ระยะเวลากิจกรรม

สถานที่

: 1-18 เมษายน 2568

: ณ เคาน์เตอร์บริการ ชั้น 1 สำนักหอสมุด มจธ. (N10)

ย้อนรอยสงกรานต์: เรียนรู้ สืบสาน ประเพณีไทย

สงกรานต์ มีรากศัพท์มาจากคำภาษาสันสกฤต “สํ – กรานต” แปลว่า การเคลื่อนที่หรือการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์จากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ดังนั้น ตามหลักภาษาสันสกฤตสงกรานต์จะเกิดขึ้นทุกเดือน แต่สงกรานต์ในประเทศไทย คือช่วงที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเท่านั้น โดยมักมีระยะเวลาสามวัน ได้แก่ วันที่ 13 – 15 เมษายน และเป็นเทศกาลที่ชาวไทยมักเฉลิมฉลองร่วมกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนสนิท บรรยากาศในช่วงเวลานี้จึงเปี่ยมไปด้วยความรัก เคารพ กตัญญู และสนุกสนาน

ตำนานการกำเนิดวันสงกรานต์

ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งต้องการมีทายาทสืบสกุล แต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถมีได้ จนถูกนักเลงสุราผู้หนึ่งเยาะเย้ยว่าเป็นผู้มีบาปกรรม ถึงมีสมบัติมากมายแต่ก็ไม่มีบุตรคอยรักษายามเจ็บไข้ อีกทั้งเมื่อตายไปทรัพย์สินก็จะตกเป็นของผู้อื่น นับแต่นั้นเศรษฐีจึงพยายามไปอธิษฐานขอบุตรติดต่อกันนานถึงสามปี กระทั่งวันหนึ่งซึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เศรษฐีก็พาบริวารของตนมาถวายข้าวสุกแก่พระไทร ด้วยความสงสารเทพเหล่านั้นจึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์เพื่อทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี บุตรผู้นี้จึงได้นามว่า ธรรมบาลกุมาร ซึ่งเป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว

กระทั่งเทพองค์หนึ่งนามว่า “ท้าวกบิลพรหม” ได้ยินกิตติศัพท์ จึงคิดทดสอบภูมิปัญญาของเด็กน้อย จึงตั้งปัญหา 3 ข้อ แล้วเดิมพันว่า หากกุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา แต่หากแก้ไม่ได้ ธรรมบาลกุมารก็จะต้องตัดหัวของตนเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้เช่นกัน ครั้นล่วงเวลาไป 6 วันธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบไม่ได้ จึงหนีไปนอนพักในป่า พบนกอินทรีคู่หนึ่งคุยกันถึงเรื่องของตน แล้วเอ่ยถึงคำตอบของคำถามทั้ง 3 ข้อนั้น กุมารน้อยท่องจำขึ้นใจแล้วนำคำตอบเหล่านั้นไปบอกแก่ท้าวกบิลพรหม

แน่นอนว่าคำตอบเหล่านั้นถูกต้อง ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้ง 7 ของตนซึ่งเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชลงมา แล้วสั่งให้ธิดาทุกคนเอาพานมารองรับศีรษะของตนไว้ เพราะหากนำศีรษะของท้าวกบิลพรหมวางไว้บนแผ่นดิน ทั้งโลกก็จะลุกไหม้ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน ธิดาคนโตจึงนำพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ด้วยเหตุนี้ จึงเปรียบธิดาทั้ง 7 องค์ เป็นตัวแทนผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่รอบเขาพระสุเมรุทุกปีในช่วงวันสงกรานต์นั่นเอง

นางสงกรานต์ทั้ง 7

นางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์เป็นตัวแทนแต่ละวันในสัปดาห์ หากวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้นางประจำวันนั้นเป็นนางสงกรานต์ของปี โดยนางสงกรานต์แต่ละองค์จะมีอาวุธ ลักษณะท่าทาง สิ่งของที่ถือ และสัตว์พาหนะที่แตกต่างกัน ซึ่งตามความเชื่อโบราณอาจเป็นการทำนายถึงความเจริญงอกงามของผลผลิตทางการเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอีกด้วย
นางสงกรานต์ทุงสะเทวี

นางสงกรานต์ทุงสะเทวี

หรือ ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

นางสงกรานต์โคราดเทวี

นางสงกรานต์โคราดเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

นางสงกรานต์รากษสเทวี

นางสงกรานต์รากษสเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

นางสงกรานต์มัณฑาเทวี

นางสงกรานต์มัณฑาเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

นางสงกรานต์กิริณีเทวี

นางสงกรานต์กิริณีเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)

นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

นางสงกรานต์มโหทรเทวี

นางสงกรานต์มโหทรเทวี

เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

Alternative Cardamom

กิจกรรมยอดนิยมในวันสงกรานต์

กิจกรรมที่ชาวไทยนิยมทำในช่วงเทศกาลนี้มักจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ เพราะสื่อถึงการชำระล้างสิ่งไม่ดี และเป็นการคลายร้อนในช่วงหน้าร้อน เช่น การรดน้ำดำหัว การสรงน้ำพระพุทธรูป หรือการเล่นน้ำสงกรานต์ นอกจากนี้ทุกคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการประกวดเทพีสงกรานต์ การก่อเจดีย์ทราย หรือการทำบุญตักบาตร แต่ทราบไหมว่าธรรมเนียมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์อย่างไร?
Image hover effect image
เล่นน้ำสงกรานต์

กิจกรรมที่เป็นที่นิยมและถือเป็นสัญลักษณ์ของวันสงกรานต์ สามารถดึงดูดให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาสนุกสนานร่วมกันได้

Image hover effect image
รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความรักและเคารพต่อผู้ใหญ่ในครอบครัว บุคคลที่เคารพรัก เช่น ครู อาจารย์

Image hover effect image
สรงน้ำพระพุทธรูป

ปฏิบัติต่อกันมาช้านาน โดยจะนำน้ำผสมน้ำอบ หรือน้ำธรรมมาสรงน้ำพระ เพื่อเป็นการขอพร หรืออุทิศบุญกุศลไปยังผู้ล่วงลับ

Image hover effect image
ทำบุญตักบาตร

เป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเอง และยังเป็นโอกาสที่จะอุทิศบุญกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

Image hover effect image
ก่อเจดีย์ทราย

ในบางจังหวัดมีความเชื่อที่ว่า เมื่อไปทำบุญที่วัดก็จะมีทรายติดรองเท้าออกมาด้วย จึงมีธรรมเนียมการนำทรายเข้าวัด แล้วนำมาก่อเป็นเจดีย์ทรายพร้อมตกแต่งด้วยดอกไม้

Image hover effect image
ประกวดเทพีสงกรานต์

เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยผู้เข้าประกวดมักแต่งกายด้วยชุดไทยหลากหลายแบบ ในบางที่ก็มีการประกวดเทพบุตรสงกรานต์ด้วย

References:

ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์. (1 เมษายน 2565). เปิดตำนานวันสงกรานต์ พร้อมที่มานางสงกรานต์ทั้งเจ็ด. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/general/news-901135

หอสมุดแห่งชาติ. (2565). ตำนานสงกรานต์ สืบสานวัฒนธรรมไทยสี่ภาค. สืบค้นจาก
https://www.nlt.go.th/service/1288-%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84

หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม. (2563). กำเนิดวันสงกรานต์. สืบค้นจาก https://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/view/12438-%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C

อธิเจต มงคลโสฬศ. (28 มี.ค. 68). เปิดตำนานมหาสงกรานต์ กับ 7 นางสงกรานต์ผู้เปิดคำทำนายผ่านการอัญเชิญพระอาทิตย์. Thaipbs. สืบค้นจาก https://www.thaipbs.or.th/now/content/108

CMC We Talk. (2564). 9 กิจกรรมยอดฮิตในวันสงกรานต์. สืบค้นจาก https://www.cmc.co.th/wetalk/9-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3/

PPTV Online. (15 มี.ค. 2566). รู้จักนางสงกรานต์ทั้ง 7 และจุดเริ่มต้นตำนาน ในวันมหาสงกรานต์. สืบค้นจาก
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/192497