นักวิทย์ นักคิดของโลกในสมัยรัชกาลที่ 4
The Pioneer
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)
ทั้งกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ที่ช่วยให้เก็บอาหารและเครื่องดื่มไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสีย ทั้งวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญอย่างอหิวาตกโรค วัณโรค พิษสุนัขบ้า โรคคอตีบ การค้นพบของเขาทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์และสาธารณชน
Table of content
Table of content
ประวัติส่วนตัว
ปาสเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล มลรัฐจรา ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาเป็นฟอกหนังชื่อว่า จีน โจเซฟ ปาสเตอร์ (Jean Joseph Pasteur) ท่านเคยเป็นทหารในกองทัพของนโปเลียน และได้รับเหรียญกล้าหาญจากสงคราม ครอบครัวของปาสเตอร์ย้ายมาอยู่ที่เมืองอาร์บัวส์ (Arbors) ในภายหลัง แม้ว่าฐานะครอบครัวของเขาจะไม่ค่อยดี แต่พ่อต้องการให้หลุยส์มีความรู้ที่ดีเหมือนเด็กอื่นทั่วไป
เส้นทางการศึกษาของนักเรียนที่ดี
ปาสเตอร์ศึกษาที่โรงเรียนในเมืองอาร์บัวส์ เขาเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ดีและมีความสนใจในการวาดรูปโดยเฉพาะภาพเหมือน (Portrait) ด้วยความที่ปาสเตอร์เป็นนักเรียนที่เรียนดี มีความสามารถ และความประพฤติเรียบร้อย จึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยอาร์บัวส์ให้ไปเรียนที่อีโคล นอร์เมลซูพีเรีย (Ecole Normale Superiere) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงปารีส เพราะต้องการให้เขาเรียนจบและกลับมาสอนที่วิทยาลัยอาร์บัวส์ แต่เขาเรียนได้ไม่นานต้องกลับบ้านด้วยอาการป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้าน (Home sick) อย่างรุนแรง
ต่อมาเขาเรียนต่อสาขาวิชาอักษรศาสตร์ที่รอยัลคอลเลจ (Royal College) ในเบซานกอน (Besancon) หลังจากจบการศึกษาแล้ว ปาสเตอร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ต่อจากนั้นเขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง Ecole Normale Superiere อย่างที่เขาตั้งใจในครั้งแรก ในระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่ เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเคมีกับนักเคมีผู้มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ เจ.บี. ดีมาส์ (J.B. Dumas) และ เอ.เจ. บาลาร์ด ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาที่ อีโคล นอร์เมล ชูพเรีย เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลึก (Crystallography)
เส้นทางนักวิทย์
เมื่อปาสเตอร์จบการศึกษาแล้วในปี ค.ศ. 1852 เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับกรดทาร์ทาริก หรือกรดปูนที่ใช้ทำน้ำส้ม (Tartaric acid) ผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก (Strasburg University) ต่อมาอีก 2 ปี ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาเคมี และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล์
ด้วยความที่เมืองลิลล์เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีทั้งเหล้า เบียร์ และไวน์ ปาสเตอร์ศึกษาดูงานที่โรงงานทำแอลกอฮอล์และรู้ปัญหาของโรงงานในเรื่องการเน่าเสียของแอลกอฮอล์และยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ เขาจึงใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องตัวอย่างแอลกอฮอล์ แล้วพบแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ลำตัวกลม มีชื่อว่า ยีสต์ (Yeast) ซึ่งมีฤทธิ์เปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นแอลกอฮอล์ และได้พบแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นท่อน ๆ แบคที่เรียชนิดนี้มีชื่อว่า บาซิลลัส (Bacillus) ซึ่งมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนน้ำตาลแดงให้เป็นกรดแลคติกได้ หรือเป็นตัวการที่ทำให้แอลกอฮอล์มีคุณภาพต่ำ การค้นพบครั้งนี้ทำให้ปาสเตอร์เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับของหมักดอง จนพบว่า การหมักดองทำให้เกิดกรดซักซินิกและกลีเซอร์ไรน์ ปาสเตอร์จึงตั้งทฤษฎีการหมักดอง (Fermentation Theory) และกล่าวว่าการหมักดองเป็นผลมาจากจุลินทรีย์
ผลงานที่โดดเด่น
ปาสเตอร์ค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่อไป และพบว่าจุลินทรีย์มีผลต่อความเจ็บป่วย และของเน่าเสีย การเก็บรักษาของให้อยู่ได้นาน ๆ ต้องฆ่าจุลินทรีย์ให้หมดไป เขานำน้ำนมมาต้มที่ความร้อนจัดให้จุลินทรีย์ตายหมดก่อนบรรจุใส่ขวด ปรากฏว่า นมเหลานั้นอยู่ได้นานกว่าปกติโดยที่ไม่เน่าเสีย จึงนำวิธีการนี้ปรับใช้กับเครื่องดื่มอื่น ๆ อย่างเหล้า น้ำกลั่น ไวน์ เป็นต้น ในกระบวนการที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อว่า “พาสเจอร์ไรส์เซซัน” (Pasteurization) และแพร่หลายมาถึงปัจจุบัน
ค.ศ. 1865 เมื่อเขาพบว่า เซลล์ที่ตายแล้วเน่าเปื่อยอย่างซากศพที่ฝังในดินแล้วทำให้เกิดจุลินทรีย์ในดิน เมื่อปนเปื้อนกับน้ำบาดาล หากไม่ต้มน้ำก่อนดื่มใช้อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้ จุลินทรีย์บางชนิดที่อยู่ในดินได้ ทำให้เกิดเชื้อบาดทะยักและแอนแทรกซ์
ในการค้นคว้าถึง 5 ปี เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับตัวไหม และส่งผลเสียให้กับโรงงานอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาค้นพบจุลินทรีย์ที่ชื่อว่า “โนสิมา บอมบายซีล” (Nosema Bombysis) และหยุดยั้งการเกิดโรคระบาดนี้ได้
ค.ศ. 1873 เขาได้เผยแพร่ผลงานการค้นคว้าเกี่ยวกับการหมักดองเพิ่ม และได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคม อะเคดามี ออฟ เมดิซีน (Academy of Medicine)
ผลงานชื่อดังมีผลต่อการรักษา
ค.ศ. 1887 ปาสเตอร์ทดลองเกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์ โดยเริ่มจากโรคที่ร้ายแรงที่สุด คือ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) พบว่า การใช้ปัสสาวะของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์มาเพาะเชื้อให้อ่อนกำลังลง สามารถนำเชื้อนี้ไปทำวัคซีนได้ แต่คนทั่วไปยอมรับได้ยากในวิธีการนี้ เขาจึงต้องการให้สาธารณชนยอมรับ โดยทดสอบวัคซีนในแกะถึง 50 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 25 ตัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ และไม่ฉีด ปรากฏว่า กลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนป่วยและเสียชีวิตหมดทุกตัว รัฐบาลฝรั่งเศสจึงสนับสนุนเงินให้ค้นคว้าวัคซีนในการป้องกันอหิวาตกโรคในไก่ต่อไป ซึ่งเขาผลิตวัคซีนจากซุปกระดูกไก่ได้สำเร็จ โดยวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับปาสเตอร์มากที่สุด คือ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แม้ว่าปาสเตอร์จะพบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลายของสัตว์และนำเชื้อมาเพาะวัคซีนแล้วแต่ยังไม่กล้ามาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กชายวัย 9 ปี ถูกสุนัขบ้ากัด ถึงอย่างไรย่อมต้องเสียชีวิต พ่อแม่ของเด็กจึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์รักษาด้วยตัวยาดังกล่าว ปรากฏว่า เด็กไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า
ค.ศ. 1888 ปาสเตอร์จึงได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์ (Pasteur Institute) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งอีกหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ภายใต้ชื่อว่า “สถานเสาวภา“
สุดท้ายนี้ หากใครสนใจหรืออยากอ่านหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัว หลุยส์ ปาสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องที่เกี่ยวกับองค์ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้รอบตัว สามารถเข้าไปอ่านบทความแนะนำหนังสือของ หลุยส์ ปาสเตอร์ ได้ที่ https://kmutt.me/book-pasteur
พันธลักษณ์. (2546). นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ 19
สุทัศน์ ยกส้าน. (2548). นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่. กรุงเทพฯ: ปาเจรา.