อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ หรือ Learning Exchange (LX) เป็นอาคาร 15 ชั้น ถูกออกแบบให้รองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีความมุ่งหวังในการพัฒนาผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ในปัจจุบันของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เรียนมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ความต้องการในปัจจุบันไม่ได้เพียงต้องการแค่ความรู้เฉพาะจากในห้องเรียน หรือตำราเรียนเท่านั้น ผู้เรียนยังต้องการสิ่งใหม่ๆ ผลลัพธ์ทางการเรียนที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ทันที ตอบโจทย์ประเภทของงานต่างๆ ซึ่งศาสตร์การเรียนรู้ดังที่มุ่งหวังจะไม่ใช่เฉพาะศาสตร์เป็นการเรียนรู้ที่ผสมผสานข้ามสาขาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ”
โซนอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักในแนวตั้ง ประกอบด้วย
  1. โซนพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ชั้น 1-4)
  2. โซนทำงานวิจัย (ชั้น 5-6)
  3. โซน ICT (ชั้น 7-15)

" Learning How to Learn
จะเป็นหัวใจของโลกในอนาคต "
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย
อธิการบดี

" ความรู้ต้องสามารถหมุนเวียนด้วย วิทยาการสมัยใหม่ให้แก่คนทุกระดับ "
รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร
รองอธิการบดีอาวุโสฝ้่ยวิชาการ

" มหาวิทยาลัยควรเป็นแหล่งเรียนรู้
ที่มีชีวิต หรือ Living Lab "
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์
รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร

การเรียนรู้ภายในอาคาร

          นอกจากอาคาร LX จะรองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่แล้ว ในแนวคิดการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมยังสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ให้ตัวเองได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้เปิดระบบโครงสร้างภายในอาคาร จากโครงสร้างอาคารแบบพื้นไร้คานคอนกรีตเสริมเหล็ก (Reinforced Concrete Flat Slab) ซึ่งส่วนพิเศษของอาคาร LX นี้ คือ การได้รับการประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability, TREES) ในระดับ Platinum ของเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (อาคารเขียว) หรือ TREES เพื่อง่ายต่อความเข้าใจและตระหนักถึงความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการออกแบบเป็นเกมการเรียนรู้เกณฑ์อาคารเขียว

          เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (อาคารเขียว) หรือ TREES จัดทำขึ้นด้วยความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น อาคารที่เหมาะสมจะเข้าเกณฑ์นี้ คือ อาคารที่มีการออกแบบและสร้างใหม่ทั้งหมด หรือเป็นโครงการปรับปรุงอาคารเก่าในระดับที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งอาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการนี้ เริ่มโครงการก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 โดยเข้าเกณฑ์ดังกล่าวและได้รับการประเมินระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563

          สถาบันอาคารเขียวไทย ได้มอบหนังสือรับรอง “อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ผ่านการตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐานเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยสำหรับการก่อสร้างและปรับปรุงโครงการใหม่ TREES-NC ในระดับ PLATINUM

          อาคาร LX ถือเป็นอาคารต้นแบบของ มจธ. ที่ก้าวไปสู่ Green Building พร้อมมีฟังก์ชันการทำงานในตัวอาคารที่สามารถเรียนรู้ได้

          มจธ. มีความมุ่งหวังที่จะขยายรูปแบบอาคารที่ประหยัดพลังงานและผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียว เช่น การปรับปรุงระบบประหยัดพลังงานในอาคารอเนกประสงค์ (UX) การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มพลังงานไฟฟ้าไปยังอาคารอื่น การใช้ระบบเซนเซอร์ประหยัดไฟฟ้าและน้ำ เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาต้องรองรับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของทุกคนที่เข้ามายัง มจธ. แห่งนี้

สัญลักษณ์ของเกณฑ์อาคารเขียวในเกมการเรียนรู้นี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังข้อมูลจริงของอาคาร เพื่อเข้าถึงข้อมูลการเรียนรู้ส่วนต่างๆ ของอาคารได้