โครงการพระจอมเกล้าศึกษา

พระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อกล่าวถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า-เจ้าอยู่หัว ทุกคนล้วนคำนึงถึงการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงหรือมืดหมดดวง เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวณได้ถูกต้องแม่นยำ และทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง 2 ปี ซึ่งต่อมานักดาราศาสตร์ปัจจุบัน ได้พิสูจน์ด้วยวิธีการสมัยใหม่ โดยใช้คอมพิวเตอร์และการพิสูจน์เอกสาร ซึ่งนักดาราศาสตร์ท่านนั้นได้กล่าวว่า พระองค์ทรงคำนวณด้วยพระองค์เอง และด้วยวิธีการของพระองค์ ที่มีรายละเอียดมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตกได้คำนวณ และพยากรณ์ไว้ โดยพระองค์ท่านมิได้ทรงลอกเลียน หรือทรงใช้ข้อมูลหลักฐานของนักวิทยาศาสตร์ชาติตะวันตก

ทรงลบล้างข้อกล่าวหาของบาทหลวงเจซูอิตและคนไทยบางกลุ่ม

การค้นพบสุริยุปราคามืดหมดดวงของพระองค์ท่าน เป็นการแสดงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของคนไทยให้ชาวโลกประจักษ์ว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถในการคำนวณ ทรงลบล้างข้อกล่าวหาของบาทหลวงเจซูฮิต ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้บันทึกไว้ว่า“ชาวสยามมีความรู้เกี่ยวกับอุปราคาพอควร โดยสามารถคำนวณเวลาเกิดจันทรุปราคาได้อย่างคร่าว ๆ แต่ที่เกี่ยวกับการคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคานั้น ชาวสยามไม่มีความรู้เรื่องนี้แม้แต่น้อย” ในขณะเดียวกันก็เป็นการลบล้างความเชื่อของคนไทยที่เคยกล่าวไว้ว่าไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิสูจน์ให้คนไทยในสมัยนั้นประจักษ์ว่า ปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนั้นเกิดขึ้นได้จริง

พ.ศ. 2403
พ.ศ. 2404
 
 
 
 
พ.ศ. 2405
 
 
 
 
พ.ศ. 2406
 
 
 
พ.ศ. 2407
พ.ศ. 2408
พ.ศ. 2411
 วันพุธ เดือนเก้า ขึ้น 14 ค่ำ
วันจันทร์ เดือน 8/8 ขึ้น 1 ค่ำ
วันจันทร์ เดือน 12 ขึ้น 9 ค่ำ
ไม่ระบุวันที่
วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ อัฒคราช
วันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 10 ค่ำ
วันพฤหัสบดี เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ
วันพฤหัสบดี เดือน 7 แรม 14 ค่ำ
วันศุกร์ เดือน 12 แรม 15 ค่ำ
วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ
วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น 1 ค่ำ
ไม่ระบุวันที่
ไม่ระบุวันที่
ไม่ระบุวันที่
วันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 15 ค่ำ
วันศุกร์ เดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ
วันพุธ เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ
วันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก
เกิดจันทรุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
ดาวพระเคราะห์พุธ
พบดาวหาง
เกิดสุริยุปราคา
ดาวพระเคราะห์พุธ
เกิดจันทรุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดจันทรุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดจันทรุปราคา
เกิดจันทรุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เกิดจันทรุปราคา
เกิดสุริยุปราคา
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
ไม่เห็นในสยาม
เห็นในสยาม
ประกาศ 182
ประกาศ 199
 
ประกาศ 203
ประกาศ 204
ประกาศ 207
ประกาศ 212
 
 
 
 
ประกาศ 230
 
 
 
ประกาศ 240
ประกาศ 261
ประกาศ 302

ทรงใช้แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความมุ่งมั่น ทรงโปรดการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเพื่อตอบคำถามที่ทรงสงสัย ทรงเชื่อในเหตุผลและโปรดการทดลองปฏิบัติด้วยพระองค์เอง ซึ่งสอดคล้องกับพุทธศาสนาที่สอนไม่ ให้เชื่อจนกว่าจะได้ปฏิบัติจนเกิดความรู้ความเข้าใจ และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคุณสมบัติของผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงส่งเสริมให้ราษฎรเชื่อในเหตุผล ไม่ให้เชื่อข่าวลือ เช่น การเกิดดาวหาง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สามารถมองเห็นได้ในหลายประเทศ ไม่มีอันตรายต่อผู้ใด พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยที่ยังทรงพระผนวช ด้วยทรงมุ่งมั่นศึกษาภาษามคธจนเชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาคำตอบที่ทรงสงสัยจากพระไตรปิฎก ต่อมาทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ และทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ของชาติตะวันตก อีกทั้งได้ทรงแลกเปลี่ยนความรู้ และเรียนรู้ร่วมกับนักบวชต่างชาติ เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าการเกิดสุริยุปราคานั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณได้ล่วงหน้า พระองค์จึงทรงอุทิศเวลาติดตามศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงรอบรู้ทั้งด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ พระองค์ทรงมีความสามารถในการใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ และเครื่องวัดเวลา และในการเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ นอกจากทรงได้สดับตรับฟังทุกข์สุขของราษฎรแล้ว ยังทรงนำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาทรงใช้วัดแดดวัดดาว เพื่อจะได้ทราบว่าในขณะนั้นพระองค์เสด็จและประทับอยู่จุดไหนของโลก การที่พระองค์ท่านทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ดังนั้นการที่มีชาวต่างประเทศแซ่ซ้องสรรเสริญพระองค์ท่านว่าทรงพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักคำนวณและนักดาราศาสตร์ยอดเยี่ยม จึงมิใช่สิ่งที่เหนือความเป็นจริง

ทรงคำนวณด้วยพระองค์เอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ ดังนั้น การคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ซึ่งต้องใช้วิชาตรีโกณมิติชนิด Logarithm ที่มีขั้นตอนการคำนวณซับซ้อน เช่น การแก้สมการตรีโกณมิติทรงกลมท้องฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจของการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถโดยทรงคำนวณได้ด้วยพระองค์เอง

รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ได้พิสูจน์โดยตรวจสอบจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณ พบว่า พระองค์ท่านต้องทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาในครั้งนี้ด้วยพระองค์เอง และต้องทรงคำนวณตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย มิได้ทรงใช้ ข้อมูลจากปฏิทินเดินเรือของต่างประเทศ เนื่องจากเอกสารของต่างประเทศมิได้เปิดโอกาสให้กระทำได้ เพราะมิได้มีค่าต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่การคำนวณมาให้ ไม่มีทางที่พระองค์ท่านจะนำเอาข้อมูลชั้นต้นของผู้ใดมาใช้ เพื่อทรงคำนวณประกอบเพิ่มเติมได้เลย โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี คงไม่มีผู้ใดส่งเอกสารเหล่านั้นมาถวายได้รวดเร็วปานนั้น และพระองค์ทรงคำนวณนอกเหนือจากที่ต่างประเทศกระทำ

ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้า 2 ปี

เจ้าพระยาทิพากรวงศ ได้บันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้เมื่อปีขาล อัฐศก (ตรงกับจุลศักราช 1228 หรือ พ.ศ. 2409) หรือ 2 ปีก่อนเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง) ว่า ปีมะโรง สัมฤทธิศก จุลศักราช 1230 จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวง เมื่อเดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งต่อมานงเยาว์ กาญจนจารี ได้ศึกษาความเป็นไปได้จากเอกสารต่าง ๆ และยอมรับว่าการที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาไว้ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปีนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีการตระเตรียมการเพื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง มีการสร้างพลับพลาค่ายหลวง เป็นตำหนักไม้ 3 ชั้น มีการเชิญแขกชาวต่างประเทศ เช่น เซอร์ แฮรีออด (Sir Harry Orde) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งต้องเชิญล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากการคมนาคมในสมัยนั้นต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีการตระเตรียมอาหารเพื่อรับรองแขกเมืองให้เหมาะสม มีการจ้างพ่อครัวชาวฝรั่งเศสพร้อมผู้ช่วยและลูกมือ มีการสั่งอาหาร ไวน์ และน้ำแข็งจากสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมการ จนแขกชาวต่างประเทศไม่คาดว่าจะได้พบที่พักอาศัยอันอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ในป่าสยาม

ทรงคำนวณได้ถูกต้องแม่นยำ

ตำบลหว้ากอ

พระองค์ทรงคำนวณไว้ตั้งแต่ปีขาล อัฐศก ว่าจะเกิดสุริยุปราคาจับหมดดวงในราชอาณาจักรสยาม ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ซึ่งตรงกับจุลศักราช 1230 หรือวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 และจะมองเห็นมืดเต็มดวงตั้งแต่ปราณบุรีถึงเมืองชุมพร โดยดวงจันทร์จะเข้าจับดวงอาทิตย์จากทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เวลา 4 โมงกับบาทหนึ่ง (10 นาฬิกา 6 นาที) แล้วออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาบ่ายโมงกับ 6 บาท (13 นาฬิกา 36 นาที) โดยดวงอาทิตย์จะมืดนานบาทหนึ่งของนาฬิกา คือ 6 นาทีนาฬิกากล (6 นาที) และจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตรงกลาง เวลา 5 โมงเจ็ดบาท  (11 นาฬิกา 42 นาที)

ในวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 นั้น ในเวลา 10 นาฬิกา 6 นาที ท้องฟ้าไม่แจ่มใส มีเมฆหนา แต่เมื่อเวลา 10 นาฬิกา 16 นาที เมฆจึงจางท้องฟ้าสว่างมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกจับทางทิศตะวันตก และท้องฟ้าเริ่มสลัวลง จนเมื่อเวลา 11 นาฬิกา 20 นาที ท้องฟ้ามืดลง จนมองเห็นดวงดาว จนกระทั่ง เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 10 วินาที เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 6 นาที 45 วินาที และสุริยุปราคาคลายจนโมกขบริสุทธิ์ ในเวลา 1 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที

ต่อมา รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ได้พิสูจน์ว่าในวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2411 ได้เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตรงกลาง ในเวลา 11 นาฬิกา 42 นาที จริง ตรงกับที่พระองค์ทรงคำนวณไว้

ทรงวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์

1. ทรงสถาปนาเวลามาตรฐาน
รศ.ดร. ขาว เหมือนวงศ์ ให้ความเห็นว่าการที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้นั้น พระองค์ท่านทรงกระทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง และการที่พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้เช่นนี้นั้น แสดงว่าประเทศไทยจะต้องมีระบบเวลามาตรฐานและมีวิธีการรักษาเวลามาตรฐานแบบอารยประเทศที่เชื่อถือได้ ถึงขั้นนำมาวัดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของโลกได้

พระที่นั่งภูวดลทัศไนย
หลังคาพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในหมู่พระอภิเนานิเวศน์ ถ่ายจากพระที่นั่งภูวดลทัศไนย
(แลเห็นโครงปราสาทแถวนอก) ประมาณ พ.ศ. 2407

ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2395 ทรงโปรดให้สร้างที่ประทับชื่อพระอภิเนานิเวศน์ อันประกอบด้วยพระที่นั่งภูวดลทัศไนยซึ่งเป็นตึกสูง 5 ชั้น ชั้นบนสุดติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้ง 4 ด้าน เพื่อบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทย และโปรดเกล้าให้มีเจ้าหน้าที่รักษาเวลามาตรฐานขึ้น คือพันทิวาทิตย์ ทำหน้าที่เทียบเวลาตอนกลางวันขณะดวงอาทิตย์ผ่านเมอริเดียนของหอนาฬิกา และพันพินิตจันทรา ทำหน้าที่เทียบเวลาตอนกลางคืนขณะดวงจันทร์ผ่านเมอริเดียนของหอนาฬิกา จึงกล่าวได้ว่าเป็นตำแหน่งงานทางวิทยาศาสตร์ของไทยชุดแรก ดังนั้นเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น ก็ควรเป็นเวลาของเส้นแวงประจำหอนาฬิกาหลวงแห่งนี้ ซึ่งควรเป็นเส้นแวงที่พระองค์ท่านทรงใช้ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ทรงสถาปนาเวลามาตรฐานนี้ขึ้นก่อนที่รัฐสภาอังกฤษจะประกาศระบบเวลามาตรฐานในปี พ.ศ. 2423

2. ทรงคำนวณวิธีการคิดอธิกมาส
พระองค์ทรงพบว่าตั้งแต่ปีกุน จุลศักราช 1093 ถึง ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1301 นั้น ทุกช่วงเวลา 19 ปี จะมีอธิกมาส 7 ครั้ง เช่น
– ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1093 ถึง ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 1111 มีอธิกมาส 7 ครั้ง (ระยะห่าง 19 ปี)
– ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช 1112 ถึง ปีชวด สัมฤทธิศก จุลศักราช 1130 มีอธิกมาส 7 ครั้ง (ระยะห่าง 19 ปี) เป็นต้น พระองค์จึงทรงประกาศว่า อธิกมาสนั้น 19 ปี มี 7 ครั้ง คือ ปีที่ 3 ปีที่ 6 ปีที่ 9 ปีที่ 11 ปีที่ 14 ปีที่ 17 และปีที่ 19 หรือทรงกำหนดวิธีจำ ดังนี้ คือ 33, 32, 332 หรือจะใช้วิธีคำนวณโดยใช้ปีจุลศักราชตั้ง ลบด้วย 8 หารด้วย 19 ถ้าได้เศษ 3, 6, 9, 11, 14, 17 ปีนั้นจะมีอธิกมาส เดือน 8 สองหน เศษนอกนี้เป็นปีปกติ เป็นต้น

เซกส์แทนต์
แผนที่ดาว

 

3. ทรงบัญญัติหน่วยวัดปริมาณน้ำฝน
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งจักรภพอังกฤษได้ส่งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องนี้มีหน่วยเป็นนิ้ว (อังกฤษ) ซึ่งมีความละเอียดกว่าหน่วยวัดของไทย แม้ฝนตกเพียงเล็กน้อยก็วัดได้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงกำหนดหน่วยวัดใหม เพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้
1 นิ้ว (อังกฤษ) แบ่งออกเป็น 100 ส่วน แต่ละส่วนเรียกว่า สตางค์
สิบสตางค์ = ทสางค์
สิบทสางค์ = 1 นิ้ว ในขณะที่ 1 นิ้ว (ไทย) = 10 กระเบียด เป็นต้น

ทรงเลือกรับเทคโนโลยีจากตะวันตก
พระองค์ทรงทราบถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศตะวันตก จึงทรงมีพระราชดำริในการนำเทคโนโลยีแบบตะวันตกมาปรับแต่ง เพื่อใช้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นที่ยอมรับ โดยทรงเลือกรับเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสภาพที่แท้จริงของสังคมในขณะนั้น เช่น เมื่อทรงโปรดเกล้าให้ขุนมหาสิทธิโวหาร ไปศึกษาการทำหนังสือพิมพ์ และ จมื่นจักรวิจิตรไปเรียนแก้นาฬิกา ณ ต่างประเทศ ทรงกำชับให้พิจารณานำสิ่งที่จะทำให้ “สิ่งไรที่ยากมาแต่ก่อนจะให้ง่ายเข้า สิ่งใดไม่สู้จะดีมาแต่ก่อน จะให้ดีขึ้นเข้ามา” ดังนั้นพระองค์จึงโปรดให้นำเทคโนโลยีจากตะวันตกเข้ามา ดังนี้

ด้านคมนาคม: ทรงโปรดให้สร้างถนน สะพาน และขุดคลอง เพื่อให้การคมนาคมสะดวก รวดเร็ว
ด้านการแพทย์: ทรงยอมรับการรักษาจากมิชชันนารี ทรงโปรดให้นำวิธีการรักษาแบบตะวันตกมาใช้กับราษฎร และทรงมีพระทนต์ปลอมที่ทำด้วยไม้ฝาง
ด้านการคลัง: ทรงโปรดให้สร้างโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเงินเหรียญแทนเงินพดด้วง และออกธนบัตรหรือหมาย กับใบพระราชทานเงินตก สำหรับจ่ายเบี้ยหวัดให้ข้าราชการ
ด้านอุตสาหกรรม: ทรงโปรดให้นำเครื่องจักรกลมาใช้ เพื่อให้งานสำเร็จดีและรวดเร็ว เช่น โรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร, โรงงานน้ำตาล
ด้านการพิมพ์: ทรงโปรดสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ เพื่อพิมพ์บทสวดมนต์ คำสอนทางศาสนา และราชกิจจานุเบกษา
ด้านภูมิศาสตร์: ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญทำแผนที่ราชอาณาจักรสยามฝั่งตะวันออก
ด้านสถาปัตยกรรม: ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังแบบฝรั่ง มีหอดูดาว มีครัวแบบฝรั่ง
ด้านการประชาสัมพันธ์: ทรงโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อส่งไปเจริญพระราชไมตรีกับนานาอารยประเทศซีกโลกตะวันตก
ด้านการทหาร: ทรงสั่งซื้อปืน เพื่อใช้ในการรักษาพระนคร
ด้านการพาณิชย์: ทรงโปรดให้ต่อเรือกลไฟ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าไปค้าขาย

บรรณานุกรม

1. จดหมายเหตุ ดาราศาสตร์จากฝรั่งเศส เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมาคมดาราศาสตร์ไทย 2542 อารี สวัสดี (บรรณาธิการ) หน้า 57
2. พูนพิสมัย ดิศกุล มจ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 166 – 167
3. ประกาศมหาสงกรานต์ปีวอก โทศก ณ วันพุธ เดือน 4 แรม 8 ค่ำ ปีมะแม เอกศก (ประกาศเลขที่ 182)
4. ประกาศมหาสงกรานต์ ปีระกา ตรีศก ณ วันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา ยังเป็นโทศก (ประกาศเลขที่ 199)
5. ประกาศดาวหาง ปีระกา ตรีศก ณ วันจันทร์ เดือน ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา ตรีศก (ประกาศเลขที่ 203)
6. ประกาศสุริยุปราคา ณ เดือน 8 บูรพาษาฒ ปีระกา ตรีศก (ประกาศเลขที่ 204)
7. ประกาศดาวพระเคราะห์พุธเข้าในดวงอาทิตย์ ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 2 ค่ำ ปีระกา ตรีศก (ประกาศเลขที่ 207)
8. ประกาศสงกรานต์ ปีจอ จัตวาศก (ประกาศเลขที่ 212)
9. ประกาศมหาสงกรานต์ ปีกุน เบญจศก (ประกาศเลขที่ 230)
10. ประกาศสงกรานต์ ปีชวด ฉศก (ประกาศเลขที่ 240)
11. ประกาศมหาสงกรานต์ ปีฉลู สัปตศก (ประกาศเลขที่ 261)
12. ประกาศสุริยุปราคาหมดดวง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (ประกาศเลขที่ 302)
13. มหามกุฏราชวิทยาลัย พระไตรปิฏกแปลเพื่อการศึกษา เล่ม 20 อังศุตรนิกาย 2523 หน้า 277-286
14. ประกาศดาวหางขึ้นอย่าวิตก ณ วันอาทิตย์ เดือน 11 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก (ประกาศเลขที่ 207)
15. ประกาศดาวหาง ปีระกา ตรีศก ณ วันจันทร์ เดือน ขึ้น 1 ค่ำ ปีระกา
16. จุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าชีวิต พิมพ์ครั้งที่ 4 คลังวิทยา 2517 หน้า 422-426
17. จดหมายเหตุ เรื่อง เซอร์ แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลก่อน ที่ตำบลหัววาน เมื่อเดือนสิงหาคม คศ. 1868
18. ขาว เหมือนวงศ์ การพิสูจน์การทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยาศาสตร์ 200 ปี รัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ กราฟฟิคอาร์ต 2525 หน้า 13 – 16
19. ทิพากรวงศ์ เจ้าพระยา พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลสมัยแห่งการพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี 2547
20. นงเยาว์ กาญจนจารี หว้ากอ 9 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 วิทยาศาสตร์ 200 ปี รัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ กราฟฟิคอาร์ต 2525 หน้า 4 – 6
21. ประกาศสุริยุปราคาหมดดวง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 3 ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (ประกาศเลขที่ 302)
22. จดหมายเหตุ เซอร์ แฮรีออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลก่อน ที่ตำบลหัววาน เมื่อเดือนสิงหาคม คศ. 1868
23. ขาว เหมือนวงศ์ การพิสูจน์การทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยาศาสตร์ 200 ปี รัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ กราฟฟิคอาร์ต 2525 หน้า 13 – 16
24. ขาว เหมือนวงศ์ ประวัติศาสตร์ของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ พระราชอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ของรัชกาลที่ 4 บทความเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2524 ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
25. ประกาศว่าด้วยวิธีคิดอธิกมาส (ประกาศเลขที่ 303)
26. ประกาศว่าด้วยเรื่องรองน้ำฝน (ประกาศเลขที่ 337)
27. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพฯ 2547 หน้า 143
28. แอ็บบ๊อต โลว์ มอปแฟ็ท แผ่นดินพระจอมเกล้า สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย 2520 หน้า 68 – 69
29. เซอร์ จอนห์เบาริ่ง ราชอาณาจักรและราษฏรสยาม เล่ม 1 มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย 2547 หน้า 384
30. ศักดา ศิริพันธ์ กษัตริย์และกล้อง บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์ หน้า 23