บทบาทของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับการอนุรักษ์สวน “ส้มบางมด”
ปัญหาที่พบจากการทำสวนส้ม นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องใช้ต้นทุนสูง ในการหากิ่งพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช และที่สำคัญคือ ปัญหาน้ำเค็ม เพราะทำให้ดินเสีย และต้นส้มตาย ทำให้ชาวสวนส้ม ทยอยเลิกการทำสวนไป
พ.ศ. 2549 ศูนย์วิจัยและบริการเพื่อชุมชนและสังคม สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมวิจัยโดย คุณวาสนา มานิช, คุณปิยทัศน์ ทองไตรภพ และคุณพรรณปพร กองแก้ว ได้เข้าไปทำวิจัยร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งครุ-บางขุนเทียน โดยศึกษาและทำแปลงสาธิตในสวนส้มบางมด จำนวน 3 สวน ระหว่างเดือนกันยายน 2549 – เดือนกันยายน 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศัตรูพืชโรครากเน่าโคนเน่า และโรคกรีนนิ่ง โดยวิธีผสมผสาน ได้แก่ ชีววิธี (Biological control) วิธีเขตกรรม (Cultural control) วิธีกล (Mechanical control) สารเคมี (Chemical control) การใช้ต้นส้มปลอดโรค (Free disease prorogations) และการใช้สารสกัดสมุนไพรต่าง ๆ (Herbal extraction) ของสวนส้มบางมด เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และถ่ายทอดความรู้ที่เหมาะสมต่อการทำสวนส้มต่อไป
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ชาวสวนส้มประสบปัญหาใน 5 เรื่องหลัก ๆ คือ ดิน น้ำ การจัดการศัตรูพืช พันธุ์พืช และการซ่อมบำรุงเครื่องมือทางการเกษตร โดยได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกร จัดทำแปลงสาธิตทดลองปลูกกิ่งพันธุ์ส้มปลอดโรค จำนวน 300 ต้น ในพื้นที่ 9 ไร่ จัดการโรคและแมลงโดยวิธีผสมผสาน และจัดโปรแกรมการสำรวจโรคและแมลงทุกเดือนโดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน รวมไปถึงสนับสนุนการบำรุงดินโดยการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ สารสกัดสมุนไพรป้องกันกำจัดโรคและแมลงจากวัตถุดิบในพื้นที่ ระหว่างวิจัยเน้นพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ปรับใช้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเหมาะสม เน้นกระบวนการผลิตทางการเกษตรอย่างปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรสามารถลดการระบาดโรคกรีนนิ่ง และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงได้
ผลจากโครงการวิจัยที่ส่งผลช่วยชาวสวนส้มแก้ปัญหา
1. การมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสวนส้มบางมด ที่ใช้กระบวนการผลิตทางการเกษตรปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้สำนักงานเขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กำหนดให้ส้มบางมดเป็นพืชนำร่องของโครงการ รวมถึงได้เข้ามาให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ และผลักดันให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ “การผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและเหมาะสม” Good Agricultural Practice (GAP)
2. สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (2550 – 2554) เน้นเรื่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม และปรับรูปแบบการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการลดการใช้สารเคมีและลดมลภาวะในสภาพแวดล้อม และเพิ่มความปลอดภัยให้กับสินค้าทางการเกษตร (วาสนา มานิช, ปิยทัศน์ ทองไตรภพ และพรรณปพร กองแก้ว, 2552 ; ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2561)
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษา มจธ. เข้าไปทำการสำรวจ ศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อร่วมหาแนวทางการพัฒนาสวนส้มบางมด เช่น แนวทางการพัฒนาสวนส้มบางมดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยคุณโชคธำรงค์ จงจอหอ และการพัฒนาชุดนิทรรศการโดยใช้สื่อประสม เรื่องต้นแบบสวนส้มบางมด เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ร่วมกับการฝึกอบรมสาธิตเชิงปฏิบัติกลุ่มมัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนวัดพุทธบูชา เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร โดยคุณ ปภัสสร ดวงฤทธิ์ เป็นต้น