ้นให้ราษฎรเกิดแรงบันดาลใจ โดยทรงปรับปรุงอัตราภาษีอากรใหม่ให้ยุติธรรม เช่น ภาษีอากรนา พระองค์ได้ตีพิมพ์ประกาศอัตราภาษีอากรให้ราษฎรได้รู้ เพื่อให้ราษฎรมีกำลังใจทำมาหากิน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ปลูกพืชเกษตรอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากข้าว คือ อ้อย ยาสูบ ฝ้าย ปอ ผักผลไม้ (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 เลขที่ 148 จ.ศ. 1224) เพื่อส่งเป็นสินค้าออกให้มีความหลายหลายมากขึ้น เป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ในสังคมสยาม
“ศาสตราจารย์ อินแกรม ผู้เขียนเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ระหว่างปี 2393-2493 ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้ไว้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจส่วนสำคัญที่สุดของไทยคือ การผลิตข้าว ซึ่งได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังการทำสนธิสัญญาบาวริง จากเดิมที่เคยส่งออกน้อยกว่าปีละ 1 ล้านหาบได้เพิ่มขึ้นเป็น 26 ล้านหาบในปี 2494 แสดงว่าในระยะหนึ่งร้อยปีปริมาณข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นจากสมัยที่ทำสนธิสัญญาถึง 25 เท่า ในขณะที่จำนวนประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเท่าเดียว แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี 2398 เป็นต้นมาไม่มีกิจกรรมเศรษฐกิจใดเท่ากับการส่งออกข้าวอันเป็นผลผลิตของชาวนาไทย”

James C. Ingram เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ได้เขียนวิทยานิพนธ์
เรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 2393-2493 (Economic Change in Thailand Science 1850-1970)
“หมอรัดเลได้กล่าวว่า (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 223) กรุงเทพฯ นี้เปรียบเสมือนยุ้งฉางอันใหญ่สำหรับจำหน่ายข้าวในทวีปเอเชีย มีเรือสินค้ารอบรรทุกข้าวเป็นจำนวนมากคือในช่วง วันที่ 1 มกราคม 2409 มีกำปั่นต่างประเทศ เข้ามาจอดอยู่ในกรุงเทพฯ ถึง 26 ลำ กำปั่นไทย 46 ลำ รวมเป็น 72 ลำ


แม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับน้ำลึกพอสำหรับเรือกลไฟ ขนาดระวางบรรทุก 1,500 ตัน และเห็นโรงสีเรียงรายทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
“บางกอกรีเคอเดอร์, 2409:202 ระยะเวลาผ่านมาอีก 15 วัน มีเรือสินค้าเพิ่มขึ้นมาอีกเป็น 84 ลำ เรือเหล่านี้คอยบรรทุกข้าวแทบทุกลำ”
“บางกอกรีเคอเดอร์, 2409:203 แสดงให้เห็นว่าการค้าขายกับต่างประเทศขยายตัวไปอย่างกว้างขวางมาก และรัฐบาลได้เปิดเสรีทางการค้าระหว่างพ่อค้ากับประชาชน ยกเลิกผูกขาดตามสนธิสัญญาบาวริ่ง”
“กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 4 เลขที่ 122 จ.ศ. 1218 : รัฐบาลได้ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศ ใจความว่า บรรดาราษฎรผู้ใดมีข้าว ปลา น้ำอ้อย น้ำตาล และสินค้าอื่น ๆ เมื่อพอใจจะขายกับคนนอกประเทศก็ให้ขายตามใจชอบโดยสะดวกสบายเถิด”
นโยบายการคลัง
เมื่อมีการยกเลิกพระคลังสินค้า รายได้ของรัฐถูกจำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศและภาษีขาเข้าขาออกเท่านั้น เงินรายได้จากการผูกขาดและเก็บภาษีชาวต่างประเทศซ้ำซ้อนก็ขาดไป ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดน้อยลง ทรงเพิ่มการจัดเก็บระบบภาษีอากรให้เป็นแบบแผนมีการเพิ่มชนิดของภาษีอากรโดยผ่านระบบเจ้าภาษีนายอากร เพิ่มชนิดของภาษีอากรอีก 16 ชนิด และพยายามส่งเสริมการเพิ่มปริมาณของสินค้าเข้า-ออกให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการชักชวนชาวต่างประเทศให้เข้ามาค้าขาย ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้มีการเพิ่มผลผลิตในประเทศ
การอุตสาหกรรมและเครื่องจักรการผลิต

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ต้นราชสกุล อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา (23 พฤศจิายน 2363-29 ตุลาคม 2404)
พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กับพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี
ทรงส่งเจ้าฟ้าอิศราพงศ์ไปดูงานด้านการก่อตั้งโรงปูนที่สระบุรี ในปี 2401 ทางด้านอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศ มีโรงสีข้าว และเครื่องจักรสำหรับสีข้าวเป็นครั้งแรก (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 243) โรงงานหีบฝ้ายด้วยเครื่องจักรทำให้ราษฎรผลิตฝ้ายเพิ่มขึ้น มีโรงงานรับซื้อฝ้ายโดยตรง (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ,จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 เลขที่ 161 จ.ศ. 1277) โรงเลื่อยจักร ซึ่งใช้เครื่องจักรแทนแรงคนที่แต่เดิมเป็นการเลื่อยด้วยมือ ทำให้ส่งไม้โดยเฉพาะไม้สักไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น (Bangkok Calender, 1862 :4)
การตั้งบริษัทการค้า- ห้างร้าน ของชาวต่างประเทศ

บริษัท มาร์กวอลด์ (Markwald) ของเยอรมัน

โรงแรมโอเรียนเตล กรุงเทพฯ ถ่ายราวสมัย ร.5 (ก่อนพ.ศ.2453) โรงแรมนี้เคยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์มาตั้งแต่ พ.ศ.2408 แสดงถึงความมีอายุยืนนานที่สุดกว่าโรงแรมทั้งหลายของไทย ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
มีการตั้งบริษัทการค้าของชาวต่างประเทศ ซึ่งตั้งห้างร้านค้าขายอยู่ในกรุงเทพฯ หลายบริษัท เช่นห้างปากเกอร์ กูดเดล (Parker Goodale) ห้างเมสัน (Mason) ห้างบอร์เนียว (Borneo) ห้างสมิท (Schmit) ห้างพิคเดคนแพทค์ (Pickenpack) ห้างมาร์ควอลด์ (Markwald) ซึ่งคนไทยเรียกว่า ห้างมากัว ห้างออดแมน (Odman) (Bangkok Calender, 1868 : 63) นอกจากบริษัทห้างร้านและโรงงานแล้วยังมีกิจการโรงแรมที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ได้แก่ ฟอล์ค โฮเต็ล (Falck’s Hotel) มีนาย ซี ฟอล์ค เป็นเจ้าของ เปิดกิจการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2406 และคาร์เตอร์ โฮเต็ล (Carter’s Hotel) มีนายพี คาร์เตอร์ เป็นเจ้าของ (Bangkok Calender, 1869 : 64) โรงแรมโอเรียลเตล กรุงเทพฯ (อเนก นาวิกมูล, 2549 : 24)

ถนนเจริญกรุง สร้างเป็น 2 ตอน คือถนนเจริญกรุงตอนใต้ โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ.2404 และถนนเจริญกรุงตอนใน สร้างเมื่อ พ.ศ.2405 ทั้งสองตอนมาบรรจบกันที่สะพานเหล็กบน (สะพานดำรงสถิตย์) นิยมเรียกกันในสมัยนั้นว่า ถนนใหม่ (New Road)

ถนนบำรุงเมือง กว้าง 6 เมตร ความยาวตั้งแต่ถนนสนามไชยไปจนถึงประตูสำราญราษฎร์ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร
ด้านการคมนาคม

ตึกแถวถนนเจริญกรุง คือ ที่เห็นเป็นตึกขาวยาวๆ มีหน้าต่างเจาะเป็นแถวบริเวณกลางภาพ
ถนนเจริญกรุงตอนนี้ทำใหม่โดยขยายทางเดิมบ้าง ตัดใหม่บ้างเมื่อ พ.ศ.2405
รัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงและขยายเส้นทางคมนาคมทางบกและทางน้ำเพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรในการติดต่อค้าขายได้สะดวกขึ้น
การสร้างถนน มีการสร้างถนนแบบใหม่แทนทางเกวียนแบบเดิม โดยเฉพาะถนนสายหลัก ในกรุงเทพฯ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ถนนสีลม ทำให้สองฝั่งถนนมีร้านค้า ตึกแถวชั้นเดียว เกิดขึ้นเป็นแหล่งค้าขายของชาวจีน และชาวตะวันตกเพิ่มขึ้น (สมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ, 2516 : 237) การค้าขายทางบกขยายตัวเกิดเป็นห้างร้านและย่านการค้าที่สำคัญ ราษฎรได้เปลี่ยนแปลงจากความนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำมาตั้งอยู่บริเวณสองฟากฝั่งถนนกันมากขึ้น เกิดเป็นสังคมใหม่ในชุมชนเมืองในเวลาต่อมา ในส่วนของถนนในหัวเมืองมีการขยายตัวตามหัวเมืองใหญ่หลายแห่ง อาทิ การสร้างถนนจากเมืองสงขลาไปจนถึงเขตแดนไทรบุรีของมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นอังกฤษปกครองอยู่ หมอบรัดเลเสนอแนะให้สร้างถนนระหว่างกรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระบบเจ้าผู้ครองนคร เพื่อให้การสัญจรสะดวกขึ้น ติดต่อค้าขายและเจริญพระราชไมตรีกันได้คล่องตัวขึ้น (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 254)
การขุดคลอง ในส่วนของทางน้ำ มีการขุดลอกคลองสายเดิมและขุดคลองใหม่เพิ่มเติม เช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองถนนตรง คลองเจดีย์บูชา คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองบางลี่ และคลองลัดยี่สาน เพื่อให้สะดวกแก่การสัญจรและการค้าขาย นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานข้ามคลองเพื่อเชื่อมถนนอีกหลายสาย มีสะพานที่สร้างด้วยไม้ เหล็กและอิฐปูนตามอย่างตะวันตก (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2504 : 238) อีกทั้งยังมีการใช้เรือกลไฟเพื่อไปค้าขายยังต่างประเทศ เป็นครั้งแรกในสมัยนี้ด้วย (บางกอกรีคอเดอร์, 2409 : 238) นับเป็นความก้าวหน้าในการใช้ยานพาหนะในการค้าขายในขณะนั้นอย่างมาก


คลองขุด ถนน และสะพาน ในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายหลังสนธิสัญญาบาวริง
ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา
แต่เดิมไทยใช้เงินเบี้ย ซึ่งเป็นเปลือกหอย และเงินพดด้วงที่เรียกว่าเงินบาท เมื่อเปิดประเทศค้าขายแบบเสรี เงินตราของต่างประเทศและทองคำก็ได้เข้ามาในประเทศมากขึ้นทุกปี ทำให้เกิดปัญหาในการค้าขาย คือราษฎรไม่คุ้นกับระบบเงินตรา ไม่ยอมรับเงินตราจากต่างประเทศ รัชกาลที่ 4 จึงทรงดำเนินการเพื่อปรับปรุงระบบเงินตรา โดยทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะฑูตที่ไปเจริญพระราชไมตรีที่อังกฤษในปี 2400 ให้พยายามหาเครื่องจักรทำเงินมาใช้ในประเทศ โดยคณะฑูตได้จัดซื้อตามพระราชประสงค์จากบริษัทเทเลอร์ เมืองเบอร์มิงแฮม เครื่องจักรมาถึงไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2401 หลังจากนั้นก็ได้มีการผลิตเงินเหรียญชนิดขนาดต่าง ๆ ออกใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2403 เป็นต้นมา มีทั้งเหรียญทองแดง เหรียญดีบุก และเหรียญทองคำ และในปี พ.ศ. 2406 เริ่มมีการพิมพ์กระดาษขึ้นใช้แทนเงินด้วย เรียก “หมาย” และมีเชคเรียก “ใบพระราชทานเงินตรา “ ทรงกำหนดระบบเงินตราของไทยให้ได้มาตรฐาน สะดวกต่อการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
– กำหนดพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินไทยกับเงินต่างประเทศ
– ปรับปรุงเงินตราไทยให้ได้มาตรฐานแบบเดียวกับประเทศตะวันตก
– ออกประกาศชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับระบบเงินตราสมัยใหม่

เงินพดด้วง ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีตราประจำแผ่นดินเป็นรูปจักร และตราประจำรัชกาลเป็นรูปพระมหามงกุฎ

เหรียญทองคำ มีขนาดราคาทศ (8 บาท) พิส (4 บาท) พัดดึงส์ (10 สลึง) ออกใช้เมื่อ พ.ศ.2406 เลิกใช้เมื่อ พ.ศ.2451
แนวคิดและวิธีปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานในการพัฒนาประเทศ
หากพิจารณาถึงผลที่ตามมา แม้มองว่าการทำสนธิสัญญาบาวริงดังกล่าวทำให้ไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ และพัฒนาชาติรัฐให้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นชาติที่มีศักยภาพในการดำเนินนโยบายกับชาติมหาอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ แต่สนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อกำหนดที่ไทยเสียเปรียบอยู่หลายประการ อาทิ ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาล ทำให้ไทยอ่อนด้อยไปในด้านการใช้อธิปไตยบนแผ่นดินในสายตาของคนไทยเองและชาวต่างชาติ จนมีข่าวออกไปว่าไทยเสมือนเสียอำนาจด้านนี้ราวกับอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งไม่ต่างกับประเทศเพื่อนบ้านขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ได้มีกระแสราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความว่า (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสารรัชกาลที่ 4 เลขที่ 550, ม.ม.ป. : 1)
“...ได้ยินว่าเจ้านายขุนนางเป็นอันมากพูดกันคิดกันว่า เพราะวังหลวงวังน่าในแผ่นดินปัจจุบัน แลเสนาบดีผู้ใหญ่บางพวกคบค้าชอบภอกับอังกฤษ เล่าเรียนพูดภาษาและใช้หนังสือกับอังกฤษ อังกฤษจึงลวนลามเข้ามามากมาย วุ่นวายต่าง ๆให้ได้ลำคาญ การเรื่องนี้เหตุนี้ ท่านทั้งปวง เมื่อก่อนนี้ใน 50 ปี เมืองเกาะหมากก็เป็นของเมืองไทย เมื่อเมืองเกาะหมากเป็นของอังกฤษไปทีหลังนั้น เพราะใครคบกับอังกฤษเล่า เมืองสิงคโปร์ แต่ก่อนเป็นของแขกยาโฮ มาเป็นของอังกฤษตั้งท่าค้าขายใหญ่โต เมื่อศักราช 1181 มานั้น ที่กรุงเรียกว่า เมืองใหม่จนถึงทุกวันนี้นั้นเป็นเพราะเจ้านายข้างไทยคนใดไปคบกับอังกฤษเล่า…”
จากหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ไทยต้องยอมเปิดประตูทำการค้ากับต่างชาติก็เพื่อความอยู่รอดของชาติ แต่ขณะเดียวกันแม้จะมีความเสียเปรียบก็ยังได้รับประโยชน์ คือได้วางรากฐานพัฒนาคนให้มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษและทำการค้าขายอย่างเป็นระบบสากลมากขึ้น อันจะเอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้แก่แผ่นดินโดยรวมได้มากกว่าเป็นส่วนเฉพาะคน ในฐานะผู้นำประเทศ พระองค์ทรงเข้าพระทัยในสภาพการณ์ต่าง ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านและผลที่เกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ รอบด้านอีกทั้งทรงตระหนักในแสนยานุภาพของมหาอำนาจตะวันตกเป็นอย่างดีว่าไทยไม่มีทางเอาชนะได้ แต่ควรโอนอ่อนผ่อนตามและเตรียมการป้องกันด้วยการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจให้เหมาะสมมากขึ้น ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายน้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกันถือเป็นโอกาสวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เป็นแบบใหม่ที่เหมาะสมไปด้วยพร้อมกัน ดังความในพระราชดำรัสว่า (เรื่องเดียวกัน : 3)
“…ตามสภาพเท่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ ประเทศเราล้อมรอบไปด้วยประเทศที่มีกำลังอำนาจ 2 หรือ 3 ด้าน แล้วประเทศเล็ก ๆ อย่างเราจะเป็นประการใด ถ้าหากจะสมมุติเอาว่าเราได้ค้นพบเหมืองทองคำภายในประเทสของเราเข้า จนเราสามารถขุดทองมาได้หลายล้านชั่ง จนเอาไปขายได้เงินมาซื้อเรือรบสักร้อยลำ แม้กระทั่งเราก็ยังไม่สามารถไปสู้รบปรบมือกับพวกนี้ได้ด้วยเหตุผลกลใดเล่า ก็เพราะเรายังจะต้องซื้อเรือรบและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศพวกนั้น เรายังไม่มีกำลังพอจะจัดสร้างสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของเราเอง แม้ว่าเราพอจะมีเงินซื้อหาได้เขาก็เลิกขายให้กับเรา ในเมื่อเขารู้ว่าเรากำลังติดเขี้ยวติดเล็บจนเกินฐานะ ในภายภาคหน้าเห็นจะมีอาวุธที่สำคัญสำหรับเราอย่างเดียวก็คือ ปากของเราและใจของเราให้เพียบพร้อมไปด้วยเหตุผลและเชาวน์ไหวพริบ ก็พอจะเป็นทางป้องกันตัวเราได้…”