โครงการพระจอมเกล้าศึกษา

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมสยาม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงระบุไว้ว่า “…ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีคนไทย ๕ คน ที่เรียนวิชาความรู้ของฝรั่งจากพวกอเมริกันได้อย่างเยี่ยมยอด คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาทางวิชาภาษาพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทางวิชาการทหารพระองค์ ๑ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์พระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งแต่ยังเป็นหลวงนายสิทธิ์ ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นคน ๑ นายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาช่างกลคน ๑ …” (๒๐๐ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรวงษาธิราชสนิท. ๒๕๕๑. หน้า ๒๘)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ.๒๓๕๑-พ.ศ.๒๔๒๕) ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒.
พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย ต้นสกุลสุประดิษฐ์ (พ.ศ.๒๓๖๗-พ.ศ.๒๔๐๕) ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒.

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ ทรงสนับสนุนให้เตรียมคนซึ่งเป็นกำลังหลักในพัฒนาประเทศในอนาคต โดย ทรง สนับสนุนให้พระราชโอรส พระราชธิดา มีการศึกษา และขยายโอกาสการการเรียนรู้สู่ขุนนาง ตลอดจนราษฎรสามัญชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองและเรียนรู้วิทยาการจากต่างประเทศ ได้แก่ วิชาฟิสิกส์ เคมี การชุบโลหะด้วยแร่เงินแร่ทอง (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๒-๑๗๔) การเดินเรือ การแพทย์ตะวันตก การผลิตเหรียญกษาปณ์ โรงพิมพ์ การสื่อสาร การทหาร การเกษตร การถ่ายภาพ งานด้านวิศวกรรม เช่น การทำถนน เป็นต้น รวมทั้งส่งบุคลากรไปศึกษาดูงานโดย “โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรไปดูงานการปกครอง และการทำนุบำรุงบ้านเมืองที่สิงคโปร์ ในปี พ.ศ.๒๔๐๒…” (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. ๒๕๓๗. หน้า ๒๑๖) อันเนื่องมาจากทรงเล็งเห็นว่า สยามในขณะนั้นต้องการตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาในทุกทิศทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ ชีวิต สังคมความเป็นอยู่ รวมถึงวัฒนธรรมของสยามในเวลาต่อมา เช่น เลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ให้พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าในมหาสมาคมได้ ให้ราษฎรรับเสด็จหรือเข้าเฝ้า หรือแสดงความเคารพโดยการตกแต่งเครื่องบูชาที่หน้าบ้าน ให้ถวายถวายฎีการ้องทุกข์ต่อพระหัตถ์เองได้ ให้ชาวต่างชาติทักทายโดยการสัมผัสมือ หรือยืนเพื่อการถวายความเคารพ (สมบัติ พลายน้อย. ๒๕๒๗. หน้า ๒๙-๓๐ และสมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๘๗, ๙๑)

การเปลี่ยนแปลง หรือการปฎิรูปการบริหารบ้านเมืองครั้งใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า“ใน เมื่อสยามถูกรังควานโดยฝรั่งเศสด้านหนึ่ง โดยอาณานิคมอังกฤษด้านหนึ่ง…เราต้องตัดสินใจว่าเราจะทำอย่างไร จะว่ายทวนน้ำขึ้นไปทำตัวเป็นมิตรกับจระเข้ หรือว่ายออกทะเลไปเกาะปลาวาฬไว้ หากเราพบบ่อทองในประเทศเรา…พอที่จะซื้อเรือรบจำนวนร้อยๆ ลำก็ตาม เราคงไม่สามารถสู้รบกับพวกนี้ได้ เพราะเราจะต้องซื้อเรือรบจากประเทศเหล่านี้ (อังกฤษและฝรั่งเศส) พวกนี้จะหยุดขายให้เราเมื่อไหร่ก็ได้…อาวุธชนิดเดียวที่จะเป็นประโยชน์ อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคตก็คือ วาจาและหัวใจอันกอปรด้วยสติและปัญญา” (นวพร เรืองสกุล. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐) ซึ่งนำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบาวริ่ง (Bowring Treaty) ใน พ.ศ.๒๓๙๘ ที่สยามทำกับอังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความจำเป็นที่ไทยต้องจำยอมทำสนธิ สัญญาตามข้อเสนอของอังกฤษ แม้ว่าไทยต้องเสียเปรียบอย่างมากก็ตาม เพราะเกรงว่าไทยอาจถูกอังกฤษบีบบังคับด้วยกำลังกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ ทันสมัย (Gunboat Policy : นโยบายเรือปืน ที่เซอร์จอห์น เบาวริ่งนำเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา กรณีที่ไทยไม่ยอมลงนามจะใช้กำลังบีบบังคับ ซึ่งนโยบายดังกล่าวใช้ได้ผลที่จีน) แล้วหาเหตุยึดไทยเป็นอาณานิคมในที่สุด ดังประเทศข้างเคียงอื่นๆ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น (ไกรฤกษ์ นานา. ๒๕๕๐)

ระหว่างการดำเนินนโยบายดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงให้ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบ ตะวันตก เพื่อที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกจะไม่ใช้เป็นข้ออ้างว่าไทยมีความป่าเถื่อนไร้ อารยธรรม ซึ่งจะเป็นหน้าที่หรือภารกิจของคนผิวขาวที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงให้ไทยมีความ ก้าวหน้าทันสมัย และมีอารยธรรมตามแบบตะวันตกอย่างที่เรียกว่าเป็น “ภาระของคนผิวขาว” ดังที่มหาอำนาจตะวันตกมักใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมของตนเองในการ ยึดครองประเทศต่างๆ ในเอเชีย และแอฟริกาเป็นอาณานิคม ซึ่งการทำสนธิสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังนี้

ปรากฎการณ์เรือสินค้า ๑๐๐ ลำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๐๗
ภาพจาก : พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. ภาพมุมกว้างของกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ ๔ : การค้นพบใหม่. กรุงเทพฯ :
เมืองโบราณ, ๒๕๔๔. หน้า ๑๐๐.
โรงกษาปณ์สิทธิการ รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างโรงเครื่องจักรสำหรับทำเหรียญกษาปณ์ขึ้น
ที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๘.

ด้านเศรษฐศาสตร์

เซอร์จอห์น เบาริ่ง ได้เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) (ค.ศ.๑๘๕๕ หรือ พ.ศ.๒๓๙๘) ถือเป็นการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทย และการทำสัญญาฉบับนี้นับเป็นต้นกำเนิดของ FTA ในปัจจุบัน (Free Trade Area : ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดภาษีศุลากรระหว่างกันในกลุ่ม) มีผลให้ไทยต้องยกเลิกการค้าแบบผูกขาด โดยระบบพระคลังสินค้าอย่างเด็ดขาด (ในอดีตระบบเศรษฐกิจของไทยจะขึ้นกับพระมหากษัตริย์ โดยมอบหมายให้เสนาบดีเป็นผู้ดูแลแทน ซึ่งการจัดเก็บภาษีจะใช้วิธีการประมูล และมีการประมาณการว่าจะถวายเข้าคลังเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือที่เก็บได้จะเป็นของเสนาบดี) เลิกล้มการเก็บภาษีเบิกร่องหรือค่าปากเรือ มีการจัดตั้ง ศุลกสถาน (Customs House) หรือ โรงภาษี จัดเก็บภาษีขาเข้าในอัตรา ร้อยชักสาม และภาษีขาออกตามที่ระบุไว้ในท้ายสัญญา ระบบการศุลกากรแบบใหม่ก็นำมาใช้นับแต่ครั้งนั้น โดยมิได้กำหนดเวลาว่าจะใช้บังคับนานเท่าใด เพียงแต่ระบุไว้ว่าจะมีการแก้ไขสนธิสัญญาได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมพร้อม ใจจากประเทศคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (ไกรฤกษ์ นานา. ๒๕๕๐. และนวพร เรืองสกุล. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐-๑๑)

ด้านการเงิน

การค้าขายระหว่างไทยกับต่างประเทศเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring Treaty) ทำให้มีเงินตราต่างประเทศและโลหะเงินแท่งไหลเข้าประเทศจำนวนมากเกินดุลการ ค้า การค้าขายต้องการใช้เงินตราเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น ทำให้เงินพดด้วงที่ผลิตด้วยมือไม่พอใช้หมุนเวียนแลกเปลี่ยน ทรงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหลายวิธีด้วยกัน คือ ใน พ.ศ.๒๔๐๐ ประกาศให้ใช้เงินตราต่างประเทศ ได้แก่ เหรียญเม็กซิกัน และเงินจากสเตรทส์เซทเทิลเมนท์ (Straits Settlement : กลุ่มดินแดนในครอบครองของบริษัทอิสต์อินเดียของอังกฤษในภูมิภาคเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ ได้แก่ ปีนัง สิงคโปร์ และมะละกา) ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย พระราชทานเบี้ยหวัดขุนนางเป็นเหรียญเม็กซิกัน (นวพร เรืองสกุล. ๒๕๕๐. หน้า ๑๐-๑๑) และพ.ศ.๒๔๐๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์สิทธิการขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ผลิตเงินเหรียญด้วยเครื่องจักร มีทั้งที่ทำด้วย ทองคำ เงิน ทองแดง และดีบุกในราคาต่างกัน (สภาการเหมืองแร่. ๒๕๕๑. หน้า ๗๑-๗๒)

ด้านการสื่อสาร

สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร (๒๕๐๘) โอภาส เสวิกุล (๒๕๑๓) และ สงวน อั้นคง (๒๕๐๒) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ทรงเล็งเห็นประโยชน์ของการพิมพ์หนังสือ จึงโปรดให้สั่งเครื่องพิมพ์มาพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาเพื่อเผยแพร่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวง (หรือ โรงพิมพ์อักษรพิมพ์การ) และมีการหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นใช้ ในชั้นต้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกเป็นระยะๆ เรียกว่า “ราชกิจจานุเบกษา” (ผลิต พ.ศ.๒๔๐๑, รายปักษ์) ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หมายประกาศ และให้พิมพ์ตลอดเรื่องแทน จากหลักฐานพบว่า ในรัชสมัยของพระองค์ มีหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร จำนวน ๕ ฉบับ เป็นภาษาไทย ๑ ฉบับ และภาษาอังกฤษ ๔ ฉบับ

หนังสือพิมพ์อังกฤษเข้าถึงราชสำนักไทย กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ
ทรงอ่านหนังสือพิมพ์ The Illustrated London News
          ภาพจาก : ไกรฤกษ์ นานา. สยามกู้อิสรภาพตนเอง : ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง                เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน . กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐. หน้า ๕.
หนังสือ พิมพ์ The Illustrated London News ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ.๑๘๕๗ : (ภาพข่าวด้านใน) คณะราชทูตชุดแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยคณะทูตและผู้ติดตามรวม ๒๘ คน นำโดยราชทูตคือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เดินทางโดยทางเรือ ถึงเมืองพอร์ทสมัธ (Porstmouth) ในอังกฤษ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๕๗ ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของรัชกาลที่ ๔ ต่อพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ณ พระราชวังวินเซอร์ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๕๗
ภาพจาก:ไกรฤกษ์ นานา. สมุดภาพรัชกาลที่ ๔ :วิกฤติและโอกาสของรัตนโกสินทร์ในรอบ ๑๕๐ ปี.กรุงเทพฯ : มติชน,๒๕๕๐.หน้า ๖๐.

ไกรฤกษ์ นานา (๒๕๕๐) กล่าวว่า “.. ทรงติดตามข่าวความเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาที่ส่งไปถึงเจ้าพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ที่เดินทางไปประเทศอังกฤษว่า “… หายไปนานเป็นเดือน ข้าต้องติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์ฝรั่ง (The Illustrated London News)…” ซึ่งทรงบอกรับไว้เพื่อติดตามข่าวสาร

เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ได้นำข้อความบนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวค้นพบ ไปตีพิมพ์เผยแพร่ที่อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ประเทศเยอรมัน มร.บัสเตียน ได้นำไปพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ ประเทศฝรั่งเศส มร.ฟูร เนอโร นำไปพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ (สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. ๒๕๑๐. หน้า ๑๙๕)

หมอบรัดเลย์ ได้ขอซื้อกรรมสิทธิ์ นิราศลอนดอน แต่งโดยหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ในราคา ๔๐๐ บาท ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการขายลิขสิทธิ์ในประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทย และพิมพ์ครั้งแรก เมื่อในปีระกา พ.ศ.๒๔๐๔ (โอภาส เสวิกุล. ๒๕๑๓. หน้า ๑๖๕)

ตราไปรษณียากรของอินเดียและสเตรตส์ เซ็ตเติลเมนส์ ที่สถานกงสุลอังกฤษ นำมาใช้โดยพิมพ์ทับตัวอักษร “ B ” แทนคำว่า Bangkok
ภาพจาก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. ๑๒๕ ปี ไปรษณีย์ไทย. กรุงเทพฯ : ไปรษณีย์ไทย, ๒๕๕๑. หน้า ๓๐.
เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือพระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ (พ.ศ.๒๓๓๕-พ.ศ.๒๔๑๕) ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๖๗.

พ. ศ.๒๔๑๐ กงสุลอังกฤษ ได้นำระบบการส่งหนังสือทางไปรษณีย์มาใช้ติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์ เนื่องจากมีชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมดูแลคนในสังกัดและการค้าขายของตน ทำให้การติดต่อส่งข่าวสารไปมาระหว่างสยามกับต่างประเทศในเชิงการพาณิชย์มี มากขึ้น โดยในระยะแรกใช้ดวงตราไปรษณียากรของอินเดียมาใช้ชำระเป็นค่าฝากส่ง ต่อมาจึงใช้ตราไปรษณียากรของสเตรตส์ เซ็ตเติลเมนตส์ (Straits Settlements) และเกาะฮ่องกงที่พิมพ์อักษร “B” แทนคำว่า Bangkok ไว้บนตราไปรษณียากรผนึกลงบนไปรษณียภัณฑ์แทน นอกจากนี้ยังมีการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไปกับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนเดินเรือ สมุทร โดยไม่ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ของสถานกงสุลอังกฤษในกรุงเทพฯ ก็มีบ้าง ดังปรากฎในหนังสือความทรงจำซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า “… การส่งจดหมายระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศ…ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ …เพื่อนำไปส่งที่กรมไปรษณีย์สิงคโปร์ หรือฮ่องกงอีกชั้นหนึ่ง … แต่หนังสือของรัฐบาล กรมท่ามอบนายเรือให้ไปส่งกงสุลสยามทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ ….” (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. ๒๕๕๑. หน้า ๒๘-๓๐)

ด้านต่างประเทศ

ทรงแต่งตั้งอัครราชทูตฝรั่ง คือ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายอังกฤษเข้ามาทำการเจรจากับไทย เป็นรายแรกในสมัยรัชกาลของพระองค์มาเป็น อัครราชทูตข้างฝ่ายไทย ดังนั้นจึง มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้ง เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็นรัฐทูตวิสามัญ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มฝ่ายไทย ตั้งแต่วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๐ และในวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง เป็น “พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตราประจำตัวทูตออกไปพระราชทาน ๒ ดวง รูปเหมือนกัน ดวงหนึ่งเขื่องกว่าสำหรับประทับหนังสือ อีกดวงหนึ่งย่อมกว่า สำหรับประทับครั่ง ตรานั้นมีรูปพระมหามงกุฎอยู่ตอนบน มีรูปช้างยืนแท่นใต้พระมหามกุฎ ส่วนใต้แท่นช้าง มีอักษรเป็นภาษาลาตินว่า Legatus Regius Negatev Regni Siamenst” (สุวรรณ เพชรนิล. ๒๕๔๗. หน้า ๑๔-๑๕. และสงวน อั้นคง. ๒๕๐๒. หน้า ๓๐-๔๓)

นอกจากเซอร์ จอห์น เบาริ่งแล้ว เอนก นาวิกมูล (๒๕๔๙. หน้า ๖๗-๘๓) กล่าวว่า “ทรงแต่งตั้งมิสเตอร์เฟาล์ (Mr. Edward Fowle) เป็นหลวงสยามานุเคราะห์ กงสุลสยาม ผู้มีอำนาจเต็มประจำกรุงร่างกุ้ง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๖ (มิสเตอร์เฟาล์ผู้นี้เป็นผู้ดูแลคณะราชทูตไทยที่ไปอังกฤษ) เพื่อประสานงานที่เกี่ยวข้องกับบริทิศพม่า และเจ้าอังวะกับสยาม ต่อมาภายหลังหลวงสยามานุเคราะห์ ได้ส่งจดหมายมากราบทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างศาลาเชิงพระธาตุสุเล ที่เมืองร่างกุ้ง เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยแก่ผู้ที่มาเคารพพระธาตุ เมื่อความทราบแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้มีหนังสือไปขอที่จากรัฐบาลอังกฤษ เมื่อยอมแล้วจึงพระราชทานทรัพย์ออกไปสร้างศาลาตามที่เสนอ”

ด้านการเกษตร

การเพาะปลูก หลังสนธิสัญญาเบาริ่ง ได้มีการขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในบริเวณภาคกลาง เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขนส่งทางเรือทำได้รวดเร็ว ทำให้การผลิตในภาคเกษตรกรรมจากแบบยังชีพ เปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อการค้าส่งออก ระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนจากระบบผูกขาดเป็นระบบการค้าเสรี ทรงโปรดให้มีการจ้างงานโดยทรงพยายามลดการสักเลขไพร่ให้น้อยลง

จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (๒๕๕๑ : ๑๘๑-๑๘๕) กล่าวในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการสั่งเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ฝรั่ง เช่น ดอกรักเร่ ดอกเหนียงกระทุง เข้ามาเพาะพันธุ์

แผนที่ แสดงคลองขุด คลองผดุงกรุงเกษม ถนนเจริญกรุง และป้อมฤทธิรุทร์โรมรัน ริมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ด้านใต้ (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕) ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๒๕-๑๒๙.
 

ด้านสาธารณูปโภค

ถนน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มตัดถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองวัดไตรมิตร คลองสีลม คลองวัดสุทธิวราราม คลองขวาง คลองมหาสวัสดิ์ สะพาน จุลลดา ภักดีภูมินทร์ (๒๕๔๕) ได้กล่าวถึงสะพานข้ามคลองว่า “แรกเริ่มเดิมที ก่อนรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ สะพานข้ามคลองรอบพระนครชั้นใน (คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง ซึ่งขุดในรัชกาลที่ ๑) และสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (คลองรอบพระนครชั้นนอกขุดในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๕) ล้วนเป็นสะพานไม้ทั้งสิ้น จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๐๔ จึงได้มีการสร้างสะพานเหล็กขึ้นสองแห่งเป็นครั้งแรก คือ สะพานเหล็กบนข้ามคลองบางลำพู-โอ่งอ่าง เชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุง ในกำแพงพระนครกับนอกกำแพงพระนคร เป็นสะพานเหล็กไขให้เปิดปิดได้ เพราะสมัยก่อนยังมีขบวนเรือแห่พระราชพิธีอยู่ กับโปรดฯ ให้รื้อสะพานหันเดิม ซึ่งเป็นสะพานไม้หันได้ สร้างเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกันอีกสะพานหนึ่ง” เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม การค้าขาย และเป็นการอนุโลมตามความต้องการของชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพ

กระบอก ดับเพลิง ทำด้วยทองเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ นิ้ว ยาว ๑.๓๓ เมตร (ยืดเต็มที่ ๒ เมตร) ฉีดน้ำได้ไกล ๕๐-๖๐ เมตร สูงถึงหลังคาตึก 3 ชั้น
ภาพจาก : URL : http://i176.photobucket.com/albums/w176/mrtbtt/35.jpg

ดับเพลิง ทรงมีพระราชหัตถเลขาสั่งให้ราชทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ หาซื้อเครื่องดับเพลิงมาใช้ในพระบรมมหาราชวัง (เผ่าทอง ทองเจือ. ๒๕๕๐) สาธารณสุข ทรงให้ออกประกาศห้ามราษฎรทิ้งซากสัตว์ลงน้ำ เพราะการใช้น้ำที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ และเตือนราษฎรให้ระมัดระวังเรื่องไฟไหม้โดยเฉพาะไฟที่เกิดจากเตาไฟ และแนะนำให้ทำเตาไฟด้วยอิฐและปูน (กนกวลี ชูชัยยะ. ๒๕๔๗. หน้า ๖๔) และ ในคราวที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นแม่กองขุดคลองมหาสวัสดิ์ ท่านได้สร้างศาลาอาศัยริมคลอง ประมาณ ๑๐๐ เส้นต่อ ๑ หลัง เป็นระยะๆ และท่านได้ให้เขียนตำรายารักษาโรคต่างๆ ติดไว้เป็นการกุศล คนจึงเรียกศาลานั้นว่า “ศาลายา” และมีศาลาอีกหลังหนึ่งท่านสร้างขึ้นเป็นที่บำเพ็ญกุศลศพท่าน เรียกว่า “ศาลาทำศพ” (สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. ๒๕๐๘. หน้า ๑๗๘-๑๗๙) สำหรับการแพทย์สมัยใหม่ทรงโปรดให้หมอบลัดเลย์ หมอเฮาส์รักษา ใช้ยาฝรั่ง ทำพระทนต์ปลอม (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. ๒๕๔๘ และประยุทธ สิทธิพันธ์. ๒๕๑๖. หน้า ๑๕๘-๑๖๒) และพบบันทึกของพระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์สั่งซื้อเซอมัง กองตร้า (Semen Contra) นำมาทำยาลูกอมแจกเด็กๆ เพื่อใช้รักษาเด็กที่มีพยาธิ (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๕)

ด้านท่องเที่ยวและการโรงแรม

จากวิชาหลักการโรงแรมของมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม กล่าวว่า “ธุรกิจโรงแรมในไทยเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ ๓ แห่ง คือ Union Hotel, Fishers Hotel และ Oriental Hotel ลูกค้าที่มาพักส่วนมากเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ภายหลังเกิดไฟไหม้โรงแรม Fishers Hotel และ Oriental Hotel และมีการสร้างโรงแรมตากอากาศขึ้นที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี สำหรับบริการชาวต่างชาติที่ต้องการตากอากาศ” ซึ่งสอดคล้องกับเอกชาติ จันอุไรรัตน์ (๒๕๕๑. หน้า ๘๖-๘๗) และเผ่าทอง ทองเจือ (๒๕๔๙. หน้า ๒๔) ว่า “…สถานที่พักตากอากาศชายทะเลแห่งแรกของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากที่ชาวต่างชาติได้ขออนุญาตให้สร้างขึ้นที่ตำบลอ่างหิน เมืองชลบุรี” และในช่วงปี พ.ศ.๒๔๐๔ ท่านปัลเลอร์กัวซ์ เดินทางไปจันทบูรณ์ เพื่อไปตากอากาศชายทะเลและรักษาตา โดยพักอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือน (สมศรี บุญอรุณรักษา. ๒๕๕๐. หน้า ๑๗๙)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ฉายเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๓.
สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) (พ.ศ.๒๓๘๒-พ.ศ.๒๔๔๗)
ภาพจาก : ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๘.

การถ่ายภาพ ซึ่งในระยะแรกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “…เมื่อแรกมีช่างถ่ายรูปนั้นไม่ค่อยมีใครยอมถ่ายรูปกัน” แต่ในการต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายภาพ ฉายพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ คู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ไปให้กับสมเด็จพระราชินีวิคทอเรีย แห่งอังกฤษ นโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส และประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา พร้อมเครื่องราชบรรณาการ (ปัจจุบันเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวได้ถูกจัดเก็บไว้ในพระราชวังวินเซอร์ ประเทศอังกฤษ, พระราชวังฟองเต็นโบ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งทั้ง ๓ ประเทศนี้เป็นประเทศที่กำลังมีปัญหากับไทยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายนำร่องของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถ่ายภาพเจ้าจอมมารดาเปี่ยม และเจ้าจอมมารดาสำลี ซึ่งเป็นเจ้านายฝ่ายในสวมชุดสุภาพสตรีฝรั่ง และส่งออกไป เผยแพร่ว่าประเทศสยามทรงรับวัฒนธรรมฝรั่งแล้ว เพื่อจะได้ให้ผู้ที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งได้รู้จักหน้าตา และได้เห็นบรรยากาศของความทันสมัยของไทยที่ได้นำวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยว ข้องในการดำเนินชีวิต (การถ่ายภาพ ล้างรูป และส่งไปตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์) (ไกรฤกษ์ นานา. ๒๕๕๐)

การเลี้ยงรับรอง โอภาส เสวิกุล (๒๕๑๓. หน้า ๑๑๑, ๑๖๕) ได้กล่าวว่า “…เมื่อคราวเสด็จที่หว้ากอ เพื่อดูสุริยุปราคานั้น … อาหารที่รับรอง ทำโดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศส มีหัวหน้าผู้รับใช้ชาวอิตาเลียนเป็นผู้รินเหล้าองุ่น หรือแชมเปญ ซึ่งเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาได้ยากที่สุดในขณะนั้นก็แช่น้ำแข็งเสียจนเย็น … และโปรดให้สตรีฝ่ายใน พระราชโอรสธิดา เข้ามาร่วมในงานเลี้ยง”

ด้านการทหาร ตำรวจ

โอวาส เสวิกุล (๒๕๑๓. หน้า ๒๗๖-๒๘๒) และสุวรรณ เพชรนิล (๒๕๔๗. หน้า ๙๗) กล่าวว่า นอกจากทรงโปรดให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อความสะดวกทางคมนาคม และขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกแล้ว ยังเป็นคูเมืองชั้นนอกในการป้องกันอริราชศัตรู เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กองสร้างป้อมเรียงรายอยู่ตามคูเมืองชั้นนอก คือ ป้อมป้องปัจจามิตร ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ป้อมผลาญไพรีราบ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัสกร และป้อมมหานครรักษา ภายหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่ปี ก็ทรงโปรดให้จัดกองทัพ ฝึกทหารหัดแบบฝรั่ง ตั้งกรมทหารราบ กรมทหารปืนใหญ่ และพรรคนาวิกโยธิน (Marines) ขึ้นอย่างละกรม โปรดให้สร้างเรือใบเป็นเรือรบ และเรือค้าขายขึ้นหลายลำ ภายหลังมีเรือกลไฟ โปรดให้สร้างเรือสยามอรสุมพล ขึ้นเป็นลำแรก และเรือรบกลไฟมีนายทหารเรือและทหารปืนประจำ ตามธรรมเนียมเรือรบอย่างอังกฤษขึ้นไว้ สำหรับป้องกันพระราชอาณาเขต มีเรือสยามูปสดัมภ์ และเรือรุกรานไพรี เป็นต้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (๒๕๕๑. หน้า ๑-๒๑) ลำจุล ฮวบเจริญ (๒๕๕๐. หน้า ๒๘๐) จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ (๒๕๕๑. หน้า ๑๐๔-๑๑๑) กล่าวว่า “…ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริปฎิรูปกิจการของตำรวจ เนื่องจากมีสถานการณ์ที่ทำให้พระองค์ต้องคิดปรับปรุงการป้องกันปราบปรามโจร ผู้ร้าย และรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งในพระนครและหัวเมืองให้ทันสมัย เนื่องจากการบีบบังคับจากอังกฤษและฝรั่งเศส กรณีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extra Territoriality) ทำให้คนในบังคับของประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เดนมาร์ก โปรตุเกส ฯลฯ ได้สิทธิพิเศษไม่ต้องขึ้นศาลไทย ถือเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือน ต่อระบบงานยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งกองตำรวจเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์และอินเดีย ซึ่งได้จัดตั้งกิจการตำรวจขึ้นแบบเดียวกับอังกฤษ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างกัปตัน เอส เย เบิร์ด เอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames) เป็นผู้จัดตั้ง “กองโปลิสคอนสเตเปิล” ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นพลตำรวจ เรียกว่า “คอนสเตเปิล” มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตราชธานี โดยให้อยู่ในสังกัดพระนครบาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในความเป็นปึกแผ่นของกิจการตำรวจสมัย”

กล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ไทยรอดพ้นจากวิกฤติการณ์การ คุกคามของชาติมหาอำนาจที่เข้ายึดครองดินแดน (การล่าอาณานิคม) ทั้งนี้เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงใช้วิเทโศบายทำให้ชาติมหาอำนาจยอมรับนับถือสยามเฉกเช่นเดียวกับอารย ประเทศในขณะนั้น

บรรณานุกรม

กนก วลี ชูชัยยะ. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมธีทิปส์, ๒๕๔๗. หน้า ๖๔. ไกรฤกษ์ นานา. “ภาพประวัติศาสตร์ สมัย ร.๔,” ช่วงคุณพระโชว์ ในรายการคุณพระช่วย. กรุงเทพฯ : บริษัท เวิร์ค พอยต์ เอนเตอร์เทนเมนต์, ๒๕๕๐.

จุลลดา ภักดีภูมินทร์. “สะพานเหล็ก,” สกุลไทย. ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๔๗๕ ประจำวันอังคารที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๔๕. URL : http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?stauthorid= 13&stcolcatid=2&stcolumnid=1303&stissueid=2475, ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑.

จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย และคณะ. “ประวัติศาสตร์ของกิจการตำรวจ,” ใน ความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ. นนทบุรี : คณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ, ๒๕๕๑. หน้า ๑๐๔-๑๑๑.

นวพร เรืองสกุล. ๑๐๐ ปี จากบุคคลัภ์สู่ไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๕๐. หน้า ๑๐-๑๒.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. มรดกสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์. เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), ๒๕๓๗. หน้า ๒๑๖.

เผ่าทอง ทองเจือ. “กระบอกดับเพลิงโบราณ,” ช่วงคุ้มของเก่า ในรายการคุณพระช่วย. กรุงเทพฯ : บริษัท เวิร์ค พอยต์ เอนเตอร์เทนเมนต์, ๒๕๕๐. ออกอากาศเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท.

เผ่าทอง ทองเจือ. “ที่พักตากอากาศ ,” ไทยรัฐ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ : หน้า ๒๔. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. ๑๒๕ ปี ไปรษณีย์ไทย. กรุงเทพฯ : ไปรษณีย์ไทย, ๒๕๕๑. หน้า ๒๘-๓๐.

ประยุทธ สิทธิพันธ์. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม. เล่มต้น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มิตรสยาม, ๒๕๑๖. หน้า ๑๕๘-๑๖๒.

ลำจุล ฮวบเจริญ. เกร็ดพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โนว์เลจ, ๒๕๕๐.

สงวน อั้นคง. “อัครราชทูตไทยประจำยุโรป,” สิ่งแรกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๐๒. หน้า ๓๐-๔๓.

สงวน อั้นคง. “หนังสือพิมพ์,” สิ่งแรกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, ๒๕๐๒. หน้า ๕๒๙-๕๖๖.

สภาการเหมืองแร่. “เหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทย,” อุตสาหกรรมเหมืองแร่ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต. กรุงเทพฯ : สภาการเหมืองแร่, ๒๕๕๑. หน้า ๗๑-๗๒.

สมบัติ พลายน้อย. ๑๐๐ รอยอดีต. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, ๒๕๒๗. หน้า ๒๙-๓๐.

สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร. ประวัติและเหตุการณ์. พระนคร : ผ่านฟ้าพิทยา, ๒๕๐๘.

สมศรี บุญอรุณรักษา. พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ : มิตรที่ดี สนิทสนม และจริงใจ ในรัชกาลที่๔, นักพิมพ์และนักเขียน. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย, ๒๕๕๐.

๒๐๐ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท. กรุงเทพฯ : ประชาชน, ๒๕๕๑. หน้า ๒๘. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. “ประวัติตำรวจไทย,” ใน รายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๐. กรุงเทพฯ : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ๒๕๕๐. หน้า ๑-๒๑.

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ๒๕๔๘.

สุพิน ธนวัฒน์เสรี. “ไกรฤกษ์ นานา : มองยุโรปผ่านแว่นสยาม ร.ศ.๑๑๒,” MBA. ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๑๓ : กันยายน ๒๕๕๑ : หน้า ๑๓๖-๑๕๐.

สุวรรณ เพชรนิล. พระจอมปิ่น ๒๐๐ ปี พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๗.

มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม. “ธุรกิจโรงแรมในไทย,” หลักการโรงแรม. URL : http://www.rmu.ac.th/~kachathamon/elearning/content/lesson1/203.html, ๓ ตุลาคม ๒๕๕๑.

อเนก นาวิกมูล. “มิสเตอร์เฟาล์ หลวงสยามานุเคราะห์ ณ เมืองรางกูน (3),” ฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับสยาม ๒. กรุงเทพฯ : สายธาร, ๒๕๔๙. หน้า ๖๗-๘๓.

เอกชาติ จันอุไรรัตน์. ๓ ทศวรรษกับงานออกแบบตกแต่งภายในของไทย. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, ๒๕๕๑. หน้า ๘๖-๘๗.

โอภาส เสวิกุล. พระราชบิดาแห่งการปฎิรูป. พระนคร : โรงพิมพ์แจ่มเจริญการพิมพ์, ๒๕๑๓.


บรรณานุกรมภาพประกอบ

กระบอกดับเพลิง ทำด้วยทองเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๘ นิ้ว ยาว ๑.๓๓ เมตร (ยืดเต็มที่ ๒ เมตร)
ฉีดน้ำได้ไกล ๕๐-๖๐ เมตร สูงถึงหลังคาตึก ๓ ชั้น เข้าถึงได้จาก URL : http://i176.photobucket.com/albums/w176/mrtbtt/35.jpg

ไกรฤกษ์ นานา. “หนังสือพิมพ์ The Illustrated London News ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ค.ศ.๑๘๕๗ :
(ภาพข่าวด้านใน) คณะราชทูตชุดแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยคณะทูตและผู้ติดตามรวม 28 คน นำโดยราชทูตคือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เดินทางโดยทางเรือ ถึงเมืองพอร์ทสมัธ (Porstmouth) ในอังกฤษ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๕๗ ได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของรัชกาลที่ ๔ ต่อพระหัตถ์สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๘๕๗,” สมุดภาพรัชกาลที่ ๔ : วิกฤติและโอกาสของรัตนโกสินทร์ในรอบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐. หน้า ๖๐.

ไกรฤกษ์ นานา. “หนังสือพิมพ์อังกฤษเข้าถึงราชสำนักไทย กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ ทรงอ่าน
หนังสือพิมพ์ The Illustrated London News,” สยามกู้อิสรภาพตนเอง : ทางออกและวิธี
แก้ปัญหาชาติบ้านเมืองเกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๐. หน้า ๕.

“คลองผดุงกรุงเกษม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุดเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ โดยมี
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการขุด ภาพนี้ถ่ายบริเวณสะพานเจริญ
สวัสดิ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕,” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๒๕.

“เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือพระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ (พ.ศ.
๒๓๓๕-พ.ศ.๒๔๑๕),” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๖๗.

“แผนที่แสดงคลองขุด คลองผดุงกรุงเกษม ถนนเจริญกรุง และป้อมฤทธิรุทร์โรมรัน ริมพระที่นั่ง
สุทไธสวรรย์ด้านใต้ (ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕),” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดิน
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๒๕-๑๒๙.

“ถนนเจริญกรุง หรือถนนใหม่ (New Road) ภาพนี้ถ่ายบริเวณโรงพักพลตระเวณบางรักเดิม
(ภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕),” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๒๕.

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด. “ตราไปรษณียากรของอินเดียและสเตรตส์ เซ็ตเติลเมนส์ ที่สถานกงสุล
อังกฤษ นำมาใช้โดยพิมพ์ทับตัวอักษร “B” แทนคำว่า Bangkok,” ๑๒๕ ปี ไปรษณีย์ไทย.
กรุงเทพฯ : ไปรษณีย์ไทย, ๒๕๕๑. หน้า ๓๐.

“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี ฉายเมื่อ พ.ศ.
๒๓๙๙,” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๓.

“พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา
น้อย ต้นราชสกุล สุประดิษฐ์,” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๕๗.

พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. “ปรากฎการณ์เรือสินค้า 100 ลำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปลายปี ๒๔๐๗,”
ภาพมุมกว้างของกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ ๔ : การค้นพบใหม่. กรุงเทพฯ : เมือง
โบราณ, ๒๕๔๔. หน้า ๑๐๐.

“ภาพถ่ายเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม สวมชุดสุภาพสตรีฝรั่ง,” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดิน
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๓๘.

“โรงกษาปณ์สิทธิการ รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างโรงเครื่องจักรสำหรับทำเหรียญกษาปณ์ขึ้น
ที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ” ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๒๔๙.

“สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) (พ.ศ.๒๓๕๑-พ.ศ.๒๔๒๕),” ประชุมภาพ
ประวัติศาสตร์แผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. หน้า ๑๕๒.