พลังงานทดแทน พลังงานที่ถูกนำมาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิม มักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พลังงานทางเลือก” ด้วยเหตุที่ว่า สามารถเลือกได้หลากหลายแหล่งสร้างพลังงาน เช่น พลังงานลม (การใช้กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า) พลังงานน้ำ (การใช้พลังน้ำในเขื่อนหมุนไดนาโมให้ผลิตกระแสไฟฟ้า) พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ (การผลิตไฟฟ้าที่ได้จากแผง Solar cell) โดยพลังงานเหล่านี้เป็นพลังงานที่ได้จากธรรมชาติผลิตขึ้นมาเพื่อประหยัดต้นทุนทางธรรมชาติ ไม่มีวันหมดไป ทำให้เกิดอีกชื่อที่เกี่ยวข้องกันว่า “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งอาคาร LX ได้ใช้โมเดลประมาณการใช้พลังงานจากคอมพิวเตอร์ โดยพลังงานอาคารอ้างอิงมีค่าราว 1,606,872.85 กิโลวัตต์ต่อปี เมื่อมีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานรวมถึงการใช้ Solar Cell จะมีพลังงานกรณีแบบราว 927,216.45 กิโลวัตต์ต่อปี เมื่อคิดร้อยละที่อาคาร LX สามารถประหยัดพลังงานได้ จะอยู่ที่ 42.29%

          เมื่อพูดถึงพลังงานทดแทน ใครๆ ก็มักจะคิดถึงระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า Solar Cell หรือแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มักจะติดอยู่บนดาดฟ้าของตัวอาคาร หรือบริเวณต่างๆ ที่รับแสงแดดได้ดี ในอาคาร LX ชั้นบนสุดมีแผง Solar cell เช่นกัน โดยในเพจหน้านี้จะเล่าถึง Solar Cell ของอาคาร LX ที่นำมาทดแทนระบบส่องสว่างในอาคาร

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์

ทำไมเราถึงนิยมนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนระบบส่องสว่าง

          จากการสัมภาษณ์คุณปรีชา อาการศ วิศวกรไฟฟ้า ในงานพัฒนาระบบและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทำให้เรารู้ได้ว่า ระบบส่องสว่างในอาคารมักมีอัตราการใช้ไฟฟ้าคงที่ โดยหลอดไฟส่องสว่างของอาคารส่วนใหญ่ใช้หลอด LED ในขนาด 9-18 วัตต์ และหลอดดาวไลท์ขนาด 9 วัตต์ (สามารถดูได้จากผังระบบในตัวอย่าง) โดยแผงพลังงานแสงอาทิตย์จากอาคาร LX สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อยู่ที่ 40 กิโลวัตต์ ในแต่ละวันมีอัตราการผลิตไฟฟ้าไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความแรงของแสงแดดในแต่ละวันด้วย ดังนั้น บริเวณด้านหน้าทางขึ้นลิฟต์ชั้น 1 อาคาร LX เราจึงเห็นกราฟที่มีความถี่สูงๆต่ำๆ แตกต่างกันออกไป ตามแสงแดดในแต่ละช่วงเวลาของวันนั่นเอง..

          ปัจจุบันตามอาคารบ้านเรือนจะเห็นได้ว่ามีการใช้แผง Solar cell กันอย่างแพร่หลาย ด้วยราคาที่ลดลง ตามราคาของวัตต์ไฟที่ผู้บริโภคต้องการให้ผลิตได้ วิธีการติดตั้งก็ง่ายขึ้น แต่ในเมื่อเราต้องการให้แผง Solar Cell ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด จึงเกิดข้อสังสัยขึ้นมาอีกว่า แล้วทำไมเราถึงวางแผงนอนราบกับพื้นเลยไม่ได้ ในเมื่อเราต้องการให้รับแสงแดดมากๆ และคุณปรีชาให้คำตอบกับว่า อย่าลืมคำนึงถึงความความปลอดภัย ในเมื่อแผง Solar รับแสงอาทิตย์มากๆ ย่อมมีความร้อน หากไม่มีมุมเอียง กับพื้นประมาณระยะ 15 องศา อาจทำให้ระบายความร้อนไม่ทัน และเกิดการเผาไหม้ได้

          นอกจากนี้ เรายังมีข้อสงสัยอีกว่า หากปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าจาก Solar cell มีมากกว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าอาคาร ทำให้มีกระแสไฟฟ้าเหลือ กระแสไฟฟ้าเหล่านั้นจะไปไหน แล้วจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง คำตอบคือ กระแสไฟฟ้าจะส่งคืนสู่การไฟฟ้า ซึ่งเมื่อศึกษาต่อ พบว่า ในองค์กรขนาดใหญ่บางแห่งที่ติดตั้งระบบนี้สามารถขายไฟฟ้าคืนให้กับการไฟฟ้าได้ หรือหากไม่อยากให้มีกระแสไฟฟ้าย้อนกลับเช่นนั้นในบางแห่งก็จะมีแบตเตอรี่บรรจุเก็บไว้ แต่ในมจธ.ของเรา คาดหวังว่า จะกระจายกระแสไฟฟ้าไปยังอาคารอื่นๆ ให้สามารถใช้ได้ด้วย

Ref :

https://www.thaibiotech.info/what-is-alternative-energy.php

https://solarcellthailand96.com/knowledge/solar-cell-system-today/

ขอขอบคุณคุณปรีชา อาการศ วิศวกรไฟฟ้า ในงานพัฒนาระบบและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักบริหารอาคารสถานที่ มจธ.